หากใครเคยได้นั่งรถผ่านตรงข้ามโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง คงจะสังเกตบ้างว่ามีตึกลายแผนที่โบราณสีขาว-น้ำเงินตระหง่านอยู่

“ลงทุนขนาดนี้ ใครจะชอบตึกลื้อเหรอ” อากงเพื่อนบ้านพูด ไม่รู้ว่ากำลังปรามาสหรือถามด้วยความสงสัยจากใจจริงกันแน่

The Kheha : เพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

แม้ดูจะแปลกตาชาวบ้านแถวนั้นบ้าง แต่ ‘The Kheha’ (เดอะ เคหา) ที่พักนักท่องเที่ยวและร้านอาหารที่อดีตเป็นธนาคารนี้ ก็สร้างมาจากแพสชันในศิลปะของผู้เป็นเจ้าของร้าน อ้อย-อินทิรา ทัพวงศ์ และการร่วมมือออกแบบ ร่วมใจเพนต์ผนังทั้งภายนอก-ภายในของแก๊งเพื่อนคณะมัณฑนศิลป์วัย (กำลังจะ) เกษียณ

เราเห็นกระบวนการก่อร่างของตึกนี้มาแต่ไหนแต่ไร ด้วยพ่อก็เป็นหนึ่งในแก๊งศิลปินที่ว่า

“วันนี้ไปไหน”

“ไปร้าน” พ่อตอบประโยคที่เราคุ้นเคยมาร่วมปี ถึงจะเหนื่อย แต่แน่นอนว่าทุกคนสนุกกับการไปเพนต์ผนังกับเพื่อน

ไม่ง่ายเลยที่ตึกธนาคารยุค 80 จะปรับฟังก์ชันภายใต้ข้อกำหนดยิบย่อยได้อย่างดี ไม่ง่ายเลยที่จะนำศิลปะหลายสไตล์ของคนร่วมสิบมารวมกันให้ลงตัวได้ และไม่ง่ายอีกเช่นกันที่จะเริ่มเปิดทำการภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ควรค่าที่อย่างยิ่งที่จะนำเบื้องหลังเรื่องราวทั้งหมดนี้มาเล่า

The Kheha ร้านอาหารและที่พักย่านบำรุงเมือง ของเพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

ออกเรือสำเภา

อินทิรา เจ้าของ The Kheha เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ ทำงานอยู่ที่แบรนด์เสื้อผ้าแถวหน้าของเมืองไทยมานาน 40 ปี เธอเคยเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถาบันที่ตนเองเรียนจบมาด้วย

อินทิรามีพื้นเพเป็นคนบางลำพู ย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยเกสต์เฮาส์-โฮสเทลมากมายให้เห็นจนชินตา ด้วยความเป็นนักเรียนศิลปะ เธอคิดเงียบ ๆ ว่า ถ้านักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้สัมผัสการถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านงานศิลปะก็คงดี ประจวบเหมาะกับที่ทำเสื้อผ้ามาถึงจุดอิ่มตัว เธอก็คิดอยากทำอะไรที่อยู่ถาวร จับต้องได้ สร้างสรรค์ และแสดงถึงความคิดของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ความคิดจะทำที่พักนักท่องเที่ยวจึงแล่นเข้ามาในหัว

The Kheha ร้านอาหารและที่พักย่านบำรุงเมือง ของเพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

“เราเห็นแบบไทยจ๋าไปแล้ว หรือไม่ก็ตะวันตก เป็นโรงแรมหรูหราไปเลย เราก็อยากหาอะไรที่มันมีความสวยงามของศิลปะไทยและตะวันตกมารวมกันอย่างสวยงาม” เจ้าของร้านในลุคเสื้อคอเต่าคิดฝัน “อยากให้เป็นที่รวมคนที่ชอบงานศิลปะ ชอบท่องเที่ยว เป็นที่ของคนรุ่นใหม่ที่ทั้งโมเดิร์นและชอบความเป็นไทย”

‘เพนต์ตึกเป็นแผนที่’ เป็นไอเดียเริ่มต้นของโปรเจกต์ สำหรับเธอ แผนที่สื่อถึงการเดินทางของนักเดินทางทั่วทุกมุมโลก เธออยากให้ตึกของเธอมีลายแผนที่เดินเรือสมัยโบราณวาดไว้ ส่วนภายในตึกก็เป็นภาพวาดตามธีมตะวันออกพบตะวันตกโดยแก๊งเพื่อนคณะมัณฑนศิลป์

หลังจากที่วนหาตึกเหมาะ ๆ ในถิ่นกำเนิดอย่างบางลำพูอยู่หลายรอบแล้วไม่พบจนเกือบถอดใจ เธอก็มาพบกับตึกที่ต้องตาอย่างจังเข้าที่ย่านบำรุงเมือง

The Kheha ร้านอาหารและที่พักย่านบำรุงเมือง ของเพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

“โอ้ว้าว! ตึกเก่า ทรงสวยว่ะ!” อินทิราอุทาน แล้วภาพแผนที่โลกในหัวก็ถูกทาบลงบนตึกนั้นโดยอัตโนมัติ “มันทั้งอยู่สามแยก ทั้งอยู่ตรงข้ามโรงพยาบาล ที่จอดรถไม่มี แต่เราไม่ได้คิดเรื่องฮวงจุ้ยหรืออุปสรรคอะไรเลย เราคิดแค่ว่าถ้าวาดต้องเจ๋งแน่”

ก่อนหน้านั้นเธอได้เกริ่นถึงโปรเจกต์ตามใจตัวเองนี้กับรุ่นพี่คนหนึ่งไว้ว่า หากมีโอกาสได้ทำเข้าจริง ๆ ก็อยากให้รุ่นพี่คนนี้เป็นคนลงมือแปลงโฉมตึกให้ โชคดีที่เมื่อได้เห็นตึกที่อินทิราเล็งไว้ เขาก็ตอบรับทำสมใจ รุ่นพี่คนนั้นคือ สมชาย จงแสง ดีไซเนอร์จาก Deca Atelier และศิลปินศิลปาธร สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์คนแรกของประเทศ

“เราก็เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกันที่มัณฑนศิลป์ แล้วอ้อยเขาก็ทำดีไซน์ ทำแฟชั่น เพราะฉะนั้นไอ้เรื่องแพสชันศิลปะมันไม่ต้องคุยแล้วล่ะ เขามีของเขาอยู่แล้ว” สมชายบอกถึงเหตุผลที่ตัดสินใจรับงานนี้ “แล้วอ้อยเขาก็มาแบบง่ายๆ เราไม่เกร็งกับตัวเขา”

เมื่อได้ฤกษ์เริ่มคิดงาน อินทิราก็เริ่มคิดถึงภาพวาดภายในที่เธออยากให้เพื่อน ๆ มาช่วยวาด

“เราไม่คิดถึงคนอื่นเลย เรานึกถึงไอ้เพื่อนที่เราสนิท จะได้ขอร้องให้มาช่วยกันง่ายขึ้น” เธอหัวเราะลั่น “แต่ละคนมีศักยภาพในแนวของตัวเอง คนนี้เก่งด้านเพนต์เนี้ยบมาก อีกคนเพนต์แบบเป็น Abstract อีกคนเพนต์ลายไทย มันก็มีหลากหลาย เลยมาปรึกษาพี่สมชายว่า พี่ ถ้ามันเป็นหลายแนวจะอยู่รวมกันได้มั้ย”

The Kheha : เพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

‘Less is a bore’

แฟชั่นดีไซเนอร์อารมณ์ดีอย่างอินทิราไม่ชอบความมินิมอล เธอเป็นคนชอบเอาอะไรเยอะ ๆ มาอยู่ด้วยกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งงานยาก ๆ ตรงนี้จะตกเป็นหน้าที่ของสมชายในการจัดวางทุกอย่างเข้าด้วยกัน

“ปกติเราต้องคิดเองทั้งหมด แต่อันนี้เราเอาสิ่งที่เขามีแพสชันมาทำ มีเพื่อนของเขามาร่วมกันวาดรูป คิดในแง่ของการทำงานมันก็สนุกเนอะ” แม้จะยาก แต่สมชายก็ดูจะเอ็นจอยไม่แพ้กัน

The Kheha : เพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

แปลงตึกธนาคารเป็นที่พำนัก

ดั้งเดิมทีเดียวที่ตั้งของตึกนี้เคยเป็นตึกแถว 3 ห้อง จากนั้นก็ทุบสร้างใหม่เป็นตึกนี้ที่อายุราว 40 ปี ซึ่งเคยใช้เป็นบริษัทเงินทุน และเปลี่ยนมาเป็นธนาคารธนชาตตามลำดับ

สมชายเล่าว่าถนนสวนมะลินี้เป็นย่านธุรกิจใหม่ โดยทั่วไป รอบ ๆ จะเป็นตึกแถวขายเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน เป็นบริษัทของคนจีน ตึกนี้จึงดูแปลกและสมัยใหม่เมื่อเทียบกับตึกอื่น ๆ ในละแวก

“Space เนี่ย มันต้องมี Spirit นะ” สมชายเริ่มเล่าถึงความยากของงานชิ้นนี้ เมื่อสิ่งที่อินทิราอยากได้ไม่ใช่แค่ดีไซน์เท่านั้น แต่เธอต้องการงานศิลปะด้วย “ถ้าเราได้ตึกเก่าย่านรัตนโกสินทร์มา มันจะมี Volumn ของ Space ที่เหมาะ แค่เราใส่อะไรไปนิด ๆ Spirit มันก็จะได้เลย แต่เมื่อเป็นตึกสมัยใหม่ยุค 80 ความรู้สึกก็จะเป็นอีกแบบ”

อย่างที่เคยเห็นกัน ตึกธนาคารที่เก่าหน่อยจะมีความแกรนด์ เมื่อเดินเข้าประตูไปจะพบกับโถงฝ้าสูงแบบ Double Height ซึ่งความแกรนด์นี้ก็ไม่ได้เป็นผลดีเสียทุกครั้งไป สำหรับสมชาย ที่พักควรมีความ Cozy แต่โถงใหญ่ที่นี่ทำให้ตึกนี้ดูคล้ายโชว์รูม โดยการลดทอนความโอ่อ่านี้ก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน

“ปกติผมจะใช้สถาปัตยกรรมซ้อนเข้าไปอีกทีหนึ่ง แต่อันนี้มันทำไม่ได้ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง วิธีแก้ก็คือ Tone Down มันลงมา เช่น สีเข้มขึ้น ฝ้าลดลง ให้ความรู้สึกมันกระชับขึ้นครับ แล้วก็ทำ Space ที่ใหญ่ให้ Borderless (ไร้ขอบเขต) ซอยแพตเทิร์นกระเบื้องบนพื้นและผนัง อย่าให้เห็นรูปทรงของ Space ชัดเจน”

“อย่างผนังห้องนี้นะครับ จริง ๆ ห้องมันอยู่แค่นี้ แต่เราก็ดึงผนังสีดำนี่ออกไปอีก เพื่อลดความใหญ่ของ Space ข้างล่างลง” สมชายชี้ผนังห้องชั้นลอยที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่ให้ดู “แล้วก็ได้เรื่องความเป็นส่วนตัวของห้องนี้ด้วย พอดึงผนังออกไป คนนั่งกินข้าวข้างล่างก็มองไม่เห็นห้องนี้”

The Kheha : เพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

จริงอย่างที่ผู้ออกแบบตั้งใจ พอดึงผนังออกไป เราก็รู้สึกว่าห้องเงียบสงบและเป็นส่วนตัวพอจะใช้เป็นห้องประชุมได้เลย

นอกจากนั้นยังมีความยากอีก 3 อย่าง 

ยากแรกคือความเป็นสามเหลี่ยมของตึก ทำให้ลำบากในการซอยห้องพักเป็นรูปทรงที่ตอบโจทย์

ยากที่สองคือความแบนของตึกสำนักงาน ทำให้ห้องออกมายังไม่ลงตัวเท่าที่คิด Volumn ของ Space ยังไม่ค่อยไปด้วยกันกับงานเพนต์ของเพื่อน ๆ ตามที่ตั้งใจไว้

ยากที่สามคือเรื่องข้อกำหนดของการทำห้องพักให้เช่าชั่วคราว ซึ่งมีเรื่องทางหนีไฟที่ต้องอยู่ด้านหน้า และเรื่องการห้ามยื่นอะไรออกมานอกถนนตามราชกิจจานุเบกษา จึงต้องย้ายคอมเพรสเซอร์แอร์มาไว้ด้านหน้า และทำฟาซาดตึกเพื่อลดความเป็นโชว์รูมไม่ได้

แม้ด้านดีไซน์จะยังไม่เต็มร้อย ถึงอย่างนั้นอินทิราและสมชายก็พอใจในแง่ของการเป็นที่พักที่มีจำนวนเตียงเพียงพอ มีห้องหลายแบบให้เลือกสรร ทั้งห้องนอนรวมกันมีเตียงสองชั้น สำหรับชาวแบ็กแพ็กที่อยากหาที่นอนง่าย ๆ และห้องเดี่ยวที่มีห้องน้ำในตัว สำหรับผู้ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

“งานดีไซน์ที่ต้องตอบโจทย์ก็คงเป็นหมดนั่นแหละ ต้องปรับให้ได้ตามปัจจัยแวดล้อม” แฟชั่นดีไซเนอร์ให้ความเห็น “อย่างเวลาเราออกแบบเสื้อผ้า เราอยากให้มีตรงนี้ ๆ หน่อย มันก็ไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่าติดอันนี้ไปแล้วราคาแพง ติดอันนี้ลูกค้าอาจจะไม่เก็ต มีอยู่แล้ว เพราะเราไม่ใช่ Pure Art มันต้องประกอบด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง”

The Kheha : เพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร
The Kheha : เพื่อนศิลปินวัยเก๋าร่วมใจเปลี่ยนตึกธนาคารยุค 80 เป็นที่พัก-ร้านอาหาร

จับแพะชนแกะ จับเยอะชนแยะ

เจ้าของโปรเจกต์ตั้ง ‘ความเป็นไทยที่ไม่ใช่ไทยจ๋า มีความเป็นไทยผสมกับตะวันตก’ เป็นโจทย์ให้กับเพื่อน ๆ และรุ่นน้องมัณฑนศิลป์อีก 3 คนที่มาช่วยงาน โดยมีพ่อของเรา ตั้ง-ณัฐพงษ์ เรืองเวส ผู้เป็น Interior Designer เป็นที่ปรึกษาเรื่องหาตัวเพื่อนที่มีสไตล์เหมาะ ๆ มาวาด เรื่องเลือกรูปวาดให้ตรงธีม และเป็นผู้ร่วมวาดเองด้วยอีก 1 คน

“ประเทศไทยนี่มองได้หลายมุมนะ แต่ส่วนตัวเรามองความเป็นไทยในแง่ของความสนุก สดชื่นเฮฮา คาดการณ์ไม่ได้ มากกว่าไทยประเพณี ก็เลยคิดว่าดีแล้วที่มีใครต่อใครมาช่วยกันทำให้ Space สนุก”

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

ตามที่ได้บอกไป ตึกนี้มีลักษณะ Space บางอย่างที่เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นโถงทางเข้าที่ใหญ่โต หรือชั้นอื่น ๆ ที่ฝ้าเตี้ยมาก ๆ เพราะเคยเป็นสำนักงานมาก่อน ดังนั้น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ดีไซเนอร์หลักอย่างสมชายจะต้องทำ คือพิจารณาว่างานของใครมีคาแรกเตอร์เหมาะจะอยู่ใน Space แบบไหนกันบ้าง

“อย่างจ๊วด ภาพเขาไม่ต้องเป็นห้องก็ได้ ภาพเขาดูทันสมัย เป็นกึ่ง ๆ กราฟฟิตี้ เหมาะจะอยู่ใน Space ที่มัน Borderless” สมชายวิเคราะห์ให้ฟัง งานของ จ๊วด-วรเศรษฐ์ นพอภิรักษ์กุล คือภาพคนที่อยู่บริเวณชั้นล่าง

“ส่วนอันนี้ถ้าไป Borderless มันคงไม่ได้ มันต้องเป็นห้องจบ” สมชายพูดพลางผายมือไปที่ภาพวาดแนวจิตรกรรมฝาผนังของ ต๊อก-ทศพร แสวงการณ์ ในห้องที่เรานั่งคุยกันอยู่ “อย่าง อภิชัย วิจิตรปิยกุล เขาเป็นคนเขียนสวย เขียนเล็ก งานเขาต้องอยู่ในพื้นที่ที่อยู่ได้ ถ้าเราเอางานเขาไปลงในพื้นที่ใหญ่ ๆ อย่างงานจ๊วดมันก็จะหาย มองไม่เห็น”

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

“บางทีก็มีถามกันขำ ๆ ว่า ทำไมฉันไม่ได้มีเขียนอยู่ตรงนั้นตรงนี้บ้าง!” อินทิราเม้าท์เพื่อนออกรส ในที่สุดแล้วก็มีห้องพักทั้งหมด 8 ห้อง ได้แก่ ห้องจิตรกรรม ห้องพวงมาลัย ห้องดอกไม้ไทย ห้องดอกไม้ขาว ห้องลายสักไทย ห้องท้องร่องสวน ห้องลายสักไทย ห้องลายรดน้ำประยุกต์ และห้องลายไทยสตูดิโอ

แล้วก็มาถึงส่วนสำคัญที่อินทิราฝันไว้ตั้งแต่ตอนแรก คือแผนที่ภายนอกอาคารโดยเพื่อนชื่อ ‘สุทิน’ โดยใช้เป็นแผนที่โบราณยุคที่ชาวตะวันตกเดินทางล่าอาณานิคม วาดเป็นลายเส้นและมีภาพเรือสำเภาในแผนที่

“สีที่ใช้เป็นสีที่บอกคาแรกเตอร์ทั้งตะวันตกและตะวันออก เพราะตอนทำคอนเซ็ปต์เรานึกถึงเครื่องลายครามของจีน ของฝรั่ง ที่เป็นสีไวท์-บลู” สมชายบรรยาย

การเพนต์ภายนอกนี้เป็นส่วนที่เหนื่อยที่สุดของโปรเจกต์ สุทินและทีมของเขาต้องใช้การตีสเกลเป็นช่อง ๆ แทน เพราะตึกติดถนน ทำให้ใช้การถอยระยะฉายโปรเจกเตอร์เพื่อวาดเหมือนงานอื่น ๆ ไม่ได้ ทั้งยังต้องตั้งนั่งร้านสูงเท่าตึกสี่ชั้น แล้วคลุมสแลนตามกฎของเทศบาล ระหว่างทำจึงต้องเผชิญกับทั้งความร้อน ทั้งฝุ่น และต้องคำนึงถึงความปลอดภัย วาดรูปไปพร้อมกับสลิง 

The Kheha เป็นที่ที่รวมความร่วมมือของเพื่อนหลายต่อหลายคน บางคนไม่ถนัดวาดก็ช่วยทำโลโก้ บางคนก็ช่วยเขียนคำบรรยาย รวมทุกขั้นตอนใช้เวลาทั้งหมดปีกว่า ๆ

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

“การทำงานของที่นี่แตกต่างจากที่อื่น ที่สำคัญคือมัณฑนศิลป์มันคือการออกแบบ ไม่ใช่ Pure Art ด้วย” อินทิราอธิบาย “แล้วมันก็เป็นการทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ถ้าเป็นคนอื่นก็จะเกรงใจ แต่นี่เรามาลำบากด้วยกัน สนุกด้วยกัน เหมือนมานอนคณะ บางคนก็มาจากต่างจังหวัด มานอนที่นี่

“เอาจริง ๆ ถ้าไม่รักกันจริงไม่มีใครทำให้ มันไม่ได้สบาย ตอนวาดก็ยังเจาะ ฝุ่นเยอะ แอร์ก็ยังไม่ได้ติด เหมือนเขียนงานในไซต์ก่อสร้าง ผิดคาแรกเตอร์ของศิลปิน”

ถ้าเธอเทียบการมาเพนต์ผนังด้วยกันกับการ ‘นอนคณะ’ ได้ ถึงจะเหนื่อยหน่อย แต่จะเรียกโปรเจกต์นี้ว่าเป็นการคืนความสดชื่นของวัยเยาว์ก็ไม่ผิด

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

สนุกกับความเป็นไปได้

“ชื่อ The Kheha มาจากลูกชายนะ” อินทิราเผยตอนใกล้จบ

“สามีแต่งกลอนเก่ง ชื่อที่เขาตั้งจะยากมาก เป็นสวรรค์เป็นอะไร มันเพราะแต่มันไม่ใช่ พอลองคิดว่าเป็นที่พักนักเดินทาง ลูกชายก็บอกว่า เคหาไง แปลว่าบ้าน ภาษาอังกฤษก็เขียนสวยนะแม่”

เส้นทางของบ้านหลังนี้ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว หลังจากที่สร้างเสร็จก็เจอกับสถานการณ์โควิด-19 ระลอกแรกปะทะเข้ามาทันที นักเดินทางทั่วทุกมุมโลกมาไม่ได้เหมือนที่คาดไว้ The Kheha ก็ไม่ได้เปิดเต็มทุกฟังก์ชันอย่างที่ตั้งใจ ด้านล่างที่เคยเตรียมไว้เป็นรีเซปชันและ Working Space จึงได้ปรับเป็นร้านอาหาร

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

คอนเซ็ปต์ของการตกแต่งเป็นไทยผสมตะวันตก คอนเซ็ปต์ของอาหารเองก็เช่นกัน โดยเชฟที่มาช่วยทำเมนูออกแบบให้อาหารมีความผสมผสาน อย่างสปาเกตตี้ผัดกะเพรา หรือครัวซองต์กับมัสมั่น ฟังดูไทยแต่ก็มีอะไรใหม่ ๆ เข้าไปด้วย

“มัสมั่นรสชาติเหมือนกินที่บ้านที่แม่เราเคี่ยวเอง แต่ก็ปรุงแต่งอะไรให้มันไปตามคอนเซ็ปต์” อินทิราเล่า ก่อนบอกว่าเมนูเด็ดที่สุดของที่นี่ คือข้าวน้ำพริกกากหมูปลาทูทอดและไข่เจียวมหาศาล (ที่แปลว่าเครื่องเยอะ)

“จากที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นร้านอาหารอย่างสมบูรณ์ พอทำแล้วกลับประสบความสำเร็จ เราก็เลยโชคร้ายในโชคดี โชคดีในโชคร้าย

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

“Space ที่เคยบอกว่าดูกว้างก็เลยโอเค ไม่ต้อง Cozy แล้ว กลายเป็นร้านอาหารที่เพดานโปร่ง นั่งสบาย ลูกค้าไม่รู้สึกอึดอัดเวลามาทาน”

แม้บาร์ด้านบนดาดฟ้าที่ตั้งใจให้เป็นไฮไลต์จะไม่ได้เปิดใช้เพราะสถานการณ์โรคระบาด ห้องพักหลายห้องที่เตรียมไว้ก็เปิดได้บางห้อง แต่ถึงอย่างนั้นอินทิราก็ยังนำพาความคึกคักมาสู่บ้านหลังนี้จนได้ ด้วยการใช้ Space ที่ยังไม่ได้กั้นเป็นห้องชัดเจนมาจัดนิทรรศการศิลปะ

ปี 2021 เราได้มาร่วมงานนิทรรศการ ‘วันศิลป์ พีระศรี’ อยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นอินทิราชวนเพื่อน ๆ ในแวดวงเดียวกันให้นำงานศิลปะเกี่ยวกับอาจารย์ศิลป์มาแสดง ทั้งภาพวาดและประติมากรรม เมื่อวางอยู่ใน Space ที่มีลวดลายฝีมือศิษย์สำนักอาจารย์ฝรั่งแล้วก็ได้บรรยากาศไม่น้อย

“ช่วงที่จัดงานอาจารย์ศิลป์ก็รื้อเมนูที่อาจารย์ชอบขึ้นมาทำ” เจ้าของร้านชาวศิลปากรกล่าว 

“เคยมีเพื่อนของเพื่อนเป็นศิลปินจากนิวยอร์ก มาเช่าพื้นที่เป็นสตูดิโออยู่เป็นเดือน ๆ ด้วยนะ” พื้นที่ที่ว่าคือห้องลายไทย แต่เธอบอกว่า จริง ๆ แล้วทุกชั้นที่มีพื้นที่เปล่า ๆ ใช้เป็นสตูดิโอได้ทั้งหมด “ตอนนี้ก็มีศิลปินจากเยอรมนีกำลังจะมาเหมือนกัน เขาเห็นตึกแล้วมันดึงดูด พอขึ้นไปดูแล้วก็บอกว่าเจ๋งมาก”

“Living in an art space.” อินทิราว่า

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

จากที่คุยกันกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับเรา The Kheha คือความไม่คาดฝัน ตั้งแต่แนวคิดของเพนติ้งที่มาจากมุมมองของอินทิราว่า ประเทศไทยสนุกสนาน คาดการณ์ไม่ได้ มาจนถึงการทำงานที่ต้องแก้ปัญหาระหว่างทางกันไม่ได้พัก และเมื่อเปิดใช้งานก็มีการปรับเปลี่ยนฟังก์ชัน ซึ่งผลที่ออกมาก็ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

ท้ายที่สุด เราจบลงด้วยการช่วยกันระดมสมองว่า ต่อไปที่นี่จะแปลงร่างเป็นอะไรได้อีกบ้าง ซึ่งก็ได้ข้อสรุปหลวม ๆ ว่า The Kheha ต้อนรับทุกคนที่ชอบศิลปะ เห็นคุณค่าของงานที่ทีมงานช่วยกันลงไม้ลงมือและลงใจเต็มร้อย โดยสามารถติดต่อเข้ามาใช้พื้นที่ในตึกที่ยังว่างได้แบบไม่จำกัดว่าจะใช้ทำอะไร อาจจะทำสตูดิโอ จัดสัมมนา จัดเวิร์กชอป หรือหากอยากเช่าดาดฟ้าไปจัดกิจกรรม รับลมชมดาวก็ได้เช่นกัน

ดูเหมือนว่าตึกลายแผนที่โบราณ อดีตตึกธนาคารนี้จะเล่นสนุกได้อีกเยอะ

เบื้องหลังโปรเจกต์ The Kheha กับการรีโนเวต-เพนต์ผนัง ปรับตึกธนาคารให้กลายเป็นที่พักนักท่องเที่ยวของเหล่าศิษย์เก่ามณฑนศิลป์ ศิลปากร

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล