29 กุมภาพันธ์ 2020
59 K

“ผมไม่ได้ทำอะไรมากมาย แค่อยากซ่อมบ้านอากงที่ใกล้พังให้คงอยู่ต่อไป ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เห็น” พูนศักดิ์ ทังสมบัติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทั่งง่วนฮะ จำกัด เล่าให้ผมฟังถึงบ้านทรงจีนโบราณหลังสวยตรงหน้า เมื่อผมถามถึงที่มาของโครงการอนุรักษ์อดีตโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะแห่งนี้

“อย่าใช้คำว่าโครงการอนุรักษ์เลยครับ ผมไม่ได้จะทำโครงการอะไรแบบนั้น ถ้าบ้านคุณจวนจะพังอยู่แล้ว คุณจะไม่ซ่อมเลยหรือ จะปล่อยให้พังลงต่อหน้าจริงๆ ผมแค่ซ่อมบ้านอากง” พูนศักดิ์ยืนยันอีกครั้งว่านี่คือการซ่อมบ้านธรรมดาๆ เท่านั้น

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

แต่การซ่อมบ้านอากงแบบธรรมดาๆ ครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลที่ไม่ธรรมดาเลย เพราะนี่คือบ้านคหบดีจีนโบราณหลังเล็กที่อยู่รอดแทบจะเป็นหลังสุดท้ายในกรุงเทพฯ และยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดด้วย บ้านหลังนี้เป็นตัวเชื่อมอดีตเมื่อครั้งชาวจีนโพ้นทะเลอพยพเข้ามาตั้งรกรากบนผืนแผ่นดินไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และยังเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เข้าชมและศึกษาถึงประวัติความเป็นมา ตลอดจนโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม รวมทั้งวิชาการช่างอันเป็นภูมิปัญญามาแต่อดีต รวมทั้งวิธีซ่อมแซมและดูแลรักษาอาคารสถาปัตยกรรมจีนหลังนี้ให้ตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลากว่า 200 ปีมาจวบจนปัจจุบัน 

“หากบ้านหลังนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาหาความรู้ ผมก็ยินดีมากๆ มาดูเก๋งจีนสมัยปลายรัชกาลที่สองว่าเป็นยังไง หลังคา ขื่อ ซุ้มประตู เป็นแบบไหน แต่ผมเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาดูทุกวันก็คงไม่ได้ แม้ว่าจะซ่อมไปเยอะแล้ว แต่ก็ยังต้องบำรุงรักษาอยู่ต่อไป จะรับคนเยอะๆ พร้อมกันก็ไม่ได้เพราะเป็นอาคารเก่าอายุนับร้อยปี ใครอยากมาดู ทำจดหมายมาครับ ช่วงที่ผ่านมาก็มีอาจารย์ นิสิต นักศึกษา ช่าง มาขอดูกันเยอะ ขอใช้เป็นฉากถ่ายหนังก็เยอะ” นั่นคือคุณูปการจากการซ่อมบ้านอากงที่กลายมาเป็นการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสำคัญของชาติโดยบังเอิญ

โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ 

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะตั้งอยู่สุดซอยสมเด็จเจ้าพระยา 3 ถนนสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน ไม่ไกลจากอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ติดกับศาลเจ้ากวนอู เป็นบ้านคหบดีจีนโบราณที่มีอายุประมาณ 200 กว่าปี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย หรือต้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จจักรพรรดิชิงซวนจงของประเทศจีน เป็นสถาปัตยกรรมของจีนทางตอนใต้ โดยสกุลช่างชาวฮกเกี้ยน ลักษณะบ้านเป็น ‘บ้านล้อมลาน’ หากหันหน้าเข้าอาคารบ้านจะมีอาคารหลักตั้งเด่นอยู่ตรงกลางสูง 2 ชั้น และมีอาคารชั้นเดียวขนาบข้างทั้งด้านซ้ายและขวา โดยมีลานโล่งอยู่ตรงกลาง 

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

เมื่อก่อนอาคาร 2 ชั้น มีห้องนอน ห้องทำงาน และห้องพระอยู่ชั้นบน ส่วนพื้นที่ชั้นล่างทั้งหมดใช้เป็นที่เก็บไหน้ำปลาที่หมักเอาไว้จำหน่าย แม้ว่าในปัจจุบันโรงผลิตน้ำปลาย้ายออกไปจากพื้นที่นี้แล้ว แต่พูนศักดิ์ก็ยังเก็บไหหมักน้ำปลาและคานหามไหน้ำปลาเอาไว้ เพื่อรำลึกถึงธุรกิจอันเป็นรากเหง้าของครอบครัว

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

อากงของพูนศักดิ์คือ ไต้ซิง แซ่ตึ๊ง อพยพมาจากมณฑลแต้จิ๋ว ประเทศจีน ต่อมาตัดสินใจดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำปลาตามสูตรดั้งเดิมของชาวจีนตอนใต้ โดยเช่าบ้านหลังเล็กๆ ที่ย่านตลาดพลู ฝั่งธนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานที่หมักและจำหน่ายน้ำปลา

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

ในระยะแรกเริ่ม น้ำปลาเป็นสินค้าใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคย แต่ต่อมาก็ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายเพราะน้ำปลาช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหารไทยได้เป็นอย่างดี และกิจการของอากงไต้ซิงก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ การขนส่งน้ำปลาตามแบบเดิมคือการแจวเรือจากตลาดพลูมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำน้ำปลาไปส่งขายยังท่าเตียนกับสำเพ็งใช้เวลานานมากๆ อากงไต้ซิงจึงตัดสินใจหาทำเลทำธุรกิจใหม่ โดยมาเช่าบ้านทรงจีนหลังนี้ในพ.ศ. 2460 เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาและมีพื้นที่ใหญ่กว่าเดิม

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“ก่อนอากงมาอยู่ บ้านหลังนี้มีครอบครัวอื่นอาศัยอยู่อย่างต่อเนื่องมาสามชั่วอายุคน ตอนแรกอากงไม่คิดว่าจะอยู่เมืองไทยเป็นการถาวร สักวันหนึ่งจะกลับไปอยู่จีน เลยไม่คิดจะซื้อบ้านหลังนี้ไว้ ได้แต่เช่าอยู่ไปเรื่อยๆ ในช่วงนั้นแผ่นดินจีนก็ระส่ำระสาย มีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยมากขึ้น มีชาวจีนที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วแต่ยังไม่มีลู่ทาง ก็มาพักอาศัยหรือทำงานที่บ้านหลังนี้สักช่วงหนึ่งก่อน เล่ากันว่าในช่วงเวลานั้นเคยมีคนอาศัยอยู่ในเก๋งจีนหลังนี้สี่สิบถึงห้าสิบคนเลยทีเดียว 

“พออากงทราบข่าวว่าญาติผู้ใหญ่ของอากงที่จีนถึงแก่กรรมไปแล้วหลายคน อากงจึงไม่มีอะไรต้องเป็นห่วงอีกต่อไป จึงตัดสินใจรวบรวมเงินซื้อบ้านหลังนี้ใน พ.ศ. 2499 รวมทั้งซื้อเรือนไม้ทรงปั้นหยาที่อยู่ติดกันมาในเวลาต่อมา ซึ่งเรือนปั้นหยาใน ปัจจุบันคือร้านกาแฟชื่อบ้านอากงอาม่า” คุณพูนศักดิ์เล่าถึงประวัติของบ้านหลังนี้อันเป็นตำนานของอดีตโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะ

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“ก่อนอากงซื้อ บ้านหลังนี้เปลี่ยนมือเจ้าของไปหลายคน ในโฉนดเก่ามีรายชื่อเจ้าของไม่ต่ำกว่าสามถึงสี่หน้าเลย เจ้าของแต่ละคนก็เพิ่มค่าเช่าสูงขึ้นเรื่อยๆ มีข้อเรียกร้องต่างๆ นานา จนอากงเห็นว่าถ้าเผชิญสถานการณ์เช่นนี้ต่อไปคงต้องเลิกกิจการผลิตและขายน้ำปลาแน่ๆ อากงเลยซื้อมาในที่สุด เช่าอยู่นานมาก กว่าจะได้มาเป็นเจ้าของ”

ต่อมาโรงงานน้ำปลาย้ายออกจากพื้นที่นี้ไปยังแม่กลอง บ้านหลังนี้จึงกลายมาเป็นโกดังเก็บน้ำปลาสำหรับกระจายสินค้าขายในเขตกรุงเทพฯ แทน รวมทั้งเป็นที่เก็บเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ไม่มีคนอยู่อาศัยถาวร เพราะคุณพ่อของพูนศักดิ์ไปอาศัยที่เรือนปั้นหยาริมน้ำ แวะเวียนมาบ้านหลังนี้บ้างเป็นครั้งคราว ดังนั้น การบำรุงรักษาและดูแลก็ลดลงไปด้วย

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

 “หลังจากโรงงานน้ำปลาย้ายไป ที่นี่เป็นที่เก็บของ ทุกสัปดาห์ผมก็เข้ามากวาดมาถู ผมก็เห็นว่าบ้านเริ่มเก่าลง มีปูนกร่อน มีผงปูนร่วงลงมาเรื่อยๆ น้ำซึม ปลายเสาผุ พอปลายเสาผุหลังคาก็ยุบ พอหลังคายุบหลังคาก็รั่ว พอหลังคารั่ว น้ำก็ไหลมาบนผนังบ้าน ทีนี้ต้นไม้ขึ้น ใบไม้ก็ร่วงมาทับถมกัน อาคารก็ยิ่งชื้นขึ้นไปอีก เรียกว่าชื้นทั้งปี ก็เลยดูเลอะเทอะ ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2540 มีการบูรณะศาลเจ้ากวนอูให้ดูสวยงาม ทางเราจึงเกิดความคิดว่าน่าจะบูรณะบ้านหลังนี้บ้าง เพราะถ้าไม่ทำอะไร บ้านหลังนี้คงจะพังแน่นอน

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“ซุ้มประตูหน้าบ้านนี่คือหนักสุด ทั้งทรุดทั้งเอียง เอียงแบบเอนเข้าหาตัวบ้านเลย อาคารกลางผุมาก เสาขาด ผนังปูนผุ กระเบื้องมุงหลังคาก็แตกเสียหาย อาคารทั้งปีกซ้ายและขวาก็ผุ ด้านซ้ายจะแย่กว่าด้านขวา ตอนนั้นผมเริ่มหาทางออกว่าจะซ่อมทั้งซุ้มประตูและอาคารทั้งหมดได้อย่างไร” นั่นคือจุดเริ่มต้นของการซ่อมบ้านอากงครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

เพราะรักและหลงใหล ยังไงก็ไม่ทุบ

“ตอนผมเรียนอยู่ปอสี่ เป็นช่วงที่พี่เขยของผมชอบสะสมของเก่า อย่างพวกเครื่องถ้วยชุดแบบโบราณ ถ้วยชุดลายกุหลาบหนู ถ้วยชุดลายเยียรบับ ลายครุฑยุดนาค ลายน้ำทอง ลายนกไม้ ลายฮก ลายปลาทอง และอีกหลายต่อหลายลาย พี่เขยจ้างให้ผมไปช่วยหิ้วของเป็นเพื่อน เวลาทำความสะอาดป้านชาโบราณลายสวยๆ ผมก็ช่วยเอาใบตองมาถูแล้วก็ขัดๆ จนขึ้นมัน

“ผมเห็นของเหล่านี้มาแต่เล็กๆ รู้สึกชอบจนหลงรัก ของโบราณเป็นของสวย ฝีมืองามประณีต ถ้วยบางได้รูป ลายเขียนก็ละเอียด มีคุณค่าที่ของใหม่เลียนแบบไม่ได้เลย ทำยังไงก็ไม่เหมือน ผมมองกลับมาดูบ้านหลังนี้ นี่ก็บ้านเก่าเหมือนกัน ทั้งสวยทั้งมีคุณค่าเพราะเป็นที่ของบรรพบุรุษ ผมทึ่งมากว่าอาคารเก่าแบบนี้สร้างในสมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ขนาดปัจจุบันนี้เราอาจมีเทคโนโลยีที่เจริญกว่า แต่เราทำยังไงก็ไม่สวยเหมือนของเก่า ถ้าผมไม่เริ่มทำอะไร มันก็จะพัง” 

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

ความคิดที่จะซ่อมบ้านอากงหลังนี้อย่างจริงจัง ยังคงเป็นเพียงความคิดเนื่องจากมีการพัฒนาพื้นที่ในซอยสมเด็จเจ้าพระยาเพื่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงทำให้พูนศักดิ์ไม่ได้ลงมือซ่อมใหญ่จริงจัง นอกจากอุดหลังคา ซ่อมผนัง ปรับแต่งพื้นที่ไปตามสภาพ จนมาช่วง พ.ศ. 2556 เสาคานของหลังคาบ้านจีนเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายหากปล่อยให้อยู่ในสภาพเช่นนี้นานเกินไป ครอบครัวทังสมบัติจึงเริ่มเสาะแสวงหาผู้รับเหมามาบูรณะบ้านอากง

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“ผมเรียกช่างมาดูไม่รู้กี่คน ทุกคนบอกว่า เฮีย ทุบทิ้งเถอะ ตีราคามาให้เสร็จเลยว่าสร้างใหม่หลังละเท่าไหร่ จะลงเสาเข็มใหม่ด้วย แต่ผมยืนยันว่ายังไงก็ไม่ทุบ ของเก่ามันมีคุณค่าที่ของปัจจุบันทำไม่ได้ ถ้าเรารักษาของเก่าให้อยู่ต่อไป ก็เหมือนสืบต่อคุณค่าต่อไปเรื่อยๆ ถ้าคุณทำของใหม่ขึ้นมาเมื่อไหร่ คุณค่าของสิ่งนั้นก็จะเริ่มนับหนึ่งใหม่ในวันนั้น” นั่นคือเหตุผลของการเลือกซ่อมเท่านั้น

ตามหาช่างที่ใช่

ในพ.ศ. 2560 เมื่อพูนศักดิ์ตัดสินใจลงมือซ่อมครั้งใหญ่ครั้งแรกอย่างจริงจังนั้น ก็มีบริษัทสถาปนิกหลายแห่งเข้ามานำเสนองบประมาณด้วยตัวเลขที่ต่างกัน

“บางรายเสนอยี่สิบกว่าล้านบาท บางรายประมาณแปดล้านแปดแสนบาท โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกัน ผมไม่มีเงินซ่อมขนาดนั้น” พูนศักดิ์จึงลงมือตามหาช่างที่ใช่ด้วยตัวเอง

“วันหนึ่งรุ่นน้องของผมที่อยู่ในตลาดแถวนี้มาหา จะขอมาดูบ้านหน่อย ผู้ที่ตามรุ่นน้องของผมมาดูบ้านหลังนี้ คืออาจารย์สุพัฒน์ (รองศาสตราจารย์ สุพัฒน์ บุณยฤทธิกิจ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) ผมถามอาจารย์ว่า บ้านจีนหลังนี้เก่ามาก จะพังอยู่แล้ว ยังซ่อมได้ไหม อาจารย์บอกว่า ต้องซ่อมให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีอะไร และอาจารย์จะช่วยหาช่างมาซ่อมมาบ้านหลังนี้ให้ได้ เราก็เริ่มตามหาช่างกัน โดยลองเรียกช่างที่เคยซ่อมศาลเจ้าจีนเก่าๆ มาคุย คุยไปคุยมาหลายคนจนผมได้รู้จักกับช่างมานิตย์”

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

มานิตย์ โตปานวงศ์ ผู้มีประสบการณ์ในการสร้างและซ่อมศาลเจ้าจีนมากว่า 36 ปี เขาเป็นผู้บูรณะศาลเจ้ากวนอูที่อยู่ติดกับบ้านอากง รวมทั้งสร้างศาลเจ้ากวนอูหลังใหม่ที่ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน เมื่อโครงการสร้างศาลเจ้ากวนอูใหม่จบลง เถ้าแก่ผู้รับเหมาก็ถึงแก่กรรม ช่างฝีมือคนนี้จึงมองหาแหล่งงานใหม่พอดี

“เขาทำงานโครงสร้าง เวลาศาลเจ้าไหนทรุด รั่ว แตก ร้าว เขาจะไปแก้ เขาเข้าใจเรื่องการทรุด การร้าว เป็นอย่างดี และคลุกคลีแต่กับงานศาลเจ้าจีนมาตลอด จะมีใครเหมาะกับบ้านอากงมากกว่าเขาอีกล่ะ จริงไหม”

จริงครับ ผมเห็นด้วยอย่างที่สุด 

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

ลองของคราวนี้ต้องมี ‘ฟุตเวิร์ก’ 

การซ่อมใหญ่อาคารโบราณหลังสำคัญเริ่มจากช่างเพียง 1 คน ที่มาในจังหวะและเวลาที่เหมาะสม กับอาจารย์สุพัฒน์ผู้ที่เชื่อว่างานสำคัญเช่นนี้มีความเป็นไปได้และเป็นผู้ร่วมให้คำปรึกษาด้านวิชาการ รวมถึงเจ้าของพื้นที่อย่างพูนศักดิ์ที่มีความตั้งใจเกินร้อย แต่ทุกคนไม่มีประสบการณ์ซ่อมอาคารเก่าแก่ที่พร้อมจะพังระดับนี้มาก่อน การ ‘ลองของ’ เลยต้องเกิดขึ้น 

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“ผมให้ช่างเริ่มซ่อมของเล็กๆ เสี่ยงน้อยๆ ก่อน คือบันได ตอนนั้นไม้ผุ บันไดขาด ผมลองดูว่าเขาจะทำอย่างไร ปรากฏว่าเขาซ่อมได้ จากนั้นผมให้ลองซ่อมเรือนไม้ปั้นหยาริมน้ำส่วนที่เป็นร้านกาแฟตอนนี้ เพราะบ้านยังไม่เก่าเท่าบ้านอากง ถ้ามีข้อผิดพลาดอย่างไรก็ยังพอรับไหว ผมไปดูฝีมือของช่างอย่างละเอียดเลยนะว่าเลือกใช้วัสดุอย่างไร ใช้ไม้ ใช้เหล็ก ผูกเหล็กยังไง ใช้น็อตแบบไหน ผสมปูนหมักยังไง จนผมพอใจกับฝีมือของเขาซึ่งใช้เวลาทดสอบไม่ต่ำกว่าหกเดือน จากนั้นถึงมาที่บ้านอากง” ต้องทดสอบกันอยู่นานกว่าจะผ่านได้

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“ผมเรียกว่าให้เต้นฟุตเวิร์กไปรอบๆ ก่อน เต้นไปดูทรงไปว่าจะทำได้ไหมเนี่ย ผมปล่อยให้เขาตัดสินใจว่าจะใช้วัสดุอะไร คำนวณโครงสร้างยังไง ใช้เหล็กขนาดไหน ดูไปเรื่อยๆ เรียกว่าเต้นฟุตเวิร์กจนหน้ามืด ผมก็หน้ามืด… เพราะลุ้น ฮ่าๆๆ”

ต้องใจถึงเพื่อจะได้ลอง เรียน และรู้

เมื่อวอร์มอัพจนได้ที่ ก็ถึงช่วงปล่อยหมัดเด็ด หากหันหน้าไปทางซุ้มประตู หันหลังให้กับตัวบ้าน อาคารหลังแรกที่เริ่มซ่อมก่อน คืออาคารชั้นเดียวทางด้านขวา เป็นอาคารที่โทรมน้อยที่สุด หลังคาทรุดน้อยที่สุด และทรงยังดีอยู่ ไม่ได้เอนลง เพียงแต่ผุกร่อน โดยเฉพาะเสาไม้ที่เกิดอาการเสาขาด

กระบวนการซ่อมเริ่มขึ้นจากการถอดหลังคาออกมาก่อนเพื่อลดน้ำหนัก แล้วซ่อมโครงสร้างไม้ โดยแยกเอาเสาไม้หรือเดือยไม้ที่ยังมีสภาพดีมาขัด ทำความสะอาด และตากไล่ความชื้นเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนเสาไม้ที่ขาดก็ต้องเปลี่ยนโดยเลื่อยส่วนที่ขาดออกแล้วนำไม้ใหม่มาเชื่อมกับเสาเดิม โดยไม้เก่ากับไม้ใหม่ล็อกประกบกันอย่างแน่นหนาเป็นรูปตัว L หากเสาไหนที่ขาดจนนำมาใช้ไม่ได้อีกก็ต้องเปลี่ยนทั้งเสา โดยจะเลือกใช้ไม้แข็งอย่างไม้เต็งจากเรือนเก่าที่มีอายุประมาณ 60 – 70 ปีที่ยังคงสภาพแข็งแรง 

ส่วนกระเบื้องก็ใช้วิธีเดียวกัน คือแยกกระเบื้องที่ยังใช้ได้ออกมาจากกระเบื้องที่ผุกร่อน ส่วนที่ต้องทิ้งก็ต้องไปหาโรงงานที่จะเผากระเบื้องใหม่เพื่อใช้ทดแทน

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“กระเบื้องนี่ผมกับช่างก็เอามาล้างผงซักฟอกธรรมดาๆ ถูให้สะอาดขึ้น แล้วตากให้แห้งสนิท ส่วนกระเบื้องที่เผาใหม่นั้น ผมใช้กระเบื้องกำนันเกา มาจากอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นกระเบื้องที่ส่งให้ทำศาลเจ้าจีนหรือหลังคาวัดอยู่แล้ว เวลานำมาเรียงผมให้เขาเรียงกระเบื้องใหม่ไว้ด้านล่าง ส่วนกระเบื้องเดิมนั้นก็ปูไว้ด้านบนเพื่อรักษาบรรยากาศเดิมเอาไว้” 

พูนศักดิ์เล่าว่า การทำงานกับช่างย่อมมีข้อผิดพลาดกันบ้าง ทั้งนี้เพราะทุกคนล้วนกำลังเรียนรู้

“ส่วนที่ผมพยายามเก็บของดั้งเดิมไว้ให้ได้ทั้งหมดก็คือสันปูนกลางหลังคา เพราะยังอยู่ในสภาพดี ความจริงสันหลังคาของอาคารขวานั้นย้อยเหมือนท้องเรือสำเภาตามแบบอาคารจีนโบราณ เราพบว่าสันหลังคาอาคารขวาย้อยมากกว่าอาคารซ้าย ผมก็ไม่ทราบว่าทำไมถึงสร้างให้ย้อยไม่เท่ากัน ถามอาจารย์หลายคนก็ไม่มีใครทราบ ผมเลยตั้งใจเก็บความย้อยของสันหลังคาเอาไว้ตามแบบต้นฉบับดั้งเดิมด้วย”

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“ระหว่างซ่อมช่างก็เอาเหล็กแป๊ปมาประกบเพื่อดามสันหลังคาปูนย้อยๆ นั้นไว้อย่างแน่นหนา ปรากฏว่าไม่กี่วันสันปูนก็แตกหมด เพราะเหล็กมันดามแน่นไป เราพลาดที่ว่าอาคารไม้ต้องมีการขยับตัวบ้าง พอเราดามแน่นไปจนอาคารขยับตัวไม่ได้ สันปูนกลางหลังคาก็เลยแตก มันร้าวหมดเลย พอสันปูนอาคารขวาแตกหัก เราก็เลยต้องอาศัยความย้อยของอาคารซ้ายมาเป็นต้นแบบแทน เลยทำให้สันหลังคาทั้งสองอาคารย้อยในระดับเดียวกัน ซึ่งไม่ตรงกับของเดิม ความผิดพลาดครั้งนี้ทำให้ผมระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้นอีกกับสันหลังคาอาคารด้านซ้าย นอกจากนี้ ผมก็ต้องพยายามเก็บสันหลังคาปูนที่แตกหักนำมาเรียงกันและฉาบปูนใหม่เพื่อเชื่อมทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเห็นสีที่ต่างกันอยู่บ้าง คือสีดำๆ นั้นจะเป็นปูนเดิม ส่วนสีสว่างๆ นั้นคือปูนใหม่ที่เชื่อมอยู่”

นั่นเป็นบทเรียนสำคัญที่ทั้งพูนศักดิ์และช่างได้เรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้ในการซ่อมอาคารที่สอง คืออาคารทางด้านซ้ายของบ้านอากง

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“อาคารซ้ายก็ทรุดโทรมมากๆ แต่สันหลังคาปูนเดิมยังสมบูรณ์อยู่ คราวนี้เราพยายามอย่างเต็มที่ที่จะรักษาสันหลังคานี้ไว้ให้ได้ตามต้นฉบับ ไม่อยากให้แตกหักเหมือนคราวก่อน ช่างก็เลยเปลี่ยนวิธีการโดยไม่เอาเหล็กแป๊ปมาดามเหมือนอาคารขวา แต่ไปเอาไม้มาดามแทน เพื่อให้อาคารขยับตัวได้บ้าง คราวนี้สันหลังคาปูนทั้งหมดเลยอยู่และคงรูปแบบเดิมได้ ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่าสีปูนยังเป็นสีดำแบบเดิมเกือบทั้งหมด ที่มีสีสว่างแซมลงไปบ้างเพราะช่างเลาะต้นไม้ออกและฉาบปูนใหม่ลงไปเป็นบางจุดเท่านั้น ผมดีใจมากๆ ที่ความพยายามครั้งนี้ประสบผลสำเร็จ และรักษาสันหลังคาปูนเดิมไว้ได้เกือบทั้งหมด”

ส่วนการซ่อมส่วนอื่นๆ ก็ใช้วิธีเดียวกันกับอาคารด้านขวา นั่นคือสำรวจเสาไม้ เดือยไม้ กระเบื้องมุงหลังคา ฯลฯ ว่ามีสภาพอย่างไร แยกแยะวัสดุที่ยังใช้ได้เพื่อมาทำความสะอาด และสืบหาวัสดุทดแทนโดยวิธีเดียวกัน

จากเรือนชั้นเดียวทางปีกขวาและปีกซ้าย คราวนี้ก็มาถึงส่วนที่พูนศักดิ์บอกว่า “อันนี้หนักสุด” นั่นคือซุ้มประตูด้านหน้าก่อนเข้ามาบริเวณบ้าน

“ทั้งทรุด กร่อน เอียง จนเอนเข้าสู่ตัวบ้าน เรียกว่าเข้าไอซียู สาเหตุการเอียงคือเสาผุมาก คานก็ผุ ทำให้น้ำหนักกระจายไม่ทั่วถึง ซุ้มประตูเลยตั้งตรงคงรูปเดิมไม่ได้”

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

การซ่อมจึงต้องทำงานใหญ่ นั่นคือดึงซุ้มประตูที่เอียงอยู่ให้กลับมาตั้งตรงอีกครั้ง โดยช่างคนเดียวทำไม่ได้ เลยต้องมีทีมงานช่างมาเพิ่มอีก 4 คน ผูกซุ้มประตูแล้วใช้รอกแก๊กค่อยๆ ดึงซุ้มประตูให้ปรับองศาขึ้นมาจนเข้าที่ จากนั้นก็รีบนำอิฐมาหนุนและรีบอัดปูนเข้าไปใต้ซุ้มเพื่อให้ซุ้มประตูคงสภาพตั้งตรงอยู่อย่างนั้นได้ต่อไปได้ นอกจากนั้นคือการเปลี่ยนกระเบื้อง เสา และคาน รวมทั้งฉาบปูนหมักลงไปในบริเวณที่หัก แตก และร้าว

“ช่างก็ช่วยกันลองผสมปูนหมักด้วยกันอยู่ตรงนี้นี่แหละครับ เขาโทรไปถามว่าสูตรปูนหมักแบบไหนดี มีอะไรบ้าง ทำกันตรงนี้แล้วก็ฉาบกันตรงนี้เลย”

นอกจากการซ่อมซุ้มประตูหน้าบ้านให้กลับมาตั้งตรงสวยสง่าอย่างมั่นคงแล้ว สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือกระเบื้องปรุจีนสีน้ำตาลที่ประดับบนกำแพงหนาหน้าบ้าน ซึ่งเป็นของเก่าแก่และหาชมยากมากๆ ต้องระมัดระวังอย่างดีตลอดช่วงการซ่อมซุ้มประตูเพราะอยู่ใกล้กัน 

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

เมื่อซ่อมซุ้มประตูแล้ว คราวนี้ก็ถึงอาคารกลางซึ่งเป็นอาคารสองชั้นที่ตั้งเด่นเป็นประธานของพื้นที่ และเป็นอาคารที่ซ่อมหลังสุดเพราะเป็นอาคารสำคัญที่มีห้องไหว้หรือห้องพระตั้งอยู่บนชั้นสอง

“ปัญหาของอาคารกลางส่วนมากคือเสาผุ เสาและคานเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม หลังคารั่ว ผนังหมดอายุจนผนังเริ่มฉีก วิธีการคือเริ่มด้วยสำรวจว่าอะไรผุ อะไรใช้ได้เหมือนทุกครั้ง ส่วนมากแทบใช้ไม่ได้ ต้องหาไม้ใหม่ ซึ่งผมเปลี่ยนเสาไม้ไปสี่สิบสองต้น นอกจากนั้นก็ดันกลับไปที่เดิม ส่วนปูน ก็ต้องใช้ปูนหมักและฉาบกลับไปเช่นกัน อาคารกลางเป็นอาคารที่มีผนังหนา มันเป็นเหมือนเครื่องปรับอากาศของคนสมัยก่อน ผนังที่หนามากๆ ช่วยควบคุณอุณหภูมิไม่ให้ร้อนหรือหนาวจนเกินไป นั่นเลยเป็นข้อดีที่ทำให้อาคารยังทรงตัวอยู่ได้นับร้อยปี อีกประเด็นคือความที่เราซ่อมอาคารกลางหลังสุด ผมและช่างเริ่มมีประสบการณ์จากกการซ่อมอาคารปีกขวา ปีกซ้าย และซุ้มประตูมาก่อน ดังนั้น เลยเริ่มพอรู้ว่าจะจัดการกับอาคารนี้อย่างไร”

โจทย์สำคัญอีกประการของการซ่อมอาคารกลางคือมี ‘ของดี’ ที่ต้องระมัดระวังในขณะซ่อมหลายอย่าง เช่นกระเบื้องปรุสีน้ำเงินโบราณที่ใช้ซ้อนหน้าต่างไม้ด้านใน หรือโครงสร้างม้าตั่งไหมแกะสลักแบบจีนที่ใช้รับแปหลังคาของระเบียงชั้นบน ฯลฯ จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากสูญไปแล้วก็อาจสูญเสียไปเลย

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

พูนศักดิ์ใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่งในการซ่อมแซมบ้านอากงหลังนี้ให้กลับมายืนตระหง่านอย่างคงทนอีกครั้ง เพื่อให้ลูกหลานไม่ลืมรากเหง้าของบรรพชน ความพยายามของพูนศักดิ์ คือความพยายามศึกษาและลงมือไปพร้อมๆ กัน เพื่อพยายามเก็บ ‘ความแท้’ ของบ้านหลังนี้เอาไว้ แม้แต่รอยคร่ำคร่าที่ปรากฏอยู่บนผนังทุกรอยก็มีความหมาย

“ผมคิดว่าต้องใจถึง ผมไม่เคยทำ ถ้าผมไม่ทำมันก็พัง ถ้ามัวรอให้มีความรู้ก่อนผมว่ามันไม่ทันนะ ใจถึงอย่างแรกคือลงมือเลย ทำตามที่เราเข้าใจ ใจถึงต่อมาคือไว้ใจคนที่เราอาจไม่เคยรู้ฝีไม้ฝีมือกันมาก่อน แต่เราลองเปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือให้เราเห็นและเรียนรู้ไปด้วยกัน ใจถึงอีกข้อก็คือต้องยอมรับความจริง ยอมรับความพลาดพลั้งที่เกิดขึ้น และพยายามหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่า เพื่อจะไม่พลาดแบบคราวก่อน นี่คือวิธีของผม วิธีของคนอื่นก็อาจจะต่างกันก็ได้นะ เพราะแต่ละคนก็มีวิธีของตัวเอง”

อนาคตของโรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ 

บ้านอากงที่เคยเป็นอดีตโรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะได้รับการต่อชีวิตแล้วในวันนี้ แล้ววันหน้าล่ะ พูนศักดิ์คิดว่าจะทำอะไรต่อไป

“ผมไม่ได้มีเป้าหมายว่าจะซ่อมเพื่อเปิดเป็นโฮสเทลหรือโรงแรม ผมแค่อยากซ่อมบ้านอากงให้คนรุ่นหลังได้เห็น ดังนั้น ผมก็คงพยายามเก็บรายละเอียดต่างๆ ที่จะทำให้บ้านหลังนี้สวยและสมบูรณ์ที่สุด อย่างลายเขียนสีตามกรอบซุ้มประตูและหน้าต่าง ผมก็คงพยายามหาวิธีรักษาให้กลับมาให้ได้ นอกจากนี้ ก็เป็นสถานที่ให้ความรู้กับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีนในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผมยินดีให้เข้ามาศึกษา แต่ต้องช่วยผมดูแลด้วย ก่อนหน้านี้เคยมีละครโทรทัศน์หรือภาพยนตร์หลายเรื่องติดต่อเข้ามาใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำก่อนที่ผมจะซ่อมบ้านอากงเสียอีก หลายครั้งพวกเขาไม่ช่วยผมดูแล บางทีก็ปีนขึ้นหลังคาที่เปราะอยู่แล้ว บางทีก็ตอกตะปูลงบนไม้ บางทีก็พ่นสีลงบนผนังที่มีลายเขียนดั้งเดิมอยู่ อันนี้ผมขอนะ ถ้ามาก็ขอให้ช่วยผมดูแลบ้านอากงด้วยครับ” 

อย่าลืมนะครับ หากใครมีโอกาสไปชมอดีตโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะแห่งนี้แล้ว ผมขอให้ช่วยพูนศักดิ์ดูแลสถานที่สำคัญของชาติแห่งนี้ไว้ด้วย

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“แม้ว่าบ้านหลังนี้จะไม่ใช่บ้านของบรรพบุรุษผมที่อากงสร้างขึ้นบนที่ดินเปล่าเมื่อคราวมาอยู่เมืองไทย ความจริงเป็นบ้านของคนอื่นด้วยซ้ำ แต่ผมก็รักและผูกพันกับบ้านหลังนี้มากๆ และผมเห็นคุณค่าจนอยากรักษาให้คงอยู่ต่อไป ผมว่าถ้าเราเห็นคุณค่าสิ่งไหน เราก็ควรร่วมช่วยกันดูแลโดยปราศจากเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมีคุณค่าก็แปลว่ามีคุณค่า

“ผมอยากบอกว่าการอนุรักษ์บ้านอากงนี้เป็นแบบตามใจฉันที่ผมทำไปเรื่อยๆ ตามกำลัง และลองผิดลองถูก การซ่อมคือการประคองให้บ้านแข็งแรงไปก่อน ยืดอายุไปก่อน ให้ยังตั้งอยู่ตรงนั้นไปได้สักระยะ เมื่อเวลาผ่านไป ในวันหน้าเมื่อเรามีความพร้อมมากขึ้น เราก็ค่อยมาทำเสริมไปเรื่อยๆ ดีกว่าปล่อยร้างหรือรื้อทิ้ง ผมเสียดายที่หลายคนคิดว่าการซ่อมของเก่าเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ใช้เงินมาก ทั้งนี้เพราะเขาอาจตั้งเป้าหมายใหญ่เกินไป ความจริงเราเริ่มจากเป้าหมายเล็กๆ ที่เป็นไปได้ และค่อยๆ ทำไปก็ได้ ดีกว่าปล่อยร้างหรือรื้อทิ้ง ผมคิดว่าทุกอย่างเริ่มที่พยายามเปิดใจและตั้งเป้าหมายให้เหมาะสม” 

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

“สังคมไทยในวันนี้ตื่นตัวกับการอนุรักษ์มากกว่าสมัยก่อนเยอะ เมื่อคุณลงมือทำจริงแล้วก็จะมีผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยอย่างคาดไม่ถึง เหมือนกับที่ผมประสบมาในระหว่างการซ่อมบ้านอากงครั้งนี้ ผมขออนุญาตกล่าวขอบคุณผู้ที่ให้การช่วยเหลือผมทุกๆ คนทั้งในประเทศและต่างประเทศซึ่งคงกล่าวนามไม่หมด ไม่ว่าพระสงฆ์ อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่เขตคลองสาน พี่ชายของผม คือคุณอัญเชิญ ทังสมบัติ รวมทั้งเพื่อนๆ ตลอดจนช่างและผู้ค้าไม้เก่าที่ตั้งใจเหลาเสาไม้ชุดนี้ฝากเป็นผลงานให้คนรุ่นหลังดู”

การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.
การซ่อมโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะที่บังเอิญเป็นการอนุรักษ์บ้านคหบดีจีนโบราณเล็กหลังสุดท้ายใน กทม.

จากการซ่อมบ้านอากงให้คงอยู่แบบทำไปเรื่อยๆ เพื่อต่อลมหายใจให้อาคารเก่าหลังนี้ตามกำลังงบประมาณและประสบการณ์ที่ค่อยๆ สั่งสม ฝ่าฟันข้อจำกัดต่างๆ ทีละเล็กทีละน้อย ด้วยความช่วยเหลือจากผู้ที่ล้วนเห็นคุณค่าในสิ่งเดียวกัน ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งบ้านอากงจะกลับมาฟื้นคืนชีวิตอย่างเต็มสมบูรณ์ในอนาคต และทำให้อาคารโบราณหลังนี้เป็นรอยเชื่อมประวัติศาสตร์ของไทยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ยังยืนหยัดให้ได้ศึกษาหาความรู้กันต่อไปทั้งในวันนี้และวันหน้า 

เป็นการซ่อมบ้านไปตามกำลังที่มี ที่บังเอิญกลายเป็นการอนุรักษ์อย่างแท้จริง


สรุปข้อควรรู้และสิ่งควรดูเมื่อไปอดีตโรงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะ

  • อดีตโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะถือเป็นบ้านล้อมลานแบบจีนแท้ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง มีอายุกว่า 200 ปี
  • เป็นบ้านคหบดีจีนขนาดเล็กเพียงแห่งเดียวในสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่หลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ 
  • ดูกระเบื้องปรุจีนสีน้ำตาลที่ประดับบนกำแพงหนาหน้าบ้าน เพราะเป็นของเก่าแก่และหาชมยากมากๆ
  • ดูกระเบื้องปรุลายจีนสีน้ำเงินที่ซ้อนหน้าต่างไม้ด้านในตรงระเบียงชั้นบนของอาคารกลาง ซึ่งมีเอกลักษณ์พิเศษไม่เหมือนที่ไหน
  • ดูโครงสร้างม้าตั่งไหมแกะสลักแบบจีนที่ใช้รับแปหลังคาของระเบียงชั้นบนที่อาคารกลาง
  • สังเกตซุ้มประตูและหน้าต่างที่มีร่องรอยเคยตกแต่งด้วยลายเขียนสีแบบจีนอันสวยงาม แม้วันนี้จะเลือนไปมาก
  • สังเกตร่องรอยคร่ำคร่าบนผนังปูนหนาที่เจ้าของพยายามเก็บความแท้ไว้เพื่อคงบรรยากาศเดิมๆ
  • สังเกตสันหลังคาปูนบนอาคารปีกซ้ายที่โค้งแบบท้องสำเภาจีน เพราะอนุรักษ์ของเดิมได้เกือบหมด
  • สังเกตไหน้ำปลาและคานหามไหน้ำปลาที่เก็บรักษาไว้จนถึงวันนี้
  • อย่าลืมซื้อน้ำปลารวงทองที่ผลิตโดยโรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ เป็นน้ำปลาที่ยังคงรักษาสูตรดั้งเดิมของอากงเมื่อเริ่มเข้ามาอยู่บนแผ่นดินไทย ลองกาแฟและอาหารที่เรือนปั้นหยาริมน้ำที่ร้านอากงอาม่า อาคารสวยอีกหลังของครอบครัวทังสมบัติ

ขอขอบคุณ : คุณพูนศักดิ์ ทังสมบัติ และคุณวทัญญู เทพหัตถี

สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเรื่องของอดีตโรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ ติดตามชมรายละเอียดได้ในงานสถาปนิก’63 “มองเก่า ให้ใหม่: Refocus Heritage” ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ​ฮอลล์ เมืองทองธานี ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ถึงวึนที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นี้ ในส่วนนิทรรศการที่จัดร่วมกันระหว่าง The Cloud และสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

เรียนวารสาร เที่ยวไปถ่ายรูปไปคืองานอดิเรก และหลงใหลช่วงเวลา Magic Hour ของทุกๆวัน