ฉากการ์ตูนสีลูกกวาดในเมืองที่เต็มไปด้วยสีสันสดใส เด็กผู้หญิงวัย 5 ขวบ 3 คนในชุดซูเปอร์ฮีโร่โทนสีฟ้า แดง และเขียว พร้อมกับเสียงพากย์ประโยคเกริ่นนำสุดคุ้นหูที่ใครหลายคนก็ท่องตามได้ว่า

“น้ำตาล เครื่องเทศ สารพัดของกุ๊กกิ๊ก ทั้งหมดคือเครื่องปรุงที่เลือกสรรเพื่อสร้างสาวน้อยสมบูรณ์แบบ แต่ศาสตราจารย์ยูโทเนียม เติมสารพิเศษอีกอย่างลงไปในส่วนผสมโดยไม่ตั้งใจ ‘สารเคมี X’… จึงเกิดเป็น Powerpuff Girls ด้วยพลังเหนือมนุษย์ที่มีอยู่ในตัว บลอสซัม! บับเบิลส์! บัตเตอร์คัพ! จึงอุทิศชีวิตให้การต่อสู้อาชญากรรม และพลังอำนาจแห่งความชั่วร้าย!”

นี่คือมนตร์เสน่ห์ที่เป็นอมตะของ ‘The Powerpuff Girls’ การ์ตูนซีรีส์ในวัยเยาว์ของเด็ก ๆ ที่โตมากับช่อง Cartoon Network และกล่องรับสัญญาณภาพยูบีซี ในช่วงปี 2000 

ตามที่ได้บรรยายไว้ในประโยคเปิดทุกตอนของรายการ Powerpuff Girls คือซูเปอร์ฮีโร่ที่ถือกำเนิดขึ้นจากการทดลองที่ผิดพลาดของศาสตราจารย์ยูโทเนียม (Professor Utonium) ชายตัวสูงโปร่ง สวมเสื้อโค้ทห้องแล็บสีขาวแทบตลอดเวลา ต้นแบบของคุณพ่อสุดคลาสสิกที่คอยดูแลเอาใจใส่เด็กหญิงหัวโต ตากลม ไม่มีจมูกและนิ้วมือทั้งสามคน ซึ่งแต่ละคนนั้นก็มีลักษณะทางกายภาพ สีดวงตา อุปนิสัย และพลังที่โดดเด่นแตกต่างกันไป

บลอสซัม (Blossom) เด็กหญิงผมยาวสีส้ม ใส่ชุดสีชมพู ผูกโบว์สีแดง เธอมีบุคลิกเป็นผู้นำ จึงเปรียบเหมือนพี่สาวคนโตของบ้าน

บับเบิลส์ (Bubbles) มีผมสีทองมัดแกละสองข้าง ใส่ชุดสีฟ้า มีนิสัยร่าเริงและเป็นเสียงหัวเราะของบ้าน 

และนักสู้ที่แข็งแกร่งที่สุด บัตเตอร์คัพ (Buttercup) เด็กหญิงผมบ๊อบสีดำ ใส่ชุดสีเขียว มีนิสัยห้าวหาญและขี้โมโห ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแล้ว ฮีโร่ทั้งสามสะท้อนให้เห็นถึงองค์ประกอบของคนหนึ่งคนที่ประกอบด้วยศักยภาพทางความคิด จิตใจ และร่างกาย

บ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ที่สะท้อนความเป็นนักวิทย์และพลังของสามสาว

นอกจากความน่ารักของตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว บ้านยูโทเนียมของศาสตราจารย์และเหล่าพาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์นั้น ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตัวละคร ช่วงอายุ อาชีพ อุปนิสัย บุคลิก และสีประจำตัว ถ่ายทอดผ่านฉากและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม การตกแต่งภายในแต่ละห้อง ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ของศาสตราจารย์กับสามสาว

นอกจากนี้ เมื่อรายการดำเนินไป ฉากของบ้านก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน เราจะสังเกตได้ถึงแนวคิดที่เปลี่ยนไปของตัวบ้าน ระหว่างเวอร์ชันคลาสสิกในช่วงปี 1998 – 2004 และเวอร์ชันรีบูตในช่วงปี 2016 – 2018 ที่ถ่ายทอดผ่านการออกแบบและคอนเซ็ปต์อาร์ต

บ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ที่สะท้อนความเป็นนักวิทย์และพลังของสามสาว

ผ่านมาแล้วเกือบ 3 ทศวรรษที่ เครก แมคแครกเคน (Craig McCracken) ซึ่งเป็นทั้งผู้สร้างตัวละคร ผู้อำนวยการผลิต และผู้กำกับ The Powerpuff Girls ที่ออกอากาศครั้งแรกในปี 1998 ด้วยเอกลักษณ์ของลายเส้น กราฟิก และเรื่องราวที่ถ่ายทอดบุคลิกตัวละคร ทัศนคติ ด้านดีและด้านไม่ดีที่แตกต่างไปจากการ์ตูนเรื่องอื่น ๆ ในสมัยนั้น ดำเนินเรื่องโดยมีผู้ดำเนินรายการคอยสอดแทรกและตัดบทต่าง ๆ ทำให้ผู้ชมเหมือนกำลังอ่านหนังสือการ์ตูนหรือฟังนิทานก่อนนอนอย่างไรอย่างนั้น

โครงเรื่องโดยรวมบอกเล่าปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก ๆ การทะเลาะกันของพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมถึงการผจญภัยและต่อกรกับเหล่าวายร้าย อย่างแก๊งอะมีบา เชื้อโรคที่โง่เขลา ลิงชิมแปนซีอัจฉริยะ Mojo Jojo ซาตานก้ามปูตัวสีแดงที่ใส่รองเท้าส้นสูง วัยรุ่นอันธพาลแก๊งขี้ไคล และอีกหลากหลาย โดยแมคแครกเคน ผู้ออกแบบตัวละครเผยว่า เขาออกแบบวายร้ายเหล่านี้โดยเรียงลำดับจากความซื่อบื้อที่ค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปตามความชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้น

บ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ที่สะท้อนความเป็นนักวิทย์และพลังของสามสาว

01
บ้านยูโทเนียม

เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในเมืองทาวน์วิลล์ (Townsville) อันแสนสงบสุข เต็มไปด้วยต้นไม้ อากาศบริสุทธิ์ แต่มักจะถูกโจมตีโดยสัตว์ประหลาดยักษ์และอาชญากรรม เป็นเมืองสมมติที่มีกลิ่นอายและเค้าโครงจากนิวยอร์กในสหรัฐอเมริกา 

ภาพรวมเมืองนี้แบ่งออกเป็น 2 โซนหลัก ๆ

โซนแรกคือย่านดาวทาวน์ ตัวเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงระฟ้า มีประชากรหนาแน่นและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง

ต่อมาคือโซนย่านชานเมือง Pokey Oaks ประกอบด้วยบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน และเป็นที่ตั้งของบ้านยูโทเนียมของสาว ๆ พาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์และศาสตราจารย์

บ้านเลขที่ 107 คือที่ตั้งของบ้านยูโทเนียม หัวใจของการ์ตูนเรื่องนี้ บ้านเดี่ยวสองชั้นจากการประกอบเข้าด้วยกันของกล่องสี่เหลี่ยมสีขาว 3 กล่อง ด้านหน้าบ้านมีประตูทางเข้าสีแดงและหน้าต่างวงกลม 3 บานบนชั้นสอง บ้านหลังนี้สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรม ‘ยุคโมเดิร์น’ เน้นการออกแบบด้วยรูปทรงเรขาคณิตที่ตรงไปตรงมาตามประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ภายในอาคาร โดยมักจะลดทอนเครื่องประดับและการตกแต่งที่ไม่จำเป็น และไม่ได้เชื่อมโยงกับพื้นที่ภายใน

บ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ที่สะท้อนความเป็นนักวิทย์และพลังของสามสาว

เมื่อสังเกตจากบริบทละแวกบ้าน เราจะพบเพียงบ้านยูโทเนียมที่สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมในลักษณะนี้ ขณะที่หลังอื่น ๆ นั้นยังคงไว้ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม ที่เป็นหลังคาจั่วสไตล์อเมริกันคันทรี่

ในนัยหนึ่ง การใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแตกต่างจากบริบทรอบ ๆ ก็เหมือนบอกกลาย ๆ ถึงความแตกต่าง เป็นการสร้างทั้งความโดดเด่นและขัดแย้งในเวลาเดียวกัน 

จุดนี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย อย่างบริบทของศาสตราจารย์ยูโทเนียมที่เป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ ก็ใช้หลักวิทยาศาสตร์แบบ Objective Driven ออกแบบบ้านด้วยรูปทรงตามสัดส่วนทางกายภาพของมนุษย์ วางผังแปลนบ้าน วางประตู หน้าต่างที่คำนึงถึงทิศทางแสงและลม กำหนดพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ส่วนรวม และพื้นที่ก้ำกึ่ง สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นกระบวนทัศน์ทางความคิด และตรรกะในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย 

ตัวบ้านประกอบด้วย 2 ห้องน้ำ 2 ห้องนอน 1 ห้องครัว ห้องนั่งเล่น ห้องแล็บ ห้องฝึกซ้อม และห้องออกกำลังกาย ในเวอร์ชันต้นฉบับจากปี 1998 ไปจนถึงปี 2004 จะพบว่าการตกแต่งภายในในตัวบ้านแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ

หนึ่ง คือการตกแต่งสไตล์โมเดิร์น สีคุมโทน เป็นห้องเรียบ ๆ ที่มีเพียงเฟอร์นิเจอร์เพียงไม่กี่ชิ้นที่บ่งบอกถึงตัวศาสตราจารย์ ไม่ว่าจะเป็นห้องครัวที่ครบเครื่องไปด้วยอุปกรณ์อัตโนมัติ ทันสมัย และเครื่องใช้สเตนเลส ห้องน้ำสีขาวที่สะท้อนให้เห็นถึงความสะอาดและสุขอนามัย ซึ่งเป็นหนึ่งในแก่นหรือความหมกมุ่นของการขับเคลื่อนสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ห้องนั่งเล่นที่มีความยืดหยุ่นในการปรับประโยชน์ใช้สอยตามโอกาส เป็นต้น

บ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ที่สะท้อนความเป็นนักวิทย์และพลังของสามสาว

สอง คือการตกแต่งด้วยสีชมพูและของใช้ตามสีสันประจำตัวของเหล่าพาวเวอร์พัฟฟ์เกิลส์ ซึ่งทำหน้าที่กำหนดขอบเขตพื้นที่ของเด็ก ๆ ไปในตัว เราจะพบเพียงห้องนอนของสาว ๆ ทั้งสามที่ตกแต่งในโทนสีชมพู ตั้งแต่พรมปูพื้น ผนังห้อง ประตู ขอบกระจก เฟอร์นิเจอร์ รวมไปถึงตุ๊กตา ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ไปจนถึงเตียงและผ้าห่มนวมสีประจำตัวของแต่ละคน

เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว จะพบว่าการแบ่งพื้นที่และห้องส่วนใหญ่นำเสนอในมุมมองของศาสตราจารย์ ในสถานะผู้ใหญ่เจ้าของบ้าน และสามฮีโร่ในสถานะผู้ร่วมอยู่อาศัย

02
ต้นฉบับบ้านยูโทเนียม

หลายองค์ประกอบของการ์ตูนเรื่องนี้อ้างอิงมาจากทั้งสถานที่จริง หนังเก่า และอนิเมะญี่ปุ่นคลาสสิก

บ้านยูโทเนียมหลังนี้ก็เช่นกัน

แทบจะเรียกได้ว่าเป็นแบบจำลองหรือต่อเติมจากบ้านต้นฉบับ Villa Arpel ในภาพยนตร์เรื่อง Mon Oncle (หรือ My Uncle ในภาษาอังกฤษ จากปี 1958 ของผู้กำกับและนักแสดงตลกชาวฝรั่งเศส Jacques Tati) ภาพยนตร์ตลกเสียดสีสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในครอบครัว Arpel

ฉากบ้านครอบครัวนี้ออกแบบโดยนักเขียนบท (ควบตำแหน่งโปรดักชันดีไซเนอร์คู่ใจ) ฌัก ลากร็องฌ์ (Jacques Lagrange) ได้แรงบันดาลใจและอิทธิพลอย่างมากจาก Villa La Roche สร้างขึ้นในช่วงปี 1923 – 1925 ของ เลอกอร์บูซีเย (Le Corbusier) สถาปนิกยุคโมเดิร์นในตำนานที่เหล่าสถาปนิกไม่มีใครไม่รู้จัก 

โดยเอกลักษณ์ที่ Lagrange นำมาใส่ในฉากของ Villa Arpel คือหน้าต่างวงกลมที่เป็นตัวดวงตาสองข้าง ใน Mon Oncle เราจะเห็นสองสามีภรรยาใช้สอดส่องเพื่อนบ้าน โดยพวกเขาใช้หน้าต่างคนละบานกัน ซึ่งฉากของบ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ก็นำหน้าต่างทรงกลมมาใช้เช่นกัน และเพราะพวกเธอบินได้ บลอสซัม บับเบิลส์ และบัตเตอร์คัพ จึงใช้หน้าต่างคนละบานในการบินเข้าออกตัวบ้าน

บ้านยูโทเนียมใน The Powerpuff Girls ที่สะท้อนความเป็นนักวิทย์และพลังของสามสาว

หนึ่งในเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ Tati คือการใช้ฉากสร้างความตลกที่ซ้อนเร้นควบคู่ไปกับตัวบทและเนื้อเรื่อง ใน Mon Oncle มีฉากหนึ่งที่แขกผู้มาเยือนและคุณ Arpel กำลังเดินไปตามทางเดินคดเคี้ยวก่อนเข้าถึงตัวบ้าน ทั้งสองคนถูกควบคุมโดยทางเท้าที่จัดวางไว้ จนใบหน้าของทั้งสองหันออกจากกันแม้ว่าจะกำลังสนทนากันอยู่ จุดนี้ก็เป็นมุกตลกสไตล์ Tati ที่กำลังจิกกัดสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นอยู่นั่นเอง

ความคล้ายคลึงกันอีกอย่างระหว่างบ้านยูโทเนียมและวิลล่า Arpel คือการจัดวางเฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น การวางของตกแต่งเฉพาะจุดในแต่ละห้อง ราวกับเป็นบ้านตัวอย่างที่กำลังจัดแสดงเพื่อต้อนรับแขก แทนที่จะเป็นบ้านอยู่อาศัยตามลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจทำให้ห้องนั่งเล่นกลายเป็นโซนที่ห้ามทำรก ต้องคอยจัดเก็บหรือปัดฝุ่นอยู่ตลอดเวลา

เปิดแปลนบ้านของศาสตราจารย์ยูโทเนียมและสามสาว Powerpuff Girls ที่ได้แรงบันดาลใจจากบ้านในหนังฝรั่งเศส

การปรับเปลี่ยนการตกแต่งภายในมีผลต่อบรรยากาศในบ้านอย่างสิ้นเชิง เหมือนกันกับใน The Powerpuff Girls ในเวอร์ชันรีบูต ช่วงปี 2016 – 2018 ที่รายละเอียดของเมืองและบ้านยูโทเนียมถูกปรับโฉมในสถานะที่สามสาวคือเจ้าของบ้านร่วมกับศาสตราจารย์ เมื่อพรมสีชมพูและสิ่งของหลากสีเริ่มแพร่กระจายไปรอบบ้าน การตกแต่งภายในของยุคโมเดิร์นที่แข็ง ดิบ และไร้บุคลิก ถูกแทนที่ด้วยความน่ารักและตัวตนของเหล่าพาวเวอร์พัฟฟ์ เกิลส์ ซึ่งในทางกลับกันก็อาจถ่ายทอดความรู้สึกที่จริงใจต่อแขกผู้มาเยี่ยมเยียนก็เป็นได้

แน่นอนว่าการตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในแสดงออกถึงบุคลิกของเจ้าของบ้านได้อย่างมาก บางครั้งเราอาจลองใช้เวลาสังเกตสภาพแวดล้อมในบ้าน แล้วลองถามตัวเองเล่น ๆ ว่า นี่คือสภาพแวดล้อมที่คุณสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองหรือไหม หรือสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองผู้อื่น หรือบางครั้งก็แค่ตกแต่งตามภาพห้องตัวอย่างในแคตตาล็อก ที่กำลังบอกคุณว่าหน้าตาห้องนั่งเล่นต้องเป็นอย่างไร ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ตามที่เขาว่ากันไหม ควรมีหรือไม่มีอุปกรณ์เสริมแต่งอื่นใดอีกหรือเปล่า

จะเป็นไปได้ไหม หากห้องนั่งเล่นของคุณจะกลายเป็นห้องที่เต็มไปด้วยลูกบอลเหมือนบ้านบอล พื้นห้องนั่งเล่นปูด้วยวัสดุที่เด้งดึ๋ง ทำพื้นทั้งหมดให้กลายเป็นโซฟาไปเลย หรือจะเป็นไปได้ไหมที่ฝักบัวในห้องน้ำติดตั้งสูงขึ้นสัก 2 – 3 เมตร ให้เหมือนว่าคุณกำลังอาบน้ำจากน้ำตกธรรมชาติ

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ 

McCracken, Craig. The Powerpuff Girls. Hanna-Barbera Cartoons (1998–2002) and Cartoon Network Studios (2001–2005)

The Powerpuff Girls Classic, Lou Romano Art Work

The Powerpuff Girls Reboot, Eusong Art work

Utonium Floorplan, Yucky on the inside blog

Utonium Residence, Fandom

Villa Arpel Photo,intjournal

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ