The Cloud x ไทยประกันชีวิต

‘การศึกษา คือแสงสว่างนำทางชีวิตที่ทุกคนมองเห็นได้แม้อยู่ในความมืดมิด’

ปลาย พ.ศ. 2562 ประเทศไทยมีจำนวนผู้พิการทางสายตาเพิ่มขึ้นเป็น 192,502 คน และประมาณการว่ายังมีผู้บกพร่องทางการมองเห็นอีกนับแสนคนที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

 แม้ประเทศไทยจะออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตสำหรับผู้พิการทางสายตา รวมถึงจัดตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในทุกภูมิภาค แต่รู้ไหมว่ามีผู้พิการทางสายตาไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์เข้าถึงระบบการศึกษา และมีผู้พิการทางสายตาเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพ

เพราะขาดความเข้าใจในศักยภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเหล่าผู้พิการทางสายตา ภาพคนตาบอดที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ต้องไปประกอบอาชีพขายลอตเตอรี่ ร้องเพลง และเล่นดนตรีตามทางเท้าหรือสะพานลอย จึงยังคงเป็นภาพจำและความสงสารที่เครืออยู่ในน้ำเสียงของคนทั่วไปเมื่อพูดถึงคนตาบอด

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

ความคิดเหล่านั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้วสำหรับ จูน-เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ หัวเรี่ยวหัวเเรงหลักของ ‘The guidelight’ โครงการที่รู้จักกันดีในการผลักดันความเท่าเทียมทางการศึกษาด้วยการสร้างสื่อการเรียนที่เหมาะสมและเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้พิการทางสายตา อีกทั้งกระชับช่องว่างระหว่างพวกเขากับสังคมให้ใกล้กันมากขึ้น

แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าก่อนที่โครงการนี้จะก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง จูนเองก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่ไม่ได้มองว่าคนตาบอดเป็นเพื่อน แต่พวกเขาเป็นคนที่น่าสงสารและควรได้รับความช่วยเหลือจากสังคม 

ทำไมความคิดนั้นถึงเปลี่ยนไป เกิดการหักเหและรวมตัวกันเป็นแสงนำทางนี้ได้อย่างไร เช้านี้เรามีนัดคลายความสงสัยกับจูนและเพื่อนๆ ถึงจุดเปลี่ยนของความคิด และการเดินทางผ่านตัวกลางที่หลากหลายของแสงนำทางนี้

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

01

การหักเหของแสง

“ตั้งแต่เรียนมาเราไม่เคยมีเพื่อนตาบอดเลย พอมีเพื่อนตาบอดคนแรก เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาเป็นเพื่อน แค่รู้สึกว่าอยากช่วยเหลือเขา อาจเป็นเพราะสื่อที่เราเห็น เลยทำให้เรารู้สึกว่าการให้คนตาบอด มันน่าจะเป็นอะไรที่ดี” จูนเริ่มต้นเล่าถึงความรู้สึกแรกเมื่อได้เป็นเพื่อนกับคนตาบอด 

เพราะความไม่คุ้นเคยกับการมีเพื่อนเป็นผู้พิการทางสายตา บวกความชินตากับภาพลักษณ์ที่น่าสงสารของคนตาบอดผ่านสื่อมาโดยตลอด ทำให้จูนไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติกับพวกเขาอย่างไร

หลังจากผ่านการใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนผู้พิการทางสายตามาหลายปีในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะกับเพื่อนรุ่นพี่อย่าง นิว-นุวัตร ตาตุ ทำให้จูนเรียนรู้ว่าคนตาบอดก็เหมือนกับคนทั่วไป มีเพียงสิ่งเดียวที่แตกต่างกัน นั่นคือการรับรู้ผ่านการมอง 

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

“เขาทำได้ทุกอย่างเหมือนเราเลย บางเรื่องทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ เช่นเรื่องเรียน พี่นิวเรียนเก่งกว่าจูนมาก จริงๆ พี่นิวควรจะจบก่อนจูนหนึ่งปี แต่เพราะปีนั้นพี่นิวไม่มีใครมาช่วยอ่านหนังสือให้ มันเลยทำให้เขาสะดุด”

นั่นเป็นครั้งแรกที่จูนเริ่มสังเกตว่าการเรียนแบบรอให้คนมาอ่านหนังสือแล้วอัดเป็นเสียงไว้ฟังนั้น เป็นการเรียนที่ไม่เหมาะสมกับคนตาบอดสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับการเรียนกฎหมาย ที่มีทั้งมาตราและตำราหลายเล่มต้องท่องจำและทำความเข้าใจ 

“หลังเรียนจบได้หนึ่งปี จูนได้มีโอกาสอ่านหนังสือให้พี่นิวอีกครั้ง คราวนี้อ่านเพื่อสอบเข้าเรียนต่อด้านกฎหมายในระดับปริญญาโท เพราะพี่นิวอยากเป็นอาจารย์ ผลคือพี่นิวสอบผ่าน”

นอกจากความรู้สึกยินดีไปกับความสำเร็จของเพื่อน จูนรู้ตัวทันทีว่ามุมมองของตัวเองได้เปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่วันนั้น 

“เราไม่ได้มองคนตาบอดเป็นคนที่เราต้องให้อีกต่อไป แต่เรามองว่าเขาเป็นเพื่อน เราถึงอยากช่วยเขา เพราะเรารู้ว่าการเรียนมันยาก เราก็พยายามจนสำเร็จ แต่คนตาบอดหลายคนอย่างพี่นิว แค่พยายามอย่างเดียวมันไม่พอ เขาต้องการอะไรบางอย่างที่นอกเหนือจากความพยายามของเขา นั่นคือสื่อการเรียนที่เหมาะสมและง่ายต่อการเข้าถึง”

02

การรวมตัวของแสง

เพราะรู้ว่าแค่แพสชันไม่มีพลังมากพอจะเปลี่ยนแปลงอะไร จูนจึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในหลักสูตร Social Entrepreneurship เพื่อเพิ่มความรู้และทักษะเชิงปฏิบัติในด้านธุรกิจเพื่อสังคม

ในระหว่างนั้น จูนก็มี ป่าน-ธัญชนก จิระภากรณ์ ที่คอยสนับสนุนความตั้งใจนี้มาตั้งแต่ต้น รวมถึงนิวที่ให้ข้อมูลวงในเรื่องของคนพิการ และเป็นคนกลางในการสื่อสารระหว่างทีมกับน้องๆ คนตาบอด

 ไม่นานจูนก็ได้พบกับ นุ้ย-พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิอโชก้า (ประเทศไทย) และหัวเรือใหญ่ของโครงการ ‘School of Changemakers’ การพบกันครั้งนั้นทำให้จูนเข้าใกล้เป้าหมายที่สร้างเดอะไกด์ไลต์เข้าไปอีกขั้น

“พี่นุ้ยเขามาเป็นอาจารย์พิเศษที่ มศว ตอนนั้นเราตัดสินใจเดินเข้าไปขอคำปรึกษา พี่เขาบอกว่า ในบรรดาเด็กทั้งหมด จูนดูไม่มีแววเลย (หัวเราะ) แต่เราขอคุยกับพี่นุ้ยนอกรอบเพื่อบอกว่าเราอยากทำโครงการนี้จริงๆ แล้วตอนนั้นเราก็ออกจากงานมาเพื่อทำสิ่งนี้”

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

หลังจากก้าวเข้าสู่รั้วของ School of Changemakers คำแนะนำแรกที่จูนได้รับคือการออกไปค้นคว้าข้อมูลเชิงลึก เพราะข้อมูลที่จูนมีอยู่ในมือไม่เพียงพอสำหรับการสร้างความเปลี่ยนแปลง

“เราไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะที่นั่นมีจำนวนนักศึกษาพิการเยอะที่สุดแล้วในเวลานั้น ไปคุยกับน้องๆ ทั้งลงไปสัมภาษณ์ โทรไปสัมภาษณ์ เพื่อเก็บข้อมูลว่าพวกเขามีปัญหาอะไรในเรื่องการเรียนบ้าง พอได้ข้อมูลมา เราก็วิเคราะห์ปัญหาและเริ่มออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์เขามากที่สุด”

นอกจากนี้ จูนยังได้เรียนรู้ในเรื่องของแบรนดิ้งผ่านการให้คำปรึกษาจาก บี๋-ปรารถนา จริยวิลาศกุล นักสร้างแบรนด์อิสระแห่ง be positive plus

“พี่บี๋เคยสอนจูนว่า สิ่งที่เราทำมันเป็น Unmet Need นั่นคือสิ่งที่เป็นปัญหาจริงๆ มันยังไม่มีใครลงมือ และเราเป็นคนที่มีสกิลพอจะทำสิ่งนั้นได้”

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

03

Guide to Know

รู้แพสชัน รู้ Know-how รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง (มั้ง)

จูนคิดว่าตนมีความพร้อมทั้งแรงผลักดันและองค์ความรู้แล้วในระดับหนึ่ง จึงขอลงสนามจริงเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนตาบอดในเรื่องการขาดแคลนสื่อการเรียนที่ใช้ในการอ่าน 

ในปีแรก จูนเริ่มต้นจากการจัดงานทอล์กตามมหาวิทยาลัย เพื่อหาอาสาสมัครมาช่วยกันพิมพ์ข้อมูลจากหนังสือและชีตสรุปวิชาเรียน ตามที่นักศึกษาตาบอดจำเป็นต้องใช้ จากนั้นอัปโหลดสู่เว็บไซต์ The guidelight (theguide-light.com) เพื่อให้ผู้เรียนดาวน์โหลด และใช้ Screen Reader หรือโปรแกรมอ่านออกเสียงบนหน้าจอในการอ่าน และพิมพ์ข้อมูลความรู้ที่ได้ลงในโปรแกรม Microsoft Word เพื่อส่งเป็นการบ้านให้กับทางโครงการ

ต่อมาภายหลังเดอะไกด์ไลต์ร่วมกับทางสำนักหอสมุดเบญญาลัยทำหนังสือเสียงระบบ DAISY (Digital Accessible Information System) ซึ่งเป็นหนังสือเสียงที่วางระบบไว้ให้ผู้พิการทางสายตาอ่านได้สะดวกที่สุด

“DAISY คือหนังสือเสียงครับ มันไม่ใช่หนังสือเสียงแบบ MP3 ธรรมดา จริงๆ DAISY ไม่ได้เข้าถึงแค่คนตาบอด แต่สำหรับคนพิการประเภทอื่นด้วย คนตาดีหรือคนแก่แล้วอ่านหนังสือไม่ได้ ก็เข้ามาใช้งาน DAISY ได้ นอกจากมีส่วนประกอบเป็นเสียงแล้ว เขายังทำให้มันเลื่อนไปเป็นประโยค บุ๊กมาร์กได้เหมือนหนังสือทั่วไป ซึ่งปกติ MP3 จะต้องฟังไปเรื่อยๆ ถ้าจะกรอมันจะคิดเป็นวินาที อย่างโปรแกรม Winamp สมัยก่อนต้องกรอไปทีละห้าวินาที แต่ DAISY เขาทำให้มันข้ามไปทีละประโยค Heading และหน้าได้” แคป-วรพงษ์ พงษ์สีมา เพื่อนผู้พิการทางสายตาและหนึ่งในผู้ประสานงานของ The guidelight เล่าให้ฟัง

04

Guide to Work

ย่างเข้าปีที่ 2 จูนพบว่าการจัดทำสื่อการเรียนแบบออนไลน์ตอบโจทย์ได้แค่เรื่องการเข้าถึงสื่อที่ง่ายขึ้นสำหรับผู้เรียนที่ตาบอด แต่ไม่ได้ทำให้ผลการเรียนของพวกเขาดีขึ้น

“เรานั่งจับเข่าคุยกับน้องเลยได้รู้ว่า น้องพิการจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก คือแบบพี่นิวที่เขามีแรงบันดาลใจของเขาอยู่แล้ว ขาดแค่การเข้าถึงสื่ออย่างเดียว กับอีกกลุ่มหนึ่ง คือเขาไม่ได้มีแรงบันดาลใจมากพอที่ขวนขวายอ่านด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของค่าใช้จ่ายและคำพูดจากคนรอบข้าง”

ทุกคนในทีม The guidelight ช่วยมองหาทางออกอื่นให้กับพวกเขา ทั้งทำ ‘Toolkit’ หนังสือเล่มเล็กที่ช่วยสร้างความเข้าใจให้อาจารย์ในการปรับการสอนให้เหมาะสมกับคนตาบอด หรือแม้แต่จัดเวิร์กช็อปจับคู่กับอาสาสมัครเพื่อฝึกภาษาอังกฤษ แต่ความคิดเหล่านั้นถูกพับเก็บไป เพราะวัดผลอะไรไม่ได้

จนกระทั่งจูนได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ คุณอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation Foundation) ซึ่งกำลังจัดทำโครงการจับคู่บริษัทให้กับคนพิการในการจ้างเหมาบริการ ตามมาตรา 35 ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 

จูนคิดว่านี่เป็นทางออกที่ดีสำหรับปัญหาที่น้องๆ ของพวกเขากำลังเผชิญอยู่ จึงเสนอโครงการ ‘Guidelight the Intern’ ให้กับทางบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)

 เอ-เฉลิมเกียรติ วรรณประภา หนึ่งในทีมงาน The guidelight ผู้รับช่วงต่อจากจูนในการดูแลโครงการ Guidelight the Intern เล่าให้เราฟังว่า โดยปกติ น้องๆ ในโครงการ The guidelight ต้องเข้าเรียนเพื่อพิมพ์สิ่งที่ได้เรียนรู้ส่งทางโครงการเป็นการบ้านอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าพวกเขามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำสื่อการเรียนเองได้ ทางทีมงานจึงมองว่าพวกเขาน่าจะใช้ความสามารถตรงนี้ให้เกิดประโยชน์กับตัวพวกเขาเองได้มากขึ้น

 “เราจะให้น้องๆ ที่มีความสนใจและตั้งใจเลือกวิชาที่พวกเขาถนัดที่สุดมาสองวิชา จากนั้นเข้าห้องเรียนเพื่ออัดเสียง แล้วมาพิมพ์ข้อมูลที่ได้ แล้วอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์เรา เรียกได้ว่าพวกเขาคือคนตาบอดที่ทำสื่อการเรียนให้รุ่นน้องที่ตาบอดปีถัดไปได้ใช้”

นับเป็นทางออกของปัญหาที่สร้างสรรค์ น้องๆ ผู้พิการทางสายตาที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินจากทางบริษัทเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท เพราะเป็นการจ้างเหมาเพื่อทำสื่อการเรียน ทั้งยังเป็นแรงจูงใจเล็กๆ ในการเรียนหนังสือ แต่เหนือสิ่งอื่นใด พวกเขาจะเกิดความภูมิใจในตัวเอง เพราะเขาสามารถหาเลี้ยงตนเองได้แม้จะอยู่ในสภาพที่ไร้การมองเห็น

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย
The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

05

Guide to Skills

เพราะความรู้ไม่ได้มีอยู่แค่ในตำรา ทักษะการใช้ชีวิตและการเข้าสังคมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาเหล่าผู้พิการทางสายตาออกไปเรียนรู้โลกภายนอกและอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้ 

ผ่านพ้นช่วงเวลาที่แสนสาหัส เข้าสู่ปีที่ 3 จูนและทีมงานมองว่า ถึงเวลาแล้วที่น้องๆ ผู้พิการทางสายตาจะต้องออกไปเรียนรู้และทำกิจกรรมสานสัมพันธ์กับผู้คนในสังคมนอกห้องเรียนบ้าง

“เราจะชวนพวกเขาไปในพื้นที่ที่เปิดรับความต่างของทุกฝ่ายก่อน เมื่อเขามาเจอกัน เขาจะรู้สึกว่าที่นั่นคือคอมฟอร์ตโซน ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาจับตั้งให้คนคอนเนกกัน อย่างกิจกรรมที่ผ่านมาคือเวิร์กช็อปที่ The guidelight จัดร่วมกับ Thailand Climate CoLab และอาสากล้าใหม่ เราเปิดพื้นที่ให้คนตาบอดกับคนทั่วไปมาช่วยกันออกแบบวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกัน

“การเป็นเพื่อนระหว่างคนทั่วไปกับคนพิการมันเหมือนมีกำแพงบางอย่าง อย่างผมที่รู้จักกับแคปครั้งแรก ก็รู้สึกแปลกๆ เวลาไปไหนมาไหนโดยที่มีคนตาบอดอยู่ในกลุ่ม ผมจะทำตัวไม่ถูก เพราะไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไรกับเขา พอได้ทำกิจกรรมในมหา’ลัยมากขึ้น เราก็เริ่มเข้าใจกันมากขึ้น กำแพงที่ว่ามันก็หายไป” เอพูดในมุมมองของคนทั่วไป พลางหันไปยิ้มให้แคป 

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย
The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

06

Guide to Future

ตบเท้าก้าวสู่ปีที่ 4 แบบเต็มตัว The guidelight มี ‘Vulcan’ เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายทั้งความสามารถของพวกเขา และน้องๆ ในโครงการ 

 Vulcan อาจไม่ใช่คำที่คุ้นหูสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับใครที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงเทคโนโลยีจะทราบดีว่า นี่เป็นโครงการขั้นทดลองของทีม Vulcan Coalition ที่ตั้งใจจับคู่ประสาทสัมผัสของผู้พิการเข้ากับการสร้างชุดข้อมูล (Data Set) ให้กับแบบจำลองของปัญญาประดิษฐ์ (AI Model)

จากการวิจัยพบว่า สมองของผู้พิการส่วนใหญ่มีพัฒนาการพิเศษเพื่อชดเชยประสาทสัมผัสที่พิการไป เช่น ผู้พิการทางสายตาจะมีพัฒนาการของประสาทสัมผัสด้านได้ยินดีกว่าคนทั่วไป เพราะมีการใช้งานสมองส่วนศูนย์การได้ยิน (Auditory Cortex) มากขึ้น เพื่อชดเชยการใช้งานเปลือกสมองส่วนการมองเห็น ( Visual Cortex) ที่ลดลง

เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยี AI ในเมืองไทยประสบปัญหาขาดแคลนชุดข้อมูลที่ดีและเหมาะสม สำหรับใช้เป็นเทรนโมเดลการดึงความสามารถที่พิเศษกว่าคนทั่วไปของผู้พิการมาประยุกต์ใช้เข้ากับงานด้านนี้ จึงกลายเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่สร้างประโยชน์ให้กับหลายฝ่าย

ปีนี้ The guidelight จึงร่วมมือกับบริษัท เอวา แอดไวเซอรี่ ก่อตั้งบริษัท Vulcan Coalition เพื่อเสริมทักษะงานในอนาคตให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา 23 คน และน้องๆ ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวอีก 7 คน พวกเขาทั้งหมดจะมาทำหน้าที่เป็น ‘AI Data Labeling’ คอยจัดประเภทข้อมูลเข้าแพลตฟอร์มกลาง

“เราจะมีข้อมูลให้สองแบบ แบบแรกคือเสียงที่เราเอามาจากหนังสือเสียงที่มีเสียงคนพูด อีกแบบคือ Text ของหนังสือเล่มนั้นที่มีอยู่แล้ว น้องตาบอดของเรามีหน้าที่ฟังและ Matching กัน ส่วนน้องที่นั่งวีลแชร์ก็ตรวจคำผิดให้น้องตาบอด เป็น Editor ทำให้งานน้องตาบอดมันดีขึ้น

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย
The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

“ข้อมูลเสียงที่ได้ เราจะนำมาตัดเป็นประโยค แล้วนำเข้าระบบเพื่อส่งเข้าสู่ขั้นตอนเทรน AI แบบ Text 2 Speech ที่สามารถอ่านหนังสือเสียงได้เลย และใช้เวลาในการอ่านน้อยมาก”

เรานั่งฟังจูนเล่า พลางจินตนาการตามไปว่า หากเรานำ AI มหัศจรรย์นี้มาอ่านหนังสือ Harry Potter ให้คนตาบอดฟังแทนคนทั่วไปที่ปกติอ่านได้แค่ 50 หน้า เสียงก็ดร็อปลงเพราะความเหนื่อยแล้ว คงทำให้คนตาบอดเข้าถึงหนังสือได้อย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไปยิ่งขึ้น

จูนเล่าให้เราฟังถึงข้อดีของโครงการต่อยอดนี้ต่อว่า “จากเดิมน้องๆ จะได้เงินเก้าพันบาทต่อเดือน แต่ทำงานจบแล้วมันอาจจะจบ เขาไม่ได้มีอะไรเป็น Asset ของเขา พอมาเป็นโปรเจกต์นี้เขาได้เก้าพันบาทเท่าเดิมเลย แต่ข้อดีคือเขาได้มีทรัพย์สินเป็นข้อมูลที่เขาจะได้อยู่เรื่อยๆ

“หากทำสำเร็จ มันจะเป็นอีกมิติหนึ่งเลยว่าคนพิการเขามีความเท่าเทียมกับทุกคน เพราะพวกเขาได้ทำงานที่มันเพิ่มคุณค่าและเป็นงานแห่งอนาคตที่มาจากความสามารถของเขาจริงๆ”

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

07

The Brighter Future, Together

ตลอด 1 ชั่วโมงที่ได้ฟังเรื่องราวการเดินทางผ่านตัวกลางที่หลากหลายของเหล่าแสงนำทาง เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขามาไกลมาก จากความตั้งใจแรกที่ต้องการให้ผู้พิการทางสายตาเข้าถึงสื่อการเรียนได้อย่างเท่าเทียม สู่การทลายกำแพงระหว่างคนตาบอดกับคนทั่วไป เพื่อให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และต่อยอดไปถึงการสร้างทักษะการประกอบอาชีพในอนาคตให้กับคนตาบอด

แต่เราก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า นี่ใช่ภาพความเท่าเทียมกันที่ The guidelight อยากเห็นหรือเปล่า

จูนและเพื่อนๆ อีก 2 คนหันมองหน้ากันพร้อมรอยยิ้ม ราวกับแน่ใจว่าคำตอบที่อยู่ในใจคือคำตอบเดียวกัน

“เพิ่งพูดกันเมื่อวานเลยค่ะ น้องแม็กที่เคยทำโครงการกับเราก่อนหน้านี้ แต่ตอนนี้น้องไปอยู่ที่เยอรมนี บอกกับเราว่าเขาอยู่ที่โน่นแล้วรู้สึกพิการน้อยกว่าตอนที่อยู่ไทย

“อาจเพราะมุมมองคนไทย เรามองคนพิการไม่เท่ากัน เช่น Infrastructure ของเรามันไม่ได้เอื้อให้คนพิการทำอะไรได้ด้วยตัวเอง อย่างที่น้องแม็กบอกว่า ตอนที่เขาอยู่เยอรมัน เขาไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง เพราะมันมีเบรลล์บล็อก มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่คิดเผื่อคนอื่น แต่ของเมืองไทยเน้นความช่วยเหลือ การร้องขอ มันเลยทำให้เขาดูพิการมากขึ้นในประเทศนี้” จูนอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้ แม็ก-ศิลปสิทธิ์ ศรีวิชา ผู้พิการทางสายตาที่เคยร่วมกับ The guidelight เพื่อจัดทำหนังสือเสียงให้กับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ รู้สึกแบบนั้น

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

“อย่างบีทีเอสไทยในปัจจุบันถ้าเทียบกับต่างประเทศ ของเราจะเป็นระบบที่เสนอให้ความช่วยเหลือที่เราปฏิเสธไม่ได้ ถ้าเป็นคนตาบอดเข้าบีทีเอสจะต้องมี รปภ. พาไป ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ความช่วยเหลือตรงนี้เป็นแค่ตัวเลือก คนพิการจะร้องขอหรือไม่ก็ได้ เขามีสิทธิเลือกที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระ นั่นคือ Independent Living เขาจะมีเบรลล์บล็อกเดินเข้าสถานีไปยังจุดชำระเงิน แตะบัตร ขึ้นสู่ขบวนรถไฟ และออกจากสถานีได้ด้วยตัวเอง โดยที่มีรปภ. คอยเดินตามรอให้ความช่วยเหลือ แต่ไม่ได้เข้าไปเสนอให้ความช่วยเหลือจนกว่าคนพิการจะร้องขอ อีกที่หนึ่งคือที่เยอรมนี จะไม่มีคนมารอ แต่จะมีจุดประจำที่เจ้าหน้าที่รออยู่แล้ว” แคปกล่าวเสริมด้วยท่าทีสุภาพ

จูนทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า “จริงๆ คนพิการเขามีศักยภาพ สิ่งที่เขาต้องการคือระบบและสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เอื้อให้เขาได้แสดงศักยภาพที่อาจจะต่างจากคนทั่วไป อย่างในมหา’ลัย ระบบทั่วไปอาจไม่ออกแบบมาเพื่อคนพิการ แต่มันมีระบบที่รวมพวกเขาไปด้วย มันก็จะทำให้เขาเรียนได้ดีขึ้น

The Guidelight กลุ่มคนที่ผลักดันความเท่าเทียมให้ผู้พิการทางสายตาด้วยสื่อการเรียนเข้าถึงง่าย

“ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราเอาสตรอว์เบอร์รี่พันธุ์ดีที่สุดมาปลูกในกรุงเทพฯ มันก็ไม่โต เพราะสภาพแวดล้อมมันไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำตอนนี้คือสร้างสภาพแวดล้อมที่คำนึงถึงคนกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางหรือการบริการของธนาคาร ถ้าสิ่งเหล่านี้เอื้อกับเขา เขาก็จะร้องขอความช่วยเหลือน้อยลง และถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ วันนั้นคงเป็นวันที่เราเท่ากัน”

ขอบคุณภาพ : The guidelight

Writer

Avatar

อมราวดี วงศ์สุวรรณ

นักหัดเขียนสายใต้ที่ไม่รังเกียจรอยหมึกที่เปื้อนมือ พึงใจกับการสดับจังหวะการลงน้ำหนักนิ้วมือบนแป้นพิมพ์ และกลิ่นกระดาษบนหน้าหนังสือ

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ