บนตึกพิพิธภัณฑ์สีขาว ปรากฏแผ่นภาพขนาดยักษ์ที่ห้อยลงมาจากดาดฟ้าอาคาร ในภาพนั้นมีคน (เด็กชาย?) 2 คนกำลังจ้องมองกัน ชวนให้เราพินิจพิเคราะห์ความเหมือนและความต่างของพวกเขาไปในที คนหนึ่งผิวขาวผมทอง ใส่ชุดสีเขียวอ่อนพาดผ้าพันคอและอุ้มแกะน้อย ชัดเจนเช่นเดียวกับภาพจำจากสมัยที่เราได้เปิดหนังสือ เจ้าชายน้อย อ่านครั้งแรกเมื่อนานมาแล้ว ส่วนอีกคนนั้นดูแปลกตาไปสักหน่อย ถึงแม้ว่าเขาจะใส่ชุดยาว มีดาวประดับอยู่ที่ไหล่ แถมยังถือดาบที่บ่งบอกยศถาบรรดาศักดิ์คล้ายเจ้าชายน้อย แต่สีผิวของเขากลับเข้มเหมือนเมล็ดโกโก้ อีกทั้งจมูกและโหนกแก้มยังใหญ่กว่า มองเห็นเป็นสรีระของชาติพันธุ์อื่นอย่างชัดเจน เขาคือใครกันนะ

ภาพนี้แขวนไว้เพื่อโฆษณาเชิญชวนให้เข้าชมนิทรรศการ ‘เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม’ ที่กำลังจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นงานที่นำตัวละครในดวงใจของหลายๆ คนอย่างเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) จากบทประพันธ์ของ อ็องตวน แซ็งแตกซูว์เปรี (Antoine de Saint-Exupéry) มาร้อยเรียงและเล่าเรื่องในมุมมองที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน ในวาระครบรอบ 77 ปี การตีพิมพ์ เจ้าชายน้อย เล่มแรก เราจึงเดินทางไปพูดคุยกับ อาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้เป็นภัณฑารักษ์หลักของโชว์นี้ ถึงที่มาที่ไปและความน่าสนใจที่ห้ามพลาดในนิทรรศการ ถือเป็นการแหวกม่านเรียกน้ำย่อย ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะได้ตามไปชมกันเมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดอีกครั้งหลังวิกฤต COVID-19

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี
แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

วิธีเล่าเรื่องในมุมมองของนักมานุษยวิทยา

คนในแวดวงพิพิธภัณฑ์ทราบกันดีว่า นิทรรศการหมุนเวียนของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมักมีความ ‘ไม่ธรรมดา’ เสมอ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2530 โดยมหาวิทยาลัยมอบหมายให้คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเป็นผู้ดูแล ในส่วนของวัตถุในคอลเลกชันนั้นมีหลากหลายประเภทและมีจำนวนเหลือคณานับ ลากยาวตั้งแต่ซากฟอสซิลอายุนับล้านปี หม้อไหบ้านเชียง จนถึงสิ่งของที่เพิ่งพ้นสมัยนิยมกันไปเมื่อทศวรรรษก่อน อาทิ เครื่องเล่นแผ่นเสียงปากแตร เชี่ยนหมากทองเหลือง เป็นต้น 

“ในเมื่อเราเป็นพิพิธภัณฑ์ทางมานุษยวิทยา (Thammasat Museum of Anthropology) ที่มุ่งจัดแสดงผ่านแนวคิดและมุมมองตามความเชี่ยวชาญของคณะฯ เราคาดหวังว่า วัตถุสิ่งของจะพาผู้ชมไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับมิติทางสังคมวัฒนธรรมและมนุษย์ทั้งในฐานะกลุ่มบุคคลและมนุษยชาติ” อาจารย์สุดแดนเท้าความ 

“อย่างเช่นนิทรรศการที่ผ่านมา ‘แสง สิ่งของ และการมองเห็น’ เราจัดแสดงสิ่งของที่นักมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาได้มาจากงานภาคสนาม ซึ่งของแต่ละชิ้นแสดงให้เห็นถึงความคิดและมุมมองที่เกี่ยวกับของชิ้นนั้น ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความคิดและมุมมองของผู้ครอบครองด้วย 

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี
แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ในนิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

“หรือนิทรรศการ ‘I Think the old days are really gone-ภาพวูบไหวในคำบอกเล่าของเมืองเชียงใหม่’ เล่าถึงผู้คนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางมรดกวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ คนเมือง นักโทษ แรงงานไทใหญ่ และธุรกิจสีเทาของเมือง ผ่านการจัดแสดงสิ่งของ เช่น ภาพถ่าย วัตถุทางวัฒนธรรมล้านนา และจดหมายที่ส่งออกมาจากคุก เป็นต้น

“เราพยายามจัดแสดงและสร้างกิจกรรมเพื่อตอบรับกับนิยามใหม่ๆ ของพิพิธภัณฑ์ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงสถาบันความรู้ที่ไม่แสวงหากำไร แต่ถูกเรียกร้องบทบาทเชิงปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น เช่น เป็นพื้นที่เพื่อการสนทนาที่เท่าเทียมกันระหว่างวัฒนธรรม การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ และมุ่งไปสู่ความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสังคม นิทรรศการ เจ้าชายน้อย : หนังสือ การสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม’ เป็นอีกนิทรรศการหนึ่งที่มุ่งไปในทางนี้”

อาจารย์สุดแดนรู้จักหนังสือ เจ้าชายน้อย มาทั้งแต่สมัยมัธยม เรื่องราวที่เรียบง่ายของเจ้าชายที่ต้องออกเดินทางเพราะทะเลาะกับดอกไม้ ระเห็จไปตามดาวต่างๆ จนมาพบกับนักบินปีกหักบนดาวเคราะห์ที่ชื่อว่าโลก สำหรับเขา เชื่อมโยงไปถึงปรัชญาที่เป็นนามธรรม มิตรภาพ ความรัก ความผูกพัน อีกทั้งความรับผิดชอบในสิ่งที่ได้สัมพันธ์ด้วย 

และถึงแม้ตัวเขาเองจะสะสมสิ่งของที่เกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย ไว้บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่อยากจะจัดเป็นนิทรรศการ จนวันหนึ่งได้ไปอ่านเจอคำถามหนึ่งในบนโลกออนไลน์ที่จุดประกายให้กับเขา

“ฉันแค่อยากรู้ว่า อ็องตวน แซ็งแตกซูว์เปรี จะเคยได้ยินชื่อ ซารา บาร์ตแมน ไหมนะ…” 

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

คำถามนี้โยงสองคนที่ชีวิตดูเหมือนจะสวนทางกัน คนหนึ่งเป็นนักเขียนดังของฝรั่งเศส ชื่นชอบและประทับใจวิถีชีวิตของคนพื้นเมืองแอฟริกัน และเป็นผู้สร้างเจ้าชายน้อยผู้มีจิตใจอันแสนจะงดงามขึ้นมา กับผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่ถูกขาย ให้กับเจ้าของคณะโชว์และคนฝึกสัตว์ชาวฝรั่งเศส เพื่อมาเปิดแสดงเป็นของแปลกจากแอฟริกา ก่อนที่จะมาเสียชีวิตอย่างตกต่ำที่กรุงปารีส  

“นึกขึ้นมาได้ว่า เรารู้จักคนทั้งสองคนนี่นา ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่ได้ดูนิทรรศการ La Saga de l”Homme : L’Homme Exposé (มหากาพย์แห่งมนุษยชาติ : การจัดแสดงมนุษย์)  ที่พิพิธภัณฑ์แห่งมนุษยชาติ (Musée de l’ Homme) ปารีส ได้เห็นร่างจำลองของซารา บาร์ตแมน คนเดียวกันนี้แหละจัดแสดงอยู่” อาจารย์สุดแดนเล่า 

“เรื่องนี้วนเวียนอยู่ในหัวนานเป็นปี และคิดพยายามจะโยงเรื่องทั้งหมดนี้เข้าไว้ด้วยกัน ตั้งแต่หนังสือที่เคยอ่านสมัยวัยรุ่น ของสะสม การเผชิญหน้าทางวัฒนธรรม ความเป็นอาณานิคม มานุษยวิทยา และด้านมืดของ (การจัดแสดงใน) พิพิธภัณฑ์”

 หรือ ซารา คือในคนผิวสีที่กำลังประจัญหน้าเจ้าชายน้อยบนโปสเตอร์นั่นเอง?

สารพันสิ่งของจากดวงดาว B 612

เมื่อเราเข้าไปด้านในห้องจัดแสดง เราจะได้เห็นกับสารพัดสิ่งของที่เกี่ยวกับ เจ้าชายน้อย ตั้งแต่ตุ๊กตากระจุกกระจิก เสื้อยืด กล่องขนม กล่องดนตรี ชุดถ้วยชา ไปจนถึงแผนที่ของพิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยจากญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้บ่งบอกอิทธิพลและความโด่งดังของตัวละครนี้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยได้ดี แต่ชุดวัตถุที่เตะตาเราอย่างมาก คือรูปปั้นตัวละครต่างๆจากหนังสือ เจ้าชายน้อย ที่ทำจากเซรามิก กระจายอยู่ตามตู้ต่างๆ และสร้างสรรค์สถานการณ์ในเรื่องออกมาเป็นภาพสามมิติอย่างงดงาม 

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

“เราได้ร่วมมือกับศิลปินเซรามิกจากสุโขทัยท่านหนึ่ง คือ คุณเฉลิมเกียรติ บุญคง จากโมทนาเซรามิก เพื่อปั้นรูปเจ้าชายน้อยกำลังสนทนากับ ซารา บาร์ทแมน ซึ่งเป็นฉากสำคัญของนิทรรศการ เราเล่าเค้าโครงความคิดของนิทรรศการให้กับผู้ปั้นและเปิดโอกาสให้ผู้ปั้นใช้ความคิดและจินตนาการต่ออย่างอิสระ

“จากการตีความต่อของผู้สร้าง ช่วยทำให้นิทรรศการนี้ซับซ้อนมากขึ้นอย่างน่าสนใจ และยังมีของสะสมอีกชุดหนึ่ง เป็นเซรามิกรูปบุคคลอื่นๆ ที่เจ้าชายน้อยได้พบเจอระหว่างการเดินทางผ่านดวงดาวต่างๆ เช่น นักภูมิศาสตร์ คนจุดโคม นักธุรกิจ ชายขี้เมา ที่เราจัดแสดงรวมไว้ในตู้ทะเลทราย ซึ่งเป็นผลงานของชาวสุโขทัยอีกคนหนึ่ง คือคุณภารุจีร์ บุญชุ่ม ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่ผันตัวมาเป็นช่างปั้นเซรามิกอิสระ” 

อาจารย์สุดแดนกล่าวอย่างภูมิใจ “ของจัดแสดงอีกชิ้นหนึ่งที่ชอบมาก ตื่นเต้นมาก มีความหมายมาก และได้มาอย่างบังเอิญ ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์ให้ยืมจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ก็คือ หมาป่าอาร์กติกสตัฟฟ์ขนสีขาวสะอาด กำลังขดตัวหลับชั่วนิรันดร์อยู่อย่างสงบ แม้มิใช่สุนัขจิ้งจอกทะเลทรายอย่างที่กล่าวไว้ในเรื่อง แต่ความน่ารักของมันก็เป็นตัวแทนและชวนให้นึกถึง Fennex Fox ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสัตว์เลี้ยงของแซ็งแตกซูว์เปรี ผู้เขียนหนังสือ เจ้าชายน้อย ขณะที่เขาเป็นนักบินประจำการอยู่ที่แหลมจูบี แอฟริกา”

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี
แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

นักเขียน / นักบิน / กวี / คนนอก / ผู้แสวงหา

พอพูดถึงผู้เขียน เราจึงชวนอาจารย์คุยถึงบุคคลผู้อยู่เบื้องหลัง เจ้าชายน้อย สักนิด เราทราบจากในนิทรรศการว่า อ็องตวน แซ็งแตกซูว์เปรี มีชีวิตอยู่ระหว่างช่วงมรสุมของสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ตั้งแต่เด็ก เขาตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า ‘เครื่องบิน’ มาเสมอ การเป็นนักบินคืออีกอาชีพที่เขาทำควบคู่กับงานเขียน และงานเขียนของเขาหลายเล่มพูดถึงประสบการณ์การบินของเขา

แม้แต่ตัวละคร ‘นักบิน’ ในเรื่อง เจ้าชายน้อย ที่ทำเครื่องบินตกในทะเลทรายก็อ้างอิงมาจากประสบการณ์ของเขา ใน ค.ศ. 1940 เขาลี้ภัยจากฝรั่งเศสไปสหรัฐอเมริกา และเขียน เจ้าชายน้อย ใน ค.ศ. 1943 จากคำยุยงของเพื่อน (ทำให้วรรณกรรมชิ้นนี้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษก่อนฝรั่งเศส) ปีต่อมาเขาหายสาบสูญไปขณะขับเครื่องบินลาดตระเวน Lockheed P-38 Lighting 

“เพราะว่าเขาเป็นนักบิน เขาเป็นนักเดินทางและชอบผจญภัย การได้พบผู้คนหลากวัฒนธรรมท่ามกลางสถานการณ์คับขัน โดดเดี่ยว อาจทำให้เขามีความเข้าใจชีวิตและความเป็นมนุษย์ที่ละเอียดอ่อน” อาจารย์สุดแดนตั้งข้อสันนิษฐานไว้อย่างน่าสนใจ 

นอกจากนี้ในรูปเล่มที่สำหรับนักอ่านผู้ใหญ่ ดูมันจะเป็นหนังสือเด็กเกินไป และสำหรับเด็กมันก็เป็นหนังสือผู้ใหญ่เกินไปนั้น มีเค้าว่าผู้เขียนจะสอดแทรกอะไรไว้มากมายกว่าที่เราคิด 

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

“ในหนังสือ เจ้าชายน้อย ดูจะเล่าเรื่องที่ไม่ได้ระบุวันเวลาและสถานที่เป็นการเฉพาะ มีเพียงตอนเดียวเท่านั้นที่ผู้เขียนระบุปี (ค.ศ. 1909) และสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงไว้ คือ ตุรกี (ในบทที่ 4)

“ผมมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือว่า ดาวดวงที่เจ้าชายน้อยจากมา คือดาวดวงที่ B 612 ดาวดวงนี้นักดาราศาสตร์ชาวตุรกีส่องกล้องพบเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2452 เขาได้เสนอการค้นพบนี้แก่สภาดาราศาสตร์ระหว่างชาติแต่ไม่มีใครเชื่อเขา เนื่องจากการแต่งกายของเขาแปลกเกินไป พวกผู้ใหญ่ก็เป็นแบบนี้แหละ เคราะห์ดีสำหรับดาวดวงนี้ เพราะต่อมานักเผด็จการตุรกีได้บังคับให้ประชาชนแต่งกายตามแบบยุโรป ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษถึงประหารชีวิต นักดาราศาสตร์ผู้นี้ ได้เสนอการค้นพบของเขาอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2463 โดยแต่งตัวอย่างสง่างามแบบชาวยุโรป และคราวนี้ทุกคนก็เชื่อเขา

“ผมลองไปค้นเล่นๆ ว่า วันเวลาที่กล่าวอ้างไว้นั้น มีความสำคัญอย่างไรบ้างหรือไม่ในสถานการณ์ของโลกยามนั้น เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์ของตุรกี จะพบว่า พ.ศ. 2452 คือหนึ่งปีหลังการปฏิวัติโดยกลุ่มยังเติร์ก (Young Turk) ซึ่งมีผลให้ระบอบสุลต่านต้องล่มสลายในเวลาต่อมา ส่วน พ.ศ. 2463 พรรคบอลเชวิกในรัสเซียได้ชัยชนะในสงครามกลางเมือง และอีกสามปีต่อมา มุสตาฟา เคมาล (อตาเติร์ก) ผู้นำทหารชาตินิยมตุรกีได้สถาปนาสาธารณรัฐตุรกีขึ้น เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคอาณาจักรออตโตมันเดิมสู่ระบบสาธารณรัฐ ผู้นำของรัฐมีเป้าหมายปลุกเร้าความเป็นชาติเตอรกิช-ตุรกีแทนการมีอัตลักษณ์อิสลาม ด้วยการบังคับให้เลิกใช้ตัวอักษรอาหรับ-เปอร์เซีย และให้ผู้ชายสวมหมวกแบบตะวันตก ด้วยการเลิกโพกศรีษะด้วยผ้าหรือสวมหมวก (Fez) ตามแบบประเพณี

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ใน นิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

“น่าสนใจว่าทำไมผู้เขียนอ้างถึงสิ่งที่เชื่อมโยงได้ เช่น สถานการณ์ทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในยุคนั้น ในขณะเดียวกันมีผู้ไปพยายามค้นหาว่าในปีนั้นมีการค้นพบดวงดาวใดหรือไม่ ก็ได้ข้อมูลแต่เพียงว่า มีดาวเคราะห์น้อย 612 อยู่จริง แต่เป็นดาวชื่อ B 612 Veronika ซึ่งค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน ใน พ.ศ. 2449” 

เป็นไปได้ไหมว่า หนังสือ เจ้าชายน้อย มีความเกี่ยวพันกับความทรงจำของผู้เขียนอย่างยิ่ง ด้วยการนำเสนอการเผชิญหน้ากันของคู่ตรงข้าม อาทิเด็กและผู้ใหญ่ ตะวันออกและตะวันตก เรื่องจริงและเรื่องแต่ง การแสวงหาและการค้นพบ

การถอดรหัสระหว่างบรรทัด

อีกหนึ่งไฮไลต์คือการจัดแสดงหนังสือ เจ้าชายน้อย หลากหลายเวอร์ชันในนิทรรศการนี้ แสดงให้เห็นว่างานเขียนชิ้นนี้ก้าวข้ามกำแพงของภาษาไปหาคนทั่วโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ ว่ากันว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ถูกแปลไปมากที่สุดในโลก รองจากคัมภีร์ไบเบิล!

“ในการจัดแสดงครั้งนี้ต้องถือว่าโชคดีที่เราได้หนังสือหลายฉบับที่หาได้ยาก เช่น เจ้าชายน้อย ฉบับอักษรเบรลล์และภาพเพื่อการสัมผัส ซึ่งจัดพิมพ์จำหน่ายเพียงเก้าร้อยยี่สิบชุด หนังสือ เจ้าชายน้อย ฉบับภาษามอร์ส หรือ เจ้าชายน้อย ภาษาไทย ฉบับพิมพ์ครั้งแรก (พ.ศ. 2512) จากนักสะสมหนังสือท่านหนึ่งที่ศรีสะเกษ” อาจารย์สุดแดนกล่าว

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ในนิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

ในรายละเอียดของการแปลความหมาย เจ้าชายน้อย นั้นก็มีเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง เช่น ในการแปลเป็นภาษาถิ่นสุโขทัย ผู้แปลใช้ชื่อว่า ‘ขุนน้อย’ แต่ในภาษาโทบา ซึ่งใช้พูดกันทางตอนเหนือของอาร์เจนตินา มีปัญหาตั้งแต่การแปลชื่อเรื่อง เพราะในภาษาของเขาไม่มีความคิดว่าด้วยเรื่องเจ้าชาย ส่วนในภาษาอมาสิกห์แถบโมร็อกโก ก็ไม่มีคำศัพท์ในภาษาที่ตรงกันกับคำว่า ‘ความน่าเบื่อหน่าย’ หรือ ‘ความไร้สาระ’ ในขณะที่ภาษาไทยและภาษาอื่นๆ เลือกศัพท์ให้ตรงตามต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส (Renard) ว่า ‘สุนัขจิ้งจอก’ แต่ในฉบับภาษาลาวเลือกใช้เป็น ‘อีเห็น’ เป็นต้น

“ผมคิดว่าการแปลเป็นความพยายามในการสนทนาข้ามวัฒนธรรม ลองดูบทแปลจากตอนสำคัญตอนหนึ่งที่เจ้าชายน้อยสนทนากับสุนัขจิ้งจอกในภาษาเพื่อนบ้านของเราดู จะเห็นว่าน่าสนใจมาก”

แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ในนิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี
แอบดูสารพันสิ่งของจากดาว B612 ในนิทรรศการเจ้าชายน้อย ฉลองวาระอายุ 77 ปี

ความลับของสุนัขจิ้งจอก (สำนวนภาษาไทย)

“ลาก่อนนะ”

“ลาก่อน” สุนัขป่าตอบ

นี่คือความลับของฉันมันแสนจะธรรมดา เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้นสิ่งสำคัญนั้น ไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา

“สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยดวงตา” เจ้าชายน้อยพูดตามเพื่อเป็นการเตือนความทรงจำ

ความลับของสุนัขจิ้งจอก (สำนวนภาษาพม่า)

“ไปก่อนนะ” เจ้าชายน้อยกล่าว

“ไปเถิด” หมาจิ้งจอกตอบ 

นี่ ความลับนี้ของฉันน่ะ มันกระจ่างมาก

ดวงตานั้นไม่ว่าเมื่อไรก็ไม่มีทางมองเห็นสิ่งสำคัญได้หรอก ต่อเมื่อรู้สึกด้วยหัวใจเท่านั้นล่ะ จึงจะมองเห็นได้ถูกต้อง

ความลับของสุนัขจิ้งจอก (สำนวนจากภาษาเขมร)

ต่อมา เขาก็กลับไปตามหาสุนัขจิ้งจอก แล้วกล่าวว่า “ลาก่อนนะ ลาลุอวสาน” (ลาก่อนชั่วนิรันดร์) 

สุนัขจิ้งจอกตอบ “ลาก่อน ลาลุอวสานเช่นกัน ตอนนี้ฉันจะบอกความลับข้อหนึ่งแก่เธอ เรื่องนี้เป็นเรื่องสามัญมาก คือต้องมองสิ่งใดด้วยจิต จึงจะแจ่มแจ้ง (ภาษาเขมรใช้คำว่า จิตฺต คือ จิตใจ) สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นด้วยตาได้เลย”

“สิ่งสำคัญไม่อาจมองเห็นด้วยตาได้เลย” เจ้าชายน้อยทวนคำพูดเพื่อให้จดจำได้

ความลับของสุนัขจิ้งจอก (สำนวนจากภาษาลาว)

“ไปก่อนเด้อ”

“ไปดีท้อน (ไปดีเถอะ), เหงนตอบ : “นี้เด้อ ความลับของข้อยง่ายดายที่สุด มีแต่หัวใจเท่านั้น ที่เฮ็ดให้พวกเฮาเห็นกันได้ดี สิ่งเล็กเซิ่งตาพวกเราเบิ่งบ่เห็นดอก”

“สิ่งเล็ก เซิ่งตาพวกเฮาเบิ่งบ่เห็น” , ท้าวน้อยจ่มซ้ำ เพื่อให้จื่อ.

ความลับของสุนัขจิ้งจอก (ภาษาฝรั่งเศส)

Adieu, dit le renard. Voici mon secret. Il est très simple : on ne voir bien qu’avec le cœur. L’essentiel est invisible pour les yeux.

L’essentiel est invisible pour les yeux, répéta le petit prince, afin de se souvenir.

ถ้อยคำที่ทุกคนสัมผัสได้ด้วยหัวใจ 

ในฐานะแฟนคลับของหนังสือเล่มนี้ เราเป็นคนหนึ่งที่อ่านมันหลายรอบมาก และแต่ละรอบก็ตระหนักถึงความหมายที่ต่างกันไปตามวัยวุฒิของเราตอนอ่าน การมาได้เจอกับถ้อยคำในเล่มที่เราคุ้นเคย นำมาตัดแปะเคียงข้างวัตถุ เพื่อเล่าเรื่องใหม่ๆ ในพื้นที่นี้ ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย 

“ระหว่างที่จัดวางเนื้อหานิทรรศการและสิ่งของสะสมเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการนี้ ผมยังเกรงว่าคนที่รัก เจ้าชายน้อย จะโกรธไหมนะ เพราะผู้มาชม อาจคิดว่าเราลากเรื่องไปไกลมากๆ เราดึงเอาเจ้าชายน้อยไปพบกับคนที่ไม่ปรากฏในเรื่องเล่า เราจินตนาการว่า ถ้าเจ้าชายน้อยเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และสนามหลวง ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เจ้าชายน้อยจะคิดอย่างไร 

“แต่ถึงอย่างนั้น นิทรรศการนี้ไม่ได้ทิ้งเรื่องราวของผู้เขียน ไม่ได้ละเลยความคิดของเจ้าชายน้อยเมื่อเขาได้เจอคนต่างๆ ผ่านดวงดาวที่เขาจากมา นิทรรศการนี้ไม่ได้ละเลยความคิดสำคัญในเรื่องที่เจ้าชายน้อยได้ค้นพบและสื่อสารกับเรา” อาจารย์สุดแดนอธิบาย

“การจัดทำนิทรรศการครั้งนี้เพื่อใคร ใครคือผู้ชม เป็นปัญหาสำคัญอยู่เหมือนกัน เช่นเดียวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับหนังสือ เจ้าชายน้อย ว่ามันเป็นหนังสือสำหรับเด็กหรือหนังสือสำหรับผู้ใหญ่กันแน่ บางคนว่า มันเป็นหนังสือสำหรับอ่านในช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตจากวัยรุ่นไปสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเมื่อเติบโตแล้วก็จะไม่สนใจในประเด็นเหล่านั้นอีก

“แต่ขณะเดียวกัน มีคนจำนวนมากกล่าวว่าเหตุที่หนังสือ เจ้าชายน้อย เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ก็เพราะว่ามันทำให้ผู้ใหญ่ที่อ่านได้รำลึกถึงวันเวลาในวัยเด็ก (หรือหนุ่มสาว) และทำให้เขาหรือเธอได้หวนไปรำลึกถึงมันใหม่อีกครั้งด้วย ได้ทบทวนและทอดอาลัย ว่าด้วยเรื่องความรัก ความสัมพันธ์กับคนอื่น และการรับผิดชอบในสิ่งที่เคยสัมพันธ์

“เราหวังว่านิทรรศการเจ้าชายน้อย จะเป็นพื้นที่ของการสนทนากับคนได้หลากหลายกลุ่ม ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนที่เคยอ่านและหลงใหล หรือคนที่เพิ่งเคยเจอเจ้าชายน้อยเป็นครั้งแรก เขาอาจเดินทางเข้ามาชมนิทรรศการด้วยความชื่นชมเป็นส่วนตัว และเราอยากให้เขาออกไปพร้อมกับคำถามและคำตอบบางอย่าง” 

เจ้าชายน้อยกับ COVID-19

ก่อนจากกัน เราถามอาจารย์ว่า ถ้าเจ้าชายน้อยมองโลกเราตอนนี้ที่กำลังวุ่นวาย เขาจะบอกอะไรกับเรา

“ผมคิดว่าเจ้าชายน้อยจะเป็นแรงบันดาลใจให้เสมอ” อาจารย์สุดแดนตอบ

“ช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 กำลังขยายตัวไปทั่วโลก มีคนนำรูปเจ้าชายน้อยมาเผยแพร่พร้อมข้อความให้กำลังใจ มีคนทำเจลล้างมือแปะยี่ห้อเจ้าชายน้อยเพื่อแจก มีคนวาดรูปการ์ตูนเจ้าชายน้อยร้องขอให้นักวิทยาศาสตร์ ‘วาดวัคซีน’ ให้ฉันหน่อยสิ 

“ก่อนหน้านี้นานหลายปี เจ้าชายน้อย และเรื่องราวของเขาได้ถูกนำไปใช้เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ รูปภาพเจ้าชายน้อยผิวสี ถูกนำไปเป็นโปสเตอร์ขององค์การสหประชาชาติเพื่อต่อต้านการเหยียดสีผิวและการทำร้ายเด็ก มีการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ขึ้นในนาม ‘เจ้าชายน้อย’ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม การศึกษา และดาราศาสตร์ รวมถึงหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือเด็กที่เจ็บป่วยขั้นรุนแรงและอยากทำความฝันให้เป็นจริง” 

คำพูดของอาจารย์ชี้ให้เราเห็นถึงพลังของหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ยังประคองแสงเทียนแห่งความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะรูปร่างหน้าตาหรือภาษาใดมา 77 ปี จวบจนในห่าฝนของความโกลาหลของปัจจุบัน 

มันเป็นพลังที่ให้ความหวังกับเราอย่างเปี่ยมล้น

 ไปปักหมุดรอวันนิทรรศการเปิดอีกครั้งพร้อมๆ กันที่ Facebook : พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

ภาพ : เดชาภิวัชร์ นพมิตร

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร