ช่วงต้นปี หลายบริษัทประกาศรับสมัครงานตำแหน่งใหม่ 

หลายแห่งโปรโมตว่าใส่ใจพนักงาน เห็นความสำคัญของ Work-life Balance ดูแลเหมือนครอบครัว ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์

เรื่องนี้พูดง่าย ทำยาก 

The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี

The Board Factory’ บริษัทผลิตกระดานโต้คลื่นหรือเซิร์ฟบอร์ดที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ไม่ได้โปรโมตเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่สิ่งที่บริษัททำมีดังนี้

  • ลาหยุดได้โดยไม่ต้องบอกเหตุผล เวลาเข้างานยืดหยุ่น ไม่ต้องขอโทษหากอยากพักเพื่อมีเวลาส่วนตัวบ้าง 
  • ทำงานได้ทุกที่ (มีนโยบายนี้ตั้งแต่ก่อนโควิด)
  • ที่นี่คือโรงงานเซิร์ฟบอร์ดใกล้ทะเลที่สุดในโลก วันไหนอากาศดี มีคลื่น ให้พนักงานออกไปโต้คลื่นก่อน กลับมาทำงานคืนทีหลังได้
  • เด็กฝึกงานและพนักงานใช้กฎเดียวกัน ถ้ามีนักศึกษาฝึกงานจากจังหวัดอื่น บริษัทจะจัดหาห้องพักให้ 
The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี

ในโรงงานที่เขาหลัก มีการระบุกฎของพนักงานลงบนแผ่นโปสเตอร์ ใช้กราฟิกที่ได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมเซิร์ฟบอร์ดในต่างประเทศ 

ด้านบนของโปสเตอร์เขียนว่า ‘DONT PANIC’ แปลว่า อย่ากังวล ราวกับรู้ว่านี่คือสิ่งที่พนักงานทุกคนคิดเวลาต้องขอเจ้านายลางานไปทำธุระอื่น ๆ 

อย่ากังวล หากต้องไปจัดการชีวิตด้านอื่นบ้าง ขอแค่ยังทำงาน มีผลงาน บริษัทก็พร้อมจะรับฟังอย่างเข้าใจ

เมื่อโลกเปลี่ยน หลายบริษัทปรับตัวด้วยการทำให้นโยบายการทำงานยืดหยุ่นขึ้น หลายแห่งพยายามเพิ่มสีสัน เพื่อให้พนักงานทำงานสนุกขึ้น มีความสุขขึ้น

คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าการทำงานยืดหยุ่น บริษัทจัดการอย่างไรให้งานยังออกมาดี มีประสิทธิภาพ

The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี
The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี

The Board Factory ก่อตั้งโดย 3 ผู้ก่อตั้งต่างชาติ ได้แก่ Bert Burger, Martin Janke และ Klaus Christian Mueller ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 100 คน ผลิตบอร์ด 2 แบรนด์คือ Suns และ Sunova 

เคล็ดลับข้อแรก คือพนักงานส่วนใหญ่ทำงานทดแทนได้ทุกตำแหน่ง เหมือนปรัชญาการทำทีมฟุตบอลที่เรียกว่า Total Football จากเนเธอร์แลนด์ นักเตะเล่นสลับตำแหน่งและหน้าที่ได้ตลอดเวลา 

ถ้าพนักงานฝ่ายการตลาดลาไปทำธุระส่วนตัว พนักงานอีกฝ่ายก็มาช่วยดูแลแทนได้ นั่นแปลว่าทุกคนในโรงงานต้องมีทักษะสูงมาก ทำงานแทนกันได้หมด

อันที่จริง ตอนนี้โรงงานอยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างวิกฤต 

ด้วยสงครามในยุโรปและภาวะเงินเฟ้อ ทำให้คนซื้อของน้อยลง แต่การดูแลคนของ The Board Factory ยังเข้มแข็งเหมือนเดิม

“คู่แข่งเราส่วนใหญ่ต้องให้คนออก 30% หรือมากกว่านั้น เราไม่ต้องการไล่ใครออก เพราะเราฝึกคนหนักมาก มันเลยยากมากที่จะฝึกคนใหม่ขึ้นมาให้เก่งในระดับเดียวกันภายในเวลาอันสั้น แม้ว่าจะมีคนเยอะมากอยากมาทำงานกับเรา เพราะจะได้มาทำงานติดชายหาดและอยู่ภายใต้กฎแบบของเรา แต่คุณยังต้องทุ่มเทเพื่อฝึกใครสักคน สร้างคนเพื่อเอามาช่วยทีม เมื่อคุณได้ทีมที่ดี มันเป็นเรื่องดีอยู่แล้ว” มาร์ตินผู้ร่วมก่อตั้งเล่า

The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี

การจะทำข้อแรกให้สำเร็จ นำมาสู่เคล็ดลับข้อสอง คือ The Board Factory ผลิตบอร์ดที่เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ ไม่รับจ้างผลิต ทำในจำนวนตามที่ได้รับออร์เดอร์มาเท่านั้น

ก่อนโควิด มาร์ตินเล่าว่าบริษัทเติบโตมาก ยอดขายเพิ่มขึ้น 30% ทุกปี 

ในสถานการณ์นี้ ถ้าเป็นโรงงานอื่น คงตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิต สร้างโรงงานใหม่ เพื่อผลิตสินค้าได้เยอะขึ้น มีสต็อกเก็บไว้ ลูกค้าไม่ต้องรอ อยากได้ตัวไหนก็จิ้มซื้อไปใช้ได้เลย

ผู้บริหารชาวเยอรมันคิดตรงกันข้าม เขาอยากโตแบบออร์แกนิก ไม่สร้างโรงงานใหม่ เพราะรู้ว่าถ้าเพิ่มโรงงานอาจควบคุมคุณภาพสินค้าได้ไม่ดีพอ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่ทำให้ Suns และ Sunova ครองใจคนรักการโต้คลื่น

มาร์ตินเล่าว่า คนรักรถเฟอรารีที่มีกำลังซื้อ เวลาเห็นรถรุ่นใหม่เปิดตัวจะไม่ตั้งคำถามเรื่องส่วนลดหรือคิดมากมาย การได้ครอบครองก็มีคุณค่าทางใจเพียงพอ เขาอยากให้บริษัทเป็นแบบนั้น

ปีที่แล้วกำลังการผลิตอยู่ที่ 15 บอร์ดต่อวัน ถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับออร์เดอร์ที่ได้รับ ข้อดีคือบริษัทยังมีฐานการผลิตที่เขาหลัก พนักงานยังได้เล่นเซิร์ฟ มีเวลาที่ยืดหยุ่น ยังทำงานได้ดี คุณภาพสินค้ายังไม่ตก แบรนด์จึงยังอยู่ได้

เมื่อเกิดวิกฤต โรงงานที่มีพนักงานหลายร้อยคนจึงต้องเลย์ออฟ ปิดโรงงาน ระบายสต็อก ลดคุณภาพสินค้า เพื่อให้บริษัทอยู่ได้ เหตุการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นที่โรงงานเซิร์ฟบอร์ดในเขาหลักเลย

อย่างไรก็ดี โรงงานจำเป็นต้องลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงและพนักงานแผนกการจัดการส่วนใหญ่ เพื่อให้ยังมี Cash Flow ที่เสถียร ทุกคนยังอยู่ด้วยกันที่เขาหลัก อย่างน้อยที่สุดเวลามีคลื่นก็ยังลงไปเล่นได้

“ผมยังไม่มี Plan B สำหรับการเผชิญวิกฤตครั้งนี้ หรือถ้าจะมี แผนของเราคือคุณต้องทำสินค้าให้ดีจริง ๆ คุณภาพไม่ตก เท่านั้นเอง” มาร์ตินเล่าพลางยิ้ม

The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี
The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี

มาร์ตินได้แรงบันดาลใจในการดูแลพนักงานจากหนังสือ 2 เล่ม เล่มแรกคือ Let My People Go Surfing โดย Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Patagonia อีกเล่มคือ Powerful โดย Patty Mccord 2 เล่มนี้มีผลกับนโยบายด้าน HR ของบริษัทมาก

 “ผมไม่มั่นใจว่าเราทำถูกมั้ย แต่ปรัชญาของผมคือ เชื่อใจคน ผมอาจจะไร้เดียงสาในโลกที่ทุกคนมองเจ้านายว่า คุณใหญ่สุด สั่งใครแล้วต้องทำตาม แต่ผมไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย

“ผมอยากให้การบริหารบริษัทเหมือนเราทำทีมฟุตบอล ผมเป็นโค้ช แนะนำทิศทางการเล่นอยู่เบื้องหลัง เรามีผู้เล่น 22 คน ทุกคนรู้ว่าเกมเป็นอย่างไร รักฟุตบอล สนุกกับการใช้ชีวิต แต่พวกเราไม่ได้มาอยู่ด้วยกันแค่เพราะอยากมาสบาย ๆ หรือมีความสุขเฉย ๆ เป้าหมายของเราคือการเล่นฟุตบอลให้ดีที่สุด 

“ทุกคนในทีมต้องสร้างผลงาน สำคัญมาก คุณไม่สามารถมาอยู่ที่นี่โดยไม่ทำอะไรเลย ในทีมมีการแข่งขันกันตลอดเวลา คุณได้ทำงานที่นี่เพราะเป็นหนึ่งในคนที่เราคัดมาแล้วว่าดีที่สุด โชคดีที่ผลงานของคุณล้วนเกี่ยวข้องกับความสนุกในการโต้คลื่น คนจำนวนมากไปทำงานในกรุงเทพฯ ทุกวัน พวกเขาไม่ได้เห็นทะเล ไม่ได้โต้คลื่น ไม่ได้เจออากาศดี ๆ ทุกวันแบบพวกเรา” 

The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดที่กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลให้พนักงานมีชีวิตที่ดี

มาร์ตินยกตัวอย่างผลงานที่เขาชอบมาก เป็นนิตยสารออนไลน์ที่แนะนำวัฒนธรรมองค์กรของ The Board Factory ภาพสวย เนื้อหาดี รูปเล่มเนี้ยบ เขามาเฉลยทีหลังว่า นี่คือผลงานของเด็กฝึกงาน ทำมาเองโดยที่เขาไม่ได้สั่งด้วยซ้ำ

แผนการใหญ่ของ The Board Factory ต่อจากนี้คืออะไร คำตอบคือการสร้างโรงเรียนอนุบาล

พนักงานของบริษัทส่วนใหญ่มีครอบครัว มีลูก ในเขาหลักมีโรงเรียนไทยไม่มากนัก มาร์ตินคิดว่าถ้าให้พนักงานเอาลูกมาเข้าเรียนที่นี่ เขาสามารถสอนภาษาอังกฤษ ความรู้ที่จำเป็น เพื่อให้ลูกของพนักงานมีชีวิตและโอกาสที่ดีขึ้น นอกจากนี้เขายังนำปรัชญาและสิ่งที่ The Board Factory เชื่อมาสอนเด็กได้ เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน การเชื่อใจคน ฯลฯ

นอกจากนี้เขายังอยากสร้างสถานที่ที่เรียกว่า Incubator Park เป็นเหมือนแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน มาร์ตินอยากชวนบริษัทในเขาหลัก 2 – 3 แห่งมาร่วมทำ แชร์ความรู้และประสบการณ์ที่แต่ละบริษัทมี ใครอยากรู้ก็เข้ามาชมได้ฟรี 

ปรัชญาการดูแลคนของ The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดในเขาหลักที่อยากให้พนักงานมีชีวิตดีขึ้นทุกด้านอย่างแท้จริง

เมื่อ The Board Factory โด่งดัง มันจึงเริ่มมีสถานะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับคนรักการโต้คลื่นในเขาหลัก มาร์ตินสนใจตลาดท้องถิ่นในไทย นอกจากทำบอร์ดส่งออกต่างประเทศ เขาอยากเจาะตลาดคนไทยมากขึ้นบ้าง

พฤษภาคมนี้ มาร์ตินจะจัดงานประชุม Dealer ประจำปี แต่เขาก็อยากให้งานนี้เป็นงานชุมนุมคนรักการโต้คลื่น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของย่านไปในตัว

ทั้งหมดนี้เขาอยากทำเพื่อยกระดับคนในเขาหลักให้มีชีวิตดีขึ้น แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้ทำงานใน The Board Factory ก็ตาม

ปรัชญาการดูแลคนของ The Board Factory โรงงานเซิร์ฟบอร์ดในเขาหลักที่อยากให้พนักงานมีชีวิตดีขึ้นทุกด้านอย่างแท้จริง

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ณัฐปคัลภ์ ทัศนวิริยกุล

ช่างภาพอิสระ | ภูเก็ต ชอบหาของอร่อยกิน รักการใช้เวลากับคนรัก ig : Kenhitive