หากคุณขับรถแล่นตรงจากสะพานนวรัฐมุ่งหน้าสู่ประตูท่าแพในเวลานี้ แล้วไม่ทันสังเกตว่ามีร้านอร่อยระดับที่ Foodie ตัวจริงตั้งใจมา ร้านขายสินค้าแฮนด์เมดสุดเก๋ หรือร้านกาแฟเจ้าเดียวกันกับเจ้าดังประจำย่านนิมมานเหมินทร์ยืนแทรกตัวอยู่ริมถนน ก็คงไม่แปลกอะไร เพราะเป้าหมายของคนส่วนใหญ่อยู่ที่การตระเวนย่านเมืองเก่า หรืออาจจะเป็นบรรยากาศเงียบเหงาและตึกแถวว่างเปล่าสะดุดตากว่า จนแทบจินตนาการไม่ออกว่า ‘ย่านท่าแพ’ ที่เพิ่งขับผ่านมา ครั้งหนึ่งเคยคลาคล่ำผู้คนและมีสถานะเป็นถึงย่านถนนเศรษฐกิจการค้าแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ อีกทั้งยังรุ่มรวยด้วยสถาปัตยกรรมหลากยุคสมัยเปี่ยมคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร สถาปนิกแห่งใจบ้านสตูดิโอ เป็นลูกหลานคนเชียงใหม่ที่ผูกพันกับย่านนี้มาตั้งแต่เด็ก เขาตระหนักถึงปัญหาความเปลี่ยนแปลงข้างต้น ไม่ใช่เพียงในเชิงกายภาพ แต่หมายรวมความสัมพันธ์ของย่านที่ค่อย ๆ โรยแรงแห้งเฉา ซึ่งมีจุดเริ่มมาจากการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคาร ควบคู่กับการขาดทิศทางการพัฒนาย่านให้ยืนอย่างสง่างามบนรากวัฒนธรรม
เหตุนี้เขาจึงลงมือสร้างสรรค์โปรเจกต์ ‘ย่านท่าแพ 2030’ นำเสนอแนวคิดในการจัดปรับตำแหน่งแห่งที่และตัวตนของย่านท่าแพ ให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมชี้นำการพัฒนาให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ นายทุน และนักพัฒนา ผู้ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่รักษาต้นทุนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อชุบชูย่านให้กลับมามีชีวิตชีวา ศักยภาพ และสืบสานมนตร์เสน่ห์ความเป็นท่าแพจากวันนี้สู่อนาคต

จิ๊กซอว์ความสัมพันธ์
“จริง ๆ สถานการณ์ที่ดินเปลี่ยนมือค่อย ๆ เริ่มเมื่อประมาณ 5 ปีก่อนเกิดโรคโควิด-19 ระบาด ช่วงนั้นเชียงใหม่เป็นจุดหมายปลายทางของคนจีน นักธุรกิจที่เล็งเห็นโอกาสจึงเข้ามาสอยที่ดินทำธุรกิจ ทำให้หลายตึกถูกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เป็นของนายทุนจีน กลายเป็นร้านขายยาบ้าง ขายหมอนยางพาราบ้าง จนไม่เหลือร่องรอยของการใช้งานแบบ Mix Used”
ตี๋ย้อนเค้าลางความแปรผันบนสองฝั่งถนนท่าแพ พลางขยายว่า ในอดีตอาคารบริเวณนี้มีลักษณะการใช้งานแบบผสมผสาน หรือ Mix Used คือชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ส่วนชั้นล่างเปิดเป็นร้านค้า ขณะเดียวกันบางร้านยังแบ่งปันพื้นที่สำหรับจำหน่ายงานคราฟต์และสินค้าชาติพันธุ์ต่าง ๆ
อนึ่ง ความผสมยังผสานไปถึงลักษณะทางสังคมที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว ทั้งชุมชน พาณิชย์ และศาสนา ครั้นเมื่อที่ดินเปลี่ยนมือและลักษณะการใช้งานอาคารเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ในย่านจึงคล้ายชิ้นส่วนจิ๊กซอว์ที่ถูกดึงออก วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชน พอขาดสังคมอุปถัมภ์ก็จำต้องปรับตัว จัดสรรพื้นที่ทำลานจอดรถ จัดอีเวนต์ หรือตกแต่งบรรยากาศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว
ตี๋เสริมว่าคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกระแส Mass Tourism เช่นนี้ เกิดกับแทบทุกย่านของเชียงใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ย่านท่าแพสะท้อนภาพชัด คือมูลค่าของทำเลที่สูงกว่า 25 – 40 ล้านต่อห้อง ตัวเลขดังกล่าวประมาณจากผลการสำรวจราคาที่ดินพร้อมอาคารในย่าน พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปัจจัยให้ทำเลตกไปอยู่กับนายทุนที่มีกำลังซื้อ และโดยมากคือคนนอกพื้นที่
“เมืองจะมีลมหายใจต่อเนื่อง ก็ต่อเมื่อมีความทรงจำของผู้คนที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่ดูเหมือนขณะนี้มันกำลังขาดช่วง เพราะพื้นที่กลายไปเป็นของคนอื่น”
เหนือความเปลี่ยนแปลงนานา ตี๋ให้ความสำคัญกับความทรงจำอันเปรียบดังห่วงเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ทางสังคม และของผู้คนที่มีต่อพื้นที่ ซึ่งจะช่วยนิยามอัตลักษณ์ของย่าน รวมถึงรักษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ให้สูญหาย



ย่านท่าแพ 2030
เราจะสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ ฟื้นกายภาพ และฟื้นโครงสร้างทางสังคม ให้เติบโตไปพร้อมกันได้อย่างไร…
นี่คือสิ่งที่ใจบ้านสตูดิโอ และ กฤติกา รอดเจริญ นักศึกษาฝึกงานจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พยายามค้นหาคำตอบให้กับย่านท่าแพในอนาคต พลันศึกษาค้นคว้า ออกแบบ และนำเสนอแนวคิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ไว้ในโปรเจกต์ ‘ย่านท่าแพ 2030’ (Thapae Neighborhood 2030) ภายใต้โจทย์หลัก 3 ข้อ
หนึ่ง เพื่อจุดประกายให้เกิดโมเดลธุรกิจและการพัฒนาที่ดินที่เจ้าของเดิมอยู่อาศัยร่วมกับธุรกิจใหม่ ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องขายที่
สอง จัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์เชียงใหม่มีพื้นที่ค้าขาย แสดงผลงาน โดยไม่จำเป็นต้องแบกค่าที่ดินหรือค่าเช่ามหาศาล ผ่านการสร้างระบบแบ่งปันพื้นที่ (Sharing Space) ซึ่งส่งเสริมนิเวศทางธุรกิจที่เกื้อหนุน
และ สาม ปลุกกระแสให้เห็นคุณค่าของประวัติศาสตร์ อาคารและย่านอันเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจ Creative Business District ที่จะมีผลกับการฟื้นฟูเมืองแบบ Urban Regeneration ในมิติเศรษฐกิจและกายภาพไปพร้อม ๆ กัน

“ลองจินตนาการดูว่า ในเมืองที่แยกขาดระหว่างที่อยู่อาศัยกับพื้นที่พาณิชย์ ถ้าวันใดพื้นที่พาณิชย์ปิด เมืองก็ตาย จะกลับมามีชีวิตอีกครั้งได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจเปิด ยิ่งเมืองสมัยใหม่พื้นที่ค่อนข้างจำกัด การอยู่แบบผสมผสาน หรือส่งเสริมการใช้พื้นที่อย่างสมประโยชน์จริง ๆ ดังนั้นแนวคิดการพัฒนาเมือง ‘เมืองกระชับ’ (Compact City) จึงเป็นวิธีการน่าสนใจ” ตี๋พูด
“เราไม่ได้โหยหาอดีตชนิดต้องกลับไปอยู่เหมือนเดิม ในเมื่อธุรกิจปรับตัว กายภาพของอาคารก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน อย่างเมื่อก่อนตึกตึกหนึ่ง มีเจ้าของคนเดียวและใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำธุรกิจ แต่ปัจจุบันที่ดินแพง มูลค่าตึกก็สูง แน่นอน ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่กำลังสร้างตัวไม่มีสิทธิครอบครองตึกนี้ได้เลย แล้วโมเดลธุรกิจควรจะเป็นแบบไหน”
เขาทิ้งท้ายทำนองเชิญชวนให้นึกคิด แต่สำหรับเขาอยากนำเสนอโมเดลที่เรียกว่า ‘การฟื้นฟูย่านด้วยการปรับปรุงอาคาร’ ซึ่งจะกล่าวกันต่อในบทถัดไป

ปรับอาคารให้ย่านฟื้น
“อาคารก็เหมือนชิ้นส่วนของชีวิต ณ ยุคหนึ่งมันถูกออกแบบกายภาพตามความต้องการของสังคม แต่พอพ้นยุคสมัยอาคารก็ต้องปรับตัวตาม โดยนำมา Reuse และ Adaptive ให้เข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างเข้าใจคุณค่า ด้วยการรักษาบางอย่างให้เป็นชิ้นส่วนความทรงจำ พร้อมปรับเปลี่ยนบางอย่างเพื่อจะทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้”
ตี๋เกริ่นปูทางเพื่อจะอธิบายถึงโมเดลการฟื้นฟูย่านด้วยการปรับปรุงอาคารแบบ ‘Adaptive Reuse’ ในโปรเจกต์ย่านท่าแพ 2030 ที่เขาสำรวจตำแหน่งอาคาร วิเคราะห์โครงสร้างทางสถาปัตยกรรม และรวบรวมข้อมูลธุรกิจบนย่านถนนท่าแพ ก่อนนำมาออกแบบ 3 โมเดลตัวอย่างจากการประยุกต์แนวคิดเข้ากับตึกเก่าในย่าน โดยให้ความสำคัญกับการเก็บหน้าตาอาคารยุคโมเดิร์นและฟาซาด ควบคู่ปรับรื้อภายในให้เกิดการเชื่อมต่อจากถนนสู่ด้านในตัวอาคาร ซึ่งจัดสรรปันส่วนใหม่เป็นพื้นที่ว่างหลากหลายขนาด สำหรับรองรับกิจกรรมและธุรกิจรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนแทรกพื้นที่สีเขียวและช่องแสงให้เป็นเสมือน Pocket Park เพื่อเติมเต็มความเขียวขจีสดชื่นแก่ย่านน่าเดินแห่งนี้



“บางทีการเก็บรักษาทุกอย่างไว้ มันโรแมนติกนะ แต่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เรามองว่าการฟื้นฟูพัฒนาย่านเมืองเก่าอย่างมีศักยภาพจะต้องหาสมดุลระหว่างศิลปะ เศรษฐศาสตร์ และสังคม” ตี๋สรุปหัวใจของโมเดล
นอกจากไอเดียเนรมิตพื้นที่ภายในอาคาร แต่ละโมเดลตัวอย่างยังลองนำเสนอรูปแบบการจัดการกรรมสิทธิ์และพื้นที่ ที่จำแนกสัดส่วนการใช้งาน อาทิ ที่อยู่อาศัย พื้นที่สาธารณะ และพาณิชยกรรม รวมทั้งออกแบบกิจกรรมใหม่เพื่อฟื้นฟูอาคารและย่านอย่างสร้างสรรค์
“ถ้าเราอยากจะเก็บคาแรกเตอร์เดิมให้ลูกหลานกลับมาอยู่แล้วทำธุรกิจต่อได้ เราลองปรับพื้นที่ภายในกันดูไหม เพื่อให้มีสัดส่วนสำหรับคนอยู่อาศัยดั้งเดิมราว 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือก็ใส่กิจกรรมใหม่เข้าไป เช่น คาเฟ่ ร้านอาหาร แกลเลอรี่ หรือ Co-working Space แบบนี้เจ้าของอาคารเดิมอยู่อาศัยและมีรายได้จากการแบ่งเช่าพื้นที่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายย่อยก็เช่าทำธุรกิจโดยไม่ต้องแบกรับต้นทุนราคาที่ดิน หากแต่ละหน่วยธุรกิจสร้างกำไรต่อปีมากพอคุ้มค่าแรงจูงใจในการขายตึก นั่นหมายถึง ตึกนี้ก็จะยังเป็นของคนท้องถิ่นและลูกหลานรุ่นต่อไปก็ยังอยู่ได้”

ตี๋อธิบายสมการของโมเดลการปรับปรุงอาคารที่เขาคิด พร้อมเสริมว่าสิ่งนี้นับเป็นองค์ประกอบของย่านอยู่ดี คือ มีธุรกิจหลากหลายและชุมชนสัมพันธ์อันเกื้อกูลกันและผูกผันกับพื้นที่ เหนืออื่นใดอาจพัฒนาให้เกิดย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่ที่ยืนอยู่บนรากวัฒนธรรมได้อย่างงามสง่า ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และชี้นำอนาคตของเมือง

ความเป็นไปได้
อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าแนวคิด Adaptive Reuse ที่กล่าวมานั้นช่างอุดมคติและฝันเพ้อ เพราะมีหลายเมืองทีเดียวที่ตี๋เล่าว่านำไปพัฒนาย่านเมืองเก่า ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คน และส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตขึ้นจริง ๆ
ตัวอย่างแรก คือ ไต้หวัน ที่นี่มีองค์กรชื่อ ‘Taipei City Urban Regeneration Office’ คอยทำหน้าที่จับคู่ผู้ประกอบการกับพื้นที่ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับภาครัฐจัดตั้งกองทุนสนับสนุนสำหรับจัดซื้อตึกเก่ามาชุบชีวิต สร้างสรรค์พื้นที่และกิจกรรมหลายหลาก เพื่อเพิ่มมูลค่าที่ดินและดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาใช้งาน เช่าทำธุรกิจ จนเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กลายเป็นพื้นที่ของบรรดา Startup และ SME ในย่านต่าง ๆ
หรือ เมืองอาห์เมดาบัด ประเทศอินเดีย มีฐานะเป็นถึงเมืองมรดกโลก ทว่ากลับซบเซา มีแต่ผู้สูงอายุและวัยรุ่นที่ไม่เห็นโอกาสสร้างตัว คณะกรรมการเมืองเก่าจึงก่อตั้งองค์กร ‘Heritage Cell’ ขึ้นมา เพื่อทำงานร่วมกับอาคารสงเคราะห์ สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับซ่อมบำรุงบ้านเก่า สร้างจูงใจให้คนอยากกลับมาอยู่บ้าน ควบคู่กับเปิดโรงเรียนสอนวิชาช่างไม้ ฝึกอบรมทักษะอาชีพด้านการฟื้นฟูอาคารไม้รุ่นคุณปู่คุณย่า โดยพยายามขับเคลื่อนเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคมไปพร้อมกัน
อีกตัวอย่างสุดท้าย ได้แก่ จอร์จทาวน์ เมืองหลวงรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีกองทุนของรัฐบาลกลาง ‘Think City’ คอยดูแลเรื่องการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว รักษาฟื้นฟูอาคารเก่า รวมถึงแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้คนในย่านเมืองเก่า เนื่องจาก 82 เปอร์เซ็นต์ของพลเมืองจอร์จทาวน์เป็นผู้เช่าอาศัยทั้งสิ้น ประกอบกับเมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO เป็นเมืองมรดกโลก ทำให้มีนายทุนต่างชาติมากว้านซื้ออาคารไปเก็งกำไร หรือทำธุรกิจ ผู้เช่าดั้งเดิมเลยพลอยถูกขับออก

ทาง Think City จึงผุดโครงการรักษาตึกที่ผู้เช่าเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลรักษา โดย Think City เป็นตัวกลาง รวมผู้เช่าเป็นหนึ่งสหกรณ์ แล้วเจรจาทำสัญญาเช่าระยะยาวกับเจ้าของตึก เพื่อมอบความมั่นคงทางการเงินแก่เจ้าของ ส่วนผู้เช่าเมื่อรู้สึกมั่นคงทางที่อยู่อาศัยก็มีแรงจูงใจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต นอกจากนี้กองทุนยังยื่นข้อเสนอว่า หากเจ้าของตึกรายใดเข้าร่วมโครงการ ทางรัฐบาลยินดีสนับสนุนงบปรับปรุงอาคารให้หน้าตาสวยงามสมเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมรดกโลกอีกด้วย
“นี่คือโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านเมืองเก่าให้เป็นไปได้เชิงเศรษฐกิจ โดยมีทางเลือกให้คุณค่าและมูลค่าอยู่ด้วยกันได้” ตี๋แสดงความเห็น “ต่างจากบ้านเราที่มักเรียกร้องให้คนมาชื่นชมความงาม เชิดชูคุณค่า แต่กลับไม่หยิบยื่นเครื่องมือทางการเงินใด ๆ ทำให้มันยากที่จะรักษา แม้เรารู้ดีว่าสิ่งนี้มีคุณค่าแค่ไหน แถมยังกลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแนวคิดทั้งที่มูลค่ามันสูงมาก”
ทำไมภาครัฐถึงมองไม่เห็นจุดอ่อนนี้ – ผมถามเขา
“เราว่ารัฐต้องมองเมืองกับคนเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาก่อน แต่เขาไม่เคยมองแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกายภาพหรือศักยภาพผู้คน เพราะถ้าเขาเห็นศักยภาพพื้นที่จริงเขาจะต้องต่อยอด ไม่ใช่ขายของเก่ากินเรื่อย ๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเสพของเดิม ๆ ส่วนคนก็ถูกมองเป็นอุปสรรคที่ต้องควบคุมให้คิดคล้อยตาม แทนที่จะมองศักยภาพแล้วใช้มันผลักเมืองให้เดินไปข้างหน้า เช่นเดียวกับตึกที่ก็ไปได้ไกลสุดแค่ควบคุมสี หรือคุมทรงหลังคา”
สำหรับย่านท่าแพนั้นยังไม่หมดหวัง เพราะภายหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การเก็งกำไรที่ดินในย่านนี้ชะลอความรุนแรงลงไปมาก รวมถึงพิสูจน์ได้ว่าใครคือตัวจริง โดยหนึ่งในพื้นที่ที่ฝ่ามรสุมทางเศรษฐกิจและตี๋สนใจเป็นพิเศษ คือ ‘เวิ้งเหล็กแดง’ คอมมูนิตี้สร้างสรรค์ ซึ่งพัฒนาใกล้เคียงกับแนวคิด Adaptive Reuse มากสุด
แม้ไม่มีทุนจากหน่วยงานใดให้พึ่งพา ทว่าสำเร็จได้เพียงอาศัยทุนที่เข้าใจ

ทุนที่เข้าใจ
ย้อนกลับไปราว 80 ปี ในยุคที่ย่านท่าแพยังเป็นถนนดิน รถวิ่งสวนสองทาง และสามล้อถีบคือบริการยอดฮิตของผู้จับจ่ายสินค้าตลาดวโรรส บริเวณเวิ้งเหล็กแดงตรงนี้มีแค่อาคารสองชั้นก่ออิฐสีเข้ม เปิดเป็นสถานพักแรมสำหรับพ่อค้าแม่ขายต่างจังหวัด ก่อนจะดัดแปลงเป็นโรงงานผลิตขนมปังกะโหลก แต่แล้วโรงงานก็เกิดเหตุเพลิงไหม้จนทำให้ต้องยุติกิจการ อาคารหลังดังกล่าวจึงกลายเป็นโกดังเก็บสินค้าของ ‘เจริญการค้า’ ร้านจำหน่ายหนังสือและอุปกรณ์เครื่องเขียน หนึ่งในผู้เช่าพื้นที่ตึกแถว 5 ห้องด้านหน้า ซึ่งสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาโดยคุณตาของ ลุงภูมิ-ภูมิสรรค์ ศิลปิศรโกศล ทายาทผู้ดูแลเวิ้งเหล็กแดงคนปัจจุบัน

“ตอนที่ตึกแถวริมถนนยังมีผู้เช่าเต็มทุกห้อง การเข้ามาในเวิ้งต้องเดินผ่านช่องแคบ ๆ ข้างร้านก๋วยเตี๋ยวสามชัย สมัยนั้นดังมาก พอเศรษฐกิจซบเซาคนเช่าก็ทยอยออก พื้นที่เลยถูกปล่อยร้างไว้พักใหญ่ กระทั่งมีคนมาติดต่อขอทำธุรกิจโรงแรม เขาเลยทุบห้องตรงกลางเปิดเป็นช่องทางเข้า แต่ยังไม่ทันเรียบร้อยดี โครงการก็พับไปเพราะพิษเศรษฐกิจปี 40 เหลือแค่โครงเหล็กสีแดง ซึ่งตามแผนจะเป็นตัวโครงสร้างอาคารหลัก” ลุงภูมิเฉลยเรื่องราวของโครงเหล็กแดง สัญลักษณ์เด่นที่กลายเป็นชื่อเรียกของคอมมูนิตี้สุดฮิปแห่งนี้ ภายหลังจากที่แบรนด์ Dibdee Binder เข้ามาบุกเบิกขอเช่าห้องทำสตูดิโอ ก่อนชักชวนเพื่อนฝูงมาอยู่ด้วยกัน จนปัจจุบันครึกครื้นด้วยบรรดานักออกแบบ ศิลปิน และสารพัดธุรกิจสร้างสรรค์


ลุงภูมิเล่าให้ฟังต่อว่า เขาใช้วิธีให้ผู้เช่าช่วยกันบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าส่วนกลาง หรือแม้แต่การเลือกผู้เช่ารายใหม่
“ผมให้เด็ก ๆ บริหารกันเอง เพราะรู้สึกว่าไอเดียของผู้ใหญ่อย่างผมกับของเด็กรุ่นใหม่มันคนละเรื่องกัน ในเมื่อตรงนั้นเป็นพื้นที่ของพวกเขา เขาก็ควรจะมีอิสระในการออกแบบ ส่วนถ้าใครสนใจอยากเข้ามาเช่า ผมก็ให้สิทธิพวกเขาปรึกษาพูดคุยกันเองก่อน หากทุกคนพร้อมใจว่าคนนี้มาอยู่ได้ ผมก็โอเค เพราะอยากให้อยู่แบบสบาย ๆ ทำงาน ทำธุรกิจ และเป็นคอมมูนิตี้เล็ก ๆ ที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน”
ยิ่งไปกว่านั้น ที่นี่ยังไม่เคยปรับขึ้นค่าเช่า “ถ้าปรับเด็กก็ลำบาก ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการเงินนะ แต่เราต้องการแค่พออยู่ได้ทั้งเขาและเรา” เจ้าของเวิ้งอธิบายอย่างใจดี พลางเสริมว่าเขามีเป้าหมายเพียงอยากเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้โชว์ฝีมือ
เหนืออื่นใด เขาเชื่อว่าไอเดียธุรกิจสร้างสรรค์เหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและพลิกฟื้นย่านท่าแพให้กลับมาคึกคัก เป็นย่านเศรษกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่อีกครั้งในอนาคต
