สถานการณ์โรคระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้การเดินทางและการท่องเที่ยวหยุดชะงักไปก็ไม่น้อย ความคิดถึงการเดินทางด้วยรถไฟมันก็คุกรุ่นอยู่ในใจ อยากคว้ารองเท้าผ้าใบออกมาสวม เอาเป้มาสะพาย เอากล้องออกไปส่องโลกบนสองรางเหล็กให้หายคิดถึง
จนเมื่อความคลี่คลายค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา ล้อเหล็กที่เคยหยุดนิ่งกลับมาหมุนวนบนรางเหล็กอีกครั้ง รถไฟขบวนยาวเริ่มเดินทางต่อแม้สมาชิกจะไม่ครบทุกขบวนก็ตาม
และนี่คือภาพถ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บนเส้นทางรถไฟประเทศไทย
#01
ขบวนสุดท้าย…ก่อนบายเธอ
สะพานมิตรภาพไทย-ลาว หนองคาย-ท่านาแล้ง

ก่อนการระบาดใหญ่จนต้องปิดพรมแดนระหว่างประเทศ รถไฟขบวนน้อยน่ารักที่เชื่อมการเดินทางระหว่างไทย-ลาว วิ่งข้ามประเทศเป็นครั้งสุดท้าย โดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าการงดรถไฟระหว่างประเทศจะกินเวลายาวเป็นปี
ทางรถไฟจากไทยข้ามไปลาวใช้สะพานเดียวกับถนน รางเหล็กถูกฝังอยู่บนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ข้ามแม่น้ำโขงที่เป็นพรมแดนธรรมชาติ เมื่อขบวนรถไฟมาถึง ถนนจะถูกกั้นทั้งสองฝั่ง จนกว่ารถไฟขบวนน้อยจะวิ่งข้ามไปจนถึงอีกฝั่งการจราจรบนถนนจึงกลับมาเป็นปกติ
นี่เป็นขบวนสุดท้าย ก่อนบายเธอไป…เกือบ 2 ปี
#02
คนดูรถ
สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) กรุงเทพมหานคร

ในทุก ๆ วัน รถไฟทุกตู้จะต้องถูกเช็ดถูภายนอกและภายในรถ ภายนอกรถอาจจะเป็นส่วนที่สกปรกง่ายที่สุด เพราะต้องวิ่งฝ่าแดดลมฝนฝุ่นในแต่ละวัน มดงานเหล่านี้มีหน้าที่ชำระล้างก่อนรถไฟจะออกจากสถานี
ไม่ใช่เพียงแค่ข้างนอก แต่ข้างในเองก็เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงที่โรคระบาดแพร่ใหม่ ๆ งานทำความสะอาดต้องเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัวเพื่อเช็ดเบาะที่นั่งทุก ๆ ที่ ให้เราได้นั่งรถไฟกันอย่างสบายใจ
#03
คนดูราง
สถานีบ้านด่าน จ.อุตรดิตถ์

ในทุก ๆ วัน ที่รถไฟวิ่งบนรางเหล็กย่อมมีความชำรุดเกิดขึ้นจากการใช้งาน คนดูแลรางของฝ่ายโยธาจำเป็นต้องตรวจสภาพทางทุก ๆ วันด้วยรถยนต์รางหรือที่เรียกกันว่ารถต๊อก
รถเหล็กหน้าตาน่ารักสีเหลืองส่งเสียงดัง ต๊อก ๆๆๆๆๆ พร้อมธงสีแดงปักเอาไว้ เป็นสัญญาณให้เรารู้ว่า หน้าที่ของคนตรวจทางได้เริ่มขึ้นในช่วงเช้าของทุกวัน เพื่อสอดส่องสายตาหาความชำรุดเล็ก ๆ น้อย ๆ และจัดการซ่อมแซมให้การเดินทางด้วยรถไฟปลอดภัยต่อไป
#04
รอคอย
สถานีพิจิตร จ.พิจิตร

แม้ในช่วงที่งดวิ่งรถไฟไปหลายขบวน ตามมาตรการของรัฐเพื่อลดการเดินทางระหว่างจังหวัดและเคอร์ฟิวในช่วงเวลากลางคืน จนรถไฟข้ามคืนต้องงดให้บริการทุกขบวน แต่กระนั้นแล้วชีวิตของคนที่ยังจำเป็นต้องเดินทางยังคงมีอยู่ จนการผ่อนคลายเกิดขึ้นในช่วงระยะหนึ่ง มีการเปิดขบวนรถสายยาวช่วงกลางวันขึ้นเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้คนที่ยังจำเป็นต้องเดินทางได้ไปมาหาสู่ทำธุระกันได้ เราเห็นผู้คนมากมายยืนรอคอยรถไฟบนชานชาลา และเมื่อรถไฟขบวนนั้นออกจากสถานีไป ความเงียบก็กลับมาปกคลุมสถานีรถไฟอีกครั้ง
#05
อรุณสวัสดิ์
ตลาดเก๊าจาว จ.ลำปาง

ทางรถไฟตัดผ่านที่ไหน ชุมชนย่อมเกิดขึ้นที่นั่น เมื่อชุมชนเกิดขึ้นก็ต้องมีเส้นทางสัญจรข้ามไปมา และเมื่อพบกับทางรถไฟก็จะต้องตัดผ่านเพื่อข้ามไปอีกฟาก ในบางเมืองนั้นทางรถไฟกับถนนอยู่คนละระดับกัน ไม่ถนนก็ทางรถไฟต้องเป็นฝ่ายที่ต้องยกหนี
ตลาดเก๊าจาวอยู่ใกล้กับสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำวัง เมืองลำปางในช่วงเช้านั้นคึกคักและวุ่นวายมาก ทั้งรถราและรถไฟจากกรุงเทพฯ ที่มาถึงในช่วงเช้าพอดี ถนนเส้นเล็กนี้ลอดใต้ทางรถไฟเพื่อเชื่อมชุมชนสองฝั่งให้ถึงกัน ถ้าช่วงไหนรถไฟผ่านมา เราก็จะได้เห็นพี่รถไฟไซส์จัมโบ้ข้ามสะพาน จนรถราบนถนนดูเล็กจ้อยทีเดียว
#06
เพื่อนเดินทาง
สถานีสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

สถานีสุไหงโก-ลก คือสุดท้ายปลายทางของสายใต้ และเป็นสถานีใต้สุดของประเทศไทยที่ห่างจากกรุงเทพฯ ถึงพันกว่ากิโลเมตร ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขบวนรถที่มาถึงปลายทางแห่งนี้มีเพียงรถเร็วขบวนเลขที่ 171 และ 172 เท่านั้น ทำให้การเดินทางมีเพียงแค่เที่ยวเดียวต่อวันจากกรุงเทพฯ ผู้โดยสารมากมายที่ใช้รถไฟเดินทางข้ามคืนมากับขบวนนี้
เวลาบนรถร่วม 20 ชั่วโมงสร้างความสัมพันธ์ของผู้เดินทางได้ไม่ยากจากการพูดคุย เมื่อเริ่มต้นเดินทางเราอาจจะยังไม่รู้จักใคร แต่เมื่อลงจากรถ เราอาจโบกมือลาเพื่อนเดินทางในตู้เดียวกันนั้นโดยไม่รู้ตัว
#07
เผชิญหน้า
สถานีปางต้นผึ้ง จ.อุตรดิตถ์

ทางรถไฟส่วนใหญ่ของไทยยังคงเป็นทางเดี่ยว การสวนทางต้องเกิดขึ้น ณ จุดที่เป็นสถานีเท่านั้น การสวนทางกันในสถานีหรือที่เรียกว่า ‘รอหลีก’ มักเป็นช่วงที่คนบนรถไฟลงมายืดเส้นยืดสาย และถือโอกาสเยี่ยมชมสถานีนั้น ๆ ไปด้วย ซึ่งก็มีไม่น้อยที่บรรยากาศดี
ปางต้นผึ้งที่นี่ก็เช่นกัน นับว่าเป็นสถานีแรกเลยก็ว่าได้ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทางรถไฟซึ่งไต่ไปตามขุนเขาของภาคเหนือ และในวันที่ประจวบเหมาะ รถด่วน 51 ปลายทางเชียงใหม่ และรถเร็ว 112 จากเด่นชัย ก็จะมาเจอกันที่นี่ โดยรถด่วน 51 จะจอดรถในทางประธาน และรถเร็ว 112 จะลงเขามาเพื่อเลี้ยวเข้าทางหลีกมารับคนหน้าสถานี ภาพที่เห็นข้างหน้าก็คือรถไฟ 2 ขบวนเผชิญหน้ากัน
#08
พี่เห็นหนูด้วยหรอคะ
อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล จ.ลำพูน

เห็นสิ ทำไมจะไม่เห็น
บนลานกางเต็นท์ของอุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล มีพื้นที่ชมวิวที่มองออกไปต้องสดชื่นเพราะความเขียวขจีของป่า เห็นหมู่บ้านเป็นเวิ้งเล็ก ๆ อยู่ไกล ๆ และถ้ามองลงต่ำลงมาอีกหน่อย จะเห็นเส้นสีขาว ๆ จาง ๆ ของทางรถไฟเลี้ยวลดไปตามไหล่เขา
เมื่อเสียงหวีดดังขึ้น เป็นสัญญาณว่ารถไฟกำลังออกจากสถานีขุนตาน ไม่กี่อึดใจเดียว เจ้ารถไฟขบวนยาวบ้างสั้นบ้างก็ค่อย ๆ เลื้อยออกมาจากเงาไม้ ละม้ายคล้ายงูเหล็กที่เลื้อยผ่านต้นไม้ต้นแล้วต้นเล่า ความสนุกสนานคือคนที่ลานกางเต็นท์จะชี้ชวนกันดูรถไฟ บ้างก็เห็น บ้างก็ไม่เห็น
แล้วพี่ล่ะ เห็นน้องไหมจากบนดอยนั้น
#09
รับน้อง
สะพานทาชมภู จ.ลำพูน

เจ้าหัวรถจักร QSY สีแดง/เทา หน้าตาดูแปลกตาเพราะไม่หน้าเหลืองเหมือนรถจักรที่รถไฟไทยใช้อยู่ ถือได้ว่าเป็นน้องใหม่ที่รุ่นพี่จับตามอง เพราะความสดใส (ของสี) และใหม่สด ไม่ว่าจะเป็นแฟนรถไฟคนไหนก็อยากเห็นน้องตัวเป็น ๆ
แต่ก่อนที่น้องจะต้องออกทำงานทำการนั้น ต้องมีการทดสอบสมรรถนะเสียก่อน และโจทย์ใหญ่ที่สุดคือการทดสอบลากจูงบนเส้นทางภูเขา ซึ่งดอยขุนตาลเป็นเหมือนข้อสอบไฟนอลของน้องที่ถ้าทำข้อสอบไม่ผ่านก็ไม่ได้ไปต่อ
นี่น่าจะเป็นกิจกรรมดักถ่ายรูปรถไฟต่างจังหวัดแรก ๆ ของเราเลยก็ว่าได้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สะพานทาชมภูเป็นหมุดหมายหนึ่งที่ตั้งใจจะต้องเก็บภาพให้ได้ และโชคหล่นทับที่มีคาเฟ่ความสูง 3 ชั้นตั้งอยู่ตรงมุมทองของโค้งนี้พอดี จึงทำให้ได้ภาพที่สะสวยรูปนี้มา
พี่มารับน้องใหม่แล้วนะเออ
#10
มุมบังเอิญ
สถานีการเคหะ กรุงเทพมหานคร

การถ่ายรูปรถจักรไอน้ำทุกครั้งที่วิ่งเป็นภารกิจสำคัญของคนรักรถไฟที่มักมาพร้อมหน้ากันโดยมิได้นัดหมายเหมือนวันมาฆบูชา แต่นับวันผ่านไปสถานที่ที่ถ่ายรูปเริ่มซ้ำ เริ่มคนเยอะขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องสรรหาสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อให้รูปดูใหม่สดและมุมแปลกอยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เห็นชัยภูมิที่สวยงามจากการลากกระเป๋ามาขึ้นรถไฟฟ้า นั่นคือสถานีการเคหะ
วันจริง มีเพียงไม่กี่คนที่มาอยู่มุมนี้ (ใช่ เราคงคิดเหมือนกัน) มุมมองนี้มันสวยมาก โล่งมาก และเห็นรถจักรไอน้ำแบบเต็มขบวนโดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะมาบังหน้ากล้อง แต่ที่บังเอิญไปยิ่งกว่าราวกับนัดแต่ไม่ได้นัด เมื่อรถจักรไอน้ำสีดำทะมึนกำลังวิ่งมาถึงจุดถ่ายรูปนั้น เจ้ารถไฟสายสีแดงตัวขาวก็เคลื่อนออกจากสถานีแบบพอดิบพอดี จนได้รูปของรุ่นทวดและรุ่นเหลนมาเจอกันโดยไม่ได้นัดหมายแบบบังเอิญ ๆ
#11
กลับบ้าน
สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง)

วันนั้นฝนตกหนักมาก เป็นวันสิ้นสุดภารกิจของขบวนรถจักรไอน้ำนำเที่ยว ปกติแล้วคุณทวดจะโชว์ตัวอยู่ที่สถานีกรุงเทพระยะหนึ่งแล้วจึงเดินทางกลับ แต่เผอิญว่าพระพิรุณไม่รู้ไปโกรธใครมา ไม่พูดไม่จาก็ถล่มลงมาจนไปไหนไม่ได้
แต่รถจักรไอน้ำกลับได้
ความร้อนของไอน้ำและตัวถังรถ มาเจอกับความเย็นของฝนเม็ดใหญ่ที่ถล่มลงมาแบบไม่ลืมหูลืมตาจนเป็นฝ้าไปหมด ทำให้ไอน้ำสีขาวของคุณทวดไอน้ำยิ่งเด่นชัดขึ้นในสายฝนนั้น
ความดำทะมึนของตัวรถ ความขาวของไอน้ำ และแสงไฟสีแดงสองดวงเหมือนลูกตาเหมือนกับอสุรกายดุดันที่กำลังจ้องเราอยู่จากสายฝนที่โหมกระหน่ำ
แต่คุณทวดไม่ใช่อสุรกาย เขาคือคนแก่ใจดีที่ส่งเสียงฉึกฉักแข่งกับเสียงฝนเสียงฟ้า ก่อนจะค่อย ๆ ลับหายไปในม่านฝนเพื่อพักผ่อนรอออกมาเจอพวกเราใหม่ในรอบถัดไป
#12
แดงไหน
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

เจ้าหนูลมกรดหน้าแป้นทะยานตัวด้วยความเร็วจากสถานีกลางกรุงเทพฯ หรือที่รู้จักกันว่าสถานีกลางบางซื่อไปทางรังสิตและตลิ่งชัน นี่คือรถไฟสายสีแดงทีเป็นน้องใหม่ไฟแรง (รถก็แรง) ของชาวกรุงเทพฯ และปทุมธานี
ในช่วงแรกที่สายสีแดงเปิดใช้งาน มีเหล่า Railfan มากมายไปนั่งเล่น (เพราะมันฟรี) จากคนน้อยในช่วงแรก ๆ เพราะคน Work from Home ก็ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณคนเยอะขึ้นหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย จนตอนนี้น้องแดงมีเพื่อนใหม่เป็นมนุษย์มากมายหลังจากเหงาหงอยมานาน
ทุกครั้งที่ขึ้นมาบนชานชาลา ก็จะต้องเซย์ไฮทักทายน้องก่อนจากมุมบันไดนี้ทุกครั้ง และถ้ามีน้องเข้ามา2 ขบวน ก็จะเห็นเจ้าหนูหน้าแป้นยืนต้อนรับเราอยู่ตรงชานชาลานั้นเอง
#13
ขึ้นทางด่วน
สถานีจตุจักร กรุงเทพมหานคร

พ.ศ. 2566 เมื่อโลกเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ การเดินทางกลับมาคึกคักขึ้น นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทาง และรถไฟไทยกำลังจะใช้สถานีกลางกรุงเทพฯ หรือที่เราเคยรู้จักกันว่าสถานีกลางบางซื่อเต็มรูปแบบ ซึ่งรถไฟปู๊น ๆ ส่วนใหญ่จะย้ายจากหัวลำโพงมาสถานีกลางด้วย จึงทำให้รถไฟที่ออกจากสถานีกลางต้องวิ่งบนทางยกระดับร่วมกับรถไฟสายสีแดง ซึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้มีการซ้อมเดินรถร่วมกับสายสีแดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อทดสอบการเดินรถ รวมถึงฝึกอบรมคนขับให้เรียนรู้กับสภาพทางและเส้นทางใหม่
มันเลยดูเหมือนรถไฟปู๊น ๆ ไปวิ่งอยู่บนทางด่วน ไม่ใช่แค่รถที่ออกจากสถานีกลาง รถที่ออกหัวลำโพงก็จะต้องขึ้นมาวิ่งบนนี้เหมือนกัน คงน่าตื่นเต้นเหมือนกันที่จากเดิมเคยนั่งรถไฟวิ่งบนพื้นขนานกับถนนวิภาวดีรังสิตไปเรื่อย ๆ ส่วนของใหม่มาวิ่งด้านบนขนานระดับเดียวกับดอนเมืองโทลเวย์ด้วยความเร็วแบบเต็มพิกัด
วิวจากหน้าต่างจะเป็นยังไงกันเนี่ย
แค่คิดก็สนุกแล้ว