ตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกัน ฉันรู้ทันทีว่าโจนัสเป็นคนพิเศษ

ชายหนุ่มชาวยุโรปตัวสูง ผมบลอนด์ ตาสีน้ำทะเลนั้น ไม่ใช่ภาพแปลกตาในคลับที่เราพบกัน แต่มีบางอย่างเกี่ยวกับรอยยิ้มและท่าทางสบายๆ ของเขาที่มีเสน่ห์และเป็นมิตรอย่างเหลือเชื่อ หรืออาจจะเป็นเพราะเราเป็นเพียงสองคนบนโต๊ะที่ยังคงสติสัมปชัญญะครบถ้วนในโมงยามเกือบรุ่งสาง

“ผมทำงานให้พระราชินีอลิซาเบธ” เขาแนะนำตัวทีเล่นทีจริง “ผมเป็นนักเปียโนให้ Royal Academy of Dance น่ะ นี่ก็เพิ่งกลับจากไปเล่นให้โรงเรียนบัลเลต์ที่นิวซีแลนด์” โจนัสบุ้ยใบ้ไปที่กระเป๋าเดินทางใบเขื่องที่เขาลากเข้ามาในคลับ “แต่ผมว่าจะพักแล้วหละ แทนที่จะต้องเล่นเพลงของนักประพันธ์ที่ตายไปแล้วร้อยกว่าปีซ้ำๆ มันคงจะดีไม่น้อยถ้าผมได้เล่นเพลงที่ผมแต่งเอง ในคอนเสิร์ตของผมเอง”

วินาทีนั้น ฉันไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ในอีก 3 ปีต่อมา ฉันจะได้ร่วมหัวจมท้ายตลอดการสร้างสรรค์อัลบั้มแรกในชีวิตของเขา

รถไฟสู่อิสระ

ไม่กี่วันต่อมา เราตัดสินใจกระโดดขึ้นรถไฟเที่ยวสุดท้ายไปอยุธยาด้วยกัน “ผมชอบนั่งรถไฟมาก มันโรแมนติกดีนะ คุณว่าไหม” เขายิ้ม “มันทำให้ผมนึกถึงตอนที่มาถึงเมืองไทยใหม่ๆ เป็นอิสระที่แตกต่างเหลือเกินจากที่ที่ผมจากมา”

ระหว่างการเดินทางครั้งนั้น ฉันได้รู้จักพื้นเพชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ โจนัส ยาน เดปท์ อย่างจริงจัง เขาเริ่มเล่าถึงเปียโนตัวแรกที่จับพลัดจับผลูมาอยู่ที่บ้านเขาตอนอายุ 7 ขวบ มันคือรักแรกในชีวิตของเขา ท่ามกลางครอบครัวนักแปลที่ไม่มีใครเล่นดนตรีได้สักคน เด็กน้อยกลับเลือกเดินเส้นทางตามฝันเป็นนักดนตรีอาชีพ เขาทุ่มเทเวลาทั้งหมดไปกับการฝึกฝนหายใจออกเป็นดนตรี จนสอบเข้ามหาวิทยาลัยดนตรีอันดับ 1 ของเบลเยียม (Conservatoire Royal de Musique de Bruxelles) ได้เมื่ออายุเพียง 21 ปี

โจนัสบอกว่า ในรั้วของสถาบันนั้นคือการฝึกฝนแบบอนุรักษ์นิยมที่หฤโหด 7 วันต่อสัปดาห์ เข้มงวดขนาดที่ว่า จากคนสมัครนับร้อยในรุ่นของเขา กลับมีผู้เรียนจบมีเพียง 8 คนเท่านั้น

“แต่ผมไม่เคยยอมแพ้ เพราะเวลาที่ได้เล่นเปียโนในคอนเสิร์ตมันเปรียบเสมือนเวทมนตร์ เมื่อนิ้วของผมเริ่มขยับไปบนคีย์บอร์ด ทุกๆ สิ่งภายนอกสงัดลง ทุกๆ คนรวมถึงตัวผมเองด้วยหายไปเป็นอากาศธาตุ เหลือเพียงแต่ดนตรี”

เมื่อเขาสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. 2007 เพื่อนร่วมรุ่นของเขาบางคนกัดฟันแข่งขันต่อ เพื่อโอกาสอันริบหรี่ของการเป็น Soloist ในวงออร์เคสตราสักวง บ้างเลือกที่จะอยู่บ้านเป็นครูสอนเปียโน แต่โจนัสมีบางอย่างในตัวที่กบฏเกินกว่าที่จะเลือกเส้นทางตามขนบ

เขาจึงตัดสินใจติดตามคนรักในตอนนั้น และซื้อตั๋วเครื่องบินมาเริ่มชีวิตใหม่ที่ประเทศไทย

“ถึงตอนนี้จะไม่ได้ติดต่อกันแล้ว แต่ผมก็นึกขอบคุณเขาตลอด”

โจนัสพรรณาถึงความรู้สึกแรกที่นั่งรถไฟไปเชียงใหม่ เสียงฉึกฉักพาเขาวิ่งห่างไกลจากสิ่งที่เคยคุ้น ในขณะที่วงล้อบนรางมุนเคว้งไปพร้อมกับวงล้อแห่งโชคชะตา สูบฉีดความตื่นเต้นของจุดหมายอันคาดเดาไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับหัวใจของฉันในคืนนั้น

The Pianologist

ทักษะเดิมที่ติดตัวมา ทำให้โจนัสเป็นหนึ่งในนักเปียโนไม่กี่คนในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านการรับรองให้บรรเลงเพลงประกอบการสอบบัลเลต์ของ Royal Academy of Dance และได้ทำงานกับ Chiang Mai Ballet Academy ภายใต้การดูแลของหม่อมหลวงปรียพรรณ ศรีธวัช

แต่ลึกๆ ข้างในเขายังต้องการเติบโตในฐานะศิลปินร่วมสมัย และสร้างสรรค์บทเพลงของตัวเองอยู่ดี

เขาจึงสร้างอัตลักษณ์ใหม่ที่ชื่อว่า ‘The Pianologist’ ขึ้นมา

“ผมเคยเป็น Mixologist ในบาร์มาก่อน The Pianologist ก็คล้ายกัน คือเป็นผู้รังสรรค์รสชาติใหม่ๆ ขึ้นมา โดยมีเปียโนเป็นส่วนผสมหลัก” โจนัสบอกฉันว่าไม่มีอะไรแทนเสียงที่เกิดจากเครื่องสายของเปียโนได้ แต่เขาก็ลงทุนซื้อเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกมาเล่นแร่แปรธาตุและสร้างเสียงใหม่ๆ ใส่ผสมเข้าไป

“นักเปียโนแบบผม ไม่ได้มองงานเปียโนชั้นครูอย่างงานของโมสาร์ท บาค หรือโชแปง ว่าเป็นของชั้นสูงที่ห้ามจับต้อง ไม่ใช่ว่าผมไม่เคารพในผลงานของเขานะ แต่หลังจากเรียนรู้พื้นฐานแล้ว เราต้องกล้าที่จะขยี้ ตัดแปะ ดัดแปลง เพื่อสร้างสิ่งใหม่ด้วย” แนวคิดนี้ถูกต่อยอดด้วยแรงบันดาลใจที่เขาได้จากการอยู่ในประเทศไทย เกิดเป็นดนตรีที่เต็มไปด้วยเรื่องราว พาคนฟังออกเดินทางไปในจินตนาการของเขาได้อย่างอัศจรรย์

“ผมรู้สึกได้ตั้งแต่ก้าวแรกที่มาถึงว่า เมืองไทยเป็นเหมือนบ้านทางจิตวิญญาณของผม ที่นี่เต็มไปด้วยเสียงแซ่ซ้อง จิ้งหรีด นก แตรมอเตอร์ไซค์ เสียงสวดมนต์ ฯลฯ แต่ในขณะเดียวกันคนไทยก็อยู่กับความจอแจได้อย่างสงบ มันเป็นแรงบันดาลใจให้ผมหาความสมดุลข้างในตัวเอง”

ความสมดุลที่ว่านี้สะท้อนในดนตรีของเขาอย่างเห็นได้ชัด วันหนึ่งเขาเปิดเพลงชื่อ Opium (ฝิ่น) ให้ฉันฟัง เขาได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปสามเหลี่ยมทองคำสุดขอบจังหวัดเชียงราย เพลงนี้เปิดด้วยเครื่องสายเหมือนซาวนด์แทร็กของภาพยนตร์ จากนั้นเมโลดี้เปียโนลอยคลุ้งขึ้นดั่งควัน ผสมกับบีทดิจิทัลที่มีจังหวะทั้งอ้อยอิ่งและเร่งเร้าเสมือนอยู่ในภาวะจิตหลอน เป็น 3 นาทีที่ทำให้ฉันทึ่งและรู้ได้ในทันทีว่าเขามีจิตวิญญาณความเป็นศิลปินอย่างแท้จริง และมองเห็นความงามได้ในทุกสิ่งรอบตัว

นอกจากนี้ ‘The Pianologist’ ยังเลือกสร้างประสบการณ์คอนเสิร์ตในคอนเซปต์แปลกใหม่ เพื่อให้คนเข้าถึงเพลงเปียโนได้ง่ายขึ้น เช่น เล่นดนตรีย้อนยุคในบาร์ลับให้คนดูเพียงหยิบมือ เนรมิตเพลงให้แฟชั่นโชว์ของแบรนด์ Fly Now ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปเจ้าฟ้า ไปจนถึงการบรรเลงในโถงแก้วของพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ และเล่นเพลงประกอบหนังใบ้บนดาดฟ้าห้างสรรพสินค้าให้กับคนฟังหลายร้อยคน

แต่ที่คาดไม่ถึงมากที่สุด คือหลังจากที่คบกันไม่กี่เดือน โจนัสตัดสินใจย้ายเปียโนของเขาจากเชียงใหม่เข้ามาในบ้านของฉัน และทำลายความเงียบสงัดลงด้วยเพลงรัก

ระดมทุนเพื่อฝัน

ใน ค.ศ. 2018 เป็นการครบรอบ 10 ปีที่โจนัสมาอยู่ประเทศไทย

ฉันออกไอเดีย (กึ่งบังคับ) ว่า เขาควรจะทำอัลบั้มของตัวเองได้แล้ว แน่นอนว่ามันเป็นสิ่งที่ทั้งน่ากลัวและน่าตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน คำถามมากมายผุดขึ้นมาในบทสนทนาของเรา เพลงของเขาเป็นแนวอะไรกันแน่ ใครจะเป็นคนฟัง คนยังฟังซีดีอยู่ไหม ต้องเซ็นสัญญากับค่ายเพลงก่อนหรือเปล่า และที่สำคัญจะหาเงินก้อนที่ไหนมาผลิต

สำหรับคำถามสุดท้ายนั้น โจนัสปิ๊งไอเดียเลือกทำแคมเปญระดมทุนผ่านเว็บไซต์ crowdfunding.com เปิดให้คนเข้ามาช่วยสนับสนุนแล้วแต่ศรัทธา มีทั้งจ่ายเงินซื้อซีดีล่วงหน้า ซื้อแผ่นเสียง ซื้อตั๋วคอนเสิร์ตล่วงหน้า ไปจนถึงสิ่งที่ราคาสูงที่สุดคือจ่ายเงินให้โจนัสแต่งเพลงให้ เพื่อนำไปใส่ในอัลบั้มนี้

เราถ่ายคลิปกันด้วยโทรศัพท์มือถือและทำแคมเปญขึ้นมาในเวลาไม่กี่วัน เป้าหมายการระดมทุนคือ 2,800 ดอลลาร์ฯ หรือ 9 หมื่นกว่าบาท เป็นสนนราคาของการพิมพ์ซีดีขั้นต่ำ และปั๊มแผ่นเสียงอีกจำนวนหนึ่ง

“บอกตรงๆ ว่าผมไม่มั่นใจเลยว่าเราจะได้ทุนครบไหม นักเปียโนคืออาชีพที่โดดเดี่ยว” โจนัสถอนหายใจด้วยความกังวล เดชะบุญที่มีคนเชื่อในตัวเขาและดนตรีของเขามากมาย ทำให้มีแฟนเพลงจากทั่วโลกส่งแรงสนับสนุนเข้ามา อีกทั้งครอบครัวที่เบลเยียมก็ลงทุนซื้อเพลงกันทั่วหน้า (เพลงที่เขาแต่งให้คุณแม่ชื่อเพลง แม่น้ำ เป็นแทร็กปิดอัลบั้มที่งดงามมาก)

จนวันสุดท้ายของแคมเปญ เราได้รับแจ้งว่ายอดเงินจากผู้สนับสนุนเกินจำนวนที่ตั้งไว้ ทะลุเป้าไปแสนกว่าบาท เราเปิดแชมเปญฉลองข่าวดีนี้กันทันที พ่วงไปด้วยกับอีกหนึ่งข่าวดี คือ ไม่นานก่อนหน้านั้น เขาขอฉันแต่งงาน

อัลบั้มชิ้นโบว์แดง

โจนัสนำเงินไปวางมัดจำโรงงานทำซีดีทันที และปันอีกส่วนไปซื้อไมโครโฟนรุ่นที่ดีที่สุดเท่าจะซื้อได้ จากนั้นเขาไปเช่าห้องโถงใหญ่ของ Alliance Française เพื่ออัดเสียงเปียโนจากแกรนด์เปียโนยี่ห้อ Steinways and Sons ด้วยตนเอง เมื่อฉันถามว่าทำไมไม่จ้างคนอื่น หรือเข้าสตูดิโออัดเสียงที่ไหนสักแห่ง เขาตอบว่าเขาต้องการให้มาตรฐานของเสียงออกมาดีที่สุด และตรงใจเขามากที่สุด

แม้แต่ขั้นตอนมิกซ์และมาสเตอร์เสียงเพื่อสร้างต้นฉบับของอัลบั้ม เขาก็เลือกปรึกษาเพื่อนนักมิกซ์เสียงมืออาชีพที่บรัสเซลส์ แล้วจัดการปรับแต่งเสียงของแต่ละแทร็กเองทั้งอัลบั้ม เป็นช่วงเวลาหลายเดือนที่เขาหมกหมุ่นอยู่กับเปียโนและหน้าจอคอมฯ มีเพียงบางวันที่ได้ต้องออกไปข้างนอกเพื่ออัดเสียงเอฟเฟกต์เพิ่มเติม อาทิ เสียงฝน เสียงรถไฟออกจากชานชาลา เสียงเครื่องดนตรีอื่นๆ

ส่วนฉันเฝ้ามองอยู่หลังเวที คอยซื้อเสบียงข้าวปลายาสูบ และคอยประสานงานในส่วนที่เขาไม่ถนัด เช่น ช่วยตรวจดูสัญญาการสั่งผลิตที่เป็นภาษาไทย การอยู่กับเขาช่วงนี้ ทำให้เห็นว่านักดนตรีต้องมีวินัย ความอุตสาหะ และความเพียรพยายามขนาดไหน กว่าจะผลิตผลงานได้แต่ละเพลง

เมื่อครบทั้งสิ้น 8 เพลงตามที่เขาตั้งใจ ขั้นตอนสุดท้าย โจนัสขอให้ฉันออกแบบปกอัลบั้มให้ ซึ่งฉันปฏิเสธทันทีด้วยความกลัวว่าเราจะต้องทะเลาะกันเรื่องงาน “ลายเส้นของคุณบอกเล่าทุกอย่างที่เป็นผมได้ชัดเจนที่สุด” เขาตื้ออย่างต่อเนื่องจนฉันใจอ่อนและรับปากช่วยเขาในที่สุด

เนื่องจากเขาตั้งชื่ออัลบั้มตรงตัวว่า ‘The Pianologist’ ฉันจึงหยิบแท่งถ่านขึ้นมาวัดเป็นรูปใบหน้าด้านข้างของเขา ต่อเข้ากับเปียโน เอามาละเลงเข้ากับสีของภาพของท้องฟ้ายามค่ำคืน

The Show Must Go On

วิกฤต COVID-19 ทำให้ทุกอย่างเลื่อนออกไป โชว์เปิดตัวอัลบั้มตามแผนเดิมถูกยกเลิก เราสองคนต้องมานั่งจัดส่งซีดีไปให้ผู้คนตามบ้านแทน น่าแปลกที่โจนัสไม่ใจเสียแต่อย่างใด

“ทุกอย่างจะคลี่คลายไปได้เอง” เขาบอกฉันว่าอย่างนั้น ดูเหมือนว่าการใช้เวลาในประเทศไทยกว่า 10 ปี ทำให้เขาเป็นคนใจเย็นกว่าฉันเสียอีก เขาใช้เวลาช่วงล็อกดาวน์ไปกับการสร้างเพลงใหม่อย่างต่อเนื่อง เขาว่า “เผื่อไว้เล่นเป็นโบนัสแทร็กในคอนเสิร์ต” และเอางานของเขาไปขึ้นในแอปพลิเคชันอย่าง Spotify, iTunes, YouTube, Deezer ฯลฯ แต่ละวันที่ผ่านไปเขาจึงมีเรื่องน่าตื่นเต้นมารายงานฉันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นยอดวิวที่เพิ่มขึ้น หรือเสียงตอบรับจากผู้ที่ได้ฟังซีดีแล้วจากอีกฝากหนึ่งของโลก

จนวันหนึ่งไม่นานมานี้ ฉันเห็นประกาศจากหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ (BACC) เปิดให้ใช้พื้นที่ได้ฟรีเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ฉันจึงรีบบอกโจนัสให้ลองยื่นเอกสารไปดู เขาพยักหน้าหงึกหงักและบอกว่า “ผมวางใจนะ ว่าทุกอย่างจะเกิดขึ้นตามกาลเทศะของมันอย่างลงตัว”

เราเห็นพ้องกันว่าหอศิลป์ฯ นั้นถือเป็นสถานที่ที่ถูกต้อง มันตรงกับวิสัยทัศน์ที่เขานิยามตัวเองว่า ไม่ใช่แค่ ‘Pianist’ แต่เป็น ‘Piano Artist’ ดนตรีของเขาจึงคู่ควรกับการจัดแสดงเหมือนงานศิลปะ

แม้ว่าการจัดงานแสดงช่วงนี้จะมีข้อจำกัดเพิ่มเติม ทำให้ไม่สามารถจุคนได้จำนวนมากเหมือนเมื่อก่อน แต่โจนัสก็ยังยืนยันที่จะเล่นเพื่อคนกลุ่มเล็กลง และตั้งใจออกแบบประสบการณ์ให้คนดูมีส่วนร่วม ต่างจากคอนเสิร์ตทั่วไป เป็นที่มาของสโลแกนคอนเสิร์ต ‘Hear in Four Dimensions’ นอกจากนี้เขายังมีการเชิญเพื่อนๆ ศิลปินคนอื่นๆ มารวมแจมบนเวทีด้วย

“มันจะเป็นงานเฉลิมฉลองที่เยี่ยมยอด!” เขายิ้ม

มันยังคงเป็นรอยยิ้มที่ทำให้ฉันพ่ายแพ้ราบคาบ เหมือนคืนแรกที่เจอกัน

The Pianologist LIVE IN CONCERT เปิดการแสดงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ที่ Auditorium ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ (BACC) บัตรเข้าชม (รวมซีดีอัลบั้ม The Pianologist) ราคา 500 บาท สำรองที่นั่งได้ที่ www.thepianologist.com/shows-th

Writer

Avatar

โอ๊ต มณเฑียร

ศิลปินวาดรูปนู้ด แม่มด คนรักพิพิธภัณฑ์ และนักเขียนหนังสือ 'London Scene' กับ 'Paris Souvenir'

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล