ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสวยงาม ความรุ่มรวยอุดมสมบูรณ์ และการส่งต่อความสุขในหลากหลายวัฒนธรรม เราจึงอยากเริ่มต้นปีด้วยการชวนทุกท่านไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ หรือ The Museum of Floral Culture ก่อตั้งโดย คุณสกุล อินทกุล ศิลปินนักจัดดอกไม้ชื่อดังของเมืองไทย ถือเป็น ส.ค.ส. จากเราสู่ผู้อ่านทุกๆ ท่านในวาระดิถีขึ้นปีใหม่นี้เสียเลย

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

พิพิธภัณฑ์นี้ซ่อนตัวอยู่ในซอยองค์รักษ์ 13 ย่านสามเสน อยู่ไม่ไกลจากปากซอย เมื่อย่างก้าวแรกเข้ามาในบริเวณบ้านไม้สักทรงโคโลเนียลโบราณ เราได้รับการทักทายจากต้นกร่างโบราณที่แผ่กว้างอยู่กลางลานบ้าน แต่ละกิ่งประดับด้วยเส้นดอกรักประกอบกับดอกดาวเรืองสีเหลืองสว่างที่ถูกร้อยไว้ตรงปลาย ทิ้งตัวลงมากว่าร้อยเส้น แกว่งไหวคละไปกับยี่เป็ง และกลิ่นกล้วยไม้ที่ลอยตามลมมาจางๆ ให้ความรู้สึกร่มเย็นและวิจิตรงดงามตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าไปในพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

เจ้าหน้าที่บอกเราว่า ต้นไม้ต้นนี้น่าจะอยู่กับบ้านตั้งแต่สมัยที่ถนนเคยเป็นคลองเชื่อมกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยบริเวณนี้เรียกว่า ซอยองครักษ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่รัชกาลที่ 6 พระราชทานให้เป็นที่พำนักแก่องค์รักษ์ของพระองค์ หากไปสืบดูโฉนดจะเห็นว่าเป็นบ้านของเจ้าพระยาท่านต่างๆ อย่างหลังถัดไปก็ตกทอดมาจากพระยาพิชัยรณรงค์สงคราม ส่วนหลังนี้เดิมทีเป็นของใครยังไม่ทราบแน่ชัด ที่ทราบคือเจ้าของคนล่าสุดอนุญาตให้คุณสกุล อินทกุล เช่าเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์มา 7 ปีแล้ว

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ที่นี่เปิดให้เข้าชมเป็นรอบ (มีทั้งรอบบรรยายภาษาไทยและอังกฤษ) แต่ละรอบมีผู้นำชมนิทรรศการถาวรด้านในที่จัดแสดงอยู่ใน 7 ห้องด้วยกัน

ว่าแล้วเราจึงจัดการซื้อตั๋ว แล้วเดินลอดตั่งทอหลากสีสัน จัดแจงถอดรองเท้า แล้วเข้าไปชมนิทรรศการด้านในของบ้านด้วยกันในรอบแรกของวันนั้นทันที 

ยุครุ่งเรื่องของการจัดดอกไม้

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

เมื่อเข้ามาในห้องแรกที่มีชื่อว่า ‘ห้องภาพดุสิต’ เรามองเห็นรูปถ่ายขาวดำในกรอบทองติดไว้บนผนังสีขาวละลานตารอบห้อง แต่ก่อนที่จะไปพินิจดูแต่ละรูป เรากลับสะดุดตากับอีกสิ่งหนึ่งที่ด้านซ้ายของประตู นั่นคือชั้นที่มีหนังสือเล่มเล็กใหญ่ว่าด้วยศาสตร์ต่างๆ เกี่ยวกับรุกขชาติ ตั้งแต่การจำแนกชนิดพันธุ์ ไปจนถึงวิธีการจัดตกแต่งออกแบบทั้งหลาย จัดเรียงกันอยู่แน่นเอี้ยดเสมือน ‘หอสมุด’ ขนาดย่อมก็ว่าได้ โดยที่แห่งนี้ถือเป็น ‘คลังสมอง’ ของคุณสกุล ที่ถูกใช้ค้นคว้าหาไอเดียสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอ

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ในหนังสือ Dok Mai Thai (ดอกไม้ไทย) คุณสกุลท้าวความว่า ประเพณีการจัดดอกไม้ของไทยนั้นย้อนไปถึงเรื่องราวของนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งพูดถึงวิธีการเย็บใบตองเป็นกระทงในสมัยสุโขทัย ต่อมาในสมัยอยุธยามีเพียงภาพวาดฝาผนังในวัดราชบูรณะที่แสดงให้เห็นถึงการจัดดอกไม้บูชาอยู่บ้าง

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

พอมาในยุครัตนโกสินทร์ มีบันทึกของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เล่าว่า เจ้าจอมมารดาตานีในรัชกาลที่ 1 โปรดปรานและมีฝีมือในด้านการจัดดอกไม้ ซึ่งสิ่งนี้ยังตกทอดมาในตระกูลบุนนาคจวบจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ยุคที่งานดอกไม้รุ่งเรืองที่สุดคงหนีไม่พ้นยุคของรัชกาลที่ 5 งานดอกไม้ในเวลานั้นถือเป็นกิจกรรมสำคัญสำหรับหญิงในตำหนักฝ่ายใน พัฒนากรรมวิธีให้วิจิตรซับซ้อนและงดงามอย่างอัศจรรย์ นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลมาจากต่างชาติด้วย อย่างที่เราเห็นได้ในภาพถ่ายที่จัดแสดงในห้องภาพดุสิตนี้ เช่น ‘พวงมาลารูปโคมจีน’ ฝีพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตรสิริเชษฐ์ ที่มีรูปทรงเป็นสามมิติ แตกต่างจากเครื่องแขวนแบบสองมิติตามขนบดั้งเดิม แถมยังมีอีกหลายชิ้นที่ทรงคล้ายกับโคมแชนเดอเลียร์ตะวันตก สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลมาจากครูในราชสำนักช่วงนั้น คือ แหม่มมแอนนา ลีโอโนเวนส์ นั่นเอง

ในยุคนี้เริ่มมีการแต่งแจกันให้เป็นทรงบาน ตามภาพจะเห็นว่ามีการใช้ดอกบัวหลวง ผสมซ่อนกลิ่นบ้าง อีกทั้งใช้พวงมาลาประดับประดาพิธีการต่างๆ อย่างในภาพ ‘ขบวนรถบุปผชาติ’ เป็นการหยิบพาหนะจักรกลร่วมสมัยขณะนั้นมาตกแต่งด้วยช่อดอกไม้ แล้วจัดเป็นขบวนเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์

ส่วนการร้อยมาลัยก็ถูกพัฒนาขึ้นเช่นกัน โดยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘มาลัยชายครุย’ เป็นมาลัยดอกไม้ที่ผู้ชายใช้พันพาดคาดอกแทนสายสะพายในโอกาสพิเศษ คิดค้นโดยเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องนวัตกรรมที่ถูกนำเข้ามา เช่น เรือนกระจก ที่ปรากฏในภาพถ่ายจากพระที่นั่งวิมานเมฆ บรรจุเลี้ยงทั้งเฟิร์น กล้วยไม้ และพันธุ์ไม้ดอกแปลกถิ่นนานาชนิด เป็นที่โปรดปรานของชนชั้นสูงอย่างมาก

ความเชื่อแห่งบุปผา

ห้องถัดมามีชื่อว่า ‘โลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้’ จัดแสดงวัตถุ และเรื่องราววัฒนธรรมดอกไม้จากหลากหลายประเทศในเอเชียที่คุณสกุลได้ไปประสบและนำมาสะสมไว้ สำหรับเราทั้งหมดมีจุดร่วมเดียวกัน คือการใช้ดอกไม้ควบคู่ความเชื่อ เช่น มาลัยของอินเดีย ที่ใช้เชือกบิดพันดอกไม้เข้าด้วยกัน ไม่ใช่เข็มที่เป็นของแหลมทิ่มแทงดอกแบบบ้านเรา เพราะถือว่าไม่มงคลสำหรับการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ภาพประเพณีการไหว้พระจันทร์แบบจีนที่นิยมใช้ดอกเบญจมาศหรือโบตั๋น กระทงเล็กๆ หรือชะนัง (Canang Sari) ที่คนบาหลีสานไว้วางดอกไม้ พรมน้ำมนต์ และนำไปไหว้หน้าบ้าน เพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าทางศาสนาฮินดู โดยดอกไม้สีแดงแทนพระพรหม สีขาวแทนพระอิศวร สีเหลืองแทนพระศิวะ และสีเขียวหรือฟ้าแทนพระวิษณุ รวมถึงพานจากพม่าหรือต้นดอกจากลาว ที่เป็นโครงสำหรับประดับดอกไม้สำหรับถวายพระในพุทธศาสนา ไปจนถึงประเทศที่ภูมิศาสตร์ไม่เอื้อต่อการบานของดอกไม้ อย่างทิเบต เขาก็ยังกวนแป้ง น้ำชา นม เนย แล้วปั้นและแต่งสีเพื่อเป็นดอกไม้บูชา หรือโทม่า (Toma) ตามความเชื่อของเขา

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ห้องนี้ยังจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นเดียวของที่นี่ คือคัมภีร์ผ้าว่าด้วยการจัดดอกไม้แบบโชกะ เขียนด้วยคันจิโบราณ อายุ 200 กว่าปี ปลายยุคเอโดะ ตรงกับช่วงกรุงศรีอยุธยาสมัยปกครองโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ค.ศ. 1756) ซึ่งการจัดดอกไม้ในญี่ปุ่นก็เชื่อมโยงกับความสงบนิ่งของจิตวิญญาณเช่นกัน

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ในห้องที่ต่อกัน ‘ห้องอุโบสถดอกไม้’ มีการจำลองงานแห่ต้นดอกไม้สีสันสดใสฝีมือชาวบ้านของวัดศรีโพธิ์ชัย จังหวัดเลย ที่นิยมจัดขึ้นในช่วงสงกรานต์ของทุกปี ว่ากันว่าจัดติดต่อกันมาหลายร้อยปี ตามความเชื่อว่าเป็นสิริมงคล ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย ทำให้อยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

เทคนิคที่ผสานคณิตศาสตร์กับศิลปศาสตร์

ทราบมาว่าคุณสกุล ในตอนแรกเรียนจบด้านวิศวะจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ต่อมาจึงฝึกฝนและเปลี่ยนเส้นทางมาประสบความสำเร็จจากงานประดิษฐ์ดอกไม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจฟังดูแปลก จนเมื่อเราได้มาดูห้องที่ 4 และ 5 ของพิพิธภัณฑ์ (ในชื่อ ‘ความลับแห่งงานศิลป์ของไทย’ และ ‘วัฒนธรรมประเพณีและวิถีชีวิตผู้คน’) ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่างานดอกไม้แบบไทยมีระบบที่ซับซ้อน ด้วยการทำงานกับทรงและออกแบบการใช้สอย จนอาจจะใกล้เคียงกับงานวิศวะก็เป็นได้

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ในห้องนี้จัดแสดงแม่แบบของลายเกล็ดหรือลายกระเบื้องแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของเครื่องแขวน เป็นการร้อยดอกและก้านมะลิต่อกันให้เกิดแพตเทิร์นคล้ายตาข่าย มีลวดลายเรขาคณิต มีหลากหลายรูปทรงและความยากง่าย เริ่มจาก 4 ก้าน 4 ดอก 6 ก้าน 6 ดอก กำแพงแก้ว จนถึงลายอกแมงมุม แก้วชิงดวง ฯลฯ ซึ่งแต่ละชิ้นใช้เวลาในการทำนานใช่เล่น (ครั้งหนึ่งพิพิธภัณฑ์เคยจัดเวิร์กช็อปทำเครื่องแขวนวิมานพระอินทร์ เริ่มตั้งแต่เช้า ปรากฏว่ากว่าจะเสร็จปาไป 2 ทุ่ม!)

นอกจากนี้ ยังมีกรรมวิธีอื่นๆ เช่น วิธีขึ้นโครงสมัยก่อนที่ใช้ดินเหนียวทำเป็นแกนทรงกระบอก การเหลาไม้ระกำ การออกแบบการทิ้งตัวของอุบะ การคำนวณบายศรี การสร้างภาพนูนต่ำด้วยการดึงกลีบจิ๋วของบานไม่รู้โรยมาทีละกลีบ บางครั้งก็นำกลีบมาย้อมสีอีกครั้ง ก่อนจะบรรจงจุ่มแป้งเปียกหรือข้าวสุกบี้แทนกาว เพื่อต่อกันเป็นรูปทรง อีกทั้งยังต้องเข้าใจคุณลักษณะของดอกไม้ไทยแต่ละชนิดที่นำมาใช้ ทั้งเรื่องรูปทรง ความหมาย หรือแม้กลิ่นให้ลงตัว โดยห้องนี้มี ดอกไม้สดที่ทางพิพิธภัณฑ์ใส่พานไว้ให้เราดมด้วย ไม่ว่าจะเป็นจำปี มะลิ กุหลาบ ดาวเรือง ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ใกล้ๆ กันมีผลงานที่นำเทคนิคเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ เช่น ชิ้นงานบนบานประตูที่จำลองมาจากวัดโสมนัสฯ โดยในแบบเดิมจะมีภาพวาดเครื่องแขวนโบราณสมัยรัชกาลที่ 4 อยู่ระหว่างนายทวารบาล คุณสกุลจึงเลือกสร้างเครื่องแขวนแบบร่วมสมัย ใช้ลายเกล็ดแบบ 4 ด้าน 4 ดอก ผสมกับโลหะดัดสีทอง ดูโมเดิร์นและลงขึ้นอย่างน่าสนใจ ถือเป็นน้ำจิ้มเล็กๆ ก่อนที่เราจะไปดูผลงานชิ้นโบว์แดงด้านบน 

เรเนซองส์ใต้ร่มพระบารมี

ต่อมาเราย่องขึ้นบันไดไม้ ผ่านคอลเลกชันแสตมป์สะสมลายดอกไม้ชั้น 2 เพื่อชม 2 ห้องสุดท้าย ห้องแรกชื่อ ‘ปากกา ดินสอ ความเป็นไปได้’ จัดแสดงผลงานของคุณสกุลที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ตั้งแต่ขั้นตอนการสเกตซ์แบบ ไปจนถึงภาพถ่ายผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ เช่น การออกแบบดอกไม้ให้กับพรมแดงของงาน Rome Film Festival ที่อิตาลี การออกแบบประติมากรรมรีเซปชันโรงแรมบุลการีที่บาหลี การจัดดอกไม้ในงานแต่งงานของ เหลียง เฉาเหว่ย ที่ภูฏาน งานโฆษณาร่วมกับ หว่อง กาไว ที่ประเทศอินเดีย ฯลฯ

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

แต่งานที่คุณสกุลผูกพันและประทับใจที่สุดคือการได้มีโอกาสตามเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปจัดดอกไม้ที่เมืองจีน และหลังจากนั้นได้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมากว่า 10 ปี มีงานที่เป็นสิริมงคลอย่างใหญ่หลวง คือการได้ถวายงานจัดดอกไม้งานเลี้ยงวาระพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ซึ่งในห้องนี้เราจะได้เห็นชิ้นงานบางส่วนที่เคยติดอยู่ด้านหน้าโต๊ะเสวยของพระองค์ท่าน ทำจากกลีบดอกบานไม่รู้โรยสีขาว ย้อมสี และประดิดประดอยเป็นรูปพระอินทร์

นอกจากนี้ ยังมีรูปจากมุมอื่นๆ ขององค์พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬารที่สวยงามไม่แพ้กัน หากเรามองดีๆ จะเห็นว่าโครงของงานดอกไม้ในงานนั้นถูกทำขึ้นด้วยเหล็ก ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากพระทวารเหล็กดัดของพระที่นั่งนั่นเอง ดังนั้น ผลงานโดยรวมจึงผสมผสานลายเส้นอาร์ตนูโวแบบตะวันตกเข้ากับความประณีตแบบไทย อีกทั้งยังเลือกใช้วัสดุที่ดูร่วมสมัยอย่างสง่างาม

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

และในห้องสุดท้ายชื่อ ‘หัวใจการจัดดอกไม้สมัยใหม่’ มีเนื้อหาเทียบเคียงมาจากหนังสือ FlorESSENCE: Essence of Modern Flower Design ของคุณสกุล นำเสนอวิธีการจัดดอกไม้ที่เน้นความทันสมัยและนำไปใช้ได้จริง ด้วยความตั้งใจอยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนที่มาชมกลับไปจัดแต่งดอกไม้เองได้ ไฮไลต์ในห้องนี้สำหรับเราคือทรงแจกันหล่อสำริดทรงต่างๆ โดยเมื่อดูครั้งแรกอาจจะแปลกตา แต่ที่แท้ถอดแบบมาจากเมล็ดพันธุ์ในธรรมชาตินี่เอง ไม่ว่าจะเป็น เม็ดมะกอก รูปทรงของตีนเป็ดน้ำ หรือรูปทรงลูกยางนามีปีก ที่ปักดอกไม้ไปแค่ 1 หรือ 2 ดอกก็ดูสวยสมบูรณ์ได้เลย

ผนังตรงข้ามก็มีภาพถ่ายการร้อยดอกไม้แบบต่างๆ ที่ถูกตัดทอนมาเป็นกราฟิกของปฏิทินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เมื่อ พ.ศ. 2559 แสดงให้เห็นการประยุกต์รูปทรงให้ดูเรียบเก๋ได้อีกในลักษณะหนึ่งด้วย

จิบชาในสวนสวย

ข้อเสียอย่างหนึ่งของวิธีการเดินชมกับวิทยากรก็คือ เราไม่ค่อยกล้าจะอ้อยอิ่งชมความงามอยู่อย่างเนิ่นนานนัก (ด้วยความเกรงใจ) ว่าแล้วเราเลยเลือกจบการนำชมด้านในและไปใช้เวลาอย่างสุนทรีย์ในสวนด้านนอกแทน

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

เมื่อออกจากตัวบ้านแล้ว เราจึงวนซ้ายผ่านกอต้นเบิร์ดออฟพาราไดซ์ที่กำลังแตกช่อแดงแกมเขียวอยู่สวยสด ค่อยๆ เดินเลียบระเบียงบ้าน ทะลุไปสวนหลังบ้านที่มองไปทางไหนก็เห็นสีเขียวสดชื่นไปหมด เรามองเห็นดอกไม้ที่ผลิบานตามธรรมชาติในกกในพง ไม่ว่าจะเป็นดอกชบาสีนวล ดอกรัก ดอกแก้ว ดอกต้นบีโกเนีย และกล้วยไม้หลากสี ยิ่งทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของดอกไม้แต่ละดอกที่กว่าจะฟูมฟักออกมาให้เราได้นำมาประดิดประดอยเป็นศิลปะอย่างที่เห็นในพิพิธภัณฑ์

อ้อ อย่างที่เกริ่นไปว่า ถ้าใครอยากจะลองมาสร้างงานศิลปะเครื่องแขวนหรือจัดดอกไม้สไตล์ไทยๆ ที่นี่เขามีเปิดเวิร์กช็อปให้มาทดลองทำกันในสวนด้วยนะ (ติดตามรายละเอียดและสำรองที่นั่งได้ใน เฟซบุ๊ก : The Museum of Floral Culture)

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์
พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

และแน่นอนว่าอย่าลืมปิดท้ายด้วยการมานั่งจิบชาในร้าน Salon du thé ด้านหน้ามิวเซียม ที่คัดเลือกชาหอมจากทั้งเมืองไทยและต่างประเทศ มีให้เลือกทั้งแบบร้อนและเย็น รวมถึงขนมที่มีที่มาจากหลายประเทศ เช่น ขนมไทยอย่างถั่วแปบ ขนมชั้น ขนมญี่ปุ่น และขนมอินเดีย รวมถึงเค้กโฮมเมดที่เตรียมไว้ตอบสนองความชิลล์ (และความหิว) ของผู้เข้าชมที่นี่ด้วย

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ บ้านไม้สักโคโลเนียลที่เล่าเทรนด์ดอกไม้ไทยตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์

ขณะที่เรานั่งจิบชากัน เราคิดถึงคำของคุณสกลที่ว่า “การจัดดอกไม้นั้นบ่งบอกนิสัยของคนจัดได้” สำหรับเราพิพิธภัณฑ์นี้ก็เป็นเหมือนช่อดอกไม้ที่บ่งบอกตัวตนของคุณสกุลเช่นกัน

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้

เลขที่ 315 ถนนสามเสน ซอย 28 แยกองครักษ์ 13 แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300

โทรศัพท์ : 0 2669 3633 – 4

โทรสาร : 0 2669 3632

เว็บไซต์ : http://www.floralmuseum.com/

อีเมล : [email protected]

วันและเวลาทำการ

ทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น.

ค่าเข้าชม

ค่าเข้าชมคนละ 150 บาท

มีมัคคุเทศก์นำชม โดยมีรอบนำชม ดังนี้

รอบที่ 1 เวลา 10.30 น.

รอบที่ 2 เวลา 11.30 น.

รอบที่ 3 เวลา 13.00 น.

รอบที่ 4 เวลา 14.30 น.

รอบที่ 5 เวลา 16.00 น.

รอบสุดท้าย เวลา 17.00 น.

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล