ดอกไม้เป็นสิ่งชุบชูใจผู้คนและมักปรากฏตัวในวาระสำคัญของเรา ตั้งแต่พิธีแต่งงานจนถึงพิธีอำลาในงานศพ แต่ขณะเดียวกัน ดอกไม้ก็มีอายุการใช้งานแสนสั้น ดอกไม้บนชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ตจะถูกทิ้งลงถังขยะเมื่อถึงวันหมดอายุที่ระบุไว้ เช่นเดียวกับดอกไม้สวยที่บานสะพรั่งอยู่ในอีเวนต์ต่างๆ

เบื้องหลังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับดอกไม้จึงหมายถึงขยะเหลือทิ้งปริมาณมาก และนั่นคือตัวจุดประกายให้นักจัดดอกไม้ที่ชื่อ เออร์ซูลา สโตน (Ursula Stone) ลุกขึ้นมาออกแบบทางแก้ไข

The Flower Bank ร้านดอกไม้ราคาเป็นมิตร ใช้ดอกไม้เหลือทิ้ง และมีเด็กเคยทำผิดเป็นทีมงาน

‘The Flower Bank’ คือคำตอบที่เธอเสนอกับสังคม

และนี่คือเรื่องราวของร้านดอกไม้เล็กๆ ในลอนดอน ที่เริ่มต้นจากความอยากช่วยชีวิตดอกไม้ในถังขยะ ก่อนจะผลิบานเป็น SE (Social Enterprise) ที่ตอบโจทย์สังคมหลายด้านไปพร้อมกัน

The Flower Bank ร้านดอกไม้ราคาเป็นมิตร ใช้ดอกไม้เหลือทิ้ง และมีเด็กเคยทำผิดเป็นทีมงาน

จากเด็กหญิงผู้ชอบดอกไม้ สู่ผู้ช่วยชีวิตดอกไม้ 

หนึ่งในผลงานจัดดอกไม้ช่วงแรกเริ่มของเออร์ซูลา คือช่อดอกไม้สำหรับงานศพของคุณปู่เมื่อเธออายุ 6 ขวบ

แต่แม้จะรักธรรมชาติและชื่นชอบดอกไม้มาแต่วัยเยาว์ เออร์ซูลาก็ห่างหายจากดอกไม้ไปยาวนาน กระทั่งเธอถูกไล่ออกจากงานนักจัดอีเวนต์ เออร์ซูลาจึงย้อนกลับไปหาความชอบดั้งเดิม ใน ค.ศ. 2014 เธอไปลงเรียนจัดดอกไม้ และตกหลุมรักงานสายนี้เต็มหัวใจ

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ลองไปทำงานจริง เออร์ซูลาก็พบว่ามีงานอีเวนต์ที่ลูกค้าจ่ายเงินค่าดอกไม้ไปถึง 10,000 ปอนด์ แต่ดอกไม้แสนแพงนั้นกลับได้โชว์ความสวยงามเพียงครู่เดียวแล้วก็ถูกโยนลงถังขยะ 

เออร์ซูลาสะท้อนใจกับภาพที่เห็นมาก รู้สึกว่านี่เป็นเรื่องแสนสิ้นเปลือง เมื่อกลับจากอีเวนต์ เธอจึงคิดหาทางแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง แล้วในเวลาใกล้กัน เธอก็ได้ก้าวเท้าเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เห็นพนักงานทิ้งดอกไม้สวยๆ ที่ยังสภาพดีแต่หมดอายุลงถัง

The Flower Bank ร้านดอกไม้ราคาเป็นมิตร ใช้ดอกไม้เหลือทิ้ง และมีเด็กเคยทำผิดเป็นทีมงาน
เรื่อง social enterprise ของนักจัดดอกไม้ชาวอังกฤษที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงดอกไม้ ลดขยะ และให้โอกาสเด็กผู้กระทำผิด

ไอเดียของ The Flower Bank จึงเริ่มก่อตัวขึ้น เออร์ซูลาลงมือเขียนจดหมายไปหาเหล่าซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อขอเก็บดอกไม้เหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ แล้วในปลาย ค.ศ. 2016 เธอก็ได้รับอนุญาตและได้ดอกไม้ล็อตแรกมาอยู่ในมือ หลังจากนั้น เออร์ซูลาก็เริ่มต้นลงมือต่อลมหายใจให้ดอกไม้ โดยมีที่ทำงานหลักแห่งแรกคือโต๊ะตัวเก่งในห้องครัว

The Flower Bank ของเออร์ซูลารับจัดดอกไม้ในราคาเป็นมิตร สำหรับผู้ที่มีเงินในกระเป๋าไม่มาก ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงดอกไม้ในวาระสำคัญอย่างงานแต่งงานและงานศพ เธอยังทำงานกับบ้านพักคนชรา ทั้งจัดดอกไม้ไปให้ และสอนคุณปู่คุณย่าที่นั่นหัดจัดดอกไม้ตามต้องการ รวมถึงทำโปรเจกต์น่ารักอย่าง Flower Bombing หรือการวางช่อดอกไว้ไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อให้ผู้คนมาพบและรื่นรมย์กับมัน 

ที่ The Flower Bank ดอกไม้ซึ่งเคยถูกโยนลงถังขยะจึงได้รับการต่ออายุ ให้ไปผลิบานอีกครั้งในชีวิตผู้คน

แต่ยังไม่หมดเท่านั้น เพราะเออร์ซูลาทำให้ The Flower Bank มีพลังขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการให้โอกาสเด็กๆ กลุ่มหนึ่งมาร่วมจัดดอกไม้

ร้านดอกไม้ที่ให้โอกาสเด็กเคยก้าวพลาด

เออร์ซูลามีโอกาสทำงานคลุกคลีกับผู้กระทำผิดที่เป็นเยาวชน จากมุมมองของเธอ การให้เยาวชนเยียวยาความผิด (Reparation) นั้นไม่ควรเน้นการลงโทษ แต่ควรเน้นให้การศึกษาเด็กๆ

“ถ้าคนถูกลงโทษโดยไม่มีการให้โอกาสสำหรับก้าวต่อไปข้างหน้า การลงโทษนั้นก็ไม่ช่วยอะไร” นักจัดดอกไม้แห่ง The Flower Bank กล่าว 

เพราะอย่างนั้น ร้านดอกไม้ของเออร์ซูล่าจึงเปิดโอกาสให้เยาวชนอายุ 11 – 18 ที่เคยเดินทางผิดมาเรียนรู้ ช่วยจัดดอกไม้ และได้เกียรติบัตรด้านการจัดดอกไม้เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จในชีวิต

“พวกเขารักงานนี้” เออร์ซูล่าบอก “พวกเขารักการทำงานด้วยมือ และรื่นรมย์กับสีรวมถึงกลิ่นที่ช่วยให้สงบใจ และพวกเราก็คุยกันระหว่างทำงานบ่อยๆ งานนี้เลยเป็นเหมือนการเยียวยาพวกเขาด้วย”

นอกจากเด็กๆ ที่เคยทำผิด เออร์ซูลายังเปิดพื้นที่ชวนผู้คนซึ่งมีปัญหาสุขภาพใจมาร่วมทำงาน

เรื่อง social enterprise ของนักจัดดอกไม้ชาวอังกฤษที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงดอกไม้ ลดขยะ และให้โอกาสเด็กผู้กระทำผิด
เรื่อง social enterprise ของนักจัดดอกไม้ชาวอังกฤษที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงดอกไม้ ลดขยะ และให้โอกาสเด็กผู้กระทำผิด

The Flower Bank จึงไม่ใช่เพียงการช่วยชีวิตดอกไม้เหลือทิ้งเพื่อส่งต่อให้คนที่มีงบน้อย แต่ยังเป็นการให้โอกาสผู้คนได้มาทำงานชุบชูใจไปด้วยกัน

และเพราะอย่างนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ใน ค.ศ. 2019 เออร์ซูล่าจะได้หอบดอกไม้จากโต๊ะในห้องครัว มาจัดที่หน้าร้านเล็กๆ ของตัวเอง 

ร้าน The Flower Bank ฉบับเป็นรูปธรรมที่เกิดจากการระดมทุนของชาวลอนดอน

ความฝันที่สังคมช่วยสร้าง 

ที่ลอนดอน ไอเดียการระดมทุนหรือ Crowdfunding เป็นสิ่งที่ผู้คนคุ้นเคยและให้การสนับสนุน เรียกว่าใครอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นในชุมชน ก็ช่วยสนับสนุนให้มันได้สร้างจริงขึ้นมา 

ร้านดอกไม้ของเออร์ซูลาเป็นหนึ่งในนั้น เธอเปิดระดมทุนกับ Crowdfund London หรือโปรแกรมระดมทุนเพื่อ Empower ชุมชนที่มี The Mayor of London ดูแล 

โครงการของเออร์ซูลาคือหนึ่งในเรื่องราวที่ชนะใจคน เธอระดมทุนสำเร็จด้วยยอดเงินสนับสนุนถึง 67,890 ปอนด์ เป็นเงินที่ช่วยให้เธอได้ตั้งร้านดอกไม้ประจำชุมชนซึ่งต่อลมหายใจดอกไม้ และเป็นพื้นที่เรียนรู้ของผู้คน

“ฉันพูดได้เต็มปากแล้วว่าตัวเองเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม” เจ้าของ The Flower Bank บอกไว้

ทุกวันนี้ ร้านเล็กๆ ของเออร์ซูลายังคงเดินหน้าช่วยชีวิตดอกไม้ และใช้พวกมันช่วยเหลือผู้คนต่อไป 

เป็นดอกไม้เล็กๆ ของสังคมที่เสนอทางเลือกในการแก้ปัญหาใหญ่ๆ ไว้อย่างสวยงาม

เรื่อง social enterprise ของนักจัดดอกไม้ชาวอังกฤษที่ช่วยให้ทุกคนเข้าถึงดอกไม้ ลดขยะ และให้โอกาสเด็กผู้กระทำผิด

ข้อมูลอ้างอิง

www.theflowerbank.org.uk/

inews.co.uk/

www.highlivingbarnet.com/

www.spacehive.com/

www.crunchytales.com/

www.london.gov.uk/

Writer

Avatar

ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CUD4S ร่วมก่อตั้งโดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เราตั้งใจนำการออกแบบและ Design Thinking ไปแก้ปัญหาสำคัญของสังคม โดยทำบนฐานงานวิจัย ในรูปแบบของ Collaborative Platform ให้ฝ่ายต่างๆ มาร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน ติดตามโครงการของเราได้ที่ Facebook : CUD4S