“เห็นดาวทองส่องสีรุจีแจ้ง
บอกเหตุสำแดงถึงพระบุตรา
ว่าพระองค์ทรงธรรมอันล้ำเลิศ
ลงมาบังเกิด ณ พื้นพสุธา”
ท่วงทำนองและเนื้อร้องของบทเพลง เห็นดาวทอง’ที่แปลจากต้นฉบับ Les anges dans nos campagnes ในภาษาฝรั่งเศส บรรเลงในความรู้สึกทุกคราที่โลกโคจรใกล้ครบรอบอีกคำรบ
นานกว่า 2,000 ปีแล้ว ที่พระบุตรของพระเจ้าเสด็จลงมาบังเกิดยังคอกสัตว์ในเมืองเบธเลเฮม
ยามเที่ยงคืนของราตรีดึกสงัด บรรดาทูตสวรรค์ต่างขับร้องบทเพลงสดุดีต่อพระเป็นเจ้าที่ประสูติใหม่ในร่างทารกน้อยนามว่า ‘เยซู’ พลันอัศจรรย์ทั้งหลายก็ทยอยเกิดตามลำดับ
หนึ่งในนั้นคือการปรากฏขึ้นของดาวประจำพระองค์ที่ส่องแสงโชติช่วงกว่าดาวดวงใดบนแผ่นฟ้า
แสงสว่างของดาวดวงนั้นส่องไกลไปถึงทิศตะวันออก อันเป็นถิ่นฐานของโหราจารย์ 3 ท่าน ทั้งหมดมองเห็นดาวที่น่าอัศจรรย์ใจขึ้นทางตะวันตก จึงพากันติดตามแสงดาวมาถึงบ้านที่ประทับของพระกุมารเยซู ซึ่งที่นั่น ทั้งสามก็ได้ถวายของขวัญล้ำค่าประกอบด้วยทองคำ กำยาน และมดยอบแด่พระองค์
เพราะเหตุนี้ ‘ดาว’ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการประสูติของพระเยซูเจ้าที่เราพบเห็นได้หนาตาช่วงเทศกาลคริสต์มาส ในรูปแบบของสิ่งประดับตกแต่งทั้งหลาย ทั้งบนยอดต้นสน ฝาผนัง ชายคา หรือเป็นลวดลายบนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยยังมีสถานที่หนึ่งที่ให้ความสำคัญกับดาวคริสต์มาสมากถึงขั้นจัดงานแห่ดาวจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกด้วย
ที่แห่งนี้มีนามว่า ‘ท่าแร่’ ซึ่งคนท้องที่ภาคอีสานออกสำเนียงว่า ‘ท่าแฮ่’
ตำบลท่าแร่ อำเภอเมืองสกลนคร แบ่งการปกครองออกเป็น 8 หมู่บ้าน มีถึง 7 หมู่บ้านที่ลูกบ้านนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ด้วยจำนวนประชากรชาวคริสต์กว่า 12,000 คน คิดเป็นร้อยละ 90 ของประชากรทั้งตำบลนี้ ท่าแร่จึงขึ้นชื่อว่าเป็นชุมชนชาวคริสต์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทยอย่างไร้ข้อสงสัย
บรรพบุรุษของชาวท่าแร่ส่วนใหญ่เป็นชาวญวนคาทอลิกที่อพยพมาจากตัวเมืองสกลนครเมื่อราว ค.ศ. 1884 (ตรงกับ พ.ศ. 2427) โดยอาศัยแพลำใหญ่ที่ คุณพ่อซาเวียร์ เกโก บาทหลวงชาวฝรั่งเศส กับครูเณรชาวญวนชื่อ ครูทัน ร่วมกันต่อขึ้นมา พวกเขาล่องแพลำนั้นข้ามทะเลสาบหนองหารขึ้นมาทางเหนือเพื่อหลบหนีการเบียดเบียนทางศาสนา ในกาลนั้นเหล่าคริสตชนได้รวมตัวกันตั้งหมู่บ้านแห่งใหม่ ซึ่งภายหลังได้พัฒนาเป็นตำบลท่าแร่แห่งนี้
ความสำคัญของชุมชนชาวคริสต์ที่นี่เห็นจะวัดได้จากการจัดเขตการปกครองของคริสตจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ซึ่งได้ยกท่าแร่ขึ้นมาในระดับสูงสุดของประเทศ
ตรงนี้ขออธิบายเพิ่มเติมสักนิด ว่าคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแต่ละชาติจะนิยมแบ่งการปกครองทางศาสนาออกเป็น Diocese ที่ภาษาไทยนิยมแปลว่า ‘สังฆมณฑล’ หรือ ‘มุขมณฑล’ ทว่าคนทั่วไปมักเรียกตามคำเก่าที่เพี้ยนมาจากภาษาโปรตุเกสว่า เขตมิสซัง (Missão) ปกครองโดยประมุขซึ่งเรียกว่า มุขนายก หรือ บิชอป (Bishop)
ทุกเขตมิสซังจะมีอาสนวิหารหรือโบสถ์ใหญ่ประจำตำแหน่งบิชอปเสมอ โดยอาสนวิหารมักตั้งอยู่ในจังหวัดที่มีจำนวนประชากรชาวคริสต์สูงสุดในแถบนั้น เช่น เขตมิสซังจันทบุรี อาสนวิหารของเขตมิสซังนี้คืออาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล ริมคลองจันทบุรี โบสถ์คาทอลิกแห่งอื่น ๆ ในจังหวัดจันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว รวมทั้งบางส่วนของฉะเชิงเทราและนครนายก ก็ขึ้นกับเขตมิสซังนี้
ทำนองเดียวกับ “หลายอำเภอรวมกันเป็นจังหวัด” เมื่อเขตมิสซังหลาย ๆ เขตมารวมกัน ก็จะได้หน่วยการปกครองที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เรียกว่า ‘ภาคคริสตจักร’ หรือ แขวงฝ่ายพระศาสนจักร (Ecclesiastical Province)
ในระดับภาคคริสตจักร เขตมิสซังที่มีประวัติความเป็นมาและจำนวนประชากรมากกว่าเขตมิสซังอื่น ๆ จะถูกยกเป็น ‘อัครสังฆมณฑล’ หรือ ‘เขตมิสซังใหญ่’ (Archdiocese) เป็นเสมือนผู้นำประจำภาค เขตมิสซังอื่น ๆ เป็นแค่บริวาร หรือ ‘ปริมุขมณฑล’ ประมุขของเขตมิสซังใหญ่จะไม่เรียกแค่ ‘บิชอป’ เฉย ๆ แต่จะเป็นอัครมุขนายก ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า อาร์ชบิชอป (Archbishop)
ประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ภาคคริสตจักร ได้แก่ ภาคกรุงเทพฯ และ ภาคท่าแร่-หนองแสง
ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทุกเขตมิสซังขึ้นตรงต่อภาคกรุงเทพฯ ศูนย์กลางอยู่ที่โบสถ์อัสสัมชัญ
ส่วนภาคอีสานทั้งหมดขึ้นกับภาคท่าแร่-หนองแสง มีศูนย์กลางอยู่ที่ท่าแร่ จังหวัดสกลนครนี่เอง
ทันทีที่ตัวเราย่างเข้าเขตท่าแร่ สิ่งแรก ๆ ที่จะได้เห็นก็คือสิ่งปลูกสร้างพร้อมป้ายชื่อที่บ่งบอกถึงคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์ บ้านเณร คอนแวนต์ ฯลฯ ขนาดบ้านช่องของคนธรรมดาก็ยังมีร่องรอยการนับถือคริสต์อยู่ทุกหลัง เป็นต้นว่า ไม้กางเขน ภาพวาดพระเยซู แม่พระ ตลอดจนนักบุญที่เจ้าของบ้านหลังนั้นเคารพบูชา
หากมาท่าแร่ในช่วงเดือนธันวาคม-เดือนแห่งการสมโภชพระคริสตสมภพ สิ่งที่จะมีเพิ่มมาก็คือของตกแต่งในเทศกาลคริสต์มาส โดยเฉพาะดวงดาวที่ประดับประดาอยู่บนอาคารบ้านเรือนทุกแห่ง
ดาวเหล่านี้คือเสน่ห์ประจำตำบลท่าแร่ที่ชักนำผู้คนมากมายให้หลั่งไหลมาสู่ตำบลนี้ในวันคริสต์มาส เฉกเช่นเดียวกับโหราจารย์ที่ติดตามดาวประจำพระองค์เมื่อสองพันกว่าปีก่อนก็ปานกัน
ในยุคแรกก่อตั้งชุมชนชาวคริสต์ ธรรมเนียมการแห่ดาวยังไม่ถือกำเนิด เมื่อเทศกาลคริสต์มาสวนมาถึง บรรดาพระสงฆ์และชาวบ้านเพียงแต่จุดเทียนเวียนรอบ ‘อาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมใจของคริสต์ศาสนิกชนตำบลนี้ ก่อนเข้าไปประกอบศาสนพิธีในวัดเท่านั้น
แต่แล้วในยุคต่อมา คนในชุมชนก็ได้มีการประดิษฐ์ดาวขนาดเล็ก เรียกว่า ‘ดาวมือถือ’ ทำจากไม้ไผ่ห้าแฉกเป็นโครงรูปดาว ใส่เทียนเอาไว้ตรงกลางเพื่อให้แสงสว่าง เดินแห่ไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ควบคู่กับการขับคลอเพลงคริสต์มาสและบทสวดภาวนาของผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีการนำดาวบางส่วนไปตกแต่งตามอาคารสถานที่จนกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของท่าแร่
ล่วงเลยถึง ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) พระอัครมุขนายกลอเรนซ์ คายน์ แสนพลอ่อน ประมุขแห่งอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสงในเวลานั้น มีความประสงค์ยกระดับการจัดงานแห่ดาวให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปอีก จึงคิดประดิษฐ์ ‘ดาวใหญ่’ ที่ใช้วัสดุหลากหลายขึ้น เช่น ไฟนีออน โฟม กระดาษสี และนำขึ้นยานพาหนะเช่นรถแห่ ออกแห่แหนไปรอบหมู่บ้าน แทนที่จะเวียนอยู่แค่รอบวัดเช่นการแห่ดาวมือถือแบบเดิม
คริสต์มาสปีนั้น ประเพณีแห่ดาวไม่ได้มีเฉพาะที่บ้านท่าแร่ที่เดียว แต่ยังขยายไปที่ตัวเมืองสกลนครที่พระคุณเจ้าคายน์ได้ย้ายไปสร้างสำนักแห่งใหม่ด้วย โดยวันที่ 24 ธันวาคมเป็นคิวแห่ของตำบลท่าแร่ ในขณะที่เมืองสกลนครแห่ทีหลังในวันที่ 25 ธันวาคม
อย่างไรก็ดี การแห่ดาวใหญ่ในปีแรก ๆ กลับไม่ประสบผลสำเร็จสักเท่าไร ด้วยผู้คนยังไม่คุ้นเคยกับรูปแบบประเพณีที่เปลี่ยนแปลงใหม่ รถที่เข้าร่วมขบวนแห่ยังมีน้อยคัน ดูไม่ดึงดูดสายตาเท่าที่ควร ทว่าพระคุณเจ้าคายน์ก็ยังยืนหยัดจะจัดงานแห่ดาวทั้งที่ท่าแร่และเมืองสกลนครเรื่อยมา โดยปรับปรุงรถและขบวนแห่ให้วิจิตรอลังการยิ่งขึ้น รวมถึงจัดให้มีการประกวดดาว เมื่อนั้นหมู่บ้าน ห้างร้าน และองค์กรต่าง ๆ จึงส่งรถแห่และดาวใหญ่มาร่วมขบวนมากขึ้น จนเป็นงานประเพณีที่คุ้นเคยของชาวจังหวัดสกลนคร
และใน ค.ศ. 2003 (พ.ศ.2546) ประเพณีแห่ดาวคริสต์มาสก็มาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เมื่อภาครัฐเข้ามามีบทบาทในงานนี้ คุณปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครขณะนั้นได้บรรจุงานแห่ดาวให้เป็นประเพณีประจำจังหวัด เป็นเหตุให้งานนี้เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ เริ่มดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศมาเยี่ยมชมงานคริสต์มาสที่จังหวัดสกลนครนับตั้งแต่นั้น
ยามนี้ประเพณีแห่ดาวของสกลนครถือได้ว่าพัฒนาต่อยอดมาถึงยุคโลกาภิวัตน์แล้ว จากที่มีงานเฉลิมฉลองแค่วันที่ 24 – 25 ธันวาคม ผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานก็ได้ขยายเป็นวันที่ 21 – 25 ธันวาคม มีการออกร้านขายของที่ถนนคนเดินท่าแร่ต่อเนื่องทุกวัน แม้บางวันจะไม่มีขบวนแห่ก็ตาม
ค.ศ. 2021 นับเป็นวาระสุดพิเศษ เมื่อตำบลท่าแร่ได้เพิ่มงาน ‘สีสันแห่งหนองหาร’ โดยแห่ดาวทางน้ำ จัดแสดงแสง สี เสียง ในหนองหารเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในวันที่ 22 ธันวาคม
และทำท่าจะเพิ่มสีสันขึ้นอีกทุกปี ๆ เพราะในปี 2022 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในวันที่ 20 ธันวาคมเลยทีเดียว
งานแห่ดาวใหญ่ของตำบลท่าแร่ได้เลื่อนมาเป็นคืนวันที่ 23 ธันวาคม ถึงแม้ในช่วงปีนี้ประเทศไทยและทั่วโลกจะยังต้องเผชิญกับสภาวะการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 แต่ด้วยความยิ่งใหญ่ตระการตาของขบวนรถบุษบกที่ตกแต่งดาวดวงใหญ่ด้วยไฟหลากสี สร้างท้ายรถเป็นถ้ำพระกุมาร มีนักแสดงแต่งกายเป็นซานต้า ซานตี้ หรือเทวดานางฟ้าคอยโปรยขนมแจกคนที่อยู่รายทอง เหล่านี้ก็ยังมีแรงดึงดูดมากพอให้คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมาชื่นชมขบวนแห่อย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
แม้ว่าประเพณีแห่ดาวในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปมากเพื่อตอบสนองด้านการท่องเที่ยว หากแต่ชาวบ้านท่าแร่ก็ยังไม่ละทิ้งจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่บรรพกาล
ค่ำคืนวันที่ 24 ธันวาคม ไม่กี่ชั่วโมงก่อนเวลาประสูติของพระคริสต์ แสงสีและความคึกคักในรูปแบบสมัยใหม่ของคืนก่อนหน้า ก็จะถูกกลบกลืนไปด้วยบรรยากาศอันศักดิ์สิทธิ์ของขบวนแห่ดาวมือถือแบบดั้งเดิม ซึ่งชาวบ้านตลอดจนคริสตชนจากต่างถิ่นจะพร้อมใจกันตั้งแถวตอนยาว ถือดาวประดิษฐ์เสียบไม้หรือผูกเชือกห้อย เวียนรอบโบสถ์ตามหลังคณะพระสงฆ์ พลางประสานสำเนียงขับขานบทเพลงสรรเสริญพระเยซูเจ้าด้วยจิตศรัทธาเต็มเปี่ยม ก่อนที่ทั้งขบวนจะยาตราเข้าไปประกอบพิธีมิสซาภายในวัด
เพราะรูปแบบการเฉลิมฉลองคริสต์มาสของอาสนวิหารอัครเทวดามีคาแอล ท่าแร่ มากด้วยเอกลักษณ์ ทั้งการประดับดาวกระดาษตามสถานที่ การแห่ดาวใหญ่ขึ้นรถ รวมถึงการแห่ดาวมือถือเดินเท้า ย่อมไม่ใช่เรื่องแปลก หากประเพณีแห่ดาวจะส่งอิทธิพลต่อโบสถ์อื่นและจังหวัดข้างเคียงอย่างมุกดาหารและนครพนมด้วย
คริสต์มาสที่นี่อาจจะไม่มีปอยหิมะ สโนว์แมน ตุ๊กตาขนมปังขิง หรือแม้แต่ปล่องไฟให้ซานตาคลอสโรยตัวลงมาแจกของขวัญแก่เด็กดี เหมือนในภาพจำที่เราทั้งหลายได้รับมาจากโลกตะวันตก
แต่ที่นี่ก็ยังอบอุ่นด้วยลมเย็นจากทะเลสาบหนองหาร การแสดงแสงสีในขบวนแห่ พิธีกรรมแสนขลัง รอยยิ้มและเสียงหัวร่อต่อกระซิกของเด็ก ๆ ตลอดจนคำอวยพรสำเนียงอีสานที่คนในชุมชนมอบแก่กัน อันประกอบกันเป็นบรรยากาศคริสต์มาสแบบคริสตชนคนเมืองสกล
เหนืออื่นใด คือดารานับร้อยนับพันดวงที่สว่างไสวด้วยแรงศรัทธาต่อพระคริสตเจ้าผู้สถิตอยู่ในใจชาวบ้านท่าแร่ตราบนานเท่านาน
Write on The Cloud
Travelogue
ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ