นี่คือปีที่ 138 นับตั้งแต่ไปรษณีย์ไทยเริ่มให้บริการครั้งแรก

และนี่ก็เป็นครั้งแรกเช่นกันที่บริษัทยักษ์ใหญ่อายุร้อยกว่าปีแห่งนี้ จะขอยื่นสมัครงานใหม่ โดยมีคุณทุกคนเป็นผู้ตัดสิน

ไปรษณีย์ไทยไม่ได้มาพร้อมพอร์ตโฟลิโอเล่มหนาและเรซูเม่ยาวเหยียดตามอายุงาน แต่เขาได้สกัดสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ ในชื่อ ‘The Resume จากใจไปรษณีย์ไทย’ ซึ่งเป็นแคมเปญล่าสุดที่ไปรษณีย์ไทยจับมือกับบริษัทชูใจ กะ กัลยาณมิตร เล่าเรื่องราวของบริษัทโลจิสติกส์ประจำประเทศที่ใครหลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อน

“เรื่องราวทั้งหมดในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ น่าจะมีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่พูดได้” ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยืนยันอย่างหนักแน่น

แต่แน่นอน ในวันที่ธุรกิจขนส่งแทบจะกลายเป็น Red Ocean ที่เปอร์เซ็นต์การแข่งขันสูงลิ่ว ผู้ใช้บริการอย่างเราเองก็มีตัวเลือกหลากลาย คงไม่ใช่เรื่องแปลกนักหากเราอาจหลงลืมความแตกต่างของเพื่อนใกล้ตัวที่อยู่ด้วยกันมาตลอดไปบ้าง นี่เองคือโจทย์ใหญ่ที่ กิ๊บ-คมสัน วัฒนวาณิชกร ครีเอทีฟประจำแคมเปญจากชูใจ กะ กัลยาณมิตร ต้องรับหน้าที่สานต่อ เพื่อสร้างภาพยนตร์สั้นที่จะดึงความเป็นไปรษณีย์ไทยออกมาให้ได้ในแบบที่ครบถ้วน สดใหม่ แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ของไปรษณีย์ไทยเอาไว้เหมือนเคย

คมสันบอกเราพร้อมเสียงหัวเราะว่ากดดันพอควร ในเมื่อผู้ตัดสินไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนไทยทุกคน

ไปรษณีย์ไทยพร้อมสำหรับการให้สัมภาษณ์แล้ว

เรซูเม่ของเขาก็พร้อมแล้ว

ลองเริ่มต้นการสัมภาษณ์กันได้เลย

รู้จักผู้สมัครงาน

อย่างที่เราพอรู้ ไปรษณีย์ไทยคือรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ดำเนินการด้านการขนส่งและสื่อสาร ทั้งจัดส่งไปรษณีย์ พัสดุภัณฑ์ และปัจุบันยังรวมไปถึงการให้บริการด้านโลจิสติกส์ อีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตคู่มากับการขยายตัวของวงการ e-Commerce

“ในช่วงที่ผ่านมาการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์สูงขึ้นมาก เพราะว่ามีผู้ให้บริการเข้ามาเพิ่มหลายราย ทั้งบริษัทไทยและต่างประเทศ บริษัท e-Commerce ใหญ่ ๆ ก็เริ่มเข้ามาลงทุนเอง มันเป็นความท้าทายของเราเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เราอยู่กับคนไทยมานานที่สุด ผมคิดว่าเราค่อนข้างสนิทกับคนไทยนะ เรารู้ความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี และสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นแนวทางในการให้บริการของเราได้” ดร.ดนันท์ อธิบายถึงจุดแข็งอย่างหนึ่งของไปรษณีย์ไทย

ด้วยความที่ไปรษณีย์ไทยมีพนักงานทั่วประเทศมากถึง 40,000 กว่าชีวิต ทั้งยังให้บริการในชุมชนต่าง ๆ มานานหลายปี จึงไม่แปลกนักที่พวกเขาจะเป็นเหมือนเพื่อนในชุมชน ซึ่งรู้จักลักษณะนิสัยและความต้องการของเพื่อนบ้านแต่ละหลังเข้าขั้นดีเยี่ยม

เมื่อรู้มากก็ต่อยอดธุรกิจได้มากกว่า ในปัจจุบันไปรษณีย์ไทยจึงไม่ได้มีแค่บริการส่งไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์อย่างที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น เพราะพวกเขาให้บริการในแบบ Parcel Centric Logistic ดูแลสินค้าแต่ละชนิดแตกต่างกันไปตามความยากง่ายในการขนส่ง ทั้งยังมีบริการด้านการเงินผ่านที่ทำการไปรษณีย์และบุรุษไปรษณีย์ บริการ Fulfillment เพื่อช่วยพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จัดเก็บ แพ็ก และส่งสินค้า มี Thailandpostmart ช่วยนำสินค้าของดีในแต่ละชุมชนไปวางขาย มีโครงการไปรษณีย์เพิ่มสุขที่เข้าไปช่วยพัฒนาสินค้า OTOP พื้นบ้านของแต่ละชุมชน เริ่มตั้งแต่การพัฒนาแพ็กเกจ ไปจนถึงขั้นตอนการขายออนไลน์ แถมล่าสุดไปรษณีย์ไทยยังมีการทดลองใช้โดรนเพื่อขนส่งยาด้วย

“ในอนาคตจะมีเยอะกว่านี้อีก” ดร.ดนันท์ กล่าว

“เรากำลังพยายามพัฒนาในแง่อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายอย่าง เพราะเมื่อมีการแข่งขันสูง การเปลี่ยนแปลงก็มีเยอะอย่างที่เห็น การปรับตัวจึงสำคัญมาก เราเลยหันมาให้ความสำคัญกับการบริการทั้งด้าน Physical และ Digital มากขึ้น เป้าหมายของเราจึงเป็นการทำยังไงก็ได้ ให้โลกจริงกับโลกดิจิทัลเชื่อมกันอย่างลงตัวไร้รอยต่อ เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดประสบการณ์ที่ดีที่สุด”

แสดงว่าไปรษณีย์ไทยเข้าใจลูกค้ามากกว่าบริษัทโลจิสติกส์อื่น ๆ ไหม – เราสงสัย

“เรียกว่าให้ความสำคัญมากกว่าดีกว่า เราให้ความสำคัญกับผู้บริโภคมากที่สุด อย่างแม่ค้าออนไลน์ วัตถุประสงค์หลักของเราคืออยากให้พวกเขาประสบความสำเร็จกับการขายของมากที่สุด ดังนั้นถ้าเราช่วยอะไรได้เราก็อยากช่วย ให้ช่วยพัฒนาสินค้า ช่วยจัดของ หรือช่วยขนส่ง เราก็ทำแทนได้ หรือในอนาคต สมมติคนทั่วไปที่บ้านมีเด็กเล็ก อยากได้ผ้าอ้อม เราก็อยากเป็นคนช่วยไปซื้อมาให้ คุณอยู่บ้านสบาย ๆ ไปได้เลย

“ผมมองว่าไปรษณีย์ไทยเป็นเหมือนผู้ใหญ่ใจดี แต่ความเป็นผู้ใหญ่บางทีก็ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นคนทันสมัย ดังนั้น เราต้องพยายามปรับตรงนี้ และพยายามสื่อสารออกไปในภาพยนตร์สั้นของเราว่า แม้จะเป็นองค์กรที่นานมากแล้ว แต่เราไม่แก่ เราตามเทคโนโลยีและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา”

เริ่มเขียนเรซูเม่

ผู้ใหญ่ใจดีที่เก่าแต่ทันสมัย เป็นมิตร และทำอะไรได้หลายอย่าง เป็นโจทย์ที่ไปรษณีย์ไทยส่งต่อให้ทีมชูใจ กะ กัลยาณมิตร นำไปต่อยอดเพื่อทำภาพยนตร์สั้นในแบบของตัวเอง

“คนอาจจะติดว่าชื่อของเราคือไปรษณีย์ไทย ก็ต้องส่งแต่ไปรษณีย์ใช่ไหม ซึ่งความจริงสิ่งที่เราทำมันมากกว่านั้นเยอะ ผมอยากให้คนเห็นว่าจริง ๆ แล้วเราเป็นยังไง และเมื่อเห็นแล้วก็ไม่อยากให้เขาลืม” ดร.ดนันท์ สรุปคร่าว ๆ ให้ฟังอีกครั้ง ก่อนที่คมสันจะเสริมต่อ

“ความยากก็คือ พอบอกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจก็จะมีความ Traditional นิด ๆ ใช่ไหม ซึ่งเราจะเปลี่ยนมันยังไงให้ใหม่ในแบบที่ยังเป็นไปรษณีย์ไทยอยู่ เพราะถ้าพูดถึงไปรษณีย์ไทย สิ่งที่เรานึกออกแรก ๆ เลยก็คือภาพของคนขี่มอเตอร์ไซค์ ถือกระเป๋ามากดกริ่งหน้าบ้านอะไรแบบนั้น 

“เราอยากให้คนเห็นไปรษณีย์ไทยในมุมใหม่กว่านี้ พร้อมกับสิ่งที่ลูกค้ายึดมาด้วยว่า ต้องมีความเป็นเพื่อนกับคนไทยด้วย เลยต้องคงไว้ทั้งความทันสมัยและความเป็นมิตร แล้วความทันสมัยจะให้มาใหม่แบบใช้แสงสาด ตัดภาพวี้บว้าบ ล้ำ ๆ ไปเลยก็ไม่ได้ ความเป็นมิตร จะให้ใจดี นุ่มนวลไปเลยก็ไม่ดีอีก เหมือนจะทำให้ใหม่ก็กลัวเสียเก่า จะทำให้เก่าก็กลัวเสียใหม่”

แค่นั้นยังไม่พอ อีกหนึ่งความท้าทายที่ทีมงานต้องเจอ ก็คือการออกแบบเนื้อหาในภาพยนตร์ให้โดนใจกลุ่มคนหลากหลายไปพร้อมกัน ทั้งพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ผู้ใช้บริการทั่วไป คนรุ่นใหม่ หรือแม้แต่เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของบริการโลจิสติกส์ด้วยกันทั้งสิ้น

“เราอยากให้คนดูเห็นแล้วรู้เลยว่า อ๋อ ไปรษณีย์ไทยเป็นแบบนี้นะ และ อ๋อ ตอนนี้ไปรษณีย์ไทยทำได้ขนาดนี้แล้วหรอ” คมสันสรุป 

จากจุดนั้น คมสันและทีมงานจึงค่อย ๆ มองหาวิธีเล่าเรื่องที่จะเก็บเนื้อหาสำคัญทุกอย่างไว้ได้ครบถ้วนที่สุด จนมาลงเอยที่รูปแบบของการขอสมัครงานอย่างที่ทุกคนได้เห็น

“ที่มันมาถึงไอเดียนี้ได้ เพราะเราพยายามมองหาวิธีเล่าอะไรบางอย่างแบบค่อนข้างถ่อมตนที่สุด เพราะถ้ามองจริง ๆ ไปรษณีย์ไทยคือตัวแทนประเทศเลยนะ องค์กรเขาใหญ่มาก แต่พอเขามาพูดด้วยวิธีการน่ารัก ๆ แบบนี้ เราคิดว่ามันน่าจะได้รับความเอ็นดูจากคนไทยมากกว่า 

“ถ้าพูดกันตรง ๆ เราก็มาขายของนั่นแหละว่าไปรษณีย์ไทยมีบริการอะไรบ้าง ไปใช้บริการได้นะ แต่พอมีเรื่องเรซูเม่เข้ามาด้วย มันก็เล่าได้หมดเลย ทั้งความเป็นไปรษณีย์ไทย ความเปลี่ยนแปลงของเขา การลบภาพจำเดิม ๆ ที่คนมี รวมไปถึงบริการที่เขามีด้วย” และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของแคมเปญ ‘The Resume จากใจไปรษณีย์ไทย’ ภาพยนตร์สั้นที่เล่าเรื่องไปรษณีย์ไทยอย่างเรียบง่าย ผ่านปากคำของพี่น้องไปรษณีย์ไทยจริง ๆ

มืออาชีพตัวจริง

“นักแสดงที่เป็นพนักงานไปรษณีย์ในเรื่องนี้ เราไปสัมภาษณ์มาจากทั่วประเทศเลย” คมสันเฉลย หลังจากเราลองถามถึงพี่พนักงานไปรษณีย์ในชุดซานต้า ซึ่งดูเหมือนจะเป็นพนักงานส่งจดหมายจริง ๆ

ไม่ใช่แค่พี่หัวมัน-พนักงานในชุดซานต้าผู้โด่งดังในโลก TikTok เท่านั้น แต่พี่น้องพนักงานไปรษณีย์ไทยทุกคนที่ร่วมแสดงในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ ล้วนเป็นพนักงานไปรษณีย์ไทยจริง ๆ ที่ทีมงานไปแคสต์มาจากไปรษณีย์ไทยในหลายจังหวัด

“เราให้ทางไปรษณีย์ไทยเป็นคนคัดเลือกพนักงานมาให้เราจากทั่วประเทศ แล้วก็มาสัมภาษณ์ทาง Zoom กับทางโทรศัพท์ต่อ คัดจากคนเป็นร้อย ๆ เลย เพราะเราอยากให้ทุกคนได้มีส่วนรวมในงานชิ้นนี้จริง ๆ

“โจทย์ของเราคือ อยากได้กลุ่มคนที่มีอายุหลากหลายหน่อย จะได้ตอบโจทย์เรื่องความเก่าแก่ของไปรษณีย์ไทย แล้วก็ขอคนที่อินกับองค์กรด้วย เขาจะได้มีสตอรี่ที่มาแชร์กับเราได้ อันนี้สำคัญมาก”

เพราะเมื่อพูดถึงตัวแทนองค์กร ภาพแรกของใครหลายคนอาจเป็นพนักงานบริษัทที่ดูเด็กและหน้าตาดี เหมือนภาพถ่ายโฆษณาที่เราเจอได้ตามบิลบอร์ด แต่ภาพตัวแทนองค์กรที่ทีมงานอยากสื่อสารจากภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ คือกลุ่มคนทำงานจริง ที่รักในงานของพวกเขาจริง ๆ ไม่มีการปรุงแต่ง

และเราว่าพวกเขาทำสำเร็จ เพราะอย่างน้อยคุณก็น่าจะแอบอมยิ้ม ยามได้เห็นพี่น้องไปรษณีย์ไทยกำลังตอบคำถามอย่างจริงใจในการสัมภาษณ์ครั้งนี้

จากใจพนักงานไปรษณีย์

ความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่คมสันอยากใส่ลงไปในงานครั้งนี้มากที่สุด เขาจึงสรุปออกมาง่าย ๆ ว่าจะเรียกภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ว่าเป็นกึ่งสารคดีก็คงไม่ผิดนัก

“เรามองว่าไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรที่มีความเป็นมนุษย์สูงมาก มีความเป็นกันเอง เรียบง่าย แล้วก็มีความชาวบ้านนิด ๆ ซึ่งพนักงานทุกคนสะท้อนความเป็นไปรษณีย์ไทยตรงนี้ออกมาได้ดีอยู่แล้ว ยิ่งคนที่เราเลือกมาอินกับองค์กรด้วย สิ่งที่เขาตอบมาจึงไม่ได้เป็นสคริปต์เลย” 

คมสันขยายความเพิ่มว่าการถ่ายทำยังเป็นไปแบบง่าย ๆ ผู้กำกับเป็นคนคิดคำถามเพื่อโยนให้เหล่าพนักงานเป็นคนตอบ และเมื่อมองเป็นการสัมภาษณ์งานจริง พวกเขาเลยผุดคำถามอื่น ๆ นอกเหนือจากในสคริปต์ มาช่วยให้บทสัมภาษณ์ดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย หลังจากนั้นคำถามทั้งหมดจะถูกนำไปดัดแปลงเพื่อใช้กับตัวละครผู้ให้สัมภาษณ์ หรือตัวแทนผู้ใช้บริการไปรษณีย์ไทย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก แม่ค้าออนไลน์ ผู้สูงวัย เกษตรกร และนักธุรกิจอีกที

ซึ่งหลายคำตอบจากชาวไปรษณีย์ไทยที่สดแบบไร้บท ก็ทำเอาคมสันอึ้งไปเลยเหมือนกัน

“อย่างตอนที่เขาบอกว่านานแต่ไม่แก่ อันนี้เซอร์ไพรส์มาก เพราะเขาตอบเองจริง ๆ แบบไม่มีสคริปต์เลย คือความนานหมายถึงเชิงประสบการณ์ และแก่ของเขาก็ไม่ได้มองในเชิงลบ แต่เป็นเชิงความเก๋า มันเป็นความรู้สึกของเขาจริง ๆ ซึ่งจริงใจมาก

“อีกคนที่เป็นหัวใจสำคัญเลยคือน้องอาร์ม ที่สัมภาษณ์คนสุดท้าย ตรงนั้นเราก็ส่งสคริปต์ให้เขาคร่าว ๆ แค่ว่าอยากให้มันแลนดิ้งแบบนี้นะ เพราะนี่จะเป็นตัวปิดแล้ว แต่เราก็ไม่รู้หรอกว่าเขาจะพูดออกมาแบบไหน ตอนนั้นเลยเตรียมแผนสำรองไว้แล้วล่ะ ว่าถ้าน้องเขาพูดออกมาแล้วไม่อิน เดี๋ยวเราจะหาโฆษกมาพูดปิดท้ายแทน

“ปรากฏว่าตอนที่เขาพูดออกมามันดีมาก พูดเสร็จน้ำตาคลอเลย ลูกค้าที่อยู่หน้าจอยังน้ำตาไหล แล้วน้องเขาเล่นแค่สองเทค เราก็ใช้เทคแรกเลย คือสดมาก สคริปต์ไม่ต้องมี ผมเรียกเขาว่าช้างเผือกเลยแล้วกัน ถ้าช็อตนั้นไม่ได้แบบนี้ หนังเรื่องนี้คงเบาลงมากเลย”

ฝากรับไว้พิจารณา

“เราชื่นชมทีมมากเลยนะที่สื่อสารเรื่องนี้ออกมาในแบบที่เป็นไปรษณีย์ไทยจริง ๆ ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เน้นย้ำจุดแข็งของเราได้ดีเลย” ดร.ดนันท์ ยิ้ม ในขณะที่คมสันเองก็มองว่าผลลัพธ์ในครั้งนี้ออกมาดีอย่างที่ทีมงานทุกคนตั้งใจ หายเหนื่อยกันไปเยอะ

“ส่วนตัวเราเลย งานครั้งนี้มันมีความฟินเหมือนกัน เหมือนเราเห็นองค์กรนี้มาตั้งแต่เด็ก แล้ววันหนึ่งได้มาทำงานให้เขา ผลที่ออกมามันก็ดีแบบที่เราตั้งใจไว้ พอมาดูอีกทีเราว่าส่วนผสมในงานครั้งนี้กำลังดีเลย ถ้าทำให้เชยหรือน่ารักกว่านี้ก็ไม่ดี หรือจะทำให้ทันสมัยหลุดไปกว่านี้ก็ไม่น่าเวิร์กเหมือนกัน”

การสัมภาษณ์งานครั้งนี้ใกล้จะจบลงแล้ว คุณคิดว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นแบบไหน – เราถาม

“อย่างน้อยให้เขาได้รู้ว่าไปรษณีย์ไทยทำอะไรได้มากกว่าที่ทุกคนคิดเยอะแยะ และสามารถเปลี่ยนภาพจำของคนจากแค่การส่งจดหมาย ส่งพัสดุได้แค่นี้ก็พอแล้ว อีกอย่างที่สำคัญคือ เราอยากให้ทุกคนได้เห็นมูฟเมนต์ของไปรษณีย์ไทยว่า เขายังมีชีวิตอยู่นะ ยังเอาอยู่ว่ะ แล้วก็ยังพัฒนาตัวเองไปตลอดด้วย” คมสันสรุปในฐานะคนทำงาน ก่อน ดร.ดนันท์ จะปิดท้ายแบบสั้น ๆ ง่าย ๆ ได้ใจความ 

“สุดท้ายนี้ให้ไปรษณีย์ไทยช่วยคุณนะครับ”

เอาล่ะ การสัมภาษณ์งานในครั้งนี้จบลงแล้ว 

ส่วนการเข้าทำงาน คงต้องให้ชาวไทยรับไว้พิจารณา ผ่านคลิปวิดีโอ The Resume “จากใจ ไปรษณีย์ไทย” ชิ้นนี้

Writer

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน