นักลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Cryptocurrency คงเคยได้ยินแนวความคิด Decentralized คำศัพท์ใหม่ที่ผุดขึ้นมาเพื่ออธิบายวงการการเงินแห่งอนาคต ลดความเป็นศูนย์กลางของระบบแล้วกระจายความเป็นเจ้าของไปสู่มือทุกคน แต่เราไม่ได้จะโฆษณาชวนให้ทุกท่านลงทุนแต่อย่างใด เพราะคอลัมน์หมู่บ้านครั้งนี้ จะเล่าถึงแนวความคิดไร้ตัวกลางในมุมมองของที่อยู่อาศัยในอนาคตต่างหาก ที่สำคัญ อาจเปลี่ยนโลกนี้ไปเลยก็ได้
สถานที่แห่งนั้นมีชื่อว่า ‘The Aardehuizen’ ในเมือง Olst ซึ่งแปลตรงตัวว่า บ้านดิน หมู่บ้านอีโค่แห่งแรกในเนเธอร์แลนด์ที่ทำแบบ Decentralized ให้ทุกคนเป็นเจ้าของ นอกจากความไฮเทค ยังรักษ์โลกเป๊ะทุกอณู ตั้งแต่ใช้ขยะและวัสดุธรรมชาติมาสร้างบ้าน โดยคนอยู่ต้องมาช่วยกันทำ ผลิตไฟฟ้าจนแบ่งกันได้ ใช้น้ำรีไซเคิลซึ่งถูกกรองแบบธรรมชาติสุดๆ ไปจนถึงเก็บเกี่ยวอาหารตามหลักการ Permaculture ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อสร้างวิถีชีวิตกินอยู่อย่างยั่งยืน
ว่าแล้วก็ลองไปเคาะประตูดูสักหน่อยดีกว่า ว่าหมู่บ้านแห่งนี้ทำได้อย่างไร ทำไมใครๆ ถึงยกให้เป็นต้นแบบที่อยู่อาศัยในอนาคต
ระบบการใช้ชีวิตในอนาคต
ความคิดแรกเริ่มที่ชาวเนเธอร์แลนด์ผันตัวมาสร้างต้นแบบย่านยั่งยืนหลายแห่ง เพราะเป้าหมายตามอนุสัญญาปารีส ที่รัฐบาลประกาศหนักแน่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ ภายใน ค.ศ. 2050 ซึ่งแผนการของพวกเขาคือ การเปลี่ยนให้เกิดเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนขึ้น
ซึ่งตามอนุสัญญานี้ เราเลยได้เห็นโปรเจกต์หลากหลายจากอีกฟากฝั่ง ทั้ง SchoonSchip เมืองลอยน้ำอัจฉริยะ จนถึง De Ceuvel พื้นที่สังสรรค์ด้วยเทคโนโลยีสะอาด สร้างเป็นต้นแบบเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศอย่างที่ตั้งใจ
โดยจุดร่วมของโครงการทั้ง 2 โครงการและ The Aardehuizen คือการใช้ระบบไมโครกริด (Microgrid)

ระบบไฟฟ้าแบบปันกัน
ความเก๋ของเจ้าไมโครกริด หรือเรียกในหน่วยย่อยว่า SIDE (Smart Integrated Decentralized Energy) คือระบบการบริหารไฟฟ้าที่สร้าง จำหน่าย และควบคุมได้ภายในพื้นที่เดียวให้มากที่สุด
นักวิจัยต่างบอกว่าเทคโนโลยีไมโครกริดทำให้ท้องถิ่นมีพลังงานแบบหมุนเวียนได้ถึงร้อยละ 90 และมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองอย่างเต็มที่ในอนาคต การสำรองไฟฟ้ามากเกินไปเป็นการเพิ่มต้นทุนและเสียเปล่าของพลังงาน ถ้าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพิ่ม จะกินไฟที่ผลิตแค่ร้อยละ 30 ส่วนพลังงานที่เหลือจากการแบ่งจ่ายก็กลับคืนสู่กริดกลางเพื่อเก็บไว้ใช้ได้
และเมื่อไฟฟ้าถูกผลิตและส่งต่อไปยังบ้านเรือน ทุกคนในหมู่บ้านก็จะกลายเป็นเจ้าของร่วมกัน ทั้งมีพอให้ใช้ เก็บสำรองได้เมื่อเหลือ และมีสิทธิ์เผื่อแผ่ไปยังเพื่อนบ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียงได้อีกด้วย เจ๋งดีแท้!
ซึ่งเขายังคาดการณ์กันอีกว่า ในอีก 29 ปี ครึ่งหนึ่งของบ้านเรือนในสหภาพยุโรปจะหันมาผลิตพลังงานหมุนเวียนแบบนี้เป็นของตัวเองเช่นกัน เป็นกุญแจสำคัญที่พาเราไปสู่เมืองสีเขียวในอีกหลายปีข้างหน้า

ระบบออกแบบบ้านกันเอง
หมู่บ้านแห่งนี้สร้างตั้งแต่ 6 ปีที่แล้ว ได้แรงบันดาลใจมาจาก Earthships หรือบ้านที่ออกแบบจากบรรดากระป๋องน้ำอัดลมและขยะรีไซเคิลของ ไมเคิล อี. เรย์โนลส์ (Michael E. Reynolds) เมื่อ ค.ศ. 1970 ซึ่งถือว่าล้ำมากๆ ในยุคนั้น
ด้วยแนวคิดเดียวกัน จึงกลายมาเป็นบ้าน 23 หลังที่ใช้วัสดุยั่งยืน ซึ่งปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับชาวดัตช์มากขึ้น ตั้งแต่สร้างกำแพงจากยางรถยนต์เหลือทิ้ง ก่อด้วยดินและฟางเพื่อให้โครงสร้างแข็งแรง แถมยังใส่ใจถึงการออกแบบหลังคาให้เอียง 9 องศา เพื่อรับแสงมากในหน้าหนาว และรับแสงน้อยในหน้าร้อน พร้อมติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้านบน ตกแต่งโดยรอบด้วยแผ่นเก็บพลังงานแสงอาทิตย์และหม้อต้มไอน้ำไฟฟ้า สำหรับสร้างพลังงานไฟฟ้าและความร้อนเอง เพื่อลดการใช้แก๊สและเชื้อเพลิงต่างๆ


ส่วนระบบน้ำบาดาล ก็จะได้รับการกรองขาเข้าและทดสอบคุณภาพอย่างสม่ำเสมอว่าพร้อมดื่มใช้ ส่วนน้ำทิ้งก็ต้องถูกกรองขาออก ก่อนปล่อยลงสู่ดินเช่นกัน
ของเสียทั้งหลายเขาก็ไม่ปล่อยให้เสียของ เพราะทุกครัวเรือนใช้ระบบสุขาแบบปุ๋ยหมักสุขี คือเก็บสิ่งปฏิกูลไว้เป็นปุ๋ย ซึ่งช่วยลดการใช้น้ำดื่มเพื่อกดชักโครกหนึ่งครั้งได้หลายพันลิตรต่อปี และปุ๋ยนี้เก็บแร่ธาตุล้ำค่าไว้เต็มเปี่ยม เอาไปใช้เพาะปลูกต่อได้


สำคัญที่สุดคือ บ้านทุกหลังต้องสร้างกันเอง!
โครงการนี้เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล ซึ่งได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการก่อสร้างที่พักอาศัยอย่าง CPO (Collectief Particulier Opdrachtgeverschap) ให้คนอยู่ออกแบบและสร้างหมู่บ้านตามใจนึก คือหาผู้รับเหมาหรือสถาปนิกเองได้ และบางส่วนก็ยังได้อาสาสมัครนับพัน ทั้งชาวดัตช์และหลายประเทศที่อยากมาเรียนรู้หมู่บ้านแห่งนี้ ช่วยลงมือก่อผนัง วางหลังคา คิดกันว่าอยากให้ออกมารูปแบบไหน ด้วยเหตุนี้เราเลยได้เห็นบ้านถึง 23 แบบ



จากการลงมือสร้างเอง บ้านในโครงการนี้เลยนับว่าใช้ต้นทุนน้อยกว่าบ้านทั่วไปมาก ทั้งยังใช้วัสดุเหลือทิ้งและไม้ที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น มีเพียงค่าใช้จ่ายส่วนของแผงโซลาร์เซลล์ ตัวกรองน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มเติมเท่านั้นเอง
ระบบกระจายอำนาจ
ความน่าสนใจอีกอย่างของหมู่บ้านแห่งนี้คือ ผู้อยู่อาศัยทุกคนจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง จึงเอื้อให้เกิดโครงข่ายเศรษฐกิจแบบแบ่งปันกัน แถมยังได้เป็นเจ้าของพลังงานหมุนเวียนแบบระบบสังคมประชาธิปไตย (Sociocracy)

ไม่ว่าจะดำเนินกิจกรรมใดๆ ทุกคนต้องพูดคุยจนเห็นพ้องต้องกัน และมีการแบ่งชุมชนดูแลรับผิดชอบในส่วนต่างกันออกไป ทั้งการก่อสร้างไปจนถึงการเงิน
หลายคนอาจเกิดถามในใจ เมื่อต้องลงความเห็นกันทุกเรื่องแบบนี้ แถมแบ่งกันดูแลจะซับซ้อนไปหรือเปล่า แต่เชื่อไหมว่าระบบโครงสร้างระบบสังคมแบบ The Aardehuizen ทำให้หมู่บ้านนี้ลดความขัดแย้งไปได้เยอะ และเกิดการเคารพซึ่งกันและกันมากขึ้นเสียอีก ซึ่งเป็นตัวอย่างอันดีให้ชุมชนอื่นศึกษาและทำตามในอนาคตได้แน่นอน

ระบบหมู่บ้านแห่งอนาคต
ระบบหมู่บ้านอีโค่แห่งนี้ จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เนเธอร์แลนด์ช่วยลด Carbon Footprint และเข้าใกล้เป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนลงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ได้ในอีก 2 ทศวรรษ
โดยนำร่องให้โครงการน้องใหม่อย่าง SmartHoods ที่กำลังวางแผนและต่อยอดภายใต้การดูแลของทีมงานอย่าง Florijn de Graaf ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart Grid Expert และ Simon Goddek ผู้เชี่ยวชาญด้าน Aquaponics ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้าในรูปแบบ Blockchain ให้ซื้อขายและบริหารกันได้เองแบบ Peer-to-peer รวมถึงระบบน้ำแบบ Aquaponics ที่เปลี่ยนน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดีเวียนไปเรื่อยๆ
และพวกเขายังคิดไปถึงการเปลี่ยนน้ำเสียปนเปื้อนสิ่งปฏิกูล (Black Water) และน้ำทิ้ง (Gray Water) ไปผลิตก๊าซชีวภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้า ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการผลิต นำไปใช้ประโยชน์ในเรือนเพาะชำของระบบอควาโปนิกส์ต่อ เพื่อให้พวกมันโตเร็วขึ้น
ที่ว้าวไปกว่านั้น SmartHoods จะสร้างระบบอาหารได้เอง โดยยึดหลักวัฏจักรฟอสฟอรัสแบบปิด (Closed Phosphate Cycle) ทำให้สารตั้งต้นที่สำคัญต่อกระบวนการของสิ่งมีและไม่มีชีวิต เกี่ยวเนื่องกับระบบห่วงโซอาหาร อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ หมุนเวียนกลับมาสร้างความมั่นคงทางอาหารได้ไม่รู้จบ
แล้ววันหนึ่งที่นี่จะมีพลังงานหมุนเวียนเองได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นศูนย์กลางระบบกระจายอำนาจของทรัพยากรต่างๆ อย่างทั่วถึง


ส่วนข้อแนะนำสำหรับอนาคตอันไกลที่ทีมผู้สร้างมองเห็น หมู่บ้านแห่งนี้จะไม่ใช่หยุดแค่ภายในประเทศ แต่อยากขยายไปเป็นระดับทวีปจนถึงระดับโลก ซึ่งแต่ละประเทศก็ต้องลองศึกษาทั้งนโยบายและข้อบังคับด้านพลังงานดูว่า จะปรับใช้ระบบนี้ในหมู่บ้านได้มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่น้ำไฟเข้าถึงยากหรือมีค่าใช้จ่ายสูง เราว่าระบบนี้ก็เป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียว นอกจากช่วยให้เราอยู่อย่างพึ่งตัวเองได้แล้วยังช่วยรักษาโลกใบนี้ให้อยู่อย่างดีได้นานขึ้น
ขอบคุณภาพและข้อมูลอ้างอิง
Graaf, Florijn. (2018). New strategies for Smart Integrated Decentralised Energy Systems.