อันที่จริงแผนดั้งเดิมของเราในวันนั้นคือการขี่รถมอเตอร์ไซค์จากกิโต (Quito) เมืองหลวงของประเทศเอกวาดอร์ ไปยังเกวงกา (Cuenca) เมืองเล็กๆ บนเทือกเขาแอนดีสทางฝั่งใต้ของประเทศค่ะ

ด้วยระยะทางกว่า 450 กิโลเมตร เรากับคริสเตียนจึงตั้งใจออกจากโรงแรมตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างดีเพื่อเลี่ยงรถติดในเมืองหลวง และเผื่อเวลาเอาไว้สำหรับการขี่รถบนเส้นทางคดเคี้ยวตามแนวเขาที่มักจะทำความเร็วได้ไม่มาก ตอนนั้นก็ยังคิดว่าถ้าโชคดี เราอาจจะไปถึงที่หมายก่อนพระอาทิตย์ตก และอาจจะพอเหลือแรงให้เดินหาอะไรกินในเมืองก่อนเข้านอนได้บ้าง

'รถไฟสายจมูกปีศาจ' เส้นทางรถไฟอันตรายที่สุดของโลก จุดเริ่มต้นรถไฟแห่งเอกวาดอร์

แต่แล้วแผนของเราก็ล่มตั้งแต่ 50 กิโลเมตรแรกค่ะ เพราะมีก้อนดินขนาดใหญ่ถล่มลงมาปิดถนนเส้นหลัก เราเห็นว่ามีร่องรอยของล้อรถยนต์ที่ขับผ่านไปบ้างแล้ว เลยคิดว่าอาจจะขี่รถตามไปได้ด้วยเหมือนกัน แต่พอลองลงเดินเข้าไปดู ก็พบว่ากองดินด้านหลังสูงกว่าฝั่งนี้พอสมควร แถมทั้งฝนและหมอกก็ทำให้ดินกลายเป็นโคลนเหนียว แค่จะยกขาเดินแต่ละก้าวก็ยังยากลำบาก จะลากรถมอเตอร์ไซค์ที่เต็มไปด้วยสัมภาระผ่านกองดินเหนียวตรงนี้ไป ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ

'รถไฟสายจมูกปีศาจ' เส้นทางรถไฟอันตรายที่สุดของโลก จุดเริ่มต้นรถไฟแห่งเอกวาดอร์

เราเดินวนเวียนสำรวจกันอยู่สักพัก แล้วก็เลยลองไปถามกลุ่มชาวบ้านที่นั่งคุยกันอยู่ไม่ไกลจากแถวนั้น ได้ความว่าดินถล่มตั้งแต่เมื่อวานเย็น แต่ถนนเส้นนี้ดินโคลนถล่มเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าไม่มีคนสูญหายหรือบาดเจ็บ ก็อาจจะต้องรอ 2 – 3 กว่าจะมีการขนย้ายดินออกไป 

“ขี่รถอ้อมไปทางอเลาซี (Aluasi) ก็ได้นะ กลับไปทางนี้เจอแยกแล้วเลี้ยวขวา” 

คุณลุงอีกคนที่ตอนแรกง่วนอยู่กับการเช็ดโคลนให้ลูกเจี๊ยบเดินออกมาชี้ทางให้ เราหยิบแผนที่ออกมาดูตามที่ลุงว่า เมืองอเลาซีอยู่ห่างจากจุดดินถล่มไม่ถึง 20 กิโลเมตร แต่การเดินทางย้อนกลับไปจะทำให้เราเสียเวลามากขึ้นพอสมควร คุณลุงคงจะเห็นท่าทางลังเลของเราแล้วนึกขำ ทำนองว่าไม่ไปทางนี้แล้วเธอจะไปทางไหน

“ลุงตัดสินใจให้เอง มาเที่ยวกันไม่ใช่เหรอ จะรีบไปไหนล่ะ แวะไปนั่งรถไฟที่อเลาซีก่อนแล้วกัน พรุ่งนี้ค่อยเดินทางต่อ” 

'รถไฟสายจมูกปีศาจ' เส้นทางรถไฟอันตรายที่สุดของโลก จุดเริ่มต้นรถไฟแห่งเอกวาดอร์

อเลาซี เมืองสายรุ้งในอ้อมกอดแอนดีส
Aluasi, Ecuador

เรากับคริสเตียนย้อนกลับไปอเลาซีโดยไม่ได้คาดหวังอะไรมากนอกจากจะหาที่ตั้งหลักเพื่อวางแผนก่อน และแม้แต่ตอนไปถึงก็ยังคิดว่าจะหากาแฟกันคนละแก้วแล้วค่อยเร่งออกเดินทางต่อ

อเลาซีเป็นเมืองเล็กๆ สีสันสดใสและล้อมรอบไปด้วยภูเขา ตึกรามบ้านช่องในเมืองดูน่าจะเก่าแก่ไม่น้อย เมื่อขี่รถเข้าไปแล้ว จึงได้เห็นว่าผังเมืองมีลักษณะเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม ทำให้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของเมือง ก็มองเห็นยักษ์ใหญ่สีเขียวที่ตั้งตระหง่านเป็นฉากหลังถนนเล็กๆ ทุกสายในเมืองได้อย่างชัดเจน 

'รถไฟสายจมูกปีศาจ' เส้นทางรถไฟอันตรายที่สุดของโลก จุดเริ่มต้นรถไฟแห่งเอกวาดอร์
'รถไฟสายจมูกปีศาจ' เส้นทางรถไฟอันตรายที่สุดของโลก จุดเริ่มต้นรถไฟแห่งเอกวาดอร์

“เมื่อกี้คุณลุงบอกว่ายังไงนะ ให้ไปนั่งรถไฟก่อนใช่ไหม” 

เสียงคริสเตียนแว่วๆ ลอดหมวกกันน็อกมา เรามองตามไปข้างหน้า จึงได้เห็นว่าสถานีรถไฟของที่นี่อยู่ติดกับจตุรัสกลางเมือง ตรงข้ามสถานีมีร้านกาแฟและร้านอาหารให้เลือก 3 – 4 ร้าน เราสองคนจึงจอดรถและแวะเข้าไปในร้านกาแฟที่ใกล้สถานีที่สุด ระหว่างนั้นเจ้าของร้านก็ออกมาชวนคุยด้วย

“มารอขึ้นรถไฟหรือว่าเพิ่งกลับมาจากรอบเช้าคะ วันนี้หมอกเยอะแต่วิวก็น่าจะสวยมาก” 

เราตอบกับพี่เจ้าของร้านว่าแค่บังเอิญผ่านมาเฉยๆ แต่ยังไม่ทันได้ถามอะไรเพิ่มเติม เขาก็ต้องปลีกตัวไปรับลูกค้าใหม่ที่เพิ่งเดินเข้ามา ด้วยความอยากรู้ เราเลยหยิบมือถือมาเสิร์ชหาข้อมูลเกี่ยวกับรถไฟในอเลาซี วันนี้มีแต่คนพูดถึงรถไฟของเมืองนี้

“The Devil’s Nose Train”

“ผลงานชิ้นโบว์แดงทางวิศวกรรมรถไฟในศตวรรษที่ 19”

“รถไฟจมูกปีศาจแห่งเอกวาดอร์”

“ทางรถไฟที่อันตรายที่สุดของโลก”

“สุสานแรงงานจาเมกันในแอนดีส”

ฯลฯ

โอ้โห พอไล่อ่านคร่าวๆ แล้วก็รู้สึกเขินขึ้นมาทันทีเลยค่ะ เรามาถึงเมืองนี้และอยู่ห่างสถานีรถไฟของเขาไม่กี่สิบก้าว แต่กลับไม่รู้เลยว่าอเลาซีเป็นเมืองที่มีรถไฟท่องเที่ยวชื่อเสียงโด่งดังในเอกวาดอร์ พอเจ้าของร้านกาแฟกลับมาจะคุยต่อและรู้ว่าเราสนใจเรื่องรถไฟ เจ้าตัวก็เลยรีบไปหยิบรายละเอียดมาให้ดูเยอะแยะ 

“รถไฟท่องเที่ยวสายนี้ปกติมีวันละสามเที่ยวค่ะ ตอนแปดโมงเช้า สิบเอ็ดโมง แล้วก็บ่ายสามโมง แต่ถ้าวันไหนสภาพอากาศไม่ดีก็อาจจะยกเลิกทุกเที่ยว รถออกจากสถานีอเลาซีไปสถานีซิบัมเบที่อยู่ด้านล่างแล้ววนกลับมาส่งที่เดิม ใช้เวลาทั้งทริปประมาณสองชั่วโมงครึ่ง

“ถ้าอยากไปเที่ยววันนี้ ลองไปถามหาตั๋วช่วงบ่ายอาจจะยังพอมีนะคะ” 

เรารีบทำตามคำแนะนำ วิ่งข้ามถนนไปสถานีรถไฟ เจ้าหน้าที่แจ้งว่าที่นั่งเต็มแล้ว แต่ก็ให้ลงชื่อรอตั๋วไว้สองใบ และบอกว่าช่วงบ่ายมักมีนักท่องเที่ยวเปลี่ยนใจยกเลิกตั๋วบ่อยๆ แต่ก็ไม่รับปากว่าจะได้ หลังลงชื่อเสร็จก็กลับมานั่งวางแผนเรื่องที่พักกันใหม่ ซึ่งเจ้าของร้านกาแฟก็ช่วยแนะนำโรงแรมใกล้ๆ จตุรัสให้ 2 – 3 แห่ง ตอนแรกปรึกษากันว่าเราควรรอจนกว่าจะได้ตั๋วรถไฟก่อนแล้วค่อยจองโรงแรมดีไหม

“มาเที่ยวไม่ใช่เหรอ จะรีบไปไหนล่ะ” 

คริสเตียนพยายามเลียนเสียงและท่าทางของคุณลุงที่เจอกันเมื่อเช้าอย่างเต็มที่ แล้วเราสองคนก็อดหัวเราะให้กันไม่ได้ จริงอย่างที่คุณลุงว่า จะรีบไปไหนกันนักหนา มาเที่ยวไม่ใช่เหรอ สุดท้ายเราก็ตกลงจองโรงแรมไปก่อนเพื่อเอาสัมภาระไปเก็บ และออกมาเดินเล่นในจตุรัสระหว่างรอลุ้นตั๋วรถไฟ 

ตอนนั้นเราเผื่อใจไว้แล้วว่าถ้าไม่ได้ตั๋วก็ไม่เป็นไร (เที่ยว 8 โมงของเช้าวันถัดไปเต็มแล้วเหมือนกันค่ะ และมักจะไม่มีคนยกเลิกตั๋วด้วย) 

ก่อนรถไฟออกประมาณครึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีนักท่องเที่ยวยกเลิกตั๋วทั้งหมด 5 ใบ ซึ่งตรงกับจำนวนคนที่มาลงชื่อสำรองของรถไฟเที่ยวบ่ายพอดี อีก 3 คนมาเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูกจากนอร์เวย์ค่ะ เราพูดคุยทักทายกันนิดหน่อย แต่เพราะหาภาษากลางที่สื่อสารกันไม่ได้ สุดท้ายก็เลยได้แต่ยิ้มและโบกมือให้กัน

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

เส้นทางรถไฟจมูกปีศาจ อเลาซี – ซิบัมเบ 

La Nariz del Diablo, Alausí – Sibambe

หัวรถจักรดีเซลสีดำด้านจอดอยู่ตรงชานชาลา ตามด้วยตู้รถไฟที่ตกแต่งด้วยไม้แบบคลาสสิกอีก 4 ตู้ และมีตู้ขนสัมภาระด้านหลังสุด 1 ตู้ ด้านในจัดเป็นเก้าอี้หันหน้าเข้าหากัน ฝั่งหนึ่งเป็นเก้าอี้เดี่ยว ส่วนอีกฝั่งเป็นเก้าอี้คู่ เจ้าหน้าที่แจ้งตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าทุกคนในรถมีพื้นที่มากพอที่จะลุกขึ้นยืนเพื่อถ่ายรูปได้ทั้งสองด้าน และกระจกหน้าต่างของรถไฟก็เลื่อนเปิดปิดได้ด้วย เพื่อให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปวิวได้โดยไม่มีเงาสะท้อน 

เราสองคนรีบนั่งประจำที่ด้วยความตื่นเต้น 

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose
เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

เมื่อขบวนรถเริ่มเคลื่อนตัวออกจากสถานี เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่บรรยายก็พาทุกคนบนรถย้อนเวลากลับไปสู่จุดเริ่มต้นของรถไฟในเอกวาดอร์พร้อมๆ กัน

การสร้างรางรถไฟในเอกวาดอร์อย่างจริงจังเกิดขึ้นหลังสงครามประกาศอิสรภาพและสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง ผู้นำประเทศในสมัยนั้นมองว่า ความยากลำบากในการคมนาคมระหว่างเมืองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศล้าหลัง จึงมีความคิดที่จะเชื่อมต่อเมืองเหล่านั้นด้วยรถไฟ โดยเฉพาะระหว่างกิโต (Quito) ที่เป็นเมืองหลวง กับเมืองกัวยากิล (Guayaquil) ที่เป็นทั้งเมืองท่าและเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ 

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

เราหยิบแผนที่ในมือถือมากดดู ขนาดเดินทางด้วยถนนในสมัยนี้ กิโตกับกัวยากิลก็ยังอยู่ห่างกันตั้ง 400 กว่ากิโลเมตร เจ้าหน้าที่บอกว่าสมัยก่อนถ้าเดินทางด้วยล่อ ก็จะใช้เวลาประมาณ 2 วัน หรือถ้าหากมีเกวียนสัมภาระไปด้วยก็อาจกินเวลาเป็นสัปดาห์ 

ปัญหาหลักคือ กัวยากิลตั้งอยู่ที่ระดับน้ำทะเล ส่วนกิโตอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2,800 เมตร และเส้นทางระหว่างสองเมืองนี้ต้องผ่านทั้งแม่น้ำ ป่าทึบ ทางลาดชัน และยอดเขาแอนดีสที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งตลอดปี การเชื่อมกิโตกับกัวยากิลเข้าด้วยกันจึงเป็นงานที่เหนือจินตนาการ เมื่อคำนึงถึงขีดความสามารถของเทคโนโลยีในยุคสมัยนั้น 

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

เสียงบรรยายเป็นภาษาสเปนสลับกับอังกฤษดำเนินไป ในขณะที่วิวภูเขาสูงสลับซับซ้อนเคลื่อนผ่านหน้าต่างรถไฟไปอย่างช้าๆ ผู้โดยสารหลายคนเริ่มลุกขึ้นถ่ายรูปวิวที่สวยสมบูรณ์แบบจนแทบจะเหมือนภาพวาด เราเองก็เผลอมองออกไปด้านนอกจนไม่ได้ตั้งใจฟังไปพักใหญ่ เพิ่งจะกลับมามีสมาธิจดจ่ออีกครั้งก็ตอนที่เจ้าหน้าที่อีกท่านเดินเอาขนมกับน้ำส้มมาแจกให้ 

“ในช่วงสิบห้าปีแรกมีการสำรวจและทดลองสร้างรางรถไฟสายนี้หลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จค่ะ จนกระทั่งรัฐบาลเซ็นสัญญาให้บริษัทวิศวกรรมสัญชาติอเมริกันเข้ามาดูแล และการก่อสร้างอย่างเป็นทางการก็เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1899” 

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose
ภาพ : David Brossard Flickr

ทางรถไฟที่ท้าทายและอันตรายต่อการสร้างที่สุดในโลก

หลังจากนั่งชมวิวกันมาสักพัก รถไฟก็ค่อยๆ ชะลอความเร็วลงจนจอดนิ่งสนิท เจ้าหน้าที่ชี้ให้ทุกคนมองออกไปที่อาคารด้านล่าง และบอกว่านั่นคือสถานีซิบัมเบ (Sibambe) ซึ่งเป็นสถานีปลายทางที่เราจะลงไปถึงภายใน 15 นาทีนี้ 

“สถานีซิบัมเบอยู่ต่ำลงไปกว่าเราประมาณแปดร้อยเมตรค่ะ ตอนนี้รถไฟของเราจอดอยู่บนรางที่สร้างเลียบหน้าผาหินที่ทำมุมแทบจะตั้งฉากกับพื้น จุดนี้เป็นจุดที่ยากที่สุดในการสร้างรางรถไฟประวัติศาสตร์สายนี้ เพราะต้องเจาะหินเป็นทางลาดชันแบบสลับฟันปลา เพื่อติดตั้งรางรถไฟและให้รถไฟวิ่งแบบซิกแซ็ก คือทั้งเดินหน้าและถอยหลังจนลดและเพิ่มระดับความสูงแปดร้อยเมตรภายในระยะทางสิบสองกิโลเมตรได้” 

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

สิ้นเสียงผู้บรรยาย รถไฟที่เรานั่งอยู่ก็ค่อยๆ เคลื่อนตัวถอยหลังค่ะ เรารู้ดีว่ารถไฟสายนี้วิ่งเส้นทางนี้มาเป็นหมื่นเป็นแสนรอบแล้ว แต่ก็ยังอดกลั้นหายใจลุ้นไปกับเขาด้วยไม่ได้ และเพราะมุมที่เกือบตั้งฉากของหน้าผาทำให้หลังคาของสถานีปลายทางที่เห็นตอนแรกหายลับไปจากสายตา ยิ่งรถไฟถอยหลังลงไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งมองไม่เห็นอะไรด้านล่างเลยแม้แต่พื้นดินข้างๆ รางจนแทบรู้สึกเหมือนรถไฟทั้งขบวนลอยอยู่บนอากาศ

ตอนนั้นเรารู้สึกได้เลยว่าไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่กลั้นหายใจแน่ๆ เพราะนักท่องเที่ยวทั้งขบวนพร้อมใจกับเงียบและมองออกไปนอกหน้าต่างอย่างใจจดใจจ่อ สักพักรถที่กำลังเคลื่อนตัวถอยหลังก็ค่อยๆ ชะลอจนหยุด และเริ่มออกเดินหน้าในทิศตรงกันข้ามอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการลงสู่พื้นระดับเดียวกับสถานีปลายทาง

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

“รูปแบบและการทำงานของระบบรางรถไฟส่วนนี้เป็นผลงานชิ้นเอกทางวิศวกรรมระบบรางในศตวรรษที่ 19 แม้แต่แรงงานต่างชาติที่ถูกเกณฑ์มากว่าสี่พันคน ส่วนใหญ่ก็มาจากจาเมก้า เพราะเป็นกลุ่มแรงงานที่มีประสบการณ์การสร้างรางรถไฟร่วมกับวิศวกรชาวอังกฤษในจาเมก้ามาก่อน และบางส่วนก็เคยร่วมสร้างทางรถไฟของประเทศปานามามาก่อนแล้วด้วย” 

  เมื่อลงมาถึงพื้นด้านล่าง รถไฟก็แล่นผ่านสถานีซิบัมเบไปประมาณสองร้อยเมตรและจอดตรงบริเวณที่โล่งกว้าง เจ้าหน้าที่ส่งสัญญาณให้ทุกคนลงจากรถและไปรวมตัวกันอยู่ด้านข้างรถไฟ 

“กว่ารางรถไฟสายนี้จะสำเร็จ มันก็คร่าชีวิตของแรงงานเหล่านี้เกือบสองพันคน ทั้งจากอุบัติเหตุ แรงระเบิด ไข้เหลือง มาลาเรีย งูพิษ เสือจากัวร์ และสภาพอากาศที่หนาวจัด โดยเฉพาะตรงจุดนี้ซึ่งต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานกว่าส่วนอื่น ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นหลักพัน”

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

“ตอนนี้คุณมองเห็นจมูกของปีศาจหรือยังคะ” 

ทุกคนไปมองหน้าผาสูงชันที่มีรางรถไฟเลียบผาเรียงสลับกันไปมาอยู่ตรงหน้า เมื่อพยายามจินตนาการอีกนิดหน่อย ก็พอจะมองเห็นว่ามันมีลักษณะคล้ายใบหน้าของคนที่กำลังเงยหน้ามองท้องฟ้าอยู่ และรางรถไฟบนหน้าผาก็อยู่ตรงบริเวณจมูกของใบหน้านั้นพอดี 

“เดิมภูเขาลูกนี้มีชื่อว่ารังพญาแร้ง (The Condor’s Aerie) แต่เมื่อมีการสร้างรางรถไฟมาถึงที่นี่ ชาวพื้นเมืองก็เชื่อกันว่าเป็นการลบหลู่เทพเจ้าและปีศาจที่คุ้มครองเทือกเขาแอนดีส การที่คนงานและวิศวกรก่อสร้างพากันล้มตายก็เพราะโดนปีศาจลงโทษ โดยเฉพาะบริเวณนี้ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุด ภูเขาลูกนี้จึงมีอีกชื่อที่เรียกกันว่า Nariz del Diablo หรือจมูกของปีศาจ และเป็นที่มาของชื่อรถไฟสายจมูกปีศาจนั่นเองค่ะ” 

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

สถานีปลายทางซิบัมเบ

หลังทุกคนได้ถ่ายรูปกับ ‘จมูกปีศาจ’ จนหนำใจแล้ว ก็พากันกลับขึ้นรถไฟและมาลงที่หน้าสถานีซิบัมเบ พื้นที่ของสถานีนี้มีขนาดเล็กกว่าสถานีอเลาซี แต่ด้านในก็มีพร้อมทั้งร้านขายของที่ระลึก พิพิธภัณฑ์ และร้านอาหาร นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มชาวพื้นเมืองที่มาคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยการร้องเพลงและแสดงการเต้นรำแบบพื้นเมือง โดยนักท่องเที่ยวทุกคนจะมีเวลาอยู่ที่นี่ประมาณหนึ่งชั่วโมงและเลือกทำกิจกรรมอะไรก็ได้ เรากับคริสเตียนแวะไปดูโชว์เต้นรำแบบพอหอมปากหอมคอ แล้วก็แยกย้ายกันไปหามุมสงบนั่งเรียบเรียงบันทึกการเดินทางจนถึงเวลาที่ต้องขึ้นรถไฟกลับ

ระหว่างทางเจ้าหน้าที่เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า รถไฟจากกัวยากิลวิ่งไปถึงกิโตครั้งแรกใน ค.ศ. 1908 ใช้เวลาเดินทางทั้งหมดเพียง 12 ชั่วโมง และหลังจากนั้นก็เป็นยุคที่การคมนาคมด้วยรถไฟในเอกวาดอร์รุ่งเรืองสุดขีด ทั้งการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างพื้นที่บนภูเขากับเมืองท่าชายทะเลก็ก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่เมื่อมีถนนเข้ามาแทนที่ช่วงปลาย ค.ศ. 1990 รถไฟก็ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป หลายเส้นทางโดนดินถล่มจนต้องปิดถาวร บางเส้นทางถูกปล่อยทิ้งร้าง

“เกือบยี่สิบปีหลังจากนั้น เส้นทางรถไฟกัวยากิล-กิโต ปิดบริการเกือบทั้งเส้น ยกเว้นเส้นทางจมูกปีศาจระหว่างอเลาซี-ซิบัมเบ เส้นทางเดียวที่ยังเปิดรับนักท่องเที่ยวอยู่ตลอด”

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

ต้องขอบคุณเส้นทางสายนี้ค่ะ เพราะทำให้รัฐบาลมองเห็นว่านักท่องเที่ยวยังคงชื่นชอบที่จะเดินทางด้วยรถไฟและยินดีที่จะจ่ายเงินในราคาสูง เพื่อให้ได้ดื่มด่ำกับความสวยงามของเทือกเขาแอนดีสด้วยสายตาตัวเอง ใน ค.ศ. 2008 รัฐบาลทุ่มงบประมาณหลายล้านเหรียญเพื่อปรับปรุงเส้นทางรถไฟใหม่ทั้งหมด และเปิดตัวรถไฟท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ที่เน้นความหรูหราและความสะดวกสบายจนได้การตอบรับเป็นอย่างดี 

เมื่อรถไฟเทียบเข้าชานชาลาอเลาซี ทั้งพนักงานขับรถไฟ พนักงานดูแลความเรียบร้อย และเจ้าหน้าที่บรรยาย พากันมายืนเรียงแถวจับมือและขอบคุณผู้โดยสารทุกคนที่เดินลงมาจากรถอย่างกระตือรือร้น ส่วนเราเมื่อเสร็จจากที่สถานีแล้วก็แวะไปที่ร้านกาแฟอีกครั้ง เพื่อขอบคุณเจ้าของร้านให้คำแนะนำทั้งเรื่องตั๋วรถไฟและที่พัก 

เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose

เช้าวันถัดมาก่อนออกเดินทาง เราถือโอกาสออกไปเดินเล่นดูบรรยากาศในเมือง และบังเอิญเจอกับคุณลุงคนเมื่อวานในตลาด คุณลุงโบกไม้โบกมือทักทายเราสองคนมาแต่ไกล และเดินข้ามถนนเข้ามาหาพร้อมรอยยิ้มกว้าง 

“เป็นยังไง ไปขึ้นรถไฟมารึเปล่า เช้านี้ถนนใช้ได้แล้วนะ จะวิ่งกลับไปทางเดิมก็ได้ หรือว่าติดใจจะอยู่ต่ออีกก็ได้เหมือนกัน” 

ขอบคุณดินถล่มในวันนั้นที่ทำให้เราได้พบกับคุณลุง พี่ร้านกาแฟ รถไฟจมูกปีศาจ และเมืองเล็กๆ ในเทือกเขาแอนดีสแห่งนี้ 🙂 


เส้นทางรถไฟอันตราย, เอกวาดอร์, The Devil's Nose
ภาพ : Beatrice Murch Flickr

สมัยก่อนการนั่งรถไฟท่องเที่ยวสายจมูกปีศาจจะเป็นการนั่งไปบนหลังคาของรถสินค้าค่ะ รอบๆ รถมีราวเหล็กสูงประมาณหน้าอกให้นั่งเกาะได้ แต่เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเดินทางลักษณะนี้ จึงทำให้ต้องยกเลิกและเปลี่ยนมาใช้รถไฟท่องเที่ยวอย่างที่เห็นในปัจจุบันค่ะ

Writer & Photographer

Avatar

เอมิลิญา รัตนพันธ์

สาวนครศรีฯ เรียนและทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ ก่อนจะเก็บกระเป๋ามาออกทริปมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ปลายปี 2015 ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่เมืองเกวงกา ประเทศเอกวาดอร์ และยังคงเดินทางอยู่ :) Facebook ซ้อนท้ายมอไซค์ไปขั้วโลก