The PARQ คืออาคารมิกซ์ยูสใหม่แกะกล่อง ตั้งอยู่หัวมุมแยกถนนพระรามสี่ตัดกับถนนรัชดาภิเษก
นอกจากจะเต็มไปด้วยด้วยเทคโนโลยีแล้ว ที่น่าสนใจที่สุดคือตึกนี้มีงานประติมากรรมขนาดยักษ์ สอดแทรกตกแต่งอยู่ตามส่วนต่างๆ จนเราอดจินตนาการไม่ได้เลยว่า ผู้ที่ผ่านเข้าออกตึกนี้ทุกวันจะรื่นรมย์ขนาดไหน ถ้ามีงานศิลปะร่วมสมัยเหล่านี้ผ่านหูผ่านตาอยู่เสมอ
ยิ่งเมื่อได้รู้ว่า Frasers Property Holdings (Thailand) ผู้บริหารโครงการ One Bangkok และ The PARQ ตั้งหน่วยงานดูแลด้านศิลปะและวัฒนธรรมขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อตอบสนองนโยบายส่งเสริมการมีพื้นที่สาธารณะสำหรับศิลปะ
The Cloud จึงนัดหมายพูดคุยกับ ปุ๋ม-จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรมโครงการเดอะ ปาร์ค ถึงเรื่องราวสนุกๆ ของ The PARQ ไลฟ์สไตล์มิกซ์ยูสที่ตั้งอยู่บนความเชื่อว่าศิลปะคือองค์ประกอบสำคัญของการใช้ชีวิต ฟังเบื้องหลังประติมากรรมแต่ละชิ้นในโปรเจกต์ The PARQ Collection และการแปลงสถานะจากสิ่งก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์ สู่เวทีสำหรับศิลปะอย่างเต็มตัว ด้วยการยกชั้น 15 ทั้งชั้นให้เป็นที่จัดงาน Bangkok Art Biennale (BAB) 2020
ถ้าใครเคยมาตึกนี้แล้ว คราวต่อไปที่มาจะต้องสนุกขึ้นอีก หรือถ้าใครยังไม่เคยมา ยิ่งควรต้องรีบใช้โอกาสที่งาน BAB 2020 กำลังจัดแสดงอยู่แวะเวียนมาเยี่ยมชม
01
การันตี
“The PARQ เป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ” ปุ๋มเริ่มต้นบทสนทนาได้อย่างน่าติดตาม ก่อนจะอธิบายต่อว่า “มันผ่านการออกแบบมาอย่างพิถีพิถันมากตั้งแต่แรกเริ่มวางคอนเซปต์ของตึกเลย”
ทีมผู้ดูแลได้รับโจทย์อันท้าทายในการออกแบบอาคารสถาปัตยกรรมที่สอดรับไปกับหลักการและแนวคิดตามมาตรฐานของ LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องชี้วัดความเป็นมิตรต่อโลกของอาคาร และ WELL (WELL Building Standard) มาตรฐานชี้วัดความเป็นมิตรต่อผู้ใช้อาคาร เนื่องจากผู้บริหารตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และใส่ใจคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคารอย่างจริงจัง
The PARQ จึงได้รับการออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์มาตรฐานทั้งสองอย่างครบถ้วน
แต่หนึ่งในหลักเกณฑ์ข้อสำคัญที่จะทำให้ได้มาตรฐานที่ว่านี้ คือเรื่องสภาพจิตใจของผู้คนภายในอาคาร ปุ๋มในฐานะผู้รับผิดชอบด้านศิลปะและวัฒนธรรม จึงทำการบ้านร่วมกันกับทีม ตีโจทย์จนได้ข้อสรุปว่า จะใช้งานประติมากรรมตกแต่งประกอบอาคารแบบถาวร เพื่อสร้างสุนทรียะให้แก่ผู้ใช้สถานที่
“งานศิลปะสำคัญมาก เราอาจคุ้นชินว่าถ้าจะดูต้องไปหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ ซึ่งไปไม่ได้ทุกวัน แต่เราใช้เวลาวันละแปดเก้าชั่วโมงในที่ทำงานห้าวันต่อสัปดาห์ ถ้ามีงานสิ่งเหล่านี้อยู่ใกล้พนักงานออฟฟิศ อย่างน้อยก็ได้ช่วยจรรโลงจิตใจเขาแน่ๆ”
02
The PARQ Collection
“ปุ๋มอยากเอางานศิลปะเข้าใกล้กับคนแบบแนบเนียน” คิวเรเตอร์เริ่มอธิบายถึงแนวคิดที่มาที่ไป
“เรามองว่าธรรมชาติคือแก่นแท้ของทุกสรรพสิ่ง และศิลปินก็สามารถตีความหมายของธรรมชาติในเชิงสัญญะทางศิลปะได้มากมาย อีกอย่างคือเป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่อยากให้โอกาสศิลปินในการสร้างสรรค์ผลงานที่อยู่ร่วมกับคนเมืองได้อย่างลงตัว โดยมีโครงการเป็นพื้นที่ที่ให้ศิลปินได้มีโอกาสมาจัดแสดงผลงาน”
เธอจึงกำหนดธีมหลักใหญ่ๆ คือเรื่องธรรมชาติให้แก่เหล่าบรรดาศิลปินทั้งไทยและเทศที่เธอได้ร่วมงาน เพื่อสร้างประติมากรรมไซส์ยักษ์สำหรับประดับตกแต่งตัวอาคาร โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่าน เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่ดี ภายใต้ชื่อโครงการ ‘The PARQ Collection’
เกื้อกูล
ปุ๋มนำเราเดินเข้าสู่อาคารจากด้านหน้า เมื่อเห็นประติมากรรมขนาดใหญ่ซึ่งตั้งอยู่บริเวณจุดจอดรถรับ-ส่ง ความสนใจของเราก็พุ่งไปสู่สิ่งนั้นทันที เพราะที่เห็นตรงหน้าคืองานศิลปะที่ทำจากวัสดุสเตนเลสขัดมัน 2 ชิ้น รูปทรงคล้ายใบไม้ แม้จะตั้งเว้นระยะห่างกันไว้ ทว่ากลับดูกลมกลืนต่อเนื่องราวกับเป็นชิ้นเดียว
“นี่เป็นฟอร์มของใบมันแซง งานมีสองชิ้น วางอยู่ในลักษณะที่เกือบจะก่ายกัน เลยชื่อ ‘เกื้อกูล’ คือพลังแห่งชีวิตและพลังแห่งการทำงานที่ช่วยสนับสนุนกัน อาจไม่ได้สัมผัสกันโดยตรงหรอก แต่ที่สำคัญคือช่องว่างระหว่างนั้นที่เปรียบเหมือนความสมดุลซึ่งเราต้องตามหา ฟอร์มที่ดูทั้งแข็งแรงและอ่อนไหว คือสองขั้วสภาวะที่บาลานซ์กัน”
เรายอมรับทันทีเลยว่า โด่ง-พงษธัช อ่วยกลาง ศิลปินผู้รังสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นมาสอดแทรกความคิดเบื้องหลังไว้ได้อย่างน่าทึ่ง
“เราอยากได้งานประติมากรรมหน้าตึกชิ้นใหญ่ๆ เลยให้โจทย์แกว่าของานที่ทำมาจากสเตนเลสชิ้นเดียวแบบไม่มีรอยต่อ ขัดมัน เขาก็อึ้งนิดหน่อย แต่สุดท้ายก็ทำมาได้ คุณโด่งเป็นไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานประติมากรรมไซส์นี้ได้ ที่ตั้งอยู่หน้าตึกในกรุงเทพฯ ร้อยละเก้าสิบงานเขาทั้งนั้นเลย”
เรามองว่านี่คือโอกาสครั้งสำคัญสำหรับศิลปินและวงการศิลปะ และปุ๋มก็เห็นด้วย
“เคยสงสัยไหมว่าทำไมบ้านเราไม่เคยมีประติมากรรมชิ้นใหญ่ๆ เพราะจริงๆ แล้วไม่มีโอกาส เมืองของเรามีพื้นที่สำหรับการจัดแสดงงานประติมากรรมขนาดใหญ่ไม่มากเลย ไม่เหมือนกับงานศิลปะประเภทอื่นเช่นจิตรกรรมที่ศิลปินมีโอกาสในการทำและจัดแสดงได้ง่ายกว่า ทางเราเลยเป็นเหมือนหนึ่งในกลไกที่ช่วยกันพัฒนาโดยการจ้างงานและให้โจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายแก่เขา บ้านเมืองเราก็จะมีอะไรสวยๆ และน่าสนใจมากขึ้น สุดท้ายแล้วก็คือการพัฒนาวงการศิลปะไปด้วยกัน”
นี่คือการเกื้อกูลกันโดยแท้จริง
The Cradle
“ดินคือธรรมชาติ และงานศิลปะที่เป็นดินก็คือเซรามิก” ปุ๋มเล่าพลางนำเราเดินสู่โถงลิฟต์ที่ชั้น 1
ทันทีที่ได้เห็นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ทำเลียนแบบคล้ายลายถักสาน 3 เส้น แขวนอยู่บนผนังสูงเรียงกันอย่างมีจังหวะ คำถามเดียวที่เราคิดได้ตอนนั้นคือ “นี่ทำจากเซรามิกจริงๆ ใช่ไหม”
เพราะเซรามิกขนาดใหญ่ที่สุดที่เราพอจะนึกออกคือโอ่งมังกร แต่ที่ปรากฏแก่สายตาเราตอนนี้เกินกว่าที่จินตนาการไว้มาก
นี่เป็นผลงานของ อ้อ-พรพรรณ สุทธิประภา ศิลปินผู้เชี่ยวชาญเรื่องเซรามิกที่มีผลงานมากมาย
“เราติดตามผลงานคุณอ้อมาเรื่อยๆ อยู่แล้ว เมื่อมีโปรเจกต์นี้ จึงชวนคุณอ้อมาทำงานยาก โดยให้โจทย์ว่าอยากได้งานเซรามิกขนาดใหญ่มากมาไว้ที่โถงลิฟต์ทุกโถง”
ปั้นเซรามิกทรงโค้งให้ออกมาทรงสวย โดยไม่หักไปเสียก่อนว่ายากแล้ว ยิ่งต้องทำขนาดใหญ่ถึง 20 เซนติเมตร จำนวนกว่าพันชิ้น แล้วทั้งหมดคืองานทำมือ ไหนจะต้องไล่ระดับความโค้งให้หลากหลายถึง 4 แบบ แถมต้องทำเฉดสีให้แตกต่าง เวลาติดตั้งก็ต้องปรึกษากับสถาปนิกและวิศวกร เพื่อคำนวณระบบรับน้ำหนักด้วย
“แนวคิดคือคุณอ้อเปรียบอาคารเหมือนต้นไม้ ซึ่งจะโตไม่ได้เลยหากไม่มีรากที่แข็งแรง รากจึงเป็นส่วนสำคัญที่ไม่มีใครเห็น เขาเลยทำออกมาให้เห็นเป็นเหมือนรากที่เกี่ยวพันกันไปมา ค่อยๆ งอกและลดเลี้ยวลงมาตามผนังตึก”
นอกจากความสวยงามทางสุนทรียะ ความน่ามหัศจรรย์ในเชิงเทคนิค และแนวคิดเบื้องหลังที่ดีแล้ว สิ่งสำคัญที่สอดแทรกอยู่ระหว่างเส้นสายเซรามิกที่กอดกระหวัดกันอยู่ คือโอกาสของศิลปินในการท้าทายและพัฒนาตัวเอง โดยเฉพาะโอกาสซึ่งมาจากภาคเอกชนที่เห็นค่าของศิลปะโดยแท้จริง
“ล่าสุดคุณอ้อโทรบอกว่า มีคนมาเห็นงานชิ้นนี้แล้วชอบ สนใจอยากได้งานแบบนี้ไปไว้ที่บ้านบ้าง ปุ๋มว่านี่คือประสบความสำเร็จแล้ว ศิลปินได้รับการว่าจ้างต่อไป”
The Cocoon
ปุ๋มนำเราขึ้นลิฟต์ไป Q Garden ที่ชั้น 3 ของอาคาร ส่วนที่เป็นพื้นที่สีเขียวของตึก ชวนให้จินตนาการสรรพกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นที่บริเวณนี้ได้ บรรยากาศอันร่มรื่นการันตีสุขภาพจิตที่ดีของพนักงานออฟฟิศข้างบนได้ด้วยตัวมันเอง
“บนนี้เหมาะอย่างมากที่จะมีงานศิลปะดีๆ สักชิ้น ที่ผู้คนเข้าไปสัมผัสได้” คิวเรเตอร์คนเก่งชิงอธิบาย ก่อนที่เราจะพบกับเก้าอี้สเตนเลสรูปทรงพิกเซล 2 ตัว ที่ตั้งหันหน้าเกือบจะเข้าหากัน
“ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนจะลงมาใช้งานได้ เลยอยากได้งานที่มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้”
นี่คือโจทย์ที่ปุ๋มเล่าให้ บีน-สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ ภูมิสถาปนิกคนเก่งฟัง เพราะเชื่อว่าใครจะเข้าใจพื้นที่ได้ดีกว่าศิลปินที่เป็นภูมิสถาปนิกด้วย
บีนจึงออกแบบมาเป็น The Cocoon เก้าอี้ทรงรังไหมที่เกิดจากการนำสเตนเลสเส้นมาสานกันเป็นทรงพิกเซลสี่เหลี่ยมหลายๆ อัน
“เป็นเหมือนพื้นที่ให้เราได้หลบหลีกจากความวุ่นวาย การทำงาน และเมืองกรุงที่ชวนสับสน เข้ามาอยู่ในนี้สักแป๊บหนึ่งเพื่อสงบจิตสงบใจ ให้รังไหมปกป้องเรา
“ด้วยฟอร์มและวัสดุสเตนเลส จึงเหมือนดูดเอาบรรยากาศรอบๆ เข้ามา ราวกับดึงต้นไม้โดยรอบมาอยู่ใกล้ ท่ามกลางความเป็นตึกใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันอย่างลงตัวระหว่างธรรมชาติและเมือง”
นี่คือคำอธิบายถึงแนวคิดอันแสนอบอุ่นของงานศิลปะที่ตั้งอยู่ตรงหน้าเรา ปุ๋มเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม แล้วค่อยบอกถึงที่มาของเสียงโลหะที่เราได้ยินว่ามาจากพิกเซลที่ต้องลมแล้วไหวไปกระทบกัน ร่วมกับเสียงกระดิ่งที่ศิลปินหล่อขึ้นมาด้วยตัวเอง แล้วนำไปติดไว้ด้านในที่นั่ง ช่วยทำให้บรรยากาศบนนี้สงบเย็นขึ้นอีก
แต่ทำไมเก้าอี้รังไหม 2 ตัวนี้วางหันหน้าเฉียงกัน ไม่หันหน้าเข้าหากันไปเลย-เราถาม
“ไม่ต้องคุยกันตลอดเวลาก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับหันหลังให้กันหรือตัดการติดต่อไปเลย เพราะเมื่อกี้ก็คุยกันบนออฟฟิศแล้วเนอะ แยกกันบ้าง” เธอหัวเราะ
Studio Drift
แม้ว่าเป้าหมายหลักคือการสนับสนุนและเป็นเวทีแก่ศิลปินไทย แต่เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้คอลเลกชัน ปุ๋มจึงนำผลงานจากศิลปินต่างชาติมาจัดแสดงในเร็วๆ นี้
“ที่จริงมีงานอีกสองชิ้นจาก Studio Drift เดิมเราวางแผนให้มาพร้อมกัน แต่ก็ติดเรื่อง COVID-19 เขามาติดตั้งระบบไว้หมดแล้ว เหลือแค่เอาชิ้นงานมาประกอบ”
เธอแอบโชว์ภาพตัวอย่างผลงานของศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ทั้งสองแห่ง Studio Drift สตูดิโอศิลปะชื่อดังที่กรุงอัมสเตอร์ดัม มาให้เราชิมลางก่อน
“เราคิดว่าทำยังไงให้ศิลปะและเทคโนโลยีอยู่ร่วมกันได้ เลยนึกถึงงานของ Studio Drift เพราะงานเขาเรียบง่าย แม้จะพูดถึงปรัชญาชีวิต ธรรมชาติ แต่เขาใช้เทคโนโลยีทั้งหมด” ปุ๋มเล่าแนวคิดอันเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกงานนี้มาใช้
ผลงานชิ้นสำคัญที่ประดับบริเวณโถงล็อบบี้ชื่อ Amplitude
เป็นงานศิลปะเคลื่อนไหวที่แขวนห้อยลงมาจากเพดาน ทำจากหลอดแก้วที่มีหัวท้ายหุ้มด้วยทองเหลืองจำนวนมาก ด้านในมีลูกตุ้มเหล็กถ่วงน้ำหนัก ห้อยเรียงรายกันอยู่กลางอากาศ
งานชิ้นนี้ควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ขยับเป็นจังหวะ จึงดูคล้ายฝูงนกที่กำลังบินถลาร่อนลมอยู่กลางเวหาเมื่อเคลื่อนไหว สร้างชีวิตชีวาให้เกิดในบริเวณทันที
ผลงานอีกชิ้นชื่อว่า Meadow ประดับที่บริเวณ Q Steps
“แนวคิดคือ ของที่มนุษย์สร้างมันจะอยู่นิ่ง แต่อะไรที่เป็นธรรมชาติจะเคลื่อนไหวได้ เลยเอาลักษณะข้อนี้มาทำเป็นดอกไม้ที่ห้อยลงมาจากเพดาน ตัวกลีบดอกทำมาจากไหม แสดงให้เห็นวัฏจักรว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น ดอกไม้บาน เมื่อพระอาทิตย์ตก ดอกไม้หุบ”
แม้โรคระบาดจะพรากโอกาสที่จะได้ชมผลงานของพวกเขาในปีนี้ แต่อีกไม่นานเกินรอ หลังจากจากสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายแล้ว ทั้งสองศิลปินจากเนเธอร์แลนด์จะบินมาติดตั้งผลงานให้คนไทยได้ชมด้วยตัวเอง
03
ชั้น 15
ถ้าจะให้เล่าเท้าความถึงบทบาทแรกเริ่มขององค์กรนี้ที่มีส่วนช่วยวงการศิลปะ ที่ชัดเจนก็เมื่อ ค.ศ. 2018 งาน Bangkok Art Biennale ครั้งที่ 1 ที่โครงการ One Bangkok ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารเดียวกัน สนับสนุนพื้นที่สำหรับแสดงงานศิลปะผ่านการเปิด BAB Box ขึ้น
ปีนี้ก็เช่นกัน ทั้ง One Bangkok และ The PARQ ได้จัดสรรพื้นที่บางส่วนสำหรับแสดงผลงานศิลปะหลากหลายจากศิลปินชั้นนำในงาน Bangkok Art Biennale 2020 ภายใต้หัวข้อ Escape Routes ศิลป์สร้าง ทางสุข
The PARQ ยกชั้น 15 ให้เป็นที่จัดแสดงผลงานกว่า 25 ชิ้น จากศิลปิน 16 ท่าน แถมแบ่งพื้นที่สวนลอยฟ้าชั้น 3 ให้เป็นที่ตั้งของ BAB Cafe อีกด้วย
ของเด็ดในงานมีทั้งนิทรรศการ Tooth Clinic ที่นำเสนอภาพประสบการณ์วัยเด็กของศิลปิน โน้ต-กฤษดา ภควัตสุนทร ผู้กลัวหมอฟัน นำไปสู่การชี้ให้เห็นความทุกข์ทรมานเบื้องหลังความงามตามมาตรฐาน
นิทรรศการ Woven Chronicle แผนที่โลกที่นอกจากแสดงอาณาเขตดินแดน ยังชี้ให้เห็นการขีดเส้นแบ่งอันก่อให้เกิดความไม่สงบอีกด้วย รีนา ไซนี กัลลัต นำเสนอผ่านลวดไฟฟ้าและลวดหนาม ที่บอกถึงความหนาแน่นของการเดินทางของผู้อพยพ แรงงาน และการค้าข้ามพรมแดน
ปีนี้ ยุรี เกนสาคู ศิลปินผู้มีคาแรกเตอร์ชัดเจนนำเสนอภาพ Liberty Leading the People ซึ่งมีหลักใหญ่ใจความคือการบอกเล่าอุดมการณ์ทางการเมือง ด้วยการนำภาพชื่อดังของ Delacroix อย่าง La Liberté guidant le peuple และภาพของศิลปินฝรั่งเศสท่านอื่นๆ มาวาดใหม่ในทำนองการ์ตูนนิดๆ แฟนตาซีหน่อยๆ
อีกชิ้นที่สำคัญชื่อ Rising ผลงาน Virtual Reality ชิ้นแรกของ มารีนา อบราโมวิช ที่บอกกล่าวสาระแห่งผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง จัดแสดงครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านเครื่องเล่น VR ที่จะสร้างความเห็นอกเห็นใจผ่านประสบการณ์ความกลัวเพื่อปลุกความตระหนักรู้ให้หมู่มนุษย์
One Bangkok และ The PARQ นอกจากจะเป็นมิตรต่อโลกและดีต่อมนุษย์ผู้อาศัยแล้ว ยังเป็นที่รักต่อศิลปะอีกด้วย
04
หว่านพืช หวังผล
ผลอะไรที่คุณอยากเห็นจากการทำ The PARQ Collection และแบ่ง The PARQ บางส่วนมาใช้เพื่อกิจกรรมทางศิลปะอย่าง BAB 2020 เราถาม
“สำหรับศิลปิน นี่คือเวทีของเขา คือโอกาสอันท้าทายในการพัฒนาตัวเอง พัฒนาทีม และในที่สุดคือการพัฒนาวงการศิลปะในประเทศเรา ปุ๋มจะดีใจมากถ้าศิลปินได้แจ้งเกิดจากเวทีนี้ ได้ไปเมืองนอก หรือมีคนมาจ้างงานต่อ
“ในเชิงสำนักงาน มันต้องทำได้มากกว่าแค่เป็นที่ให้คนมาทำงานแล้วกลับบ้าน การมีงานศิลปะที่สวยงามมีส่วนช่วยกระตุ้นบรรยากาศ เติมพลังในการทำงาน ช่วยปลอบประโลมยามเหนื่อยล้าได้
“ในระดับสังคม ศิลปะคือเครื่องบ่งชี้ความเจริญ ทั้งในเชิงวัตถุหรือด้านจิตใจ ช่วยยกระดับอาคาร ยกระดับย่าน เมือง และผลักดันสังคมให้เดินไปในทิศทางที่ดี อย่างน้อยคนก็จะคุ้นชินว่าศิลปะมันอยู่ใกล้ตัวเราเสมอ และช่วยปลุกความตระหนักรู้เรื่องศิลปะในตัวคนไทยได้ยิ่งขึ้นด้วย”
ภาพฝันสูงสุดของปุ๋มคือการได้เห็นอะไรแบบนี้ในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศเรามากขึ้น และเธอก็เชื่อว่าสังคมไทยเรากำลังเดินทางไปในทิศทางที่ถูกที่ควร
“ตอนนี้ก็ดีใจว่ามีแกลเลอรี่เยอะขึ้น เอกชนก็เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น แม้ว่าเขาจะใช้ศิลปะเพื่อการตลาดหรือเพื่อนำเสนอแบรนด์เขาก็ตาม อย่างน้อยมีการจ้างงานศิลปิน ยิ่งมีงาน BAB ยิ่งช่วย เพราะคนจะเริ่มรับรู้ว่ามีงานศิลปะอยู่ในที่ทั่วไป ไม่ใช่เรื่องไกลตัว”
นอกจาก The PARQ จะเป็นตึกสีเขียวต่อโลก เป็นตึกสีทองต่อวงธุรกิจและย่านนั้นแล้ว ยังเป็นตึกสีรุ้งที่เปิดกว้างสำหรับศิลปินและนักสร้างสรรค์ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
The PARQ
เลขที่ 88 ถนนรัชดาภิเษก แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 (แผนที่)
เว็บไซต์ : www.theparq.com
วันเวลาทำการ : ทุกวัน 10.00 – 22.00 น.
โทรศัพท์ 02 080 5700
Bangkok Art Biennale 2020 at The PARQ
เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
วันที่เปิดให้เข้าชม : 12 ตุลาคม 2563 – 31 มกราคม 2564
เวลาเปิด-ปิด : 10.00 – 20.00 น.
ระยะเวลาชมโดยเฉลี่ย : 90 นาที
การเดินทาง : รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทางออกที่ 2
เว็บไซต์ : www.bkkartbiennale.com/venue/the-parq