หลายคนอาจเคยเรียนเมื่อสมัยเด็ก ๆ ว่าชาวนายากจนเพราะถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา

คำพูดนี้เป็นจริงแค่ส่วนเดียว เพราะปัจจัยที่มากกว่านั้นยังอยู่ที่ค่าใช้จ่ายการทำนาที่สูง ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาฆ่าแมลง ค่ายาฆ่าหญ้า จนชาวนาทั่วประเทศติดหนี้ท่วมหัว หลายครอบครัวต้องสูญเสียที่นา

“จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้ชาวนามีชีวิตดีขึ้นอย่างยั่งยืน” คือคำถามที่ หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีศิริภิญโญถามตัวเอง ในวันที่เขาเผชิญวิกฤตจนเกือบล้มละลาย จากการทำตามคำขอของรัฐบาลในการช่วยรับซื้อข้าวจากชาวนาที่ปิดถนนประท้วงใน พ.ศ. 2551

การเดินทางเพื่อหาคำตอบ นำมาสู่การตกผลึกความคิดที่ก่อให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นกำไรสูงสุด แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับแผ่นดินไทย สร้างชีวิตที่ยั่งยืนให้ชาวนา พร้อมกับการสร้างอาหารปลอดภัยให้ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ภายใต้ชื่อ ‘ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม’

หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

แต่จุดเด่นที่ทำให้ธรรมธุรกิจแตกต่าง ก็คือผู้ก่อตั้งอย่างหนาวไม่ใช่เจ้าของ แต่เป็นเพียง ‘ผู้จัดการไปทั่ว’ (นี่คือคำที่เขาใช้เรียกตำแหน่งตัวเอง) ของธุรกิจที่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยเปิดให้คนทั่วไปมาลงขันซื้อหุ้น ในราคาหุ้นละ 101 บาท

“หุ้นคือสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วม เราไม่ได้อยากได้เศรษฐีมาลงทุนร้อยล้าน แต่เราอยากได้คนธรรมดาล้านคนมามีส่วนร่วมกับเรามากกว่า เป้าหมายของเราไม่ใช่แค่การขายข้าว แต่คือการสร้างเครือข่ายผู้บริโภคที่ใส่ใจในที่มาของอาหาร เราอยากให้อาหารธรรมชาติแท้เข้าถึงคนทั่วไป อยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่ากินอย่างไรเพื่อลดโลกร้อน กินอย่างไรเพื่อลด PM 2.5”

ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก
หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

แต่การทำให้ความฝันนี้เป็นจริงไม่ง่าย เช่นเดียวกับชีวิตของเขาที่ต้องเผชิญจุดเปลี่ยนหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นจากชายหนุ่มที่เคยเที่ยวสำมะเลเทเมา สู่โรคซึมเศร้าและนอนซมในห้องเป็นวัน ๆ จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม จากชายหนุ่มที่เคยเบือนหน้าหนีและเคยดูหมิ่นคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแนวคิดนี้

ธรรมธุรกิจ ทำให้เขาพบความหมายของการมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร และธุรกิจนี้จะช่วยแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึง PM 2.5 ได้อย่างไร… ไปฟังเขาเล่ากันเลย

คำถามและคำท้าทาย

หากเล่าเรื่องราวของธรรมธุรกิจด้วยภาษาหนัง ฉากแรกก็น่าจะเริ่มจากกล้องซูมเข้าไปที่เท้าของพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งที่กำลังเดินจงกรม เมื่อกล้องซูมเอาต์ออกมา ก็จะเห็นใบหน้าของพระหนุ่มเคร่งเครียดเหมือนกำลังครุ่นคิดอะไรบางอย่างอย่างหนักหน่วง ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำ ความมืดเข้าปกคลุม จนกระทั่งดวงอาทิตย์วันใหม่โผล่พ้นขอบฟ้า พระหนุ่มรูปนั้นก็ยังคงเดินจงกรมสลับกับนั่งสมาธิอยู่อย่างนั้น

นี่คือเรื่องราวของพิเชษฐในวัยหนุ่ม ในวันที่เขาเพิ่งเรียนจบจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอยู่ในช่วงหาคำตอบกับชีวิตว่าจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร

“ผมเป็นเด็กบ้านนอกเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เวลามีสิ่งกระทบใจก็ไม่รู้จะปรึกษาใคร พอเข้ามหาลัยก็เที่ยวสำมะเลเทเมา ฟุ้งซ่านไปเรื่อย จนมีช่วงหนึ่งนอนอย่างเดียว ไม่ไปเรียน ไม่ไปเจอคน ไม่ลุกมากินข้าว เคยคิดขนาดว่าถ้าเราตายปัญหาจะจบไหม ตายแล้วต้องกลับมาเกิดอีกไหม”

แต่โชคยังดีว่าการกลับบ้านช่วงเสาร์-อาทิตย์ ยังพอพยุงให้เขาไม่คิดสั้นได้ หลังเรียนจบเขาจึงไปหาคำตอบด้วยการบวชเรียนกับ หลวงพ่ออินทร์ถวาย วัดป่านาคำน้อย จังหวัดอุดรธานี

“ผมพยายามหาคำตอบด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา ไม่นอน 3 วัน 2 คืน จนเครียดและหมดแรง แต่พอเราหยุดพัก สมองผ่อนคลาย เราก็ได้คำตอบ นั่นคือถ้าเราเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ตราบใดที่เรายังไม่หมดกิเลสก็ต้องกลับมาเกิดใหม่ ดังนั้นจะทำยังไงให้กลับมาเกิดด้วยชาติภพที่เหลือน้อยที่สุด คำตอบคือ ถ้าเราต้องสึกไปสานต่อธุรกิจโรงสีของที่บ้าน เราก็ต้องใช้ ‘ธรรม’ ไปนำ ‘ธุรกิจ’ ”

คำว่า ‘ธรรมธุรกิจ’ จึงอยู่ในความคิดเขาตั้งแต่วันนั้น เมื่อสึกออกมา เขาเริ่มวางทิศทางธุรกิจโรงสี ซึ่งหนึ่งในเส้นทางที่เขาสนใจคือข้าวอินทรีย์ เนื่องจากตอนนั้นเป็นช่วงที่ข้าวอินทรีย์กำลังเติบโต มีวางขายในตลาดมากขึ้นและราคาดี

หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

“แต่ในเชิงคนทำธุรกิจ ผมก็มองว่าอนาคตจะต้องมีการตัดราคาเกิดขึ้นแน่ ๆ ดังนั้น ถ้าเราตั้งเป้าทำข้าวอินทรีย์เพื่อขายแพง ๆ ไม่มีทางยั่งยืนหรืออยู่รอดได้ แล้วเราจะทำยังไง ก็เลยตระเวนคุยกับคนนั้นคนนี้”

บรรดาบุคคลที่เป็นตัวท็อปของวงการก็หนีไม่พ้น อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ โจน จันได ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ศูนย์เรียนรู้การเก็บเมล็ดพันธุ์และการพึ่งพาตนเอง ซึ่งวันหนึ่งก็มีคนแนะนำให้หนาวรู้จักกูรูทั้งสองท่านนี้

“ตอนนั้น พ.ศ. 2556 อาจารย์ยักษ์มาเชียงใหม่เพื่อไปเยี่ยมสวนพี่โจนครั้งแรก ชื่อทริป ‘ยักษ์บุกรังโจน’ ผมก็ตามไปด้วย เจอพี่โจนครั้งแรก พี่โจนเอาคอมบูชาที่ทำเองให้กิน โอ้โห เป็นรสชาติที่ติดตรึงใจมาก เชื่อไหมว่ามาจนวันนี้ก็ยังไม่เคยได้กินคอมบูชาที่อร่อยเท่าวันนั้นอีกเลย”

ส่วนการพบกับอาจารย์ยักษ์ครั้งแรกนั้น ก็เป็นอารมณ์ของการท้าทายกันเล็กน้อย

“ผมบอกว่าโครงการที่อาจารย์ทำอยู่เนี่ย ผมไม่เชื่อว่าชาวนาทั้งประเทศจะเอาด้วย เพราะถ้าไม่ใส่ปุ๋ย ไม่ฉีดยา ชาวนาเขาไม่เชื่อว่าจะได้ข้าวในปริมาณที่เขาอยู่รอดได้ ผมก็ท้าว่าอาจารย์แน่จริงทำได้ไหม เปลี่ยนหักดิบเลย ไม่ใช้สารเคมีแม้แต่หยดเดียวแล้วได้ผลผลิตต่อไร่เท่าเดิม ถ้าอาจารย์ทำได้ ชาวนาถึงจะเอาด้วย”

คำตอบที่ผู้นำเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติตอบกลับมาก็คือ ผมน่ะทำได้ แต่คุณน่ะทำนาไม่เป็น ดังนั้นถ้าจะพิสูจน์เรื่องนี้ คุณก็ต้องไปพาชาวนามาให้ผมสอน ซึ่งหนาวก็ตกปากรับคำอย่างดี

“ตอนนั้นผมก็บอกอาจารย์ยักษ์ตรง ๆ นะ ว่าผมไม่ศรัทธาคำว่าพอเพียง รู้สึกว่ามันเป็นคำของพระเจ้าแผ่นดิน เพ้อฝัน เพ้อเจ้อ กระทรวงไหนก็เขียนคำนี้ มีหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเต็มไปหมดแต่ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น”

แต่สิ่งที่อาจารย์ผู้ขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยาวนานตอบกลับมา ก็ทำให้หนาวต้องฉุกคิด

“อาจารย์ยักษ์ย้อนถามว่า คุณเรียนเศรษฐศาสตร์ใช้เวลากี่ปี 4 ปีใช่ไหมกว่าจะจบ แล้วคุณใช้เวลาเท่าไหร่เรียนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คุณให้เวลากับมันกี่ปี คุณอย่ามาดูหมิ่นดูแคลน ถ้าคุณยังไม่ได้ศึกษา คุณต้องมาลงมือทำก่อนแล้วคุณถึงจะเข้าใจ”

นั่นก็ทำให้เดือนถัดมา เขาก็ลงจากเชียงใหม่เพื่อมายังศูนย์ฝึกอบรมกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นนักเรียนพิเศษหลังห้องในคอร์สฝึกอบรมของอาจารย์ยักษ์

ความหมายใหม่ของคำว่าพอเพียง

“ก่อนหน้าที่เราจะมา เราไม่รู้ประวัติของอาจารย์นะว่าเป็นใคร เคยทำอะไร พอเริ่มการอบรม อาจารย์เปิดคลิปคนหวงแผ่นดิน เราถึงรู้ว่าอาจารย์คือคนที่เคยทำงานใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้วถูกคำท้าทายจากชาวบ้านว่า ผอ. มีเงินเดือน มีรถหลวงขับ ถ้าแน่จริงลาออกมาทำแบบคนจนสิ อาจารย์ก็เลยลาออกมาเพื่อพิสูจน์ โดยบุกเบิกผืนดินที่แห้งแล้งกันดารที่สุด เราถึงรู้ว่าอาจารย์ไม่ใช่คนธรรมดาละ”

แม้เขาจะลงมาอบรมด้วยความอยากรู้เรื่องข้าวอินทรีย์ แต่ปรากฏว่า 3 ชั่วโมงแรกของการบรรยาย ไม่มีคำว่าอินทรีย์โผล่มาสักคำ แต่ทั้ง 3 ชั่วโมงนั้น อาจารย์ยักษ์พูดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำให้หนาวเปลี่ยนมุมมองต่อคำนี้จากหลังมือเป็นหน้ามือ

หนาว-พิเชษฐ โตนิติวงศ์ ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

“พออาจารย์บรรยายจบ เราปิ๊งเลย เราเพิ่งเข้าใจความหมายของมันจริง ๆ ต้องใช้คำว่ารู้สึกกระเหี้ยนกระหือรืออยากลงมือพิสูจน์ทฤษฎีนี้”

คำว่าพอเพียงในความหมายที่เขาได้ฟัง ไม่ใช่แนวคิดสำหรับคนรวยที่มีเหลือเฟือแล้วจึงพอ แต่มันคือหลักปรัชญาที่ช่วยให้ทุกคนมีอยู่มีกินอย่างมั่นคงไม่ว่าจนหรือรวย พูดอีกอย่างว่าเป็นปรัชญาแห่งการพึ่งพาตนเองและการเผื่อแผ่แบ่งปัน แทนที่จะแก่งแย่งแข่งขัน

“ถ้าให้ผมอธิบายคำนี้ ผมขออธิบายตามสำนักอาจารย์ยักษ์ ซึ่งอธิบายด้วยทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ระดับ คือขั้นพื้นฐานกับขั้นก้าวหน้า”

สำหรับขั้นพื้นฐาน 4 ขั้นแรก จะเป็นเหมือนเสาหลัก 4 เสา นั่นคือ พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ซึ่งการจะทำให้ ‘4 พอ’ เกิดได้ เราต้องสร้าง ‘ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง’ นั่นคือ ป่าอาหาร ป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจ ซึ่งจะได้ประโยชน์ข้อที่ 4 คือความร่มเย็นและอากาศบริสุทธิ์ตามมา

“อาจารย์บอก ถ้ามนุษย์เราทำแบบนี้ได้ ไม่ต้องใช้เงินก็อยู่ได้ เออ ก็จริงนะ เพราะมีทั้งของกิน ของใช้ มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ แต่ถ้าใครอยากก้าวหน้าขึ้นไปอีกก็ทำได้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธเงิน ไม่ได้ปฏิเสธการค้าขาย”

แต่ก่อนจะไปถึงขั้นค้าขาย นอกจากต้องผ่าน 4 พอ ในขั้นพื้นฐานแล้ว ก็ต้องผ่านขั้นที่ 5 – 7 นั่นคือ การทำบุญทำทานเพื่อละทิ้งความเห็นแก่ตัว และการแปรรูปเพื่อเก็บไว้กินไว้ใช้ยามวิกฤต ส่วนผลผลิตที่เหลือค่อยนำมาขายในขั้นที่ 8 และสุดท้ายในขั้นที่ 9 ก็คือการรวมตัวเป็นเครือข่ายช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

นี่คือภาพสังคมในระบบเศรษฐกิจพอเพียงที่อาจารย์ยักษ์อธิบายให้ผู้ร่วมอบรมฟัง ซึ่งหากเกษตรกรทุกคนในประเทศทำเกษตรด้วยหลักการนี้ ก็จะแก้ได้ทั้งปัญหาความยากจน ปัญหาสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะพวกเขาจะมีของกินของใช้เพียงพออยู่รอบบ้าน ไม่ต้องเสียเงินมากมายไปกับค่าปุ๋ยค่ายา ต่อให้ราคาพืชชนิดหนึ่งตกต่ำ ก็มีพืชชนิดอื่น ๆ ที่ยังขายได้ ส่วนการแบ่งปันก็จะช่วยสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง ส่วนแนวคิดการปลูกพืชหลากหลายรวมถึงไม้ยืนต้น ก็เท่ากับเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ ดูดซับคาร์บอน และที่สำคัญ คือระบบเกษตรกรรมแบบนี้ไม่มีการเผาไร่อย่างเด็ดขาด เพราะหัวใจของกสิกรรมธรรมชาติคือดิน ดังเช่นที่ผู้ผ่านการอบรมของเครือข่ายทุกคนต้องท่องจำให้ขึ้นใจว่า ‘เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช เพื่อให้พืชเลี้ยงเรา’

“การเผาเกิดจากความไม่รู้ของชาวนา เขาเชื่อว่าถ้าไม่เผาแล้วไถยาก แต่ตัวอย่างเชิงประจักษ์ของชาวนาธรรมชาติ 10 ปี คือเราใช้น้ำหมักสมุนไพรรสจืดพ่นลงในตอซัง ทิ้งไว้ 3 วันแล้วให้รถมาไถ จนปัจจุบันรถไถบอกไถยากเพราะดินมันนิ่มไป เลยต้องปรับสูตรไม่ใส่น้ำและปล่อยให้แห้ง แล้วดินแบบนี้จะร่วนซุย นี่คือดินที่มีชีวิต ส่วนตอซังที่เหลือก็เป็นปุ๋ยอย่างดี”

หลังจากหนาวได้เข้าใจความหมายใหม่ของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ไม่นานหลังการอบรมครั้งนั้น เขาก็กลับมาคุยกับอาจารย์ยักษ์อีกครั้ง พร้อมขอจองคิวอบรม ตั้งมั่นว่าจะพาชาวนาลงมา และบอกอาจารย์ว่าจะขอตั้งชื่อโครงการนี้ว่า ‘ธรรมธุรกิจ’

ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

“ผมบอกอาจารย์ว่า แต่ตอนนี้ผมไม่ใช่เจ้าของโรงสีที่ร่ำรวยแล้วนะ เพราะหลังจากไปกู้ธนาคารเพื่อช่วยจ่ายค่าข้าวให้ชาวนาแทนรัฐบาลใน พ.ศ. 2551 ผมเกือบล้มละลายเพราะไม่มีเงินไปคืนธนาคาร ผมรู้ตัวว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งโรงสีต้องโดนขายทอดตลาด ผมจึงอยากทำธุรกิจนี้โดยชวนคนมาลงขันซื้อหุ้นและเป็นเจ้าของโรงสีนี้ร่วมกัน โดยผมจะบริหารงานเพื่อให้ข้าวธรรมชาติเติบโตมากขึ้น ความฝันคือเราอยากขยายพื้นที่นาธรรมชาติในเชียงใหม่และลำพูนให้ได้สักล้านไร่”

คำตอบที่อาจารย์ยักษ์ตอบกลับมาก็คือ “เอ้า ผมจะเป็นประธานบริษัทให้คุณ ถ้าหากคุณเอาจริงเอาจัง”

แต่การเดินทางไปสู่ความฝันนั้นไม่ง่าย… ไม่ง่ายเลยจริง ๆ

ด่านที่ 1 : เปลี่ยนความเชื่อของชาวนา

“ไม่ใส่ปุ๋ยใส่ยา แล้วจะเอาอะไรแดก”

นี่คือคำพูดที่หนาวได้ยินเต็มสองรูหูจากชาวนา เช่นเดียวกับกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนกสิกรรมไร้สารพิษอีกมากมายที่ล้วนเคยได้ยินคำพูดนี้ ซึ่งอาจารย์ยักษ์ก็เตือนเขาตั้งแต่วันแรกแล้วว่า ทำงานกับชาวนาไม่ง่าย

“อาจารย์ยักษ์บอกว่าอีกอาชีพหนึ่งของชาวนาคือรับจ้างฝึกอบรม เพราะเขาจะถูกส่งไปฝึกอบรมเยอะมาก ธ.ก.ส. อบต. อบจ. ถ้าคุณอยากให้โครงการสำเร็จ คุณต้องไปหาชาวนาหัวไวใจสู้ ส่วนพวกรอดูทีท่าเบิ่งตารอคอยเหงาหงอยจับเจ่าไม่เอาไหนเลยเนี่ย อย่าไปพามา คุณต้องไปจัดเวทีอธิบายว่ามาทำอะไร เพื่ออะไร และจะเจออะไร ไม่ใช่มากินหรูอยู่สบาย เลิกบ่าย 3 ตกเย็นกินเหล้านะ”

เพราะการอบรมที่มาบเอื้องคือเนื้อหาอัดแน่นสุด ๆ เปิดเพลงปลุกตี 5 และกว่าการบรรยายสุดท้ายของวันจะจบก็ปาเข้าไป 2 ทุ่ม 3 ทุ่ม

เมื่อวันจัดเวทีมาถึง อาจารย์ยักษ์ก็ขึ้นไปบรรยายที่ลำพูนด้วยตัวเอง จนมีชาวนายกมือพึ่บพั่บว่าจะมา 300 กว่าคน

“มันคือการท้าทายกัน แล้วผมก็บอกเขาว่า มันมีงานวิจัยว่าข้าวอินทรีย์มีประโยชน์ 3 เด้ง หนึ่ง คือข้าวไม่ค่อยลีบ ทำให้ได้น้ำหนักข้าวเปลือกมากขึ้น สอง คือพอขัดเป็นข้าวกล้องก็ได้น้ำหนักมากกว่า และสาม พอขัดเป็นข้าวขาวก็แตกหักน้อยกว่า และถ้าคุณมาอบรมแล้วทำสำเร็จ ผมจะรับซื้อด้วยราคาสูงกว่าข้าวเคมีเกวียนละ 200 บาท แล้วไม่ใช่แพงเพราะเป็นข้าวสุขภาพนะ แต่แพงเพราะคุณภาพของข้าวเอง”

แต่ความสนใจของชาวนาก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะเมื่อวันอบรมใกล้มาถึง จองรถเสร็จสรรพ จากตัวเลข 300 คน เหลือยืนยันว่าจะมาจริง ๆ แค่ 30 คน

“นี่ขนาดชาวนาไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายอะไรเองเลยนะ ผมบอกแกนนำให้ไปหามาเพิ่ม สุดท้ายก็ได้ชาวนา 80 คน บวกกับพนักงานรีสอร์ตที่เจ้าของฝากมาอีก 10 รวมเป็น 90 คน ปรากฏพอถึงวันแรกของการอบรม มีชาวนาขอกลับบ้าน บอกติดธุระ พอผมยอมให้กลับ ก็กลับกันไป 40 คน”

เมื่อการอบรมจบลง สิ่งที่โครงการขอให้ทุกคนกลับไปทำคือแบ่งพื้นที่ 1 ไร่ ใจกลางผืนนาตนเองมาทดลองทำตามวิธีที่ได้เรียนมา แต่ปรากฏว่าจากชาวนาที่ผ่านการอบรมจำนวน 40 คน มีลงมือทำเพียง 16 คนเท่านั้น และบางส่วนยังมีการใส่ยาเคมีด้วยตามความเชื่อที่ยังคงฝังลึก

การเลิกใช้สารเคมีเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะสิ่งถัดมาที่จะทำให้ชาวนามีอยู่มีกินอย่างยั่งยืน คือการปลูกพืชให้หลากหลายตามแนวคิดบันได 4 ขั้นแรกของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะแทนที่จะปลูกแต่ข้าวแล้วเอาเงินไปซื้อผักผลไม้ ก็แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเพื่อปลูกผักผลไม้เหล่านั้นไว้เอง แถมถ้ามีเหลือก็ยังขายได้

ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก
ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจชวนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ สร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

“พอปีที่ 2 เราก็เข้มงวดมากขึ้นว่าคุณต้องทำป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างนะ เราถึงจะรับซื้อ คือชาวนาเนี่ย ถ้าเราไม่บังคับ เขาก็ไม่ทำ ซึ่งพอทำแล้ว ก็ปรากฏว่าช่วยลดค่าใช้จ่าย พอมีผลผลิตเหลือก็ขายได้อีก มีรายได้เพิ่มขึ้น”

หลังจากการอบรมชาวนารุ่นที่ 2 และ 3 ผ่านไป ทำให้มีชาวนาที่ผ่านการอบรมรวมแล้ว 300 กว่าคน แต่ชาวนาที่เปลี่ยนมาทำนาธรรมชาติตามวิธีที่เรียนมาจริง ๆ มีแค่ 36 ครอบครัว ภายใต้พื้นที่ 900 ไร่

“ก็พิสูจน์ชัดว่าผลผลิตแทบไม่ลดลงจากนาเคมี แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือเขาได้สุขภาพกลับมา ก่อนหน้านี้เขาแทบไม่เคยลงนาตัวเอง จะใส่ปุ๋ยจะพ่นยาก็ต้องจ้าง แล้วเขาไม่กินข้าวที่ตัวเองปลูกนะ เพราะรู้ว่ามันไม่ปลอดภัย แต่พอทำแบบนี้ เขาก็กล้าลงไปเดินในนาของตัวเอง แล้วเก็บข้าวที่ปลูกไว้กินด้วย ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่ามันอร่อยกว่าข้าวเคมี”

แม้ประโยชน์จะเห็นได้ชัดเจน จนทำให้มีชาวนาครอบครัวอื่น ๆ อยากเข้าร่วมด้วย แต่ปัญหาคือตลาดข้าวธรรมชาติเติบโตไปมากกว่า 900 ไร่ไม่ได้ ทำให้ธรรมธุรกิจรับซื้อเพิ่มไม่ได้มากกว่านี้โดยที่ธุรกิจไม่เจ๊ง การพาชาวนาลงมาฝึกอบรมจึงหยุดที่รุ่นสุดท้ายใน พ.ศ. 2559

ดังนั้น หากอยากขยายฐานชาวนาธรรมชาติให้มากขึ้น ก็ต้องทำให้ตลาดเติบโตมากกว่านี้

ด่านที่ 2 : ขยายตลาดข้าวธรรมชาติ

“มันชัดเจนมากว่าพลังของคนกินเปลี่ยนโลกได้ เปลี่ยนประเทศได้ ลองคิดดูว่าถ้าคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลสักล้านคน สนับสนุนข้าวกล้องสันป่าตองของธรรมธุรกิจ เราจะขยายชาวนาธรรมชาติได้ขนาดไหน แต่จะทำยังไงล่ะให้คนกินเข้าใจเรื่องนี้”

ความท้าทายด่านหนึ่งคือความเชื่อที่ฝังรากลึกของชาวนา ด่านต่อมาก็คือความคิดของผู้บริโภค ทำอย่างไรจึงจะทำให้พวกเขาเข้าใจว่าการตัดสินใจเลือกของพวกเขามีความหมายและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้

แม้ว่าราคา ‘ข้าวกล้องเหนียวธรรมชาติสันป่าตอง’ จะอยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ซึ่งเท่ากับราคาข้าวหอมมะลิเคมีทั่วไป และถือว่าถูกมากถ้าเทียบกับข้าวอินทรีย์อื่น ๆ ซึ่งหนาวอธิบายว่าที่เขาทำให้ราคาอยู่เท่านี้ได้ เนื่องจากเป็นโรงสีขนาดใหญ่ ทำให้ต้นทุนต่อกิโลกรัมน้อยลง ซึ่งต่างจากโรงสีชาวบ้านที่จำเป็นต้องขายในราคาสูง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้บริโภคบ่นว่าแพง

“ปัญหาต่อมา คือหลายคนบอกไม่กินข้าวกล้องเพราะแข็ง เราก็พยายามบอกให้ลองก่อน เพราะข้าวกล้องสันป่าตองแตกต่างตรงที่มันนิ่ม ถ้าไม่ชิมก็จะไม่รู้ การทำตลาดข้าวกล้องสันป่าตองจึงไม่ง่าย”

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก
พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

หากคิดแบบคนทั่วไปและอยากแก้ปัญหาง่าย ๆ ก็อาจไปบอกให้ชาวนาเปลี่ยนมาปลูกข้าวหอมมะลิและสีเป็นข้าวขัดขาวที่มีตลาดกว้างกว่า แต่ผู้จัดการไปทั่วแห่งธรรมธุรกิจกลับไม่เลือกเส้นทางนั้น

“ถ้าเราเปลี่ยนไปทำข้าวหอมมะลิก็เท่ากับไปแข่งกับเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์กลุ่มอื่น ทำไมเราต้องไปแข่ง เราส่งเสริมให้กลุ่มอื่นโตได้ด้วยดีกว่า ส่วนข้าวหอมมะลิที่เรารับมาก็มีแค่กลุ่มของพี่โจนที่บ้านศรีฐาน จังหวัดยโสธร ซึ่งก็ไม่ได้มีเยอะมาก”

หากใครได้ลองชิมก็จะรู้ว่ารสชาติของข้าวกล้องเหนียวสันป่าตองมีความพิเศษตรงที่เป็นข้าวเหนียวที่หุงและกินคู่กับข้าวทั่วไปแบบข้าวเจ้าได้ แต่มีความนุ่มหนึบเหมือนข้าวญี่ปุ่นผสมอยู่ และเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ที่เหนือกว่าข้าวขัดขาว ซึ่งหนาวเล่าว่าคนที่เคยชิม 90 เปอร์เซ็นต์ยืนยันว่าอร่อย บางคนถึงขนาดบอกว่าไม่เคยกินข้าวกล้องที่อร่อยขนาดนี้

แต่ถึงกระนั้น การขยายตลาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากงบการตลาดมีจำกัด และการจะไปวางขายในร้านสะดวกซื้อทั่วไปก็มีค่าใช้จ่ายสูง ปัจจุบันจึงเน้นขายออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนห้างหาซื้อได้ที่บิ๊กซีและวิลล่า ริมปิง

แต่เรื่องข้าวธรรมชาติ เป็นเพียงแค่งานเสี้ยวส่วนเดียวของเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

ด่านที่ 3 : เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค

หัวใจของธรรมธุรกิจไม่ใช่เพียงธุรกิจขายข้าว แต่คือการสร้างความเข้าใจของผู้บริโภคให้เห็นความสำคัญของการกินอาหารอย่างรู้ที่มา ทั้งเพื่อสุขภาพตนเองและสุขภาพของโลก

หนึ่งในหนทางไปสู่เป้าหมายนั้น คือการเผยแพร่ความรู้และการทำให้อาหารธรรมชาติเข้าถึงผู้คนได้ง่าย โดยมีเครื่องมือคือ ‘ตลาดนัดธรรมชาติ (พระราม 9)’ ที่เปิดขายสินค้าธรรมชาติจากเครือข่ายทุกเสาร์-อาทิตย์ และร้าน ‘ยักษ์กะโจน’ ซึ่งนอกจากมีผลผลิตไร้สารพิษให้ซื้อกลับไปทำกินเองที่บ้านแล้ว ยังมีโซนร้านอาหารให้คนนั่งกินด้วย ซึ่งจุดเด่นคือเมนูไม่ซ้ำเดิมตามวัตถุดิบที่มีในแต่ละสัปดาห์ ด้วยสโลแกนร้านที่ว่า ‘อร่อยอย่างรู้ที่มา ตามวัตถุดิบที่มี’

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

ดังนั้น หากเดินเข้ามาร้านนี้ ก็อาจได้พบกับผักชื่อแปลก ๆ เช่น ผักเม็ก ผักกะแยง ผักเชียงดา ผักตูน ส่วนอาหารทะเลก็มาจากประมงพื้นบ้านของเครือข่าย แถมบางครั้งพ่อครัวแม่ครัวยังครีเอตเมนูอาหารฝรั่งที่ทำจากวัตถุดิบของไทย

“การกินเพื่อลดโลกร้อน ลด PM 2.5 คือต้องกินให้หลากหลาย เพราะเมื่อคุณกินหลากหลาย คนปลูกก็จะปลูกหลากหลาย ถ้าคุณกินซ้ำเดิม คนปลูกก็ปลูกซ้ำเดิม แล้วการรับซื้อของเรา เราไม่ได้ไปสั่งปลูก เช่น นาย ก. เอาผักบุ้งมา 100 โล นาย ข. เอาคะน้ามา 50 โล เราไม่ทำแบบนั้น แต่คุณกินอะไร คุณปลูกอันนั้น แล้วคุณต้องปลูกให้พอกินก่อน แล้วผลผลิตที่เหลือกินค่อยขายให้เรา”

แม้ความหลากหลายของผลผลิตจะเป็นจุดเด่น แต่ก็เป็นความยากในการขายเช่นกัน เพราะคนเมืองหลายคนมักไม่กินสิ่งที่ตนไม่รู้จัก

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

“เราเห็นกับตา ลูกค้าที่มาร้านยักษ์กะโจนสั่งอาหารที่เคยกินเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว พอไม่มีเดินออกเลย เราก็ต้องมาแนะนำว่าอันนี้คืออะไร กินยังไง ทำอะไรกินได้บ้าง นี่คือความยากของการเปลี่ยนพฤติกรรมคนกิน แต่ที่ผ่านมาเราก็ประสบความสำเร็จนะ บางคนพอพูดให้เขาฟัง เขาก็เริ่มเปลี่ยน จากแต่ก่อนที่ถ้าไม่รู้จักก็ไม่กิน เดี๋ยวนี้กินได้หมดเลย”

ความสำคัญของการปลูกให้หลากหลายคือการนำไปสู่ระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่สร้างความร่มเย็น มีสัตว์ต่าง ๆ ช่วยผสมเกสร ช่วยกำจัดศัตรูพืชตามธรรมชาติ และเมื่อไม่เผาไร่ ผลก็คือมีจุลินทรีย์ที่ดีมากมายในผืนดิน ส่งผลให้ดินอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งอากาศก็ไร้ฝุ่นพิษ ซึ่งเกื้อหนุนไปยังสุขภาพของทุกคน

แต่การทำให้ความเข้าใจนี้เกิดขึ้น ธรรมธุรกิจก็ต้องการผู้ร่วมทางมากกว่านี้

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

ด่านที่ 4 : หาผู้ร่วมทาง

“เราไม่ใช่กลุ่มทุนที่ร่ำรวย แต่เรามีเจตนาที่ให้ทุกคนมาเป็นเจ้าของธุรกิจนี้ร่วมกัน เพื่อเป้าหมายในการสร้างอาหารธรรมชาติแท้ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ความฝันของเราคืออยากขยายสาขาร้านยักษ์กะโจนในโซนกรุงเทพฯ และปริมณฑลให้ครบ 69 เขต 69 สาขา จากปัจจุบันที่มี 3 สาขา คือบรรทัดทอง สัมมากร และโรงเรียนรุ่งอรุณ เราขอแค่คนละ 1 หุ้น ถ้าได้ล้านคนก็ล้านหุ้น ซึ่งก็จะขยายฐานชาวนาธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นอีก”

หนาวเน้นย้ำว่าสิ่งที่เขาอยากได้จริง ๆ ไม่ใช่จำนวนเงินที่ได้จากผู้ถือหุ้น แต่คือ ‘ผู้คน’ ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งบนทางเดินสายนี้ เพื่อสร้างสังคมบนพื้นฐานระบบเศรษฐกิจพอเพียงร่วมกัน และจุดเด่นของระบบหุ้นของธรรมธุรกิจ คือไม่ว่าคนที่ถือหุ้นมากมายกับคนที่ถือหุ้นแค่หุ้นเดียวก็มีสิทธิ์ออกเสียงในการประชุมคนละ 1 เสียงเท่ากัน และไม่ว่าจำนวนผู้ถือหุ้นจะเพิ่มขึ้นแค่ไหน เขาก็จะไม่เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์อย่างแน่นอน

“เราไม่ได้มีเป้าหมายในการหากำไรจากส่วนต่างราคาหุ้น แต่เราอยากได้คนเพื่อมาสร้างสังคมด้วยกัน มารอดจากวิกฤตด้วยกัน”

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

หนาวเล่าว่าในเวทีบรรยายครั้งหนึ่งของเครือข่าย ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เตือนว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าวิกฤตโลกรวนจะสาหัสขึ้น ประเทศไทยจะเผชิญภาวะแห้งแล้ง 4 ปีติดต่อกัน ตามด้วยน้ำท่วมอีก 4 ปี และใน 30 ปีข้างหน้า น้ำทะเลจะหนุนสูง และกรุงเทพฯ จะจมใต้น้ำ

“ถึงวันนั้นจะอยู่กันยังไง กลุ่มเล็ก ๆ ของเราจะเป็นที่พึ่งให้คนไทยได้สักกี่คน ถ้าเราไม่ขยายเครือข่ายให้เพิ่มขึ้น คนเมืองแบ่งปันรายได้ไปสร้างสังคมคนปลูกที่มีความมั่นคง เราเป็นคนกลางที่ให้คนปลูกส่งอาหารมาให้คนกิน ถ้ากรุงเทพฯ น้ำท่วม 3 เดือน เราส่งคุณไปอยู่บ้านคนปลูกได้เลย ลูกศิษย์อาจารย์ยักษ์และพี่โจนมีทั่วประเทศเป็นล้านคน เราอยากได้คนกินล้านคนด้วย เอาด้วยกันไหม มาสร้างระบบสังคมเกื้อกูลและอาหารธรรมชาติแท้กัน”

แม้ตัวเลขล้านคนล้านหุ้นยังอีกไกล โดยทุกวันนี้มีแค่ 17,000 คน กับ 1.7 ล้านหุ้น และการสื่อสารเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย แม้ราคาหุ้นจะเพียงแค่หุ้นละ 101 บาท ที่พอ ๆ กับกาแฟ 1 แก้ว แต่หลายคนก็ยังกังวลในการซื้อ

“บางคนก็กลัวผิดกฎหมาย บอกขายหุ้นโดยไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ไง คือเขายึดกฎหมายเก่า แต่กฎหมายใหม่ในชื่อ พรบ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.​ 2562 อนุญาตให้วิสาหกิจเพื่อสังคมที่รัฐรับรองแล้ว ขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปได้โดยไม่ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ คืออธิบายเรื่องหุ้นก็ยากแล้ว ต้องมาอธิบายเรื่องกฎหมายอีก เราไม่มีทีมสื่อของตัวเอง มันเลยเป็นเรื่องยากในการทำให้คนจำนวนมากเข้าใจเรา”

เมื่อถามว่ากลัวไหมที่หากวันหนึ่งธุรกิจเกิดติดขัด มีเงินไม่พอจ่ายค่าปันผลให้ผู้ถือหุ้นแล้วจะถูกฟ้อง หนาวตอบว่าไม่เคยกลัว เนื่องจากเชื่อว่าทุกคนที่มาซื้อหุ้นมีอุดมการณ์เดียวกัน

“เราสื่อสารตลอดว่าเราไม่ได้มีวัตถุประสงค์ให้คุณมาซื้อหุ้นเพื่อหวังเงินปันผล เราต้องการให้คนมาลงทุนเพื่อสร้างสังคม เราเชื่อมั่นว่าทุกคนมีอุดมการณ์เดียวกัน ใครที่อุดมการณ์ไม่ตรงก็ถอนหุ้นไป หรือบางคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ที่ผ่านมาเดือดร้อนเพราะโควิดก็มีมาขอถอนหุ้นไป 40 กว่าล้านบาท”

แม้เส้นทางนี้จะเต็มไปด้วยอุปสรรค แต่เขาก็ไม่เคยคิดจะหยุด โดยมีหลักคิดง่าย ๆ ว่าทำไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็นอน เพราะเชื่อว่านี่คือสิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นทางรอดในอนาคต

“นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ธรรมธุรกิจก็วางแผนจะทำเรื่องสุขภาพด้วย โดยส่งเสริมการรักษาและป้องกันโรคด้วยวิถีธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร กัวซา นวดกดจุด ไปจนถึงกินอาหารปรับสมดุล ส่วนอีกอย่างคือการท่องเที่ยว ภายในปีนี้เราจะเปิดตัวแอปพลิเคชันที่ให้คนมาจองที่พัก ไม่ว่าจะรีสอร์ต โฮมสเตย์ ฟาร์มสเตย์ ที่เจ้าของเป็นลูกศิษย์ ‘ยักษ์กะโจน’ ที่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของเรา เช่น ทำกสิกรรมธรรมชาติ มีการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการที่พักเพื่อสังคม”

หากเป้าหมายของเศรษฐกิจในระบบทุนนิยมคือการแข่งขันเพื่อกำไรสูงสุด ซึ่งนำมาสู่ปัญหามากมายและทรัพยากรที่สูญสลาย แต่เป้าหมายของเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด ด้วยการสร้างทรัพยากรและคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ผืนดิน จากนั้นพอมีเหลือจึงเผื่อแผ่แบ่งปันและรวมกันเป็นเครือข่ายแห่งความเกื้อกูล

“ถ้าคุณแข่งขันกัน คุณไม่มีทางรอดหรอก แต่ถ้าเราแบ่งปันกัน เราจะรอด”

พิเชษฐ โตนิติวงศ์ เจ้าของโรงสีข้าวที่ชวนทุกคนเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ เพื่อสร้างชีวิตที่ดีให้ชาวนาและลด PM 2.5 ให้โลก

* หากสนใจร่วมลงขันซื้อหุ้นธรรมธุรกิจ แอดไลน์ได้ที่ @Thamturakit

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ