“พี่มีเวลาชั่วโมงเดียวนะ”

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย บอกทางโทรศัพท์ด้วยน้ำเสียงเร่งรีบ พร้อมกับบอกให้เราไปเจอเธอที่ร้านอาหารของเธอ ธุรกิจส่วนตัวที่กินเวลาของเธอในสัดส่วนที่เท่าๆ กับการเป็นนักข่าว

ในแต่ละวันเธอเป็นนักข่าวภาคสนามรายการโทรทัศน์ ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวออนไลน์ The Reporters เจ้าของร้านอาหารใต้ และหัวหน้าครอบครัวของหลานๆ ตารางชีวิตของเธอในแต่ละวันถูกกำหนดเดดไลน์เป๊ะๆ ไม่ต่างจากเดดไลน์ของข่าว ธรรมชาติของการเป็นนักข่าวที่ต้องเร็ว ทันเวลา ถูกนำมาใช้กับชีวิตส่วนตัวที่มีภาระและความรับผิดชอบมากมาย

‘ชั่วโมงเดียว’ ของเรากับเธอจึงต้องกระชับ ได้ใจความ เนื้อๆ เน้นๆ ในสิ่งที่อยากจะรู้

เพราะในวันเสาร์อย่างนี้ เธอกำลังเตรียมตัวไปรายงานข่าวที่ท้องสนามหลวงในวันพ่อแห่งชาติ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานจุดเทียนมหามงคลเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

สำนักข่าวออนไลน์ The Reporters ก่อตั้งขึ้นมากว่า 1 ปี และได้รับการติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับที่กำลังเกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของไทย ปัจจุบัน The Reporters มีผู้ติดตามกว่า 1 ล้าน 2 แสนคน เป็นจำนวนที่มากพอๆ กับสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่คนรู้จักมาเป็นเวลานาน

โมเดลฐปนีย์ต้องอยู่ในทุกเหตุการณ์สำคัญ ยังถูกใช้กับปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ 

ทุกการเคลื่อนไหวของแต่ละฝักฝ่าย ทุกแพลตฟอร์ม ทีวี ออนไลน์

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย รายงาน

วันนี้เป็นอีกวันที่สำคัญ คุณต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง

วันนี้เป็นวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพ่อ เดี๋ยวนี้ข่าวการเมืองมันก็หมายรวมถึงกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มรักสถาบัน กับกลุ่มราษฎร ที่มีข้อเรียกร้องต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นในการทำข่าว เราต้องเข้าใจธรรมชาติของการเมือง สถานการณ์ ปรากฏการณ์ ความแตกต่างทางความคิด และวาทกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย

นี่คืออีกยุคสมัยที่สถานการณ์การเมืองไทยเปลี่ยนแปลง มีชุดวาทกรรมใหม่ไม่เหมือนกับยุคสมัยก่อน เราอาจเคยได้ยินว่ามีคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง คนรักทักษิณ คนไม่รักทักษิณ อาจเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มคนที่ไม่เอารัฐประหาร เพราะรักประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันและกลุ่มราษฎรที่ต้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

เราต้องรายงานทุกๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างครบถ้วน เราต้องรายงานทุกความคิดทางการเมือง ทุกความคิดเห็นที่เกิดขึ้นของแต่ละกลุ่มการเมือง นักข่าวมักถูกถามหาความเป็นกลางมาโดยตลอด ก็เป็นคำเรียกร้องที่ถูกต้อง คนเขาอยากเห็นนักข่าวรายงานในสิ่งที่เป็น อยากเห็นนักข่าวรายงานเรื่องราวความคิดของตน คนเรียกร้องความเป็นกลางหมายถึงเรียกร้องให้รายงานความคิดของกลุ่มตัวเอง

ในสถานการณ์ที่มีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ความเป็นกลางมีอยู่จริงไหม

ความเป็นกลางมีอยู่จริง เรายังต้องมองแบบนั้น เพราะยิ่งเราทำงานในความขัดแย้ง ความเป็นกลางคือเราต้องรายงานคู่ขัดแย้งให้ครบถ้วน บางครั้งในหนึ่งข่าว โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม คู่ขัดแย้งมันไม่ได้มีแค่สองฝ่าย มันอาจจะมีสามฝ่าย สี่ฝ่าย ความเป็นกลางก็คือต้องทำข่าวของทุกฝ่ายนั่นเอง 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

จริงๆ แล้วเรามองว่าความเป็นกลางไม่ใช่ทำให้เท่ากัน แต่ว่าต้องทำให้ครบถ้วน นำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน แล้วก็มากกว่านั้นคือต้องรายงานอย่างมีทิศทางและมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย

ทิศทางและเป้าหมายของการรายงานข่าวปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้คืออะไร

ตั้งแต่ตอนที่เริ่มมีสถานการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ เราวางเป้าหมายทางการเมืองไว้ชัดว่า The Reporters ต้องเป็น Peace Media หรือสื่อเพื่อสันติภาพ

ดังนั้นพื้นที่สื่อของเราต้องรายงานอย่างไรให้ส่งเสริมการใช้กระบวนการสันติวิธี เพราะเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในกระบวนการสันติภาพ ส่งเสริมการชุมนุมที่สงบโดยปราศจากอาวุธหรือสันติวิธีอย่างที่ผู้ชุมนุมประกาศ เราก็ต้องนำเสนอด้วยว่า การชุมนุมอย่างสันติปราศจากอาวุธเป็นอย่างไร หรือว่าถ้ามีการใช้อาวุธหรือความรุนแรง เราก็ต้องรายงานในลักษณะที่ไม่ยุยงส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงหรือความขัดแย้ง 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

เริ่มจากการใช้ภาษาข่าว สำคัญมาก ข่าวของเราทุกแบบ ไม่ว่าจะเป็นข่าวเขียนหรือรายงานข่าว จะต้องใช้ภาษาที่เป็นภาษาข่าว ไม่ใช่ภาษาที่เป็นความรู้สึกหรือความคิดเห็น นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญในเรื่องของการใช้ภาษา ไม่ใช้ถ้อยคำที่ยุยงปลุกปั่น บิดเบือน หรือสร้างความเข้าใจผิด

เราต้องมีพื้นที่ข่าวให้คู่ขัดแย้งทุกกลุ่ม ทุกหุ้นส่วนของความขัดแย้งต้องได้มีพื้นที่ในข่าวอย่างครบถ้วน ให้ทุกคนมาอยู่ในกล่องนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลทุกด้าน และทุกคู่ขัดแย้งก็ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกัน เมื่อเขามีโอกาสได้รับรู้ เขาก็จะเกิดกระบวนการของการคิดและทำความเข้าใจ เกิดการถกเถียง ไม่เห็นด้วยกันได้ แต่ว่าเขาจะมีข้อมูลทุกๆ ด้านมาเพื่อประกอบในการคิดและตัดสินใจ หรือสรุปความเห็นของตัวเอง ไม่ว่าจะคิดไม่ตรงกันหรือเห็นไม่ตรงกัน 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

นอกจากนี้ เราต้องมีคนที่พูดเรื่องสันติวิธี หรือกระบวนการสร้างสันติภาพอยู่ในสัดส่วนของข่าวของเราด้วย ถ้าเรามีพื้นที่สำหรับเรื่องนี้ แล้วเรามีเป้าหมายชัดเจนข่าวของเราจะมีทิศทางว่าเราจะทำเรื่องอะไร หรือเราจะเสนออะไร

เราไม่อยากให้เกิดสงครามกลางเมืองหรือเกิดรัฐประหาร แม้ว่าจะแตกต่างกัน แต่เราอย่าไปถึงจุดที่เหมือนกับซีเรีย ต้องฆ่ากันเอง หรือเกิดปัญหาที่เป็นความขัดแย้งทางการเมืองแบบเมียนมา ซึ่งใช้เวลาเจ็ดสิบปีแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะสร้างกระบวนการสันติภาพได้เลย 

แล้วถ้าความรุนแรงมาจากรัฐ หรือเกิดรัฐประหารที่คุณบอกไม่อยากให้เกิด หน้าที่ของสื่อคืออะไร

รายงานในสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกๆ เรื่องอย่างชัดเจนและถูกต้อง การกระทำใดๆ ที่เกิดขึ้นโดยรัฐก็ต้องกล้าที่จะบอกว่านั่นคือการกระทำโดยรัฐ หากรัฐใช้วิธีการต่างๆ ที่ไม่เหมาะสม เราต้องกล้าพูดว่าเป็นการกระทำที่มาจากรัฐ แต่ทั้งหมดก็ต้องมาจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง

ถ้าเรามั่นใจในหลักฐาน เราเห็น หรือเรามีข้อมูลที่ชัดเจน เราก็รายงานได้อย่างตรงไปตรงมา นั่นคือหน้าที่สำคัญของสื่อด้วยซ้ำที่จะต้องพูดแทนประชาชน เราต้องรายงานข่าวเพื่อมวลชน เป็นกระบอกเสียงของประชาชนเช่นเดียวกัน เราตีแผ่ความจริงเพื่อให้สังคมยังอยู่ภายใต้กฎหมายหรือสิ่งที่ถูกต้อง คือสื่อมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ

ทำข่าวการเมืองมากว่า 20 ปี การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

จริงๆ กว่ายี่สิบปีที่เป็นนักข่าว เราอยู่ในห้วงประวัติศาสตร์ทางการเมืองมาตั้งแต่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ เต็มใบ แล้วก็มารัฐประหารถึงสองครั้งในปี พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2557 อยู่ในทุกเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่กลุ่มพันธมิตร ยุคของนปช. เสื้อแดง การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และจนถึงรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 เราผ่านสมรภูมิของความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ มีผู้คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมือง

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยเติบโตมาพร้อมกับความขัดแย้ง และในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งล่าสุดมันเหมือนย้อนไปที่ พ.ศ. 2475 (ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและปกครองโดยรัฐสภา) คือในห้วงแปดสิบแปดปีที่ผ่านมา มันแทบจะต้องย้อนกลับไปสู่ที่เดิม ทั้งๆ ที่ตลอดแปดสิบแปดปีมันมีพัฒนาการทางการเมือง มันก็เป็นไปตามทิศทางของประชาธิปไตยแล้ว แต่ว่าสุดท้ายก็วกกลับมาเหมือนหลัง พ.ศ. 2475 ซึ่งสื่อก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า ทำไมถึงเกิดความคิดแบบนี้ในกลุ่มคนไทย ในยุคสมัยที่มันผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง 

รัฐประหารอาจเกิดมาพร้อมๆ กับการที่คนไทยไม่เห็นด้วยกับการใช้ทุนสามานย์ มองว่านายทุนอาจจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายน่ากลัว และพอมายุคหนึ่งคนไทยก็ต่อสู้กับทหารหรือรัฐประหารเผด็จการ เพราะมองว่าเป็นตัวการทำลายประชาธิปไตย แต่ปัจจุบันมันถูกพัฒนาไปสู่ความคิดในการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เรามองว่าในพื้นฐานของคนไทยแล้ว คนไทยทุกคนรักและเคารพในสถาบันของพระมหากษัตรย์ในรากเหง้าของวัฒนธรรม 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

เท่าที่เราไปสัมผัสทั้งสองกลุ่มมา เราเห็นถึงความรู้สึกนี้ของคนไทย เพียงแต่ว่าในข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ อาจมีรายละเอียดบางอย่างที่เขาต้องการให้ปรับปรุงเพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เขามองว่าในโครงสร้างการเป็นประชาธิปไตยแล้ว สถาบันฯ ต้องเป็นอย่างไร พวกเขาทำแบบนี้ คิดแบบนี้ เป็นการล้มล้างหรือไม่ เรามองว่าถ้าเปิดใจและรับฟังเหตุและผล ก็เชื่อมั่นว่าเราน่าจะมีทางออกในการแก้ไขปัญหานี้ได้

การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งไหนที่เปราะบางและยากที่สุดต่อการรายงานข่าว

ตอนนี้ (ตอบทันที) และก็ท้าทายมาก คือมันละเอียดละอ่อนต่อความรู้สึกของคนไทย เราลำบากใจมากในการรายงานข่าวต่างๆ แต่ว่าอย่างไรก็ตาม หน้าที่ของนักข่าวคือการรายงานตามข้อเท็จจริง ถ้าเราไม่รายงานว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกำลังคิดและต้องการแบบนี้ มันก็ถือว่าไม่ใช่การทำหน้าที่ของนักข่าว เพราะนี่คือปรากฏการณ์

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

แต่ในขณะเดียวกัน การรายงานข่าวลักษณะนี้ก็เสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง หรือการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น เรามองว่าช่วงนี้แหละเป็นช่วงเวลาของการทำข่าวที่ยากที่สุดสำหรับนักข่าวทุกคน ที่เราต้องยืนอยู่บนเส้นของการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ถึงบอกว่า ถ้าเรามีหลักคิดว่าเราต้องการทำข่าวเพื่อสันติภาพ เราก็ต้องหาแนวทางที่จะทำยังไงเพื่อสื่อสารให้คนในสังคมเข้าใจถึงเหตุและผลซึ่งกันและกัน

คุณมีวิธีรายงานหรือพยายามเสนอปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการพูดถึงเรื่องนี้บนเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์ ในวันที่ 3 กรกฎาคม จนถึงเวทีที่ธรรมศาสตร์ในวันที่ 10 สิงหาคม เราน่าจะเป็นสื่อจะคนแรกที่รายงานว่ามีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนโทรทัศน์

สื่อออนไลน์รายงานเรื่องนี้ แต่การรายงานข่าวนี้บนโทรทัศน์ เราน่าจะเป็นคนแรก เพราะเมื่อเกิดปรากฏการณ์ที่มีข้อเรียกร้องนี้ด้วย เราไม่พูดคำนี้ไม่ได้ และในสื่อโทรทัศน์เราจะรายงานยาวไม่ได้ เราต้องสรุปความ ดังนั้นในวันที่เราเริ่มต้นรายงานข่าวเรื่องนี้ เราต้องฟังเขา มานั่งฟัง มานั่งอ่านสิ่งที่เขาเรียกร้อง มานั่งดู ทำความเข้าใจว่าคำพูดต่างๆ ที่เขาพูดกันมีความหมายอย่างไร และเราต้องสรุปความอย่างไร ให้ได้ทั้งหน้าที่ของเราในการรายงานข้อเท็จจริง และในขณะเดียวกันเราก็ต้องระมัดระวังเรื่องข้อกฎหมาย เพราะเป็นสิ่งใหม่ 

อะไรที่ทำให้คุณมั่นใจว่ารายงานเรื่องนี้บนโทรทัศน์ได้

จริงๆ ตอนวันเวทีแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ยังไม่มั่นใจเลยค่ะ เพราะฟังแล้วก็ยังไม่รู้ว่าอะไรพูดได้ไม่ได้ ก็ต้องมานั่งฟังแล้วฟังอีก ทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เขานำเสนอเป็นอย่างไร แล้วก็หารือกับนักกฎหมายบ้าง จนสุดท้ายได้คำตอบว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นข้อเสนอ ซึ่งเรารายงานได้

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

การรายงานเรื่องนี้บนโทรทัศน์มีทั้งแรงกดดันจากนายทุนและทั้งกลัวไปเอง บางที่เลยเซ็นเซอร์ตัวเองไปเลยดีกว่า ไม่อยากเดือดร้อนหรือมีปัญหา ก็คิดกันไปเองก่อน ซึ่งเรื่องนี้รายงานได้ แต่ตอนหลังมีการปรับเปลี่ยนกันมากขึ้น ก็ยังมีบ้างที่หลีกเลี่ยงคือไม่รายงานเรื่องนี้เสียดีกว่า

สำนักข่าวออนไลน์ The Reporters ปลดแอกคุณไหม

จริงๆ แล้วนี่คือเรา นี่คือฐปนีย์ที่เป็นมาโดยตลอด และจริงๆ แล้วฐปนีย์ในโทรทัศน์ก็ปลดแอกอะไรตั้งหลายอย่าง สำนักข่าวนี้อาจไม่ใช่การปลดแอก แต่เป็นการยืนยันตัวตนของฐปนีย์ ยืนยันว่าข่าวที่เราทำ เราสนใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นข่าวที่ดราม่า มีเรตติ้ง แต่ข่าวด้านสิทธิมนุษยชน ข่าวประชาชน ข่าวคนตัวเล็กตัวน้อย ข่าวสิ่งแวดล้อม ข่าวความขัดแย้งในภาคใต้ เป็นข่าวที่มีคนสนใจไม่น้อยไปกว่าข่าวลุงพลหรือข่าวดราม่าอื่นๆ

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

เราอยากมาทำ The Reporters เพื่อที่อยากจะมีพื้นที่กับให้ปัญหาสังคมอื่นๆ ที่สื่อกระแสหลักไม่สนใจ ซึ่งที่ผ่านมาเรานำเสนอข่าวเหล่านี้ผ่านรายการ ข่าว 3 มิติ มาอยู่แล้วโดยตลอด แต่ด้วยโครงสร้างของโทรทัศน์ที่วันหนึ่งเรานำเสนอได้แค่เรื่องเดียวด้วยข้อจำกัดของเวลา แล้วบางเรื่องเราก็รายงานไม่ได้ เพราะติดเรื่องโครงสร้างทุน บางเรื่องก็ขัดกับนโยบายรัฐ เราเจอกับข้อจำกัดมาโดยตลอด ดังนั้นจริงๆ แล้วเราแค่เปลี่ยนเอาทุกอย่างมาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ พื้นที่ที่เรารายงานข่าวได้มากขึ้น โดยใช้ฐานของการเป็นฐปนีย์ คือการรายงานข่าวเหตุการณ์ ถ้ามีเหตุการณ์อะไร น้ำท่วม ไฟไหม้ เกิดภัยพิบัติ เกิดอะไรที่รุนแรง เช่น ระเบิดในภาคใต้ ต้องเห็นฐปนีย์เป็นคนแรก

The Reporters เกิดขึ้นมาไม่ใช่เพราะแค่เพื่อรายงานข่าว แต่เราใช้ The Reporters ในการขับเคลื่อนสังคม ถ้าเรากำหนดประเด็นขึ้นมาเองแล้ว เราก็ตีแผ่ปัญหาเหล่านั้น 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

ถ้าหากว่านักข่าวทุกคนทำข่าวด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ คุณจะเข้าใจบริบทปัญหาทุกเรื่อง และคุณจะสามารถรายงานด้วยใจที่เป็นกลาง ใจที่เป็นธรรม ใจที่มีความรับผิดชอบ และรู้สึกว่าอยากมีส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อนเรื่องนั้นมากกว่า สื่อมีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา

คุณก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters ขึ้นมาอย่างไร

เป็นเรื่องยากมาก เพราะเราเริ่มต้นทำ The Reporters ขึ้นมาโดยไม่มีเงินทุน หลายคนคิดว่าจะตั้งสำนักข่าวหนึ่งขึ้นมา ต้องมีออฟฟิศ มีเงินทุน ต้องเปิดรับสมัครพนักงาน แต่เราไม่มีเลย เราเริ่มต้นกับเพื่อนอีกสองคน เงินแรกเริ่มมาจากเงินส่วนตัวที่เราลงทุนกันเองในการทำเพจ ออกแบบโลโก้ ทำกราฟิก เราไปทำข่าว เราก็ต้องไปทำภาพเอง ถ่ายภาพเอง

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

เราหาเงินไปพร้อมๆ กับการหาโฆษณา ก็ใช้รูปแบบการทำธุรกิจนี่แหละค่ะ ไม่ได้ปฏิเสธทุนหรือธุรกิจเลย แต่มันมาจากการทำคอนเทนต์ของเราให้เป็นที่สนใจก่อน

คอนเทนต์ที่น่าสนใจของ The Reporters คืออะไร

มีคนบอกว่าข่าวการเมือง ข่าวสิทธิมนุษยชนหาโฆษณายาก แต่เรามองว่า เฮ้ย มันต้องมีสิ มันต้องมีธุรกิจที่เขาสนใจเรื่องพวกนี้ เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันเรื่อง Humanity (มนุษยธรรม) เป็นเทรนด์ของโลก ภาคธุรกิจต้องเคารพและสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน ถ้าเราสามารถผลักดันให้ธุรกิจมาลงโฆษณากับเรา เป็นการบ่งบอกว่าเขาเคารพสิทธิมนุษยชน มันก็อาจเป็นผลบวกกับธุรกิจนั้นก็ได้ 

ทำไมเราต้องยินยอมให้คำว่าเรตติ้งแล้วไปทำข่าวอื่น ทำไมเราไม่สร้างข่าวเหล่านี้ให้มีเรตติ้ง เทรนด์สังคมหันมาสนใจเรื่องพวกนี้ ข่าวพวกนี้ก็มีเรตติ้งได้ ตอนนี้มันก็เป็น จริงไหม ขณะที่สื่ออื่นไม่ได้มองเห็นข่าวพวกนี้ สุดท้ายเขาก็ต้องกลับมาทำ เพราะคนกำลังพูดถึง เราเลยคิดว่าเราทำสำเร็จแล้ว

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

โมเดลอะไรของ The Reporters ที่ทำให้คนติดตามเยอะมากในช่วงการประท้วงครั้งล่าสุด

การรายงานสดจากที่เกิดเหตุโดยนักข่าว โมเดลของฐปนีย์นี่แหละที่ทำให้คนเขามาติดตามเรา เพราะคนเชื่อมั่นว่าเราอยู่ในสถานที่จริง The Reporters ไม่ใช่แค่รายงานแล้ววางกล้องไว้เฉยๆ แล้วก็ให้คนดูสด เรารายงานโดยเข้าไปพูดคุยกับผู้คน รายงานสิ่งที่อยู่ในม็อบว่ามีอะไรบ้าง มันหมายถึงอะไร หรือผู้คนที่มาเป็นใคร เขาคิดอย่างไร ทำให้คนติดตามรู้สึกว่าอยู่ในสถานที่ หรืออยู่ในม็อบไปกับเรา

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

ในยุคที่สื่ออื่นๆ แทบไม่ทำเฟซบุ๊กไลฟ์ เพราะเขามองว่าหากต้องการทำรายได้ต้องทำคลิป แต่เราว่าการทำเฟซบุ๊กไลฟ์คือการรายงานสด เหมือนเอาทีวีมาอยู่ในเฟซบุ๊กแค่นั้นเอง อย่างวันที่มีการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวัน (16 ตุลาคม พ.ศ. 2563) เรารายงานตั้งแต่หกโมงครึ่ง จนหมดความยาวสูงสุดของการทำเฟซบุ๊กไลฟ์คือสี่ชั่วโมง แล้วก็มาเริ่มต้นไลฟ์ใหม่จนถึงตีหนึ่ง ถึงคุณไม่ได้ไปม็อบ แต่คุณดูเราเหมือนอยู่ในม็อบได้ มันก็เลยเกิดความแตกต่าง

คุณเคยบอกว่าต้องขายขนมจีนเพื่อหาเงินทำข่าว ทุกวันนี้คุณต้องสวมหมวกอะไรบ้าง

มีหมวกสี่ใบ เช้าเป็นแม่ค้า เป็นมนุษย์แม่ส่งหลานไปโรงเรียน พอสายๆ มาดูสำนักข่าวของตัวเอง บ่ายๆ ก็ต้องไปเป็นผู้สื่อข่าวให้รายการ ข่าว 3 มิติ

จุดเริ่มต้นของการเปิดร้านขายขนมจีนเพื่อหาเงินไปทำข่าวก็มาจากตรงนี้ จริงๆ แล้วเราทำอยู่ในช่อง 3 หรือทำในรายการ ข่าว 3 มิติ เราก็มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดูแลตัวเอง แต่เรามีครอบครัวเหมือนคนอื่นๆ มีน้องชาย มีหลาน เราเป็นหัวหน้าครอบครัว ค่าใช้จ่ายในครอบครัวก็เยอะ 

 อีกอย่างคือเราอยากมีอิสระในการทำข่าว ถ้าเรามีเงิน ซื้อตั๋วเครื่องบินไปทำข่าวที่ไหนก็ได้ที่เราอยากไป โดยไม่ต้องขอเงินใคร ไม่ต้องขออนุญาตใคร ดังนั้นเราก็คิดว่าเปิดร้านขนมจีนหาเงินสิ เราก็เลยตั้ง The Reporters ขึ้นมาพร้อมๆ กับร้านขนมจีน

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

มีเวลาให้ตัวเองบ้างไหม โดยเฉพาะเวลาที่เจอกับแรงเสียดทานจากสังคม

อย่างแรกเลยต้องเข้าใจก่อนว่าเมื่อมาอยู่ในจุดนี้ เรายืนอยู่ในที่สว่าง เราจะก้าวย่างทำอะไรก็เป็นที่จับจ้องทั้งหมด โดยเฉพาะในภาวะที่ผู้คนกำลังคิดแตกต่างกัน มีผู้คนที่ทั้งชอบเราและไม่ชอบเรา ทุกอย่างพร้อมจะถูกนำไปตีความ ยิ่งเมื่อ The Reporters โดดเด่นในแง่การรายงานข่าวการประท้วง หลายคนบอกว่าเราสนับสนุนผู้ชุมนุมอีก เราก็เลยอยู่ในรายชื่อที่จะถูกปิดบ้าง

ถามว่าเวลาเกิดเหตุแต่ละครั้ง เครียดมั้ย เครียด แต่ว่าเราไม่มีเวลามานั่งเครียดหรือคิดมาก ไม่มีเวลามานั่งท้อ เพราะเราต้องใช้เวลาไปกับการแก้ปัญหา ต้องรีบแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ช้าแต่วินาทีเดียวไม่ได้ แล้วต้องแก้อย่างระมัดระวัง ทั้งใช้ศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ส่วนวิธีการที่จะแก้ปัญหาเรื่องการถูกโจมตี หรือการถูกใส่ร้าย ท้ายที่สุดคือความจริง และความจริงใจของเรา ถ้าเรายืนยันว่าเราทำงานด้วยข้อเท็จจริงที่เรามี และความจริงใจต่อการที่ทำอะไรต่างๆ เราก็ชี้แจงได้ แล้วเราก็ไม่ได้หวั่นไหวกับการพูดอะไรออกไป ถ้ามันเป็นเรื่องจริง

ส่วนมีเวลาเป็นของตัวเองไหม ก็มีคือเวลานอน นอนน้อยบ้าง มากบ้าง แล้วแต่ บางทีไม่อยากคิดอะไรก็เปิดละคร เปิดหนังดูไปสักชั่วโมงสองชั่วโมงเพื่อไม่ต้องคิดเรื่องงาน เป็นการหยุดพักความคิดที่เกี่ยวกับเรื่องเครียดๆ ในสองชั่วโมงนั้น แล้วก็หลับไป ตื่นมาเราก็ค่อยมาจัดการปัญหาใหม่

ชีวิตคุณอยู่กับความเร็วและความรีบตลอดเลย มีวันไหนอยากอยู่ช้าๆ บ้างไหม

มีค่ะ ยิ่งตอนนี้มีร้านอาหาร เราจะจัดเวลาเสาร์อาทิตย์มาช่วยที่ร้าน เราชอบทำกับข้าว ชอบหั่นผัก จัดของ จัดอาหาร มันทำให้เรามีสมาธิ อย่างวันนี้มีชุดปิ่นโตสั่งไปวัด เราเป็นคนจัดชุดขนมจีน ชอบทำอะไรพวกนี้ การอยู่กับสิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างช้าลง

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

ตั้งแต่ทำ The Reporters เรารู้จักรอ ทำให้เสร็จเป็นเรื่องๆ การทำ The Reporters ทำให้ระบบชีวิตเราดีขึ้น เพราะว่าเราต้องนั่งเขียนข่าว เรียบเรียง ทำรูป ทำกราฟิก ทำให้เราทำอะไรช้าลง ต้องนั่งทำตรงนี้ให้เสร็จไปชิ้นหนึ่ง แล้วถึงค่อยทำชิ้นที่สอง จากที่แต่ก่อนเรารีบร้อน ทำอันนี้ยังไม่เสร็จก็ต้องทำอย่างอื่นแล้ว แต่ The Reporters มันฝึกสมาธิเราได้เยอะมาก เขียนข่าวนี้จบแล้วได้อ่าน ได้ทำภาพ หัดคิดประเด็น คิดต่อยอดไปอีก

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสื่อ อะไรทำให้คุณยังเป็นนักข่าวที่คนติดตามได้มากว่า 20 ปี

ความเป็นฐปนีย์นี่แหละค่ะ ความมุ่งมั่นในการทำข่าวทำให้เรายืนหยัดอยู่ได้ ไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์มไหน และมันทำให้เรามีความสุขทุกวัน เพราะข่าวของเรามันมีคุณค่าต่อผู้คน แล้วเราก็รู้สึกภาคภูมิใจที่จะทำ

นักข่าวก็คือคนคนหนึ่ง ถ้าเราทำงานด้วยความเป็นคน เป็นมนุษย์ เราจะทำทุกเรื่องด้วยหัวใจที่อยากขับเคลื่อน ทำงานของเราให้ออกมามีคุณค่า แม้ในทุกวันเราเจอกับเรื่องยาก แต่จะมีบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขจังเลยที่ได้ทำเรื่องนี้ ซึ่งเรารู้สึกแบบนี้ทุกวัน

ราวหนึ่งชั่วโมงผ่านไป เสียงโทรศัพท์ของเธอดังขึ้น พร้อมกับที่เราได้ถามเธอเป็นคำถามสุดท้ายพอดิบพอดี ถึงเดดไลน์ของการสัมภาษณ์เธอแล้ว

ฐปนีย์ เอียดศรีไชย รับโทรศัพท์และรีบลุกออกไปรายงาน

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย นักข่าวภาคสนามกว่า 20 ปีที่ไม่อยากแค่รายงานข่าว แต่ต้องการขับเคลื่อนสังคม

Writer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล