เทียบระยะทางด้วยเวลาราว 1 ชั่วโมงเศษจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดนครปฐม ก็รู้สึกใกล้ขึ้นมา หากเปรียบกับเวลาบนท้องถนนกว่าจะถึงบ้านของหลายคน

และถ้าจำนวนเวลานั้นแลกด้วยคุณภาพชีวิตอีกแบบ บางคนยกมือเห็นด้วยว่าคุ้ม

การเดินทางไปเมืองส้มโอของคอลัมน์หมู่บ้านครั้งนี้ เรานัดหมาย บอน-วีรภัฎ และ วิ-วิชชุกร โชคดีทวีอนันต์ เจ้าของโครงการ The Bound House (เดอะ บาวด์เฮาส์) ที่พาตัวเองกลับบ้านเกิดมาสร้างที่อยู่อาศัย และพกความเป็นไปได้ใหม่ๆ พร้อมกับการมองเห็นศักยภาพของจังหวัดไม่เล็กไม่ใหญ่นี้

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

The Bound House เป็นหมู่บ้านขนาดพอดี มี Premium Townhome เพียง 20 ยูนิต และ Shop / House อีก 8 ยูนิต ที่สถาปนิกผู้ก่อตั้ง Studiotofu พ่วงตำแหน่ง Developer ตั้งใจให้บ้านโครงการแรกของเขาโปร่งเบา ไม่อึดอัด คิดถึงการใช้ชีวิตในบ้าน และการทำให้บ้านเป็นมากกว่าบ้านอย่างรอบด้าน ทั้งการทำบ้านให้ทำมาหากินได้ เป็นชุมชนขนาดย่อมที่ทำให้เห็นว่าการใส่ใจสิ่งแวดล้อมเริ่มได้จากบ้านโดยการชวนลูกบ้านแยกขยะ 6 ประเภท ทำถังฝังกลบไว้หลังบ้าน และทำให้บ้านประหยัดพลังงานได้ด้วยการออกแบบยึดหลัก Passive Design ที่ทำให้บ้านเย็นโดยพึ่งพาธรรมชาติ อย่างการไหลเวียนอากาศที่ดีโดยไม่จำเป็นต้องติดแอร์ และได้รับแสงสว่างมากพอจากหลังคาสกายไลต์ รวมถึงช่องหน้าต่าง

รถจอดเทียบ LIFE SHOP Nakhon Pathom สองสามีภรรยารอต้อนรับเราอยู่ในร้านของฝากที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นทั้งธุรกิจใหม่ บ้าน บ้านตัวอย่าง และอีกนัยเป็นพื้นที่ส่วนกลางหมู่บ้านที่ใครๆ ก็แวะมานั่งคุยกับพวกเขาได้

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้
The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

 เราทักทายกันสักครู่ ก่อนได้รับคำชวนให้ขึ้นไปสำรวจบนชั้น 2 – 3 ของอาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ห้องนั่งเล่น มุมทำครัว และแอบย่องเข้าห้องนอนสีขาวสะอาดตา เข้ากันดีกับเฟอร์นิเจอร์ไม้สีอบอุ่นที่แซมด้วยภาพงานศิลปะและของตกแต่งสีสดเป็นระยะ

จากนั้นเรากลับลงมานั่งยังชั้นลอย ฟังพวกเขาเล่าถึงแนวคิดในการทำบ้านแสนคราฟต์ทั้ง 28 หลังนี้

 Creative Village

แม้นครปฐมจะเป็นจังหวัดปริมณฑล แต่ก็เป็นเมืองที่มีมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ถึง 5 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มหาวิทยาลัยคริสเตียน และบอนเองก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของเมืองอยู่ตลอด

“เมืองมีความน่ารักๆ ยังเจนเนอเรชัน ยังเอเนอจี้ มีคาเฟ่เปิดใหม่ ร้านอาหารเปิดใหม่ มีคนมาเต็มไปหมด เลยคิดว่าถ้าเราจะทำหมู่บ้านน่ารักๆ ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ” เขาเริ่มต้นเล่า ก่อนเสริมความมั่นใจอีกอย่างว่า โลกออนไลน์ทำให้คนเข้าถึงง่าย จึงสร้างที่ไหนก็ได้เช่นกัน

แต่สิ่งที่ไม่ง่ายกลับเป็นการอธิบายให้คนรอบข้างเข้าใจ แม้หลายคนจะบอกว่าดี แต่คำว่า ‘แต่’ ก็มาพ่วงด้วยเสมอ

“ดี แต่ที่นครปฐมมีจะซื้อหรือเปล่า ถ้าอยู่เอกมัย ทองหล่อ จะไม่ว่าเลย” เป็นคำถามและคำแนะนำยอดฮิต

ดูเหมือนว่าบอนจะยึดคำว่า ‘ดี’ จากคีย์ของการทำธุรกิจมากกว่า นั่นคือ ทำของดี ยังไงก็น่าจะขายได้ ไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็ตาม บวกกับการมองเห็นกราฟธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แนวราบในต่างจังหวัดค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่อาจจะไม่ได้หวือหวาเหมือนโครงการอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ

“ตอนนั้นเราคิดว่าอยากมาเติมนครปฐม เพราะพ่อเป็นคนนครปฐมและตั้งใจทำของดีในราคาที่เหมาะสม เราสำรวจตลาดจนผลออกมามั่นใจถึงลงเสาเข็มทั้งโครงการ โดยส่วนตัวเรามาทางสายสถาปัตย์ เชื่อว่าสถาปัตยกรรมที่ดี เป็นรากฐานทางกายภาพที่จับต้องได้ เช่น คนใช้พื้นที่แล้วมันสร้างคอมมูนิตี้ขึ้นมาได้ การทำแบบ Passive Design ให้อยู่สบาย มันเหมือนเป็นแรงดึงดูดให้คนที่เห็นในข้อดี หรือมีแนวคิดคล้ายๆ กันเขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำ

“ด้วยความที่เราไม่ใช่หมู่บ้านใหญ่มาก มีอยู่ยี่สิบแปดยูนิต ประชากรชาวอำเภอเมือง จังหวัดนครนครปฐม มีอยู่สองแสนกว่า คิดว่าน่าจะหาเจอคนที่เข้าใจ” หญิงข้างกายเสริม

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

Creative Village จึงเป็นคอนเซปต์หลักที่บอนใส่ลงไปในการออกแบบบ้านที่พวกเขาเองยังอยากอยู่

ทั้งคู่อยากให้ที่นี่เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ซึ่งมักแปลงบ้านตัวเองเป็นพื้นที่ทำธุรกิจ ไม่ว่าร้านค้าหรือขายของออนไลน์ ไปจนถึงสตูดิโอทำงาน แต่ในทางการตลาด เขากลับคิดว่าสิ่งนี้นามธรรมเกินกว่าจะสื่อสารให้คนเข้าใจ ยิ่งเป็นที่จังหวัดนครปฐมด้วยแล้ว คนอาจจะงง จึงเลือก ‘บ้านที่หายใจได้’ และ ‘บ้านที่เป็นมากกว่าบ้าน’ มาเล่าภาพรวมโครงการแทน

Craft Home

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

ในโครงการ The Bound House มี Premium Townhome ขนาด 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 255 – 278 ตารางเมตร อยู่ 20 ยูนิต และ Shop / House ขนาด 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 220 ตารางเมตร อีก 8 ยูนิต

ที่นี่เป็นโครงการที่ออกมาจากชีวิตจริงของเจ้าของโครงการ คิดถึงการอยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตมากกว่าเหตุผลทางธุรกิจ เขาบอกว่าหากทำบ้านของตัวเองคงออกมาแบบนี้ โดยความต้องการของเขาก็เป็นความต้องการพื้นฐานของคนทั่วไป เช่น ขนาดไม่ใหญ่มาก บ้านโปร่งโล่ง ระบายอากาศได้ดี อยู่สบาย อบอุ่น

บ้านหายใจได้ที่ว่า จึงเกิดจากการวางแปลนตามทิศทางลม และซ่อนดีเทลการออกแบบช่องระบายอากาศไว้ใต้หลังคา ให้ไหลเวียนต่อเนื่องไปที่ช่องหน้าต่าง และพื้นที่ตรงกลางบ้านมีหลังคาสกายไลต์เพิ่มแสงธรรมชาติ ช่วยประหยัดพลังงานให้กับทาวน์โฮม บันไดและห้องน้ำให้มาอยู่ฝั่งเดียวกันเพื่อให้พื้นที่อีกฝั่งโล่งกว้าง ส่วนอาคารพาณิชย์ด้านหน้ามีเพดานสูงแบบ Double Volume กับช่องประตูหน้าต่างขนาดใหญ่และเยอะ

ฟังดูเบาสบายสมชื่อ

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้
The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

อีกคอนเซปต์ที่น่ารักคือ อยากให้อยู่บ้านเหมือนพักผ่อน จึงทำบ้านให้เป็นบรรยากาศรีสอร์ตที่ใช้ชีวิตอยู่ได้ทุกห้องแบบไม่อุดอู้ ด้วยการจัดสรรพื้นที่อย่างคุ้มค่า โดยเฉพาะห้องน้ำซึ่งกว้างมากแม้เป็นอาคารพาณิชย์ และตึกแถวนี้ยังแบ่งได้ถึง 3 ห้องนอน

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

“การทำงานของสเปซ ทำให้เกิดเรื่องความงาม ประหยัดพลังงาน และกิจกรรมของครอบครัว คล้ายๆ กับได้นกหลายตัว

เราไม่ได้เน้นความหรูหรา แต่เน้นความต่อเนื่อง ทั้งพื้นที่ ดีไซน์ และโทนสี คนเข้าไปจะรู้สึกว่านี่คือบ้านดีๆ หลังหนึ่ง เขาเกิดอารมณ์ร่วมกับมุมต่างๆ ว่าเขาจะทำพื้นที่ตรงนี้อย่างไร เห็นครัวใหญ่ๆ ก็คิดว่าตอนเช้าหรือตอนเย็นเขาจะมีกิจกรรมอะไรกับคนในครอบครัวบ้าง พื้นที่ที่มีสกายไลต์เชื่อมต่อกับข้างล่าง นอกจากเรื่องประหยัดพลังงานจากแสงธรรมชาติ เป็นเรื่องการเชื่อมต่อกิจกรรมของคนในครอบครัว เช่น พ่อแม่อยู่ข้างล่าง ลูกทำการบ้านอยู่ข้างบน แล้วเรียกลงมากินข้าว

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

“เรามีความคิดอีกอย่างหนึ่งคือ คนมีบ้านอยู่แล้ว ทำไมต้องมาซื้อบ้านนี้ด้วย เรามองถึงคนเจเนอเรชันใหม่ที่ถ้าไลฟ์สไตล์เปลี่ยน ก็มีโอกาสที่ที่อยู่อาศัยจะปรับตัวตาม อย่างถ้าย้อนเวลากลับไปยี่สิบถึงสามสิบปีที่แล้ว คนนิยมบ้านที่มีบริเวณสนามหญ้ากว้างๆ บ้านหลังไม่ใหญ่มาก เราเลยทำกลับกัน สร้างบ้านเต็ม เน้นต้นไม้ในบ้าน ไม้กระถางดูแลง่ายๆ ชั้นสอง ชั้นสาม ของตึกแถว มีชุดระเบียงกว้างๆ ปลูกไม้เลื้อยหรือปลูกต้นไม้ใหญ่ได้เลย เพราะทำโครงสร้างระบบกันซึมไว้แล้ว

“โดยพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องไปทำอินทีเรียจัดๆ ลูกค้าหลายหลังบอกว่าชอบสเปซมากเลย โล่งๆ มีโต๊ะอยู่ตัวหนึ่งเป็นมาสเตอร์พีซก็สวยแล้ว เราดีใจว่าเขาเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามสื่อว่า พอสเปซดีแล้วก็ไม่ต้องบิลด์อะไรเยอะ อยู่โล่งๆ คลีนๆ กับธรรมชาติ

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้
The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

“เราพยายามให้ต้นไม้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ เพราะต้นไม้คือชีวิต ต้นเหลืองปรีดียาธรที่ปลูกไว้เป็นตัวอย่างก็ปรึกษากับภูมิสถาปนิกว่า อยากได้ต้นใบไม่ค่อยร่วง ลูกบ้านไม่ต้องดูแลยาก สวยง่าย สวยเลย ซึ่งต้นนี้ฟอร์มมันพุ่งสูง เป็นต้นไม้รากฝอยลงข้างล่าง ไม่เข้าบ้าน ต้นสารภีใน Shophouse จริงๆ เป็นต้นไม้ปลูกนอกบ้าน เลยแอบพิเศษตรงแสงธรรมชาติที่มี ทำให้เราเลี้ยงในบ้านได้ด้วย” ทั้งคู่ช่วยกันอธิบายดีเทลของบ้านที่พวกเขาแอบเรียกกันเองว่าคราฟต์โฮม เพราะทุกสเปซเต็มไปด้วยความใส่ใจ แม้กระทั่งการเลือกกระเบื้องให้ไม่เหมือนกันเพื่อเกิดความต่อเนื่องของพื้นที่

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

สิ่งที่ทำให้โครงการ The Bound House แตกต่างจากหมู่บ้านอื่น คือการนำสายไฟฟ้าลงดิน ด้วยไม่อยากให้เป็นมลพิษทางสายตา และยังหยิบเอาเซนส์ของพระประโทณเจดีย์ซึ่งอยู่ตรงข้ามหมู่บ้าน มาใส่ไว้ในบ้านตัวอย่างผ่านวัสดุกระเบื้องดินเผา เผื่อลูกบ้านหลังไหนจะหยิบเอาไอเดียไปใช้ก็ทำได้ 

“เราค่อนข้างพิถีพิถัน ทำโครงการอสังหาริมทรัพย์แบบโฮมเมด บางทีเราเจอลูกค้าเอง ขายเอง ชวนเขาคุยถึงสารทุกข์สุขดิบ และบางครั้งก็เหมือนเก็บข้อมูลสิ่งที่เขาคิดกับบ้าน มุมนั้น มุมนี้ ที่ซื้อเพราะอะไร ไม่ซื้อเพราะอะไร” สถาปนิกพ่วงตำแหน่งเดเวลอปเปอร์เล่าว่า ที่ทำอย่างนั้นเพราะอยากรู้ฟีดแบ็กจากลูกค้าจริงๆ ซึ่งมีส่วนทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความใส่ใจ

“ตอนนี้กำลังทำเรื่องแลนด์สเคป คิดว่าจะทำสนามเด็กเล่น สนามทรายเล็กๆ มีสวนส่วนกลาง มีสวนกินได้เล็กๆ ไม่ต้องดูแลยากมาก ลูกบ้านหลายคนก็เรียกร้องอยากได้พื้นที่เป็นลานเอาต์ดอร์ไว้เล่นบาสเกตบอล สเก็ต และเตะบอลได้ เราก็มีพื้นที่ก็อาจจะจัดให้เป็นแบบนั้น ตอนแรกจะมีแค่ลู่วิ่ง พอเป็นลาน เขาก็ใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เราใช้วิธีคุยกับหลายๆ บ้าน และดูพฤติกรรมการใช้งานจริงๆ

“ในเมื่อต้องอยู่ที่นี่ ทำไมเราไม่ทำให้เป็นที่ที่ดีที่สุด” อดีตแฟชั่นดีไซเนอร์ย้ำ

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้
The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

บ้านที่อยู่อย่างอยากได้

บอนและวิเล่าว่าที่สื่อสารคำว่า ‘บ้านที่เป็นมากกว่าบ้าน’ ก็เพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน บางคนขายของออนไลน์ก็ต้องการมุมถ่ายรูป ต้องการสตูดิโอเล็กๆ ที่บ้าน ด้วยพื้นที่สว่างจากแสงธรรมชาติ ข้อนี้ทำได้อยู่แล้ว และยังคิดถึงการทำมุมไว้ให้ถ่าย Pack Shot เล็กๆ ของตัวเองด้วย

คอนเซปต์บ้านที่ทำกิจการของตัวเองได้จึงเกิดขึ้นพร้อมกัน

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

 LIFE SHOP Nakhon Pathom เป็นกิจการร้านของฝากใต้บ้านที่พวกเขาอยู่ ซึ่งอยากทำให้เห็นตัวอย่างและยังเป็นเหมือนห้องรับแขกของหมู่บ้าน

“ที่นี่เป็นเหมือน Home Studio Shop เกิดขึ้นจากสินค้าของวิที่ทำขายออนไลน์ เราอยากสื่อสารออกไปว่าไม่ใช่แค่ Shop House อาคารพาณิชย์หรือว่าตึกแถวปกติ แต่เขามีชีวิตอยู่ได้ทั้งวัน ข้างล่างก็ค้าขายได้

“ในอนาคต เราตั้งใจให้ลูกบ้านหรือคนที่สนใจมาซื้อบ้าน ได้มานั่งคล้าย Self Service Unit ทุกคนเอาตังค์มาวาง ชงกาแฟ ดื่มน้ำได้”

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้
The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

ด้วยคอนเซปต์ทั้งหมดที่ว่ามา ดึงดูดคนที่มีความต้องการแบบเดียวกัน ลูกบ้านตอนนี้มีทั้งคุณหมอฟันที่ดีไซน์คลินิก Neighbor Tooth แบบโฮมมี่ ข้างในเป็นกระท่อมน่ารักๆ เหมือนทำฟันบ้านเพื่อน จนใครๆ ก็อยากกลับมาอีก เจ้าของแบรนด์เครื่องหนัง Nerb Handcrafted ที่แบ่งบ้านเป็นพื้นที่รังสรรค์งานทำมือ ไปจนถึงสองนักอบขนมปังโฮมเมดแห่ง The happy house ที่ในอนาคตอาจเปิดเวิร์กช็อปสอนเด็กๆ ทำขนม

จะเรียกว่าเป็นความบังเอิญที่เกิดจากความตั้งใจก็ได้

“หลายคนบอกว่าบ้านเราเลือกลูกค้า แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เลือกนะ เราโชคดีมากที่พวกเขามาเจอกันเอง” เธอว่า เมื่อคนที่มาซื้อกลายเป็นกลุ่มที่วางแผนธุรกิจไว้สำหรับ Creative Village ตั้งแต่แรก

หมู่บ้านที่อยากให้คนรักษาสิ่งแวดล้อม

ไม่น่าแปลกที่โครงการ The Bound House จะไม่มีป้ายกองโจร แถมยังมีบิลบอร์ดน้อยมาก เพราะทั้งคู่เห็นตรงกันว่าไม่อยากสร้างขยะเพิ่ม และใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียทำการตลาดด้วยคอนเทนต์ รวมถึงสื่อสารกับคนที่ตั้งใจซื้อบ้าน เพื่อช่วยวางแผนและแนะนำหลังที่เหมาะสมให้

อย่างวิดีโอที่ในเพจเฟซบุ๊กหรือเรื่องราวน่ารักๆ ทั้งหลาย พวกเขาก็คิดทำเองทั้งหมด

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้
The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

“เราค่อนข้างใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเยอะมากๆ เราทำรั้วตะแกรงเพื่อปลูกต้นไม้แทนรั้วคอนกรีตทึบ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่อง Passive Cooling ลดอุณหภูมิ เพิ่มออกซิเจน ส่วนเรื่องเป็นการจัดการขยะมูลฝอย ทุกบ้านจะได้คู่มือการคัดแยกขยะ หน้าโครงการมีถังขยะแยกหกประเภทไว้ให้” บอนยังบอกอีกว่า ในบ้านตัวอย่าง เขาทำถังหมักปุ๋ยไว้ให้ดูด้วย เพราะเขาเชื่อว่าการเริ่มต้นจากหลังครัวตัวเองดีที่สุด

คนดีไซน์คู่มือก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นฝีมือวิ ผู้อินเรื่องการแยกขยะและ Zero Waste มาตั้งแต่ไหนแต่ไร

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

“เราพยายามทำกราฟิกน่ารักๆ เช่น หลอดแบบนี้ใช้เวลาสี่ร้อยปีกว่าจะย่อยหมด พะยูนเกิดมาแล้วตายกี่ตัว ถ้าทำได้ก็จะดี เข้าใจว่าบางคนอยากแยกแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ที่ถังเลยมีกราฟิกอธิบายอย่างละเอียดๆ นิดหนึ่ง เพราะเรารู้บางทีเขาไม่ได้อยากทิ้ง แต่เขารีบ หรือไม่รู้ว่าต้องแยกยังไงบ้าง ก็ค่อยๆ ปรับตัวไป อย่างบางคนบอกว่ายังไงเขาก็เอาไปเทรวม ถึงแม้จะเทรวม แต่ก็ทำงานได้เร็วขึ้นเยอะ เพราะเราแยกมาแล้ว ล้างมาแล้ว เลยคิดว่าขอเป็นส่วนเล็กๆ ถ้าเราไม่ทำใครจะทำ ต้องค่อยๆ เริ่ม

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้
The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

“รวมถึงการรียูสหรือใช้อะไรซ้ำๆ ด้วยนะ อย่างเฟอร์นิเจอร์ของบ้านที่เราอยู่หลังนี้ พยายามซื้อใหม่ให้น้อย บางโต๊ะเอามาจากออฟฟิศ เก้าอี้ในบ้านไม่ต้องเหมือนกันก็ได้ คือถ้าเรารียูสได้ มันคือเบอร์หนึ่งของการช่วยเรื่องการใช้ทรัพยากร นี่ส่งผลมาถึงสินค้าในร้านด้วยที่เอาเศษผ้ามาใช้ เราอยากลองชุบชีวิตใหม่ให้มันให้ออกมาเป็นของมีคุณค่าและคนซื้อ”

สิ่งที่พวกเขาทำได้มีการปรึกษาเทศบาลกับจังหวัด ซึ่งหน่วยงานต่างๆ เห็นชอบและสนับสนุน จนมีคนของภาครัฐ มาเยี่ยมชมและดูงานว่าทำอย่างไร บางทีก็มาจากจังหวัดอื่น เพื่อนำแนวคิดไปปรับใช้บ้าง

หมู่บ้านที่มีแต่เพื่อนบ้านและบ้านเพื่อน

“เรามีความภูมิใจในเจ้าของบ้านทุกหลัง ส่วนใหญ่มีอาชีพที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความคึกคัก มีลูกค้าคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เขาจะกำเงินห้าล้าน หกล้าน ไปซื้อบ้านที่ไหนก็ได้ แต่เพื่อนบ้านเขาซื้อไม่ได้ เราดีใจ (พูดพร้อมกัน) และสิ่งที่เราดีใจมากที่สุดเลยนะ ไม่ใช่การที่ลูกค้าทำสัญญาจองโอน แต่พอเขาเข้ามาอยู่แล้วบอกกับเราว่า บ้านพี่มันอยู่ดีจริงๆ เลย บางหลังไม่ติดแอร์แต่ข้างล่างก็อยู่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขมากกว่าลูกค้าโอนบ้าน” คนทำหมู่บ้านพูดด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม เขาเล่าเพิ่มว่า หากบ้านหลังไหนมีปัญหา จะพยายามช่วยแก้ เพราะอยากให้ลูกบ้านได้ของดีที่สุด ตรงนี้อาจเป็นอีกเหตุผลที่ช่วยให้คนรู้สึกว่าที่นี่ไม่เหมือนที่อื่น เพราะเจ้าของอยู่เอง มีอะไรก็เดินมาคุยกันได้

ด้วยการออกแบบพื้นที่ที่เอื้อให้คนทำงานอยู่บ้านได้ ทั้งสองมองว่าปัจจุบันสถานที่ทำงานกับบ้านอาจแยกกันไม่ออกแล้ว บางครั้งการเล่นกับลูกอาจได้ไอเดียใหม่ๆ และเมื่อพื้นที่อยู่สบาย แยกเป็นสัดส่วน มีมุมของตัวเอง ยิ่งทำให้มีพลังในการคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมีข้อดีพวงมาอีกหนึ่งคือได้อยู่กับคนที่รัก ในฐานะคนอยู่เอง วิให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องดีที่ทำหลายๆ อย่างในบ้านได้ บอนเองก็คิดเช่นนั้น

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

“เวลามีชีวิตอยู่ที่นี่ หมู่บ้านเราก็ได้ดู ได้มีชีวิตกับลูก มีเพื่อนบ้านใหม่ที่เอาขนม เอากล้วยมาฝากกัน ปลูกผักก็เอามาฝาก บางทีเราเห็นลูกบ้านหลังนั้นมาสั่งขนมจากหลังนี้ หลังนี้ไปปรึกษาเรื่องสเก็ตบอร์ดกับหลังนู้น บางวันเด็กๆ ในหมู่บ้านก็ไปนั่งทำขนมในบ้านเขา หรืออย่างบางทีเขาแอบส่องต้นไม้บ้านเรา เห็นอาการไม่ค่อยดีก็ถามว่าให้ผมไปดูแลก่อนมั้ย แล้วช่วยดูแลให้ เราก็เหมือนได้เพื่อนดีๆ เพิ่ม”

หากไม่ถามถึงปัญหาคลาสสิกอย่างที่จอดรถเห็นจะไม่ได้ แต่เรื่องนี้บอนคิดแก้ปัญหาไว้ตั้งแต่ตอนออกแบบโครงการ ซึ่งทาวน์โฮมหลังใหญ่ทำที่จอดรถให้ 4 คัน ส่วนอีก Type มีที่จอดรถ 2 คน ปลูกสลับกัน ซึ่งหากลูกค้าถามถึงกฎหรือมาตรการในการจอดรถ เขาจะบอกตรงๆ เลยว่า ถ้าบ้านไหนมีเยอะหรือจะมีปัญหาที่จอดรถไม่พอ เลือกหลังใหญ่ดีกว่า และด้านหน้ามีอีกหนึ่งแถวสำหรับลูกค้าของ Shop / House

“เหมือนเขาจะมีความเกรงใจกันอยู่เองด้วย” เธอเกริ่น

“เราคุยกันว่าเราโชคดีที่ลูกค้าเราน่ารัก กลายเป็นความบังเอิญกลับมาเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ ตอนเย็นก็เล่นบาสเกตบอล เล่นสเก็ตบอร์ดกัน เป็น Creative Village ที่เราตั้งใจ เราก็ลืมไปแล้วเหมือนกันว่าตอนแรกเราชอบคำนี้” เธอว่าต่อพร้อมหยิบแฟ้มซึ่งบรรจุเรื่องราวคอนเซปต์ ภาพร่าง ในวันที่ขายงานให้ครอบครัวฟังมาเปิดให้ดู

“โชคดีของเราจริงๆ” เสียงย้ำของเขา ดังขึ้นกลบเสียงพลิกหน้ากระดาษจนไปหมด

The Bound House หมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดนครปฐม ที่แต่ละหลังทำกิจการของตัวเองในบ้านได้

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ