หลายครั้งที่เรามักพบว่าเลข 12 มีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการบรรจบกันของเวลาเมื่อเข็มยาววนไปแตะเลข 12 การบรรจบกันของปีเมื่อเปลี่ยนหน้าปฏิทินเป็นเดือน 12

สำหรับคนจีนนั้นเลข 12 นอกจากจะสื่อถึงรอบปีเกิดแล้วยังมีความหมายลึกซึ้งถึงเพื่อน 朋友 (Péngyǒu) ครอบครัว 家人(Jiārén) และคนรัก 恋人(Liànrén) เพราะตัวอักษรจีนทั้งสามคำนี้เกิดจากการลากเส้น 12 เส้นเข้าด้วยกันผสมรวมเป็นตัวอักษรที่มีความหมายถึงคนสำคัญต่างๆ รอบตัวเรา

เช่นเดียวกับนิทรรศการ Thainess, Thai Contemporary Architecture Exhibition นี้

นิทรรศการ Thainess

นี่คือการรวมตัวครั้งสำคัญของผลงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย 12 งานจากบริษัทสถาปนิกไทย 12 บริษัท ได้แก่ Walllasia, Stu/D/O Architects, Studiomake, Situation based Operation (SO), Research Studio Panin, Duangrit Bunnag Architect Limited, Department of ARCHITECTURE, Community Architects for Shelter and Environment (CASE), CHAT architects, Bangkok Project Studio, Architectkidd และ all(zone)

นิทรรศการ Thainess

เบื้องหลังงานคือฉันและเจอร์รี่ หรือ Jen Chieh Hung จาก HAS design and research ภัณฑารักษ์และนักออกแบบนิทรรศการผู้เคยจัดนิทรรศการเช่นเดียวกันนี้ในเซี่ยงไฮ้ไปเมื่อกลางปีที่แล้ว

นิทรรศการนี้จัดแสดงอยู่ในอาคาร Guangzhou Urban Planning Center ที่ออกแบบโดย He Jintang สถาปนิกชื่อดังชาวจีนผู้ออกแบบอาคาร China Pavillion ในงานเอ็กซ์โปที่เซี่ยงไฮ้ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 800 ตร.ม. กับงบประมาณอันจำกัด พวกเราจึงตีกรอบพื้นที่ให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้งบประมาณที่มีสามารถครอบคลุมผลงานให้อยู่ในมาตรฐาน เน้นการเชิญชวนให้ผู้ชมค้นหาความหมายของความเป็นไทยร่วมสมัยผ่านผลงานสถาปัตยกรรม 12 งานที่จัดแสดงอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า หลิงหนาน (Lingnan)

นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess

หลิงหนานเป็นอาคารพื้นถิ่นในมณฑลกวางตุ้ง เอกลักษณ์ของอาคารหลิงหนานคือตรอกทางเดินแคบๆ กว้างประมาณ 4 เมตร ขนาบด้วยกำแพงอิฐสูง 6 เมตรจากอาคารทั้งสองข้าง โดยตรอกแคบนี้จะช่วยเร่งความเร็วลมให้พัดลมเย็นเข้ามาในอาคารและช่วยบดบังแสงแดดที่สาดเข้ามา ทางเดินในตรอกจึงให้ความรู้สึกเย็นพร้อมบรรยากาศสลัวๆ แต่เมื่อก้าวพ้นประตูเข้ามาในอาคารกลับจะพบลานขนาดกะทัดรัดที่โอบล้อมด้วยอาคาร และมีแสงจ้าจากภายนอกสาดเข้ามาเนื่องจากไม่มีหลังคาปกคลุม สร้างความประหลาดใจให้ผู้เยี่ยมชมและสื่อถึงลักษณะของอาคารพื้นถิ่นในกว่างโจวได้เป็นอย่างดี

นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess

เมื่อเราพบว่าพื้นที่จัดนิทรรศการมีลักษณะใกล้เคียงกับอาคารหลิงหนาน แนวความคิดในการผสมผสานความเป็นไทยร่วมสมัยกับเอกลักษณ์ของบริบทท้องถิ่นจึงเกิดขึ้น

เริ่มจากทางเดินเข้านิทรรศการที่ได้จำลองขอบเขตของผนังทั้งสองข้างด้วยผ้าม่านสีขาวโปร่งพลิ้วไหว มีลายมือภาษาไทยระบุชื่อบริษัทสถาปนิกทั้งสิบสองบริษัท ก่อตัวรวมกันเสมือนก้อนอิฐบนอาคารหลิงหนาน พาผู้ชมเดินเข้าไปสู่ตัวนิทรรศการด้านใน

นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess

เมื่อก้าวผ่านบอร์ดทางเข้า ภาพถ่ายของ 12 โครงการถูกวางเรียงตัวกันอย่างต่อเนื่องในแนวนอนโอบล้อมผู้ชม ในขณะที่แบบรายละเอียดของแต่ละโครงการห้อยโยงระย้าบนฝ้าล้อเลียนกับลักษณะความโค้งของหลังคาอาคารหลิงหนานกลับทำให้นึกถึงความเป็นไทยได้อย่างอัศจรรย์ใจ

นิทรรศการ Thainess

นี่เป็นตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างเอกลักษณ์ของบริบทที่ตั้งกับความเป็นไทยที่ถูกรังสรรค์ในแบบร่วมสมัยได้อย่างลงตัว

ในวันเปิดงานนิทรรศการเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรายังได้ อมตะ หลูไพบูลย์ หัวเรือใหญ่ของบริษัท Department of ARCHITECTURE มาร่วมบรรยายถึงแนวทางการออกแบบของบริษัทในหัวข้อ Sense and Sensibility ซึ่งเล่าถึงส่วนผสมของงานที่มีทั้งเหตุผลและความรู้สึก คละเคล้ากันได้อย่างลงตัว จึงเป็นที่มาของงานดีๆ ไม่ว่าจะเป็น The Commons, TCDC, Hilton พัทยา, SALA Phuket ฯลฯ รวมถึงงานล่าสุด The Mist Hot Spring Hotel ที่เมือง Xuchang ประเทศจีน อีกด้วย

นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess

นอกจากนี้ เจอร์รี่ก็ได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ Thainess Architecture ที่เขาตั้งข้อสังเกตได้น่าสนใจว่า “ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้คำจำกัดความของความเป็นไทยว่ามีลักษณะแบบไหน แต่สิ่งที่น่าค้นคว้านั้นกลับเป็นการเรียนรู้และเข้าใจในวิถีของคนไทย”

เจอร์รี่ใช้เวลาค้นคว้าหาข้อมูลของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในไทยอยู่หลายปี แต่ถึงตอนนี้เขาก็ยังหาข้อสรุปของความเป็นไทยในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยไม่ได้อย่างชัดเจน เขาจึงสรุปกับตัวเองว่าไม่ควรไปเสียเวลาหาคำนิยามนี้จากเรื่องราวในอดีต แต่ให้มองไปที่ผลงานในปัจจุบันที่จะสร้างความเป็นไทยแบบใหม่ เป็นเอกลักษณ์ใหม่ และเป็นความทันสมัยแบบใหม่ในสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของเมืองไทย เหมือนกับผลงานของสถาปนิกทั้งสิบสองบริษัทที่เขานำมาจัดแสดง

นิทรรศการ Thainess นิทรรศการ Thainess

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ 12 ผลงานจากสถาปนิกไทยทั้งสิบสองบริษัทสามารถมารวมตัวกันในจีน ทำให้ชาวจีนที่นี่ตื่นตัวและให้ความสนใจกับนิทรรศการนี้มาก มีหลายคนนั่งเครื่องบินมาจากเมืองอื่นเพื่อมาร่วมงานนี้โดยเฉพาะ

รัฐบาลจีนและสถานกงสุลไทย ณ นครกว่างโจว ผู้สนับสนุนการจัดงานนี้ ต่างหวังว่าการบรรจบกันของอิฐทั้งสิบสองก้อนจะนำไปสู่นิทรรศการอื่นๆ จากศิลปินไทย และเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้นิทรรศการงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยของไทยได้วนกลับมาจัดอีกครั้งในทุกๆ ปี

เช่นเดียวกับความหมายของเลข 12 ที่เปรียบเสมือนการเริ่มต้นใหม่และกลายเป็นสิ่งสำคัญที่คนจีนจดจำมิลืมเลือน

นิทรรศการ Thainess

นิทรรศการจะเปิดให้ชมจนถึงวันที่ 25 เมษายนนี้ ที่ Guangzhou Urban Planning Center เมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

Writer & Photographer

Avatar

กุลธิดา ทรงกิตติภักดี

คนกรุงเทพฯ ที่ทำบริษัทออกแบบที่เซี่ยงไฮ้ ควบคู่ไปกับการเป็นอาจารย์พิเศษ และเขียนบทความให้นิตยสารด้านการออกแบบเป็นครั้งคราว เคยออกพ็อคเกตบุคกับสนพ.Lizenn ชื่อ ตึก ตึก โป๊ะ