‘เส้นทางสายไหม (Silk Road)’ คงเป็นชื่อที่ใครหลายคนคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เนื่องด้วยเป็นเส้นทางคมนาคมและเส้นทางหลักทางการค้าโบราณที่เชื่อมระหว่าง ‘โลกตะวันออก’ อย่างจักรวรรดิจีน กับ ‘โลกตะวันตก’ อย่างจักรวรรดิโรมันเข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่ 1,700 ปีมาแล้ว

เส้นทางนี้พาดผ่านพื้นที่อาณาบริเวณของอินเดีย เปอร์เซีย และดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียน รวมระยะทางได้มากถึง 12,800 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ตลอดแนวเส้นทางเต็มไปด้วยผืนทะเลทรายอันแห้งแล้ง แต่ก็เต็มไปด้วยเมืองหรืออาณาจักรต่าง ๆ ตั้งอยู่ตลอดแนวเส้นทาง

อาจถือได้ว่า เส้นทางสายนี้ได้ก่อให้เกิดการหลั่งไหลของวัฒนธรรม ทั้งในรูปแบบสินค้าทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยีหรือวิทยาการความรู้ รวมไปถึงการเผยแผ่ความเชื่อทางศาสนาระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกไปยังดินแดนต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางโบราณแห่งนี้ด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน หากกล่าวถึง ‘เส้นทางสายไหมทางทะเล (Maritime Silk Road)’ หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า เส้นทางนี้มีความเกี่ยวข้องกับเส้นทางสายไหมอย่างไร แล้วมีความสำคัญอย่างไรกับ ดินแดนสุวรรณภูมิ

อาจจะต้องกล่าวก่อนว่า เส้นทางสายไหมทางทะเล ก็คือเส้นทางที่เชื่อมโลกตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกันเช่นเดียวกับเส้นทางสายไหมทางบก เพียงแต่ว่าเส้นทางสายไหมทางทะเลถูกขยายต่อยอดจากการคมนาคมตอนในแผ่นดินมาสู่ทางทะเล หลังจากที่เริ่มมีวิทยาการด้านเทคโนโลยีการเดินเรือขึ้นโดยพวกชาวโรมันและเปอร์เซีย

แต่กระนั้น การเดินทางตามรอยเส้นทางสายไหมทางทะเล ก็ยังถูกนำไปผนวกกับเส้นทางทางบกที่เรียกกันว่า ‘เส้นทางข้ามคาบสมุทร (Trans-Peninsula Routes)’ ที่อยู่บริเวณคาบสมุทรไทย-มาเลย์ ถือเป็นเส้นทางที่ช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างมหาสมุทรที่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกและตะวันออก โดยมีดินแดนสุวรรณภูมิตั้งอยู่กึ่งกลางของสองฝั่งมหาสมุทร ซึ่งก็คือมหาสมุทรอินเดี และทะเลจีนใต้ของฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก

รู้จักเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกยุคโบราณ ซึ่งผ่านประเทศไทย!
เส้นทางสายไหมทางบกและเส้นทางสายไหมทางทะเลที่เชื่อมต่อโลกตะวันออกและตะวันตกมาตั้งแต่สมัยโบราณ
ภาพ : www.chinadiscovery.com

จากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยหลายประการที่ก่อให้เกิดการพัฒนาเส้นทางสายไหมทางทะเลขึ้นในช่วง 1,700 – 1,500 ปีมาแล้ว นับตั้งแต่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกแห่งแคว้นมาเซโดเนีย (Macedonia) ยกกองทัพมาตีอินเดีย และขากลับได้ทรงแบ่งกองทัพออกเป็นทางบกและทางทะเล เพื่อให้ชาวโลกรับรู้ว่า การเดินเรือระหว่างอินเดียกับทะเลแดงนั้นไม่ได้น่ากลัวหรืออันตรายอย่างที่คิด หลักจากนั้นชาวโรมันจึงเริ่มพยายามเดินเรือสมุทรตามชาวกรีก รวมไปถึงชาวเปอร์เซียก็เริ่มหันมาพัฒนาเทคนิคการเดินเรือในช่วงเวลาต่อมา หลังจากเริ่มพบปัญหาอุปสรรคการเดินทางจากเส้นทางในแผ่นดิน

แน่นอนว่า เป้าหมายของการเดินทางนั้นคือ ดินแดนตะวันออก โดยมีหมุดหมายสำคัญแรกเริ่มอยู่ที่ ‘อินเดีย’ ที่ถือเป็นชุมทางสำคัญของการเดินทาง ซึ่งหากต้องเดินทางไปยังจีน จำเป็นต้องผ่านกลุ่มบ้านเมืองในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงเวลานั้นเป็นที่รู้จักกันในนามของดินแดนสุวรรณภูมิ แปลว่า ดินแดนทองคำ เคยปรากฏชื่อเรียกว่า ‘Chrysḗ Chersónēsos’ อยู่บนแผนที่การเดินทางของปโตเลมี (Ptolemy) นักปราชญ์ชาวกรีกผู้พำนักอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) เมื่อประมาณ พ.ศ. 700

รู้จักเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกยุคโบราณ ซึ่งผ่านประเทศไทย!
แผนที่โบราณปโตเลมี จุดเริ่มต้นของการค้นหาสุวรรณภูมิ แสดงให้เห็นลักษณะภูมิศาสตร์ของทวีปเอเชียและรายชื่อของเมืองหรือดินแดนต่าง ๆ ที่ปรากฎอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดียและทะเลจีนใต้ ในช่วง 1,700 ปีมาแล้ว ซึ่งปรากฏคำว่า Chrysḗ Chersónēsos ภาษากรีกโบราณ แปลว่า แหลมทองคำ เขียนอยู่บริเวณพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้ของไทยด้วย
ภาพ : คลังของบวรนคร นครศรีธรรมราช

การเดินทางติดต่อกันระหว่างชาวโรมัน-อินเดีย-จีน เชื่อมผ่านมาทางเส้นทางสายไหมทางทะเล ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่และหลั่งไหลของผู้คนต่างถิ่น ที่มาพร้อมกับวัฒนธรรมในแบบฉบับของตนเข้ามายังดินแดนสุวรรณภูมิร่วมด้วย

จากการพบหลักฐานทางโบราณคดีในพื้นที่ต่าง ๆ ตลอดทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรือจม ที่พบในพื้นที่อ่าวไทยหรือแถบหมู่เกาะอินโดนีเซีย ปรากฏหลักฐานสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่ถูกนำมาค้าขายยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือแม้แต่ชิ้นส่วนเครื่องประดับประเภทลูกปัดที่ผลิตจากทองคำ หินกึ่งมีค่า หรือแก้ว พบว่ามีแหล่งผลิตอยู่แถบพื้นที่คาบสมุทรไทย-มาเลย์ กลุ่มพระพุทธรูปหรือเทวรูปที่พบทั้งรูปแบบเอกลักษณ์ท้องถิ่นและรูปแบบผสมผสาน หรือแม้แต่หลักฐานโบราณสถานต่าง ๆ เช่น บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย พระบรมธาตุไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช สื่อถึงรูปแบบความเชื่อทางศาสนาที่ได้เข้ามาดินแดนสุวรรณภูมิในช่วงยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งหลักฐานทางโบราณคดีเหล่านี้ ถือเป็นประจักษ์พยานที่แสดงให้เห็นว่า

สุวรรณภูมิ คือ ดินแดนแห่งความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากการเติบโตของเส้นทางสายไหมทางทะเล ทำให้เกิดการเข้ามาของวัฒนธรรมทั้งจากโลกตะวันตกและตะวันออก จนถูกหล่อหลอมและพัฒนาปรับเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองในที่สุด

รู้จักเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกยุคโบราณ ซึ่งผ่านประเทศไทย!
หลักฐานเครื่องประดับและภาชนะดินเผาที่พบบริเวณคาบสมุทรภาคใต้ของไทย พบว่ามีเทคนิคการผลิตและลวดลายที่สัมพันธ์กับวัฒนธรรมอินเดียและจีนตอนใต้ ไม่ว่าจะเป็นลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินกึ่งมีค่า เครื่องประดับที่ทำจากทองคำ และภาชนะรูปทรงต่าง ๆ ที่ปรากฏลวดลายเฉพาะของวัฒนธรรมต่างถิ่นบนดินแดนสุวรรณภูมิ
ภาพ : GISTDA และ สุวรรณภูมิ ภูมิอารยธรรมเชื่อมโลก Suvanabhumi Terra Incognita, (กรุงเทพฯ: บริษัท ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน), 2562)
รู้จักเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกยุคโบราณ ซึ่งผ่านประเทศไทย!
รู้จักเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกยุคโบราณ ซึ่งผ่านประเทศไทย!
รู้จักเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกยุคโบราณ ซึ่งผ่านประเทศไทย!
รู้จักเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่เชื่อมโลกตะวันตกกับตะวันออกยุคโบราณ ซึ่งผ่านประเทศไทย!

ตัวอย่างหลักฐานโบราณสถานที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางศาสนาของผู้คนในดินแดนสุวรรณภูมิ นับตั้งแต่เกิดเส้นทางสายไหมทางทะเลพาดผ่านพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ทำให้เกิดการเผยแผ่ศาสนาจากเอเชียใต้เข้ามาเป็นระลอก ๆ ตั้งแต่ศาสนาฮินดู-พุทธ-อิสลาม

จากเรื่องราว ตำนาน บันทึก และหลักฐานทางโบราณคดีที่สื่อถึง ‘ดินแดนทองคำ’ ต่างเชิญชวนให้ผู้คนทั้งในอดีตที่ผ่านมาและในปัจจุบัน เสาะแสวงหาดินแดนแห่งนี้อย่างไม่ลดละ

ความมั่งคั่งและความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรนานาชนิดยังคงเป็นแรงผลักดันให้ผู้คนเดินทางไปยัง ‘สุวรรณภูมิ’ เรื่อยมา

กระทั่งการพัฒนาเส้นทางการค้าและเศรษฐกิจแห่งอนาคตอย่าง One Belt and One Road หรือเส้นทางสายไหมใหม่ โครงการระดับเมกะโปรเจกต์ของจีน ยังวางแผนเพื่อฟื้นฟูเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ปักหมุดเมืองท่าและชุมทางการค้าในสุวรรณภูมิทั้งทางบกและทางทะเลไว้หลายแห่ง

โครงข่ายเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ภายใต้แนวคิด ‘One Belt and One Road’ ของจีน ที่ต้องการเชื่อมเศรษฐกิจทั่วโลกเข้าด้วยกัน โดยมีดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแรงขับเคลื่อนบนเครือข่ายนี้
ภาพ : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

แต่เราจะเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปเฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้นหรือ

ทั้งที่สุวรรณภูมิเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายทางศาสนา ความเชื่อ ศิลปะและวัฒนธรรมที่รับ รวม และผสมผสานอารยธรรมจีน อินเดีย และตะวันตก เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนแห่งหนึ่งของโลก

ครั้งนี้ ศิลปะจึงจับมือกับโบราณคดีและเทคโนโลยีสารสนเทศ ชวนมานั่งล้อมวงพูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองปัจจุบัน ความเข้าใจ และค้นหาสุวรรณภูมิในรูปแบบของแต่ละศาสตร์ ซึ่งแต่เดิมที่เคยเดินในวิถีทางที่ตนเองถนัด ด้วยเครื่องมือและองค์ความรู้ที่มีอยู่

โบราณคดี ค้นหา ศึกษา และถอดรหัสเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ในอดีต ที่ยังหลงเหลือหรือถูกทิ้งร่อยรอยไว้ในวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ หรือแม้กระทั่งในชั้นหินดินทรายและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่อยู่รายรอบมนุษย์

ศิลปะ สร้างสรรค์ ตีความ ส่งต่อความงาม ความรู้สึกนึกคิดและแรงบันดาลใจ ผ่านรูปแบบศิลปะที่หลากหลาย บางครั้งก็ตั้งคำถามให้กับผู้ชมได้กลับไปขบคิดต่อ

ในขณะที่ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ก็ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล สังเกตการณ์ และวิเคราะห์ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของภาคพื้นจากข้อมูลดาวเทียมในอวกาศ

การนั่งล้อมวงกันใน ‘ศิลป์สุวรรณภูมิบนเส้นทางสายไหมทางทะเล ครั้งนี้ จึงพิเศษอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เหมือนเราจับคนที่พูดคนละภาษามานั่งคุยกัน เกิดเป็นนิทรรศการที่รวบรวมและเลือกประจักษ์พยานของสุวรรณภูมิ ทั้งศิลปวัตถุ สถาปัตยกรรม รวมถึงร่องรอยผู้คน ไปจนถึงข้อมูลภูมิสารสนเทศอันแสดงภาพพื้นที่สุวรรณภูมิจำนวน 18 ชิ้น มาให้ศิลปินร่วมสมัย-ตัวแทนชาวสุวรรณภูมิยุคปัจจุบันกว่า 18 คน สร้างสรรค์ผลงานและแสดงมุมมองที่มีต่อเรื่องราวในอดีต ตีความ ต่อยอดถึงอนาคตของสุวรรณภูมิ สะท้อนวัฒนธรรมปัจจุบัน ผ่านศิลปะร่วมสมัย และเชิญชวนให้ผู้ชมได้ร่วมขบคิดไปด้วยกัน ว่าประจักษ์พยานต่าง ๆ นั้นกำลังเล่าอะไรให้เราฟัง แสดงภาพอะไรให้เราเห็น สุวรรณภูมิในอดีตเป็นดินแดนทองดั่งคำบอกเล่าหรือไม่ แล้วในสายตาของคนสุวรรณภูมิปัจจุบัน (ที่นับรวมพื้นที่ได้ตั้งแต่เมียนมา ไทย ไปจรดแหลมมลายูและหมู่เกาะอินโดนีเซีย รวมถึงลุ่มน้ำโขง เวียดนาม จรดทะเลจีนใต้ และดินแดนในยูนนาน) อยากจะตอบ แสดงความคิดเห็น หรือแม้กระทั่งอยากจะไต่ถามอะไรกลับไป

ไม่เพียงเท่านั้น นิทรรศการนี้ยังขอเชิญชวนให้ผู้ชมได้เดินทางไปสัมผัสชุมชนคนเมืองท่าการค้าอย่าง ‘เมืองเก่าสงขลา’ ด้วย ผ่านการจัดแสดงในพื้นที่หลายจุดที่กระจายอยู่ทั่วเมืองเก่า ผู้ชมจะได้เดินผ่านร้านรวงที่ยังเปิดทำการตั้งแต่ร้านอาหาร ร้านซักรีด ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านท่าเรือขนส่งและท่าเรือประมง พื้นที่การค้าที่ยังมีชีวิตชีวาขอแนะนำให้เริ่มต้นจากหอศิลป์สงขลาบนถนนกำแพงเพชร จุดจัดแสดงที่มีผลงานมากที่สุด เดินไล่เรื่อยไปยังถนนนครนอก เพื่อพบกับบ้านสงครามโลก บ้าน 123 และบ้าน 73 แล้วพาหักเลี้ยวเข้าถนนยะหริ่ง แวะชมผลงานอีก 1 ชิ้น จากนั้นเดินเท้าต่อไปที่ถนนนครใน ณ บ้าน 168 และบ้านคราม ท้ายสุดเดินไปจบที่ a.e.y. space บนถนนนางงาม แล้วแวะพักกินอาหารอร่อย ขนมไทยหวาน ๆ หรือจะเลือกช้อปของฝากได้ตามใจ

Writers

Avatar

พัชรพร เงินเกิด

นักศึกษาปริญญาเอก วิชาโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คลั่งไคล้ในงานศึกษาภูมิทัศน์ทางโบราณคดี (Landscape Archaeology) ตั้งแต่ยุคสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

Avatar

กิรติยา อุคหปัญญากุล

ทำงานด้านจัดนิทรรศการและศิลปะร่วมสมัย อินกับประวัติศาสตร์ พงศาวดาร โบราณคดี ศิลปะ กาแฟ และนวนิยาย