โปรเจกต์สุดพิเศษที่เราจะเล่าในวันนี้ คือการปรับปรุงพื้นที่รอบหอไอเฟลครั้งยิ่งใหญ่ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พื้นที่นี้มีการปรับปรุงเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้เป็นโปรเจกต์ใหญ่ การปรับปรุงคราวนี้ก็เหมือนกับการกำหนด ‘เมสเซจ’ ว่าในปี 2022 – 2030 ฝรั่งเศสกำลังสื่อสารอะไรกับโลก
‘หอไอเฟล’ เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นไอคอนของเมืองปารีส หรือหากจะพูดว่าเป็นไอคอนของโลกก็ไม่ผิด มีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่ปี 1889 จึงมีเหตุการณ์และความทรงจำของชาวโลกที่เกี่ยวข้องกับหอไอเฟลมากมาย เพราะฉะนั้น การจะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ล้วนอ่อนไหวและกระทบกับมุมมองของคนมหาศาล แต่เพราะอย่างนั้นแหละ มันถึงได้พิเศษ

ที่จริงแล้วโปรเจกต์นี้ไม่ได้ทำมาเพื่อโอลิมปิกโดยเฉพาะ พวกเขาแบ่งการดำเนินการเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกจะเสร็จก่อนโอลิมปิก ให้ผู้คนที่เดินทางมาเที่ยวปารีสโอลิมปิกได้สัมผัสกับความเปลี่ยนเแปลงครึ่งแรก และเมื่อโอลิมปิกจบลงก็จะเริ่มทำเฟสถัดไป
ย้อนกลับไปไม่กี่สัปดาห์ก่อน เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนออฟฟิศสถาปนิกสัญชาติอังกฤษ Gustafson Porter + Bowman ซึ่งรับหน้าที่ออกแบบพื้นที่รอบหอไอเฟลใหม่ให้ชาวโลกได้ชม และได้ฟัง Mary Bowman เล่าถึงรายละเอียดทั้งหมด เธอเป็น Partner ของบริษัทที่ทำหน้าที่ดูแลทิศทางในการดีไซน์ของโปรเจกต์นี้เป็นพิเศษ
การปรับปรุงในครั้งนี้ไม่เพียงทำให้พื้นที่สวยงามไม่เสื่อมโทรมเท่านั้น แต่ทีมผู้ออกแบบได้ศึกษาบริบททางประวัติศาสตร์ ศึกษาความต้องการของคนยุคปัจจุบัน แล้วตีความออกมาให้สมกับเป็นปารีสในศตวรรษที่ 21 ที่สุด โดยตอบโจทย์คุณค่าต่าง ๆ ทั้งเรื่องความยั่งยืน ความเป็นมิตรกับคนเดินเท้า และความ Inclusive ในพื้นที่เดียว
การปรับปรุงครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์
เมื่อได้เข้ารอบเป็น Shortlist 4 ทีมสุดท้าย ในการประกวดออกแบบพื้นที่รอบหอไอเฟล ทางออฟฟิศ Gustafson Porter + Bowman ก็ได้ทำงานกับเมืองปารีสเป็นเวลา 1 ปี คิดคอนเซปต์ พัฒนาแบบไปเรื่อย ๆ รวมแล้วมี Master Plan ร่วม 20 – 30 เวอร์ชัน แล้วก็ได้ออกมาเป็น Proposal สุดท้ายที่ทุกคนในทีมเห็นพ้องต้องกัน
ซึ่งในที่สุด หลังจากที่ทำงานกันมาอย่างเหน็ดเหนื่อย พวกเขาก็ชนะการประกวดแบบสมใจ


แมรีบอกว่า ดีไซน์ของพวกเขานั้นเรียบง่ายมาก ๆ และมีจุดเด่นหลักคือ ‘Very Strong Access’ (แมรีใช้คำนี้) หมายถึงทางสัญจรและมุมมองหลักที่พุ่งเป็นเส้นตรงไปยังหอไอเฟลที่อยู่ตรงกลาง ซึ่งเป็นภาพจำหลักของชาวโลก แต่สวนรอบ ๆ ริมทางตรงนั้น ผู้ออกแบบทำให้มีความเป็น Picturesque Garden หรือสวนที่จัดองค์ประกอบให้เหมือนภาพวาดทิวทัศน์ มีความโรแมนติกตามแบบฉบับอังกฤษ ซึ่งความคอนทราสต์ตรงนี้ก็ทำให้ดีไซน์นั้นน่าสนใจขึ้นไปอีก
สิ่งสำคัญมากที่สุดในการออกแบบใหม่ครั้งนี้ คือการพลิกให้พื้นที่นี้กลายเป็นของคนเดินเท้า (Pedestrianization) ไม่ว่าจะด้วยการจัดการการเข้าถึงของรถยนต์เสียใหม่ หรือการออกแบบให้เป็นมิตร เดินง่าย แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องใหญ่ และเมื่อสาธารณชนรู้ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์มากมายในโซเชียลมีเดีย แต่การถกเถียงเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุดก็เป็นเรื่องปกติของชาวฝรั่งเศส
ไอเดีย Pedestrianization นั้นดีมากในการทำให้ผู้คนได้สังเกตเมือง ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนเดินถนน กับร้านค้าต่าง ๆ ไปจนถึงได้ดื่มด่ำกับความสวยงามของเมือง ซึ่งจะพาให้คนรักและภูมิใจกับเมือง อยากดูแลที่ที่ตัวเองอยู่ให้ดีต่อไป กลับกัน หากเป็นเมืองของรถยนต์ก็จะไม่ได้พัฒนาอย่างละเอียดอ่อนมากเท่าไหร่ เมืองจะไม่สวย เดินไม่สบาย หรืออากาศจะไม่ดี ก็ไม่ได้ส่งผลกับคนอยู่อาศัยนัก
นอกจากนี้ จากเดิมที่มีจุดเด่นจุดเดียวคือตัวหอไอเฟล แต่สเปซอื่น ๆ กลายเป็น Grey Area ถูกปล่อยเบลอไป ภารกิจที่ทีมออกแบบจะทำคราวนี้ก็คือการทำให้พื้นที่ส่วนอื่น ๆ เด่นขึ้นมาบ้าง ทำให้มี Point of Interest หลายจุด มีพื้นที่จัดอีเวนต์ จัดตลาดวันหยุดกระตุ้นเศรษฐกิจ มี Amphitheatre มี Art Garden รวมถึงมีสนามเด็กเล่นที่ปรับปรุงอย่างดีให้เด็ก ๆ ด้วย
เดิมทีพื้นที่นี้ก็มีศักยภาพอยู่แล้ว สิ่งที่นักออกแบบทำจึงไม่ใช่แค่เพิ่มกิจกรรมเข้าไปในไซต์ แต่เป็นการออกแบบให้เห็น ‘ชัดเจน’ ขึ้นอีกว่า นี่คือพื้นที่แห่งความ Inclusive และมีชีวิตชีวา ที่คุณ ๆ ชาวปารีสเข้าไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ลังเล ไม่ใช่แค่ที่ถ่ายรูปเช็กอินของนักท่องเที่ยว
“ฉันคิดว่าการมาของโอลิมปิกจะน่าสนใจ เพราะโอลิมปิกจะปิดสะพาน แล้วก็ทำให้ไซต์กลายเป็นของคนเดินเท้าอยู่แล้ว ตอนนั้นผู้คนจะได้เห็นและดื่มด่ำกับการใช้พื้นที่ ก็หวังว่านั่นจะช่วยเปลี่ยนใจหลาย ๆ คนได้” ถึงแม้ว่าช่วงโอลิมปิก การปรับปรุงจะเสร็จไปแค่เฟสแรก และยังไม่ได้กลายเป็นพื้นที่คนเดินอย่างเต็มรูปแบบ แต่ผู้ออกแบบก็ถือว่าช่วงโอลิมปิกจะเป็นช่วงทดลองที่ดี
ทั้งนี้ ความ Inclusive ยังหมายถึงการทำให้พื้นที่เอื้อต่อคนทุกวัย ซึ่งต้องลงลึกถึงการดีไซน์ Curb ต่าง ๆ และการใช้เทคโนโลยีมาทำให้จัดการง่ายขึ้น เพื่อช่วยลดการต่อแถวรอคิวด้วย
พืชพรรณในสวนก็สำคัญ คราวนี้ผู้ออกแบบได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้าไปถึง 35% และตั้งใจเลือกพันธุ์ต้นไม้โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิประเทศ และประวัติศาสตร์

“ด้วยความที่ปารีสเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ นี่เป็นโปรเจกต์ที่กดดันมาก ๆ ที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้เลยแหละ” แมรีเล่ากลั้วหัวเราะ
พวกเขาต้องออกแบบโดยคำนึงถึงหลายปัจจัย ทั้งยังต้องทำการบ้านด้านประวัติศาสตร์ของเมืองและของพื้นที่ ดูว่าเดิมมี Curve แบบไหน Slope แบบไหน วัสดุแบบไหน และยังต้องทำการบ้านเรื่องความต้องการของปารีสในศตวรรษที่ 21 ที่ทั้งต้อง Resilience ทั้งให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า แล้วตีความออกมาเป็นดีไซน์ที่ใช่
เพื่อให้ไซต์ออกมา Inclusive ที่สุด นอกจากขั้นตอนการออกแบบตอนแรกและการก่อสร้างในตอนท้ายแล้ว ขั้นตอนที่ยากไม่แพ้กันก็คือระบบการทำงานที่นักออกแบบจะต้องประสานงานกับภาคส่วนต่าง ๆ ของเมืองปารีส โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมที่ต้องตกลงกันเรื่องเส้นทางสัญจร สุดท้ายแล้ว ทั้งเรื่องนี้กับเรื่องโรคระบาดรวมกัน ก็ทำให้ดำเนินการได้อย่างไม่รวดเร็วนัก
ดีไซน์นี้เรียบง่ายมากอย่างที่แมรีว่า และนั่นก็คือความท้าทายของโปรเจกต์ที่จะต้องทำน้อยแต่ได้เยอะ ซึ่งสุดท้ายแล้วอิมแพกต์จะสูงอย่างที่หวังไหม ต้องมารอดูกันตอนที่บูรณะเรียบร้อยและเปิดให้เข้าไปใช้ ถึงตอนนั้นพฤติกรรมของผู้คนที่ใช้พื้นที่ก็คงบอกเราเอง ไม่ต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญจากไหนมาประเมิน

รอวันเปลี่ยนแปลง
หอไอเฟลเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของโลก ในปีหนึ่งมีผู้คนจากทุกหนแห่งเกือบ 7 ล้านคนมาเยือนที่นี่ ไม่ยากเลยที่ดีไซน์ใหม่ที่ Inclusive ของพื้นที่บริเวณนั้นจะส่งอิทธิพลกับความคิดของผู้คนจำนวนมากในโลก และกลายเป็นตัวกำหนด ‘คุณค่า’ ที่โลกต้องยึดถือจากวันนี้เป็นต้นไป
การพัฒนาเป็นเมืองของผู้คน เน้นการเดินเท้า เป็นเรื่องหนึ่งที่ฟังดูแสนธรรมดา ได้ยินกันมาร้อยครั้ง แต่ถ้าพื้นที่รอบหอไอเฟลทำได้ เชื่อเถอะว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนไปตลอดกาล แล้วเราจะได้เห็นพื้นที่อื่น ๆ ในโลกพัฒนาไปในแนวทางนี้อีกมากมาย

สำหรับประเทศไทย หากเราจะเปลี่ยนพื้นที่ไหนให้เน้นคนเดินเท้าบ้าง เกาะรัตนโกสินทร์นั้นก็นับว่ามีศักยภาพในการพัฒนาสูง
เกาะรัตนโกสินทร์ถูกออกแบบมาตั้งแต่สมัยที่ยังไม่มีรถยนต์ จึงเรียกได้ว่าเป็นเมืองสำหรับการเดินมาโดยดั้งเดิม ทั้งยังมีการออกแบบทิวทัศน์อย่างตั้งใจ แกนไหนยืนมองไปแล้วเห็นภูเขาทอง ตรงไหนมี Open Space เพื่อให้ผู้คนเห็น Sky Line ของพระบรมมหาราชวัง อาคารก็ไม่ได้สูงมาก ทำให้ไม่บังลมจากแม่น้ำ ทุกอย่างเป็นภูมิปัญญาที่ทำให้คนรู้สึกสบายในการใช้ชีวิตในเมืองตั้งแต่ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศ ทว่าเมื่อมีรถยนต์เข้ามา ข้อดีเหล่านั้นก็ค่อย ๆ จางลงไป
เกาะรัตนโกสินทร์มีความคล้ายกับปารีสในโครงสร้าง ด้วยความเป็น Grid และความมีแกนบางอย่าง แต่สิ่งที่ขาดไป (มาก ๆ) ในตอนนี้ คือการ Pedestrianization คนยังเดินสบาย ๆ โดยไม่ร้อนไม่ได้ หากจะขี่จักรยานก็ยังไม่สะดวก ไม่มีจุดจอดจักรยานใด ๆ ซัพพอร์ต
สิ่งที่ปารีสกำลังพยายามทำและเกาะรัตนโกสินทร์นำไปประยุกต์ใช้ได้บ้าง ก็คือ ‘ย่าน 15 นาที’ โดยอาจจำกัดปริมาณรถเข้าสู่บางเขต ขยายทางเท้าให้ใหญ่ขึ้น และทำให้เมืองมีกิจกรรม ทั้งยังดูตัวอย่างในแง่ความเป็นย่านเก่าได้ ปารีสนั้นเต็มไปด้วยตึกเก่า แต่สิ่งใหม่ก็ยังวิวัฒน์อยู่ในเนื้อเมือง ไม่ได้เป็นย่านเก่าที่ตัดขาดจากวิถีสมัยใหม่ไปเลย
สำหรับเรื่องความซับซ้อนในการทำงาน ปารีสกับกรุงเทพฯ ก็เหมือนกันในเรื่องที่ต้องประสานงานหลายฝ่าย แต่สิ่งที่ต่างอย่างชัดเจน คือแนวทางในการทำให้เมืองเป็นมิตรกับคน เข้ากับความเป็นมนุษย์ หรือทำให้ Inclusive นั้น ปารีสทยอยทำมาตลอดจนคนเริ่มคุ้นเคยแล้ว และกลายเป็นค่านิยมของเมือง การชวนคิดชวนคุยกับคนหมู่มากจึงไม่ยากเท่ากรุงเทพฯ

การวิพากษ์วิจารณ์ของปารีสอาจเป็นแค่ ‘จะทำยังไงให้มันดี’ หรือ ‘ทำยังไงให้ไม่ส่งผลกระทบ’ ไม่มีใครบอกว่าไม่ควรทำ แต่สำหรับประเทศไทยนั้น ทุกคนยังไม่ได้มองว่านี่คือคุณค่าร่วมที่ต้องยึดถือ ซึ่งการจะทำให้คนซื้อคุณค่านี้จริง ๆ สิ่งที่ต้องทำก็อาจไม่ใช่แค่เปเปอร์หรือข้อเสนอลอย ๆ แต่อาจต้องลงมือทำโครงการที่ทำให้คนได้สัมผัสว่าเมืองแบบนั้นมันดีจริง ๆ
สำหรับเรา สิ่งที่ว้าวที่สุดสำหรับโปรเจกต์การปรับปรุงพื้นที่รอบหอไอเฟล ก็คือโอกาสที่ผู้ออกแบบจะได้ตีความใหม่ว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ ปารีสต้องการพื้นที่แบบไหน แม้ว่าจะมีบริบททางประวัติศาสตร์มากมายให้ต้องพิจารณา หากเป็นที่ไทย สิ่งนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก
จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ชัดเจนว่าคนฝรั่งเศสนั้นกล้าท้าทาย Norm หรือสิ่งที่มีอยู่เดิม จนกลายเป็น DNA ของพวกเขาไปแล้ว ทั้งเรื่องการเมืองที่ทุกคนทราบดี มาจนถึงเรื่องสถาปัตยกรรม ซึ่งเป็นปกติมากที่จะมีการประกวดแบบเพื่อเฟ้นหาไอเดียสดใหม่และคู่ควรกับการประกาศว่า นี่แหละคือสิ่งที่ปารีสอยากสื่อสารกับโลกยุคนี้
ซึ่งความหลุดกรอบอีกอย่าง คือออฟฟิศ Gustafson Porter + Bowman เองก็เป็นออฟฟิศสัญชาติอังกฤษ แต่ปารีสก็ใจกว้าง เปิดโอกาสให้ร่วมประกวดแบบ และเลือกให้เป็นทีมออกแบบบริเวณหอไอเฟลในที่สุด

ในยุคนี้ที่ปารีสทำโปรเจกต์ที่ท้าทายถึงขนาดนำพื้นที่สีเขียวไปบอมบ์หน้าอาคารประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ประเทศไทยก็ยังคงไม่เปิดกว้าง และทุกอย่างยังต้องประนีประนอมให้อยู่ในกรอบ
ในขณะที่คนปารีสรักการวิพากษ์ ไม่ได้คิดว่าขั้วอนุรักษ์และขั้วท้าทายจะอยู่ร่วมกันไม่ได้ คนไทยก็ยังคิดว่าทุกคนต้องอยู่ภายใต้อันใดอันหนึ่ง ฉะนั้น หากจะมองหาความท้าทายหรืออยากเห็นสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น ก็อาจจะไม่ได้ตามที่หวังเท่าไหร่ เราต่างต้องการอยู่ในกรอบที่ปลอดภัย
แต่ถามว่าเราจะพัฒนาเมืองไปสู่เมืองที่ศตวรรษที่ 21 ต้องการไม่ได้เลยเหรอ ก็ไม่ขนาดนั้น
สุดท้ายเราเองหรือแม้แต่ประเทศอื่น ๆ ก็คงไม่ได้พัฒนาในแบบของฝรั่งเศสเสียทีเดียว แต่คงมีเวอร์ชันที่ดีที่สุดของตัวเอง และเราก็เชื่อว่าในอีก 40 – 50 ปีข้างหน้าที่เจเนอเรชันเปลี่ยน คุณค่าก็ต้องเปลี่ยนอย่างแน่นอน

ภาพ : Gustafson Porter + Bowman, Lotoarchilab, Dezeen