The PARQ คืออาคารมิกซ์ยูสใหม่แกะกล่อง ตั้งอยู่หัวมุมแยกถนนพระรามสี่ตัดกับถนนรัชดาภิเษก

นอกจากจะเต็มไปด้วยด้วยเทคโนโลยีแล้ว ที่น่าสนใจที่สุดคือตึกนี้มีงานประติมากรรมขนาดยักษ์ สอดแทรกตกแต่งอยู่ตามส่วนต่างๆ จนเราอดจินตนาการไม่ได้เลยว่า ผู้ที่ผ่านเข้าออกตึกนี้ทุกวันจะรื่นรมย์ขนาดไหน ถ้ามีงานศิลปะร่วมสมัยเหล่านี้ผ่านหูผ่านตาอยู่เสมอ

ยิ่งเมื่อได้รู้ว่า Frasers Property Holdings (Thailand) ผู้บริหารโครงการ One Bangkok และ The PARQ ตั้งหน่วยงานดูแลด้านศิลปะและวัฒนธรรมขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองนโยบายส่งเสริมการมีพื้นที่สาธารณะสำหรับศิลปะ

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

The Cloud จึงนัดหมายพูดคุยกับ ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมโครงการเดอะ ปาร์ค ถึงเรื่องราวสนุกๆ ของ The PARQ ไลฟ์สไตล์มิกซ์ยูสที่ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าศิลปะคือองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิต ฟังเบื้องหลังประติมากรรมแต่ละชิ้นในโปรเจกต์ The PARQ Collection และการแปลงสถานะจากสิ่งก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ สู่เวทีสำหรับศิลปะอย่างเต็มตัว ด้วยการยกชั้น 15 ทั้งชั้นให้เป็นที่จัดงาน Bangkok Art Biennale (BAB) 2020

ถ้าใครเคยมาตึกนี้แล้ว คราวต่อไปที่มาจะต้องสนุกขึ้นอีก หรือถ้าใครยังไม่เคยมา ยิ่งควรต้องรีบใช้โอกาสที่งาน BAB 2020 กำลังจัดแสดงอยู่แวะเวียนมาเยี่ยมชม

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

01

การันตี

“The PARQ เป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ” ปุ๋มเริ่มต้นบทสนทนาได้อย่างน่าติดตาม ก่อนจะอธิบายต่อว่า “มันผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถันมากตั้งแต่แรกเริ่มวางคอนเซปต์ของตึกเลย”

ทีมผู้ดูแลได้รับโจทย์อันท้าทายในการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมที่สอดรับไปกับหลักการและแนวคิดตามมาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องชี้วัดความเป็นมิตรต่อโลกของอาคาร และ WELL (WELL Building Standard) มาตรฐานชี้วัดความเป็นมิตรต่อผู้ใช้อาคาร เนื่องจากผู้บริหารตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคารอย่างจริงจัง

The PARQ จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานทั้งสองอย่างครบถ้วน

แต่หนึ่งในหลักเกณฑ์ข้อสำคัญที่จะทำให้ได้มาตรฐานที่ว่านี้ คือเรื่องสภาพจิตใจของผู้คนภายในอาคาร ปุ๋มในฐานะผู้รับผิดชอบด้านศิลปะและวัฒนธรรม จึงทำการบ้านร่วมกันกับทีม ตีโจทย์จนได้ข้อสรุปว่า จะใช้งานประติมากรรมตกแต่งประกอบอาคารแบบถาวร เพื่อสร้างสุนทรียะให้แก่ผู้ใช้สถานที่

“งานศิลปะสำคัญมาก เราอาจคุ้นชินว่าถ้าจะดูต้องไปหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไปไม่ได้ทุกวัน แต่เราใช้เวลาวันละแปดเก้าชั่วโมงในที่ทำงานห้าวันต่อสัปดาห์ ถ้ามีงานสิ่งเหล่านี้อยู่ใกล้พนักงานออฟฟิศ อย่างน้อยก็ได้ช่วยจรรโลงจิตใจเขาแน่ๆ”

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

02

The PARQ Collection

“ปุ๋มอยากเอางานศิลปะเข้าใกล้กับคนแบบแนบเนียน” คิวเรเตอร์เริ่มอธิบายถึงแนวคิดที่มาที่ไป

“เรามองว่าธรรมชาติคือแก่นแท้ของทุกสรรพสิ่ง และศิลปินก็สามารถตีความหมายของธรรมชาติในเชิงสัญญะทางศิลปะได้มากมาย อีกอย่างคือเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่อยากให้โอกาสศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานที่อยู่ร่วมกับคนเมืองได้อย่างลงตัว โดยมีโครงการเป็นพื้นที่ที่ให้ศิลปินได้มีโอกาสมาจัดแสดงผลงาน”

เธอจึงกำหนดธีมหลักใหญ่ๆ คือเรื่องธรรมชาติให้แก่เหล่าบรรดาศิลปินทั้งไทยและเทศที่เธอได้ร่วมงาน เพื่อสร้างประติมากรรมไซส์ยักษ์สำหรับประดับตกแต่งตัวอาคาร โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่ดี ภายใต้ชื่อโครงการ ‘The PARQ Collection’ 

เกื้อกูล

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

ปุ๋มนำเราเดินเข้าสู่อาคารจากด้านหน้า เมื่อเห็นประติมากรรมขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณจุดจอดรถรับ-ส่ง ความสนใจของเราก็พุ่งไปสู่สิ่งนั้นทันที เพราะที่เห็นตรงหน้าคืองานศิลปะที่ทำจากวัสดุสเตนเลสขัดมัน 2 ชิ้น รูปทรงคล้ายใบไม้ แม้จะตั้งเว้นระยะห่างกันไว้ ทว่ากลับดูกลมกลืนต่อเนื่องราวกับเป็นชิ้นเดียว

“นี่เป็นฟอร์มของใบมันแซง งานมีสองชิ้น วางอยู่ในลักษณะที่เกือบจะก่ายกัน เลยชื่อ ‘เกื้อกูล’ คือพลังแห่งชีวิตและพลังแห่งการทำงานที่ช่วยสนับสนุนกัน อาจไม่ได้สัมผัสกันโดยตรงหรอก แต่ที่สำคัญคือช่องว่างระหว่างนั้นที่เปรียบเหมือนความสมดุลซึ่งเราต้องตามหา ฟอร์มที่ดูทั้งแข็งแรงและอ่อนไหว คือสองขั้วสภาวะที่บาลานซ์กัน”

เรายอมรับทันทีเลยว่า โด่ง-พงษธัช อ่วยกลาง ศิลปินผู้รังสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นมาสอดแทรกความคิดเบื้องหลังไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

“เราอยากได้งานประติมากรรมหน้าตึกชิ้นใหญ่ๆ เลยให้โจทย์แกว่าของานที่ทำมาจากสเตนเลสชิ้นเดียวแบบไม่มีรอยต่อ ขัดมัน เขาก็อึ้งนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็ทำมาได้ คุณโด่งเป็นไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานประติมากรรมไซส์นี้ได้ ที่ตั้งอยู่หน้าตึกในกรุงเทพฯ ร้อยละเก้าสิบงานเขาทั้งนั้นเลย”

เรามองว่านี่คือโอกาสครั้งสำคัญสำหรับศิลปินและวงการศิลปะ และปุ๋มก็เห็นด้วย

“เคยสงสัยไหมว่าทำไมบ้านเราไม่เคยมีประติมากรรมชิ้นใหญ่ๆ เพราะจริงๆ แล้วไม่มีโอกาส เมืองของเรามีพื้นที่สำหรับการจัดแสดงงานประติมากรรมขนาดใหญ่ไม่มากเลย ไม่เหมือนกับงานศิลปะประเภทอื่นเช่นจิตรกรรมที่ศิลปินมีโอกาสในการทำและจัดแสดงได้ง่ายกว่า ทางเราเลยเป็นเหมือนหนึ่งในกลไกที่ช่วยกันพัฒนาโดยการจ้างงานและให้โจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายแก่เขา บ้านเมืองเราก็จะมีอะไรสวยๆ และน่าสนใจมากขึ้น สุดท้ายแล้วก็คือการพัฒนาวงการศิลปะไปด้วยกัน”

นี่คือการเกื้อกูลกันโดยแท้จริง

The Cradle

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

“ดินคือธรรมชาติ และงานศิลปะที่เป็นดินก็คือเซรามิก” ปุ๋มเล่าพลางนำเราเดินสู่โถงลิฟต์ที่ชั้น 1

ทันทีที่ได้เห็นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ทำเลียนแบบคล้ายลายถักสาน 3 เส้น แขวนอยู่บนผนังสูงเรียงกันอย่างมีจังหวะ คำถามเดียวที่เราคิดได้ตอนนั้นคือ “นี่ทำจากเซรามิกจริงๆ ใช่ไหม”

เพราะเซรามิกขนาดใหญ่ที่สุดที่เราพอจะนึกออกคือโอ่งมังกร แต่ที่ปรากฏแก่สายตาเราตอนนี้เกินกว่าที่จินตนาการไว้มาก

นี่เป็นผลงานของ อ้อ-พรพรรณ สุทธิประภา ศิลปินผู้เชี่ยวชาญเรื่องเซรามิกที่มีผลงานมากมาย

“เราติดตามผลงานคุณอ้อมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว เมื่อมีโปรเจกต์นี้ จึงชวนคุณอ้อมาทำงานยาก โดยให้โจทย์ว่าอยากได้งานเซรามิกขนาดใหญ่มากมาไว้ที่โถงลิฟต์ทุกโถง”

ปั้นเซรามิกทรงโค้งให้ออกมาทรงสวย โดยไม่หักไปเสียก่อนว่ายากแล้ว ยิ่งต้องทำขนาดใหญ่ถึง 20 เซนติเมตร จำนวนกว่าพันชิ้น แล้วทั้งหมดคืองานทำมือ ไหนจะต้องไล่ระดับความโค้งให้หลากหลายถึง 4 แบบ แถมต้องทำเฉดสีให้แตกต่าง เวลาติดตั้งก็ต้องปรึกษากับสถาปนิกและวิศวกร เพื่อคำนวณระบบรับน้ำหนักด้วย

“แนวคิดคือคุณอ้อเปรียบอาคารเหมือนต้นไม้ ซึ่งจะโตไม่ได้เลยหากไม่มีรากที่แข็งแรง รากจึงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่มีใครเห็น เขาเลยทำออกมาให้เห็นเป็นเหมือนรากที่เกี่ยวพันกันไปมา ค่อยๆ งอกและลดเลี้ยวลงมาตามผนังตึก”

นอกจากความสวยงามทางสุนทรียะ ความน่ามหัศจรรย์ในเชิงเทคนิค และแนวคิดเบื้องหลังที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่สอดแทรกอยู่ระหว่างเส้นสายเซรามิกที่กอดกระหวัดกันอยู่ คือโอกาสของศิลปินในการท้าทายและพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะโอกาสซึ่งมาจากภาคเอกชนที่เห็นค่าของศิลปะโดยแท้จริง

“ล่าสุดคุณอ้อโทรบอกว่า มีคนมาเห็นงานชิ้นนี้แล้วชอบ สนใจอยากได้งานแบบนี้ไปไว้ที่บ้านบ้าง ปุ๋มว่านี่คือประสบความสำเร็จแล้ว ศิลปินได้รับการว่าจ้างต่อไป”

The Cocoon

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

ปุ๋มนำเราขึ้นลิฟต์ไป Q Garden ที่ชั้น 3 ของอาคาร ส่วนที่เป็นพื้นที่สีเขียวของตึก ชวนให้จินตนาการสรรพกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ได้ บรรยากาศอันร่มรื่นการันตีสุขภาพจิตที่ดีของพนักงานออฟฟิศข้างบนได้ด้วยตัวมันเอง

“บนนี้เหมาะอย่างมากที่จะมีงานศิลปะดีๆ สักชิ้น ที่ผู้คนเข้าไปสัมผัสได้” คิวเรเตอร์คนเก่งชิงอธิบาย ก่อนที่เราจะพบกับเก้าอี้สเตนเลสรูปทรงพิกเซล 2 ตัว ที่ตั้งหันหน้าเกือบจะเข้าหากัน

“ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะลงมาใช้งานได้ เลยอยากได้งานที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้” 

นี่คือโจทย์ที่ปุ๋มเล่าให้ บีน-สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิกคนเก่งฟัง เพราะเชื่อว่าใครจะเข้าใจพื้นที่ได้ดีกว่าศิลปินที่เป็นภูมิสถาปนิกด้วย

บีนจึงออกแบบมาเป็น The Cocoon เก้าอี้ทรงรังไหมที่เกิดจากการนำสเตนเลสเส้นมาสานกันเป็นทรงพิกเซลสี่เหลี่ยมหลายๆ อัน

“เป็นเหมือนพื้นที่ให้เราได้หลบหลีกจากความวุ่นวาย การทำงาน และเมืองกรุงที่ชวนสับสน เข้ามาอยู่ในนี้สักแป๊บหนึ่งเพื่อสงบจิตสงบใจ ให้รังไหมปกป้องเรา

“ด้วยฟอร์มและวัสดุสเตนเลส จึงเหมือนดูดเอาบรรยากาศรอบๆ เข้ามา ราวกับดึงต้นไม้โดยรอบมาอยู่ใกล้ ท่ามกลางความเป็นตึกใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างธรรมชาติและเมือง”

นี่คือคำอธิบายถึงแนวคิดอันแสนอบอุ่นของงานศิลปะที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเรา ปุ๋มเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม แล้วค่อยบอกถึงที่มาของเสียงโลหะที่เราได้ยินว่ามาจากพิกเซลที่ต้องลมแล้วไหวไปกระทบกัน ร่วมกับเสียงกระดิ่งที่ศิลปินหล่อขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วนำไปติดไว้ด้านในที่นั่ง ช่วยทำให้บรรยากาศบนนี้สงบเย็นขึ้นอีก

แต่ทำไมเก้าอี้รังไหม 2 ตัวนี้วางหันหน้าเฉียงกัน ไม่หันหน้าเข้าหากันไปเลย-เราถาม

“ไม่ต้องคุยกันตลอดเวลาก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับหันหลังให้กันหรือตัดการติดต่อไปเลย เพราะเมื่อกี้ก็คุยกันบนออฟฟิศแล้วเนอะ แยกกันบ้าง” เธอหัวเราะ

Studio Drift

แม้ว่าเป้าหมายหลักคือการสนับสนุนและเป็นเวทีแก่ศิลปินไทย แต่เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้คอลเลกชัน ปุ๋มจึงนำผลงานจากศิลปินต่างชาติมาจัดแสดงในเร็วๆ นี้

“ที่จริงมีงานอีกสองชิ้นจาก Studio Drift เดิมเราวางแผนให้มาพร้อมกัน แต่ก็ติดเรื่อง COVID-19 เขามาติดตั้งระบบไว้หมดแล้ว เหลือแค่เอาชิ้นงานมาประกอบ”

เธอแอบโชว์ภาพตัวอย่างผลงานของศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ทั้งสองแห่ง Studio Drift สตูดิโอศิลปะชื่อดังที่กรุงอัมสเตอร์ดัม มาให้เราชิมลางก่อน

“เราคิดว่าทำยังไงให้ศิลปะและเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันได้ เลยนึกถึงงานของ Studio Drift เพราะงานเขาเรียบง่าย แม้จะพูดถึงปรัชญาชีวิต ธรรมชาติ แต่เขาใช้เทคโนโลยีทั้งหมด” ปุ๋มเล่าแนวคิดอันเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกงานนี้มาใช้

ผลงานชิ้นสำคัญที่ประดับบริเวณโถงล็อบบี้ชื่อ Amplitude

เป็นงานศิลปะเคลื่อนไหวที่แขวนห้อยลงมาจากเพดาน ทำจากหลอดแก้วที่มีหัวท้ายหุ้มด้วยทองเหลืองจำนวนมาก ด้านในมีลูกตุ้มเหล็กถ่วงน้ำหนัก ห้อยเรียงรายกันอยู่กลางอากาศ

งานชิ้นนี้ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ขยับเป็นจังหวะ จึงดูคล้ายฝูงนกที่กำลังบินถลาร่อนลมอยู่กลางเวหาเมื่อเคลื่อนไหว สร้างชีวิตชีวาให้เกิดในบริเวณทันที

ผลงานอีกชิ้นชื่อว่า Meadow ประดับที่บริเวณ Q Steps

“แนวคิดคือ ของที่มนุษย์สร้างมันจะอยู่นิ่ง แต่อะไรที่เป็นธรรมชาติจะเคลื่อนไหวได้ เลยเอาลักษณะข้อนี้มาทำเป็นดอกไม้ที่ห้อยลงมาจากเพดาน ตัวกลีบดอกทำมาจากไหม แสดงให้เห็นวัฏจักรว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ดอกไม้บาน เมื่อพระอาทิตย์ตก ดอกไม้หุบ”

แม้โรคระบาดจะพรากโอกาสที่จะได้ชมผลงานของพวกเขาในปีนี้ แต่อีกไม่นานเกินรอ หลังจากจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายแล้ว ทั้งสองศิลปินจากเนเธอร์แลนด์จะบินมาติดตั้งผลงานให้คนไทยได้ชมด้วยตัวเอง

03

ชั้น 15

ถ้าจะให้เล่าเท้าความถึงบทบาทแรกเริ่มขององค์กรนี้ที่มีส่วนช่วยวงการศิลปะ ที่ชัดเจนก็เมื่อ ค.ศ. 2018 งาน Bangkok Art Biennale ครั้งที่ 1 ที่โครงการ One Bangkok ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารเดียวกัน สนับสนุนพื้นที่สำหรับแสดงงานศิลปะผ่านการเปิด BAB Box ขึ้น

ปีนี้ก็เช่นกัน ทั้ง One Bangkok และ The PARQ ได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับแสดงผลงานศิลปะหลากหลายจากศิลปินชั้นนำในงาน Bangkok Art Biennale 2020 ภายใต้หัวข้อ Escape Routes ศิลป์สร้าง ทางสุข

The PARQ ยกชั้น 15 ให้เป็นที่จัดแสดงผลงานกว่า 25 ชิ้น จากศิลปิน 16 ท่าน แถมแบ่งพื้นที่สวนลอยฟ้าชั้น 3 ให้เป็นที่ตั้งของ BAB Cafe อีกด้วย

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

ของเด็ดในงานมีทั้งนิทรรศการ Tooth Clinic ที่นำเสนอภาพประสบการณ์วัยเด็กของศิลปิน โน้ต-กฤษดา ภควัตสุนทร ผู้กลัวหมอฟัน นำไปสู่การชี้ให้เห็นความทุกข์ทรมานเบื้องหลังความงามตามมาตรฐาน

นิทรรศการ Woven Chronicle แผนที่โลกที่นอกจากแสดงอาณาเขตดินแดน ยังชี้ให้เห็นการขีดเส้นแบ่งอันก่อให้เกิดความไม่สงบอีกด้วย รีนา ไซนี กัลลัต นำเสนอผ่านลวดไฟฟ้าและลวดหนาม ที่บอกถึงความหนาแน่นของการเดินทางของผู้อพยพ แรงงาน และการค้าข้ามพรมแดน

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

ปีนี้ ยุรี เกนสาคู ศิลปินผู้มีคาแรกเตอร์ชัดเจนนำเสนอภาพ Liberty Leading the People ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความคือการบอกเล่าอุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยการนำภาพชื่อดังของ Delacroix อย่าง La Liberté guidant le peuple และภาพของศิลปินฝรั่งเศสท่านอื่นๆ มาวาดใหม่ในทำนองการ์ตูนนิดๆ แฟนตาซีหน่อยๆ

อีกชิ้นที่สำคัญชื่อ Rising ผลงาน Virtual Reality ชิ้นแรกของ มารีนา อบราโมวิช ที่บอกกล่าวสาระแห่งผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จัดแสดงครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเครื่องเล่น VR ที่จะสร้างความเห็นอกเห็นใจผ่านประสบการณ์ความกลัวเพื่อปลุกความตระหนักรู้ให้หมู่มนุษย์

One Bangkok และ The PARQ นอกจากจะเป็นมิตรต่อโลกและดีต่อมนุษย์ผู้อาศัยแล้ว ยังเป็นที่รักต่อศิลปะอีกด้วย

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย

04

หว่านพืช หวังผล

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
งานศิลปะที่ One Bangkok

ผลอะไรที่คุณอยากเห็นจากการทำ The PARQ Collection และแบ่ง The PARQ บางส่วนมาใช้เพื่อกิจกรรมทางศิลปะอย่าง BAB 2020 เราถาม

“สำหรับศิลปิน นี่คือเวทีของเขา คือโอกาสอันท้าทายในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาทีม และในที่สุดคือการพัฒนาวงการศิลปะในประเทศเรา ปุ๋มจะดีใจมากถ้าศิลปินได้แจ้งเกิดจากเวทีนี้ ได้ไปเมืองนอก หรือมีคนมาจ้างงานต่อ 

“ในเชิงสำนักงาน มันต้องทำได้มากกว่าแค่เป็นที่ให้คนมาทำงานแล้วกลับบ้าน การมีงานศิลปะที่สวยงามมีส่วนช่วยกระตุ้นบรรยากาศ เติมพลังในการทำงาน ช่วยปลอบประโลมยามเหนื่อยล้าได้

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
งานศิลปะที่ One Bangkok
The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
งานศิลปะที่ One Bangkok

“ในระดับสังคม ศิลปะคือเครื่องบ่งชี้ความเจริญ ทั้งในเชิงวัตถุหรือด้านจิตใจ ช่วยยกระดับอาคาร ยกระดับย่าน เมือง และผลักดันสังคมให้เดินไปในทิศทางที่ดี อย่างน้อยคนก็จะคุ้นชินว่าศิลปะมันอยู่ใกล้ตัวเราเสมอ และช่วยปลุกความตระหนักรู้เรื่องศิลปะในตัวคนไทยได้ยิ่งขึ้นด้วย”

ภาพฝันสูงสุดของปุ๋มคือการได้เห็นอะไรแบบนี้ในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศเรามากขึ้น และเธอก็เชื่อว่าสังคมไทยเรากำลังเดินทางไปในทิศทางที่ถูกที่ควร

The PARQ อาคารออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับศิลปะ จนยกทั้งฟลอร์มาจัดงาน BAB 2020, ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย
งานศิลปะที่ One Bangkok

“ตอนนี้ก็ดีใจว่ามีแกลเลอรี่เยอะขึ้น เอกชนก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น แม้ว่าเขาจะใช้ศิลปะเพื่อการตลาดหรือเพื่อนำเสนอแบรนด์เขาก็ตาม อย่างน้อยมีการจ้างงานศิลปิน ยิ่งมีงาน BAB ยิ่งช่วย เพราะคนจะเริ่มรับรู้ว่ามีงานศิลปะอยู่ในที่ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องไกลตัว”

นอกจาก The PARQ จะเป็นตึกสีเขียวต่อโลก เป็นตึกสีทองต่อวงธุรกิจและย่านนั้นแล้ว ยังเป็นตึกสีรุ้งที่เปิดกว้างสำหรับศิลปินและนักสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต

The PARQ

เลขที่ 88 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)

เว็บไซต์ : www.theparq.com

วันเวลาทำการ : ทุกวัน 10.00 – 22.00 น.

โทรศัพท์ 02 080 5700

Bangkok Art Biennale 2020 at The PARQ

เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

วันที่เปิดให้เข้าชม : 12 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564

เวลาเปิด-ปิด : 10.00 – 20.00 น.

ระยะเวลาชมโดยเฉลี่ย : 90 นาที

การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออกที่ 2

เว็บไซต์ : www.bkkartbiennale.com/venue/the-parq

Writer

Avatar

นิรภัฎ ช้างแดง

กองบรรณาธิการผู้คนพบความสุขในวัยใกล้เบญจเพสจากบทสนทนาดีๆ กับคนดีๆ และเพลงรักสุดแสน Bittersweet ของ Mariah Carey

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ