จะว่าไปผลงานของ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ก็ไม่ต่างอะไรจากตัวตนของเขา
สนุกสนาน เปิดกว้าง รักในการทดลอง แปลกแยก ทว่าเป็นมิตร
ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ตัดผมสั้นเกรียนอยู่เป็นนิจ สวมแว่นตาทรงกลม นิยมสวมกางเกงขาสั้น และมักแต่งตัวด้วยไอเท็มสักชิ้นที่มีสีสันโดดเด่นอยู่เสมอ จะมีอายุครบ 60 ในปีหน้า แต่ปัจจุบันเขายังคงทำงานด้วยโลกทัศน์ที่สดใหม่ทุกวัน
แน่นอน, โลกทัศน์ดังกล่าวก็สะท้อนผ่านผลงานที่เขายังคงสร้างสรรค์ออกมาอย่างต่อเนื่อง
สร้างชื่อในวัยหนุ่มตั้งแต่เป็นนักศึกษาสาขาวิชาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทั้งการเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่คว้ารางวัลระดับชาติ รวมไปถึงมีโอกาสจัดแสดงผลงานในเวทีนานาชาติหลายต่อหลายครั้ง หลังเรียนจบจากศิลปากรไทวิจิตหอบพอร์ตฟอลิโอมุ่งหน้าไปยังสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อขอทุนเรียนต่อโดยที่ไม่รู้ว่ามีสถาบันใดบ้างที่นั่นที่เปิดทุนให้นักศึกษาต่างชาติ หากไม่นานเขาก็ได้ทุนจาก Academia Sztuk Pieknych ในเมืองคราคุฟ (Krakow) และถือเป็นศิลปินไทยคนแรกที่เข้าเรียนที่นั่น ก่อนที่เขาจะกลับมาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่ สร้างงานศิลปะที่หลากหลาย และเป็นต้นแบบให้ศิลปินรุ่นหลังอีกมากมาย
งานของไทวิจิตครอบคลุมตั้งแต่งานจิตรกรรมนามธรรม จิตรกรรมสื่อผสมที่เขามักนำวัสดุเหลือใช้อย่างโลหะ แผ่นไม้ กระดาษลัง หรือผ้ากระสอบ มาเป็นวัสดุหลัก ซึ่งยังรวมไปถึงงานประติมากรรมที่สร้างสรรค์จากวัสดุรีไซเคิล งานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ และงานตกแต่งโรงแรม ซึ่งผลงานทั้งหมดล้วนมีลายเซ็นเฉพาะตัว ในแบบที่ใครเห็นก็รู้ว่านี่คือ สุนทรียะแบบไทวิจิต
หลังจากจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดในประเทศไทย We Create Miracle From What We Are ที่ช่างชุ่ย แกลเลอรี่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก่อนจะนำผลงานไปร่วมแสดงในนิทรรศการ The Thick Lines Between Here and There ที่ Owen Jemes Gallery นิวยอร์ก (ร่วมกับ สมลักษณ์ ปันติบุญ, มิตร ใจอินทร์ และ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ) ไทวิจิตก็ได้สร้างสรรค์ผลงาน Opportunity Lies Within You (ผมเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสขึ้นมาจากตัวเอง) และร่วมเป็นหนึ่งในศิลปินรับเชิญในนิทรรศการ ‘แรงบันดาลใจแห่งโอกาส 12 ศิลปกรรม 12 ศิลปิน’ โครงการศิลปะฉลองครบรอบ 50 ปี ของธนาคารทิสโก้ (TISCO) โดยเขาได้สร้างงานจิตรกรรมนามธรรมชิ้นนี้ด้วยสีอะคริลิกบนแผ่นโลหะและกระดานรูปทรงกลมซ้อนกันสองวง
“ผมมานั่งสังเกตคำว่า Opportunity ที่แปลว่า โอกาส และก็พบว่าในตัวอักษรที่ประกอบกัน มันมีตัววาย โอ และยู อยู่ในนั้น ซึ่งเอามาเรียงกันก็คือ You หรือคุณ คือโอกาสมันไม่ได้อยู่ๆ จะลอยขึ้นมาเฉยๆ ได้ แต่มันเกิดจากที่เราเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง พอเริ่มทำมันถึงมีพลังงาน พลังงานนี้แหละที่จะสร้างโอกาส”
ไทวิจิตกล่าวถึงแรงบันดาลใจในผลงานล่าสุดของเขา ก่อนจะเล่าต่อว่า ชีวิตของเขากว่าจะมีวันนี้ หาใช่แค่ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์และทดลองผลงานใหม่ๆ หากสิ่งสำคัญคือการวิ่งคว้าจับโอกาสอยู่เสมอ
“โอกาสคือสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่เราก็สามารถคว้าจับมันเพื่อสร้างให้เกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้” ไทวิจิตกล่าว
ครับ, วันนี้เราจะคุยกับศิลปินเกี่ยวกับชีวิต แรงบันดาลใจ และโอกาส
1.
โอกาสที่เกิดจากความไม่คาดหวัง
ผมเริ่มบทสนทนาโดยการชวนไทวิจิตทบทวนถึงโอกาสทางศิลปะครั้งแรกในชีวิต โอกาสที่หล่อหลอมให้เขาเป็นไทวิจิตเช่นวันนี้
จำได้ไหมว่าศิลปะเข้ามาอยู่ในชีวิตคุณเมื่อไหร่
จำความได้ผมก็ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก ชอบวาดรูปเหมือนจากสิ่งของหรือจากโปสเตอร์หนังนั่นแหละ พอเรียนจบมัธยมก็เลยไปสมัครเรียน ปวช. วิทยาลัยอาชีวศึกษาอาชีวศิลป์ที่กรุงเทพฯ สมัยนั้นผู้ใหญ่ยังมองว่าศิลปะมันเป็นงานเต้นกินรำกิน เป็นศิลปินต้องไส้แห้ง ถ้าเป็นครอบครัวอื่นเขาอาจจะห้าม แต่พ่อแม่ผมไม่ว่าอะไรเลย พ่อผมเป็นคนจีนอพยพมาทำธุรกิจอยู่ปัตตานี เขาไม่เข้าใจว่าศิลปะคืออะไรหรอก แต่โชคดีที่เขาไม่คาดหวังว่าผมจะต้องประกอบอาชีพอะไร เห็นผมอยากเรียน เขาก็ส่งเรียนจนเข้าศิลปากรได้นั่นล่ะ
ตอนนั้นคาดหวังไว้ไหมว่าจะเรียนเพื่อจบออกมาเป็นศิลปิน
ไม่นะ ผมเข้าเรียนเพราะผมพบว่าการวาดรูปคือสิ่งที่ผมทำได้ดีที่สุด ตอนนั้นไม่รู้จักศิลปินเลยสักคน ไม่รู้กระทั่งว่าอะไรคือศิลปะ (หัวเราะ) ก็เรียนๆ เล่นๆ เฮฮาไปกับเพื่อน จนเข้าศิลปากรนี่แหละที่สภาพแวดล้อมใหม่เปิดโลกทัศน์ มีเพื่อนที่อ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ และฟังเพลง แล้วก็รู้จักการทำภาพพิมพ์ และตื่นเต้นกับเทคนิคการทำภาพพิมพ์แบบต่างๆ สุดท้ายเลยเลือกสาขาหลักคือภาพพิมพ์ เรียนเพราะเราอยากทดลองทำงานแบบนี้ แต่อีกล่ะ ก็ไม่ได้คิดว่าต้องจบออกมาเป็นศิลปิน
เป็นเพราะช่วงระหว่างนั้นคุณได้รับรางวัลระดับประเทศ รวมไปถึงมีงานไปแสดงในต่างประเทศตั้งแต่สมัยเรียนหรือเปล่า ที่ทำให้ค่อนข้างแน่วแน่ว่าจะเลือกเดินทางนี้
อาจมีส่วน ผมมองชีวิตและการทำงานในช่วงระยะสั้นๆ มากกว่าน่ะ เช่นว่าช่วงนี้จะทำอะไร เลี้ยงชีพยังไง ประมาณนี้ ไม่ได้คาดหวังว่าในอนาคตยาวๆ จะต้องทำอะไร อย่างช่วงที่เรียนอยู่ มีเพื่อนหรือรุ่นพี่ชวนไปวาดรูปที่ไหนก็ไป มีไปรับจ้างเพนต์เสื้อขายที่ประตูน้ำก็ไป เรามีทักษะที่พอจะทำอะไรแล้วได้เงิน และเราก็สนุกที่ได้ทำเราก็ทำ พอมีงานส่งประกวดแล้วได้รางวัลก็ดีใจ พอพบว่ามีคนชอบงานเรา ขายงานได้ด้วย ก็มีกำลังใจในการทำต่อ เราก็แค่ทำงานต่อมาเรื่อยๆ
ซึ่งพอคุณถามอย่างนี้ทำให้ผมย้อนกลับมาคิดว่าโอกาสแรกในโลกศิลปะที่ผมได้รับมันเกิดจากความไม่คาดหวังต่ออะไรเลยมากกว่าน่ะ คือตั้งแต่พ่อแม่ผมที่เขาไม่คาดหวังให้ผมต้องเรียนในสาขาวิชาชีพที่มั่นคงอย่างเป็นหมอ เป็นข้าราชการ ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าเรียนศิลปะแล้วจะจบออกมาทำอะไร ไม่ได้มีมาตรวัดว่าถึงจุดไหนคือประสบความสำเร็จ พอเริ่มจากไม่ได้คาดหวัง มันก็เหมือนไม่มีกรอบอะไรมาบังคับเรา ไอ้การไม่มีกรอบนี่แหละที่มันส่งแรงเสริมต่อการทำงานศิลปะของตัวเองในอนาคต
2.
โอกาสที่เกิดจากการเดินเข้าหา
กล่าวได้ว่าไทวิจิตเป็นนักเรียนศิลปะชาวไทยคนแรกที่ได้ทุนไปเรียนที่ Academia Sztuk Pieknych เมืองคราคุฟในยุคที่โปแลนด์ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม เขาเดินทางไปใช้ชีวิตที่นั่นปลายปี 1985 สี่ปีก่อนกำแพงเบอร์ลินจะถูกทำลายลง ความน่าสนใจไม่แพ้วิถีชีวิตที่นั่นที่หล่อหลอมวิถีคิดและเส้นทางในการทำงานศิลปะของเขา หากเป็นกระบวนการที่ได้มาซึ่งทุนการศึกษาดังกล่าว…
ในเมื่อยุคนั้นโปแลนด์ไม่เปิดประเทศเช่นตอนนี้ หากจู่ๆ ก็มีนักศึกษาศิลปะจากไหนไม่รู้เดินเข้าไปยังสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐโปแลนด์ประจำประเทศไทย เพื่อขอทุนการศึกษาเสียเช่นนั้น
ทำไมคุณเลือกไปเรียนต่อที่โปแลนด์ แทนที่จะเป็นประเทศในโลกเสรีที่เป็นที่รู้จักมากกว่านี้
ผมรู้จักโปแลนด์เพราะผมเคยมีงานที่ได้รับเลือกให้ไปแสดงที่แกลเลอรี่ที่นั่น ความที่เราได้ร่วมแสดงงาน เขาก็ส่งสูจิบัตรรวมผลงานที่จัดแสดงทั้งหมดมาให้ผม พอได้ดูแล้วก็รู้สึกทึ่งกับคือความเข้มข้นทั้งเชิงเทคนิคและวิธีคิดของผลงานของศิลปินคนอื่นที่มาจัดแสดงมากๆ โดยเฉพาะศิลปินโปลิส ก็เลยประทับใจมาตั้งแต่นั้น พอเรียนจบศิลปากรก็ได้ยินรุ่นพี่เขาพูดถึง พี่ถวัลย์ ดัชนี ที่เดินไปขอทุนการศึกษาที่สถานทูตด้วยตัวเองเลย ก็เลยลองทำบ้าง ตอนแรกไปขอที่สถานทูตเดนมาร์กก่อน แต่ที่นั่นเขามีทุนให้เฉพาะข้าราชการ ก็เลยไปสถานทูตโปแลนด์เป็นแห่งที่ 2 เอาพอร์ตฟอลิโอให้เขาดู จากนั้นก็มีสถาบันศิลปะที่นั่นให้ทุน ผมไปเรียนโปแลนด์อยู่เกือบ 1 ปี
ทราบมาก่อนไหมว่าโปแลนด์เป็นสังคมนิยม ซึ่งในยุคนั้นทัศนคติของคนไทยต่อสังคมนิยมเป็นไปในทางลบ
รู้สิ ก็ทราบอยู่ว่าประเทศเราเนี่ยเกลียดคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ก็ไม่รู้ว่าคอมมิวนิสต์คืออะไร แต่เราไม่ได้อินกับเขา ตอนนั้นผมไม่ใช่คนซ้ายหรือขวาอะไร แค่ตัวเองอยากเรียนศิลปะและโปแลนด์คือที่ที่เราอยากไป คือพอคนอื่นรู้ว่าเราจะไปโปแลนด์เขาก็มาเตือนเรา บอกระวังเรียนจบกลับมาจะโดนสันติบาลตามตัวอะไรอย่างนี้ ผมก็ เออ ช่างเถอะ เพราะที่จะไปก็ไปเรียนศิลปะจริงๆ ถ้ากลับมาแล้วเขาตามเขาก็คงไม่ได้อะไรจากเรา
แล้วครอบครัวคุณว่ายังไง
ไม่ว่าเลย เขาเห็นเราได้ทุนเรียน เขาก็ให้เราไป (หัวเราะ) จริงๆ นอกจากศิลปะและเรื่องพื้นฐาน ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้เลยนะ ภาษาโปลิชผมก็ไม่ได้เลย ดีที่ผมตั้งใจเรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเองตั้งแต่เรียนที่ปัตตานี ก็เลยพอคุยได้อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถึงกับเขียนงานเชิงวิชาการได้หรอก และที่สถาบันที่ผมเรียนก็มีนักศึกษาต่างชาติเยอะ เขาก็ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เลยเอาตัวรอดมาได้
การไปอยู่โปแลนด์เปลี่ยนทัศนคติต่อการทำงานคุณไหม
ค่อนข้างมากเลย คือหลังจากได้ทุน เขาก็เหมือนเอาเรามาไว้ที่หอพักนักศึกษา จากนั้นเราก็เริ่มติดต่อด้วยตัวเองหมด นอกจากในสถานทูตก็ไม่มีคนไทยอยู่ที่นั่นเลย มีคนเอเชียอยู่คนคือคนฟิลิปปินส์ เขามาอยู่ก่อนผม ก็ช่วยแนะนำนั่นนี่ให้
อย่างที่รู้กันว่าโปแลนด์ในตอนนั้นเป็นสังคมนิยม ซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพฯ คนละเรื่องเลย ทุกเดือนต้องไปต่อคิวรับตั๋วเพื่อใช้แทนเงินสด บรรยากาศสังคมค่อนข้างเคร่งครัด ไม่เหมือนบ้านเราที่นึกจะทำอะไรก็ได้ ขณะที่ในคลาสเรียนก็ค่อนข้างเอาจริงเอาจัง งานทุกคนเข้มข้นมาก คือพอประเทศมันมีเงื่อนไขทางการเมืองอยู่ นักศึกษาศิลปะก็พยายามจะแหกกรอบนี้ มีหลายงานที่สะท้อนถึงความโหยหาโลกเสรีนิยมอยู่เยอะ แต่ความที่ผมมาเรียนโดยเป็นการสานต่องานที่เริ่มมาจากเมืองไทยอยู่แล้ว สิ่งแวดล้อมทางการเมืองจึงไม่ได้มีอิทธิพลอะไรต่องานผม แต่เป็นการเรียนรู้เทคนิคและกระบวนการทำงานมากกว่า ที่สำคัญ ผมยังมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศอื่นๆ ในยุโรป ได้ดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ของเขา รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากสถาบันเกอเธ่ได้เอาผลงานผมไปจัดแสดงที่เยอรมนี ช่วงนั้นได้เห็นอะไรเยอะ
หลังจากคุณเรียนจบกลับมา ทำไมเลือกมาอยู่ที่เชียงใหม่
พอไปเรียนมาเราก็ร้อนวิชาน่ะ แล้วพอดีรุ่นพี่ผมที่ศิลปากร อาจารย์พงศ์เดช ไชยคุตร เขามาสอนที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ความที่ผมไม่มีเงินซื้อแท่นพิมพ์ก็เลยไปขอที่คณะเขาใช้ทำงาน อาจารย์พงศ์เดชก็เลยบอกว่า ทำไมไม่มาสอนเสียเลยล่ะ ผมก็ตอบตกลง สอนอยู่ได้ 3 ปีก็พบว่าตัวเองชอบทำงานมากกว่าสอนหนังสือ เลยออกมาทำงานเต็มตัว ตอนนั้นก็ไม่ได้อยู่เชียงใหม่ตลอดนะ ได้ซื้อที่ดินที่เป็นบ้านปัจจุบันไว้ แต่ก็ไปๆ มาๆ เชียงใหม่กับกรุงเทพฯ จนปีช่วงปี 2550 นี่แหละที่ค่อยมาปลูกบ้านและทำสตูดิโออยู่เชียงใหม่ถาวรเลย
3.
โอกาสที่เกิดจากการทบทวนตัวเองอยู่เสมอ
ก่อนที่ไทวิจิตจะสร้างชื่อในวงกว้างจากผลงานจิตรกรรมนามธรรม เขายอมรับว่าก่อนหน้านี้เขาไม่รู้สึกประทับใจอะไรกับงานจิตรกรรมของลัทธินี้ หรือแม้แต่งานแนวอิมเพรสชันนิสม์เลย หากภายหลังที่ศิลปินที่สร้างชื่อในระยะแรกจากการทำภาพพิมพ์ หันมาเริ่มทำงานจิตรกรรมรวมไปถึงงานแขนงอื่นๆ ความไม่ประทับใจแต่แรกกลับส่งอิทธิพลให้เขาสร้างงานประเภทนี้ให้เป็นที่ประทับใจแก่คนส่วนใหญ่
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เขาบอกผมว่า อาจเป็นเพราะการที่เขาชอบย้อนกลับมาทบทวนความคิดและความเชื่อตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งคุณสมบัตินี้ยังเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญต่อการสร้างงานของเขาในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน
คุณเริ่มต้นทำงานศิลปะจากภาพพิมพ์ อะไรเป็นจุดเปลี่ยนให้คุณหันมาทำงานจิตรกรรม
คนที่มีบทบาทสำคัญน่าจะเป็น อาจารย์เกศ ชวนะลิขิกร เพื่อนศิลปินที่ผมมารู้จักขณะที่ผมสอนอยู่ที่เชียงใหม่ อาจารย์เกศแกทำงาน Abstract Expressionism ผมเห็นว่าน่าสนุกก็เลยลองทำบ้าง ก็ทำเพนติ้งบนผ้าใบ 2×3 เมตรเลย ทุกวันนี้ยังเก็บงานนั้นอยู่
เอาเข้าจริง สมัยเป็นนักศึกษาผมเคยดูงานพวก Abstract Expressionism โดยเฉพาะจากศิลปินฝั่งเยอรมนีแล้วผมไม่ชอบเลย จนมีโอกาสตอนไปเรียนที่โปแลนด์และได้ไปดูงานจริงที่มิวเซียมในเยอรมนีนี่แหละ ก็ไม่ถึงกับเปลี่ยนความคิดอะไรหรอก แต่ดูๆ ไปก็รู้สึกว่าน่าสนใจแล้วมันค่อยๆ สั่งสมมาด้วย สุดท้ายก็พบว่าเราสนุกกับการสร้างงานแนวนี้น่ะ
จริงๆ ผมไม่ได้เปลี่ยนมาทำงานจิตรกรรมอย่างเดียวนะ คือพอกลับจากโปแลนด์และมาสอนที่เชียงใหม่สักพัก ระหว่างที่ทำภาพพิมพ์ไปก็รู้สึกอยากทดลองงานในแขนงใหม่ๆ คือไม่จำกัดว่าเราเป็นศิลปินภาพพิมพ์อย่างเดียว ยิ่งภายหลังได้ทุนไปทำงานศิลปะที่แวนคูเวอร์ (แคนาดา) แล้วมีโอกาสไปหาอาจารย์คามิน (เลิศชัยประเสริฐ) ที่อเมริกา ก็ได้ไปดูงานที่หลากหลายขึ้น พอมานั่งทบทวนตัวเองก็พบว่าประสบการณ์เหล่านี้มันสั่งสมให้เราไม่ทำงานที่หยุดอยู่กับแบบฟอร์มเดิมๆ ด้วย
ทราบมาว่าพอคุณมีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก งานคุณก็ถูกนักสะสมซื้อไปจนหมด จากนั้นคุณก็กลายเป็นศิลปินร่วมสมัยที่มีชื่อเป็นอันดับต้นๆ ของบ้านเรา คุณเคยทบทวนบ้างไหมว่าเหตุใดชีวิตคุณในฐานะศิลปินจึงประสบความสำเร็จเร็วนัก
ผมไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จอะไรนะ คือมีทั้งช่วงที่สมหวังและผิดหวังปนๆ ไปตลอดนั่นแหละ จริงอยู่ที่ว่าพอได้มีนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก งานผมขายหมด แต่อย่าลืมว่าตอนนั้นผมเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีชื่ออะไร งานที่ขายก็ไม่ได้แพงมากนัก ก็เลยขายหมด แล้วใช่ว่าหลังจากนั้นงานผมจะขายได้ดีตลอด บางช่วงทำงานออกมาแล้วขายไม่ได้เลยก็มี แต่ผมก็แค่ทำงานของตัวเองต่อไป และพยายามบาลานซ์ชีวิตในฐานะศิลปินต่อไป ผมมองว่าการประสบความสำเร็จมันเป็นแค่ช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เดี๋ยวมันก็ผ่านไป เลยไม่ได้คิดอะไรกับเรื่องนี้เท่าไหร่
ที่บอกว่าพยายามบาลานซ์ชีวิตในฐานะศิลปิน หมายความว่ายังไง
ก็ไปทำอย่างอื่น (หัวเราะ) ผมไม่ได้จำกัดตัวเองจนไม่มีทางออก อย่างศิลปินคนอื่นมองว่าการเป็นศิลปินแล้วรับงานเขียนภาพประกอบให้หนังสือมันเป็นงานที่ต่ำต้อย หรือการไปเพนต์เสื้อ หรือทำของที่ระลึก เพื่อรับใช้การค้าทำนองนี้ แต่ผมเห็นต่างกับคนที่คิดแบบนี้ มันไม่เห็นเสียหายตรงไหน แถมยังสนุกอีกต่างหาก
ผมชอบทำภาพประกอบหนังสือ เพราะมันทำให้ผมได้อ่านความคิดของคนอื่น มันเป็นการฝึกให้เราได้คิดใคร่ครวญและตีความ เป็นการฝึกฝนความคิดของเราไปในตัวด้วย หรือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรือการทำโรงแรม ที่ศิลปินมองว่ามันไม่ใช่งานศิลปะแต่เป็นการออกแบบ แต่ผมก็ไม่ได้คิดแบบนั้น ผมแค่แยกนิดหน่อยว่างานนี้เหมาะกับเราไหม ถ้าไม่เหมาะก็ไม่ทำ ตราบใดที่งานที่ผมทำเกิดมาจากความคิดของผมเอง และสนุก ผมก็มีความสุขที่จะทำทั้งนั้น
อย่างที่บอกแหละ มีหลายครั้งไปที่งานศิลปะของผมขายไม่ออก แต่ที่อยู่ได้ก็เพราะได้เขียนภาพประกอบ หรือทำนั่นนี่ไป ได้ทำงานหลากหลาย ยังได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ มาด้วย ชีวิตมีสีสันดี
เคยคิดจะทำงานศิลปะเอาใจตลาดบ้างไหม เช่นว่าคอลเลกชันประมาณนี้ของคุณขายดีมาก คอลเลกชันต่อไปคุณก็ยึดรูปแบบเดิมเสียเลย
ไม่เคย จริงที่ว่าศิลปินอยู่ได้เพราะขายงานศิลปะ แต่ผมมองว่าการอยู่ได้ก็ต้องมีระดับด้วย หมายถึงถ้าผมทำงานประมาณนี้แล้วขายได้ในระดับหนึ่งผมก็พอใจ แต่ให้ทำงานแบบเดิมๆ เพื่อให้ได้ขายงานได้มากๆ มันก็ไม่ใช่ ถ้าทำแต่งานเดิมซ้ำๆ ถึงจะขายได้ มันก็น่าเบื่อ ในเมื่อเรายังเบื่องานตัวเองที่ออกมาแบบเดิมเลย คนดูก็ต้องเบื่อเหมือนกัน
ผมว่าความท้าทายหนึ่งของการทำงานในฐานะศิลปินก็คือเราจะทำยังไงไม่ให้ความเคยชินครอบงำ เพราะถ้าเมื่อไหร่เราทำงานเพราะความเคยชินเนี่ยงานจะไม่สนุกแล้ว สิ่งสำคัญคือ การต้องตรวจสอบตัวเราเองตลอด แต่ขณะเดียวกันความเคยชินที่เป็นข้อดีต่อการสร้างงานของเราอยู่ มันมีประโยคหนึ่งของ โยจิ ยามาโมโต้ (Yohji Yamamoto-ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น) ที่บอกว่า “ด้วยสายตาของฉันที่หันกลับไปมองอดีต ฉันเดินกลับหลังไปสู่อนาคต” (With my eyes turned to the past, I walk backwards into the future.) เป็นประโยคที่ผมชอบมาก มันย้ำเตือนให้ผมคอยทบทวนสิ่งที่ผ่านมาในอดีตเพื่อก้าวไปสู่อนาคต ทำนองนี้
ในขณะที่ศิลปินบางคนมองว่าศิลปะคือเครื่องมือในการส่งผ่านคุณค่าหรือแนวคิดอื่นๆ เช่น ความเห็นทางการเมือง สังคม ศาสนา ฯลฯ แล้วคุณเองคิดว่าศิลปะจำเป็นจะต้องสะท้อนคุณค่าอื่นอย่างที่ว่าไหม
ศิลปินแต่ละคนย่อมมีวิธีการและจุดมุ่งหมายในการทำงานแตกต่างกัน ที่น่าสนใจคือ พอหันมาย้อนมองก็พบว่าความคิดในแต่ละช่วงแตกต่างกันเหมือนกัน แต่ก่อนผมทำงานเพื่อสนองความงามเป็นหลัก แต่ช่วงหลังมานี้ผมทำงานเพื่อทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น องค์ประกอบหลักในงานของผมคือความพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของตัวเองอยู่เสมอ ซึ่งผมมองว่าสิ่งนี้เป็นวิธีการในการทำงานศิลปะเชิงสังคมการเมืองแบบหนึ่ง เพราะตราบใดที่เรามองว่ามนุษย์ทุกคนคือส่วนหนึ่งของการเมือง และเราไม่สามารถหนีมันไปได้ การทำงานที่ชวนให้เราทบทวน ปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของตัวเราเองอยู่เสมอ หรือการเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเราก่อนนี่แหละ ที่เป็นกุญแจให้สังคมเราขับเคลื่อนไป อีกอย่างผมมองว่าการทำงานด้วยพลังงานที่ดีและใส่มันไปในชิ้นงาน เวลามีคนมาเห็นแล้วเขาสัมผัสพลังงานที่ดีนั้นของเรา มันก็เป็นเรื่องดีต่อคนอื่นจริงไหม
คุณมองว่าการเปลี่ยนแปลงสังคมควรเริ่มจากการปรับปรุงวิธีคิดของตัวเอง
มันไม่สามารถเปลี่ยนเชิงโครงสร้างได้หรอก แต่ไม่ว่ายังไงพลังงานก็ต้องเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนจากตัวเราเอง ขณะเดียวกันยุคสมัยมันก็จะขับเคลื่อนไปข้างหน้าจากพลังงานเหล่านี้ การที่เราไม่หยุดทบทวนจะทำให้เราตระหนักว่าโลกมันหมุนไปข้างหน้าอยู่เสมอและไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน อย่างสังคมบ้านเราตอนนี้เป็นเผด็จการใช่ไหม แต่มันจะอยู่ได้นานแค่ไหนกัน ในเมื่อโลกหมุนไปถึงไหนแล้ว คุณไม่มีทางแช่แข็งเพื่อควบคุมอำนาจอย่างนี้ต่อไปได้ คุณดูแค่วงการแมกกาซีนหรือกล้องฟิล์มก็ได้ เมื่อก่อนมีอิทธิพลแค่ไหน แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันเข้ามาทดแทนหมด ผู้คนในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ต้องปรับตัวไปทำอย่างอื่นเพื่อให้อยู่รอด ยุคสมัยเปลี่ยน ถ้าคุณยังดื้อดึงในอำนาจอย่างนี้และไม่ปรับตัว คุณก็แค่รอวันตาย
เพราะผู้มีอำนาจทุกวันนี้ไม่เคยคิดทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำ
ไม่ถึงกับต้องมองภาพใหญ่ ลำพังแค่ในแวดวงศิลปะก็เห็นชัด ยิ่งคุณมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกเศร้าใจมากเท่านั้น ดูอย่างประเทศที่เจริญแล้วอย่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น หรือกระทั่งใกล้ๆ อย่างสิงคโปร์ แทบทุกเมืองมีพิพิธภัณฑ์ที่ทำได้ดีหมด ไม่ใช่แค่ศิลปะนะ แต่พิพิธภัณฑ์ความรู้เฉพาะทางเขาก็เยอะ คือเขาเพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้คนในเมืองเขาจริงๆ ไม่ใช่แค่ให้มีไปอย่างนั้น
ถ้าเราไปพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศเราจะเห็นเด็กตัวเล็กๆ มาเรียนเขียนรูป หรือมาทำกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่ตลอด นี่คือห้องเรียนที่อยู่นอกโรงเรียนน่ะ คือเขาไม่มีโรงเรียนกวดวิชาที่ต้องติวเด็กอย่างหนักเพื่อให้สอบเข้าสถาบันนั้นนี้ให้ได้ แต่ขณะเดียวกันการศึกษาบ้านเราคือบังคับให้เด็กต้องเรียนไปตามหลักสูตร ตามค่านิยมหลัก ต้องมีมาตรฐานแบบเดียวกัน ไม่เปิดให้พวกเขาได้สำรวจความชอบของตัวเองเลย คุณอาจมองว่าจะเอาเราไปเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วได้อย่าไร แต่ผมมองว่าทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ ที่ทำไม่ได้เพราะคุณเริ่มต้นมาก็ผิดแล้ว ก็เพราะคุณไปบังคับให้เด็กทุกคนเข้าสู่วงจรที่ผิดธรรมชาติมาตั้งแต่แรก คุณจะคาดหวังความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้อย่างไร ในเมื่อคุณตีกรอบให้พวกเขาเดินตั้งแต่เริ่ม แล้วก็ไม่สนใจว่าโลกเขาไปถึงไหนแล้ว
4.
โอกาสเกิดจากการลงมือทำ
ไทวิจิตสรุปให้ผมฟังว่า การเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาสังคมไม่จำเป็นต้องมีวิธีการแสดงออกวิธีเดียว และสิ่งสำคัญคือการเริ่มลงมือทำ เพราะตราบใดที่ยังไม่เริ่ม ก็อย่าหวังว่าโอกาสจะเดินมาหาเรา
เวลาคุณทำงานศิลปะ ปกติคุณจะคิดงานขึ้นมาก่อนหรือลงมือทำก่อน
ไม่แน่นอน บางงานเรามีธีมในหัวแล้ว ก็ค่อยๆ ทำออกมา แต่ส่วนใหญ่ผมจะเริ่มจากลงมือก่อน ไม่อยากกดดันตัวเองกับกรอบที่วางไว้มาก หรือถ้าเกิดให้ผมคิดก่อนลงมือทำมากๆ ก็อาจไม่มีวันได้ทำ ผมมองว่าความคิดสร้างสรรค์มันเกิดจากการกระทำ นี่คือสิ่งที่ผมประสบด้วยตัวเอง เหมือนพอได้ทดลองเอาสิ่งนั้นประกอบเข้ากับสิ่งนี้ เดี๋ยวมันจะต่อยอดได้เอง การทำงานศิลปะของผมมันจึงเป็นเหมือนการทดลองไปพร้อมกัน พอยิ่งลงมือทำแล้วมันเกิดพลังงาน พลังงานนี้แหละที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากทำงานต่อ ผมเลยเป็นคนไม่ค่อยหยุดทำงาน คือมีพักบ้างแต่ก็ไม่นาน พยายามทำงานให้ได้ทุกวัน
เคยคิดจะเกษียณบ้างไหม
ไม่นะ ผมสนุกกับการทำงานจนไม่คิดว่ามันเป็นงานเลย มันเป็นการใช้ชีวิตของผมไปแล้ว ยิ่งทำงานก็ยิ่งพบโอกาสในการสร้างงานใหม่ๆ อยู่เสมอ โอกาสมันไม่เป็นรูปธรรม มันจับต้องไม่ได้ แต่ยิ่งเราทำงานมากเข้าๆ… ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทุกวันนี้ที่ยังทำงานอยู่เป็นเพราะเรายังมีพลังงาน หรือเพราะเราทำงานเราจึงมีพลังงาน หรือเป็นไปได้ทั้งสองทาง แต่พลังงานตัวนี้มันสร้างโอกาส
อย่างผลงานที่ผมทำล่าสุด Opportunity Lies Within You (ผมเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะสร้างโอกาสขึ้นมาจากตัวเอง) ก็เป็นผลลัพธ์จากมุมมองแบบนี้ คือผมเชื่อว่าโอกาสมันเป็นนามธรรม แต่มันไม่ได้อยู่ที่ไหนหรอก มันอยู่ในตัวเรา แต่ถ้าเราอยู่เฉยๆ เราจะไม่มีวันหามันเจอหรอก
ถ้าสังเกตเข้าไปในงานชิ้นนี้จะมีวงกลม 2 วงซ้อนกัน ผมคิดว่าวงกลมดูแล้วมันไม่อยู่นิ่ง มันมีการเคลื่อนไหว แล้วมันซ้อนกัน แล้วมันก็มีสีที่มันคล้ายหยดสีทรงกลมอีก คือเป็นเลเยอร์ที่อาจมาจากเหตุการณ์ที่เราพบเจออะไรก็ตาม เป็นเลเยอร์ของเหตุการณ์ทับซ้อนที่ผมมองว่ามันเป็นประสบการณ์ ผมอยากให้เห็นมิติของพลังงานที่เคลื่อนเข้าไปถึงโอกาส ซึ่งอย่างที่บอกว่าโอกาสมันไม่ได้ลอยมาหาเราง่ายๆ มันต้องออกแรง มันต้องค้นหา ต้องสะสมประสบการณ์ โอกาสมันถึงจะเกิด
ติดตามเว็บไซต์ที่รวบรวมศิลปะของธนาคารทิสโก้เพิ่มเติมได้ที่ www.tiscoart.com