วัยรุ่นคือวัยที่เต็มไปด้วยกำลังวังชา ความสดใสร่าเริง มีหนทางข้างหน้าหลายเส้นให้เลือกเดิน แต่เป็นเรื่องโชคร้ายเมื่อหนทางเหล่านั้นปิดลงเพราะพวกเขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย 

เด็ก 8 คนจากหลากที่มา ต่างรวมตัวกันเพื่อรอความตายที่บ้านพักผู้ป่วย Brightcliffe จากนั้นสัญญากันว่าจะผลัดกันเล่าเรื่องสยองขวัญทุก ๆ เที่ยงคืน โดยหากคนใดคนหนึ่งตายไป จะพยายามติดต่อคนที่ยังมีชีวิตอยู่จากฝั่งโลกคนตาย

The Midnight Club (TV Series 2022– ) คือผลงานซีรีส์เรื่องล่าสุดของผู้สร้าง Mike Flanagan จาก The Haunting of Hill House, The Haunting of Bly Manor และ Midnight Mass ที่ทำร่วมกับ Netflix อีกครั้ง ครั้งนี้เป็นการร่วมงานกับผู้สร้างอีกคนคือ Leah Fong และยังเป็นเรื่องแรกของ Mike ที่จะสร้างหลายซีซั่น ไม่ใช่มินิซีรีส์หรือซีซั่นเดียวจบอย่างที่ผ่านมา โดยเป็นการหยิบยกเอาผลงานเลื่องชื่อของ Christopher Pike กับเรื่องอื่น ๆ ของเขาอีก 28 เรื่องมาดัดแปลงอยู่ในเรื่องเดียว ในรูปแบบของเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า พื้นหลังเป็นยุค 90 ซึ่งนอกจากนี้ยังได้ผู้แต่งหนังสือต้นฉบับมาทำหน้าที่โปรดิวซ์ซีรีส์ และ Mike ยังเผยด้วยว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Are You Afraid of the Dark? ที่เป็น Anthology Series ของ Nickelodeon ซึ่งเป็นซีรีส์ที่มีองค์ประกอบเหมือนกัน คือ วัยรุ่นกับเรื่องสยองขวัญอีกด้วย

แน่นอนครับ ที่ขาดไม่ได้ คือความสยองสไตล์ Mike Flanagan ที่ถึงแม้เอพิโซดแรกจะทำสถิติ Guinness World Records ซีรีส์ที่มีฉากจั๊มป์สแคร์หรือที่บ้านเราเรียกว่าตุ้งแช่ไปมากถึง 21 ครั้ง (เรียกได้ว่าเป็นตุ้งแช่ที่น่าจะถี่และต่อเนื่องที่สุดในโลกก็ว่าได้ครับ มุกค่อนข้างใหม่มาก) แต่เรื่องราวกลับพูดถึงปรัชญา ชีวิต ปัญหา ความตาย และความสยองที่ลึกซึ้ง พร้อมแทรกสัญลักษณ์กับการสื่อสารแบบให้คนดูคิด วิเคราะห์ ตีความระหว่างดูและหลังดูจบจนเกิดการตกตะกอนกันอีกเช่นเคย

The Midnight Club ซีรีส์ที่มีฉากสะดุ้งมากสุดในโลกจากผู้สร้าง The Haunting of Hill House

ก่อนพูดถึงเนื้อหา อยากเล่าที่มาสักนิดว่าทำไมเรื่องนี้ถึงเป็นผลงาน Passion Project ที่ Mike Flanagan ต้องการดัดแปลงตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วและไม่เคยลืม จนในที่สุด The Midnight Club ก็กลายมาเป็นซีรีส์ได้ในที่สุด

ทั้งหมดเริ่มต้นในยุค 90 (ยุคเดียวกับในซีรีส์) ก่อนที่จะมาเป็นผู้กำกับและผู้สร้างที่หลายคนขนานนามว่า ‘อัจฉริยะแห่งวงการสยองขวัญ’ Mike Flanagan เป็นแฟนคลับตัวยงนิยาย Goosebumps ของ R.L. Stine, Stephen King กับ Henry James และต่อมาในปี 1994 เขาได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่ทำให้ถึงกับร้องไห้ออกมา ใช่แล้วครับ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า The Midnight Club ที่เจ้าตัวเผยว่าทีแรกตั้งใจจะอ่านเพื่อเสพความน่ากลัว แต่กลับได้รับรู้เรื่องราวชีวิตของวัยรุ่น นั่งคุยกันเรื่องชีวิต ความตาย ที่ทัชใจเขามาก ๆ Mike นิยามว่า “นิยายเล่มนี้ของ Christopher Pike เล่าสิ่งที่พ่อแม่ของเด็ก ๆ จะไม่รู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในหนังสือด้วย” เนื่องจากมันเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้แนวสยองขวัญพูดเรื่องซีเรียส แทนที่จะหลอกให้คนกลัวหรืออ่านไปขนลุกไปเฉย ๆ

Mike Flanagan ที่อยู่ในช่วงเรียนฟิล์มสมัยมหาวิทยาลัยจึงนั่งลงและพูดกับตัวเองว่า “The Midnight Club จะต้องกลายเป็นหนัง” จากนั้นเขาจึงลงมือเขียนบทซะดิบดี ทบทวนแล้วทบทวนอีก แก้แล้วแก้อีก จนกระทั่งมั่นใจแล้วว่ามันเป็นบทที่ดีชนิดที่พร้อมสร้าง จึงได้ทำการระดมทุน แต่ด้วยความที่ขาดประสบการณ์ เขาลืมสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือขอลิขสิทธิ์จากสำนักพิมพ์และผู้แต่ง หลังจากที่ติดต่อไป สำนักพิมพ์ไม่อนุญาตให้สร้าง เขาอกหักอย่างจัง เท่านั้นยังไม่พอ ด้วยความกลัวว่าจะถูกฟ้อง จึงได้ทำลายทั้งตัวบทที่เป็นกระดาษกับเอกสารรูปแบบดิจิทัล

จากนั้นราว ๆ 20 ปีต่อมา Mike Flanagan ที่ฝึกวิทยายุทธจนได้รับการขนานนามว่าเป็นปรมาจารย์แห่งยุทธภพหนังผี ผู้มีกระบวนท่าอันไม่ซ้ำใคร และดูไกล ๆ จากยอดตึกยังรู้ว่าเขาเป็นผู้กำกับ (โทนภาพเขียว ๆ ก็เป็นหนึ่งในนั้น) เขาได้ติดต่อ Christopher Pike ด้วยตัวเอง ทั้งคู่คุยกันร่วม 3 ชั่วโมงเลยครับ ผลในทีแรกเจ้าของผลงานที่ไม่ได้รู้จักและไม่เคยดูหนังซีรีส์ของ Mike มาก่อนก็ลังเลอยู่เหมือนกัน จนกระทั่งได้ยินการ Pitch แบบสั้น ๆ ได้ใจความว่า Mike ต้องการ “นำ The Midnight Club ไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ โดยที่เด็ก ๆ ในเรื่องเล่าผลงานเรื่องอื่น ๆ ของ Christopher Pike” พอได้ยินดังนั้น เขาก็ซื้อไอเดียทันที

The Midnight Club ซีรีส์ที่มีฉากสะดุ้งมากสุดในโลกจากผู้สร้าง The Haunting of Hill House

อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันและปนน่าเศร้าที่อยากให้ทราบคือ ที่มาของหนังสือ The Midnight Club ครับ Christopher Pike เขียนเรื่องนี้โดยมีแรงบันดาลใจมาจากแฟนหนังสือของเขาที่ได้เจอกันในปี 90 เธอเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายและบอก Christopher ว่าเธอกับคนไข้คนอื่น ๆ มักจะมารวมตัวกันในชมรมหนังสือแล้วพูดคุยเรื่องผลงานของเขา แต่เมื่อ The Midnight Club แต่งเสร็จ แฟนหนังสือคนนี้ก็จากโลกนี้ไปก่อนที่จะมีโอกาสได้อ่านหนังสือที่นางเอกของเรื่องอย่าง Ilonka มีเธอเป็นต้นแบบ

The Midnight Club ซีรีส์ที่มีฉากสะดุ้งมากสุดในโลกจากผู้สร้าง The Haunting of Hill House

ทีนี้ว่าด้วยเรื่องเนื้อหา ผลงานที่ผ่าน ๆ มาของ Mike Flanagan ดูเหมือนเขาจะได้รับอิทธิพลและแนวทางจากผลงานของ Christopher Pike ไม่น้อยเลยครับ ในการนำตระกูลสยองขวัญ/เรื่องผี ๆ มาบอกเล่าแก่นบางอย่างหรือประเด็นบางประเด็นที่เจ้าตัวต้องการจะพูด จนเรียกได้ว่าหากไม่มีเรื่องนี้ ก็ไม่แน่เหมือนกันที่อาจไม่มี Mike ในวันนี้

ซีรีส์ของเขามักจะพูดเรื่องถึงความสัมพันธ์และมุมมองเชิงปรัชญาต่อโลก ชีวิต และวิถีชีวิต ไม่ก็ความตายเสมอ หากให้ไล่เรียง Hill House เป็นเรื่องของครอบครัวพี่น้องแนว Family-drama ที่โดดเด่นจนสร้างชื่อให้ผู้กำกับและผู้สร้างคนนี้จนมีเรื่องต่อ ๆ มาตามมา Bly Manor พูดเรื่องพี่น้อง คนรัก และคนที่ผูกพันแม้ไม่ใช่สายเลือด Midnight Mass ว่าด้วยความสัมพันธ์ระดับชุมชน ความเชื่อ ลัทธิ มุมมองต่อพระเจ้า และความตาย ซึ่งเมื่อสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่าระดับความสัมพันธ์เริ่มขยับออกมาเรื่อย ๆ จากครอบครัวสู่คนรัก จากคนรักเป็นกลุ่มคนในชุมชนและลัทธิ

และใน The Midnight Club คือเรื่องของ Ilonka, Kevin, Anya, Sandra, Spencer, Cheri, Natsuki, Amesh เด็ก ๆ 8 คนต่างพื้นเพ ปูมหลัง เพศ รสนิยมทางเพศ เชื้อชาติ สีผิว นิสัย ครอบครัว เต็มไปด้วยความหลากหลาย เมื่อมารวมตัวกันเพื่อเล่าเรื่องราวตอนเที่ยงคืน ก็เกิดเป็นสายใยขึ้นโดยไม่รู้ตัว โดยนักแสดงในนี้นอกจากจะมี Igby Rigney กับ Annarah Cymone 2 ตัวละครเด่นจาก Midnight Mass แล้ว ยังมี Zach Gilford กับ Samantha Sloyan หรือ Riley Fynn และ Bev Keane จากเรื่องเดียวกันมาร่วมแสดงอีกด้วย

The Midnight Club ซีรีส์ที่มีฉากสะดุ้งมากสุดในโลกจากผู้สร้าง The Haunting of Hill House

ในมุมมองของผม มนุษย์มักรู้จักกัน สนิทกัน เชื่อมโยงและเห็นอกเห็นใจกันได้ด้วยเรื่องเล่าเสมอ เราจะไม่มีทางรู้จักใครดีพอเลยหากไม่ได้รู้เรื่องราวหรือปูมหลังของเขาทั้งหมด หรืออย่างน้อย ๆ ก็มากพอ และเรื่องเล่าเหล่านี้ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องแต่งก็จริง แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาโดยแฝงไปด้วยข้อความบางอย่าง และได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเสมอ ภายใต้ทั้งความสยองขวัญ ลึกลับฆาตกรรมแฟนตาซี สืบสวน ยันไซไฟต่าง ๆ ที่เด็ก ๆ ผลัดกันเล่า จะมีทั้งตัวละคร สัญลักษณ์ และเหตุการณ์เรื่องราวในนั้นที่ทำให้คนอื่น ๆ มองเห็นตัวตน ที่มา สิ่งที่เผชิญ สิ่งที่เป็นอยู่ สิ่งที่อยากจะแก้ไข ไปจนถึงสิ่งที่ตัวละครนั้นปรารถนาจะทำ

ยังไม่อยากสปอยล์อะไรมากแต่มี 2 เคสที่อยากพูดถึง เคสแรกคือเรื่องเล่าของ Anya และอีกเคสคือเรื่องเล่าของ Natsuki ที่ผมลงความเห็น (กับตัวเอง) ว่านี่คือ 2 เรื่องที่ดีที่สุด เพราะทั้งสองเป็นเรื่องที่บ่งบอกความเป็น Mike Flanagan ได้ดีและคมคายที่สุดครับ โดยเรื่องแรกเกี่ยวกับเด็กหญิงที่ต้องการมีชีวิตอีกด้านตรงกันข้าม จึงขายวิญญาณให้ปีศาจ ซีรีส์บอกเล่าเรื่องนี้ด้วยความแปลกใหม่และมีสไตล์ กับทำหน้าที่ในการทำให้ผู้ชมในเรื่องรู้จักตัวละคร Anya สาวไร้ขาข้างขวามากขึ้นในความปรารถนาชีวิตอีกด้านและความเสียใจภายหลัง ในขณะที่เรื่องหลังของ Natsuki พูดถึงโรคซึมเศร้าผ่านการขับรถเจอคนแปลกหน้าอย่างน่าสะเทือนใจและทำออกมาได้ดีไม่แพ้กัน จากที่ตอนแรกงง ๆ เราจะเข้าใจเองว่าเรื่องนี้ต้องการจะสื่ออะไร และยอดเยี่ยมปนหดหู่ขนาดไหน

เรื่องที่อยากจะบอกคือเรื่องราวของ Natsuki นั้น ผู้สร้างร่วมที่ชื่อ Leah Fong ได้รับแรงบันดาลใจมาจากครอบครัวเอเชียที่ไม่เชื่อว่าโรคซึมเศร้ามีอยู่จริง อีกทั้งจากสถิติแล้วเด็กเอเชีย-อเมริกันเป็นประชากรที่เติบโตเร็วที่สุด แต่ขอความช่วยเหลือด้านสภาพจิตใจน้อยที่สุดเนื่องจากผู้ปกครองไม่เชื่อ และเด็กไม่อยากถูกมองว่าแปลก ซีรีส์จึงหยิบจับตรงนี้มาบอกเล่าผ่านตัวละคร Natsuki ครับ เพื่อให้เห็นว่าเธอเจออะไรมา พ่อแม่เป็นยังไง สถานการณ์ของเธอเป็นยังไง และโรคซึมเศร้าน่ากลัวแค่ไหน

นี่เป็นแค่ 2 เรื่องจากเรื่องเล่าอีกมากมายที่หยิบยกมาแนะนำเป็นน้ำจิ้มเพื่อชวนให้ไปดูตาม พร้อม ๆ กันที่ทุก ๆ เอพิโซดจะมีเรื่องเล่าน่าสนใจเสมอ เรื่องทั้งหมดยังครอบไปด้วยเนื้อเรื่องแนวสืบสวนลึกลับ Ilonka ผู้เป็นตัวเอกของเรื่องต้องการไขคำตอบของการที่เธอมาที่นี่ให้ได้ว่าอะไรทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยอยู่ที่นี่และใกล้ตาย หายเป็นปลิดทิ้ง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวกับข้องลัทธิประหลาดบูชาเทพเจ้ากรีกปี 30 ที่เกี่ยวข้องกับชมรมสยองขวัญที่มีมาเนิ่นนานรุ่นสู่รุ่นอีกที

The Midnight Club ซีรีส์ที่มีฉากสะดุ้งมากสุดในโลกจากผู้สร้าง The Haunting of Hill House

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากพูดถึงคือความตายที่สวนทางกับความเป็นวัยรุ่นวัยกำลังโตและมีอนาคตสดใสรออยู่ เด็ก ๆ ในซีรีส์ The Midnight Club มายังที่แห่งนี้ด้วยความสิ้นหวัง แต่สายสัมพันธ์ผ่านเรื่องเล่า การเรียนรู้จากเรื่องราวของผู้อื่น และการทบทวนเรื่องราวชีวิตตัวเองผ่านการเล่าเอง ทำให้ต่างก็ตกตะกอนและมีความหวังว่าจะมีชีวิตอยู่ หรือชีวิตอันไม่แฟร์เช่นนี้จะต้องไม่ใช่จุดจบ นำไปสู่ความเชื่อว่ามีโลกหน้ารออยู่ และมันดูจะเป็นความหวังที่ทำให้พวกเขาอยากมีชีวิตอยู่ต่อและได้ใช้ช่วงเวลาในอีกภพ เนื่องจากภพนี้พวกเขาเหลือเวลาอีกไม่มาก พอ ๆ กับ The Paragon ลัทธิประหลาดที่เกี่ยวข้องกับบ้านพัก Brightcliffe แห่งนี้

นอกจากนี้ที่น่าสนใจและน่าสนใจเสมอเมื่อมันเป็นซีรีส์ของ Mike Flanagan คือความคลุมเครือที่ว่าเรื่องราวนี้ตกลงแล้วมีผีจริง ๆ หรือเป็นผีที่จินตนาการ หรือผีที่มาในเชิงสัญลักษณ์เพื่อบอกบางอย่างกันแน่ ซีรีส์ของ Mike สำหรับบางตัวละคร จะมีผีตามหลอกหลอนเสมอ ซึ่งเขาดูจะพูดเป็นนัยในซีรีส์ทุกเรื่องว่า “ผีมักมาในหลายรูปแบบ” ฉะนั้น เรากับตัวละครในเรื่องจึงไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าสิ่งที่เห็นและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้น อย่างไหนหลอนไปเอง คิดไปเอง อย่างไหนของจริง หรือคำถามในภาพใหญ่คือ พวกเขาคิดไปเองหรือไม่ว่ามีเรื่องเหนือความเข้าใจอยู่จริง ๆ (ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องหาคำตอบกัน) อย่างเช่นเงาดำที่ตามตัวละคร ก็อาจทั้งมีจริงและอาจสื่อได้ว่ามันคือความกลัวตายของเด็ก ๆ ที่บางคนหลับตาปี๋ ส่ายหน้า แล้วบอกมันว่า “Not Today” และบางคนยอมจำนนต่อโชคชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง (Inevitable Fate)

สุดท้ายที่อยากพูดถึงคือข้อเสียของซีรีส์เรื่องนี้ ว่ากันอย่างสัตย์จริง The Midnight Club ไม่ใช่ผลงาน Top Tier ของ Mike Flanagan ครับ และคงต้องบอกว่าหากให้เทียบกับ 3 เรื่องก่อนหน้า นี่น่าจะเป็นเรื่องที่ความแข็งแรงด้านบท ความเฉียบคมกับการกำกับ ทำให้โดยรวมแล้วอยู่อันดับที่ 4 เลยล่ะ เนื่องจากซีรีส์ค่อนข้างจะสตาร์ทติดช้า (ไม่ช้าเท่า Midnight Mass แต่ก็ถือว่าช้าพอสมควร) มีโทนและจังหวะการเล่าที่ไม่คุ้น มีบทพูดที่ไม่จำเป็นและยาวเกินไปอย่างมากในช่วงแรก ๆ และใช้เวลาอยู่พักใหญ่กว่าจะทำให้คนดูรู้สึกรัก ผูกพัน และยึดโยงกับความรู้สึกตัวละครได้ (แต่เมื่อสตาร์ทติดแล้วจะไปต่อได้อย่างราบรื่น)

แต่สาเหตุที่อยากมาแนะนำและไม่อยากให้พลาด โดยเฉพาะคนที่เป็นแฟนคลับ Mike Flanagan เพราะหลังจากที่ดูไปเรื่อย ๆ ก็ได้ค้นพบว่า Mike Flanagan ยังคงเป็น Mike Flanagan วันยันค่ำ สไตล์ของผู้สร้างคนนี้ยังคงชัด และยังคงแทรกไปด้วยความคมคายเช่นเคย ซึ่งเมื่อไหร่ที่ได้ฟังเรื่องเล่าของตัวละครเหล่านั้นแล้ว ความผูกพันและความอินจะเกิดขึ้นตามลำดับ ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคนอีกที สิ่งที่บอกได้มีเพียงแค่ว่า ไม่ว่าเนื้อเรื่องใหญ่ด้านสืบสวน ความตายที่กำลังมาเยือน และความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ๆ กันเอง กับเด็ก ๆ และครอบครัวจะดีร้ายแค่ไหน หรือน่าสนใจมากน้อย ความเจ๋งตามลำพังคือเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่าที่ทั้งสนุกและหลากหลายรสชาติ ทำให้หากต้องแนะนำหนังหรือซีรีส์แนว ๆ นี้เมื่อมีใครสักคนถามหา เรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในนั้นครับ โดยรวมแล้วนับว่าเป็นซีรีส์ที่สนุกและดีอีกเรื่องของ Mike Flanagan และระหว่างดูก็ได้คิดตามและหันกลับมามองชีวิตตัวเอง กับแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตตัวเองไม่น้อย

เนื่องจากอย่างที่ Mike Flanagan ตั้งใจ เขาตั้งใจจะพูดบางอย่างโดยใช้เรื่องสยองหรือความเป็น Genre สยองขวัญเป็นเปลือกนอก และเราได้เห็นแก่นสารเหล่านั้นจากการฟังเรื่องราวที่กะเทาะเปลือกเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับภาพและเสียงบอกเล่า ทำให้ยิ่งดูจะยิ่งเอ็นจอยกับซีรีส์เรื่องนี้ เช่นเดียวกันหรือไปพร้อม ๆ กับที่ตัวละครในเรื่องเองก็กะเทาะเปลือกจนมองเห็นแก่นและสร้างสายสัมพันธ์มิตรภาพระหว่างกัน

The Midnight Club เปรียบเทียบเรื่องเล่าและสมาคมสยองขวัญเที่ยงคืนกับ ‘นาฬิกาทราย’ ที่ไม่ว่าใครจะจากไป หรือหน้าเก่าจากไป หน้าใหม่เข้ามาบ่อยแค่ไหน เรื่องเล่าจะยังคงมีต่อไป เพราะนั่นคือความหมายของชีพจรและการมีชีวิต ซึ่งหวังเช่นกันว่าหลังจากที่จบอย่างค้างคา ผสม what? ซีรีส์เจาะลึกมุมมองวัยรุ่นด้วยฟิลเตอร์ความสยองลี้ลับเรื่องนี้จะได้ไปต่อซีซั่น 2 หรือได้สร้างจนกว่าจะครบซีซั่นตามที่ผู้สร้างทั้งสองตั้งใจไว้ เพราะมีบางคำถามต้องการคำตอบจากตอนจบที่จบแบบ Cliffhanger สุด ๆ

ข้อมูลอ้างอิง

Netflix , Vanityfair , inverse

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ