การเป็นที่หนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดสำหรับเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ในเวลานี้ แต่เป้าหมายใหญ่ของบริษัทฯ คือการสร้าง One Platform ที่ผสานทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจเพื่อสร้างอาณาจักรอสังหาฯ ครบวงจร ด้วยแพลตฟอร์มที่ยั่งยืน 

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับแบรนด์ ‘เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้’ ในฐานะบริษัทข้ามชาติจากสิงคโปร์ที่มาลงทุนในประเทศไทยกับกลุ่มบริษัททีซีซี  เพื่อพัฒนาอภิมหาโปรเจกต์ One Bangkok แต่นอกเหนือจากโครงการดังกล่าวแล้ว กลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ยังได้ลงทุนในอีกกลุ่มธุรกิจภายใต้ชื่อ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT 

เพื่อให้เข้าใจถึงประวัติความเป็นมาของกลุ่มนี้ คงต้องย้อนกลับไปก่อนหน้า โดยมีจุดเริ่มต้นที่กลุ่มบริษัททีซีซีมีวิสัยทัศน์เล็งเห็นถึงศักยภาพของบริษัท เฟรเซอร์ส แอนด์ นีฟ หรือ F&N ซึ่งทำธุรกิจเครื่องดื่มและธุรกิจอื่นๆ รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์ จึงได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการใน พ.ศ. 2556 ซึ่งนับเป็นดีลที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น จากนั้นได้ทำการแยกธุรกิจอย่างชัดเจนเพื่อให้ F&N รุกขยายตลาดเครื่องดื่มอย่างเต็มรูปแบบ ขณะที่จัดตั้งบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด หรือ FPL ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ เพื่อดำเนินธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในเวลาเดียวกันนั้น กลุ่มบริษัททีซีซีได้ทำการเข้าซื้อแบรนด์โกลเด้นแลนด์ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เก่าแก่ที่เชี่ยวชาญการทำที่อยู่อาศัยแนวราบและพื้นที่เชิงพาณิชย์เก็บเอาไว้ด้วย

เป็นราชาแห่งการเทกโอเวอร์ของจริง

และเมื่อต้น พ.ศ. 2561 กลุ่มบริษัททีซีซีก็เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ซึ่งทำธุรกิจพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมและคลังสินค้าสำเร็จรูปให้เช่า ถือเป็นการต่อจิ๊กซอว์ของเครือข่ายธุรกิจครั้งสำคัญที่ทำให้ทีซีซีมีทั้งกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมอยู่ในมือทั้งหมด ต่อมาในต้น พ.ศ. 2562 เกมการผนวกธุรกิจแบบครบวงจรก็เกิดขึ้น เมื่อ TICON แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปลี่ยนชื่อตามบริษัทที่เข้ามาถือหุ้น เป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เพื่อใช้แบรนด์ระดับตำนานอย่างเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ในการรุกตลาดอย่างเต็มตัว จนเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมาหลังกระบวนการควบรวมแล้วเสร็จ กลุ่มบริษัททีซีซีตัดสินใจเพิกถอนหุ้น GOLD ออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรวมเข้ากับ FPT เป็นหนึ่งเดียวกันในที่สุด จนกลายมาเป็นบริษัทที่แพลตฟอร์มอสังหาฯ ครบวงจรรายแรกในไทย ที่มีมูลค่าสินทรัพย์รวมกว่าหนึ่งแสนล้านบาทในปัจจุบัน

ธนพล ศิริธนชัย Country CEO เฟรเซอร์สประเทศไทยผู้พลิกวงการอสังหาฯ ไทยด้วย One Platform, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPT

ทุกความเคลื่อนไหวอยู่ในสายตาของ ธนพล ศิริธนชัย มาโดยตลอด

เพราะเขาเป็นผู้บริหารของทั้งยูนิเวนเจอร์ ซึ่งเข้าซื้อโกลเด้นแลนด์และเข้ามาเป็นแม่ทัพคนสำคัญของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

ปัจจุบัน FPT มีโครงการที่อยู่อาศัย 59 โครงการ ครอบคลุมทั้งกรุงเทพ ปริมณฑล และจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ พื้นที่คลังสินค้าและโรงงานอุตสาหกรรมคุณภาพสูงรวม 3 ล้านตารางเมตร รวมทั้งพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรมใจกลางย่านธุรกิจ (CBD) รวมพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการกว่า 2.4 แสนตารางเมตร มีโรงแรมและเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ในมือกว่า 1,100 ห้อง และประกาศตัวเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรรายแรกของประเทศ ด้วยขนาดสินทรัพย์ 100,000 ล้านบาท วันนี้ภารกิจที่สำคัญของกัปตันทีมชื่อธนพล ศิริธนชัย คือการหลอมรวมความหลากหลายจาก 3 กลุ่มธุรกิจเข้าไว้้บนแพลตฟอร์มเดียวกัน หรือ One Platform เพื่อเชื่อมศักยภาพของทุกกลุ่ม สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน (Synergy) และสร้าง Ecosystem ทางธุรกิจที่สนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคง และยั่งยืนของบริษัทฯ โดยการรวมกันนี้ จะทำให้เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย สามารถกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการบริหารสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่มีลูกค้าหลายกลุ่ม (Diversification) พร้อมยืนหยัดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ด้วยความสามารถในการบริหารจัดการที่มีความยืดหยุ่นและทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์ที่ท้าทายได้เป็นอย่างดี (Resilience)

 สิ่งที่เขาคิดและต้องทบทวนความคิดสำหรับก้าวต่อไปจากนี้คืออะไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์พิเศษนี้

กว่าจะเป็น ‘เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย‘ ทุกวันนี้ มีที่มาอย่างไร

ต้องเริ่มต้นเล่าตั้งแต่ เฟรเซอร์ส แอนด์ นีฟ หรือ F&N ซึ่งก่อตั้งในสิงคโปร์มาร้อยสามสิบเจ็ดปีแล้ว ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องดื่มและอื่นๆ รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปด้วยกัน เป็นบริษัทแรกของสิงคโปร์ที่ช่วยรัฐบาลวางผังเมืองจนมาถึงทุกวันนี้ ตอนที่กลุ่มทีซีซีไปซื้อ F&N เมื่อ พ.ศ. 2556 โลกธุรกิจก็ฮือฮาว่าทำไมธุรกิจไทยกล้าไปลงทุนในต่างประเทศ นี่ก็ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่สำคัญ คือถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจไทยจะออกไปรุกข้างนอกบ้านบ้าง 

พอแยกธุรกิจออกจากกัน ส่วนเครื่องดื่มมีไทยเบฟฯ (บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)) เป็นผู้ดูแล ส่วนธุรกิจอสังหาฯ ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ภายใต้ชื่อเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด หรือFPL คุณปณต สิริวัฒนภักดี เป็นกรุ๊ปซีอีโอทำหน้าที่ดูแล แรกเริ่ม FPL เขาทำธุรกิจครบวงจรอยู่แล้ว ทั้งมิกซ์ยูส รีเทล ออฟฟิศ ศูนย์กระจายสินค้า โรงแรมและธุรกิจบริการอย่างเฟรเซอร์ สวีทส์ ซึ่งเป็นเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ชั้นนำมีสาขาทั่วโลก ทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำระดับโลกเขาบริหารจัดการสินทรัพย์ให้กระจายไปทุกกลุ่ม ขณะที่บ้านเรายังไม่มีบริษัทอสังหาฯ ที่ครบวงจรเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะมีกรอบในการพัฒนา เช่น ที่นี่ทำบ้าน ทำคอนโดฯ พอเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ เข้ามาในเมืองไทย ด้วยประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองระดับโลก ประกอบกับกลุ่มทีซีซีก็มีสินทรัพย์จำนวนมาก ก็เลยนำเอาประสบการณ์ที่มีมาใช้ ในการพัฒนาอภิมหาโครงการอย่าง วัน แบงคอก (One Bangkok)

ขณะที่เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง เราเพิ่งจัดการรวมบริษัทเสร็จเรียบร้อยเมื่อไม่นานมานี้และกลายเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ ครบวงจรรายแรกในประเทศไทย พอนำธุรกิจที่มีศักยภาพมารวมกันจึงเป็นความแตกต่างที่สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ สินทรัพย์ของโกลเด้นแลนด์มีประมาณห้าหมื่นล้าน มารวมกับของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย อีกห้าหมื่นล้านก็จะเป็นหนึ่งแสนล้านบาทโดยประมาณ

ภาพรวมธุรกิจปีนี้เป็นอย่างไร 

แม้เราจะเผชิญกับความท้าทายและสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ ในปีนี้ แต่ผลการดำเนินงานยังเป็นที่น่าพอใจ เรายังสามารถประคับประคองธุรกิจให้ไปต่อได้ด้วยดี โดยเราตั้งเป้าว่าจะรักษาระดับรายได้ที่สองหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะเทรนด์บ้านแนวราบที่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มธุรกิจ ออฟฟิศ และรีเทล บริษัทฯ ยังคงรักษาฐานลูกค้าไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ด้านธุรกิจอสังหาฯ เพื่ออุตสาหกรรมของเรากลับได้รับอานิสงส์จากวิกฤต COVID-19 เนื่องจากช่วงก่อนหน้า ผู้ประกอบการประสบปัญหาการจัดส่งสินค้า สินค้าขาดแคลน จึงทำให้ต้องมองหาพื้นที่คลังสินค้าเพิ่มหรือแม้แต่การย้ายฐาน เพื่อให้จัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็วที่สุด นี่แหละคือข้อดีของการมีสินทรัพย์หลากหลายประเภท ทำให้เรากระจายความเสี่ยงได้ดี

เดี๋ยวนี้การให้เช่าพื้นที่อุตสาหกรรมไม่ใช่แค่ให้บริการพื้นที่อย่างเดียว เราได้ยกระดับด้วยการทำสมาร์ทสเปซ โดยนำเทคโนโลยีทันสมัย ระบบปฎิบัติการอัตโนมัติ และวัสดุประหยัดพลังงานมาใช้ นอกจากนี้ยังเน้นการพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าตามความต้องการของลูกค้า หรือ Built-to-Suit ซึ่งจะเป็นการนำเสนอโซลูชันที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของลูกค้าแต่ละราย โดยทีมงานจะต้องเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อที่จะได้เข้าใจถึงความต้องการใช้งาน ซึ่งจะครอบคลุมแม้กระทั่งโรงอาหารพนักงาน สิ่งอำนวยความสะดวกหรือการออกแบบที่คำนึงถึงอัตลักษณ์ขององค์กรลูกค้า ทำให้ลูกค้ารู้สึกเสมือนเป็นพื้นที่ของเขาบริษัทตนเอง โดยการพัฒนาโครงการในลักษณะนี้ จะเป็นสัญญาเช่าในระยะยาว ปัจจุบันบริษัทมีโครงการกระจายอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ทั่วประเทศไทย ถ้าเป็นทางเหนือก็มีครอบคลุมทั้งโซนวังน้อย อยุธยา หรือโซนสมุทรปราการ บางพลี และพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี 

ธนพล ศิริธนชัย Country CEO เฟรเซอร์สประเทศไทยผู้พลิกวงการอสังหาฯ ไทยด้วย One Platform, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPT

ทำไมต้องรวมธุรกิจเอาไว้ภายใต้แบรนด์เดียว

ข้อแรกเลย นี่เป็นเรื่องการกระจายความเสี่ยง เพราะถ้าทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว เวลาเกิดวิกฤตขึ้นมาก็จะแย่ การที่เรากระจายหลายธุรกิจ เพราะคิดว่าเวลาเกิดวิกฤต มันคงไม่ทรุดพร้อมกันทีเดียว แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ การมีธุรกิจที่หลากหลายก็ทำให้เราไปต่อได้ สำหรับอสังหาริมทรัพย์ กระแสเงินสดสำคัญที่สุด ถ้าขาดรายได้ ไม่มีเงินมาหล่อเลี้ยงก็เจ๊งกันไปหมด เราต้องสร้างธุรกิจที่มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่นรายได้จากการเช่าออฟฟิศ โรงแรม อย่างน้อยที่สุดก็มีกระแสเงินสดเข้ามา เราก็เอาไปจ่ายเงินเดือนพนักงานและดำเนินธุรกิจต่อ มันเป็นจุดที่ทำให้เรารอดมาได้ ตอนนี้หลายบริษัทก็เริ่มหันมาทำแบบนี้แล้ว บางที่ก็ไปทำโรงพยาบาล ทำเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์หรือทำออฟฟิศให้เช่า แต่ถ้าดูโดยรวมแล้วยังไม่มีใครข้ามมาทำอสังหาฯ เชิงเพื่ออุตสาหกรรมนะ 

ข้อที่สองเป็นเรื่องการประสานพลังกันหรือ Synergy เพราะถึงจะเป็นธุรกิจคนละประเภท แต่ก็เป็นอสังหาริมทรัพย์เหมือนกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงช้าที่สุด มันก็อาจจะเปลี่ยนวิธีการขาย การทำการตลาดไป แต่ความต้องการขั้นพื้นฐานของทุกคนก็ยังต้องมี ถึงคุณจะรวยแค่ไหนคุณก็ต้องซื้อบ้าน หรือเวลาไปเที่ยวก็จะเลือกพักโรงแรมดีๆ เราไปอยู่ในโลกเสมือนไม่ได้ การรวมกันนี้ทำให้เพิ่มยอดขายข้ามกลุ่มธุรกิจได้ โดยการเอาข้อมูลของกลุ่มลูกค้ามาเชื่อมโยงกัน ลูกค้าที่มาเช่าโกดังอาจต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดฯ ด้วย คนที่เป็นพนักงานออฟฟิศก็อาจเริ่มสนใจเช่าพื้นที่ค้าปลีกเพื่อทำการค้า เราต้องใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ให้ออกและหาโอกาสทางธุรกิจ จึงเป็นการลดต้นทุนเมื่อซื้อสินค้าได้ มีอำนาจต่อรองมากขึ้น อย่างพอเราสร้างโครงการผสมผสานหรือ Mixed-use ก็จะมีทั้งคอนโดฯ ออฟฟิศ ค้าปลีก ในที่เดียวกัน 

และข้อที่สาม เรารวมกันเพื่อให้ทนทาน ยืดหยุ่น ต่อความไม่แน่นอนในวันข้างหน้าได้ ยิ่งเกิดวิกฤต COVID-19 ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจน ว่าเรามีภูมิคุ้มกันถึงจะเซบ้างแต่ก็กลับมาได้เร็ว (Resilience) แม้ว่ากลุ่มโรงแรมและรีเทลจะได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา แต่กลุ่มธุรกิจที่อยู่อาศัยแนวราบก็ยังไปต่อได้ตามเทรนด์ของตลาดที่คนส่วนใหญ่อยากมีพื้นที่มากขึ้น รองรับการทำงานจากที่บ้านหรือ Work From Home ที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับกลุ่มธุรกิจออฟฟิศให้เช่า ก็ยังคงมีความต้องการอยู่ ถึงจะมีแนวโน้มทำงานที่บ้านกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ยังต้องออกมาพบปะเจอหน้ากันอยู่ดี ผมว่ายังมีมุมที่เราได้รับประโยชน์จากการผสานธุรกิจในครั้งนี้ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ

ความท้าทายของการรวมคนจากต่างองค์กรเข้าไว้ด้วยกันคืออะไร

ท้าทายแน่นอน แต่ละองค์กรมีวัฒนธรรมต่างกัน ซีอีโอแต่ละคนก็มีสไตล์ก็ไม่เหมือนกัน เราต้องช่วยดูว่าเราจะบริหารธุรกิจที่แตกต่างกันให้อยู่ร่วมกันและมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้อย่างไร วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ปกติจุดเริ่มต้นมักจะนิ่งก่อนแล้วผ่านไปสักพักจะเริ่มแสดงออกมา (หัวเราะ) เหมือนเวลาออกเรือ คลื่นลมไม่มี แต่ไปสักพักก็เจอพายุ เป็นเรื่องที่ต้องเจอ การแข่งขันในแต่ละธุรกิจไม่เหมือนกัน เราก็ต้องยืดหยุ่น เราอยู่เรือลำเดียวกันแล้ว ถ้าต่างคนต่างพายแล้วจะไปต่อกันได้อย่างไร ดังนั้น เราจึงต้องรวมกันอยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน เพื่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่ครบวงจร โดยใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน แต่ละกลุ่มธุรกิจจะต้องสื่อสารเชื่อมโยง ให้เข้าใจซึ่งกันและกันได้  นี่คือความท้าทายและเราก็กำลังเดินหน้าทำเรื่องนี้อยู่

ประเมินทิศทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยอย่างไร

ผมว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีวัฏจักร พอธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้นทุกคนก็หันมาพัฒนากัน แล้วพอทำกันเยอะๆ ก็ล้นตลาดออกมา ประเมินกันว่าวัฏจักรนี้จะเป็นรอบ รอบละเจ็ดถึงสิบปี อย่างตลาดคอนโดมิเนียมที่ตอนนี้เป็นขาลงเดี๋ยวก็กลับมา เพียงแต่วันนี้มีซัพพลายในตลาดเยอะ ในขณะที่กำลังซื้อลดลง แต่ยังเห็นการขยายตัวของที่พักอาศัยแนวราบ ทีนี้พอคนเห็นว่าแนวราบดีก็จะแห่กันมาทำแนวราบ เราก็ต้องขยับไปทำอย่างอื่นอีก 

สิ่งสำคัญคือการมองวัฏจักรธุรกิจให้ถูกเวลาแนวโน้มตลาดดี ใครจะหยุดสร้าง และเวลาที่แนวโน้มตลาดไม่ดีใครจะไปสร้างตึกใหม่ สิ่งที่ยากที่สุด คือการสร้างตอนที่ตลาดไม่ดี คุณมีเงินสดพร้อมหรือเปล่า จะสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าได้อย่างไร และแบงก์จะปล่อยกู้หรือไม่ ดังนั้น การมีพอร์ตโฟลิโอที่ครบวงจรจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี 

ทุกคนเห็นตรงกันเรื่องราคาที่ดินสูง ดูเหมือนเราจะเห็นการพัฒนาโครงการแบบเช่าอยู่อาศัยระยะยาวหรือ Leasehold มากขึ้นใช่หรือไม่

ในต่างประเทศ Leasehold ถือเรื่องเป็นปกติแล้ว ที่ดินหายากขึ้น ราคาก็แพงขึ้น ถ้าไปดูราคาที่ดินในเมืองเพิ่มขึ้นเป็นตารางวาละเท่าไหร่แล้ว ถึงจะพัฒนาโครงการได้ แต่ต้องขายห้องชุดราคาตารางเมตรละห้าหรือหกแสนบาท คนจะซื้อได้หรือเปล่า อย่างที่ดินแปลงใหญ่ใจกลางเมืองตอนนี้ก็เป็น Leasehold ทั้งนั้น ถ้าเรายึดติดกับเรื่องกรรมสิทธิ์และซื้อแบบ Freehold (เป็นเจ้าของสิทธิ์ขาด) ราคาตารางเมตรละสองแสนบาท เทียบกับซื้อแบบ Leasehold ตารางเมตรละหนึ่งแสนบาท ต่างกันเท่าหนึ่ง ความคุ้มค่าด้วยเวลาอีกสามสิบปีข้างหน้ากับเงินที่จ่ายไป ตึกพอนานไปก็ต้องปรับปรุง ตกแต่งตึก รื้อโครงสร้างใหม่อยู่ดี ตอนนั้นต้นทุนก็อาจสูงมาก ถ้าการพัฒนาเมืองเปลี่ยน แต่เราอยู่ในทำเลที่ไม่มีศักยภาพอีกต่อไปแล้วและมูลค่าตก เราจะอยู่ไปทำไม จึงต้องมองหลายมุมทั้งเรื่องต้นทุน ทำเลที่สะดวกสบาย และการใช้ประโยชน์จริง มีหลายมุมมองที่บดบังความเข้าใจที่มีต่อ Leasehold ไปพอสมควร Leasehold เป็นเทรนด์ที่จะเติบโตอย่างแน่นอน อย่างน้อยถ้าทำเลใช่ขายต่อก็มีคนซื้อ

ธนพล ศิริธนชัย Country CEO เฟรเซอร์สประเทศไทยผู้พลิกวงการอสังหาฯ ไทยด้วย One Platform, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPT
ธนพล ศิริธนชัย Country CEO เฟรเซอร์สประเทศไทยผู้พลิกวงการอสังหาฯ ไทยด้วย One Platform, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPT

มีผู้วิจารณ์ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นการเก็งกำไร แล้วการลงทุนของเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทย เป็นแบบไหน

เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจอสังหาฯ ทุกคนก็พร้อมที่จะเข้ามาทำกันหมด ขึ้นอยู่กับอยากเข้ามาทำกำไรสั้นหรืออยากเติบโตในระยะยาว ทางเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ มีแนวคิดการทำธุรกิจระยะยาวมากกว่า ซึ่งต้องมีศักยภาพและความแข็งแกร่งมากพอที่จะผ่านวิกฤตต่างๆ ไปได้ ผู้บริโภคเขาสามารถรู้ด้วยตัวเอง เพราะเวลาเขาซื้อต้องดูความน่าเชื่อถือของผู้พัฒนา ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนเราเอง ถ้าเราทำได้ไม่ดี เราก็จะเห็นบางรายที่ยังยืนอยู่ได้ตั้งแต่ยังเด็กจนโต เราได้ยินชื่อมาโดยตลอด บางรายก็หายไป บางรายก็เกิดใหม่ ทุกคนล้วนอยากโตอย่างยั่งยืน สำคัญคือจะไปต่อได้แค่ไหน ถ้าธุรกิจมั่นคงแล้ว การกระจายความเสี่ยงจะเป็นสิ่งสำคัญต่อไป 

พื้นที่ Mixed-use อย่างสามย่านมิตรทาวน์มีจุดขายเรื่องการเชื่อมโยงกับชุมชน ทำไมต้องคำนึงเรื่องนี้

เป็นเทรนด์ของโลกและประเทศไทยในอนาคตนะครับ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องเชื่อมโยงโครงการเข้ากับชุมชน ไม่ได้คิดแต่ผลประโยชน์สูงสุดอย่างเดียว ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย ตอนเราทำสามย่านมิตรทาวน์ก็มีคนมาถามว่าจะไหวมั้ย ทำพื้นที่ด้านหน้าให้คนทั่วไปมาใช้ได้ตั้งเยอะ มีพื้นที่เปิดโล่งอีก มีโซนเปิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง แถมมีพื้นที่ด้านบนให้คนมาเดินเล่นถ่ายรูปได้ฟรี สิ่งเหล่านี้เพราะเราให้ความสำคัญกับ Place Making คือการที่เรามีพื้นที่ให้คนในชุมชนนั้นๆ มาใช้ประโยชน์ได้ เป็นส่วนหนึ่งของสังคม อย่างที่สิงคโปร์มีแนวคิดนี้มานานแล้ว เป็นข้อบังคับเลยว่าจะพัฒนาโครงการได้ต้องมีพื้นที่ให้คนในชุมชนนั้นๆ มาใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ 

ทำธุรกิจสมัยนี้ ใครๆ ก็พูดเรื่อง Agile คำนี้ในนิยามของคุณคืออะไร

เป็นคำที่ทุกคนพูดแต่ผมคิดว่าเราทำกันอยู่แล้ว นั่นคือการปรับตัวให้เร็ว ทั้งการทำงาน การแข่งขัน อย่างตลาดบ้านผมคิดว่าจะแข่งขันแรงขึ้นอีก พอทุกคนเห็นว่าเป็นไปได้ก็เลยหันมาทำกัน เราก็ต้องปรับกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวนี้จะมาบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่หน้าที่ของตัวเองไม่ได้แล้ว ต้องช่วยกันทำ เราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนต้องมาร่วมกัน ช่วยกันคิดว่าจะช่วยสนุบสนุนการทำงานกันอย่างไร ส่วนหลังบ้านก็ต้องดูว่าจะช่วยสนับสนุนธุรกิจอย่างไร ตอนนี้ออฟฟิศของเรามีคนรุ่นใหม่อยู่เยอะ ก็มีคนบ่นเหมือนกันว่าเริ่มปวดหัวกับเด็กจบใหม่หรือคนที่อายุยังไม่ถึงสามสิบ ผมว่าเราก็ต้องเรียนรู้ คนรุ่นใหม่เขาพูดในสิ่งที่เขาคิด เขากล้าแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญคือเราเปิดใจรับฟังสิ่งที่เขาพูด สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เขาแสดงออกหรือเปล่า อันนี้เป็นสิ่งที่ยากสำหรับคนรุ่นก่อนๆ แต่เราต้องพยายามปรับตัวเข้าหากัน ต้องพูดช้าลง ฟังขึ้น

จะทำอย่างไรให้คนรุ่นก่อนฟังคนรุ่นใหม่

เรื่องแบบนี้คนรุ่นก่อนต้องรู้ตัวเอง บางครั้งผมก็เป็นนะ บางทีอยากจะพูดเต็มที่ แต่ถ้าเราต้องทำงานกับคนเยอะๆ เราต้องฟังและทำความเข้าใจก่อนที่เราจะพูด สิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือปัญหาของคนรุ่นผม พอฟังปุ๊บจะรู้ว่ามันมีอุปสรรคอะไร และเราก็จะรีบให้ข้อสรุปหรือชี้นำไปเลย ซึ่งไม่ควรทำ แต่เราเห็นแล้วก็อดไม่ได้จริงๆ ผมเลยเข้าใจแล้วว่าทำไมบางทีต้องแยกทีมคนรุ่นใหม่ออกไปทำ ไม่ต้องให้เรารู้ เพราะรู้แแล้วเราก็อดไม่ได้ที่จะพูด ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจจะต่างไปจากธุรกิจอื่นที่หันไปเน้นเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ ผมเชื่อว่าพื้นฐานของเรายังเป็นเรื่องการสร้างบ้าน การวางผังต่างๆ มันก็ยังต้องใช้ประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าเข้ามาช่วยด้วย

ธนพล ศิริธนชัย Country CEO เฟรเซอร์สประเทศไทยผู้พลิกวงการอสังหาฯ ไทยด้วย One Platform, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPT
ธนพล ศิริธนชัย Country CEO เฟรเซอร์สประเทศไทยผู้พลิกวงการอสังหาฯ ไทยด้วย One Platform, บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPT

Questions answered by Country CEO of Frasers Property (Thailand)

  1. สไตล์การทำงานเป็นอย่างไร

ก็ต้องไปถามน้องๆ พนักงานผมล่ะ (หัวเราะ) ผมคิดว่าผมไม่ดุ แต่บางคนประชุมกับผมกลับไปแล้วร้องไห้ก็มี เขาก็มองผมดุ ผมไม่ใช่คนที่ต่อว่าคนตรงๆ แต่อาจพูดให้เขาคิด เราเป็นยังไงก็ต้องให้คนรอบข้างสะท้อน ผมสนใจไปหมด ลงรายละเอียด ชอบการวางแผน อย่างของขวัญปีใหม่ ถ้าคุณซื้อไดอารี่ล่วงหน้าให้ผมจะชอบมาก เพราะผมวางแผนตารางชีวิตตัวเองล่วงหน้าเสมอ 

  1. ดูเหมือนเป็นคนไม่ชอบเสี่ยง (Risk Averse)

ก็คงแบบนั้น ผมชอบคิดหลายๆ มุม ให้มันครบ

  1. นอนวันละกี่ชั่วโมง

อย่างน้อยต้องนอนให้ได้หกชั่วโมงต่อวัน แต่จริงๆ ผมอยากนอนให้ได้แปดชั่วโมงนะ มันขึ้นกับว่านอนกี่โมง เพราะผมจะตื่นเวลาเดิมเสมอคือตีห้าครึ่ง เพื่อออกกำลังกายทุกเช้า ผมชอบวิ่งครับ 

  1. ชอบขนาดลงวิ่งมาราธอนเลยหรือเปล่า

ผมไปวิ่งมาราธอนมาแล้วห้าครั้งครับ นี่ถ้าไม่ติด COVID-19 ผมก็จะไปนะ มีคนบอกว่าคนที่ลงวิ่งฟูลมาราธอนไม่ใช่เพื่อสุขภาพแต่เพื่อความสะใจ อย่างถ้าคุณวิ่งได้เกินยี่สิบเอ็ดกิโลไปแล้ว มากกว่านั้นคือต้องใช้ความพยายาม ผมว่าเราต้องอดทนและมีวินัยอย่างมาก ต้องซ้อม วางแผนตั้งแต่ตื่นและทำอีกหลายเรื่อง ในต่างประเทศมีอาจารย์ที่สอนด้านการจัดการบอกกับลูกศิษย์ว่า จะเรียนจบวิชานี้ได้คุณต้องลงวิ่งมาราธอนให้ได้ เวลาเท่าไหร่ไม่เป็นไร แต่ต้องวิ่งให้ครบ คือถ้าเราตกลงที่จะวิ่ง เราจะกลับมาวางแผนเลยว่าต้องซ้อมอย่างไร ก่อนวันจริงจะนอนกี่โมง ตื่นกี่โมง จะกินอะไร ทำเหมือนเดิมไม่ได้เพราะเดี๋ยววิ่งไม่ไหว ต้องเตรียมน้ำ เกลือแร่อย่างไร เป็นตะคริวจะทำอย่างไร การวิ่งมาราธอนนี่ถือว่าดีมากเลย

  1. ปกติเลือกไม่กินข้าวเช้าหรือข้าวเย็น

มื้อเย็นนี่เลี่ยงยากที่สุด มื้อเช้าของผมหลังจากออกกำลังกายคือไข่สามฟอง น้ำผักหนึ่งแก้ว และกล้วยหนึ่งลูก กินอีกทีก็มื้อเที่ยง เมนูโปรดของผมคือ ข้าวเหนียวจิ้มไข่ดาว ทอดไข่ดาวกับกระทะร้อนๆ ให้ไข่แดงยังไม่สุกมาก แล้วเอาข้าวเหนียวจิ้มกินกับซอสถั่วเหลืองนี่สุดยอดเลย ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดจากขอนแก่น เมนูนี้ผมกินมาตั้งแต่เด็กแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยเห็นคนกรุงเทพกินกันนะ

  1. ขับรถเองหรือมีคนขับรถ

ผมไม่ขับรถเพราะง่วงนอนบ่อย ผมนั่งรถอะไรก็ได้ขอให้มีคนขับให้ เวลาผมขึ้นรถทีไรนะจะง่วงนอน ขับรถเองก็กลัวหลับใน ให้คนอื่นขับดีกว่า

  1. สถานที่แรกที่อยากไปหลังจบวิกฤต COVID-19 คือที่ไหน

ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ครับ ผมอยากไปวิ่งที่ชิคาโกมาราธอน จริงๆ ผมต้องไปล่ะแต่ก็เลื่อนเพราะติด COVID-19

  1. ชอบดูพระอาทิตย์ขึ้นหรือตก

เอาจริงๆ ผมไม่ค่อยได้เห็นพระอาทิตย์เท่าไหร่ ปกติผมตื่นเช้าอยู่แล้วแต่ก็ไม่ได้มานั่งดูพระอาทิตย์ขึ้นนะ จะทำสมาธิ ออกจากบ้านมาถึงที่ทำงานก็เช้าแล้ว ผมว่าให้ดูตอนพระอาทิตย์ตกอาจจะมีเวลาดูมากกว่า

  1. คิดจะทำงานไปถึงเมื่อไหร่

ผมไม่คิดจะเกษียณนะ คือต้องถามว่าเกษียณคืออะไร ถ้าบอกว่าเป็นการหยุดทำงานแล้วไปทำกิจกรรมยามว่าง คุณคิดว่าจะสนุกกับมันได้นานแค่ไหน ดีไม่ดีสามเดือนคุณก็เบื่อแล้ว คือตอนนี้เราเป็นผู้บริหารมันก็ท้าทายแบบหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็อาจขยับไปเป็นกรรมการหรือทำงานให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร ยังมีอะไรให้ทำอีกมาก ยิ่งเราไม่ทำงานสมองก็ยิ่งฝ่อ ตัวผมเองก็ไม่ได้เป็นคนมีงานอดิเรกขนาดนั้นด้วย 

  1. คุณเลี้ยงหมาหรือแมว

ไม่เลี้ยงเลย อย่างเด็กๆ เลี้ยงที่นอกบ้านเอาไว้เฝ้าบ้าน ไม่เคยเล่นกับมัน แมวก็มีมาป้วนเปี้ยนบ้าง แต่ไม่ได้เลี้ยงเลย ผมว่าดูแลคนนี่ก็เหนื่อยพอแล้ว (หัวเราะ)

  1. จริงหรือไม่ที่คนเราพออายุเยอะจะชอบต้นไม้

จริงหรอ ผมว่าไม่เกี่ยวกับแก่หรือไม่แก่นะ มนุษย์เราเวลาไปเจอพื้นที่สีเขียวหรือธรรมชาติก็ชอบกันหมดล่ะ เพียงแต่ว่าตอนหนุ่มสาวทำงานไม่ค่อยมีเวลาไปดู พอเกษียณหรือมีเวลามากขึ้นก็เลยอยู่บ้าน อยู่กับต้นไม้ ตอนนี้ผมก็ยังไม่ได้อินกับต้นไม้และยังสนุกกับการทำงานอยู่ครับ

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ