25 พฤศจิกายน 2022
986

ก่อนมิถุนายน 2022 สื่อออนไลน์จากปัตตานีชื่อ The Motive อาจไม่ได้อยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลักหรือชาวเมืองกรุงเสียเท่าไหร่

แต่เมื่อสื่อท้องถิ่นดังกล่าวจัดงานฟอรัม ‘SCENARIO PATANI อนาคตปาตานี : ภาพชายแดนใต้ในวิสัยทัศน์ใหม่’ ตลอด 7 วันเต็ม โดยรวมสปีกเกอร์จากหลายภาคส่วนมาเสวนาถึงพริกถึงขิง ทั้งประเด็นการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และกระบวนการสันติภาพ พวกเขาได้กระตุกความสนใจของคนสนใจสังคมการเมืองเข้าอย่างจัง ด้วยรายนามนักการเมืองผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทักษิณ ชิณวัตร, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ทำไมสื่อเล็ก ๆ ที่เพิ่งก่อตั้งมาเพียง 2 ปี มีผู้ติดตามราว 5 หมื่นคน ถึงจัดงานที่พาอดีตนายกรัฐมนตรีไทยและอดีตผู้สมัครชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาเข้าร่วมได้  

แถมในงานเสวนาสาธารณะมิติใหม่ ยังมีตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ ไปจนถึงตัวแทนขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) มาร่วมถกอนาคตของปลายด้ามขวาน เรียกได้ว่าจับเอาทุกสเปกตรัมของความเห็นต่าง มาเจรจากันอย่างเข้มข้นและเป็นรูปธรรม 

เขาทำได้อย่างไร อะไรคือพลังของเหยี่ยวข่าวท้องถิ่นที่ผลักดันการพัฒนาชายแดนใต้อย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย เราชวน อันวาร์-มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ บรรณาธิการประสานงาน และ ซาฮารี เจ๊ะหลง บรรณาธิการเนื้อหา มาแบ่งปันเบื้องหลังการทำงานให้ฟังกัน

เดอะ สื่อท้องถิ่น

“ถ้าทำแบบเดิมเหมือนสิบปีที่แล้ว เด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่บริโภคสื่อที่เราอยากทำ” 

อันวาร์เปิดเรื่อง ทั้งตัวเขาและซาฮารีมีประสบการณ์ทำ Wartani เครือข่ายคนทำงานสื่อคนรุ่นใหม่ตั้งแต่สิบปีก่อน คลื่นความเปลี่ยนแปลงของโซเชียลมีเดียในทศวรรษถัดมา ทำให้พวกเขาหันมาศึกษาโมเดลของสื่อตระกูลเดอะทั้งหลาย (รวมถึงเดอะคลาวด์) ซึ่งล้วนกำเนิดในกรุงเทพมหานคร 

กล่าวตามตรง เรื่องราวชายแดนใต้ที่คนส่วนกลางอย่างเรา ๆ รับรู้ค่อนข้างผิวเผิน เต็มไปด้วยความน่ากลัวและความไม่รู้ หลายประเด็นถูกกลบหายไม่เป็นที่พูดถึง สื่อเดิมในท้องที่ก็จับประเด็นความมั่นคงเป็นสำคัญ ทั้งที่ยังมีข้อมูลต่าง ๆ อีกมากมายที่น่าสื่อสาร The Motive จึงตั้งใจเป็นสื่อทางเลือกที่บอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ให้ทั้งคนในพื้นที่และคนภายนอกรับรู้ โดยหยิบจับองค์ความรู้หรือบางประเด็นน่าสนใจมาเผยแพร่ด้วยภาษาไทยเป็นหลัก ไม่ใช้ภาษามลายู เพื่อให้ผู้คนนอกพื้นที่ได้เข้าใจแดนใต้ผ่านมุมมองของคนท้องถิ่นจริง ๆ และไม่ใช่สำนักข่าวที่รายงานข่าวสารบ้านเมืองรายวัน 

The Motive สื่อออนไลน์ชายแดนใต้ นำเสนอเรื่องราวมลายูให้ทั่วไทยมองเห็นปลายด้ามขวาน

The Motive เกิดขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2020 เมื่อโควิด-19 แพร่กระจายใหม่ ๆ ดินแดนใต้ซึ่งบรรยากาศตึงเครียดจากกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายความมั่นคง ยิ่งทวีความเครียดเขม็งจากกฎเกณฑ์โรคระบาด คนมีประสบการณ์ทำสื่อไฟแรงจึงช่วยกันรายงานสถิติผลผู้ติดเชื้อโควิดใน 5 จังหวัด จนช่วงแรก ๆ คนในพื้นที่เข้าใจว่า The Motive เป็นสื่อที่เล่าเรื่องโควิดโดยเฉพาะ

“พอโควิดสร่างซาลงไป เราก็เริ่มทำประเด็นการละเมิดสิทธิ ประเด็นความยุติธรรม ประเด็นวัฒนธรรม แล้วก็ประเด็นเศรษฐกิจ เพราะเราคิดว่าที่นี่ยังขาดสื่อที่เล่าเรื่องราวของตัวเอง และคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็ยังมีความเข้าใจน้อยมากต่อประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ครับ” ซาฮารีเปิดอก 

เขายกตัวอย่างบาดแผลใหญ่ของคนปลายด้ามขวานอย่าง ‘กรณีตากใบ’ เมื่อ 18 ปีก่อน ซึ่งฝังรอยลึกในประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง คนรุ่นใหม่หลายคนอาจเกิดไม่ทัน ยังไม่ทันรู้ความ หรือลืมเลือนเรื่องนี้ไปแล้ว แต่การที่ผู้คนทั่วไทยรู้จักและเข้าใจที่มาที่ไปเรื่องนี้ จะนำมาซึ่งการเข้าใจดินแดนใต้มากขึ้น และส่งผลต่อการผลักดันการฟื้นฟูเปลี่ยนแปลงต่อ ๆ ไป

Scenario Pattani

วัตถุประสงค์ของฟอรัม Scenario Patani คือเพื่อรับฟังวิสัยทัศน์ อนาคตความคิดเห็นของพื้นที่ชายแดนใต้ใน 4 ประเด็น การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และกระบวนการสันติภาพ ลำพังการรับฟังวิสัยทัศน์ความคิดเห็นก็เป็นเรื่องท้าทาย เมื่อต้องนำทั้งกลุ่มคนที่ทั้งเห็นด้วยและเห็นต่างกับรัฐมานั่งคุยกัน ในพื้นที่ตรงกลางที่ปลอดภัย

“ปัญหารากเหง้าของชายแดนใต้มีข้อถกเถียงกันเยอะ เราพยายามค่อย ๆ นำเสนอ เพราะว่ามันเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก” บรรณาธิการเนื้อหาเอ่ย 

Scenario Patani จุดประกายให้คนทั่วไปมาสนใจเรื่องราวแดนใต้ โดยทีมงานตั้งใจเชิญคนที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาแชร์มุมมอง โดยต้องเป็นคนที่มีพื้นเพทัศนคติแตกต่างหลากหลาย ทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายเสรีนิยม นักการเมืองบิ๊กเนมทั้งสามซึ่งไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ด้วยเหตุผลต่าง ๆ กัน จึงได้รับการเชิญมาเข้าร่วม และพวกเขาก็ตอบตกลงที่จะเข้ามาตอบคำถาม และแชร์มุมมองต่ออนาคตของชายแดนใต้ เช่นเดียวกับนักวิชาการ นักการเมืองท้องถิ่น นักธุรกิจ นักกิจกรรม ภาคประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งมลายู พุทธ ไทยจีน 

The Motive สื่อออนไลน์ชายแดนใต้ นำเสนอเรื่องราวมลายูให้ทั่วไทยมองเห็นปลายด้ามขวาน

แม้เป็นการสื่อสารหลักทางออนไลน์ แต่ก็ทำให้เสียงที่เงียบมานานดังขึ้นได้ ดูได้จากยอดคนเข้าถึงเพจ 350,000 กว่าคนใน 7 วัน โดยมีสื่อพันธมิตรทั้งสื่อท้องถิ่นอย่าง Wartani และ The Reporter ร่วมสนับสนุน

“ทุกเสียงที่ชาวบ้านพูดมาตลอด ดังไม่เท่า 10 นาทีที่คุณทักษิณพูด คุณธนาธรพูด วันสุดท้ายในคนเข้าร่วมฟังไลฟ์ถึง 2,000 คน น่าจะเป็นครั้งแรกที่กลุ่ม BRN พูดคุยและตอบคำถาม Public แบบสด ๆ และคนที่ร่วมฟังเสวนาก็เป็นคน Gen X Gen Y ตามที่ต้องการ เราคิดว่าได้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายใหม่ได้สำเร็จ 

“อีกเป้าหมายของเราคือการเปิดพื้นที่พูดคุยประเด็นที่เคยต้องห้าม ดันเพดานให้สูงขึ้น อย่างคำว่า Patani หมายถึงดินแดนปาตานีเดิม ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ เป็นคำแสลงที่รัฐบาลไม่ยอมรับ หลายพรรคการเมืองไม่กล้าเอ่ย เราอยากให้คำนี้ติดปากคน การเปิดพื้นที่ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ การกำหนดชะตากรรมตัวเอง พื้นที่การปกครองพิเศษ จนกระทั่งสูงสุดของเป้าหมายทางกระบวนการเองคือเรื่องเอกราช ควรเป็นเรื่องที่พูดคุยถกเถียงกันได้อย่างปลอดภัย”

‘รังสรรค์สังคมตื่นรู้ กระตุ้นการขบคิดของฅน’ เป็นแท็กไลน์ของสื่อท้องถิ่น ซึ่งการจัดงานฟอรัมนี้ไม่เพียงกระตุ้นผู้คนทั่วไป แต่ยังกระตุกให้หลายฝ่ายมองเห็นพื้นที่ปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) บนโต๊ะพูดคุยที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน 

“เราพยายาม Process ข้อมูลทั้งหมดจากงาน ทั้งคำว่าการปกครองพิเศษ การปกครองตนเอง การบริหารทรัพยากรของตนเอง การมีอัตลักษณ์ผสมกับ 3 – 4 วัฒนธรรมเป็นของตัวเอง กระบวนการสันติภาพ ให้ทั้งสองฝ่ายรับไป และให้คนในพื้นที่รับไปพูดคุยต่อ เพื่อให้เกิดการถกเถียงในพื้นที่ ไปจนถึงสังคมภายนอก”

“ความขัดแย้งในภาคใต้ 18 ปี ใช้งบประมาณไป 3 แสนล้านกว่าบาท มันเยอะมากนะครับ ซึ่งการแก้ปัญหาก็ยังไม่บรรลุความสงบเสียทีเดียว ผมคิดว่าประเด็นเหล่านี้ควรต้องคุยกันในวงกว้างมาก ๆ เพราะว่ามันใหญ่โต กระทบกับมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญไทย (ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้) เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ๆ ครับ” ซาฮารีอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน

เสรีภาพแห่งความคิดเห็น

เอกราช เป็นคำที่มีน้ำหนักน่าตกใจ แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ลองจับคำนี้มาวางในที่สว่าง ทำความเข้าใจด้วยการรับฟังสิ่งที่หลายคนอาจไม่เคยได้ยิน หรือถูกปิดไม่ให้ได้ฟังมาก่อน

“คำว่าเอกราชไม่ได้เป็นเป้าหมายของแค่ขบวนการ BRN นะครับ มันเป็นอุดมคติของคนที่ถูกกดทับ ของคนที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากรัฐที่ปกครองส่วนกลาง ในงานวิจัยหลายครั้ง กล่าวถึงโมเดลการปกครองประมาณ 8 โมเดล ตั้งแต่อยู่กับรัฐไทยตามปกติจนถึงแบบมีเอกราช เรารู้ว่ามีความต้องการแบบนี้ แต่มันถูกปิดไว้ ไม่ได้ถูกพูดคุยสาธารณะ” อันวาร์ชี้แจง “ร้านกาแฟ ร้านโรตี ร้านข้าวยำตามชุมชน ควรมีการพูดกันได้ว่าโมเดลไหนที่ตอบโจทย์สันติภาพที่ยั่งยืนของพื้นที่ ตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่ ตอบโจทย์การศึกษา เศรษฐกิจ ทุก ๆ เรื่องในพื้นที่ สมมติว่าถ้าต้องการเอกราชเราต้องทำยังไง รัฐบาลเอกราชหลังจากนี้ต้องเป็นยังไง เราจะอยู่แบบไหน ภาษีจะบริหารยังไง มันต้องเป็นเรื่องปกติ”

The Motive สื่อออนไลน์ชายแดนใต้ นำเสนอเรื่องราวมลายูให้ทั่วไทยมองเห็นปลายด้ามขวาน

สิ่งสำคัญที่พวกเขามองเห็นว่าน่าจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้คือการทำประชามติ ทำความเข้าใจความต้องการแท้จริงของคนในพื้นที่ว่าพอใจกับอะไร ซึ่งความรู้สึกถึงชนชาติอันแตกต่างจากประเทศไม่ใช่เรื่องแปลก มีกรณีศึกษามากมาย อย่างเขตปกครองตนเองในมินดาเนามุสลิม บนเกาะมินดาเนา ประเทศฟิลลิปปินส์ หรือประเทศสกอตแลนด์ที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร ไปจนถึงแคว้นประเทศบาสก์และแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน ซึ่งแต่ละพื้นที่ผ่านทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงและการต่อสู้โดยสันติวิธี

“ผมเคยไปโอกินาว่า มีคนที่บอกว่าเขาไม่ใช่คนญี่ปุ่น มีกลุ่มที่ประกาศตัวว่าต้องการเอกราชของโอกินาว่า แล้วก็มีกลุ่มที่ฝักใฝ่แนวคิดคอมมิวนิสต์ คือกฎหมายเขาเปิดกว้าง คุยกันได้ทุกเรื่อง ซึ่งของเรามันยังไม่พัฒนาถึงขั้นนั้น กระบวนการต่าง ๆ คงอีกยาวไกล แต่เราอยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ว่าอนาคตอยากให้บ้านเป็นแบบไหนก็ตาม” อันวาร์เอ่ย

“The Motive เป็นสื่อที่เลือกข้างประชาชน ซึ่งประชาชนจะบอกอะไร เราเพียงแค่เอาไมค์ไปจ่อปากเขา หรือเขียนเรื่องราวนำเสนอผ่านเรา จะเป็นเรื่องของรัฐหรือของขบวนการ BRN เราก็สะท้อนความคิดความต้องการของคนออกไป เป็นสื่อท้องถิ่น สื่อทางเลือกที่ต้องการสื่อสารทั้งกับคนในและคนนอก และเปิดพื้นที่สำหรับคนที่อยากพูด แต่ไม่กล้าพูด”

ซาฮารีเสริมต่อ “เราพยายามไม่นำเสนอแค่เพียงปรากฏการณ์เหมือนสื่อหลัก แต่เราอยากนำเสนอเชิงลึกว่าปรากฏการณ์นั้นเกิดขึ้นมายังไง มีเงื่อนไขอะไร ให้คนเข้าใจพื้นที่นี้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่ผิวเผิน ถ้าทุก ๆ ภาคส่วนเข้าใจประเด็น 3 จังหวัดจริง ๆ ทิศทางการหาทางออกในทางการเมืองจะเป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น

“การที่เราทำสื่อในพื้นที่ความขัดแย้ง แน่นอนมันหนีไม่พ้นเรื่องของการถูกมองว่าเป็นกระบอกเสียงให้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐหรือเปล่า ในฐานะที่ผมทำงานด้านสื่อมาสิบกว่าปีในพื้นที่ ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยโดนนะครับ ผมก็เคยถูกเชิญตัวจากกฎอัยการศึกไปเข้าค่ายทหาร อันวาร์เองก็ถูกคดีความอยู่ในเรือนจำมา 5 – 6 ปีเราได้รับผลกระทบมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งด้วย ไม่ใช่ว่าทำงานราบรื่นแบบสายลม แสงแดด ไม่ใช่ครับ เราถูกติดตามจากฝ่ายความมั่นคง ถูกเรียกกินกาแฟปรับทัศนคติอะไรพวกนี้ก็หลายครั้ง 

“แต่ถ้าคนที่ทำงานสื่อไม่กล้าที่จะคิดอะไรนอกกรอบ ไม่กล้าส่งเสียง แล้วชาวบ้านไม่ยิ่งกว่าเหรอครับ เราก็คิดกันอย่างนี้ เราก็ต้องกล้ายกเพดานในสิ่งที่ทุกคนเขาหวาดกลัวให้มันออกมาสู่ Public เพราะถ้าการไม่กล้าพูดในที่แจ้ง รัฐก็จะได้ยินแต่เสียงที่เขาอยากฟัง เสียงที่ไม่ได้ยินเหล่านี้แหละที่ทำสิ่งที่รัฐไม่คาดคิด เช่น ความรุนแรง ความไม่สงบก็ระเบิดออกมา ซึ่งทางออกทางการเมืองที่จะคุยกันเรื่องใหญ่ ๆ เนี่ย ผมคิดว่าก็คุยกันด้วยแนวทางสันติวิธีได้ โดยไม่ต้องใช้กองกำลังหรือความรุนแรง

“เราอาจจะเป็นเฟืองเล็ก ๆ จิ๊กซอว์เล็ก ๆ ที่เริ่มต้นทำให้เห็นภาพ 3 จังหวัดในอีกมุม”

The Motive สื่อออนไลน์ชายแดนใต้ นำเสนอเรื่องราวมลายูให้ทั่วไทยมองเห็นปลายด้ามขวาน

ความขัดแย้งที่เข้มข้น

“พอจะอธิบายให้คนนอก มันอธิบายยากมาก ๆ คนไม่ค่อยจะเข้าใจตรงนี้ครับ” อันวาร์เกริ่น 

“คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าความขัดแย้งที่นี่เกิดขึ้นมา 18 ปีแล้ว แต่สำหรับคนมลายูที่อยู่ในพื้นที่ เรามีเรื่องเล่าของตัวเองที่ผูกกับประวัติศาสตร์ 200 กว่าปี แรงขับแรกของชาวมลายูเมื่อ 200 ปีที่แล้วคือตกเป็นเมืองขึ้นของสยามในสมัยรัชกาลที่ 1 ประมาณปี 1785 เป็นครั้งแรกที่พ่ายแพ้ต่อรัตนโกสินทร์ ตกเป็นเมืองขึ้น พอสมัยรัชกาลที่ 2 มลายูก็ถูกแบ่งเป็น 7 หัวเมือง และต่อมาปี 1902 ซึ่งอยู่ช่วงรัชกาลที่ 5 ก็ยกเลิกหัวเมือง เพื่อสลายอำนาจของเจ้าเมืองสมัยนั้น” เขาเล่าประวัติศาสตร์ความขัดแย้งฉบับย่อ

หลังจากนั้นการต่อสู้ยังดำเนินต่อมาในกลุ่มผู้นำศาสนา นักการเมืองท้องถิ่น และประชาชน ทั้งการต่อสู้ในสภา จนถึงขบวนการใต้ดิน

สื่อท้องถิ่นเล็ก ๆ จากชายแดนใต้ ตั้งใจรังสรรค์สังคมตื่นรู้ กระตุ้นการขบคิดของฅน เพื่อเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้ดีขึ้น

“ความเป็นมาที่สะสมเข้มข้นนี้ไม่เคยจางหายไป ต่อสู้มาทุกรุ่นจนถึงสมัยปัจจุบันที่ก่อเกิดเป็นภาคประชาสังคม NGO ต่อสู้แบบสมัยใหม่กับประเด็นเศรษฐกิจ การละเมิดสิทธิ์

“เบ้าหลอมชุมชนมลายูยังอยู่ เรามี Narrative ของตัวเอง เราเป็นคนไทยเมื่อเข้าไปเรียนประถม มัธยม แต่กลับมาอยู่บ้านพูดภาษามลายู เรียนรู้เรื่องเล่าของกษัตริย์ 18 องค์จนถึงปาตานีล่มสลาย

“การเรียกร้องตลอดมาของมลายูต่อรัฐไทยคือการยอมรับอัตลักษณ์ความเป็นมลายูอย่างเป็นรูปธรรมและจริงใจ คนในพื้นที่รู้สึกว่าถูกกดขี่ทางด้านเศรษฐกิจ ยังมีคนถูกซ้อมทรมาน โครงการพัฒนาหลาย ๆ โครงการก็ไม่มีเสียงของประชาชนอยู่ในนั้นเลย อะไรแบบนี้ทำให้เราไม่อินกับหลายอย่าง เวลาทีมชาติไทยเตะกับมาเลย์ เราก็ไม่เชียร์ไทย” เขายอมรับตรง ๆ 

ซาฮารีเอ่ยถึงความตั้งใจในภาพรวม

“เราอยากให้คนไทยภูมิภาคอื่น ๆ เข้าใจว่าเราอยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกัน คนภาคเหนือเขาก็มีประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ตัวตนล้านนาของเขา คนอีสานก็มีชาติพันธุ์ มีเรื่องราวของตัวเอง อย่าง The Isaan Record พยายามนำเสนอเรื่องราวที่เป็นประวัติศาสตร์ชุมชน มีประวัติศาสตร์เรื่องกบฏผีบุญ ก็ไม่ต่างจากคนชาติพันธุ์มลายูที่พยายามจะชูอัตลักษณ์ของตัวเองขึ้นมา 

“เราต้องรู้จักกัน ดีกว่าเราเกลียดกันทั้งที่ยังไม่รู้จัก วาทกรรมที่บอกว่าคนใต้ใจดำ คนอีสานใจง่าย คนเหนือใจง่าย มันเป็นวาทกรรมที่แยกเราออกจากกัน โครงสร้างความเป็นไทยเดียวนั้นกดทับครอบทุกภูมิภาค ก็พยายามสื่อสารออกไปว่าไม่ใช่เพียงแค่ 3 จังหวัดนะ เรามีปัญหาเหมือน ๆ กัน ถ้าสื่อสารได้ มันจะทำให้เราเข้าใจกันและกันมากขึ้น ยังมีปัญหา มีประเด็นอีกเยอะมากที่จะต้องหาทางออกร่วมกัน” 

สังคมยุคใหม่

กัญชาเสรี สุราท้องถิ่น หรือการสมรสเท่าเทียม เป็นตัวอย่างประเด็นร้อนในสังคมปัจจุบัน ที่ขัดกับความเชื่อดั้งเดิมของชุมชนมุสลิม นับเป็นอีกความซับซ้อนที่ตัวแทน The Motive ทั้งคู่ยอมรับว่ายังเป็นข้อถกเถียงใหญ่ที่ยังไม่อาจหาบทสรุป 

“เราจัดรายการคุยเรื่องเหล่านี้เหมือนกัน ฟีดแบ็กก็มีทั้งด้านบวกและลบ หลายคนก็มองว่าแปลก ๆ นะ เป็นมุสลิม ทำไมต้องคุยประเด็นเหล่านี้ แต่ในเมื่อส่วนกลางกำลังพยายามขยับ ในสภาเขาก็คุยเรื่องนี้อยู่ เราก็หนีไม่พ้นหรอก ยังไงก็ส่งผลต่อพื้นที่ โจทย์ของเราคือแล้วเราจะอยู่ยังไงต่อ” อันวาร์กล่าว

ในฐานะศาสนิกชน พวกเขาอธิบายว่าหลักศาสนาอิสลามหลายอย่างแตกต่างจากโลกเสรีมาก แต่ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“ว่ากันตรง ๆ พื้นที่นี้ยังมีความเป็น Conservative สูงมากในภูมิภาคอาเซียน ยึดตามหลักคำสอนทางศาสนาเคร่งครัด แต่ไม่ใช่ว่าตัวสังคมหรือชุมชนมุสลิมจะไม่คิดอยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นต้องค่อย ๆ พูดคุย ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ ให้คนตกผลึกจริง ๆ ต่อสังคมโลกในปัจจุบัน ซึ่งต้องใช้เวลา” ซาฮารีอธิบายอย่างใจเย็น

สื่อท้องถิ่นเล็ก ๆ จากชายแดนใต้ ตั้งใจรังสรรค์สังคมตื่นรู้ กระตุ้นการขบคิดของฅน เพื่อเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้ดีขึ้น

“The Motive พยายามสร้างพื้นที่พูดคุยตรงนี้ ผมคิดว่าอาจจะยังมีคนไม่เข้าใจอีกเยอะ เราก็ต้องค่อย ๆ สร้างวัฒนธรรมของการวิพากษ์ ของการพูดคุย ของการนำเสนอที่มีวุฒิภาวะ ถึงแม้ว่าเป็นความเห็นที่เราไม่เห็นด้วย เราก็ต้องคุยกัน ต้องเอามากางแล้วก็คุยกันว่าเราไม่เห็นด้วยเพราะอะไร คนที่เห็นด้วย เขาใช้หลักการอะไร คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องยากเกินไปที่จะพูดคุยกันได้ เพียงแต่ว่าผมคิดว่ามันต้องใช้เวลา ค่อย ๆ นวด ค่อย ๆ ทำให้ประเด็นมันนูนขึ้นมานะครับ”

ไปซ้ายก็โดนว่า ขวาก็โดนตำหนิ แล้วสื่อท้องถิ่นในพื้นที่มุสลิมจะวางตัวอย่างไรในยุคสมัยนี้ 

“ประเด็นที่อ่อนไหว พูดไปยังไงก็ไม่มีทางเพอร์เฟ็กต์สำหรับทุกคน แต่เรากล้าเผชิญกับมันไหม ถ้าเราหนีไม่แตะ ไม่นำเสนอ ไปเสนอเรื่องอื่น เราคงนิยามตัวเองว่าสำนักคอนเทนต์ที่สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ไม่ได้”  

อันวาร์เสริมต่อ

“ในมุมการเมือง The Motive จะไม่ Conservative แล้วก็ไม่ได้ Progressive อะไรมาก เพราะถ้าเราไปสุดข้างใดข้างหนึ่ง อีกข้างจะไม่มาหาเราทันที ในมุมที่คุยศาสนาก็ประมาณนี้ เราอยากให้คนทั้งสองฝั่งมีจุดที่เข้าใจร่วมกัน เพราะสังคมความเป็นจริงก็เป็นแบบนี้ เด็กที่อยู่เอกชน โรงเรียนปอเนาะ เขาก็มีจุดยืนแข็งแบบเขา เด็กที่โตมาในโรงเรียนสามัญ จบมัธยม ออกไปต่อมหาลัยข้างนอก เขาก็เอาแนวคิดข้างนอกมา ซึ่งทั้งสองก็เป็นคนปัตตานีเหมือนกัน แต่คิดต่างกัน ก็ต้องมีพื้นที่มานั่งคุย มานั่งถก ไม่ใช่เพื่อชนะหรือว่าแพ้ แต่ต้องดีไซน์พื้นที่อนาคตปัตตานีว่าเป็นยังไง 

“โดยเฉพาะอัตลักษณ์ ไม่ใช่แค่มลายูเท่านั้นที่มีสิทธิ์เยอะกว่าคนไทย คนจีน ทุกคนต้องมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ถึงแม้จำนวนคนไทยและคนจีนจะมีน้อยกว่า แต่สิทธิพื้นฐานต้องเท่าเทียมกัน”

สื่อท้องถิ่นเล็ก ๆ จากชายแดนใต้ ตั้งใจรังสรรค์สังคมตื่นรู้ กระตุ้นการขบคิดของฅน เพื่อเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้ดีขึ้น

อนาคตสื่อชายแดนใต้

ความตั้งใจของสื่อท้องถิ่นคือการหาโมเดลบริษัทให้ The Motive ไปต่อได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงสื่ออาสาเช่นปัจจุบัน เพื่อจะได้พัฒนาทั้งทักษะการทำงานสื่อของคนในท้องที่ ไม่ว่างาน IT กราฟิก ถ่ายภาพ ตัดต่อ และโจทย์สำคัญคือการสร้างเนื้อหาคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์สังคมภายนอก 

“ผมว่าประเด็นในสามจังหวัดน่าสนใจตรงที่ไม่ว่าจะแตะตรงไหน ก็เป็นเงื่อนไขหมด เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ถูกลืมมานานมาก เราขาดคนที่ทำงานด้านประเด็น คอนเทนต์เป็นจุดอ่อนของเรามาตลอด ส่วนหนึ่งเพราะเวลาเราคิดในหัว จะคิดเป็นมลายูก่อน แล้วแปรออกมาเป็นคอนเทนต์ที่ทำให้คนไทยเข้าใจ ความซับซ้อนต่างจากคนที่เคยผ่านการเทรนจากส่วนกลาง คนในสามจังหวัดเคยไปฝึกงานกับประชาไท หรือ Voice TV ก็คิดคอนเทนต์ต่างกัน แต่เราอยู่ในพื้นที่มาตลอด เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเราที่จะทำคอนเทนต์ให้น่าสนใจ” 

“ว่ากันตามตรง เราไม่ได้ทำ The Motive เป็นงานหลัก เราไม่ได้มีเงินเดือน ตัวผมเองทำงานดูแลเรื่องฮาลาลในคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี แต่ในอีกด้านหนึ่งมาทำสื่อ หลาย ๆ คนก็เป็นแบบนี้ เราทำงานสื่อเพราะเสียดายหากองค์ความรู้ หรือทักษะด้านการสื่อสารมันจะหายไป ซึ่งไม่ว่าจะมีคนสนใจหรือประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อย เราก็มีจุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมให้คนได้เห็นว่ามีสื่อประเภทนี้อยู่ในพื้นที่” บรรณาธิการเนื้อหาเอ่ยตรงไปตรงมา

“เราต้องเรียนรู้ว่าสื่อกรุงเทพฯ เขาสนใจประเด็นอะไร อนาคตเราอาจจะต้องมีคนที่เป็นคนจากส่วนกลางมาร่วมทีมด้วย เราอยากจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัย ให้ส่งนักศึกษามาฝึกงานเพื่อพัฒนาทักษะของเขา แล้วอนาคตเขาอาจจะเป็นทีมของ The Motive ก็ได้” บรรณาธิการประสานงานมองอนาคต

“ส่วน Scenario Patani จะจัดอีกไหม ก็คุยกับคนในทีมอยู่ส่วนหนึ่งว่าถ้าในพื้นที่ยังไม่มีอะไร เราจะทำในสิ่งที่ใหม่เสมอ” ซาฮารีตบท้าย

สื่อท้องถิ่นเล็ก ๆ จากชายแดนใต้ ตั้งใจรังสรรค์สังคมตื่นรู้ กระตุ้นการขบคิดของฅน เพื่อเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นให้ดีขึ้น

ภาพ : The Motive

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง