คำว่า ‘หนังสือการ์ตูน’ มักตามมาด้วยความรู้สึกขบขันหรือเรื่องราวสมัยเด็ก แต่นิยามนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เมื่อเราได้อ่านหนังสือปกแดงเล่มหนา ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ โดย นิโคลาส เวร์สแตปเปิน (Nicolas Verstappen) ซึ่งแม้ว่าหนังสือเล่มนี้พึ่งออกจากโรงพิมพ์มาไม่นาน เรากลับได้ยินเสียงตอบรับและพูดถึงหนังสือเล่มนี้อย่างล้มหลาม 

วงการศิลปะนั้นตื่นเต้นกับภาพของการ์ตูนเก่าหายากที่ถูกนำมารวบรวมไว้อย่างงดงาม วงการวิชาการให้ความสนใจกับแง่มุมว่าที่เชื่อมโยงการ์ตูนเข้ากับการเมืองไทยและสากล และคนนอกวงการจำนวนไม่น้อยไม่อยากจะเชื่อว่า อาจารย์ฝรั่งจากเบลเยียมคนหนึ่งจะรวบรวมและเขียนข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การ์ตูนไทย ที่แม้แต่คนไทยเองก็ลืมเลือนไปแล้ว

ว่าแล้วเราเลยขอนัดสัมภาษณ์พูดคุยกับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เพื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของทั้งตัวเขาและหนังสือเล่มนี้ให้มากขึ้น นิโคลัสตอบตกลงทันที

ในวันที่เราเจอกัน เขาเซ็นหนังสือให้เราด้วยท่าทีนอบน้อม รอยยิ้มของเขาทำให้เรานึกถึงตัวการ์ตูนสักตัวในความทรงจำ มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่นข้างในตั้งแต่แรกเริ่มบทสนทนา

เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ศัพท์บางคำ อาทิ Comics ถูกทับศัพท์หรือแปลด้วยคำไทยที่หลากหลาย เนื่องจาก คำว่า ‘การ์ตูน’ อย่างเดียวนั้น ไม่ครอบคลุมทุกประเทศของสิ่งพิมพ์ ‘คอมมิค’ ที่รวม Zines, Graphic Novels, Manga ไว้ด้วยกัน เป็นต้น 

เริ่มเล่าให้ฟังหน่อยว่าชีวิตที่บรัสเซลส์เป็นยังไงบ้าง

 “ผมเกิดและโตที่บรัสเซลส์ ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่ Université Libre de Bruxelles จากนั้นต่อปริญญาโทด้านภาพยนตร์ อันที่จริงผมรักคอมมิคมาตลอด แต่ตอนนั้นยังไม่มีการศึกษาระดับสูงด้านนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ระหว่างการเรียนจิตรกรรมและภาพยนตร์นั้น ทำให้ผมมีพื้นฐานเพื่อศึกษาด้วยตัวเองไม่มากก็น้อย

“ในวันที่ผมส่งวิทยานิพนธ์เสร็จ ผมตัดสินใจแวะไปร้านขายหนังสือการ์ตูนร้านโปรดเพื่อคลายเครียด ปรากฏว่าพอเปิดประตูเข้าไปปุ๊บ เจ้าของร้านถามผมว่าอยากมาทำงานช่วงฤดูร้อนที่นั่นไหม เขาต้องการคนช่วยอยู่พอดี แล้วบังเอิญว่าผมเป็นลูกค้าขาประจำคนแรกที่เดินเข้าร้านในวันนั้น แน่นอนว่าผมตอบตกลง และจับพลัดจับผลูทำงานที่นั้นต่อมาถึงสิบห้าปี มันเป็นงานในฝันของผมเลย ผมสามารถเข้าถึงคอมมิคทุกชนิดที่ถูกพิมพ์จากทั่วโลก ตั้งแต่มังงะจากญี่ปุ่น การ์ตูนจากอาร์เจนตินา ซีนทางเลือกจากแถบสแกนดิเนเวีย ฯลฯ และอ่านฟรีด้วย!”

จากนั้นเส้นทางบนถนนวงการการ์ตูนของเขาก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ นิโคลัสเริ่มทำสิ่งพิมพ์ของตัวเองกว่าสามสิบฉบับ เป็นการรวบรวมบทสัมภาษณ์นักเขียนการ์ตูนคนโปรดของเขาจากทั่วทุกมุมโลก

เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics

“ผมตั้งชื่อมันว่า XeroXed และแจกฟรีให้กับลูกค้าที่ซื้อหนังสือโดยนักเขียนคนนั้นๆ ในร้าน บทสัมภาษณ์ของผมส่วนมากมักจะเกี่ยวกับนิยายภาพ ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์หรือปมบาดแผลในใจ” 

มีลูกค้าประจำคนหนึ่งที่เป็นจิตแพทย์ถึงกับเชิญเขาไปพูดในวงเสวนาหลายแห่ง จนในที่สุดนิโคลัสก็จัดงานเสวนาขึ้นมาเองในหัวข้อ ‘การ์ตูนในฐานะเครื่องสื่อสารสำหรับอาการเนื่องจากบาดแผลทางจิตใจ’ (Comics as a Language of Symptoms of Psychic Trauma) แถมเขายังจัดรายการวิทยุเดือนละครั้งกับทีม Radio Grandpapier และจัดแสดงผลงานของนักเขียนมากหน้าหลายตาเป็นนิทรรศการในร้านด้วย อาทิ งานออริจินัลของ David Lloyd 

“คนที่วาด V for Vendetta ไงล่ะ!” เขาเล่าอย่างภูมิใจ

 “ด้วยวุฒิการศึกษาของผม ผมอาจจะหางานที่ ‘มีเกียรติ’ กว่านี้ได้ แต่ผมไม่เคยนึกเสียดายเลยนะ ผมรักที่จะแนะนำนักสือการ์ตูนให้กับคนที่เข้ามาในร้าน ได้พบเจอและเป็นเพื่อนกับศิลปิน ได้ใช้เวลาหลายปีพัฒนาตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญจากการศึกษาหนังสือคอมมิคเป็นพันๆ เล่ม มันทำให้ผมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนของคนคอเดียวกัน ที่มองเห็นว่าการ์ตูนเป็นสิ่งลึกซึ้ง เป็นศิลปะแขนงหนึ่งในการแสดงออกของความเป็นมนุษย์“

ถ้าย้อนไปอีกนิด อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คุณเริ่มชอบหนังสือการ์ตูนตั้งแต่เด็ก

นิโคลัสหยุดคิดสักครู่ก่อนตอบ “น่าจะเริ่มจากกระดาษนะ ผมไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ตั้งแต่เด็กจนทุกวันนี้ ผมจะล้อมรอบตัวเองไปด้วยกระดาษและหนังสือเพื่อให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัย มันเป็นเซฟโซนของผมก็ว่าได้

“ความรู้สึกของเนื้อกระดาษบนนิ้วมือ กลิ่นของหนังสือเก่า น้ำหนักของรูปเล่ม ผมเรียนรู้ธรรมชาติผ่านหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือที่มีภาพประกอบ ตอนอายุประมาณเก้าขวบ ผมตกหลุมรักกับหนังสือภาพว่าด้วยอารยธรรมโบราณ (La Vie Privée des Hommes) ซึ่งมีภาพประกอบโดย ปีแยร์ โจเบิร์ต (Pierre Joubert) และหนังสือการ์ตูนชื่อ Yakari: The Secret of Little Thunder โดย Job and Derib ซึ่งเนื้อหาค่อนข้างมืดมน บางครั้งถึงขั้นโหดร้าย แต่ผมก็ไม่รู้สึกกลัวหรือตะขิดตะขวงนะ

เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics

“ผมเป็นเด็กอ่อนโยน และต้องเรียนรู้บทเรียนที่เจ็บปวด ว่าโลกใบนี้ทำร้ายเราได้อย่างสาหัส หนังสือการ์ตูนเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผมเข้าใจเรื่องนี้ ในจังหวะของผมเองอย่างช้าๆ จากหน้าหนึ่งไปอีกหน้าหนึ่ง ไม่มีดนตรีประกอบน่ากลัว ไม่มีการโผล่ออกมาให้ตกใจตัวโยนเหมือนเวลาดูหนัง อีกทั้งภาพวาดของหนังสือการ์ตูนก็ช่วยตรึงจินตนาการของผมไว้บางส่วน มันไม่เตลิดไปในความมืด เหมือนเวลาที่ผมอ่านแค่ตัวหนังสือของวรรณกรรม

“หนังสือการ์ตูน ตั้งแต่นั้นจวบจนทุกวันนี้ เลยเป็นสมดุลที่เพอร์เฟกต์ระหว่างสิ่งที่ถูกวาดให้เห็นในช่อง และสิ่งที่ถูกละไว้สำหรับจินตนาการในความว่างระหว่างช่อง การ์ตูนอาจจะไม่เล่าเรื่องที่หดหู่เท่ากับการเล่านิทานสมัยก่อน ที่สอนเด็กๆ ว่าชีวิตอาจจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบหรือเที่ยงตรงอยู่เสมอ แต่ก็ยังเป็นวิธีส่งต่อเรื่องเล่าของพื้นถิ่น นักวาดการ์ตูนคือผู้เล่าเรื่องรอบกองไฟของยุคสมัยนี้ 

“ด้วยการ์ตูนและนิยายภาพอย่าง Batman: The Dark Knight Returns ของ แฟรงก์ มิลเลอร์ (Frank Miller), Arkham Asylum ของ แกรนต์ มอร์ริสัน (Grant Morrison) และ เดฟ แมคคีน (Dave McKean), Maus ของ อาร์ต สปีเกลแมน (Art Spiegelman), Dogs and Water ของ แอนเดอส์ นิลเซน (Anders Nilsen), The Man Without Talent ของ โยชิฮารุ สึเกะ (Yoshiharu Tsuge), หรือ Daddy’s Girl ของ เดบบี เดร็คสเลอร์ (Debbie Drechsler) หนังสือเหล่านี้ล้วนช่วยให้ผมเข้าใจ หรืออย่างน้อยก็ได้เผชิญหน้ากับมุมมืดที่สุดของความเป็นมนุษย์”

เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics
เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics

ในไทย คำว่า ‘หนังสือการ์ตูน’ มักถูกสงวนไว้สำหรับเด็ก ซึ่งต่างลิบลับกับประสบการณ์ที่คุณเล่ามา 

“ผมว่าไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ประเทศส่วนใหญ่เลยล่ะที่มองว่าคอมมิคหรือหนังสือการ์ตูน มีไว้ให้เด็กๆ อ่านเล่นเวลาว่าง ซึ่งมาจากหลายเหตุผล เหตุผลแรก ถ้าให้ผมเดานะ มาจากสังคมตะวันตกที่หมกมุ่นอยู่กับอักขระ พวกเขาเชื่อว่า ในวัยเด็กเราจะมองภาพก่อน จากนั้นเป็นภาพที่มีข้อเขียนประกอบ จากนั้นพัฒนาเป็นการอ่านหนังสือภาพ และในที่สุดก็จะอ่านหนังสือที่ไม่มีภาพได้ 

“การที่คนเราจะมี ‘อารยะ’ หรือ ‘การศึกษา’ จะต้องทิ้งหนังสือภาพไปเสีย ในหัวพวกเขา ภาพประกอบทำหน้าที่เป็นหมือนล้อขาไถสำหรับจักรยานเด็ก ต้องเอาออกไปเมื่อเขาขี่ได้แข็งแล้ว อันนี้น่าจะมาจากความคิดยุคเรเนสซองส์ที่ศิลปินตัดสินใจห้ามผสมภาพและตัวอักษรเข้าด้วยกัน (ศาสตร์แต่ละแขนงต้องบริสุทธิ์และเป็นเอกเทศ) ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นในยุคกลางเป็นเรื่องปกติมาก 

“จากนั้นมา แนวคิดนี้เหมือนจะแพร่หลายไปทั่วโลก การผสมข้อเขียนและภาพเข้าด้วยกันอย่างในคอมมิคกลายเป็นเรื่องศิลปะด้อยค่า ชั้นต่ำ แต่ไม่ใช่สำหรับสังคมมุสลิมหรือประเทศแถบทวีปเอเชียอย่างญี่ปุ่น รวมถึงเบลเยียม อาจจะเพราะเป็นทางแพร่งระหว่างวัฒนธรรมละตินและวัฒนธรรมโบราณ (Germanic Culture) 

“กล่าวคือ เราไม่หมกมุ่นกับ ‘ศิลปะชั้นสูง’ เหมือนประเทศแทบยุโรปอื่นๆ เราเป็นเหมือน ‘หม้อซุป’ ที่เป็นแรงบันดาลใจของการผสมผสานแบบเหนือจริงให้ศิลปินอย่าง เรอเน มากริต (René Magritte)” นิโคลัสตั้งข้อสังเกต 

“เราผสมสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ ข้อเขียนกับภาพก็ด้วย โดยไม่ไปตีกรอบมันว่าเป็นของชั้นต่ำหรือสำหรับเด็กเท่านั้น จะเห็นว่าในวงการของเบลเยียมมีงาน อย่าง The Adventures of Tintin โดย แอร์เฌ (Hergé) หรือ The Smurfs โดย เปโย (Peyo) อีกทั้งนักเขียนท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จอีกมาก และปู่ย่าของผมก็อ่านสิ่งเหล่านี้ เขาส่งต่อให้รุ่นพ่อแม่ผม และพ่อแม่ก็ส่งต่อมาให้ผม มันเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมของเราไปแล้ว

  “ตรงนี้ผมว่าคล้ายกับเมืองไทยนะ เพราะที่นี่อยู่ตรงเส้นตัดของวัฒนธรรมจีน ชวา และอินเดีย ชาติพันธุ์ ‘ไท’ มีการผสมกับชาวมอญและเขมรในศตวรรษที่ผ่านๆ มา พื้นที่ตรงนี้จึงมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอย่างมาก จนมาถึงศตวรรษที่ 20 รัฐบาลพยายามสร้างมาตรการเพื่อสร้างอัตลักษณ์ของชาติไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับแค่บางกลุ่มนี่แหละ ตั้งแต่ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระแก้ว ไปจนถึงผ้าผะเหวด 

“เราจะเห็นว่าชาวสยามเล่าเรื่องด้วยภาพเสมอ แม้แต่รัชกาลที่ 5 ก็ทรงเขียนการ์ตูนและสนับสนุนการเผยแพร่ศิลปะแขนงนี้ สมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีการ์ตูนตีพิมพ์ในสื่ออย่าง ดุสิตสมิต การเขียนการ์ตูนถูกมองว่าเป็นศิลปะที่สำคัญมาจนถึงช่วงปี 70 ซึ่งที่นี่เคยมีศิลปินอย่าง เหม เวชกร หรือ ประยูร จรรยาวงษ์ มีผู้อ่านส่วนมากเป็นผู้ใหญ่ที่สนใจชั้นเชิงในการเล่าเรื่องของพวกเขา เสียดายที่สังคมกลับไปให้นิยมขนบธรรมเนียม การสร้างพลเมืองชนชั้นกลาง ไปจนถึงการศึกษาแบบสูตรสำเร็จ และความพยายามกลับไปสู่ ‘รากเหง้า’ ของวัฒนธรรมชั้นสูงในวัง 

“ทั้งหมดนี้ทำให้การ์ตูนถูกละทิ้ง และถูกโทษว่าเป็นสิ่งสร้างพฤติกรรมที่ไม่ดีงามสำหรับเด็ก คล้ายกับที่เกิดขึ้นที่หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมทั้งอเมริกาด้วย”

เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics
เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics
เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics

แล้วทำไมคุณถึงย้ายมาเมืองไทย

“หลังจากสิบห้าปีที่ผมทำงานในร้านหนังสือการ์ตูนกับภรรยาของผม ตลาดของมันเปลี่ยนไปและถึงจุดอิ่มตัว หนังสือการ์ตูนและนิยายภาพถูกพิมพ์ในจำนวนมหาศาล เกินความต้องการผู้อ่าน เราขนกล่องเข้าออกร้านตลอด จนไม่มีเวลาพูดคุยหรือแนะนำผู้อ่าน เราสองคนเลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เราเคยมาประเทศไทยแล้วตอนพักร้อน จึงตกหลุมรักทั้งประเทศและผู้คนที่นี่” นิโคลัสยิ้ม

“เมื่อย้ายมาแล้ว ผมก็นึกถึงการสอนมากขึ้นเรื่อยๆ เลยร่อนใบสมัครไปที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และแล้วก็ได้สอนที่นี่มาตลอด” ถึงตรงนี้ เนื่องจากเรารู้สึกว่าเรากำลังนั่งในห้องเรียนวิชาคอมมิค จากนี้ไปจะขอเปลี่ยนสรรพนามของเขาเป็น ‘อาจารย์นิค’ แทน 

เริ่มทำหนังสือ ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ ได้อย่างไร

“ช่วงปีแรกที่สอนที่คณะ ผมถูกขอให้ทำงานวิจัยวิชาการ เนื่องจาก จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยมาก ผมเริ่มจากการไปคลุกคลีกับวงการการ์ตูนกระแสรอง เพราะผมมีโอกาสได้รู้จักกับศิลปินนักวาดการ์ตูนอย่าง สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ทำให้ผมสนใจการพัฒนาของวงการนี้ในช่วงยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา จากนั้นทางคณะได้ขอให้ผมสำรวจงานที่เก่ากว่านั้นด้วย ก่อนจะโยงมาถึงรูปแบบของการ์ตูนในปัจจุบัน 

“บอกตามตรงว่าตอนแรกผมคาดว่ามันคงไม่ยากนัก เพราะการ์ตูนไทยเท่าที่เห็นมีจำนวนจำกัด แต่เอาเข้าจริง ผมค้นพบว่ามีช่องโหว่อยู่ในประวัติศาตร์ของการ์ตูนไทย ในช่วงศตวรรษที่ 20 การ์ตูนและนิยายภาพเคยเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ถูกกลืนไปด้วยการเข้ามายึดตลาดโดยการ์ตูนญี่ปุ่น ผมประหลาดใจมากกับสิ่งนี้ และตัดสินใจทุ่มเทการทำวิจัย เพื่อค้นหาข้อมูลจากแต่ละยุคที่หายไปของการ์ตูนไทยในอดีต

“หนึ่งปีผ่านไป ผมได้รู้จักกับ ซาราห์ รูเนย์ (Sarah Rooney) เธอเป็นบรรณาธิการอยู่ที่สำนักพิมพ์ River Books หลังจากที่เธอมาฟังงานเสวนาที่ผมจัดที่คณะ เธอทาบทามให้ผมแปรงานวิจัยเป็นรูปเล่มหนังสือกับสำนักพิมพ์ของเธอ

“ผมตอบตกลง เพราะนึกว่ามันคงใช้เวลาไม่นาน แต่ผมคิดผิด ทุกๆ ครั้งที่ผมเจออะไรบางอย่าง มันเปิดประตูไปสู่ศิลปินชั้นครู และงานชิ้นสำคัญที่โผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ ระหว่างทาง การตามหาการ์ตูนที่สูญหายก็ใช้เวลามาก เพราะมันกระจัดกระจายไปหมด กว่าจะได้ภาพสแกนที่ชัดเจนของแต่ละเล่ม ผมต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ต้องค้นหาทั้งในตลาดและออนไลน์ เพื่อจะได้การ์ตูนทุกๆ เล่มที่เป็นตัวแทนเส้นประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ ค.ศ. 1907 มาจนถึงปัจจุบัน”

เรียนประวัติการ์ตูนไทยกับ Nicolas Verstappen อาจารย์เบลเยียมผู้เชี่ยวชาญเรื่อง Comics
เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย

ช่วยเล่าเกี่ยวกับการสืบเสาะการ์ตูนเก่าหายากให้เราฟังหน่อย คุณหาของเหล่านี้เจอได้ยังไง ทั้งๆ ที่คุณเองพูดภาษาไทยก็ไม่คล่อง

“อย่างที่คุณว่า น่าเศร้าที่ภาษาไทยผมยังไม่เอาถ่าน แต่ผมก็ไปลงคอร์สเรียนให้พออ่านและเขียนภาษาไทยพื้นฐานได้นะ สำหรับบทความ ผมเรียนคำศัพท์ที่เกี่ยวกับหนังสือการ์ตูนและสิ่งพิมพ์ พอที่จะกวาดตาอ่านและหาย่อหน้าที่ผมสนใจได้ ผมสามารถหาบันทึกวันเดือนปีและชื่อนักเขียนได้ (สังเกตพวกตัวการันต์หรือตัวอักษรแปลกๆ เอาน่ะ) 

“และถ้าไม่แน่ใจ ผมก็จะถามคุณเบิร์ด ผู้ช่วยของผมให้ช่วยคอนเฟิร์มรายละเอียดต่างๆ หรือหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ และถ้ามันน่าสนใจจริงๆ ผมจะส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญช่วยแปล เพื่อจะได้ถอดคำต่างๆ อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ถ้าเป็นพวกหนังสือการ์ตูน ลำดับและภาษาภาพของมันจะช่วยผมอยู่แล้ว จะว่าไป ผมว่าภาษาที่ผมเชี่ยวชาญที่สุดคือ ‘ภาษาการ์ตูน’ อันนี้เชี่ยวชาญกว่าภาษาฝรั่งเศสที่ผมพูดด้วยซ้ำ โดยรวมลักษณะไวยากรณ์ และความเป็นกวีของภาพ อีกทั้งโครงสร้างและการวาดซ้ำสัญญะที่ส่งสารอย่างชัดเจน ไม่ว่าผู้วาดจะมีสไตล์ส่วนตัวหรือไม่ก็ตาม”

อาจารย์นิคบอกว่า เขาเป็นเพื่อนกับคนขายการ์ตูนมือสอง “เขาจะรู้ว่าผมกำลังตามหาอะไร วันหนึ่งเขาเจอการ์ตูนช่องที่ถูกตัดออกจากหนังสือพิมพ์ในช่วง ค.ศ. 1930 กว่าพันชิ้น! ปรากฏว่าเป็นผลงานของนักวาดระดับตำนานอย่าง จำนงค์ รอดอริห์” 

นอกจากนี้เขายังอยู่ในกลุ่มนักสะสมการ์ตูนเก่าในเฟซบุ๊กหลายกลุ่ม เมื่อสมาชิกในกลุ่มเหล่านั้นเห็นว่าเขามีความตั้งใจที่จะอนุรักษ์และศึกษาสิ่งนี้อย่างจริงจัง พวกเขาก็ช่วยเหลืออาจารย์ด้วยเช่นกัน

เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย
เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย

“สำหรับศิลปินนักวาดการ์ตูนร่วมสมัย ผมพยายามไปงานเปิดนิทรรศการ หรือร่วมกิจกรรมต่างๆ ของพวกเขาให้ได้มากที่สุด เกิดเป็นมิตรภาพที่สานต่อกันไปเรื่อยๆ ศิลปินไทยจะดีใจมากเมื่อมีคนมาเห็นความสำคัญในสิ่งที่พวกเขาทำอยู่ โดยเฉพาะนักวิชาการต่างชาติ เพราะเหมือนว่าพวกเขาจะได้รับการยอมรับน้อยเหลือเกินจากสังคมและภาครัฐที่นี่”

ขณะที่อาจารย์นิคเปิดพลิกหน้าหนังสือของเขาให้ดู เราสังเกตเห็นว่า ในเส้นเวลาที่ร้อยเรียงประวัติและยุคสมัยของการ์ตูนไทยไว้ด้วยกันอย่างเป็นระบบ ผู้เขียนได้สอดแทรกตัวอย่างเปรียบเทียบระหว่างการ์ตูนไทยกับการ์ตูนตะวันตกไว้พอสมควร โดยเฉพาะจากประเทศเบลเยียม

“อย่างที่ผมเกริ่นไปว่า เบลเยียมเป็นเหมือนจุดตัดของหลายวัฒนธรรม ถ้าจะดูตัวอย่างชัดๆ ศิลปินอย่าง Hergé ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากลายเส้นของศิลปินอเมริกัน มันทำให้เขาสร้างผลงานชื่อดัง The Adventures of Tintin ขึ้นมาใน ค.ศ. 1929 แต่สไตล์ของเขาพัฒนาขึ้นอีกขั้น เมื่อเขาได้เจอกับนักศึกษาชาวจีนที่บรัสเซลส์ ผู้สอนเขาเกี่ยวกับศิลปะตะวันออกและปรัชญาที่ว่า ‘แต่ละองค์ประกอบล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน’ 

“เมื่อเขาผสมลายเส้นแบบอเมริกันและวาดทุกๆ รายละเอียดด้วยความใส่ใจที่เท่าเทียมกัน เขาจึงได้สไตล์เส้นที่เรียบง่ายและทรงพลัง สร้างเป็นโลกที่ซับซ้อน และในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงหากันและกัน”

เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย
เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย
เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย

“ช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ใน ค.ศ. 1932 สวัสดิ์ จุฑะรพ ก็ทำสิ่งที่คล้ายกัน นั่นคือเขาเอาลายเส้นแบบอเมริกันจาก Popeye ของ อี.ซี.เซการ์​ (E.C.Segar) มาใช้ แต่ก็ให้ความสำคัญกับทุกๆ องค์ประกอบในภาพตั้งแต่ตัวละครจวบจนพื้นหลัง ทั้ง Hergé และ สวัสดิ์ ผสานโลกตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกันอย่างเสรี เนื่องจากพวกเขาเป็นส่วนหนังของสังคมพหุวัฒนธรรม” 

อาจารย์นิคโยงให้เราคิดถึงเส้นขนานระหว่างการ์ตูนไทยและสากลอีกหลายตัวอย่าง อาทิ งานที่ว่าด้วยศาสนาและปรัชญาพุทธของ เหม เวชกร สะท้อนกับงานที่ว่าด้วยศาสนาและปรัชญาคริสต์ของ Jijé ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นจุดเปลี่ยนของวงการในประเทศของตน หรือ เรื่อง JOE the SEA-CRET Agent ของ สุทธิชาติ ศราภัยวานิช ที่ได้แรงบันดาลใจอย่างมากจาก Akira โดย คัตสึฮิโระ โอโตโมะ (Katsuhiro Otomo) ฯลฯ

เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย
เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย

 “ตอนที่ผมเซ็นสัญญา ตกลงกับสำนักพิมพ์ไว้ว่าหนังสือจะมีความยาวประมาณสองร้อยหน้า แต่สุดท้ายปาไปสองร้อยแปดสิบแปดหน้า ซึ่งผมตัดอะไรได้ไม่เลยจริงๆ มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องรวบรวมการ์ตูนไทยด้วยนิยามที่เปิดกว้าง หนังสือขำขันอย่าง ขายหัวเราะ ก็สำคัญ เช่นเดียวกับการ์ตูนเล่มละบาท หรือเหล่า Zine เชิงทดลอง และการ์ตูนโจมตีคอมมิวนิสต์ที่ถูกตีพิมพ์โดยฝั่งอเมริกันช่วงสงคราม ทั้งหมดล้วนเล่าเรื่องบางอย่างเกี่ยวกับบทบาททางสังคมของศิลปะชนิดนี้ในประเทศไทย

“กรอบเดียวที่ผมจำกัดตัวเองไว้คือ เลือกเฉพาะการ์ตูนที่ถูกพิมพ์ออกมาเท่านั้น (จึงไม่มีพวกการ์ตูนออน์ไลน์) ผมก็สงสารกองบรรณาธิการเล่มเหมือนกันนะ ที่ต้นฉบับมันยืดยาวขึ้นทุกเดือนๆ” อาจารย์นิคหัวเราะ เขาบอกว่าสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ใช้เวลา 6 ปีในการเขียนและเรียบเรียงจนสมบูรณ์

 มองย้อนกลับไป คุณเรียนรู้อะไรบ้างระหว่างทางของการทำหนังสือเล่มนี้

“โอ้โห เยอะมากเลย เนื่องจากหนังสือการ์ตูนไทยนั้นเป็นจุดตัดของหลากหลายศาสตร์ (งานออกแบบ ละคร กวีนิพนธ์ วรรณกรรม การเมือง ความเชื่อ ฯลฯ) ทำให้ผมต้องศึกษาเยอะมากเกี่ยวกับหลายแง่มุมของวัฒนธรรมที่นี่ แต่ถ้าให้เลือกสิ่งที่อะเมซิ่งมากที่ผมค้นพบคือ ‘การ์ตูน ลิเก’ โดย ประยูร จรรยาวงษ์ มันทำให้ผมต้องใช้เวลาเป็นเดือนๆ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับโรงละครลิเกและประเพณีที่ผู้ชมมีส่วนร่วมไปกับนักแสดงบนเวทีได้ แถมบ่อยครั้งยังสอดแทรกข้อคิดทางสังคมและการเมืองเข้าไปในละครด้วย ซึ่ง ประยูรผนวกการเล่นละครนี้เข้ากับสื่อของหนังสือการ์ตูนอย่างชาญฉลาด 

“การ์ตูนของเขามีเส้นเรื่องที่ซ้อนทับกันหลายเส้น บางทีตัวเอกลิเกก็จะเล่าเรื่องนิทานพื้นบ้านของตัวเอง จนเขาถูกดึงกลับมาเล่าเรื่องบนเวทีด้วยเสียงร้องของผู้ชม ทุกๆ สามสี่หน้าเราจะกระโดดไปมาระหว่างหลังม่านและหน้าม่าน วิธีการเล่าเรื่องแบบนี้ผมไม่เคยพบเจอที่ไหนในโลกในยุคนั้น เรียกได้ว่า ประยูร จรรยาวงษ์ เป็นอัจฉริยะด้านการเล่าเรื่องผ่านการ์ตูนอันดับต้นๆ ของโลกตอนนั้น แต่คนรู้จักเขาน้อยมากทั้งในไทยและต่างประเทศ นี่แค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นนะ” 

แล้วถ้ามองไปข้างหน้า คุณคิดว่าหนังสือเล่มนี้จะต่อยอดวงการการ์ตูนหรือการรับรู้ของคนเกี่ยวกับวงการนี้อย่างไรในอนาคต

“นอกเหนือการค้นคว้าในฐานะงานวิจัย ปณิธานตั้งต้นของผม คือการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม (Belonging) หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ทำขึ้นเพื่อนักเขียนการ์ตูนรุ่นนี้ ซึ่งอาจจะไม่รู้ประวัติศาสตร์อันยาวนาน และความรุ่มรวยของวงการการ์ตูนที่มีคุณภาพในเมืองไทยตลอดศตวรรษที่ผ่านมา พวกเขาทำงานในวงการที่ถูกมองว่าด้อยค่า ทำเป็นกลุ่มเล็กๆ แยกจากกัน 

“ผมหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะสร้างความเป็นปึกแผ่น และเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ สร้างแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจ เพื่อจะยอมรับหรือต่อยอดประเพณีและแนวคิดที่เคยผ่านมา” อาจารย์นิคกล่าว 

“ถ้าเรารู้รากเหง้าว่าเรามากจากไหน มันจะง่ายขึ้นที่จะเข้าใจจุดยืนของเราในปัจจุบันและทิศทางในอนาคต แน่นอนว่ามีเรื่องของความสนใจจากต่างชาติด้วย (หนังสือเล่มนี้พิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) ผมหวังว่านักเขียนชั้นครูของเมืองไทยจะได้การยอมรับที่พวกเขาคู่ควร อีกทั้งรัฐบาลจะหันมาให้ค่ากับหนังสือการตูนในฐานะมรดกทางวัฒนธรรม และมีงบสนับสนุนคนในวงการนี้ 

“ผมหวังว่านักวาดการ์ตูนจะได้มีพื้นที่ในงานศิลปะระดับชาติ หวังว่านักวิชาการในเมืองไทยจะหันมาศึกษาประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น ใช่แล้ว ผมหวังโน่นนี่เยอะเลยล่ะ” อาจารย์นิคหัวเราะ 

“แต่สุดท้าย ผมคงไม่ริอาจบอกว่าหนังสือเล่มหนึ่งจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรอก ผมเป็นแค่แขกคนหนึ่งในประเทศของคุณ สำหรับผม หนังสือเล่มนี้ก็เหมือนบานประตู คุณจะเปิดมันและก้าวไปต่อหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

เมื่อจบบทสนทนากับเรา อาจารย์นิคปิดหน้าสุดท้ายหนังสือ แต่เรารู้สึกว่าเรื่องราวของเขากับวงการการ์ตูนไทยพึ่งเริ่มต้นเท่านั้น

เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย
เข้าคลาส ‘การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์’ กับอาจารย์นิค-นิโคลาส เวร์สแตปเปิน ชาวเบลเยียมที่ใช้เวลา 6 ปีค้นคว้าและเขียนประวัติการ์ตูนไทย

 ขอบคุณสถานที่ นิทรรศการ ‘ไอ้ผีเล่มละบาท’ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

และ ภาพบางส่วนจาก นิโคลาส เวร์สแตปเปิน, มูลนิธิประยูร จรรยาวงษ์

หนังสือ การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ River Books วางขายตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ หรือสั่งซื้อได้ทาง Facebook : River Books

Writer

Avatar

โอ๊ต มณเฑียร

ศิลปินวาดรูปนู้ด แม่มด คนรักพิพิธภัณฑ์ และนักเขียนหนังสือ 'London Scene' กับ 'Paris Souvenir'

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน