*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

ที่พักเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ในการเดินทางท่องเที่ยว การเลือกที่พักแรมของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป ตามวิถีการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนกัน 

บางคนมองที่พักเป็นเพียงจุดเชื่อมต่อจากจุด A ไปยังจุด B เหมือนในหนังจีนกำลังภายในหรือหนังฝรั่งยุคกลาง ที่จอมยุทธ์และอัศวินจะเข้าไปพักแรมในโรงเตี๊ยมหรือโรงเหล้า เพื่อพักอาศัยค้างคืนระหว่างการเดินทางอันเหน็ดเหนื่อย 

บางคนมองที่พักเป็นจุดหมายปลายทาง สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในสถานะผู้ให้บริการที่คอยเติมเต็มความสุขและความสะดวกสบายในการพักผ่อน

ทุกวันนี้รูปแบบของที่พักเกิดขึ้นหลากหลาย ตอบโจทย์การเดินทางของผู้คนที่ไม่เหมือนกัน ตั้งแต่โรงแรมหรูห้าดาว โรงแรมธุรกิจเครือข่าย โรงแรมชั้นประหยัด โรงแรมแคปซูลตู้นอน บูทีคโฮเทล รีสอร์ต บังกะโล โฮสเทล จนไปถึงการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยของคุณให้เป็นที่พักบนแพลตฟอร์มต่างๆ นิยามเหล่านี้เกิดขึ้นและปรับไปตามสภาพบริบทของสังคม และวิถีการเดินทางท่องเที่ยวของผู้คนที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา 

ทัวร์สถาปัตยกรรม The Grand Budapest Hotel ใน ค.ศ.1932 และ 1968 สะท้อนวิถีชีวิตและรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนไปของคนสองยุค

กาลครั้งหนึ่งมีโรงแรมหรูสไตล์ยุโรปตะวันออกสีชมพูพาสเทลสุดอลังการ ตกแต่งด้วยศิลปะอาร์ตนูโวจากช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ตั้งอยู่บนยอดเขาของเมืองสปาตากอากาศ Nebelsbad ของสาธารณรัฐ Zubrowka แม้สถานประกอบการที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองและโด่งดัง เหล่าชนชั้นสูงและแขกผู้มีฐานะต่างแวะเวียนมาใช้บริการ ก็ไม่อาจต้านทานกาลเวลาและความเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม จนสุดท้ายโรงแรมแห่งนี้ก็เหลือไว้เพียงในความทรงจำ

ทัวร์สถาปัตยกรรม The Grand Budapest Hotel ใน ค.ศ.1932 และ 1968 สะท้อนวิถีชีวิตและรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนไปของคนสองยุค
สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel

ความ ‘เวส แอนเดอร์สัน’

ใช่แล้วครับ ผมกำลังเล่าถึงฉากโรงแรมสุดอลังการบนภูเขาของ The Grand Budapest Hotel (2014) ภาพยนตร์แนวตลก-ดราม่า ที่เขียนและกำกับโดย เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) โรงแรมในจินตนาการ กับควันหลงและกลิ่นอายของอดีตที่ผู้ดูแลโรงแรมพยายามรักษาไว้ 

เป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษที่โรงแรมแห่งนี้ประกอบกิจการอยู่ในสาธารณรัฐสมมติ Zubrowka ทุกรายละเอียดไม่ว่าจะเป็นแบบอักษร ธงชาติ เครื่องแต่งกาย ธนบัตร ปกหนังสือ สมุด พาสปอร์ต หนังสือพิมพ์ ภาพวาด กล่องของร้านขนมท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง ตั๋วรถไฟ รายงานการจับกุมของตำรวจ หรือแสตมป์บนพัสดุ ถูกออกแบบขึ้นเพื่อสร้างโลกเสมือนจริงนี้ขึ้นมา

เสน่ห์ในภาพยนตร์ของแอนเดอร์สันคือวิธีการดำเนินเรื่องของตัวละครที่ผลัดกันเข้ามาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขา หลายๆ ฉากตัวละครมองตรงไปที่กล้องเพื่อสนทนากับคนดู การจัดวางองค์ประกอบภาพคำนึงถึงความสมดุล แอนเดอร์สันไม่กลัวที่จะทิ้งรอยนิ้วมือของการกำกับไว้ในภาพยนตร์ เขาเผยให้เห็นการวางแผน การควบคุม และการตกแต่ง ในรายละเอียดที่พิถีพิถันของโครงเรื่อง ลำดับภาพ แสงไฟ มู้ดแอนด์โทน สิ่งของที่เอามาประกอบฉาก การแสดงของตัวละคร รวมถึงทั้งการตัดต่อ ขนาดของเลนส์กล้อง ดนตรีและเสียงเอฟเฟกต์ประกอบ เป็นต้น

สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel
ร้าน Mendl’s pastry สาธารณรัฐ Zubrowka
สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel

ภาพยนตร์ The Grand Budapest Hotel ถ่ายทอดเรื่องราวของนักเขียนใน ค.ศ. 1985 ถึงสิ่งที่เขาได้ฟังมาจากเจ้าของโรงแรม Zero Moustafa เมื่อ 17 ปีก่อนหน้า (ค.ศ.​ 1968) เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงแรมในการดูแลของ Monsieur Gustave H. ใน ค.ศ. 1932 ซึ่งในปัจจุบันเหล่าแฟนคลับของนักเขียนก็ยังแวะเวียนไปรำลึกถึงเขาที่สุสานเก่าในเมือง Lutz โดยหนังสือเล่มนี้กลายเป็นวัตถุที่บันทึกความทรงจำในอดีต ถึงความยิ่งใหญ่อลังการของสถานประกอบการณ์แห่งนี้ หลังจากที่อาคารนั้นถูกรื้อถอนไปในเวลาต่อมา

สถาปัตยกรรมโรงแรม

สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel
สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel

ทันทีที่ภาพยนตร์เริ่มต้นเราก็รู้ว่า ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของโรงแรมได้สิ้นสุดลงแล้ว ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในอาคาร จากโรงแรมสีชมพูนมเย็นในทศวรรษที่ 1930 สถาปัตยกรรมอาร์ตนูโวสุดหรูหรา องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเลียนแบบลวดลายจากธรรมชาติ จนทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเป็นแขกสำคัญของที่นี่ สู่โรงแรมยุคหลังสงครามในทศวรรษที่ 1960 ซึ่งถูกปรับโฉมเป็นสถาปัตยกรรมในยุคโมเดิร์นนิสม์ ลอกสีผนัง เปลี่ยนทรงหลังคา และเครื่องตกแต่งออกจากตัวอาคาร เหลือไว้แค่ความธรรมดาสามัญของรูปทรงเรขาคณิตในตัวอาคารและหลังคาแบนราบ 

ส่วนภายนอกอาคารคลุมด้วยหินสีน้ำตาลดิบเรียบ ดูเผินๆ ไม่แน่ใจว่า ที่นี่คือตึกออฟฟิศ โรงพยาบาล ค่ายทหาร หรือโรงแรม กันแน่ 

การปรับปรุงของโรงแรมไม่เพียงสื่อให้เห็นถึงรูปแบบของการบริการที่เปลี่ยนไป และยังบอกเป็นนัยๆ ถึงสภาพสังคมและความเร็วในการเดินทางท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปอีกด้วย

สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel
สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel

ใน ค.ศ.1932 โรงแรมอยู่ในช่วงพยุงตัว พยายามรักษากลิ่นอายของอดีตและระดับการบริการหรูหราเอาไว้ ณ ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่แขกที่มาพักในโรงแรมยังส่วมใส่ชุดสูททักซิโด้ ชุดราตรี สวมใส่เครื่องเพชรเครื่องประดับ แบบที่เรียกได้ว่าจัดเต็ม เช่นเดียวกันกับการตกแต่งภายใน การจัดวางข้าวของ พื้นในห้องโถงต้อนรับปูด้วยพรมสีแดง และการบริการของตัวโรงแรมที่มีความใส่ใจเป็นพิเศษ ซึ่งในเวลานั้น Monsieur Gustave H. ทำหน้าเป็นหัวหน้าผู้ดูแล 

สิ่งที่ Wes Anderson บอกเล่าผ่านสถาปัตยกรรมโรงแรม The Grand Budapest Hotel

ส่วนมากแล้วแขกขาประจำโรงแรมจะเป็นแม่ม่ายสูงอายุ ผู้มีฐานะร่ำรวย โดดเดี่ยว บริบทของการเดินทางในสมัยนั้นแตกต่างจากสมัยนี้ตรงที่แขกส่วนใหญ่มักจะพักระยะยาว อย่างน้อยๆ ก็หนึ่งเดือนเต็ม อย่าง Madame D. ผู้ล่วงลับนั้นก็มักเข้าพักตลอดช่วงฤดูกาล และกลับมาที่นี่ทุกปี 

พนักงานโรงแรมก็เป็นหน้าเดิมที่แขกประจำจะคุ้นหน้า และเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานบริการของ Zero Moustafa พนักงานหน้าล็อบบี้ที่ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เริ่มต้นตอนตี 5 และจบลงตอนเที่ยงคืน 

“หน้าที่ล็อบบี้บอยเหมือนไม่มีตัวตนในอาคาร แต่ต้องอยู่ในสายตาของแขกเสมอเมื่อถูกเรียกใช้ หน้าที่ของเขาคือต้องจำสิ่งที่ผู้คนเกลียด และคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า ก่อนความต้องการจะเกิดขึ้น” 

และนั่นคือสิ่งที่หัวหน้าผู้ดูแลสอนเขา

ฉากรูปด้านของโรงแรมใน ค.ศ. 1932
The Palace Bristol Hotel เมือง Karlovy Vary สาธารณรัฐเช็ก
The Palace Bristol Hotel เมือง Karlovy Vary สาธารณรัฐเช็ก

กว่าจะได้ฉากรูปด้านของโรงแรมใน ค.ศ. 1932 มา แอนเดอร์สันและ อดัม สต็อคเฮาเซน (Adam Stockhausen) หัวหน้าทีมโปรดักชัน ต้องค้นคว้าข้อมูลจากภาพถ่ายโรงแรมต่างๆ ในหอสมุด และเดินทางไปยังยุโรปตะวันออกเพื่อสืบหาสถานที่ถ่ายทำ แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ไม่พบที่ที่เข้าตา จึงตัดสินใจสร้างโมเดลจำลองขนาดใหญ่สูงกว่า 2.74 เมตร เพื่อใช้ในการทำถ่ายทำฉากภายนอกของตัวโรงแรมของทั้งสองยุคสมัย ใน ค.ศ.1932 และ 1968 รูปด้านของตัวโรงแรมในยุค 1930 ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากโรงแรม Grandhotel Pupp ที่สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1701 และ The Palace Bristol Hotel ที่อยู่ใกล้ๆ กันในเมือง Karlovy Vary สาธารณรัฐเช็ก

ล็อบบี้ที่เปลี่ยนไป

ฉากรูปด้านของโรงแรมใน ค.ศ. 1932
ฉากรูปด้านของโรงแรมใน ค.ศ. 1932

แม้ฉากภายนอกของโรงแรมจะเป็นโมเดลสามมิติจำลอง ฉากภายในของตัวอาคารนั้นถ่ายทำในสถานที่จริง ในห้างสรรพสินค้าเก่าอย่าง Görlitz Warenhaus ในเมือง Görlitz ประเทศเยอรมนี ซึ่งสร้างขึ้นใน ค.ศ.1913 โดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอาร์ตนูโวเยอรมนีที่เรียกว่า Jugendstil หรือ Youth Style ในภาษาอังกฤษ อันเปรียบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในเป็นงานศิลปะ ประติมากรรม การทำให้โครงสร้างของอาคารกลายเป็นสิ่งตกแต่ง Ornament ที่มักนำแรงบันดาลในการออกแบบมาจากธรรมชาติ ห้องโถงใหญ่หินอ่อนสีเหลืองสูงเท่าตึก 6 ชั้น พร้อมกับเพดานกระจกสี (Stained Glass) และบันไดเอกแบบ 2 แฉกที่เรียกว่า Bifurcate ล้วนเป็นลักษณะที่กลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญให้กับฉากล็อบบี้ของโรงแรม

ฉากรูปด้านของโรงแรมใน ค.ศ. 1932
แปลนโรงแรมจากยุค 1960

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ภาพยนตร์ถ่ายทอดให้ผู้ชมเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวโรงแรมใน ค.ศ. 1932 และ ค.ศ. 1968 จึงทำให้ทีมงานต้องสร้างฉากของทั้งสองช่วงเวลาซ้อนทับกันไว้ภายในห้างสรรพสินค้า สังเกตจากแปลนในช่วง 1960 (ไฮไลต์ด้วยสีแดงในภาพ) เราจะเห็นว่าพื้นที่โถงใหญ่ในล็อบบี้ถูกบีบให้แคบกว่าเก่า พื้นที่สาธารณะและที่นั่งก็ถูกปรับลด 

ฉากรูปด้านของโรงแรมใน ค.ศ. 1932
แปลนโรงแรมจากยุค 1930

เมื่อมองตรงจุดนี้ เรารับรู้ได้ว่าจำนวนแขกน้อยลง ขณะที่ความเป็นส่วนตัวต้องมากขึ้น หลายๆ ซีนแขกไม่ต้องการสุงสิงกับใคร เพราะต่างมีกิจกรรมของตนเอง ซึ่งต่างกับแปลนในช่วง 1930 (ไฮไลท์ด้วยสีฟ้าในภาพ) พื้นชั้นล่างให้ความรู้สึกถึงพื้นที่สาธารณะบนท้องถนนที่ครึกครื้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกกระจายตัวอยู่รอบๆ ไม่ว่าจะเป็นที่เก็บเสื้อคลุม ร้านตัดผม บาร์ เคาน์เตอร์แผนกต้อนรับ และพนักงานยืนประจำตามจุดต่างๆ

ทัวร์สถาปัตยกรรม The Grand Budapest Hotel ใน ค.ศ.1932 และ 1968 สะท้อนวิถีชีวิตและรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนไปของคนสองยุค
ทัวร์สถาปัตยกรรม The Grand Budapest Hotel ใน ค.ศ.1932 และ 1968 สะท้อนวิถีชีวิตและรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนไปของคนสองยุค
ทัวร์สถาปัตยกรรม The Grand Budapest Hotel ใน ค.ศ.1932 และ 1968 สะท้อนวิถีชีวิตและรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนไปของคนสองยุค

การตกแต่งในห้องโถงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ แผงผนังเฉดสีชมพูฉลุลายตัดกับพรมมีลวดลายสีแดง ภาพวาดขนาดใหญ่ โคมไฟ เฟอร์นิเจอร์ไม้คสาสสิก และของประดับตกแต่ง แทนที่ด้วยแผงผนังผิวพสาสติกสีเหลืองที่แบ่งด้วยตัวโครงเหล็กอะลูมิเนียม ตู้อัตโนมัติขายอาหาร เครื่องดื่ม ขนม บุหรี่ นำมาวางแทนที่พนักงาน ตู้คุยโทรศัพท์ส่วนตัวต่อเติมใต้บันไดทางขึ้นในห้องโถง ป้ายคำสั่งและป้ายข้อมูลที่กระจายติดไว้ทั่วทุกส่วนของโรงแรม แจ้งเวลาเปิด-ปิด เวลาเช็กอินเช็กเอาต์ ค่าปรับ กฎข้อห้าม คำเตือนต่างๆ พร้อมกับเฟอร์นิเจอร์โต๊ะเก้าอี้หน้าตาไม่เป็นมิตรจากยุคโมเดิร์น 

ฉากทั้งสองแสดงรูปแบบการบริการของทั้งสองยุคสมัย สถาปัตยกรรมเปลี่ยนแปลงราวกับว่าความงามไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป การเน้นเฉพาะประโยชน์ใช้สอย ละเลยความใส่ใจในการบริการหรือสร้างประสบการณ์ต่อแขกที่มาพัก เมื่อโรงแรมต้องขับเคลื่อนด้วยเงิน การปรับตัวให้เข้ากับบริบทของสังคมและวิถีการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

Nostalgia ‘โหยหาอดีต’

ทัวร์สถาปัตยกรรม The Grand Budapest Hotel ใน ค.ศ.1932 และ 1968 สะท้อนวิถีชีวิตและรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนไปของคนสองยุค

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบวนเวียนกลับไปยังสถานที่เดิมๆ เพียงเพราะเคยมีความทรงจำที่ดีๆ หรืออาจเพราะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คุณยังโหยหาอดีต ประสบการณ์เดิมๆ รสชาติดั้งเดิม การบริการแบบเดิมๆ ก็คงเข้าใจถึงความรู้สึกของตัวละครและแขกที่ยังกลับไปใช้บริการที่โรงแรมแห่งนี้ แม้ว่าตัวสถานที่นั้นจะได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เหมือนกับที่ Zero Moustafa ซื้อโรงแรมนี้ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ช่วงเวลาดีๆ ที่เขาและภรรยาผู้ล่วงลับเคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ หรือที่ Monsieur Gustave H. รักษามาตรฐานบริการของโรงแรม ในแบบที่เขาอยากจะจดจำมัน 

หากวิเคราะห์จากภาพยนตร์ อิทธิพลของสถาปัตยกรรมจากทั้งสองยุคสมัยสะท้อนบรรยากาศของโรงแรม รูปแบบการบริการ และประสบการณ์ของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป นัยยะหนึ่ง การปรับตัวละทิ้งคุณค่าเก่า นำความโมเดิร์นและความร่วมสมัยเข้ามา ได้เปลี่ยนนิยามจากการให้บริการลูกค้ามาเป็นการที่ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ขณะเดียวกันการเก็บรักษาความทรงจำและคุณค่าในอดีต ก็สู้กับค่าแรงและสภาวะเศรษฐกิจที่ผันแปรไม่ได้ 

ทัวร์สถาปัตยกรรม The Grand Budapest Hotel ใน ค.ศ.1932 และ 1968 สะท้อนวิถีชีวิตและรูปแบบการเดินทางที่เปลี่ยนไปของคนสองยุค

ผลกระทบของการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน ก็กำลังเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจการของธุรกิจโรงแรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงสร้างนิยามใหม่ๆ ให้กับการใช้ชีวิต การทำงาน การเดินทาง และการท่องเที่ยว 

บางกลุ่มคนที่มีทางเลือก อาจเลือกทำงานไปพร้อมกับพักผ่อนในสถานที่ท่องเที่ยว และเข้าพักระยะเวลาที่นานขึ้นในรูปแบบของ Workcation หรือบางคนอาจติดใจการทำงานจากที่บ้าน และหันมาต่อเติมปรับปรุงบ้านครั้งใหญ่จนไม่ค่อยได้ออกจากบ้าน

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เข้าถึงตัวเลือกเหล่านี้ สำหรับบางคน อาจจะไม่มีโอกาสคิดถึงคำว่า ‘ท่องเที่ยว’ หรือ ‘พักผ่อน’ เลยด้วยซ้ำ 

ข้อมูลอ้างอิง

Anderson, W. (Director), & Anderson, W., Rudin, S., Rales, S., & Dawson, J. (Producers). (2014). The Grand Budapest Hotel [Motion picture]. United States: Fox Searchlight Pictures.

Seitz, M. Z., Anderson, W., Fiennes, R., Canonero, M., Desplat, A., Stockhausen, A., . . . Bordwell, D. (2015). The Wes Anderon collection: The Grand Budapest Hotel. New York: Abrams.

www.ultraswank.net

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ