Germany – Chonburi – Khao Lak
หลายครั้งที่พูดถึงความฝัน หนึ่งในคำถามยอดฮิตนอกเหนือจากมีความฝันอะไร เรามักจะถามกันว่าฝันไกลแค่ไหน ในทางนามธรรมอาจวัดกันยาก แต่ทางรูปธรรมสำหรับ Martin Janke คือ 9,000 กิโลเมตร เยอรมนี – ชลบุรี – เขาหลัก
มาร์ตินเริ่มเล่นวินด์เซิร์ฟตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และรู้มาตลอดว่าฝันของเขาคือการทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับบอร์ด
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย เขาได้เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย และมีโอกาสเยี่ยมชม Cobra ซึ่งเป็นโรงงาน OEM ผลิตบอร์ดกีฬาทางน้ำรายใหญ่ที่สุดในตลาด พอเห็นฝันที่มีปรากฏตรงหน้า เขาไม่รอช้า ขอฝึกงานแบบไม่รับเงินเดือนอยู่ 5 เดือน ก่อนเลื่อนขั้นเป็นพนักงานประจำ
8 ปีที่ Cobra มาร์ตินเติบโตในสายงานจนมีหน่วยธุรกิจของตัวเองพร้อมพนักงานถึง 400 คน เพื่อผลิตบอร์ด 150 บอร์ดต่อวัน แต่นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ เลยตัดสินใจลาออกมาเริ่มธุรกิจของตัวเองในวัย 33 ปี
เริ่มแรกเขาทำบริษัทเกี่ยวกับการช่วยก่อตั้งธุรกิจให้ชาวต่างชาติอยู่ประมาณ 5 ปี ก่อนที่แพสชันในการทำเซิร์ฟบอร์ดที่พาเขามาไกลจากเยอรมนี กลับมาก่อร่างสร้างตัวเป็นโรงงาน ‘The Board Factory’ ที่ชลบุรี ร่วมกับ Bert Burger นักออกแบบเซิร์ฟบอร์ดชาวออสเตรเลีย และ Klaus Christian Mueller Lean Manufacturing Expert ที่พบกันในบริษัท Cobra
มาร์ตินบอกกับเราว่า “เราทำสิ่งที่เรารัก สเต็ปต่อไปคือการเลือกสถานที่”
The Board Factory ที่เคยอยู่อมตะนครร่วม 7 ปี จึงย้ายมาปักหลักที่เขาหลัก เมืองเล็ก สงบ และมีชายหาดโต้คลื่นได้ห่างไปเพียง 2 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโรงงานกระดานโต้คลื่นที่ใกล้ทะเลที่สุดในโลก ด้วยกำลังการผลิต 15 บอร์ดต่อวัน
“If the company is not going to be bankrupt tomorrow, so let’s go surfing.”
ที่ The Board Factory มาร์ตินใช้แนวทาง *Work and Play ในการทำงาน เพราะอยากสร้างองค์กรที่บาลานซ์ทั้งชีวิตและงานให้ไม่เอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง นำไปสู่กฎข้อหนึ่งของบริษัทที่พนักงานรู้กันดี
ถ้าวันไหนคลื่นดี ให้ออกไปโต้คลื่นก่อน แล้วกลับมาทำงานให้ครบทีหลัง หรือเมื่อมีธุระจำเป็น โดยเฉพาะถ้าบริษัทไม่ล้มละลายในวันพรุ่งนี้ก็ให้ไปทำก่อน พนักงานกว่า 95 คนที่หอบหิ้วกันมาจากชลบุรีและคนท้องที่ จึงกลายเป็นนักโต้คลื่นทักษะดี ทั้งที่ในช่วง 7 ปีแรกที่ชลบุรี ไม่มีพนักงานคนไหนสนใจการโต้คลื่นเลย
สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ไม่ใช่เพียงเพราะที่นี่เป็นโรงงานผลิตกระดานโต้คลื่น แต่เพราะเป็นโรงงานกระดานโต้คลื่นที่อยู่ใกล้ทะเลและมีวัฒนธรรมองค์กรยืดหยุ่น พนักงานจึงมีเวลาออกไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการเล่นพร้อมกับทำงาน เพราะได้ทดลองใช้กระดานโต้คลื่นที่ผลิตเอง เป็นการ Research & Development อย่างง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งโรงงานอื่นทำไม่ได้
Fiat and Ferrari / Suns and SUNOVA
The Board Factory มีกระดานโต้คลื่นอยู่ 2 แบรนด์ คือ Suns กับ SUNOVA เขาเปรียบให้เราเห็นภาพว่าเหมือน Fiat กับ Ferrari ซึ่งผลิตจากโรงงานเดียวกัน รุ่นหนึ่งเหมาะกับมือใหม่ Entry-level ใช้งานสนุกในราคาที่จับต้องได้สำหรับทุกคน ขณะที่อีกรุ่นอย่าง SUNOVA เป็นผลิตภัณฑ์เน้นความสวยงามและเทคโนโลยีเพื่อศักยภาพสูงสุด
แค่ความนิยมของ SUNOVA ไม่เพียงพอสำหรับธุรกิจเหรอ-เราถาม
มาร์ตินหันมายิ้มให้แล้วบอกว่า “คงไม่มีใครเริ่มขับรถจาก Ferrari หรอก จริงไหม”
ผลิตภัณฑ์จาก The Board Factory มีหัวใจหลักอยู่ 4 ข้อ คือ สมรรถนะ (Performance) ความทนทาน (Durable) น้ำหนักเบา (Light Weight) เทคโนโลยีและการผลิตที่ดี (Good Technology and Manufacturing Method) ทำให้กระดานโต้คลื่นที่ส่งออกไปจากโรงงานแตกต่างจากแบรนด์อื่น
เมื่อปีก่อน SUP Race-Flatwater Faast ของพวกเขาเพิ่งพา Rider 3 คน เข้าเส้นชัยบนบอร์ดไม้คาดลายสีเขียวพาสเทลพร้อมโลโก้ SUNOVA ในการแข่งขันที่ประเทศฮังการี กวาดมาทั้งหมด 5 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน และ 2 เหรียญทองแดง
นอกเหนือจากประสิทธิภาพ เรื่องหัวใจก็สำคัญไม่แพ้กัน
เขาเล่าให้ฟังว่าตัวเองใช้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ Apple มาตลอด 20 ปี และอยากให้บอร์ดที่ทำเป็นเหมือน Apple ของวงการบอร์ด
ดีไซน์สวย แข็งแรง ใช้งานได้ดี ที่สำคัญคือทำให้ลูกค้าตกหลุมรักและกลายเป็นแฟนของแบรนด์ แบบที่ Apple ทำสำเร็จมาแล้วทั่วโลก จึงเป็นที่มาของ Tracking Number บอร์ดแต่ละชิ้น เพื่อให้ลูกค้าติดตามความเคลื่อนไหวของบอร์ดที่สั่งทำได้ตั้งแต่ในไลน์ผลิตจนจัดส่งถึงมือ หรือเมื่อต้องส่งต่อบอร์ดให้ใคร ก็โยงถึงกันได้ ทักทายพูดคุยสอบถาม ให้ฟีดแบ็ก คอมเมนต์ เหมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน
The System
Klaus Christian Mueller หนึ่งในหุ้นส่วน เคยทำงานด้าน Lean Manufacturing ที่ Cobra มาก่อน และหลงใหลในระบบโรงงานผลิตรถยนต์ของ Toyota จึงนำระบบที่ว่ามาปรับใช้ในสเกลเล็กลง การผลิตบอร์ดของที่นี่เลยไม่ใช่ระบบสายพานการผลิตทำซ้ำแบบ Mass Production แต่พวกเขาผลิตขึ้นมาทีละชิ้น
“เราทำบอร์ดให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าแต่ละคน เพราะไม่มีใครใช้บอร์ดเหมือนกัน บอร์ดที่ตั้งรออยู่ในโรงงานเลยมีหน้าตาหลากหลาย”
มาร์ตินชี้ชวนให้เราดูบอร์ดขนาดต่าง ๆ ที่วางอยู่บนชั้นในไลน์การผลิต พร้อมผายมือมาที่ทีม The Cloud แต่ละคนมีส่วนสูงแตกต่างกัน หรือแม้ขนาดตัวจะเท่า ๆ กัน เขาก็ยังยืนยันว่าลักษณะการเล่นเซิร์ฟที่ชอบของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน ส่งผลต่อรูปทรงบอร์ดที่จะใช้
นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Suns และ SUNOVA แตกต่างจากแบรนด์อื่น
เขาบอกว่าในกระบวนการผลิต จะมีบอร์ดประมาณ 50 ลำ สต็อกอยู่ในโกดังเล็ก ๆ เท่านั้น ส่วนไลน์การผลิตจะเริ่มขึ้นเมื่อมีบอร์ดถูกแพ็กลงกล่องส่งออกไป ออกหนึ่ง เข้าหนึ่ง ถ้าออกสอง ก็เข้าสอง โดยบอร์ดใหม่จะเริ่มจากการนำโฟมมาขึ้นรูปผ่านเครื่องจักร บอร์ดเแต่ละอันมีป้ายแท็กบอกรายละเอียดลักษณะติดตัวไปในทุกขั้นตอนการผลิต ซึ่งกระจายตัวอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโรงงาน เขาบอกว่ามันคือระบบไลน์การผลิตรูปดาว จะมีจุดพักบอร์ดเป็นศูนย์กลางระหว่างขั้นตอนทั้งหมด
กว่าจะมาเป็นบอร์ด 1 ลำ ต้องผ่านกระบวนการกว่า 40 ขั้นตอน เป็นเวลา 2 สัปดาห์จึงจะเสร็จสมบูรณ์
“สำหรับนักโต้คลื่น ทุกบอร์ดมีจิตวิญญาณ”
เขาบอกอย่างนั้น ตอนพาเราเดินมาถึงบริเวณชั้นวางบอร์ดที่รอเข้าสู่ขั้นตอน QC ใกล้ช่องกระจกส่วนที่ติดกับ Ripcurl Shop เขาตั้งใจวางไว้ตรงนี้ เพื่อให้ลูกค้าที่มาได้เห็นบอร์ดในแต่ละขั้นตอนไปด้วย จากแผ่นโฟมเปล่า ๆ ตอนเริ่มต้น กลายมาเป็นบอร์ดที่มีลวดลายกราฟิกสวยงามแตกต่างกัน เป็นเช่นนั้นเพราะที่นี่สามารถออกแบบพิมพ์ลวดลายเฉพาะลงบนบอร์ดของตัวเอง แต่ละบอร์ดจึงมีเรื่องราวและความหมายที่เชื่อมโยงกับเจ้าของ
Thai Thai Craft
มาร์ตินบอกกับเราว่า เหตุผลที่เลือกทำโรงงานที่นี่ ปัจจัยเรื่องค่าแรงเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญจริง ๆ ที่ดีต่อการผลิตกระดานโต้คลื่น คือฝีมือแรงงาน
Bert เคยพูดเอาไว้ขำ ๆ ว่า ตอนที่ทำโรงงานผลิตกระดานโต้คลื่น Firewire ในประเทศออสเตรเลีย เขารับพนักงานมา 10 คน 9 คนฝีมือไม่ถึงเกณฑ์แล้วออกไป ส่วน 1 คนที่เหลือฝีมือพอใช้ กลับกันกับที่ประเทศไทย พนักงาน 10 คน 9 คนฝีมือดี ส่วน 1 – 2 อาจจะออกไป ความรุ่มรวยในทักษะฝีมือของคนไทยทำให้การผลิตกระดานโต้คลื่นที่นี่เป็นหนึ่งแหล่งที่ดีที่สุดในโลก เพราะแม้จะใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องจักรขึ้นรูปในขั้นตอนแรก แต่ยังมีอีกสิบกว่าขั้นตอนที่ต้องค่อย ๆ ทำด้วยมืออย่างประณีตทีละชิ้น
อีกส่วนหนึ่งที่เขาตกหลุมรักความไทย ๆ จนยกให้ที่นี่เป็นบ้าน คือความสบาย ๆ ไม่คิดเยอะ ซึ่งอาจสวนทางกับความมาตรฐานสูงแบบเยอรมันที่เขาเติบโตมา แต่คำว่าไม่เป็นไรนี่แหละ ทำให้เขาไม่กลัวล้มเหลวในการทำธุรกิจนี้ และกล้าทดลองทำสิ่งต่าง ๆ
ถ้าไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร เอาใหม่
“The team is necessary.”
นอกจากเทคโนโลยีและระบบการผลิตแล้ว สิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือพนักงาน เขาบอกกับเราว่า “The team is necessary.” การทำงานที่นี่ก็คล้ายกับทีมฟุตบอล ต้องมีผู้เล่นหลากหลายเพื่อพาทีมไปข้างหน้าด้วยทักษะที่แตกต่างกัน
“เราคงไม่เอา Messi ไปยืนในตำแหน่งโกล์ พอ ๆ กับเอาโกล์วิ่งบุกพาบอลไปข้างหน้า”
เขารับหน้าที่โค้ชที่อาจจะไม่มีทักษะลึกเท่าผู้เล่น แต่เข้าใจความสำคัญของตำแหน่งต่าง ๆ ในภาพรวมทั้งหมด วางกลยุทธ์ให้ทีมไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ และสร้างบรรยากาศในการทำงาน ให้ทุกคนทุ่มเทและภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์
20-baht Restaurant
นอกจากคิดเรื่องความบาลานซ์ระหว่างงานกับชีวิตของทุกคนที่ทำงานด้วยกันแล้ว The Board Factory ยังคิดครอบคลุมไปถึงคุณภาพชีวิตด้านอื่นด้วย แม้เขาหลักจะเป็นเมืองเล็ก เงียบสงบ แต่ค่าครองชีพไม่เล็กตามตัว เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว เขาเลยจัดร้านอาหารภายในโรงงานในราคาเริ่มต้น 20 บาท โดยวัตถุดิบที่ใช้ก็ไม่ได้หาจากไหนไกล แต่เป็นพนักงานของโรงงานที่สลับสับเปลี่ยนบทบาทจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของกิจการบ้าง
“ผมเห็นเวลาว่างเขาเลี้ยงไก่ชน เลยลองถามดูว่า เลี้ยงไก่แล้วส่งวัตถุดิบให้กับร้านอาหารของเราได้ไหม”
จากคำถามเริ่มต้น ทำให้เขาค้นพบว่าพนักงานเหล่านั้นมีคลังความรู้เรื่องการเกษตรอยู่ไม่น้อย จนเล่าออกมาได้เป็นฉาก ๆ ถึงระบบความสัมพันธ์ของการเลี้ยงไก่ ปลา และปลูกผักเป็นวงจร สิ่งนี้ทำให้คนในโรงงานได้รับประทานอาหารจากวัตถุดิบออร์แกนิกคุณภาพดี และพนักงานเองมีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง วิน-วินกันทุกฝ่าย
“The place where you burnout and un-burn”
จากคำบอกเล่าถึงวิธีการทำงานแบบ Work and Play ที่คิดว่าน่าจะเป็นบรรยากาศในฝันของใครหลายคน แต่บางครั้งก็ไม่เป็นแบบนั้นเสมอไป เพราะความฝันและเป้าหมายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ไปตามเวลา จนหลายครั้งทางออกคือการลาออก
มาร์ตินบอกว่าเขาไม่อยากให้มองเป็นทางเลือกแรก แต่อยากให้มาคุยกันก่อนว่า มีความฝันแบบไหน ต้องการอะไร เพราะบางทีเหตุผลอาจมาจากการอยากเปลี่ยนเนื้องานที่ทำ ซึ่งไม่จำเป็นต้องลาออกไปหางานอื่น
“ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้คุณเป็นผู้จัดการโรงงาน แต่อยากขยับไปอีกระดับ เป็นนักออกแบบกระดานวินด์เซิร์ฟก็ทำได้นะ เพราะงานคือสิ่งที่คุณต้องทำในชีวิต ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วพบว่ามันไม่สนุก อย่าทำ”
เอก-เอกนรินทร์ โยติภัย ผู้จัดการโรงงานควบตำแหน่งฝาแฝดในร่างคนไทยของมาร์ติน ยืนยันอีกเสียงว่าการทำงานที่นี่เปิดกว้างต่อความฝันของพนักงาน ทำให้การทำงานเป็นเรื่องสนุก จนบางทีเสาร์-อาทิตย์ไม่รู้จะทำอะไรก็ยังมาที่โรงงาน
การมีอิสระในการเสนอสิ่งใหม่ ทำให้เอกมีโมเดล Windsurf Board ที่ออกแบบด้วยตัวเองภายใต้แบรนด์ Sunova ส่งออกไปขายทั่วโลก เป็นที่นิยมมากในยุโรป และกำลังจะมีโมเดลรุ่นที่สองออกมาเร็ว ๆ นี้
“จากประสบการณ์นี้ ความต้องการและความฝันกลายมาเป็นหนึ่งในคำถามสัมภาษณ์งานของผม เพราะบางทีคุณอาจจะต้องการประสบกาณ์ที่นี่เพียงแค่ 2 ปี เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการไปสู่เป้าหมายใหญ่ก็ได้ ซึ่งถ้ามองว่า 2 ปีนั้นเพียงพอ เราก็มาแชร์ความรู้ ประสบการณ์ มาทำงานด้วยกัน อย่างน้อยทำงานที่นี่ก็ได้โต้คลื่น” มาร์ตินบอกด้วยเสียงหัวเราะ
The Board Factory and Lifestyle Shop
แม้ชื่อและภารกิจหลักจะเป็นโรงงาน แต่พื้นที่ภายในอาคารของ The Board Factory ไม่ได้มีแค่ไลน์การผลิตกระดานโต้คลื่นเท่านั้น ยังมีอีก 2 ส่วนที่จัดไว้ส่งเสริมกัน คือร้านกาแฟ และ Ripcurl Shop โดยทั้งสามส่วนมองทะลุถึงกันได้ ผ่านช่องกระจกที่เจาะไว้ให้เห็นโรงงานและบอร์ดที่กำลังประกอบเก็บรายละเอียด เพราะเขาและทีมมองว่าระบบการผลิตบอร์ดเป็นเหมือนเวทมนตร์ที่เสกขึ้นมาจากศูนย์ เลยอยากแบ่งปันให้ทุกคนที่มาเยี่ยมเยือนมีโอกาสเห็น แม้ไม่ได้เข้าไปเดินภายในโรงงานก็ตาม
สิ่งนี้เป็นคีย์สำคัญที่ทำให้เกิดการร่วมงาน ระหว่าง The Board Factory กับ Ripcurl แบรนด์เครื่องแต่งกายกีฬาทางน้ำระดับโลก แม้ขนาดของแบรนด์จะต่างกัน แต่จุดเด่นของ The Board Factoty ที่มองเห็นภายในตัวโรงงานจากหน้าร้าน ทำให้ผู้บริหารของ Ripcurl ตกหลุมรักไอเดียนี้ เพราะมีเพียงไม่กี่สาขาที่ลูกค้าจะเลือกชมสินค้า และเห็นภาพความเชื่อมโยงระหว่างเสื้อผ้ากับกระดานโต้คลื่นได้ชัดเจน แบบเดินตัวเปล่าเข้ามาที่นี่ ก็กลับออกไปพร้อมด้วยชุดและบอร์ดใหม่ ไปที่หาดแล้วโต้คลื่นได้เลย
Board made by the Sun
ในขวบปีที่ภาคธุรกิจต่างขยับตัวและให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น สำหรับที่ The Board Factory ก็มีแนวทางเฉพาะของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนทั้งในกระบวนการผลิต ไปจนถึงการใช้งานต่อในมือผู้บริโภค
หนึ่ง วัสดุที่ใช้ การเลือกหุ้มบอร์ด SUNOVA ด้วยไม้ เป็นมากกว่าเรื่องความสวยงาม เพราะให้น้ำหนักเบา เป็นวัสดุที่เมื่อหมดอายุการใช้งานก็ย่อยสลายได้ และปลูกทดแทนได้ ถึงแม้ราคาจะสูง แต่ก็ทำให้แบรนด์นี้โดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางบอร์ดที่ทำจากไฟเบอร์กลาสเจ้าอื่น ซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์และย่อยสลายยากกว่า
สอง เทคโนโลยีและความใส่ใจในขั้นตอนการผลิตต้องดีเยี่ยม ยิ่งบอร์ดแข็งแรง ใช้งานได้ยาวนานเท่าไหร่ ยิ่งทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้นเท่านั้น จนถึงขั้นเปิดโรงงานอีกสาขาที่ชลบุรี เพื่อรับซ่อมบอร์ดโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้มาใช้ผลิตเซิร์ฟบอร์ดในเวลากลางวัน สลับใช้ไฟฟ้ารูปแบบปกติในเวลากลางคืน ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงานให้กับโลก และทำให้การผลิตยั่งยืนขึ้นด้วยพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ส่งเสริมกันดีกับชื่อผลิตภัณฑ์
“SUNOVA and Suns surfboard, that was made by the Sun.”
World of more and more
ขณะโลกธุรกิจหมุนไปในแบบที่มาร์ตินนิยามว่า ‘โลกของ More and More’ เขาตั้งใจจะไม่ขยายกิจการและกำลังการผลิต ทั้ง ๆ ที่ภายในช่วง 2 – 3 ปีนี้ ธุรกิจเกี่ยวกับการโต้คลื่นเติบโตเร็วอย่างก้าวกระโดด จากหน้าหาดที่มีระยะเพียงพอต่อการเล่นสำหรับทุกคน กลายมาเป็นแทบจะขี่คอกันเล่นในหน้ามรสุมที่เป็น High Season
เขาว่าถ้าจะให้พยายามเพิ่มกำลังผลิตตามความต้องการของตลาด ก็คิดว่าทำได้มากกว่า 15 บอร์ดต่อวัน แต่เมื่อพิจารณาเรื่องการคงไว้ซึ่งคุณภาพงานฝีมือแบบทำชิ้นต่อชิ้น และเป็นหนึ่งในจุดเด่นของ The Board Factory ผนวกกับเทรนด์ที่มีความผันผวนสูง เขาเลยมองว่าการจะเพิ่มกำลังการผลิตควรเกิดจากปัจจัยและการตัดสินใจภายในองค์กรมากกว่าเทรนด์ เพื่อรักษาแบรนด์และคุณภาพของชิ้นงาน เพราะแค่ในตอนนี้คิวจองบอร์ดก็ยาวไป 5 – 8 เดือนแล้ว
“Once you can deliver more ferrari. Ferrari is not anymore as good as it should be.”
Surf culture brings back life to the city
หลังจากการมาของสึนามิใน พ.ศ. 2547 เขาหลักที่กำลังเติบโตไปเป็นอีกหนึ่งเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมแบบภูเก็ตหยุดชะงักและกลายเป็นเมืองเล็ก เงียบเหงามาอย่างยาวนาน จนกระทั่งช่วง 2 – 3 ปีให้หลัง ความนิยมในการเล่นเซิร์ฟจุดติด เขาหลักจึงกลับมาเติบโตก้าวกระโดดอีกครั้งในฐานะ Surf Town ซึ่งเมืองจะเติบโตได้ดี ส่วนหนึ่งมาจากการเคลื่อนไหวของผู้คน
การย้ายมาปักหลักที่เขาหลักของ The Board Factory ไม่ได้เกิดผลดีแค่กับตัวโรงงานเอง ทว่าสร้างแรงกระเพื่อมออกไปข้างนอก ทั้งเกิดการจ้างงานกับคนในพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องย้ายถิ่นฐานไปเมืองอื่น การจับจ่ายใช้สอยในร้านอาหาร ร้านค้า และบริการท้องถิ่นที่คึกคักขึ้น
แต่สิ่งอีกสิ่งที่น่าสนใจและเห็นได้ชัด และทำให้เกิดความเป็นคอมมูนิตี้ในพื้นที่คือ Surf Culture ที่รวมทีมกันเป็นเครือข่าย ทำโปรโมชันน่าสนใจร่วมกันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ระหว่างโรงงานผลิตบอร์ด โรงเรียนสอนโต้คลื่น รวมถึงที่พักโรงแรม ทำให้ประสบการณ์การมาเที่ยวเพื่อโต้คลื่นของนักท่องเที่ยวที่นี่มีบริการรองรับในทุกกิจกรรม เพราะส่งไม้ต่อกันและกัน สร้างรายได้ให้ท้องถิ่น ธุรกิจเติบโตไปข้างหน้าด้วยกัน เมืองกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
3 ปีให้หลังจากการย้ายโรงงานจากชลบุรีมาปักหลักที่เขาหลัก ซึ่งกลายมาเป็น Surf Town ของประเทศไทยในวันนี้ กระแสการเล่นเซิร์ฟพัดพาผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาเที่ยว มาใช้ชีวิตวิถีเซิร์ฟเฟอร์มากขึ้น จากการมาเพียง 2 – 3 วัน เริ่มขยายเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เพื่อจะได้เล่นกีฬาที่หลงรัก
มาร์ตินยังเห็นจุดที่ยังทำให้เมืองนี้ตอบโจทย์ชีวิตได้มากขึ้นอีก ด้วยการวางแผนจะขยายพื้นที่ออฟฟิศสไตล์ Nomad บนที่ดินป่ายางบริเวณด้านหลังโรงงาน เพราะเชื่อว่านอกเหนือจากชีวิตการเป็นเซิร์ฟเฟอร์ ทุกคนยังมีชีวิตที่เป็นตัวตนด้านฝั่งธุรกิจต้องดูแล คงจะดีถ้ามีพื้นที่ออฟฟิศไว้สำหรับนั่งทำงาน หรือพูดคุยกับลูกค้าได้เป็นสัดส่วนมากขึ้น แล้วหลังเลิกงานก็แปลงร่างจากนักธุรกิจเป็นเซิร์ฟเฟอร์ หิ้วบอร์ดตรงดิ่งไปที่ Memories Beach ซึ่งห่างไปเพียง 2 กิโลเมตรได้เลย
Surfing Lesson
“Don’t go where the wave is, but go where it will be.”
คือคำตอบของคำถามสุดท้ายก่อนจากกัน นี่คือบทเรียนธุรกิจที่มาร์ตินได้เรียนรู้ ในฐานะคนชอบโต้คลื่น และมีความฝันเกี่ยวกับการทำกระดานโต้คลื่น จนกลายมาเป็นธุรกิจที่ทำอยู่ปัจจุบัน
เขาย้ำอีกว่าตอนคุณโต้คลื่น ถ้าคุณเห็นคลื่นแตกฟองแล้วว่ายไปหา เมื่อไปถึงตรงนั้น คุณจะไม่มีวันจับคลื่นได้ เพราะมันผ่านไปแล้ว ฉะนั้นอย่าคิดเยอะ เชื่อในสัญชาตญาณ ว่ายไปตรงที่คิดว่าคลื่นจะมาถึงเราในจังหวะพอดี อาจจะต้องรอนานหน่อย ระหว่างรอก็นั่งเล่น คุยกับคนข้าง ๆ ไปก่อน แต่เชื่อเถอะว่าคลื่นจะมา
บทเรียนของเขาทำให้เราทบทวนถึงบทเรียนที่เราได้รับจากการโต้คลื่นเหมือนกัน การลงไปลอยอยู่ในน้ำโดยเฉพาะมือใหม่ที่ยังเก้ ๆ กัง ๆ คลื่นที่เข้ามาก็เหมือนโอกาส บางครั้งกว่าจะมาก็นานจนท้อ แต่บางครั้งก็มาติดกันจนจับจังหวะแทบไม่ได้ หลาย ๆ ทีก็แรงเสียจนพายฝ่าไปแล้วโดนคลื่นซัดกลับมาอยู่ที่เดิม
สิ่งสำคัญจึงเป็นความอดทนและการเตรียมพร้อม เพราะในจังหวะที่คลื่นเริ่มตั้งยอด มักมีเวลาเพียงพริบตาเดียวให้ตัดสินใจที่จะคว้าโอกาสเล่นคลื่นลูกนั้นหรือไม่ และไม่ใช่แค่การจับจังหวะที่ดีเท่านั้นที่ทำให้ขี่คลื่นได้ ร่างกายเองก็ต้องถูกเตรียมมาตั้งแต่บนฝั่ง ฝึกจัดระเบียบร่างกายเพื่อให้ทำได้อย่างแม่นยำในน้ำ ยืนขึ้นมาได้โดยไม่ล้มหัวทิ่มหัวตำลงไปซะก่อน
แต่สุดท้ายถึงแม้จะล้มไม่เป็นท่า ทะเลก็ยังบอกเราผ่านเสียงคลื่นกระทบฝั่งดังซู่ซู่ววว ว่าไม่เป็นไร เอาใหม่ ยังมีคลื่นอีกหลายลูกที่กำลังพัดเข้ามาให้เราได้เล่น แม้จะไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่การได้ทำด้วยความสนุกและกล้าที่จะล้มเหลว ก็นับเป็นความสำเร็จและบทเรียนอย่างหนึ่งที่กีฬาโต้คลื่นมอบให้เรา
เช่นเดียวกับที่กีฬาชนิดนี้มอบให้กับมาร์ติน ผู้ทำธุรกิจด้วยวิธีคิดแบบนักโต้คลื่น
Lessons Learned
- การทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว หรือต้องทำกับคนที่มีความสนใจและความสามารถเหมือนกันเท่านั้น เพราะความต่างจะเสริมความแข็งแรงให้ธุรกิจสมบูรณ์รอบด้านมากขึ้น
- กระแสเป็นเรื่องมาไวไปไว การกำหนดทิศทางการขยายธุรกิจต้องดูให้รอบคอบทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ไม่เช่นนั้นอาจขาดทุนได้ในระยะยาว และบางครั้งการเลือกที่จะไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็วตามความต้องการตลาด ยังช่วยรักษา Positioning และคุณภาพของแบรนด์อีกด้วย
- การแยกแบรนด์ที่มีพื้นฐานการผลิตบางส่วนร่วมกัน ทำให้ไม่ต้องลงทุนแยกกันเป็น 2 ส่วน แต่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ครอบคลุมมากขึ้น
- การ Customize อาจกินเวลาในการผลิตมากขึ้น แต่เมื่อสร้างคุณค่าและความหมายให้กับลูกค้าได้แล้ว ก็มีโอกาสที่จะทำให้สินค้าและบริการของเราโดดเด่นมากขึ้น นำไปสู่รายได้ที่ดี และได้แฟนที่หลงรักในแบรนด์เพิ่มมาอีก 1 คน
- ธุรกิจที่ดีไม่ได้วัดแค่ผลประกอบการของตัวเอง แต่การสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงธุรกิจรอบข้างได้ จนพลิกฟื้นชีวิตของเมืองทั้งเมืองให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ
*Work and Play :
A master in the art of living draws no sharp distinction between his work and his play; his labor and his leisure; his mind and his body; his education and his recreation.
He hardly knows which is which. He simply pursues his vision of excellence through whatever he is doing,
and leaves others to determine wether he is working or playing. To himself, he always appears to be doing both.
Francois Auguste Rene Chateaub
หลักการ Work or Play จากหนังสือ Let my people go surfing โดย Francois Auguste Rene Chateaubriand ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Patagonia ให้ความหมายไว้ว่า ผู้เจนจัดในศาสตร์แห่งการใช้ชีวิตย่อมไม่แบ่งแยกระหว่างอาชีวะและความรื่นเริง
ความอุตสาหะและการผ่อนคลาย ใจและกาย การเรียนรู้และการละเล่น
เขานั้นไม่รู้หรอกว่าสิ่งเหล่านี้ต่างกันอย่างไร ทุกสิ่งที่ทำล้วนแล้วแต่เป็นการไขว่คว้าทัศนะของความเป็นเลิศที่วาดฝัน
สิ่งไหนคือสิ่งที่ต้องทำ หรือสิ่งไหนคือความเพลิดเพลิน ก็สุดแล้วแต่ใครจะพิจารณา เพราะสำหรับเขา มันคือสิ่งเดียวกัน