19 กุมภาพันธ์ 2021
7 K

เดินทะลุผ่านพิพิธภัณฑ์ไม้ไผ่ คดโค้งชดช้อย

ภาพตรงหน้าเราคือ อาคาร 3 ชั้น สูงสง่า กลมกลืนกับร่มไม้เขียวขจี 

อาคารรพินทร เป็นออฟฟิศทำงานของเหล่าสถาปนิกและภูมิสถาปนิก รวมถึงห้องเรียนวิชาสถาปัตยกรรมของสถาบันอาศรมศิลป์ โดยรีโนเวตจากโรงยิมเก่าของโรงเรียนรุ่งอรุณที่มีโจทย์ใหญ่ คือ อยากให้ทุกคนอยู่ได้ร่วมกันใต้หลังคาเดียว เพื่อเรียนรู้กันและกัน

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

ความน่าสนใจของที่นี่ นอกจากเบื้องหลังการเปลี่ยนฟังก์ชันอาคารที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้ว หลังใช้งานจริงได้ราวปีเศษ ได้รับรางวัล ARCASIA Awards for Architecture (AAA) ประจำปี 2019 หมวด Institutional Buildings (อาคารสถาบัน) รางวัลนี้จัดขึ้นโดย Architects Regional Council Asia (ARCASIA) เพื่อสนับสนุนบทบาทของคนในแวดวงสถาปัตยกรรมเอเชีย ทั้งเรื่องทางเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และตั้งใจแสดงให้เห็นว่า สถาปัตยกรรมที่ดีเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนากายภาพและจิตใจของผู้คน

เราจึงชวนตัวแทนจากบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด มาช่วยกันเล่าแนวคิดและการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยมีรายละเอียดเล็กๆ ที่พวกเขาไม่มองข้ามสักจุด

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

มหาวิทยาลัยมุงจาก สู่อาคารจากโรงยิมเก่า

ก่อนเป็นสถาบันอาศรมศิลป์ เมื่อ 23 ปีก่อน รศ.ประภาภัทร นิยม ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณด้วยอยากเห็นโรงเรียนที่ใช้ศักยภาพของมนุษย์ให้เต็มที่ และตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคน

อีก 10 ปีต่อมาก็เปิดสถาบันอาศรมศิลป์ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อสอนในระดับอุดมศึกษา ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และหลักสูตรประกาศนียบัตรใน 3 สาขา ได้แก่ ศึกษาศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปศาสตร์ (ผู้ประกอบการสังคม) โดยเป็นการเรียนรู้บนการงานจริง (Work-Based Learning) ห้องเรียนของเหล่านักศึกษาสถาปัตย์ จึงอยู่ร่วมกับสตูดิโอสถาปนิกวิชาชีพ บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ จำกัด

เดิมอาคารที่สถาบันอาศรมศิลป์ใช้เป็นห้องเรียนและห้องทำงานของเหล่าสถาปนิก มีทั้งหมด 5 หลัง หรือที่เรียกกันว่า ‘มหาวิทยาลัยมุงจาก’ หยิบเอาคาแรกเตอร์ของบ้านเรือนชาวบ้านมาใช้ออกแบบ เหตุผลหนึ่งก็เพื่ออยากให้การเรียนรู้เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ โดยเฉพาะวิชาชีพผู้ประกอบการที่คนมาเรียนส่วนมากเป็นหัวหน้าชุมชนและชาวบ้าน การมาที่บ้านแห่งนี้จึงไม่เคอะเขิน เพราะเป็นเหมือนหมู่บ้านที่พวกเขาคุ้นเคย

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

อีกเหตุผลเพราะตั้งใจให้เป็นสถาปัตยกรรมประหยัดพลังงานด้วยภูมิปัญญาพื้นถิ่นที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ และออกแบบการไหลเวียนอากาศให้เหมาะกับเขตร้อนชื้น อีกทั้งการมุงจาก เป็นกุศโลบายให้ทุกคนได้มีโอกาสเจอกัน คุยกัน จากการช่วยกันซ่อมแซมใหม่ทุก 10 ปี

การช่วยกันสร้างช่วยกันรักษานี้ ทำให้เกิดกระบวนการ ‘ปลูกเรือน ปลูกชุมชน ปลูกชีวิต’ เพื่อเป็น ‘ชุมชนแห่งการเรียนรู้’ อย่างแท้จริง

แต่เมื่อใช้งานไปสักพัก การแบ่งอาคารเป็นเรือนๆ แยกกันระหว่างอาจารย์ นักศึกษา สถาปนิก และภูมิสถาปนิก ทำให้ต่างคนต่างอยู่แต่ในพื้นที่ของตัวเอง ลดโอกาสในการเชื่อมโยงกันหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน ประกอบกับออฟฟิศขยายตัวขึ้น พวกเขาจึงมองหาอาคารใหม่ให้ทุกคนได้อยู่ใต้ร่มร่วมกัน โดยไม่ลืมคอนเซปต์ชุมชนแห่งการเรียนรู้

พื้นที่ศึกษาเพื่อการศึกษาใต้หลังคาบ้าน

One Roof หรือหลังคาใหญ่ผืนเดียวกัน เป็นคอนเซปต์ที่ทุกคนในอาศรมศิลป์เห็นตรงกันว่าตรงใจ

พอดีกับโรงเรียนรุ่งอรุณสร้างโรงยิมแห่งใหม่ อาคารหลังนี้จึงว่างลง โปรเจกต์เปลี่ยนห้องเรียนกีฬาขนาด 3 ชั้นเป็นบ้านหลังใหญ่ในชื่อว่า ‘รพินทร’ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างนักศึกษากับคนทำงานก็เริ่มต้นขึ้น

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

ด้วยเป็นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ให้ผู้เรียนได้ลงมือทำงานจริง จึงเกิดแนวคิดนำโปรเจกต์นี้มาเป็นโจทย์ในห้องเรียนของนักศึกษารุ่นแรกทั้ง 7 คนไปด้วยว่า หากพวกเขาต้องออกแบบโรงยิมแห่งนี้ให้เป็นออฟฟิศและห้องเรียน จะมีหน้าตาเป็นแบบไหน

วิธีการนี้ทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างที่หลักสูตรมุ่งหวัง เพราะเปิดให้น้องๆ พรีเซนต์ขายงานให้เหล่าพี่ๆ สถาปนิกฟัง จากนั้นทุกคนได้ร่วมคุยถึงวิถีการอยู่ร่วมกันทั้งสองฝ่าย พอจบเทอม ทั้ง 7 แบบนั้นได้รับการนำไปพัฒนาต่อโดยทีมสถาปนิก ซึ่งได้ แบน-ธีรพล นิยม และ เต้อ-นันทพงศ์ ยินดีคุณ เป็นผู้ออกแบบหลัก

เขาถอดแนวคิด คาแรกเตอร์ และฟังก์ชัน ที่ใช้งานได้จริง มาออกแบบใหม่บนพื้นฐานที่ทางอาศรมศิลป์มองว่าตัวเองเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่โรงเรียนที่มีห้องเรียน หรือออฟฟิศที่มีแต่ห้องทำงาน ความเจ๋งคือ การนำแนวคิด Home Base มาใช้ ด้วยอยากให้สถาปนิก อาจารย์ นักศึกษา อยู่กันแบบเป็นพี่เป็นน้อง ยึดโยงกันด้วยงานที่มีคุณค่า เลยพยายามสร้างความรู้สึกให้เป็นเหมือนบ้านที่แยกเป็นห้องๆ มีส่วนกลางไว้แชร์กัน

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

และการอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกันที่มองเห็นกันได้หมดนี้ นอกจากเชื่อมโยงทางสายตาแล้ว พื้นที่ยังเอื้อให้เกิดการพบปะพูดคุยกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หากมีปัญหาก็สามารถเดินไปสอบถามพี่ๆ ได้เลย สอดคล้องกับแนวคิดส่วนหนึ่งของเรื่องพื้นที่การเรียนรู้ในศตวรรษ 21 (21st Century Learning Spaces) ซึ่งมองว่าห้องเรียนที่ไม่ใช่โรงอุตสาหกรรม แต่ควรเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ฉะนั้น พื้นที่ส่วนรวมจึงสำคัญ และพวกเขาได้ออกแบบข้อนี้ไว้อย่างเรียบง่ายแต่แยบยล รวมถึงใช้สเปซคุ้มค่าจนต้องขอจดไว้ เช่น ทางเดินระหว่างสองฝั่งอาคารที่แปรฟังก์ชันเป็นลานกิจกรรม โถงบันไดทางขึ้น ซอยชั้นสองด้านไม่เท่ากันให้เป็นที่นั่งและไว้โชว์โมเดลได้ ส่วนข้างใต้ซ่อนที่เก็บรองเท้าเอาไว้ บันไดย่อยระหว่างชั้นที่ทำให้เกิดการสัญจรไปมาหาสู่กันได้ง่าย หรือราวกันตกรอบๆ ที่เป็นที่ม้านั่งไปในตัว

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน
รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน
รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

Function Follows Form

เมื่ออยากเก็บอาคารเดิมไว้ให้มากที่สุด ดังนั้นฟังก์ชันจึงต้องวางตามโครงสร้าง

ภายใต้พื้นที่ 3,780 ตารางเมตรของอาคาร 2 ชั้นเดิม และที่ต่อเติมชั้นลอยกับฝั่งทิศเหนือใหม่อีก 2 ชั้น ประกอบด้วย โถงทางเข้า ห้องสมุด ห้องเก็บโมเดล และโรงอาหารในชั้นแรก ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ห้องทำงานของสถาปนิก ห้องกิจกรรมที่ตรงกลางเป็นโถงทางเดิน เสริมชั้นสามเป็นชั้นลอย มีห้องเรียน ห้องทำงานของภูมิสถาปนิก และดาดฟ้าชั้นสี่-ชั้นห้า เป็นห้องประชุมและห้องสัมมนาขนาดใหญ่

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน
รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

การเปลี่ยนจากโรงยิมเป็นออฟฟิศซึ่งฟังก์ชันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนั้น มีความยากที่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างเป็นหลัก แต่นับว่าเป็นข้อดีเรื่องความแข็งแรง และการที่หลังคาสูงก็ช่วยให้อาคารโปร่งโล่ง ก่อนรีโนเวตต้องทดสอบเรื่องการรับน้ำหนัก เช็กฐานราก เสริมเสาเข็ม และเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก กรุกระจกแทนผนังอิฐ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำหนักมากจนรบกวนโครงสร้างเดิม

ด้วยความที่เป็นอาคารศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ ทำให้ห่างไกลจากธรรมชาติโดยรอบ จึงต้องดันพื้นที่ทำงานให้ออกมาอยู่ด้านนอก โดยพื้นที่ตรงกลางกลายเป็นโถงทางเดิน มีการซอยช่องเปิดระหว่างห้องเพื่อให้เกิดการไหลเวียนอากาศ เดินทะลุไปยังระเบียงที่ต่อเติมเพิ่ม ค้ำยันจากชายคาที่เห็นล้อดีไซน์มากับโครงถักเดิมของชั้นสามในองศาเดียวกันเป๊ะ และเปิดกระจกบานเลื่อนจากทุกห้องออกมาพักผ่อนรับลมเย็นระหว่างทำงานได้ด้วย

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

นอกจากความต้องการให้มองเห็นกันจากทั่วทุกมุมแล้ว การกรุกระจกใสแทนผนังทึบ ใช้เพียงชั้นวางหนังสือเตี้ยๆ กั้นความเป็นส่วนตัวในแต่ละห้อง เพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติให้ได้มากสุด สร้างความปลอดโปร่ง ไม่อึดอัดและเป็นการช่วยลดใช้พลังงานไปด้วยในตัว

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

หากแหงนหน้ามองขึ้นไปยังหลังคา ใต้โครงถักไม้ (Wooden Trusses) เดิมซึ่งเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ จะเห็นการเสริมแปใหม่เพื่อรับน้ำหนักหลังคาแป้นเกล็ดด้านนอกที่มุงด้วยไม้ซีดาร์ ส่วนด้านในเป็นไม้อัด OSB ที่ยืดหยุ่น ทนต่อความร้อนและความชื้น ตรงกลางเปิดช่องแสงให้ส่องไปยังทางเดิน ใช้บานเกร็ดไม้วางตัวแนวเฉียง เพื่อจำกัดแสงไม่ให้ส่องไปยังห้องเรียน

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

ส่วนอีกสองชั้นที่ต่อเติมขึ้นไป พวกเขารื้อหลังคาเก่าออก เปลี่ยนไปใช้โครงหลังคาเหล็กแทนไม้ แต่ยังเป็นโครงถัก เพื่อล้อกับฟอร์มเดิมของอาคาร

และแป้นบาสบนชั้นสี่ที่เห็นแม้เป็นสิ่งใหม่ แต่ก็ติดไว้ในตำแหน่งเดิม แทนการระลึกถึงโรงยิมเก่าหลังนั้น

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

ฝั่งตรงข้าม เชื่อมต่อกับอาคารเดิม มีห้องเล่นเกมแทรกกลางระหว่างสองอาคาร ห้องนี้ปรับฟังก์ชันเป็นห้องประชุมเล็กๆ ได้ ด้านหน้ามีบันไดหญ้าให้เดินขึ้น-ลง สู่บริเวณสนาม เวลาพักเที่ยงก็แปรเป็นโต๊ะปิกนิกให้ล้อมวงกินข้าวใต้ร่มไม้ใหญ่

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

ลดการดูแลและประหยัดทรัพยากร

การเลือกไม้เป็นวัสดุหลัก ไม่ได้ตั้งต้นโดยหยิบอัตลักษณ์การออกแบบของสถาบันอาศรมศิลป์มาใช้ แต่เป็นเรื่องของการดูแลจัดการมากกว่า พวกเขาบอกว่าการทำพื้นไม้ให้ถอดรองเท้านั้น ข้อแรก ลดการทำความสะอาด ที่นี่มีแม่บ้านน้อยมากเมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่

ข้อสอง พอเป็นพื้นไม้ หากเดินไม่ระวังจะเสียงดัง หรือฝุ่นอาจตกไปตามร่องใส่หัวเพื่อนข้างล่าง การถอดรองเท้าทำให้ระมัดระวังเรื่องพวกนี้

ข้อสาม เมื่อเท้าสัมผัสพื้นไม้จะเกิดความรู้สึกอบอุ่นและให้ความรู้สึกเหมือนได้ถอดรองเท้าเข้าบ้าน 

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

ส่วนข้อดีของการรีโนเวต ในแง่การใช้ทรัพยากรช่วยให้ประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเศษวัสดุที่ไม่กลายเป็นขยะเพิ่ม อาจต่างจากหลายที่ที่การรีโนเวตมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทุบ รื้อ สร้างใหม่ เพราะโรงยิมเดิมอยู่บนเงื่อนไขที่วิศวกรประเมินโครงสร้างแล้วทำได้ ซึ่งหากต้องทุบทุกเสาหรือเปลี่ยนโครงหลังคาใหม่ ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงกว่า และเลือกใช้วิธีซ่อมแทนทำใหม่ ทั้งโครงสร้างและพื้นเดิมที่ทำเพียงงานปิดผิวเพิ่ม ส่วนที่รื้อออกก็เก็บไว้ โดยเฉพาะไม้เก่าที่นำกลับมาใช้ทุกชิ้น เช่น ประตู หน้าต่าง ย้ายจากห้องดนตรีเดิมมาอยู่ที่ห้องสมุด

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

มากไปกว่านั้น สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการ Re-Place เพราะคุณค่าของอาคารนี้คือความทรงจำ คำว่าโรงยิมของรุ่งอรุณ ไม่ใช่แค่โรงยิม แต่เป็นที่จัดกิจกรรมไหว้ครู มีงานประจำปีที่เด็กๆ ใช้เล่นละครหรือสรุปการเรียนรู้ทั้งเทอม รวมถึงเป็นสถานที่จัดงานคืนสู่เหย้าของศิษย์เก่าหลายรุ่น

แม้ว่าวันนี้ฟังก์ชันจะเปลี่ยนการจดจำอาคารเก่าในความหมายใหม่ แต่สถานที่ที่ยังอยู่ที่เดิมนี้ ยังเก็บเรื่องราวไว้ให้เห็น ให้เล่าถึง และยังมี Sense of Place อยู่เต็มเปี่ยม

รพินทร : เปลี่ยนโรงยิมเก่าเป็นห้องเรียน ห้องทำงาน ของเหล่าสถาปนิกในร่มหลังคาเดียวกัน

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน