เรารู้จัก กัปตันนัท-ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินและครูสอนการบินเฮลิคอปเตอร์ชาวไทยผ่านตัวอักษรในหน้าเพจ นัทแนะ และหนังสือเล่มแรกของเขาที่มีชื่อว่า Nigeria, here I come

นัทแนะ ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

เขาเล่าเรื่องราวการชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ปฏิบัติการบินให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมันเหนือน่านน้ำอ่าวกินี ประเทศไนจีเรีย ไว้ในเพจและหนังสืออย่างละเอียด 

เรื่องราวเหล่านั้นแสนตื่นเต้น ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัวนักบินต่างชาติ ไปไหนมาไหนต้องมีบอร์ดี้การ์ดถือปืนอาร์กาคุ้มกัน ไปจนถึงเรื่องราวการทำงานที่ได้เห็นโลกกว้างอันน่าตื่นตาตื่นใจ

ยิ่งอ่านเรื่องเล่าก็ยิ่งชวนให้เรานึกถึงเบื้องหลังความเป็นมาว่า ชายหนุ่มคนนี้มีเส้นทางการมุ่งทะยานสู่ท้องฟ้ากว้างได้อย่างไร

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

เพราะนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ทำงานในแวดวงธุรกิจน้ำมันนี้ ดูจะเป็นอาชีพที่น่าตื่นตาตื่นใจและแปลกกว่าที่คนทั่วไปจะหาทางเข้าไปได้ง่ายๆ 

รวมไปถึงเส้นทางหน้าที่การงาน ที่ไต่จากนักบินผู้ช่วยเป็นกัปตันที่ถือครองใบอนุญาตบินของ 4 ประเทศ ไปจนถึงการเป็นครูการบินและผู้ทดสอบภาคอากาศนักบินเฮลิคอปเตอร์ของสำนักงานการบินพลเรือน ที่ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกเช่นกัน

และดูเหมือนว่าเขายังมีเป้าหมายท้าทายตัวเองต่อไป โดยไม่มีทีท่าว่าจะตั้งเพดานสูงสุดไว้ให้กับความฝัน

หลายคนอาจคาดหวังคำตอบของการฝ่าฟันที่แสนยากลำบาก แต่สำหรับกัปตันนัทกลับมองทุกอย่างในแง่ดี

ได้ยินคำว่า ‘โชคดี’ จากปากของเขาอยู่บ่อยครั้ง 

แต่ถ้าฟังเรื่องราวของเขาแล้วจะรู้ว่า ความสำเร็จทุกอย่างในวันนี้ไม่ได้มีเพราะโชคช่วยแน่นอน

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

ร่อนไปตามแรงลม

บ่ายโมงวันอาทิตย์ เรามีนัดสไกป์คุยกับกัปตันนัท ที่อยู่ประจำการอยู่ในเมืองพอร์ท ฮาร์คอร์ท ประเทศไนจีเรีย เวลาท้องถิ่นของที่นั่นช้ากว่าประเทศไทยถึง 6 ชั่วโมง เท่ากับตอนนี้เป็นเวลาเช้าตรู่ของเขา ซึ่งเป็นช่วงเวลาว่างก่อนออกไปบินในตอนบ่ายและทำงานยาวไปถึงช่วงดึกของวัน

เมื่อเปิดหน้าจอทักทาย เขายิ้มแล้วบอกกับเราว่า “ตอนนี้ที่นี่ไฟดับครับ” 

เขาเล่าว่าเป็นเรื่องปกติของเมืองที่เขาอาศัยอยู่ และขอให้ดูว่าอีกสักสองสามนาทีไฟจะมา ซึ่งก็มาตามนั้นจริงๆ

เห็นความไม่แน่นอนเช่นนี้เราก็ไม่รอช้า ขอเริ่มบทสนทนาก่อนจะเกิดเหตุสัญญาณอินเทอร์เน็ตขาดหาย คำถามแรกเริ่มจาก “วัยเด็กคุณอยากทำอาชีพอะไร” เขาหัวเราะและบอกว่าคำตอบช่างน่าอายเหลือเกิน

“ตอนเด็กๆ อายุสักสี่ห้าขวบ ผมอยากเป็นภารโรงเพราะน่าสนุก หรือไม่ก็ดรัมเมเยอร์เพราะชอบเล่นตีกลองกับน้อง” เขาว่า

“ผมไม่เคยรู้จักอาชีพนักบินเฮลิคอปเตอร์ด้วยซ้ำ ไม่รู้จริงๆ ว่าเขาทำงานอะไร อย่างมากก็เคยเห็นที่เขาขับเฮลิคอปเตอร์ตอนวันเด็กเท่านั้น มองย้อนกลับไปชีวิตผมก็คล้ายกับขนนกในเรื่อง Forrest Gump เหมือนกันนะ ขนนกที่มันล่องลอยไปตามลมที่พัดพาไป” 

เด็กชายนัทเกิดและเติบโตในครอบครัวทหาร ที่คุณตา คุณพ่อ และญาติล้วนรับราชการทหารกันทั้งสิ้น ตัวเขาซึ่งเป็นหลานชายคนโตของครอบครัวก็ดำเนินรอยตามเส้นทางนี้เช่นกัน หลังจบมัธยมศึกษาปีที่ 4 เขาสอบเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมทหาร เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และรับราชการเป็นทหารบก ก่อนได้ทุนไปเรียนปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อเรียนจบปริญญาโท เขากลับมารับราชการทหารบก ความก้าวหน้าสายอาชีพดำเนินไปสู่ระดับยศพันตรี แต่ชีวิตนี้ก็ไม่มีอะไรแน่นอน

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

“วันหนึ่งเพื่อนก็มาชวนให้ไปสอบทุนเรียนเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ของบริษัทหนึ่งด้วยกัน พูดง่ายๆ คือผมก็ไปเป็นเพื่อนเขานั่นแหละ ผลสุดท้ายคือผมสอบติดแต่เพื่อนกลับสอบไม่ติด”

ผู้ผ่านการคัดเลือก 4 คนในจำนวนผู้สอบ 300 คน คือผู้ได้รับทุนการศึกษาไปเรียนหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี (เฮลิคอปเตอร์) ที่ประเทศแคนาดา ก่อนกลับมาเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ให้กับบริษัทบริการการบินเฮลิคอปเตอร์ในเขตพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันของอ่าวไทย ที่มีแท่นขุดเจาะน้ำมันเรียงรายในน่านน้ำประมาณ 20 แท่น 

ทางแยกสำคัญอยู่ตรงหน้าเขาแล้ว อยู่ที่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร

“ผมคิดว่าถ้าจะต้องเปลี่ยนเส้นทางต้องทำเสียแต่ตอนนี้ เพราะอายุเพิ่งจะสามสิบ ยังเปลี่ยนสายงานได้ แต่ถ้าไม่ไปก็ต้องอยู่กองทัพอีกยาว สุดท้ายก็คิดว่า ลองดูดีกว่า เป็นนักบินน่าจะสนุกดี” เขาตอบพร้อมรอยยิ้ม

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

โผบินสู่ท้องฟ้า

ขั้นแรกของการเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ทั้งหมด ชายหนุ่มวัย 30 ปีต้องทำความรู้จักเฮลิคอปเตอร์และหัดขับบังคับเหนือน่านฟ้าประเทศแคนาดาให้ได้

“ไปวันแรกครูก็พาเดินรอบเฮลิคอปเตอร์เพื่อแนะนำส่วนต่างๆ ของเครื่อง จากนั้นก็พาขึ้นบินเลย” นี่คือการขึ้นบินสู่ท้องฟ้าครั้งแรกโดยไม่ได้ตั้งตัวของเขา 

“ภาพวันนั้นงามจับใจมาก เฮลิคอปเตอร์สำหรับการเรียนการสอนเป็นโดมแก้วที่เรามองวิวทิวทัศน์ได้รอบตัว เห็นวิวอันสวยงามของเทือกเขาที่มีหิมะปกคลุม และเห็นนกอินทรีที่เป็นสัญลักษณ์ของอเมริกาบินโฉบผ่านเราไป” ชายหนุ่มเริ่มหลงรักการบินเข้าแล้ว

“การเรียนบินที่แคนาดาใช้เวลาประมาณหนึ่งปี หลักสูตรของที่นั่นเน้นการปฏิบัติ เน้นว่าการบินคือการใช้สมองและกล้ามเนื้อควบคุมให้ประสานงานกัน เขาจึงเน้นทักษะของมือและเท้าในการบังคับเครื่องอย่างมาก”

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน
ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

เมื่อถามถึงความโหดในการเรียน เขาบอกว่าครูจะจับตามองนักเรียนตลอดว่าแต่ละคนมีคุณสมบัติที่จะเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์จริงหรือไม่ ระหว่างทางนั้นจึงมีเพื่อนร่วมชั้นที่ไม่ผ่านและถูกคัดออกไปอีก

“ครูบอกเสมอว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นนักบินได้ บางอย่างตอนคัดมายังดูไม่ออก แต่จะดูออกเมื่อเริ่มบินได้สักพักแล้ว”

แล้วคุณสมบัติแบบไหนถึงจะเป็นนักบินได้ เราเริ่มสงสัย

“ต้องเป็นคนที่วุฒิภาวะ และในขณะเดียวกันก็กล้าตัดสินใจ เมื่ออยู่บนฟ้าแล้วนักบินจะลังเลไม่ได้ เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ เพราะช่วงเวลาของการบินเป็นเรื่องของความเป็นความตาย ปกติแล้วนักบินเฮลิคอปเตอร์ใช้เวลาการไต่จากนักบินผู้ช่วยเป็นกัปตันใช้เวลาประมาณห้าปีเท่านั้น ต่างจากนักบินเครื่องบินที่เขาใช้เวลากันเป็นสิบปี มีเวลาสั่งสมประสบการณ์และสร้างความเป็นผู้ใหญ่มากกว่า จึงเห็นได้ว่าคนที่เริ่มเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์มักจะมีอายุประมาณสามสิบปี”

หลังจบหลักสูตรการบินที่แคนาดา ว่าที่นักบินถูกส่งไปเรียนขับเฮลิคอปเตอร์รุ่นที่ใช้ในการทำงานที่สหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ก่อนกลับมาทำหน้าที่เต็มตัว

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

“สามเดือนแรกในการทำงานผมต้องบินกับครูฝรั่งก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าผมสามารถบินขึ้นลงบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน เพราะงานของผม คือการขับเฮลิคอปเตอร์รับส่งคนที่ทำงานบนแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย มีหน้าที่บินไปรับส่งพวกเขาระหว่างแท่นเจาะกับสนามบิน หรือระหว่างแท่นด้วยกันในพื้นที่อ่าวไทย

“งานนี้เป็นการเปิดโลกใหม่ให้ผมหลายอย่าง ได้เห็นแท่นขุดเจาะน้ำมันครั้งแรกก็ตื่นเต้นมาก ลองคิดดูว่าเหมือนห้าง MBK ทั้งห้างตั้งอยู่กลางทะเล แล้วผมก็ร่อนเครื่องลงไปจอดบนห้างนั้น ผมได้รู้จักผู้คนหลากหลายอาชีพที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เวลาไปรับส่งก็จะถามเสมอว่า พี่มาทำอะไรที่แท่นครับ ก็จะได้รู้จักทั้งเจ้าหน้าที่วิทยุ เจ้าหน้าที่ขุดเจาะ ไปจนถึงพ่อครัว”

ทะยานให้สูงที่สุด

เส้นทางของอาชีพนักบินเฮลิคอปเตอร์เริ่มจากการบินนักบินผู้ช่วย (Co-pilot) เพื่อสั่งสมประสบการณ์ ระหว่างทางมีการทดสอบและประเมินความสามารถรอบด้านอยู่ตลอดเวลา และเมื่อทำงานครบ 5 ปีก็จะเข้าสู่การพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็นกัปตัน ซึ่งหากได้รับพิจารณาบริษัทจะส่งเข้าโปรแกรมอัปเกรด 1 ปี

“เขาพิจารณาอย่างละเอียดและรอบด้าน ทั้งเรื่องทักษะการบิน การตอบรับสถานการณ์ และที่สำคัญคือการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะนักบินไม่ได้ทำงานแค่บินอย่างเดียว แต่เราต้องเจอกับผู้โดยสาร ทำงานกับช่างซ่อมเครื่อง พนักงานภาคพื้นดิน เจ้าหน้าที่หอบังคับการบิน เขาจะดูว่าเราประสานงานกับคนอื่นได้ดีไหม

“คนมักเข้าใจผิดว่า นักบินเป็นงานง่าย ทำงานกับคนแค่คนเดียว ก็คือกัปตันหรือนักบินผู้ช่วย แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราทำงานกับคนอีกมาก เคยมีนักบินที่ก้าวร้าว พูดจาไม่ดี ก็จะโดนรีพอร์ตกลับบริษัททันที งานนี้มีคนรอบตัวประเมินเราอยู่ตลอดเวลา”

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

แท้จริงแล้วความฝันสูงสุดของเขาไม่ได้หยุดเพียงตำแหน่งกัปตัน แต่เขามีเป้าหมายในใจแต่แรกว่าอยากเป็น ‘ครูการบิน’ เพราะประทับใจครูสอนบินของเขาที่ทั้งเก่งและรอบรู้ ประกอบกับความชอบในการถ่ายทอดความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

“ผมอยากเป็นครูการบินต้องทำยังไง” เขาลองถามครูต่างชาติที่สอนตั้งแต่ช่วงสามเดือนแรก คำตอบที่ได้คือ “ต้องเป็นกัปตันให้ได้ก่อน แล้วก็เสนอตัวเองเลยว่าสนใจอยากเป็นครู”

ในวันที่เขาก้าวขึ้นมาเป็นกัปตัน โอกาสที่ไม่คาดฝันมาเร็วกว่าที่คิด 

เมื่อทางบริษัทประกาศหาครูภาคพื้นดินที่สอนวิชาเกี่ยวกับความรู้ด้านเฮลิคอปเตอร์ กัปตันนัทยื่นใบสมัครทันที เขาจึงได้เป็นครูภาคพื้นดินก่อน ต่อมาเมื่อคิดว่าตัวเองมีความพร้อมแล้ว เขาก็เสนอตัวขอเป็นครูภาคอากาศตามคำแนะนำนั้น

“สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานกับบริษัทเอกชนคือ เรารอโอกาสอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องเสนอตัวเลยว่า เราพร้อม จะได้หรือไม่ได้เป็นอีกเรื่อง ต่างจากงานราชการที่ผมเคยทำ ซึ่งต้องรอการเติบโตไปตามเส้นทาง เมื่อถึงเวลาจึงเติบโตต่อไป”

เขาบอกว่า โชคดีที่ได้เจอผู้บริหารระดับสูงของบริษัทที่ให้โอกาสเขาได้แสดงความตั้งใจ

“ตอนนั้นในบริษัทผมไม่มีกัปตันไทยที่เป็นครูสอนภาคอากาศเลย ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ผู้บริหารท่านนี้เรียกผมไปคุยว่าอยากเป็นครูจริงๆ เหรอ เขาเองมีความตั้งใจอยากให้มีครูไทยอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะเป็นใคร และไม่กล้าเสี่ยง เพราะถ้าเลือกคนที่ไม่พร้อมจริง ครูไปบินกับนักเรียนใหม่อาจทำให้เฮลิคอปเตอร์ซึ่งราคาเครื่องละสามร้อยล้านบาทเสียหายได้ ถ้าเครื่องตกใส่แท่นก็จะพินาศกันทั้งหมด เสียชื่อเสียงบริษัทด้วย”

จากความมุ่งมั่นและประสบการณ์การทำงานที่ดีเยี่ยม กัปตันนัทจึงได้รับความไว้วางใจและรับการทดสอบได้เป็นครูการบินภาคอากาศดังตั้งใจในปีที่ 6 ของการทำงาน

ดูเหมือนเป้าหมายของเขายังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เป้าหมายที่สูงกว่าถูกกำหนดให้ท้าทายตัวเองเรื่อยไป ครั้งนี้คือการเป็นผู้ทดสอบภาคอากาศนักบินที่ต้องใช้ทักษะสูงกว่าการเป็นครู

“ครูยังไม่สามารถสอบนักบิน ในปีที่เจ็ดของการทำงานผมจึงได้สอบผ่านเป็นเช็กเกอร์ (Checker) หรือผู้ทดสอบนักบิน ซึ่งตัวเช็กเกอร์เองก็มีระดับต่างๆ เหมือนกัน เมื่อได้เป็นเช็กเกอร์ของบริษัทแล้ว ผมก็ไต่ไปถึงการเป็นเช็กเกอร์ของสำนักงานการบินพลเรือน ที่ทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่รัฐ”

จุดไฟการผจญภัย

ไม่รู้ว่าเป็นโชคดีอย่างที่เขาว่า หรือเป็นเพราะโอกาสเข้ามาหาผู้ที่พร้อมเสมอ เมื่อเขาต้องไปสอนและทดสอบนักบินที่เครื่องจำลองการบินที่สหรัฐอเมริกาเป็นประจำทุกปี และในปีที่ 9 ของการทำงาน เขาเดินไปทางไปสอนอีกครั้งและได้พบกับครูการบินชาวอเมริกันและเซาท์แอฟริกันที่ทำงานกับบริษัทเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำธุรกิจการบินกับบริษัทน้ำมันในประเทศไนจีเรีย

หลังจากได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนร่วมอาชีพ เขาก็ได้รับการชักชวนให้ไปทำงานที่ไนจีเรียด้วยกัน

“ตอนแรกในใจผมปฏิเสธไปทันที เพราะรู้สึกว่าต้องน่ากลัวแน่เลย” เขาว่าพลางหัวเราะ “แต่ฟังไปฟังมาผมกลับรู้สึกว่าตื่นเต้นดีนะ เหมือนจุดไฟการผจญภัยของผมขึ้นมาอีกครั้ง ประกอบกับรายได้ก็ดี ผมจึงลองกลับไปคิดและปรึกษาครอบครัว”

เมื่อทางครอบครัวก็ไม่มีปัญหา เขาจึงตอบตกลง เพียงเท่านี้หัวหน้าครูฝึกชาวอังกฤษก็มาสัมภาษณ์งานที่อเมริกาทันที

“หัวหน้าครูการบินมาสัมภาษณ์ผมเอง เพราะเขาอยากเห็นตัวจริงของผมว่าเป็นคนยังไง เขาให้เหตุผลว่า Nigeria is not for everyone. คนที่แข็งไปก็อยู่ไม่ได้ เพราะคนพื้นเมืองเป็นคนแข็งอยู่แล้ว แต่ถ้าอ่อนมากก็จะโดนข่มเหง เขาอยากได้คนกลางๆ พูดจารู้เรื่องและทำงานด้วยกันได้ ที่สำคัญคืออยากได้คนที่เป็นครูอยู่แล้ว ผมก็มีคุณสมบัติตรงพอดี”

สวัสดีไนจีเรีย

ตอนนี้กัปตันนัทมาทำงานที่ไนจีเรียได้เกือบ 2 ปีแล้ว เขาบอกว่าปีแรกนอนคิดทุกคืนว่า “เรามาทำอะไรที่นี่”

เป็นใครก็คงคิดเช่นนั้น ความเป็นอยู่ในประเทศที่นักบินถูกลักพาตัวได้ง่ายๆ ห้ามนักบินชาวต่างชาติออกไปไหน หลังจากทำงานต้องกลับมาอยู่ในห้องพักที่บริษัทจัดไว้ให้เท่านั้น หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอกต้องมีบอดี้การ์ดตามไป 3 คน การใช้ชีวิตต้องระวังยุงเป็นพิเศษ ออกจากห้องต้องทาครีมกันยุง กลางคืนนอนในมุ้ง เพราะถ้าหากเป็นมาลาเรียมีโอกาสเสียชีวิตได้ หรือแม้แต่การเตรียมกระเป๋าสำคัญใบเล็กที่หยิบฉวยได้ทันทีเมื่อมีเหตุต้องออกนอกประเทศโดยฉุกเฉิน

“เราคิดตลอดว่า นี่เลือกถูกไหม แต่ชีวิตก็ต้องเดินต่อไป เราจะบ่นอะไรได้เพราะเราเลือกเอง” เขาเล่าอย่างขำๆ “อะไรที่เคยบ่นตอนอยู่บ้านเรา มันสลายหายไปหมดเลย ทุกอย่างที่เคยหงุดหงิดกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของคนที่นี่ บางคนอยู่ไปโดยไม่มีอนาคต ไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าเย็นนี้จะมีข้าวกินไหม ผมเคยได้ยินเรื่องพวกนี้ แต่ไม่คิดว่าจะได้มาเห็นเด็กผอมแห้งจนเห็นกระดูก ขณะที่คนรวยก็รวยมาก ความแตกต่างเห็นได้ชัดเจน”

“สิ่งเรียนรู้อีกอย่างคือ คนไนจีเรียเป็นคนจิตใจดี ร่าเริง เหมือนคนไทย เพื่อนร่วมงานชาวไนจีเรียจะถามเสมอว่า ปรับตัวได้หรือยังและคอยช่วยเหลือ เพราะเขารู้ว่าปรับตัวอยู่ที่นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมรู้สึกว่าโชคดีที่ได้มาเจอคนดีๆ รอบตัว”

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน
ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

สำหรับหน้าที่การทำงาน ไม่ต้องปรับตัวมากนักเพราะคล้ายกับการทำงานในประเทศไทย เพียงแต่ที่ไนจีเรียมีแท่นขุดเจาะน้ำมันเยอะมาก เพราะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมันทั้งในทะเลและบนผืนดิน ธุรกิจการขุดเจาะน้ำมันในอ่าวกินีเฟื่องฟู บริษัทน้ำมันทั่วโลกที่คนรู้จักรวมตัวกันอยู่ที่นี่ ขุดเจาะน้ำมันกันมา 60 ปีแล้วก็ยังไม่หมด 

“งานของผมคือการรับส่งคนทำงานบนแท่นขุดเจาะเหมือนเดิม เพียงจะต้องบินบ่อยขึ้น เพราะที่บริษัทที่นี่ร่ำรวย เขาจึงมักใช้บริการเฮลิคอปเตอร์กันตามใจ ทั้งที่บริษัทของผมคิดค่าบริการเที่ยวละหลายแสนบาทเชียวนะ แต่หลายครั้งผมบินเครื่องเปล่าไปรับของ หรือบางครั้งไปถึงผู้โดยสารไม่ยอมมาก็มี วันนั้นผมรู้สึกเหมือน Grab โดนเทยังไงไม่รู้” เขาหัวเราะร่วน 

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

“ผมเคยบินมากที่สุดคือบินวันละเจ็ดเที่ยว ไปกลับนับเป็นหนึ่ง ใช้เวลาต่อเที่ยวประมาณหนึ่งชั่วโมง เรียกว่าบินกันทั้งวัน”

ตารางการบินของนักบินเฮลิคอปเตอร์ไม่ค่อยแน่นอนนัก คล้ายกับทำงานเป็นกะ อาจจะได้บินตอนเช้าหรือต้องอยู่สแตนด์บายตอนกลางคืนเผื่อมีเหตุฉุกเฉิน ช่วงเวลาการทำงานคือ ทำงานติดต่อกัน 6 สัปดาห์ โดยมีวันหยุดพักระหว่างสัปดาห์ 1 – 2 วัน เมื่อครบเวลาก็จะได้หยุดพักติดต่อกัน 6 สัปดาห์เช่นกัน

นักบินควบตำแหน่งนักเล่า

เวลาว่าง (ที่ออกไปไหนไม่ได้) กัปตันนัทใช้กับงานอดิเรกที่เป็นเหมือนเพื่อนคลายเหงา นั่นคือการเขียนคอนเทนต์เล่าเรื่องราวต่างๆ ลงเพจ ‘นัทแนะ’ 

เขาเขียนเรื่องราวลงเพจนี้มานานหลายปีก่อนมาไนจีเรียแล้ว ด้วยความชอบอ่านหนังสือและเขียนถ่ายทอดเรื่องราว เขามักจะเขียนเล่าเรื่องราวความรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้วิทยาศาสตร์ ความรู้ทั่วไป ไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเสมอ จนวันหนึ่งจึงเปิดเพจ ‘นัทแนะ’ เพราะอยากรวบรวมเรื่องที่เขียนไว้ไม่ให้หายไป เมื่อมาทำงานไนจีเรีย กัปตันนัทจึงเขียนเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในเพจด้วย จนสุดท้ายเรื่องเล่าเหล่านี้ได้พิมพ์รวมเป็นหนังสือเล่มชื่อว่า Nigeria, here I come 

“เริ่มเล่าก่อนว่าผมอยากมีหนังสือเป็นของตัวเองจากการที่ได้ทำหนังสืออนุสรณ์ให้กับคุณตา ครั้งนั้นได้รู้ประวัติของท่านเยอะมาก จึงเกิดความคิดว่า ทำไมเรามารู้เรื่องเหล่านี้ตอนท่านแก่มากหรือเสียชีวิตไปแล้ว ชีวิตเราไม่อยากรอจนตายหรอกนะถึงมีคนมาเขียนให้ เราเขียนเองตอนนี้เลยดีกว่า

“พอดีกับช่วงเดือนเมษาที่ผ่านมา ผมบินกลับมาบ้านแล้วกลับไปไนจีเรียไม่ได้เพราะการระบาดของ COVID-19 ทั้งไทยและไนจีเรียปิดประเทศ ผมมีเวลาว่างถึงสี่เดือน เพื่อไม่ให้เสียเวลาเปล่าผมจึงรวมเรื่องที่เขียนทำมาเป็นเล่ม และเปิดพรีออเดอร์ขายในเพจ จากที่คิดว่าคงขายไม่ได้เท่าไหร่ สุดท้ายพิมพ์ไปหนึ่งพันเล่ม ขายไปได้เก้าร้อยกว่าเล่ม

“หนังสือส่วนหนึ่งผมส่งไปให้ห้องสมุดของโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ไกลๆ เพราะอยากให้เด็กได้รู้จักอาชีพของผมบ้าง เหมือนที่ตอนเป็นเด็กที่เราก็อยากรู้จักอาชีพอื่นนอกจากหมอ พยาบาล หรือทหาร ถ้าเด็กสักคนได้แรงบันดาลใจจากหนังสือเล่มนี้ ผมก็ดีใจมากแล้ว” เขายิ้มกว้าง

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน

คุยกันถึงตรงนี้ กัปตันนัทบอกกับเราอีกครั้งว่าเขา ‘โชคดี’ ที่บินมาสิบกว่าปี แต่ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์เฉียดตายร้ายแรง มีเพียงเหตุระทึกขวัญครั้งหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์เครื่องยนต์ดับหนึ่งเครื่องเมื่อครั้งทำงานในอ่าวไทย

“ปกติเฮลิคอปเตอร์ขับเคลื่อนด้วยสองเครื่องยนต์ แต่ครั้งนั้นขณะที่กำลังยกตัวจากแท่นขุดเจาะน้ำมัน ซึ่งถือเป็นช่วงสามวินาทีที่อันตรายที่สุด ถ้าเกิดเหตุขัดข้องขณะกำลังยกตัว เครื่องจะตกกระแทกพื้นอย่างเดียว และในวินาทีที่สาม ก็เกิดสัญญาณเตือนว่าเกิดปัญหากับเครื่องยนต์หนึ่ง

“เสี้ยววินาทีนั้นผมเสียวสันหลังวาบ เหงื่อเย็นชื้นไปหมด หันไปมองหน้ากัปตันฝรั่ง เขาก็พูดไม่ออกเหมือนกัน ผู้โดยสารก็นั่งกันอยู่เต็มลำ เสี้ยววินาทีนั้นผมคิดอย่างเดียวว่าลงบนพื้นไม่ได้ ต้องไปข้างหน้าอย่างเดียว จึงบินต่อไปให้พ้นทะเล แล้วจัดการกับเครื่องยนต์ที่มีปัญหา ก่อนจะบินด้วยเครื่องยนต์ที่เหลืออยู่และรีบติดต่อขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสมุย เลยโชคดีได้นอนที่สมุยสองคืน” เขาลงเอยด้วยเสียงหัวเราะ 

“จากเหตุการณ์นั้นกัปตันเขียนรายงานชมการทำงานของผม นี่คงเป็นอีกเหตุผลที่ต่อมาผมได้เป็นกัปตัน” 

การทำงานบนฟ้าย่อมมาพร้อมความเสี่ยง ข้อนี้เป็นสิ่งที่นักบินทุกคนรู้อยู่แก่ใจ และพวกเขาถูกฝึกให้ต้องรับมือกับความรู้สึกและความเสี่ยงเหล่านี้ให้ได้

“ทุกครั้งที่มาทำงานที่ไนจีเรีย ผมเขียนพินัยกรรมไว้ที่บ้าน เพราะมันมีความเป็นไปได้” เขาเอ่ยขึ้น “ส่วนความรู้สึกกังวลหรือกลัวต้องตัดออกไปทั้งหมด ผมคิดอย่างเดียวว่ายังไงก็ไม่ตาย ตอนอยู่ไนจีเรียมีครั้งหนึ่งที่ระบบบางอย่างของเครื่องขัดข้อง นักบินผู้ช่วยชาวไนจีเรียหันมามองผมด้วยสีหน้ากังวล ผมบอกเขาไปว่า Don’t worry. Everyone goes home today. เขาฟังแล้วยิ้มเลย เพราะได้กำลังใจว่าต้องผ่านไปให้ได้ ในทุกเหตุการณ์ แม้ใจเราจะเต้นแรงแค่ไหน แต่เราต้องให้กำลังใจทุกคน”

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

มนุษย์คือผงธุลีในโลกอันกว้างใหญ่

คุยกันถึงตรงนี้ เราถามเขาว่า เสน่ห์ของงานที่เขาได้ทำมาเป็นสิบปีนี้คืออะไร

“เฮลิคอปเตอร์เป็นอากาศยานที่บินได้ตามใจคนขับ หมุนซ้ายก็ได้ หมุนขวาก็ได้ ลอยขึ้นไปนิ่งๆ ก็ได้” เขาบรรยายพร้อมทำมือให้เห็นภาพ “อีกอย่างคือความสุขในการทำงาน นั่นคือการได้เห็นรอยยิ้มของผู้โดยสารบนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่กำลังจะได้กลับบ้าน ยิ่งเป็นคนแอฟริกันนี่ยิ้มกว้างเห็นฟันขาวมาแต่ไกล เป็นความสุขที่ผมได้รับและมอบให้เขาได้ทุกวัน”

นอกเหนือจากความสุขที่ว่าแล้ว มีหลายครั้งที่งานนี้ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงคุณค่าของอาชีพที่แสนดีต่อใจ

“ตอนทำงานในอ่าวไทย ผมเคยต้องบินไปรับเคสฉุกเฉิน เพราะคนทำงานบนแท่นขุดเจาะประสบอุบัติเหตุตกลงมาจากที่สูง เขานอนหน้าซีดอยู่บนเปล โดนบล็อกหัวไว้ ผมเห็นแล้วสงสารน้ำตาจะไหล ตามหลักการทำงานแล้วจะไม่ให้นักบินไปยุ่งกับผู้ป่วย แต่ผมรู้ว่าเขาคงทั้งตกใจและเจ็บมาก จึงเดินไปจับมือบอกเขาว่า ผมจะพาไปส่งโรงพยาบาลนะครับ เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะปลอดภัย แล้วก็พาเขาไปส่งโรงพยาบาลในทันที”

“การทำไฟลท์ช่วยผู้ป่วยแบบนี้ช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองนะ ทำให้รู้สึกว่าเราเป็นมากกว่าคนที่ขับเฮลิคอปเตอร์รับส่งคนไปทำงานแค่นั้น มันรู้สึกดีต่อใจมากจริงๆ ” เขายิ้มกว้างอีกครั้ง

การทำงานอยู่บนท้องฟ้ากว้างเหนือน่านน้ำทะเลสุดขอบฟ้า หลายครั้งภาพเบื้องหน้าชวนให้เขาหวนนึกถึงเนื้อเพลงที่กินใจเพลงหนึ่งเสมอ

“เมื่อบินอยู่บนฟ้าแล้วมองเห็นผืนน้ำผืนดินข้างล่าง ผมมักจะนึกถึงท่อนจบของเพลง รักคุณเท่าฟ้า ของวงคาราบาวที่ว่า อันความเป็นจริงที่มองเห็นมาจากฟ้าเบื้องบน ฟ้าอยู่ค้ำคน คนไม่อยู่ค้ำฟ้า การทำงานนี้ทำให้ผมเห็นว่าโลกนี้ช่างกว้างใหญ่ ซึ่งเทียบกันแล้วมนุษย์เราเป็นเพียงผงธุลีบนโลกเท่านั้น ยิ่งเนื้อร้องที่ว่า ฟ้าอยู่ค้ำคน คนไม่อยู่ค้ำฟ้า ยิ่งทำให้รู้สึกว่ามนุษย์ช่างบอบบางและไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย”

ธราพงษ์ รุ่งโรจน์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ไทยกับชีวิตในประเทศที่นักบินต่างชาติถูกลักพาตัว, อาชีพนักบิน

จุดหมายต่อไป

คนมักพูดกันว่าอาชีพนักบินเป็นของคนเก่งมีความสามารถ แต่สำหรับกัปตันนัท เขากลับถ่อมตัวเสมอว่า การมาถึงจุดนี้ได้เป็นความพยายามควบคู่กับโอกาสเสมอ

“ผมคิดเพียงแค่ว่าต้องทำได้ ไม่เคยมองไปในทางที่ว่าเราจะทำอะไรไม่ได้ ผมไม่เคยมองว่าตัวเองเก่ง ผมเพียงมีเป้าหมายแล้วก็ไขว่คว้าหาความรู้ หาวิธีการว่าต้องทำอย่างไร แล้วก็ทำไปตามนั้น

“และอย่างที่บอกย้ำว่า ผมเป็นคนโชคดีมาก ที่โอกาสมาในจังหวะที่เราพร้อมพอดี บางคนโอกาสมาในจังหวะที่ไม่พร้อมก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ คือ เราต้องแต่งตัวรอไว้ให้ดี”

สำหรับเป้าหมายต่อไปเขามีในใจไว้แล้ว 

“ทุกวันนี้มีความสุขกับการทำงานมาก และอยากทำงานนี้ไปเรื่อยๆ แต่ก็มีเป้าหมายใหม่ในใจอยู่ คืออยากไปบินในทวีปอาร์กติกหรือทวีปแอนตาร์กติกา อยากร่อนลงจอดเฮลิคอปเตอร์ท่ามกลางทิวทัศน์ที่ขาวโพลนไปด้วยน้ำแข็ง 

“ผมพอจะรู้ว่าการจะไปทำงานที่นั่นได้ต้องถือใบอนุญาตนักบินยุโรป ซึ่งตอนนี้ผมมีใบอนุญาตนักบินไทย อเมริกา แคนาดา และไนจีเรีย ตอนนี้ก็หาทางสอบให้ได้ก่อน แล้วถ้ามีบริษัทเปิดรับก็จะยื่นสมัครเข้าไป ช่วงนี้ก็เป็นการแต่งตัวไว้ให้ดี”

เรามั่นใจว่าเขาทำตามความฝันต่อไปได้

เขายิ้มรับ ขอบคุณ และทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดีว่า

“ผมยังมีอีกยี่สิบสองปีก่อนเกษียณที่จะทำงานที่รักนี้ต่อไปและทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ” 

ภาพ : ธราพงษ์ รุ่งโรจน์

Writer

Avatar

เชิญพร คงมา

อดีตเด็กยอดนักอ่านประจำโรงเรียน ชอบอ่านพอๆ กับชอบเขียน สนุกกับการเล่าเรื่องราวรักการเที่ยวเล่น ติดชิมของอร่อย และสนใจธรรมะ