“ตอนเด็กฝันอยากเป็นอะไร”

ประโยคคำถามสั้นๆ แต่กินใจความ และต้องใช้เวลาในการค้นหาพิสูจน์คำตอบแทบทั้งชีวิต สำหรับ ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์ คำตอบสั้นๆ ในวัยเด็กของเขาคือ ‘นักเขียนการ์ตูน’ ด้วยสภาพแวดล้อมของบ้านที่มีคุณพ่อเป็นสถาปนิก คุณแม่ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์ ที่ทำงานในวงการโฆษณา นิสัยรักการอ่านได้ปลูกฝังเข้ามาอยู่ในชีวิต

หนังสือการ์ตูนสไตล์โชเนนจัมป์อย่าง ดราก้อนบอล สแลมดังก์ บอย หรือ โจโจ้ เป็นหนังสือเล่มแรกๆ ที่เขาหยิบขึ้นมาอ่าน พร้อมกับความชื่นชอบที่จะขีดๆ เขียนๆ วาดรูปการ์ตูน เพื่อเติมเต็มจินตนาการและความสุขในวันนั้น

 ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์

แต่ความฝันและชีวิตก็ไม่ได้เชื่อมต่อกันเป็นเส้นตรง เพราะถ้าใครรู้จักแบกกราวนด์ของผู้ชายคนนี้ ก็จะคงจดจำเขาในฐานะโมชันกราฟิกดีไซเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Another Day Another Render ที่รับทำ Motion Graphic Direction ที่มีผลงานเป็นที่คนรู้จักอย่าง นิทรรศการ ‘โพธิเธียเตอร์’ ที่เนรมิตพระอุโบสถวัดสุทธิวรารามให้เป็นเธียเตอร์ฉายงานศิลปะแบบ Projection Mapping เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หรือ isผลงานที่หลายคนต้องเคยเห็นแต่อาจไม่เคยรู้อย่าง Key Visual และไตเติ้ลซีรีส์จากนาดาวแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เลือดข้นคนจาง, PROJECT S The Series ฯลฯ รวมทั้งผลงานโมชันกราฟิกโฆษณาอีกหลายชิ้นที่ไม่ได้เอ่ยถึง

แต่ปัจจุบันเขาตัดสินใจหันเหเส้นทางชีวิตของตัวเองอีกครั้ง หลังจากที่ COVID-19 ทำให้งานของทั้งวงการโปรดักชันและโฆษณาต้องสะดุด ซึ่งงานประจำของเขาที่เป็นเหมือนปลายน้ำในอุตสาหกรรมก็สะดุดตามไปด้วย เขาและทีมจึงตัดสินใจหยุดพักงานในฐานะ Another Day Another Render และต่างแยกย้ายกลับไปค้นหาเส้นทางของแต่ละคนกันอีกครั้ง

ป้องหันเหเส้นทางกลับไปใกล้ความชื่นชอบในวัยเด็กของตัวเอง ความรู้สึกสนุกและพึงพอใจในการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนในวัยเด็ก ผสมกับงานอดิเรกที่ชื่นชอบการเล่นโมเดลฟิกเกอร์ จนกลายมาเป็น The Brush Saber โมเดลสตูดิโอธุรกิจที่ปั้นความชอบให้เป็นตัว และสามารถเลี้ยงดูชีวิตและแพสชันได้จริง

จุดเปลี่ยนสู่ธุรกิจปั้นความชอบเป็นตัว

“ต้องบอกว่าผมค่อนข้างเป็นคนโลภ” 

ป้องกล่าวถึงแนวคิดการทำงานของเขา ความโลภสำหรับเขาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงจำนวนเลขศูนย์ต่อท้ายในบัญชี แต่หมายถึงว่างานที่เขาอยากทำ คืองานที่ต้องตอบโจทย์ทั้งความสนุกและเลี้ยงดูชีวิตได้ด้วย 

“ตัวงานชิ้นหนึ่งควรจะมีสิ่งที่สนุกได้ และเราทำเงินกับสิ่งนั้นได้ด้วย ผมรู้สึกว่าช่วงสองปีแรกที่ผมเปิดบริษัท Another Day Another Render โชคดีมากที่ผมได้ทำงานแบบนั้นกว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์ ทีนี้จังหวะก่อนที่จะคลี่คลายมาเป็น The Brush Saber เหมือนเป็นช่วงประจวบเหมาะสองอย่างมาพร้อมกัน งานในอุตสาหกรรมที่เราทำดันมีช่วงโลว์ซีซั่นติดกันสองช่วงใหญ่ๆ เป็นช่วงที่ไปออฟฟิศแล้วเรียกว่านั่งกระดิกเท้ากันว่างๆ 

The Brush Saber ธุรกิจปั้นโมเดลของเล่น จากวิกฤตปิดบริษัทโมชันกราฟิกเพราะ COVID-19
The Brush Saber ธุรกิจปั้นโมเดลของเล่น จากวิกฤตปิดบริษัทโมชันกราฟิกเพราะ COVID-19

“ช่วงคลื่นลูกแรกๆ ที่คนส่วนใหญ่น่าจะเริ่มจะรู้สึกว่าเริ่มไม่ค่อยดีแล้ว อย่างโปรดักชันเฮาส์ใหญ่ๆ ก็เริ่มปิดตัวลง แต่บริษัทเราก็ยังไม่ได้มีปัญหาในเชิงการเงิน เหมือนเราตุนเงินไว้เยอะ และคิดว่าถ้านั่งรอ เฮ้ย เดี๋ยวไฮซีซั่นก็มา แต่พอมันเงียบไปสองซีซั่น ผมกับทีมงานก็คุยกัน แล้วเริ่มรู้สึกเหมือนกันว่าช่วงนี้แพสชันทีมเราดูเหี่ยวๆ เหมือนไม่ได้มีอะไรที่อยากทำ หรืออะไรที่น่าตื่นเต้นขนาดนั้น งานที่มีก็เป็นโปรเจกต์ที่เป็นงานลูกค้ามากขึ้น เราก็มาคุยกัน เพราะผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ต้องมีความอยากถึงจะมีแรงทำงาน พอสิ่งที่ต้องการเริ่มไม่ใช่ทางเดียวกัน เราก็ลองแยกย้ายไปทำอะไรของตัวเองกันก่อนไหม พอบริษัทปิดไป ผมก็มานั่งถามตัวเองว่าทำอะไรดี”

ในบรรยากาศล็อกดาวน์ที่ออกไปไหนไม่ได้ ป้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเริ่มต้นทำสิ่งใดต่อไปดี เขาจึงมองไปรอบๆ ตัว และค้นหาสิ่งที่จะทำต่อไปจากความอยากของตัวเอง และมีสิ่งหนึ่งที่เขาชอบทำในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา คือการเล่นโมเดลหลังจากเลิกงาน

“ตอนเด็กๆ พ่อผมชอบซื้อโมเดลมาเล่น แล้วอ้างว่าซื้อมาให้ผม (หัวเราะ) แกก็จะนั่งเล่นของแก ผมก็เริ่มซึมซับมาตั้งแต่ตอนนั้น เอามาทาสีงูๆ ปลาๆ เล่นไป สิ่งนี้เหมือนแพสชันที่ซ่อนอยู่ลึกๆ ตั้งแต่เด็ก เพราะเราเห็นมาตลอด จนรู้สึกว่าอย่าให้โตบ้างนะ จะซื้อมาเล่นให้แบบเต็มที่ไปเลย จนมาเริ่มเล่นจริงๆ ตอนเปิดบริษัทแรก แล้วงานกับงานอดิเรกก็ตีคู่กันมาตลอด

“พอเริ่มล็อกดาวน์ ผมก็เริ่มคิดว่า เฮ้ย มีอีกสิ่งหนึ่งที่เราอยากลองมานาน คือ 3D Printing ก็ไปซื้อเครื่องมาเล่นดู โชคดีที่มีน้องที่เป็นดีไซเนอร์เขาก็สนใจเหมือนกัน ผมก็เลยลองเอาไฟล์งาน 3D ที่น้องมีอยู่มาพรินต์ ซึ่งก็คือตัว T-rex ที่เป็นสีดำ สีเทา และสีขาว ซึ่งพอพรินต์เสร็จผมก็ทำตัวต้นแบบออกมา และลองเปิดขายบนเพจ สรุปขายหมด”

 ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์
 ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์

ป้องเล่าต่อว่าจุดนั้นทำให้เขาตัดสินใจได้ง่ายมากที่จะลองเดินเส้นทางนี้อย่างจริงจัง และมีความเชื่อลึกๆ ว่าธุรกิจนี้ไปต่อได้

“ผมรู้สึกว่าช่วงนั้นทำให้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ เยอะ การล้มลงของธุรกิจหลายอย่างที่ดูเหมือนจะมั่นคงเหลือเกิน หรือความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ เลยคิดว่าถ้าไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน ก็เลยคิดว่าลองเปิดทำของเล่นเลยแล้วกัน ไหนๆ ช่วงนี้เรายังพอมีเงินเก็บที่พออยู่ได้นานประมาณหนึ่ง แถมสิ่งที่ทำก็ไม่เชิงเป็นการเริ่มต้นใหม่ ทักษะส่วนใหญ่ผมเอามาจากการทำงานที่ผ่านมาได้หมดเลย คือปกติผมก็ปั้นโมเดล 3D อยู่แล้ว เรื่องการลงสีโมเดล ก็เป็นงานอดิเรกทำมาเกือบสามปี ช่วงที่เริ่มต้น เหมือนเป็นช่วงเวลาสามเดือนที่ผมต้องเอาทุกอย่างมาที่เคยทำรวมกัน

“ตอนที่ตัดสินใจเปิด The Brush Saber ขึ้นมา ความรู้สึกเหมือนผมกลับไปตอนประถม ที่บอกว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน ถ้ามันไม่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผมว่าทุกอย่างก็จะเป็นแบบที่เราเห็นและรู้สึกมาตั้งแต่เด็ก มีความเชื่อเรื่องความมั่นคงของการทำงานประจำหรืออาชีพนู้นนี้ แต่ตอนนั้นมันทำให้ผมมีลูกบ้าอีกรอบ”

The Brush Saber ธุรกิจปั้นโมเดลของเล่น จากวิกฤตปิดบริษัทโมชันกราฟิกเพราะ COVID-19

เริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวเพราะต้นทุนคือ ‘เวลา’

ในการเริ่มต้นธุรกิจและอาชีพใหม่สักอาชีพหนึ่ง ต้นทุนที่มีราคาแพงที่สุดอาจไม่ใช่ตัวเงิน แต่เป็นระยะเวลาที่เราต้องใช้จ่ายลงไปเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นประสบการณ์กลับมา ป้องแชร์กับเราว่านั่นเป็นเหตุผลที่เขามองเห็นถึงความเป็นไปได้ จากการนำความชอบใกล้ๆ ตัวมาเปลี่ยนให้เป็นธุรกิจ และเขาก็สร้าง The Brush Saber ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว 

“ถ้าเราเริ่มจากอะไรที่เราไม่รู้จักเลย เราก็จะใช้เวลาเยอะใช่มั้ย มันมีสองอย่าง ไม่ใช้เวลาเยอะ เราก็ใช้เงินเยอะ

ถ้าเริ่มทำธุรกิจจากสิ่งที่เรารู้จักอยู่ประมาณหนึ่งอยู่แล้ว เราจะใช้เวลาน้อยมากๆ ในการเริ่มธุรกิจนั้น ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุน เหมือนเราใช้ต้นทุนเก่า ไม่ต้องไปหาทุนใหม่” 

แล้วถ้าให้นิยามธุรกิจของตัวเองตอนนี้ว่าคืออะไร เป็นร้านของเล่นอย่างนั้นเหรอ ป้องอธิบายต่อว่า The Brush Saber เป็นเหมือน ‘โมเดลสตูดิโอ’ ที่แม้จะเริ่มต้นทำเมื่อปีที่แล้ว แต่จริงๆ เขาเพิ่งจดทะเบียนอย่างจริงจังมาเพียง 5 เดือนเท่านั้นเอง 

แม้ปัจจุบันจะโฟกัสในการผลิตชิ้นงานออริจินัลของตัวเอง แต่ก็มีเริ่มมีเซอร์วิสอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นการรับจ้างผลิตขึ้นรูปโมเดลให้กับศิลปิน ซึ่งล่าสุดก็มีงานของศิลปิน ฮ่องเต้-กนต์ธร เตโชฬาร ที่กำลังจะจัดนิทรรศการผ่านมือสตูดิโอของเขาเช่นกัน และในอนาคตจะมีบริการรับลงสีโมเดล รับประกอบโมเดล รวมทั้งเวิร์กช็อปการทำโมเดลแบบ One Stop Service ในอนาคต

The Brush Saber ธุรกิจปั้นโมเดลของเล่น จากวิกฤตปิดบริษัทโมชันกราฟิกเพราะ COVID-19

“ผมว่ากระบวนการสำคัญหลักๆ เลยคือเรื่องการปั้นโมเดล เพราะเป็นการผสมทักษะระหว่างการปั้นโมเดลกับการต่อตัวพลาสติกคิท เวลาเราขึ้นโมเดลเพื่อเตรียมผลิต ต้องดีไซน์พวกจุดเชื่อมต่อต่างๆ เพราะว่าต้องทำที่ละชิ้นๆ และนำมาต่อกัน” 

กระบวนการทำงานแทบจะจบงานได้ในห้องพื้นที่ 4 x 4 ตารางเมตรที่เขาอาศัยอยู่ อันดับแรกเป็นส่วนที่ยากที่สุด คือการนำไอเดียในหัวออกมาปั้นเป็น 3D และนำไปพรินต์บนเครื่อง 3D Printing และนำโมเดลที่ได้มาประกอบเข้าด้วยกัน จากนั้นเขาต้องส่งโมเดลที่ออกแบบเสร็จจนพอใจ ไปให้โรงงานขึ้นบล็อกเพื่อหล่อเรซิ่น ซึ่งเป็นขั้นตอนเดียวที่เขาไม่สามารถทำเองได้ เพราะการหล่อเรซิ่นต้องใช้พื้นที่และมีกลิ่นเหม็น ไม่เหมาะกับการทำในพื้นที่เล็กๆ แต่เมื่อได้เรซิ่นมาเรียบร้อย เขาก็นำมาประกอบ อุด ขัด ทำสี ทำแพ็กเกจจิ้ง รวมไปถึงทำโฆษณาขายจบได้ภายในห้องแห่งนี้

“จริงๆ ผมรู้สึกว่าในรายละเอียดของอาชีพนี้มันเรียบง่ายมากเลยนะ รายละเอียดแปดสิบถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของมันคืองานช่างนั่นแหละ ซึ่งระหว่างไอเดียกับเทคนิคมันสำคัญพอๆ กัน ไอเดียคือจุดขาย แต่สิ่งที่จะทำให้ลูกค้าแฮปปี้กับตัวชิ้นงานคือความคราฟต์ เขาอาจซื้อเพราะเห็นงานออกแบบตัวนี้เจ๋งดี มีคาแรกเตอร์ แต่ถ้าสมมติเขาซื้อไปแล้วชิ้นงานมันชุ่ย งานของเราก็ไปต่อไม่ได้”

The Brush Saber ธุรกิจปั้นโมเดลของเล่น จากวิกฤตปิดบริษัทโมชันกราฟิกเพราะ COVID-19
The Brush Saber ธุรกิจปั้นโมเดลของเล่น จากวิกฤตปิดบริษัทโมชันกราฟิกเพราะ COVID-19

ขายได้ด้วยความต่างและความเข้าใจ

“ตอนที่งานทำออกเป็นชิ้นได้แล้ว ผมรู้สึกว่ามันขายได้ ด้วยอาชีพที่เราเคยทำมาเหมือนเป็น One Stop Service อยู่แล้ว เราเข้าใจกระบวนการทั้งหมด ทั้งโปรดักชันและโฆษณา ทำให้แทบไม่ต้องจ้างใครเลย แค่ต้องหาช่องทางการขาย ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จักขนาดนั้น”

หากเราเข้าใจจุดเด่นจุดแข็งในตัวสินค้าของตัวเอง การต่อยอดและมองหาตลาดของตัวเองก็จะทำได้ง่าย ป้องเล่าว่าของเล่นที่เขาทำแตกต่างจากไลน์ของเล่นที่คนนิยมทำกันเยอะในตลาดทั่วไปของไทย อย่างสายแมสแบบพลาสติกคิทอย่างกันดั้ม หรืออาร์ตทอยตัวการ์ตูนสไตล์มินิมอล งานของเขาเน้นความเหมือนจริงของภาพที่ออกมา และจัดวางแบบ Diorama ที่เล่าเรื่องราวภายในตัวเอง

“เวลาผมพูดถึงงานตัวเอง มักจะบอกว่ามันคือ Statue ยกตัวอย่างค่ายที่ดังๆ อย่าง Prime 1 หรือ SideShow ซึ่งตั้งแต่ผมเริ่มทำแรกๆ ก็รู้อยู่แล้วว่าตลาดนี้ในไทยคนทำค่อนข้างน้อย เพราะของเล่นที่ครองตลาดใหญ่ในเมืองไทยเป็นพวกแอคชันฟิกเกอร์ โมเดลพลาสติกคิทแบบกันดั้ม หรืออาร์ตทอยมินิมอลต่างๆ ซึ่งถามว่าเราแบบว่าชื่นชอบความงามของงานแบบนั้นไหม ก็รู้สึกว่าสวยดี แต่เราชอบงานปั้นอีกสไตล์ ที่ดูเหมือนจริงและมีเรื่องราวในตัวเองแบบที่ทำอยู่มากกว่า ซึ่งมันโอลด์สคูลมากเลยนะ แต่เพราะว่าเราโตมาแบบนั้น แล้วความชอบของเราดันเป็นสิ่งที่มีคนทำน้อยพอดี”

ตัวอย่างงานที่ขายได้เยอะที่สุดที่ The Brush Saber เคยทำมา คือโมเดลไดโนเสาร์ Triceratops 2 ตัว ที่กำลังประชันหน้ากัน ป้องบอกว่างานทุกชิ้นของเขามักเริ่มต้นจากความอยาก แล้วค่อยหาตลาดทำโฆษณาตอนงานเริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว 

“จริงๆ อันนี้มันเป็นอาจจะเป็นปมส่วนตัว” เขาหัวเราะ “เพราะว่าเหมือนตอนทำบริษัท เราค่อนข้างตามโจทย์การตลาดเยอะ พอเป็นงานที่เริ่มจากเราก็เอาที่อยากทำก่อน คืออย่าง Triceratops ที่ทำไป ผมก็จะดูว่างานที่ทำไป เวลาไปตั้งบนชั้นวางควรจะตั้งยังไง เลยออกแบบฐานไม้ใส่เข้าไปด้วยเลย เพราะว่าเราก็เป็นคนเล่นโมเดลมาก่อน เราเข้าใจเวลาคนเล่นว่าบางทีซื้องานโมเดลสวยๆ ไป แต่จะหาฐานสวยๆ ที่ไหนมาวางวะ ก็พยายามใส่ใจดีเทลพวกนี้เข้าไปด้วย”

อีกหนึ่งจุดที่ทำให้ต้นทุนในการเริ่มธุรกิจของ The Brush Saber ไม่สูงมาก คือการทำการตลาดและใช้หน้าร้านออนไลน์บนเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมในการเปิดขาย ซึ่งในปัจจุบันการเริ่มอะไรเล็กๆ การใช้เครื่องมือบนโลกออนไลน์ก็สร้างความคล่องตัวให้ธุรกิจได้มาก

“จริงๆ ตอนนี้วิธีขายของผมยังค่อนข้างดิบๆ อยู่นะ เปิดขายในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แค่นั้นเอง เพราะว่าเรายังทำน้อย ไม่ได้ทำเป็นโรงงานขนาดนั้น ซึ่งก็ยังไม่เจอปัญหาในการทำธุรกิจในระบบแบบนี้นะ ผมค่อนข้างชอบด้วยซ้ำที่เราขายในออนไลน์ได้ง่ายดาย อย่างล่าสุดก็มีลูกค้าคนเกาหลี จีน ไต้หวัน ติดต่อมาขอซื้องาน ซึ่งอันนี้ผมว่าดีกว่าการมีหน้าร้านเยอะ ไม่มีภาระเรื่องค่าที่ การขายก็ปิดจบง่าย ส่วนที่ดีที่สุดของงานตอนนี้คือผมพึ่งพาคนอื่นน้อยมาก มีแค่ตัวเรา หรืออาจจะมีต้องคุยกับศิลปินที่เราร่วมงานด้วย กับแค่ระบบการขายออนไลน์แค่นั้นเอง” 

 ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์

สนุกกับงานและชีวิตที่ไม่มี Urgent Call

ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบชีวิตของคนในวงการโปรดักชัน มักจะมีลูปชีวิตที่วิ่งวนอยู่กับโจทย์ที่ต้องจัดการอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องพูดถึงการออกแบบบาลานซ์ชีวิต แค่กินอาหารให้ตรงมื้อ แบ่งเวลาให้กับคนพิเศษ หรือไม่เทนัดเพื่อนเพราะเดดไลน์งานที่ต้องส่ง ซึ่งป้องเล่าว่าตั้งแต่เริ่มต้น The Brush Saber ขึ้นมาก ดูเหมือนว่าความสนุกในการทำงาน และบาลานซ์ในชีวิตของเขาค่อยๆ กลับคืนมา 

“ถ้าในเชิงงานความรู้สึกตื่นเต้นกลับมาอีกครั้งมั้ง รู้สึกได้ว่าเรายังมีเลเวลให้อัปอีกเยอะ การพัฒนาตัวเองกับงานที่กำลังทำอยู่ยังคงไปได้อีกไกล เพราะเป็นเรื่องคราฟต์แมนชิปที่เราสนุกและมีแพสชันกับมัน ยิ่งทำก็ยิ่งอยากให้งานที่ออกมาเจ๋งขึ้นไปเรื่อยๆ 

“ถ้าในเชิงชีวิตสิ่งที่รู้สึกว่าเปลี่ยนไปสุดๆ เลยคือรู้สึกว่าชีวิตมีระเบียบขึ้น เพราะงานที่ทำมันไม่มี Urgent Call คืออาชีพเก่าผมมี Urgent Call อยู่ดีๆ ลูกค้าโทรมาตอนกินข้าว โทรมาตอนสี่ทุ่ม หรือตอนจะนอน เรียกว่าเป็นงานที่เราพึ่งพิงกับคนอื่นค่อนข้างเยอะ แต่ว่างานนี้เราทำอยู่ปัจจุบัน เป็นงานที่ค่อนข้างควบคุมเวลาของตัวเองได้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือเรามีเดดไลน์อย่างเดียวคืองานจะต้องส่งถึงมือลูกค้า แต่เราไม่ต้องมีส่งงานดราฟต์หนึ่ง ดราฟท์สอง ต้องประชุมกับลูกค้า ประชุมกับเอเจนซี่ ไม่ได้มีอะไรมายุ่งเกี่ยวกับชีวิตประจำวันเราขนาดนั้น”

เราแซวเขาเบาๆ ว่าเหมือนคนทำกรรมฐานด้วยการเพนต์ด้วยโมเดลแอร์บรัช 

“(หัวเราะ) ผมว่างานนี้ค่อนข้างเป็นอิคิไกเลย ผมรู้สึกว่ามันส่งผลต่อคนรอบข้างที่ดีด้วย อย่างแฟนผมบอกว่าพอทำงานนี้แล้วดูผมอารมณ์ดีขึ้น เหมือนงานช่วยให้เรามีสมาธิมีสติ อย่างแต่ก่อนงานทำให้ผมเป็นคนขี้หงุดหงิด แต่พอมาทำอันนี้… พูดแล้วเหมือนมาบวชเลยว่ะ จริงๆ ว่าตอบว่าอิคิไกก็สรุปได้ประมาณหนึ่ง”

 ป้อง-ปานปอง วงศ์สิรสวัสดิ์

Lesson Learned

ป้องบอกว่า ต้นทุนสำหรับบางอาชีพไม่จำเป็นต้องมีเยอะ ทั้งความเชี่ยวชาญและการเงิน สิ่งที่เขาทำไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าใครจะทำตามได้ ด้วยอุปกรณ์ในปัจจุบันที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และมีราคาไม่แพงหูฉี่อย่างสมัยก่อน แต่สิ่งที่ท้าทายจริงๆ ของอาชีพนี้คือ ถ้าคุณไม่ได้ชอบจริงๆ คุณจะอยู่กับมันไม่ได้นานขนาดนั้น หลายขั้นตอนในการทำงาน เรียกว่าน่าเบื่อ เพราะมันคือการทำสิ่งเดิมซ้ำๆ วนไปเรื่อยๆ 

และส่งท้ายด้วยเสียงหัวเราะว่า “อย่านั่งเก้าอี้แบบแข็งๆ นะครับ ปวดหลังชัวร์”

Instagram : thebrushsaber

Writer

Avatar

ปริญญา ก้อนรัมย์

อดีตกองบรรณาธิการนิตยสาร ที่สนใจบทสนทนาของผู้คน และกำลังหามรุ่งหามค่ำเพื่อชีวิตเอกเขนก

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ