“Fashion is not about product ; It’s about an interesting idea that you can resist buying into.” – Alessandro Michele

เราเห็นด้วยกับคำกล่าวของมิเคลเลแห่ง Gucci ที่ว่าแฟชั่นไม่ได้เป็นเพียงผลิตภัณฑ์ แต่เกี่ยวพันกับความคิดอันน่าสนใจ

ไอเดียเป็นคำสำคัญที่แม่น (จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย) และเบส (ปฏิพัทธ์ ชัยภักดี) ใช้ขับเคลื่อนแบรนด์ ทั้งคู่คือผู้นำพาแฟชั่นที่เกิดจากความคิด การกลั่นทัศนคติให้เป็นรูปธรรมปรากฏบนงานออกแบบให้เป็นที่รู้จัก เป็นที่รักของลูกค้า และผู้นำสไตล์ทั่วโลก

กว่าจะถึงวันที่แม่นกับเบสได้นั่งร้องไห้อย่างปีติใจด้วยกัน ในวันที่ทั้งคู่เห็นผลงานแห่งความคิดของเบสซึ่งไหลไปตามทิศทางการวางกลยุทธ์ตามคำแนะของแม่น ปรากฏอยู่ใน Vogue อเมริกา และตัวแม่อย่างบียอนเซ่กลายมาเป็นลูกค้า ทั้งคู่ใช้เวลาบ่มเพาะสั่งสมประสบการณ์ทุ่มเททำงานกันมานานหลายสิบปีก่อนจะประสบความสำเร็จในสายงานแต่ละคน

จนได้เวลาเหมาะเจาะ ทั้งคู่จึงมาจับมือร่วมกันสร้างตลาดใหม่จำหน่ายของชำร่วยโลกในมุมมองของคนทำงานแฟชั่น ออกมาเป็น World Fashion Souvenir ภายใต้แบรนด์ The Only Market Bangkok ที่ทั้งคู่ตีความความเป็นไทยผ่านชื่อเมืองหลวงสุดแซ่บของไทยที่กระตุกใจชาวโลก ส่ง กรุงเทพมหานคร ออกไปทักทายโลกไร้พรมแดนอย่างสนุกและน่าติดตาม

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

ราก/เริ่ม

ปัจจุบันแม่นเป็นที่ปรึกษาด้านแฟชั่นให้กับแบรนด์เสื้อผ้าสามสี่แบรนด์ และยังทำหน้าที่คัดเฟ้นเสื้อผ้า ผลงานนักออกแบบในไทยและเอเชียไปวางจำหน่ายในโชว์รูมที่ปารีส โดยมีหุ้นส่วนเป็นชาวอิตาเลียน

แม่นผ่านประสบการณ์การทำงานนานกว่า 17 ปี ดูแลทำสไตลิ่งแฟชั่นด้วยมุมมองของคนที่มีความรู้และความรักในงานออกแบบกราฟิก ประจำอยู่ที่นิตยสารลิปส์ ครองตำแหน่งสไตลิสต์ชาวไทยคนเดียวที่ได้รับสิทธิ์นำชุด Haute Couture ของหลากแบรนด์แฟชั่นระดับโลกมาถ่ายงานให้ปรากฏแยะที่สุด

ด้วยมุมมองและฝีมืออลังการขนาดสองสถานที่สำคัญของเมืองแฟชั่นอย่างปารีสไว้วางใจให้แม่นเข้าไปถ่ายทำงานในนั้นมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ของ Coco Chanel หรือพื้นที่ด้านในอันตระหง่านงามของ Opera Garnier

ส่วนเบส มนุษย์ครบเครื่องที่มีทั้งพรสวรรค์ ความคิดสร้างสรรค์ และความมุ่งมั่น เบสเรียนมหาวิทยาลัยมาได้ถึงปี 2 ก็พบว่าตนอยากเรียนแต่วิชาว่าด้วยแฟชั่นเท่านั้น จึงตัดสินใจออกจากสถานศึกษากลางทางเพื่อพุ่งตรงไปหาประสบการณ์สิ่งที่ใคร่รู้ลงลึก โดยไปช่วยงานมัญชุมาศ นำเบญจพล นักออกแบบสาวเจ้าของแบรนด์ Munchu’s จากนั้นก็ไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์เป็นผู้ช่วยสไตลิสต์มือเก๋าของเมืองไทย ยุวดี ศรีอรุณ (ปัจจุบันเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Pony Stone)

เบสเล่าว่า ลองหลายๆ อย่างเกี่ยวกับแฟชั่นให้รอบด้านเพื่อให้รู้จริงว่าตัวเองอยากทำอะไร จะไปทางไหน จนแน่ใจว่าต้องการทำเสื้อผ้า จึงเริ่มทำร้านที่ตลาดนัดจัตุจักรเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อร้านเปิดได้เข้าปีที่ 4 – 5 งานออกแบบของเบสก็เริ่มเข้าตา Buyer จากญี่ปุ่นที่ติดต่อออร์เดอร์งานเบสไปจำหน่าย

แบรนด์ Dry Clean Only ของเบสจากที่เริ่มต้นเล็กๆ ในตลาดโด่งดังสุดของกรุงเทพมหานคร มีทีมงาน 2 – 3 คน ปัจจุบันขยายกิจการมีทีมนับสิบ รองรับความต้องการที่หลั่งไหลมาจากทั้งสไตลิสต์และคนดังระดับโลก

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

แก่นคิด : Local & Global

เราว่าไอเดียของแม่นและเบสเกิดจากแก่นคิดของมนุษย์ที่มีตัวตนชัดแรง แต่แฝงด้วยความอ่อนน้อม สองคนนี้คล้ายกันตรงที่มีต่อมซึมซับรายละเอียดจากพื้นที่ที่เติบโตมาอย่างรักใคร่และเปลี่ยนแปรมันเป็นวัตถุดิบทางการคิดชั้นดี ดึงมาใช้อย่างเป็นธรรมชาติได้ไม่ขาดสาย

แม่นเล่าเรื่องที่แม่พาไปร้านยาจีนในเยาวราชสมัยเด็กให้เราฟังอย่างประทับใจ “ชอบป้ายจีนตามร้านขายยาเก่า แม่นว่ามีความเป็นจีนที่นุ่มละมุน”

แม่นยังชอบการขึ้นรถเมล์ไปไหนมาไหนทั่วเมืองสมัยเด็ก “แม่ให้ไหว้ลุงป้าคนขับและกระเป๋ารถทุกครั้งก่อนลง”

ส่วนเบส “พ่อแม่เป็นชาวอุบลฯ และเชียงใหม่ เด็กๆ เบสอยู่เชียงใหม่ เดินตลาดขายของมือสองเป็นประจำ ชอบซื้อเสื้อผ้ามือสองจากโกดัง ชอบงานจักสานของเหนืองานหวายตะกร้าฝาชีที่ท่าแพ กาดวโรรสก็ชอบมาก”

เมื่อทั้งคู่เติบโตขึ้น ประสบการณ์การทำงานทำให้ได้เดินทางเห็นโลก นอกจากความตั้งใจอยากสร้างงานสำหรับตลาด Global แล้ว แนวคิดหลักที่ทั้งคู่เชื่อมั่นคือโลกปัจจุบันไร้พรมแดน วัฒนธรรมต่างๆ ผสมผเสกันหมด

“เราอยากทำร้านของชำร่วยที่ไม่มีเส้นแบ่งของเมืองต่างๆ ในโลก นำเสนอสินค้าที่ควบรวมวัฒนธรรมคอนเท็มฯ ต่างๆ เวลาเดินทางไปเจอของชำร่วยเก๋ๆ เมืองไหน เราก็เหมามาไฮบริดกับวิธีคิดออกแบบตามแนวทางของ The Only Market”

ผ่านแบบอักษรหลักของแบรนด์คือคำว่า กรุงเทพมหานคร เป็นการแตกแบรนด์มาจากคอลเลกชันที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของ Dry Clean Only เมื่อสองสามปีก่อน

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

“คอลเลกชันนั้นเอาไปขายที่ปารีส มีโลโก้กรุงเทพมหานครด้วย การตอบรับดีมาก” แนวคิดการต่อยอดสร้าง Fashion Souvenir จึงเกิดขึ้นเพื่อให้ “Bangkok combine กับทุกสิ่งได้” เสื้อยืด สเวตเตอร์ หมวกแก๊ป กระเป๋า Tote Bag กระจก ไฟแช็ก พวงกุญแจ สติกเกอร์ ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีทั้งความคุ้นตาและแปลกตา “เอาความเดิมๆ มาทวิสต์คิดบิดใหม่

“แม่นไม่เชื่อว่าเราจะต้อง Represent ประเทศชาติด้วยวิชวลที่ชัดเจน ช้าง ม้า วัว ควาย เท่านั้น อยากให้ของที่เราสร้างขึ้นมาสะท้อนความเป็นไทยใน Essence ที่ออกมาคูลๆ ดูมีวัฒนธรรม” ผ่านงานออกแบบกราฟิกและตัวอักษร ซึ่งเป็นความรักความชอบของแม่น

เบสเสริมว่า “อยากจับตลาดไทยด้วย อยากสร้างของฝากที่น่าสนใจเวลาคนจะซื้อฝากเพื่อนฝรั่ง”

ทั้งคู่บอกว่าฝันอยากให้วันหนึ่งเสื้อกรุงเทพมหานครของพวกเขาถูกก๊อปโดยตลาดล่างบ้าง “อย่างเวลาไปเดินข้าวสาร จะเห็นแต่เสื้อสกรีน SUPREME หรือชื่อแฟชั่นแบรนด์ต่างชาติ เราอยากเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ Represent ประเทศได้”

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

Dead Stock Redesigned อีกหนึ่งแนวคิดที่เป็นจุดแข็งสร้างเอกลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์ของ The Only Market และ Dry Clean Only คือทั้งเบสและแม่นตั้งใจจะชุบชีวิตของเก่าค้างสต๊อก ทั้งคู่บอกว่าไม่อยากเพิ่มขยะให้โลก

“อย่างการทำกระเป๋า เราไม่อยากสั่งผ้าหรือสั่งเสื้อยืดมาแยะๆ อะไรที่ต้องออร์เดอร์ในปริมาณเยอะ ถ้าขายไม่หมดก็จะกลายเป็น Dead Stock ในโกดัง ปัจจุบัน แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์ประสบปัญหานี้ ปีหนึ่งๆ ต้องสร้างงานหลายคอลเลกชัน ผลิตเสื้อผ้าออกมามากมาย กะปริมาณแน่ชัดไม่ได้ว่าจะขายแบบไหนได้กี่ตัว”

เบสเป็นนักล่าเสื้อยืดเจ๋งๆ ทั้งมือสองและของใหม่ค้างสต๊อก (อย่างเสื้อยืด Fruit of the Loom) กระเป๋า Tote ทรงสวยผ้าดีก็เช่นกัน แม่นล่า LL.Bean ของอเมริกามาได้แยะ และนำมาออกแบบใหม่ ทั้งจัดวางฟอนต์กรุงเทพมหานคร ภาษาไทย อังกฤษ รัสเซีย อารบิก ทมิฬ จีน ลงบนลายเดิมของเสื้อยืดอย่างประณีตคิดด้วยมุมมองคนทำงานกราฟิกมานาน เพิ่มมูลค่าด้วยการปักประดับบ้าง ใช้ฝีมือช่างทั้งในอินเดีย สุรินทร์ และอุตรดิตถ์ ถิ่นพำนักญาติของเบส

แม่นทำหน้าที่ออกแบบ เบสดูแลการผลิต และยังมีสาวเก๋มากความสามารถเพื่อนรักของทั้งคู่เป็นเสาหลักสำคัญรวมกันเป็นสามหุ้นส่วน เป้-ธันย์ชนก ธัญญศิริ ดูแลการเงินและประชาสัมพันธ์ ทั้งสามนัดประชุมระดมสมองกันที่บ้านแม่นบ้าง บ้านเบสบ้าง เป็นประจำ

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

บ้านแม่น

ที่พักอาศัยและพื้นที่ทำงานของทั้งเบสและแม่นรวมอยู่ในอาคารเดียวกัน คนละย่านในกรุงเทพมหานคร บรรยากาศการตกแต่งไม่ต่างอะไรจากแก่นคิดในการทำแบรนด์ The Only Market

ทั้งคู่รักการชุบชีวิตของเก่า นำมาจัดวางใหม่อย่างงามแปลกตา สำหรับเรา บ้านแม่นสวยลึกลับกว่าด้วยแสงและโทนสีเครื่องเรือนหล่อเข้ม ไม้ใบที่ให้ความครึ้มรายรอบ ความลุ่มลึกในการจัดพื้นที่อาศัย สร้างงาน ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากของสะสมแสนรักของแม่นคือแบบอักษร

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

“ศึกษาฟอนต์เก่าแยะ โดยเฉพาะช่วงที่ทำ LIPS ฉบับพิเศษ ฉบับรัชกาลที่ 9” แม่นเล่าว่า ชอบแบบอักษรไทยที่กรมพระนริศฯ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ทรงออกแบบ และชื่นชมการออกแบบของช่างอักษรในแต่ละท้องถิ่น แม่นชอบตามหาตัวผู้ออกแบบอักษรที่เขาหลงรักและนำมาปรับใช้

บ้าน, The Only Market Bangkok

“ต้องสืบเสาะให้ถึงตัวคนออกแบบ โทรไปขออนุญาตใช้และขอบคุณ แม่นชอบฟอนต์ที่ไม่ได้อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ชอบการใช้มือสร้างงาน ร่างมันขึ้นมา ชอบฟอนต์การใช้ปากกาหัวตัดเขียนด้วย

“อย่างเวลาไปต่างจังหวัดได้นั่งเรือหางยาวก็ถามคนเรือว่าใครเขียนตัวหนังสือบนเรือให้พี่ แล้วตามไปจนเจอตัวคนเขียน พบว่าบ้านเขาคือเวิร์กช็อปของอาร์ทิสต์ชัดๆ แม่นชอบตัวหนังสือที่คอมก๊อปปี้ไม่ได้”

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

ตลาดในอินเดีย ตลาดน้ำคลองลัดมะยม ย่านเก่าในปีนัง ตลาดน้อย แม่นลุยมาแล้วทั่ว

“เวลาไปจ้างคุณลุงเลื่อยเหล็กทำแบบอักษร สร้างฟอนต์ หรือคนเขียน Calligraphy จีนในตลาดเยาวราช แม่นบอกทุกคนเสมอว่าพี่ต้องคิดตังค์แพงๆ นะ อยากให้คนเหล่านี้เห็นคุณค่าสิ่งที่เขาทำ”

แม่นบอกว่า ชอบวิธีการทำงานพื้นบ้าน การไดคัตงานด้วยมือ ทำเพลตโลหะ เลื่อย ตะไบ การใช้พู่กันเขียน “ชอบความเบี้ยวๆ” เครื่องเรือนเก่าของตกแต่งในบ้านแม่นก็เช่นกัน ทุกชิ้นล้วนส่งเสน่ห์ดังกล่าวมาเช่นเดียวกับงานที่เขาชื่นชอบ บรรยากาศแบบลอฟต์ พื้นผนังโชว์เนื้อแท้วัสดุ ตำหนิ ร่องรอยงามๆ อันเกิดจากการใช้งานตามกาลเวลาและความไม่สมบูรณ์แบบที่เห็นชัดว่าเป็นงานทำมือ

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

บ้านเบส Casa Dry Clean Only

เบสรีโนเวตบ้านเก่า ทำชั้นล่างเป็นที่ทำงาน ช่างเย็บอยู่ชั้นล่าง ชั้นสองมีห้องทำงานของเบส ห้องโถงกลางพร้อมโต๊ะยาวไว้ประชุมงาน สร้างงาน พื้นที่โปร่งโล่งถูกกั้นสัดส่วนด้วยผ้าลินินทิ้งตัวสวย เปิดม่านออกจะเจอส่วนจัดวางรายละเอียดด้านใน มีตั้ว-พุฒิพงษ์ พิจิตร์ มือขวาของเบสนั่งกำกับดูแลอยู่ ขณะที่ ก็อต-จิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล ผู้ช่วยคนสำคัญประหนึ่งมือซ้ายนั่งคุยอยู่กับเรา

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

ตั้วและก็อตเริ่มงานกับเบสมาตั้งแต่ทั้งคู่ยังเรียนไม่จบวิชาแฟชั่น น้องสองคนนี้เราว่าเหมือนพลังหยินหยาง ตั้วดิบเท่มันเข้ม ขณะที่ก็อตมาแนวประณีตวิลิศละมุน สองขั้วตรงข้ามนี้ปรากฏให้เห็นบนรายละเอียดงานของ Dry Clean Only เสมอ ลูกไม้หวาน นกอินทรีย์เหี้ยมหาญแนวสิงห์ฮาร์เลย์ ภายใต้การกำกับควบคุมของเจ้าบ้านดรายคลีนฯ คือเบสผู้อาศัยอยู่ชั้นบนสุดของออฟฟิศ

ในห้องนอนตกแต่งเรียบง่ายมีหนังสือเต็มหัวนอนเช่นเดียวกับชั้นในห้องทำงาน เบสเป็นนักอ่านที่มีรสนิยมการอ่านกว้างขวางหลากหลาย เราชอบพื้นที่ทำงานและใช้ชีวิตของเบสมาก มันช่างสว่างกระจ่าง สดชื่น เริงร่า ซ่าสนุก เทียนหอม ดอกไม้สด พลังชีวิตวิบวับมีความรุ้งเรืองรองกระจาย

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

เบสเดินทางบ่อยพอกับแม่น ปารีสเป็นเมืองที่เบสคุ้นเคยด้วยหน้าที่การงาน หนึ่งในพิกัดโปรดที่เบสแวะเสมอคือบูติกของดรีส แวน โนเทน เพราะชื่นชอบการจัดดอกไม้สดของที่นี่เป็นพิเศษ

“เขาเปลี่ยนดอกไม้สดทุกวันจันทร์ครับ มีประมาณสิบจุดในร้าน ทราบมาว่าดรีสจะให้โจทย์คนจัดดอกไม้ให้จัดลิงก์กับแต่ละคอลเลกชัน”

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

พื้นที่ทำงานของเบสยังเฟรชไปด้วยพลังเยาวชนจากน้องฝึกงาน (ปีนี้มาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร) เบสเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ช่วยพัฒนางานออกแบบ ผลิตภัณฑ์ให้หลายหน่วยงานของรัฐ ควบคู่กับการดูแลแบรนด์ต่างๆ ของตน เดินทางไปปารีสครั้งละนานๆ คู่ขนานกับการสำรวจความแท้ของตลาดในท้องถิ่นทั่วไทย

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

“ชอบตลาดกิมหยง หาดใหญ่ ตลาดบางแสน และทุกตลาดในชุมชนแต่ละจังหวัดครับ” เช่นเดียวกับแม่น ผู้มีประเทศโปรดคืออินเดียและเม็กซิโก

“แม่นชอบเดินตลาดแบบตลาดคลองเตยบ้านเราในเม็กซิโก ชอบความได้ Explore วันก่อน Vanessa Bruno (อดีตนางแบบ นักร้อง นักแสดงสาว ชาวฝรั่งเศสที่ผันตัวมาเป็นนักออกแบบและก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้า) มาเมืองไทย แม่นพาไปเดินเล่นตลาดคลองเตย นางชอบมาก บางทีอะไรจริงๆ ของที่ชาวบ้านในท้องถิ่นใช้กัน มัน Authentic มีเสน่ห์กว่า”

บ้าน, The Only Market Bangkok บ้าน, The Only Market Bangkok

อันนี้น่าจะเป็นข้อสรุปความแตกต่างของ ‘ของชำร่วย’ ที่แม่นและเบสตั้งใจคิดได้ดี ทั้งคู่มีพรสวรรค์และทักษะในการนำเสนอไอเดียที่เข้าถึงเนื้อแท้ของชุมชนและส่งมันออกมาได้ในแบบสากล ทำให้ความคุ้นตาของของเก่า ของบ้านบ้าน ของเดิมเดิม ดูใหม่แปลกตา Fashionable นำไปผสมรวมกับสไตล์อื่นๆ ได้อย่างสนุกยูนีก และสะท้อนความเป็นไทยในมุมใหม่อย่างสมศักดิ์ศรีของชำร่วยโลกส่งตรงจากกรุงเทพมหานคร

ขอขอบคุณ จิรวัฒน์ ศรีเลื่อนสร้อย และ  The Only Market at Siri House Singapore

ผลิตภัณฑ์ของ The Only Market Bangkok มีจำหน่ายที่ Siwilai Store, Central Embassy และที่ Siri House at Dempsey Hill, Singapore สิริเฮาส์ที่เดมป์ซีย์ ฮิลล์ สิงคโปร์ เชิญ The Only Market ให้มา Collaboration ด้วยกัน โปรเจ็คต์นี้เราจึงได้เห็นดีไซน์กรุงเทพมหานคร X Singapore ติดตามข่าวสารของตลาดขายของชำร่วยโลกนี้ได้ที่ IG : theonlymarketbangkok

Writer

Avatar

พลอย จริยะเวช

เจ้าแม่ไลฟ์สไตล์และ Concept Designer มากความสามารถชื่อดัง ซึ่งเป็นทั้งนักเขียน Artist Writer นักแปล คอลัมนิสต์ และนักวาดมืออาชีพ ผู้มีผลงานออกแบบวางจำหน่ายในงานแฟร์ของตกแต่งที่ดีที่สุดในโลก

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan