แม็ทช์-ฐาณิญา เจนธุระกิจ หญิงสาวเจ้าของ THANIYA (ฐาณิญา) แบรนด์เครื่องหอมและของแต่งบ้านที่จับคู่กลิ่นหอมจากข้าวหอมมะลิมาผสานกับงานปั้นเซรามิกเขียนลายด้วยมือ เธอบอกว่า ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องเบญจรงค์สะสมของคุณยาย เลยตัดสินใจต่อยอดธุรกิจเครื่องหอมของครอบครัวเป็นแบรนด์ของตัวเองเมื่อ 8 ปีก่อน จนพาช่างฝีมือนับร้อยชีวิตและงานคราฟต์ไทยโลดแล่นอยู่ในตลาดต่างประเทศทั้งแถบเอเชียและแถบยุโรปได้สำเร็จตามหวัง

THANIYA ยังได้รับเลือกเป็นผู้ผลิตของขวัญสำหรับแขกผู้เข้าชมแฟชั่นโชว์สุดหรูอย่าง CHANEL Cruise 2019 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และแฟชั่นวีกของ Louis Vuitton ในเมืองมิลานและเซี่ยงไฮ้ด้วย แบรนด์เครื่องหอมของเธอเป็นที่รู้จักระดับโลกภายในระยะเวลาไม่ถึงสิบปี เรียกความสนใจให้เราอยากสนทนากับสาววิศวะฯ ที่หยิบความชอบมาเบลนด์ให้เข้ากับสิ่งที่มีอยู่แล้วในครอบครัวและมีอยู่แล้วในประเทศ ให้เป็นคราฟต์ไทยส่งออกที่ระดับนานาชาติต้องยอมรับ

หยิบไม้ขีดไฟมาจุดเทียนหอมกลิ่น Liela ในตลับเซรามิกลายผ้าขิด พร้อมฟังเรื่องราวที่หอมไกลทั่วโลก

จุดไฟ

แม็ทช์เติบโตในครอบครัวที่ดำเนินกิจการเครื่องหอมมาตั้งแต่รุ่นคุณยาย เน้นเป็นผู้ผลิตและส่งขายให้กับตลาดไทยและตลาดเทศ ประสบการณ์ความหอมยาวนานกว่า 30 ปี เธอคลุกคลีกับกลิ่นหอมและพี่ป้าน้าอาสาวโรงงานที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยง หลังเรียนจบด้านวิศวกรรมอุตสาหการ แม็ทช์ยังคงทำงานในสายงานวิศวะฯ จนพบกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นที่สะกิดเธอด้วยคำถามว่า “เรียนจบแล้ว ทำไมไม่กลับไปช่วยกิจการที่บ้าน” เธอช่วยอยู่ตลอด แต่ยังไม่คิดทำเป็นแบรนด์

ด้วยความหลงใหลงานศิลปะและเครื่องหอมเป็นทุนเดิม ประจวบเหมาะกับการได้เห็นเครื่องเบญจรงค์ ของสะสมสีน้ำเงินขาวของคุณยาย ที่บรรจงเรียงรายอยู่ในตู้อย่างสวยงาม ไม่เคยถูกนำออกมาใช้งานจริง เป็นเพียงของประดับเพิ่มความสวยงามให้มุมโปรดของบ้าน เธอเลยได้แรงบันดาลใจสร้างงานคราฟต์ไทยจากของที่คนเก็บใส่ตู้กระจก

“ตอนแรกเราทำเทียนแก้วและน้ำมันอโรม่าก่อน พอได้เห็นเบญจรงค์ในบ้านของคุณยายและผู้ใหญ่ท่านอื่นวางไว้ตามตู้ มันน่าเสียดาย เราคิดว่ายังเอามาทำอะไรได้อีกมาก แต่บางทีลายและสีของเบญจรงค์อาจใช้งานได้ยาก 

“เราเลยลองปรับและลดทอนลวดลายให้โมเดิร์นและใช้งานได้จริงในทุกวัน บ้านเราเชี่ยวชาญเรื่องกลิ่นอยู่แล้ว เลยเอาความชอบมาทำเป็นแบรนด์และประยุกต์กับงานเซรามิก เอาเทียนหอมมาใส่เพื่อการใช้งานที่หลากหลาย”

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี
ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

THANIYA เลยเป็นแบรนด์เครื่องหอมและเซรามิกที่หยิบข้าวหอมมะลิไทย ดอกไม้ไทย สมุนไพรไทย มาเบลนด์เป็นกลิ่น บรรจุอยู่ในตลับเซรามิกเขียนลายด้วยมือแบบใบต่อใบ มีทั้งลวดลายกราฟิกและลายไทยร่วมสมัย ถือเป็นการเข้าคู่กันของความผ่อนคลายและศิลปะงานทำมือได้อย่างลงตัว แม็ทช์ยังแตกไลน์สินค้าออกเป็นของแต่งบ้าน อย่างเครื่องกระเบื้องขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ จะเป็นแจกันก็ได้ ใส่อาหารก็ดี วางมุมห้องก็เก๋ ปิ่นโตเซรามิกก็มา โคมไฟก็ด้วย 

ความน่ารักอีกอย่างที่ฉายแววไทยแท้ คือโลโก้ของแบรนด์ที่เธอหยิบเลขไทย ๑ – ๙ มาเรียงร้อยกันเป็นตัว T

หอมหวน

“ตอนแรกสุดเราทำเทียนจากพาราฟิน เป็นสารจากปิโตรเคมี จุดนานเข้าอาจส่งผลระยะยาว เลยเปลี่ยนมาใช้ไขถั่วเหลืองอยู่ช่วงหนึ่ง ก็คิดได้ว่าถ้าถั่วเหลืองทำได้ มะพร้าวทำได้ ปาล์มทำได้ ข้าวมีน้ำมันรำข้าว น่าจะทำได้เหมือนกัน

“เราเลยเปลี่ยนมาใช้ตัวเทียนจากข้าวหอมมะลิไทยที่ชุมชนและบริษัทช่วยกันคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา” 

แม็ทช์เลือกใช้เนื้อแว๊กซ์ที่ทำจากข้าวหอมมะลิไทยสายพันธุ์ดีจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดกาฬสินธุ์มาทำเป็นเทียนหอม ปลอดภัย ปราศจากสารเคมี เมื่อเทียนละลายก็เอาน้ำตาเทียนมานวดผิวกายเพิ่มความชุ่มชื้นได้

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี
ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

THANIYA มีทุนเดิมเป็นหนึ่งเรื่องความหอมมาตั้งแต่คุณแม่ยังสาว มีกลิ่นหอมให้เลือกถึง 30 กลิ่น จากการเบลนด์กลิ่นดอกไม้ไทยบ้าง สมุนไพรไทยบ้าง เธอว่ากลิ่นจะเพิ่มขึ้นทุก 3 เดือน เดือนละ 4 – 5 กลิ่น ส่วนมากแม็ทช์เน้นกลิ่นดอกไม้เป็นหลัก เพราะผ่อนคลาย เบาสบาย เข้าถึงคนง่าย และมีวิธีการเบลนด์ใกล้เคียงกับน้ำหอม มีเบสและท็อปโน้ต

อย่างกลิ่น Sakura ที่เธอได้แรงบันดาลใจจากทุ่งนางพญาเสือโคร่ง ดอกไม้ช่อสีชมพูสดจากดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย กลิ่น Wild Flower กลิ่นหอมเย็น ชวนจินตนาการถึงป่าดงดิบที่มีความหอมจากดอกกล้วยไม้ เอื้อง และช้างกระ ซึ่งล้วนเป็นดอกไม้ป่าของไทย กลิ่นขิงและตะไคร้ ความเผ็ดร้อนของขิงและความหอมของตะไคร้จะทำให้สดชื่น มีพลัง

ความหอมหวลในตลับเซรามิกจะอยู่ได้นานประมาณ 2 เดือน ถ้าลูกค้าใช้จริงจนเทียนละลายหมดเกลี้ยง ก็ทำความสะอาดให้เอี่ยมอ่อง แล้วนำตลับเดิมไปเติมกลิ่นใหม่ที่ชอบ แม็ทช์ว่าลูกค้าทำกันเยอะและเธอคิดราคาพิเศษ

ลายไท

สิ่งที่เราเห็นจาก THANIYA คือความพร้อมของบุคลากรที่เชี่ยวชาญเรื่องกลิ่นและงานวาดเขียน เพราะสมัยคุณยายส่งออกดอกไม้ประดิษฐ์พ่วงกลิ่นหอมด้วย พี่ช่างฝีมือในโรงงานก็มีทักษะการวาดรูปอยู่ก่อนแล้ว แม็ตช์ยกตัวอย่าง ครอบครัวช่างฝีมือที่วาดภาพเก่งจนยกนิ้ว เขาเล่าให้เธอฟังว่าสมัยเด็กไม่มีทีวี พ่อเลยชวนบรรดาลูกๆ มาวาดตัวการ์ตูนและเล่นเป็นหนังกลางแปลงด้วยกัน พี่ช่างฝีมือเลยมีพรสวรรค์ด้านศิลปะติดตัวมาด้วย ทำให้แม็ทช์มีวัตถุดิบที่ดีอยู่กับตัว

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี
ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

เจ้าของแบรนด์เริ่มประดิษฐ์ลายขึ้นมาใหม่ บ้างก็ถอดมาจากลายเอกลักษณ์ความเป็นไทยที่ถูกลดทอนให้คนเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เช่น ลายผ้าขิดและลายมัดหมี่ที่อยู่บนผ้าไหม ลายไทยงอกงาม เป็นตัวแทนการเติบโตของพันธุ์ไม้ ลายกระติ๊บ จากกระติ๊บข้าวเหนียวไทบ้าน แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของไทย หรือลายกราฟิกอย่างลายแกสบี้ เท่มาก!

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

“เราได้โจทย์จากร้านสาขาเวียนนา ร้านเขาหรูหรามาก อยู่ตรงข้ามกับโอเปร่าเฮ้าส์ เขาบอกว่าอยากได้ลาย Luxury หน่อย เราก็กลับมาตีความ แล้วนึกถึงยุคแกสบี้ ยุครุ่งเรืองของยุโรป เลยถอดลายจากในหนัง The Great Gatsby 

มาวาด ปรากฏทางร้านชอบมากและเป็นลายซิกเนเจอร์ของลูกค้าทางออสเตรียไปแล้ว” แม็ทช์เล่าพร้อมรอยยิ้ม

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี
ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

นอกจากลายกราฟิกและลายไทยที่ถูกลดทอน ยังมีลายปลาคาร์ฟ (ขายดีที่ญี่ปุ่น) ลายเสือ ลายตามฮวงจุ้ย เช่น ลายไผ่ แทนความหมายอายุมั่นขวัญยืน ลายปลาทอง มั่งคั่งร่ำรวย ลายพัด ที่จะพัดพาสิ่งที่ดีเข้ามาในชีวิต ฯลฯ 

แต่ลายที่เห็นแล้วชดช้อยยกให้ ลายดอกบัว ถูกย่อยออกเป็นบัวหลวง บัวสาย บัวขาว เพราะเกิดจากการสร้างสรรค์ของช่างฝีมือแต่ละคนที่ตีความ ‘ดอกบัว’ ไม่เหมือนกัน เป็นความอิสระที่แม็ทช์มอบให้นักวาดได้บอกเล่าความเป็นไทยผ่านความคิดของแต่ละคน เพราะเธอเชื่อว่าคนเราควรมีสิทธิ์ได้ทำงานตามที่ตัวเองชอบ ช่างฝีมือบรรจงเขียนลายด้วยมือทีละชิ้น ถึงลายเหมือนกัน แต่ความพริ้วไหวของฝีแปรงที่จรดลงบนเนื้อเซรามิกย่อมต่างกัน นับเป็นเสน่ห์และอัตลักษณ์ที่เพิ่มคุณค่าให้สินค้าได้อย่างแยบยล ลูกค้าทุกคนจงมั่นใจได้เลยว่าสินค้าที่ได้รับมีเพียงใบเดียวในโลกแน่นอน

ปัจจุบัน THANIYA มีช่างวาดจากหลายชุมชนรวมกันกว่า 90 คนที่เธอกระจายงานและรายได้เข้าไปให้

ชุมชน

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี
ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

“งานปั้นเซรามิกช่วงแรกเราทำกันเองแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนหลังขยายตลาดมากขึ้น ก็เริ่มหาชุมชนเข้ามาช่วย เป็นการทำงานร่วมกัน หรือการวาดลายเราก็คัดคุณภาพของช่าง เราสอนเขาด้วยเทคนิค Grid Scale ที่เราคิดขึ้นมา”

แม็ทช์เข้าไปต่อยอดฝีมือของช่างช้างเผือกที่แอบซ่อนอยู่ตามชุมชน เราถามด้วยความสงสัยว่า เธอมีวิธีเข้าหาชุมชนอย่างไร เพราะไม่ง่ายที่จะตามหาสุดยอดฝีมือที่เก่งในแต่ละด้านมาทำงานและพัฒนาความสร้างสรรค์ด้วยกัน

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

“ถ้าคนเราชอบอะไรมากๆ มันจะพาไปเจอสิ่งนั้นเอง ขึ้นอยู่กับการแสวงหาและความอดทนของเรา บางทีเราก็หาชุมชนตามอินเทอร์เน็ต บางทีทำงานกับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ก็ได้ลงชุมชนด้วย หรือเวลาพักผ่อนตามต่างจังหวัด เราก็ชวนคนแถวนั้นคุย เขาทำอะไรกัน ไปเจอบางคนเขียนรูปตามวัดอยู่แล้ว เขาน่าจะเขียนเซรามิกให้เราได้ 

“เราก็ชวนเขามาทำ บางคนเป็นโดยพรสวรรค์ แต่เขาอาจจะอยู่ในป่าลึก เราไปเจอแล้วหยิบเขาออกมา ทำให้เขามีงาน เขาทำแล้วได้เงิน ความเป็นอยู่เขาดีขึ้น เราจะต้องการเยอะสักขนาดไหน ช่วยเหลือคนอื่นบ้างมันก็ดีระดับหนึ่ง” 

ล่าสุดเธอเพิ่งทดลองทำสินค้าเครื่องประดับ โดยใช้ผ้าฝ้ายย้อมฮ่อมจากน่านและแพร่มาทำเป็นพู่กับสร้อยคอ

รับฟัง

แม็ทช์บอกกับเราว่า การรับฟังความเห็นลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ การทึกทักหรือเดาใจว่าลูกค้าชอบแบบนั้น ชอบแบบนี้ อาจใช้ไม่ได้กับการทำธุรกิจในยุคที่คนเข้าถึงและรับวัฒนธรรมที่หลากหลาย

เจ้าของแบรนด์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ตอนนำสินค้าไปวางที่สาขาเซี่ยงไฮ้ให้เราฟังว่า เธอคิดว่าสินค้าสีแดงจะขายดีในประเทศจีน ความจริงกลายเป็นคนบ้านเขานิยมสีน้ำตาล หรือดูไบต้องอินเลิฟกับสีทองสุดหรู พลิกล็อกเป็นสีดำ มีความโมเดิร์นและหรูหราแบบคลาสสิก ส่วนอิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี คนจะเข้าใจว่าต้องมินิมอล รูปทรงธรรมดา สีอ่อนไม่ฉูดฉาด แต่จากการทำการบ้านและศึกษาตลาดเธอบอกว่า ช่วงซัมเมอร์ คนยุโรปก็นิยมสีสันสดใสด้วยเหมือนกัน 

ความสำเร็จของ THANIYA แบรนด์เครื่องหอมไทยร่วมสมัยที่ตีตลาดโลกภายในเวลาแค่ 8 ปี

“ทุกสามเดือนเราจะฟังความเห็นลูกค้าแต่ละสาขาก่อนว่าอยากได้แบบไหน ปีที่แล้วลูกค้าอยากได้แบบเสริมฮวงจุ้ย เราก็ทำลายปลาทองออกมา หรือบางทีเราเพิ่งออกปิ่นโตลายนกยูง แต่ลูกค้าอยากได้ลายนกยูงบนโคมไฟ เราก็ทำให้ ถ้าลูกค้าอยากสั่งทำพิเศษเพื่อเป็นของขวัญให้ผู้ใหญ่ไว้ขึ้นบ้านใหม่ เลื่อนตำแหน่ง เราก็ทำให้ได้” แม็ทช์อธิบาย
แบรนด์ของเธอจึงมีบริการรับทำสินค้าพรีเมียมเพื่อคนพิเศษ ช่างฝีมือจะวาดลายเส้นเป็นตราองค์กรหรือข้อความบอกความรู้สึก ลูกค้าของเธอเลยมีทั้งองค์กรรัฐและเอกชนที่ทดลองใช้สินค้าของเธอแล้วบอกกันปากต่อปาก

ดังไกล

ตอนทำแบรนด์ THANIYA เริ่มต้นจากการมีหน้าร้านในเทอร์มินอล 21 แล้วขยายสาขาไปที่พารากอน O.D.S (Objects of Desire Store) ชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่, ฟลอเรนซ์ อิตาลี, เวียนนา ออสเตรีย, เยอรมนี, ไต้หวัน, เซี่ยงไฮ้ และป๊อปอัปสโตร์บนห้างอิเซตันประเทศญี่ปุ่น ส่วนดูไบเธอกำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจากับคู่ค้า เหตุผลที่แม็ทช์พาคราฟต์ไทยดังไกลในหลายประเทศรอบโลก เป็นเพราะเธอมีเป้าหมายชัดเจนที่จะต้องไปให้ถึงตั้งแต่ตัดสินใจสร้างแบรนด์ของตัวเอง

“ถ้าต่างชาตินึกถึงผ้าไหมไทย ต้องจิม ทอมป์สัน เขาเป็นแบรนด์ในฝันของเราเลย และเราอยากเป็นแบบนั้น อยากเป็นแบรนด์เครื่องหอมและเซรามิกจากประเทศไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกจนคนต่างชาตินึกถึงและให้การยอมรับ
“หัวใจของการทำธุรกิจเราต้องรู้ความต้องการของเราก่อน แล้วทำจิม ทอมป์สันตามเส้นทางที่วางไว้ อย่างช่วงแรกของการทำแบรนด์ เราอยากให้ THANIYA ไปญี่ปุ่น เพราะงานเซรามิกของญี่ปุ่นค่อนข้างดัง ถ้าเราไปอยู่ในประเทศเขาได้แสดงว่าคราฟต์ไทยก็คุณภาพดีและคนยอมรับ พอคิดแล้วเราก็ไปออกงานที่ญี่ปุ่นเลย หาดิสทริบิวเตอร์ หาพาร์ตเนอร์มาจอยกัน” 

แม็ทช์คิดอย่างมีลำดับขั้น เธอยอมรับว่าเป็นผลพวงจากการเรียนวิศวะฯ “ยิ่งเป้าหมายเราชัด มันยิ่งผลักดันให้เราอยากตื่นเช้ามาทำมันให้สำเร็จ เราชื่อว่าถ้าทุกคนมีเป้าหมาย มันมีทางให้ไปแน่นอน” สาวเจ้าของแบรนด์ย้ำเสียงหวาน

เมื่อปีที่แล้วเธอได้โอกาสสำคัญในการทำของขวัญสำหรับแขกที่เข้าชมแฟชั่นโชว์สุดอลังการของ CHANEL Cruise 2019 ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ เพราะเมอร์เชนไดซ์ประจำแบรนด์หรูมาเดินเทอร์มินอล 21 แล้วสะดุดตากับสินค้าของเธอพอดี ส่งต่อความโชคดีชั้นที่ 2 เธอได้ทำของขวัญให้แขกในแฟชั่นวีกของ Louis Vuitton ด้วยเหมือนกัน

สุขใจ

“เราสนุกทุกวัน ตัวเราเองก็เรียนรู้อยู่ตลอด เพราะบางสิ่งบางอย่างเราไม่เคยเจอ อย่างกรณี COVID-19 เราต้องปิดหน้าร้าน เราว่ามันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจในการแก้ไขปัญหาหรือก้าวข้ามอุปสรรค เราไม่มีทางรู้ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราเชื่อว่าถ้าอดทนและพยายามมากพอ ทุกอย่างจะคลี่คลายไปได้ 

“บางคนคิดว่าปัญหาเป็นอุปสรรค แต่เรามองว่าอุปสรรคเป็นความท้าทาย มันทำให้เราต้องขยันเพื่อก้าวขึ้นไป บางทีเราก็ได้มุมมองใหม่จากการปรับเปลี่ยนและทดลองแก้ปัญหานั้นด้วย” 

แม็ทช์เปลี่ยนวิธีจากการขายหน้าร้านมาพัฒนาเว็บไซต์ของแบรนด์ ให้ลูกค้าช้อปเครื่องหอมและของตกแต่งบ้านได้ง่ายเพียงนิ้วคลิก! กิมมิกคือการเลือกรูปทรงบรรจุภัณฑ์เซรามิก ลวดลาย และกลิ่นได้เอง 

ก่อนจะจากกันด้วยความหอมหวล เราถามเธอว่า ความสนุกของการพาสินค้าไทยไปทัวร์ทั่วโลกคืออะไร

“การเจอลูกค้า แล้วเขาเล่าให้เราฟังว่าชอบนะ เป็นลูกค้าประจำ ทำให้เราเห็นพัฒนาการของแบรนด์ น่าภูมิใจที่แบรนด์ไปอยู่ระดับแถวหน้า มันเป็นการเติมเต็มแง่ธุรกิจอีกแบบหนึ่ง แต่อีกทางหนึ่งเราทำให้ความเป็นอยู่ของพี่ๆ ในโรงานและคนในชุมชนดีขึ้น บางคนทำงานกับเราตั้งแต่ลูกเรียนประถมตอนนี้เข้ามัธยมได้แล้ว หรือบางคนก็ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนในเมือง ซื้อโทรศัพท์มือถือโทรหาลูกได้ มีครั้งหนึ่งเราออกรายการทีวีเยอะมาก แล้วพี่ๆ ที่ทำงานให้เราเห็นของที่เขาวาดออกทีวี เขาดีใจ ไปเล่าให้คนแถวบ้านฟัง แล้วก็ถ่ายภาพในทีวีส่งมาให้เรา เราเห็นความสุขของเขาอยู่ในนั้น”
หลังจากคุณอ่านบทความจบ เรามั่นใจว่าทุกครั้งที่คุณจุดเทียนหอมของ THANIYA จะไม่ใช้แค่กลิ่นหอมตราตรึงใจอย่างเดียวที่คุณจะได้รับ แต่คุณจะสัมผัสได้ถึงความสุขที่อบอวลอยู่ในแสงที่สว่างเรืองรองออกมาจากเปลวเทียน

ภาพ : THANIYA


THANIYA

Website: https://thaniya1988.com

Facebook : THANIYA 1988

Writer

สุทธิดา อุ่นจิต

สุทธิดา อุ่นจิต

กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ สู่ ลาดพร้าว - สุขุมวิท , พูดภาษาพม่าได้นิดหน่อย เป็นนักสะสมกระเป๋าผ้า ชอบหวานน้อยแต่มักได้หวานมาก

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล