4 พฤศจิกายน 2022
3 K

กลิ่นสีและกาวแป้ง ไม่ใช่ภาพยนตร์ระดับตำนานของไทย แต่เป็นบรรยากาศของวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียนของ Museum of Contemporary Art (MOCA)

และ “ใส่รองเท้าอะไรมาคะ” ก็ไม่ใช่ประโยคคำถาม แต่เป็นประโยคต้อนรับของทีมงานที่ยอมเปิดบ้านเลอะฝุ่นให้เราเข้าไปดูเบื้องหลังการติดตั้งชิ้นงาน The Art of Banksy ก่อนใคร อีเวนต์ใหญ่แห่งปีที่พวกเขาบอกว่าเป็นการดีลงานที่ยุ่งยากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ระดับ 11 เต็ม 10 

เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด
เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด

ถัดมาอีก 4 วัน เรากลับมาที่นี่อีกครั้ง แบบไม่ต้องกลัวอีกต่อไปว่ารองเท้าคู่ไหนจะพาให้ลื่นล้ม 

ผลงานพร้อมโชว์ โปรเจกเตอร์พร้อมฉาย หูมิกกี้เมาส์จำลองชวนให้นึกถึงทางเข้าสวนสนุกในฝัน เพียงแต่มันกลับตาลปัตรเป็น Dismaland ดินแดนแห่งสงครามและคราบเลือดของศิลปินหัวขบถนิรนามที่ถ้าใครไม่รู้จักชื่อเขา ก็ต้องรู้จักชิ้นงานในตำนานของเขาสักชิ้น ตั้งแต่ Girl With Balloon กราฟฟิตี้รูปเด็กหญิงกับลูกโป่ง, Kissing Coppers สองตำรวจหนุ่มกอดจูบกัน, The Flower Thrower ชายที่กำลังเขวี้ยงช่อดอกไม้ ไปจนถึงการโปรยเงินปลอม Banksy of England รูปเจ้าหญิงไดอาน่า ทั้งหมดล้วนเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา และออกจะต่อต้านระบบทุนนิยมอยู่ไม่น้อย

แต่หากยังไม่รู้ ก็เชื่อว่าคงเห็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ผ่านตามาบ้าง เพราะนิทรรศการนี้ปราศจากความยินยอมของศิลปิน เต็มไปด้วยผลงาน Reproduction ทั้งจริง-ไม่จริงเรียงรายคละกัน แถมจากการจัดแสดงกว่า 18 เมืองทั่วโลก กรุงเทพฯ ยังเป็นที่แรกและที่เดียวที่ยกสตรีทอาร์ตมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยอีกต่างหาก 

วันนี้เราเดินทางมาพร้อมคำถามค้างคาใจ เพราะคงไม่มีใครที่จะคลายข้อสงสัยทั้งหมดได้ดีมากไปกว่า คิด-คณชัย เบญจรงคกุล ผู้อำนวยการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่ง MOCA 

คนที่กำลังจะหย่อนตัวนั่งลงตรงข้ามเราในไม่ช้า

เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด
เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด

Game Changer (2020)

เราเริ่มด้วยการเล่าให้คิดฟังว่า MOCA ในทรรศนะของคนทั่วไป คือพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยงานไทยวิจิตรของปรมาจารย์งานศิลป์ไทย การที่พักหลังเขาหันมาสนใจสตรีทอาร์ตจึงเป็นสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง คิดนึกย้อนไปราว ๆ 4 – 5 ปีก่อน ตอนเข้ามารับหน้าที่บริหารงานต่อจาก เจ้าสัวบุญชัย เบญจรงคกุล พ่อของเขา

“ตั้งแต่คิดเข้ามาทำตรงนี้ เราพยายามให้ MOCA มีศิลปะที่หลากหลายมากขึ้น เข้าถึงศิลปินรุ่นใหม่ไปจนถึงสตรีทอาร์ต มีการจัดงานของศิลปินเด็ก มีงานที่เอาคนรุ่นใหม่อย่าง คุณต่อลาภ ลาภเจริญสุข จัดร่วมกับ อาจารย์ทวี รัชนีกร 

เราเป็นคนละเจนเนอเรชันกับคุณพ่อ รู้สึกว่าอยากทำอะไรใหม่ ๆ ให้คนหลาย ๆ กลุ่มได้ดู”

แม้คิดจะเห็นเช่นนั้น ยังมีบางงานที่พ่อของเขาไม่ค่อยแน่ใจว่าจะจัดดีหรือไม่ แต่พอได้เห็นงานศิลปะแขนงอื่น ๆ เช่น นิทรรศการ DOMESTICATED ของ กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปิน Art Performance ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่จนต้องซื้อเก็บไว้เป็นคอลเลกชันสำหรับจัดแสดง งานสตรีทอาร์ตจึงเขยิบเข้ามาใกล้มากขึ้น 

เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด
เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด

โดยที่เจ้าสัวเองก็ไม่รู้ตัวเลยว่าวันหนึ่ง ลูกชายจะเข้ามาขอใช้พื้นที่อีก 2 โถงนิทรรศการถาวรของ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ และ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ที่พ่อรัก เพื่อจัดงานครั้งใหญ่ที่อาศัยแค่ 2 ห้องนิทรรศการหมุนเวียนไม่พอ

เราถามตามตรงว่า สตรีทอาร์ตก็ควรเป็นศิลปะที่จัดแสดงบนท้องถนนมิใช่หรือ

คิดตอบกลับว่า “มันน่าจะเปลี่ยนบริบทได้” 

สำหรับตัว Street Artist ท้องถิ่นเอง ยังถือเป็นความท้าทายที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากกำแพงเป็นผนังของมิวเซียม ทั้งยังเป็นสถานที่มั่นให้ศิลปินมารวมตัวกันได้ง่ายอีกด้วย

การจัดนิทรรศการสตรีทอาร์ตที่นี่จึงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่า ศิลปินคนนั้นคือใครต่างหาก

Show me the Banksy (2005)

Banksy เป็นศิลปินหนึ่งในความฝันของคิด 

เขาฝันมาตลอดว่าคงเป็นการดีถ้าคนไทยจะมีโอกาสได้เห็นงานของ Banksy เหมือนที่เขาเคยเห็นในต่างประเทศ แต่ความจริงคือที่ผ่านมา Banksy เคยจัดงานนิทรรศการของตัวเองเพียงครั้งเดียวที่ Bristol City Museum บ้านเกิดของเขา เพราะหนึ่งในความเชื่อของศิลปินผู้นี้คือ ศิลปะเป็นของทุกคน 

ถ้าเห็น ให้อนุมานได้เลยว่าจัดขึ้นโดยกลุ่มคนอื่นทั้งสิ้น 

แน่นอนว่า The Art of Banksy ก็เช่นกัน

คิดตื่นจากฝันมาเผชิญหน้ากับความจริง แต่ดันจริงยิ่งกว่าในฝัน เมื่อทีมอีเวนต์ติดต่อมาว่าอยากจัดแสดงนิทรรศการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด
เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด

“บริษัท EEG (Expand Entertainment Group) ติดต่อเรามา เขาบอกตั้งแต่แรกว่าจะมีงานออริจินัล มีงาน Reproduction มีงาน Video Mapping มี Installation สร้างขึ้นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Banksy”

 ถึงจะเข้าใกล้ความฝันเต็มแก่ เขาก็ยังลังเลใจอยู่พอสมควร

“เราชั่งน้ำหนักว่าจะจัดดีไหม” ผู้อำนวยการคิดหนัก ต่อให้ทางผู้จัดงัดความสำเร็จมาเล่าให้ฟังว่ากระแสตอบรับของทั้ง 18 เมืองถล่มทลาย ขนาดมียอดผู้เข้าชมรวมแล้วกว่า 1 ล้านคน อาจเป็นเพราะความจริงอีกอย่าง คือผลตอบรับมีทั้งดีแย่ปนไป และส่วนที่แย่ก็ดันหนักหน่วงเสียนี่

“เราเห็นว่ามันมีดราม่า แต่ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นงาน Banksy จัดเองหรือคนจัดงานให้ มันก็จะมีประเด็นพวกนี้อยู่แล้ว 

“ทั้งพูดถึงวิธีการทำงานของเขา การที่เขาไปทำงานในพื้นที่สาธารณะ การเอางานไปขึ้นโชว์ที่ MOMA (Museum of Modern Art) โดยเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับรู้ หรือการพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ มันเป็นเรื่องที่อยู่ในความสุ่มเสี่ยง อาจจะพูดยากว่าอะไรถูกอะไรผิด

“เจตนาจริง ๆ เราอยากให้คนได้มาเห็นงานนี้ เพราะมันกระจัดกระจายอยู่ตามถนน ตามที่สาธารณะ บางคนเคยเห็นงาน Banksy แต่อาจจะไม่ได้รู้ถึงความหมายของมัน แต่ครั้งนี้เราจับงานทุกอย่างแผ่ออกมาให้เห็นหมดเลย เราคิดว่าถ้าคนได้มาสัมผัสงานนี้จะได้รู้ถึงความคิดและกระบวนการทำงานของเขามากขึ้น

“ตอนนี้มีความเห็นทั้งบวกและลบ แต่เราก็หวังว่าจะมีคนที่ชอบงานนี้ด้วย”

ก่อนหน้าที่ชิ้นงานจะล่องเรือมาเทียบท่า ศิลปะกว่า 150 ชิ้นจัดแสดงที่ประเทศเกาหลีมาก่อนเป็นเวลา 6 เดือน ใน 2 เมือง มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ไฟอาจไม่ร้อนระอุเท่า

“MOCA อาจจะเป็นสถานที่ที่คนมองว่าเป็นมิวเซียมแรก ๆ ของประเทศไทย ควรทำทุกอย่างที่มันถูกต้องเป๊ะ ห้ามจัดแสดงงานที่อยู่ในพื้นที่สีเทา ซึ่งทำให้คิดได้เห็นว่า มีมุมมองที่หลากหลายจริง ๆ ในแวดวงศิลปะ”

คุณคาดคะเนถึงกระแสตอบรับเหล่านั้นบ้างไหม – เราถาม

“คาดคะเน แต่ไม่ได้คาดคะเนว่ามันจะเยอะขนาดนี้” คิดหัวเราะเบา แต่เรารู้ว่าวันนั้นเขาคงหัวเราะไม่ออก

เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด
เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด

Devolved Parliament (2009)

“คือเราเองก็มีความผิดที่ไม่ได้สื่อสารให้มันเคลียร์” 

เขากำลังจะเปิดอก ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ โปรดอย่าเคืองเขาเร็วนัก 

“มีคนเข้าใจผิดว่านี่เป็นงานที่จัดโดย Banksy หรือเปล่า ซึ่งเราไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นงานที่ไม่ได้จัดโดยศิลปิน”

ประเด็นที่ว่า เกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีหลัง MOCA โพสต์ประชาสัมพันธ์ ด้วยการแปลไทยบางอย่างอาจทำให้หลายคนดีอกดีใจที่จะได้ชมผลงานระดับโลกด้วยตาเปล่า แท้จริงกลับเป็นการรวบรวมผลงานโดยกลุ่มคนหนึ่งมาจัดแสดงเพียงเท่านั้น หนำซ้ำ Banksy ยังไม่รับรู้อีกต่างหาก 

คิดเล่าว่าถ้อยคำทั้งหมดในโพสต์แรกคือคำโปรยของงานที่ทุกเมืองใช้เหมือนกันหมด เนื่องจาก The Art of Banksy มาในรูปแบบแพ็กเกจ แนวทางการจัดแสดงผลงาน แม้กระทั่ง Communication Message ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของผู้จัดทั้งสิ้น ซึ่งเขายอมรับแต่โดยดีว่า แปลได้ไม่รอบคอบเอาเสียเลย

แล้วคุณเคลียร์กับทางทีมผู้จัดยังไง – เราถามอีก 

“เขาบอกว่าเจอมาทุกประเทศ แต่ครั้งนี้น่าจะเยอะสุดแล้วที่ประเทศไทย” เห็นจะจริงเช่นนั้น

งั้นคุณมีแผนรองรับประเด็นดราม่าที่จะเกิดขึ้นรึเปล่า ถ้าคาดคะเนเอาไว้ – บทสนทนาสนุกขึ้น เพราะคิดตอบว่าไม่ได้ตั้งใจเตรียมรับมือ แต่เขาเลือกที่จะไม่สื่อสารตามกฎระเบียบของทีมผู้จัดอีกแล้ว

โพสต์แถลงการณ์ตามมา คิดจึงบอกครบทุกอย่างว่าภายในนิทรรศการนี้จะมีงานทั้งหมด 150 ชิ้น มีงานจริง 32 ชิ้น ซึ่งได้รับการรองรับจาก Pest Control บริษัทตรวจสอบชิ้นงานจริงของ Banksy โดยเฉพาะ เขาเล่าว่าถ้าย้อนไปดูงานเก่า ๆ ที่เคยมีมา ไม่เคยมี Exhibitor คนไหนพูดเช่นนี้ 

“เราคิดว่าสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการบอกให้ชัด ๆ ไปเลยว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของเรา ไม่ได้จะมาหลอกลวงว่านี่คืองานของ Banksy และทั้งหมดเป็นผลงานจริง” คิดเอ่ยย้ำ

เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด
เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด

Shop Until You Drop (2011)

ตามแผนงาน ผลงานศิลปะ 150 ชิ้นนี้ควรเดินทางมาถึง MOCA วันที่ 6 ตุลาคม แต่มันกลับล่าช้าไปหลายอาทิตย์ ทั้งที่โปรเจกต์นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีก่อน 

ผู้อำนวยการพูดตามตรงว่า นี่คืองานที่โหดหินและราคาแพงที่สุดสำหรับเขา 

“ทีมต่างชาติกี่ชีวิตต้องมาถึงที่นี่ เฉพาะ Artist น่าจะ 3 แล้วก็มีทีมงานอีกประมาณ 10 คน และมาก่อนหน้านี้ด้วยรอบหนึ่ง ดูพื้นที่ วัด แล้วก็กลับมาเซ็ตอัปอีก 

“ค่าขนส่ง นำเข้า ค่อนข้างสูงมาก และงานมันก็ต้องขนมาเป็นคอนเทนเนอร์ขึ้นเรือมาทั้งหมด หลาย ๆ ส่วนต้องมาสร้างใหม่ที่นี่ ทั้งผนัง กำแพง ห้องกระจก Infinity Room หรือ Multimedia ต่าง ๆ ทำให้งบในการจัดงานการจัดนิทรรศการนี้สูงมาก สูงสุดเท่าที่เราเคยจัดนิทรรศการมาเลย”

คุยเรื่องซีเรียสมานาน เราถามเขาและลูกทีมเล่น ๆ ว่า ถ้าให้คะแนนความยุ่งยากของงานนี้ เต็ม 10 จะอยู่ที่เท่าไร ทุกคนสบตากันและหัวเราะ ก่อนจะตอบว่า 11

“ซึ่งตอนนี้มองกลับไปก็ไม่รู้ว่าคุ้มหรือเปล่าที่จัด” ฟังดูติดตลก แต่มีความจริงซ่อนอยู่ในท่าที

เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด
เบื้องหลัง The Art of Banksy สตรีทอาร์ตหัวขบถในมิวเซียมที่โดนดราม่าตั้งแต่ยังไม่ได้จัด

“เราเหนื่อยมาก ลงทุนไปเยอะ โดนดราม่าด้วย แล้วค่าตั๋วที่คนจะจ่ายบัตรเข้ามาก็ไม่รู้ว่าจะครอบคลุมที่เราลงไปไหม แต่เราหวังว่าคนมาแล้วจะชื่นชอบ” 

ให้สมกับที่ต้องสื่อสารกับทีมงานชาวตุรกี อังกฤษ เยอรมัน ฯลฯ โดยมีคนเกาหลีเป็น Production Manager 

เรื่องค่าเข้าก็เป็นอีกประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันหนาหู เพราะทุกคนรับรู้ว่า Banksy เป็นศิลปินที่ต่อต้านระบบทุนนิยมขนาดไหน งานของเขาจึงปรากฏอยู่ตามถนนหนทาง แต่คิดอยากอธิบายให้ชัดเจนว่า มันคือต้นทุน ค่าบริหารจัดการ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสดูผลงานของศิลปินชื่อดังอื่น ๆ ในอนาคต

ดังนั้น บางความเห็นที่เข้ามาโจมตีว่า “เก็บเงินค่าเข้า กะเอารวยตั้งแต่วันแรก” จึงเป็นไปไม่ได้

คุยกับ คิด คณชัย ผู้อำนวยการ MOCA ถึงการเดินทางของ The Art of Banksy นิทรรศการที่ปลอมเกินครึ่ง แต่คนทั่วโลกยังอยากดู
คุยกับ คิด คณชัย ผู้อำนวยการ MOCA ถึงการเดินทางของ The Art of Banksy นิทรรศการที่ปลอมเกินครึ่ง แต่คนทั่วโลกยังอยากดู

Draw The Raised Bridge (2018)

ว่ากันตามตรง ประเทศไทยเองก็เคยมีงานจัดแสดงผลงาน Reproduction ของศิลปินมาแล้วหลายครั้ง แต่คิดเองก็เข้าใจว่าครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะ Banksy ยังมีชีวิตอยู่

“งานที่โชว์ใน MOCA ได้รับการยินยอมจากศิลปินทั้งหมดแล้ว” เขายืนยัน 

“แต่ Banksy เขาไม่เปิดเผยตัวตน การพูดถึงเรื่องการ Reproduction ผลงานกับศิลปินนิรนามเลยค่อนข้างคลุมเครือ

“งานออริจินัลของเขาอยู่ในที่ที่คุณต้องเอาตัวเองไปที่นั่น คุณถึงจะเห็น ไม่ใช่งานที่ยกออกมาจัดแสดงได้ จึงต้องพิจารณากันเป็น Case by Case เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นเพื่อไปเห็น ไปสัมผัสของจริง ๆ แต่วันนี้เราเลือกเอาเข้ามา” 

มุมมองหนึ่งจากทีมงานที่คงต้องใส่ว่า Unpopular Opinions ไว้ตัวโต ๆ คือศิลปะยุคใหม่ควรจะไร้ข้อจำกัด และอย่ายึดติดกับคำว่า ออริจินัล มากนัก

ใช่ ที่งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของศิลปิน แต่ท้ายที่สุดถ้าคุณเปิดกว้างกับโลกแห่งศิลปะในอนาคตมากขึ้นกว่านี้ เราคงได้เห็นงานสนุก ๆ สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่เกิดจากการต่อยอดอย่างไร้ขีดจำกัดอีกมากมาย เข้าถึงผู้คนที่หลากหลายและแตกต่างอย่างแท้จริง 

“ศิลปะเข้าถึงคนได้มากกว่านั้น มันสื่อสารกับคนได้มากกว่านั้น แล้วทำไมเราถึงไม่ลอง” เขาแสดงความตั้งใจ ถึงจะรู้ว่าเป็นความคิดที่เปลี่ยนกันยาก

“คนที่เขาคิดว่ามันไม่ถูก มันก็คงไม่ถูกอยู่ดี แต่น่าจะมีคุณงามความดีอะไรอยู่บ้างในสิ่งนี้ที่จะช่วยต่อยอดออกไปในอนาคต นิยามศิลปะเป็นอะไรได้อีกตั้งเยอะแยะ เราเป็นมิวเซียมก็เปิดกว้างในคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะทุกคนมีมุมมองเป็นอิสระ” 

คุยกับ คิด คณชัย ผู้อำนวยการ MOCA ถึงการเดินทางของ The Art of Banksy นิทรรศการที่ปลอมเกินครึ่ง แต่คนทั่วโลกยังอยากดู
คุยกับ คิด คณชัย ผู้อำนวยการ MOCA ถึงการเดินทางของ The Art of Banksy นิทรรศการที่ปลอมเกินครึ่ง แต่คนทั่วโลกยังอยากดู

คิดมองว่าการ Reproduction ไม่สำคัญเท่าความยินยอมจากศิลปิน แต่เขาก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่ามันไร้หนทาง วิธีที่แย่ที่สุดอย่างการส่งข้อความส่วนตัวไปหา ทีมงานเขาก็ทำมาแล้ว

“ถ้าเราไม่ได้ความยินยอมจาก Banksy อีกหนึ่งทางเลือกคือไม่จัดงานเลย แต่เรามองว่ามันมีข้อดีอะไรบ้าง เขาเคยบอกแค่ว่า อีเวนต์พวกนี้ไม่เกี่ยวกับผม แต่ไม่ได้บอกว่าพวกคุณไม่ควรไป ซึ่งจริง ๆ งานเหล่านี้คนดูเป็นล้าน มันทำให้ศิลปะเข้าถึงคนมากขึ้น

“เราเลยอยากให้คนมาดูงานแบบ Total Experience มากกว่ามาเดินดูว่าอันไหนของจริงของปลอม เพราะงานของเขามีสิ่งที่พยายามบอกกับเราเยอะแยะมาก”

คำถามง่าย ๆ ถูกโยนให้คิดตามมาว่า ศิลปินที่เขาลงแรงต่อสู้ ต่อกรกับทุก ๆ อย่าง เพื่อให้ได้มาเป็นใครกันแน่ 

แต่ไม่มีใครตอบได้หรอก คิดเองก็ด้วย 

เขารู้เพียงว่าเนื้องานของ Banksy ชวนให้นึกถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ไทยที่มองสังคมหรือมองโลกใบนี้ใหญ่กว่าตัวเองหลายเท่า และการได้มาเดินพิจารณาไปทีละงาน กว่า 700 ตารางเมตร ใน 4 ห้อง จนครบ 150 ชิ้น ก็คงมีพลังมากพอที่จะจุดประกายความคิดบางอย่างของคุณได้ แม้ไม่รู้ว่าเจ้าของผลงานอยู่ที่ไหนหรือเป็นใครก็ตาม

ทิ้งทวนด้วยคำถามสุดท้าย เป็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่เราคิดว่าน่าแก้ที่สุดในช่วงเวลานี้

นั่นคือ ถ้าอยาก Cover ค่าใช้จ่ายที่เสียไป คุณคิดว่าควรจะต้องมีคนมาดูเท่าไหร่

“50,000 คนก็ยังไม่ Cover เลย” 

เสียงหัวเราะดังกลบการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์งานช่างทั้งหลาย เพื่อให้พร้อมกับรอบสื่อมวลชนในบ่ายอันใกล้นี้

ส่วนเรารีบหยิบมือถือมาค้นหาว่า บัตรเข้าชมมีราคากี่บาทกันแน่

คุยกับ คิด คณชัย ผู้อำนวยการ MOCA ถึงการเดินทางของ The Art of Banksy นิทรรศการที่ปลอมเกินครึ่ง แต่คนทั่วโลกยังอยากดู

The Art of Banksy : Without Limits

จัดแสดงตั้งแต่ 26 ตุลาคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 

เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)

ณ Museum of Contemporary Art (MOCA) (แผนที่)

รายละเอียดเพิ่มเติมและซื้อบัตรได้ที่ : www.artofbanksy.com/bangkok-thai

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล