อวกาศเป็นเรื่องของทุกคน โจทย์ของประเทศไทยคงไม่ใช่การสร้างยานอวกาศแข่งกับมหาอำนาจ แต่เป็นการคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศ

“เจอกันที่ทางช้างเผือก”

เป็นประโยคที่เราจำได้ดีจากบทประพันธ์ คู่กรรม บริบทของมันช่างดูเศร้า สะท้อนการรอคอยใครสักคนที่อยู่ห่างไกลสุดประมาณ และคงจะไม่มีวันได้พบกันอีกด้วยศักยภาพที่มนุษย์มี

โกโบริและอังศุมาลินอาจจะไม่รู้เท่าทันอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วราวจรวด

วันนี้เราอาจจะได้พบกันในโลกอวกาศกันจริง ๆ โดยที่ไม่ต้องล้มหายตายจากไปไหน แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าแบบก้าวกระโดด ทำให้การเดินทางออกสู่จักรวาลและสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวของช่วงชีวิตนี้อีกต่อไป

ขุมทรัพย์เศรษฐกิจอวกาศที่เริ่มต้นหน้าประวัติศาสตร์ใหม่แล้ว

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.​ 2564 มีงานสัมมนาด้านอวกาศ ‘Thailand SPACE Economic Forum 2021’ จัดโดย Future STEAM Corporation เพื่อนำเสนอโอกาสและองค์ความรู้ด้านอวกาศที่เป็นประโยชน์ในหลายแง่มุม มากกว่าที่เราเคยจินตนาการ และมากกว่าหนังไซไฟจากฮอลลีวูดหรือองค์การนาซ่า โดยงานนี้เล่าเรื่องที่ครอบคลุมทั้งเทรนด์ธุรกิจอวกาศในอนาคต การต่อยอดด้านการศึกษา การใช้เทคโนโลยีอวกาศสำหรับภาคธุรกิจ ไปจนถึงนโยบายภาครัฐ ในการส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจอวกาศ ผ่านมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจากภาครัฐและเอกชน

เศรษฐกิจอวกาศ : โอกาสของธุรกิจไทยที่ต้องเข้าใจกระบวนการ มากกว่าการสร้างจรวด

กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐฯ และศูนย์องค์การบริหารการบินและอวกาศ เริ่มต้นการสัมมนาด้วยการพาย้อนกลับไปอดีตและมองต่อไปในโลกอนาคต เรื่องอวกาศนั้นเดิมเป็นเรื่องของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น ที่ฟาดฟันกันเพื่อชิงพื้นที่บารมีบนแผนที่โลก ต่อมาอีก 30 ปี ประเทศไทยจึงเริ่มต้นกับโอกาสในอวกาศ ด้วยการปล่อยดาวเทียมไทยคมสู่วงโคจรเมื่อ พ.ศ. 2536 มีความร่วมมือกันระหว่างรัฐและเอกชนต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สีสันในพื้นที่ข่าวที่เราจำได้ คือการส่งทุเรียนไทยไปโคจรรอบโลกด้วยยานอวกาศของ เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) เจ้าพ่อแอมะซอนเมื่อ พ.ศ. 2561

ปัจจุบันอวกาศเข้ามาอยู่ในหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่เริ่มวางรากฐานถึงระดับสถาบันการศึกษา มีโครงการประกวดนานาชาติหลายเวทีที่นักเรียนไทยไปคว้ารางวัลมาได้ รวมทั้งสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียม มาช่วยยกระดับการผลิตในไร่นาของเกษตรกร ด้วยด้วยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความแม่นยำ 

คุณกฤษณ์เน้นย้ำ 3 ปัจจัยสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ นั่นคือ ภาครัฐ (State) ซึ่งนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีมาลงทุนในธุรกิจอวกาศ จากนั้นองค์กรเอกชน (Corporate) ก็จะร่วมลงทุนด้วย เพื่อผลกำไรที่สมเหตุสมผลของทุกฝ่าย และประชาชน (Consumer) ทุกกลุ่มก็จะเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรสำคัญอย่างสถาบันวิจัยและพัฒนาที่เข้าถึงได้อย่างเสรี เงินทุนจากกลุ่มทุนที่เชื่อในแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ รวมทั้งมีผู้เชี่ยวชาญคนไทยและต่างชาติ มาทำงานในสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนทีมวิจัยด้านอวกาศอย่าง คุณปรมา ทิพย์ธนทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทรนด์และคอนเซ็ปต์แห่งอนาคต Baramizi Lab พูดถึงแนวโน้มและโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีนับจากนี้ โดยชี้ว่าภาคธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจอวกาศ ได้แก่ อาหาร สุขภาพ โลจิสติกส์ พลังงาน เกษตรกรรม รวมทั้งการอยู่อาศัย ผ่านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดาวเทียมโดยตรง จะเห็นได้จากกลุ่มสตาร์ทอัพด้านดาวเทียมที่ขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนั้นจะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตนอกโลก ซึ่งจะต่อยอดเทคโนโลยีอวกาศมาใช้แก้ไขโจทย์ธุรกิจบนพื้นโลกได้ ไปจนถึงการสร้างประสบการณ์ มูลค่าเพิ่ม และแรงบันดาลใจด้านอวกาศให้กับผู้คน

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ ธุรกิจอาหารสำหรับการบริโภคในอวกาศ ซึ่งอาหารของนักบินอวกาศจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามการขยายตัวของประชากรกลุ่มนี้ ไม่เพียงแต่ต้องกินเพื่ออยู่เท่านั้น ยังต้องกินอร่อยและถูกปากด้วย จึงยังมีพื้นที่อีกมากสำหรับธุรกิจอาหารสัญชาติไทย สิ่งที่ต้องพัฒนาตามมาคือเทคโนโลยีการถนอมอาหาร บรรจุภัณฑ์ และเก็บรักษาอาหารให้ยืนยาว สำหรับการเดินทางนอกโลก นอกจากนี้ ยังสร้างมูลค่าเพิ่มกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ทั้งเนื้อวัวจากเครื่องพิมพ์สามมิติ โปรตีนคุณภาพสูงจากแมลง หรืออาหารอวกาศที่ผลิตจากรากับสาหร่าย และเทคโนโลยีอบแห้งที่ทันสมัยได้ด้วย

เศรษฐกิจอวกาศ : โอกาสของธุรกิจไทยที่ต้องเข้าใจกระบวนการ มากกว่าการสร้างจรวด

สำหรับธุรกิจสุขภาพนั้น สามารถใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อพัฒนาบริการอัลตราซาวนด์ทางไกล ซึ่งจะช่วยให้การศัลยกรรมและผ่าตัดเป็นไปอย่างแม่นยำขึ้น และผู้บริโภคยังใช้งานเพื่อสุขภาวะที่ดีได้ เช่น การตรวจสอบรังสียูวีที่เหมาะสมกับการอาบแดดอย่างปลอดภัย 

เศรษฐกิจอวกาศ : โอกาสของธุรกิจไทยที่ต้องเข้าใจกระบวนการ มากกว่าการสร้างจรวด

ส่วนเรื่องสำคัญที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างการอยู่อาศัยบนอวกาศ ก็นำมาปรับใช้กับพื้นโลกได้ ทั้งโรงแรมอวกาศ (Voyager Station) การก่อสร้างนอกโลก ซึ่งตอนนี้ทางองค์การนาซ่าจับมือกับเอกชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบนดวงจันทร์และดาวอังคารแล้ว รวมทั้งนวัตกรรมที่ใกล้ตัวอย่างเครื่องฟอกอากาศสำหรับการใช้ชีวิตบนอวกาศ ขณะเดียวกันยังมีโครงการสำรวจทรัพยากรนอกโลก โครงการผลิตพลังงานบนดวงจันทร์ หรือโซลาร์ฟาร์มบนดาวเทียม ซึ่งผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคบนอวกาศด้วย

ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นสำหรับโอกาสนอกโลกที่น่าทึ่งทีเดียว

เศรษฐกิจอวกาศ : โอกาสของธุรกิจไทยที่ต้องเข้าใจกระบวนการ มากกว่าการสร้างจรวด

การศึกษาคือหัวใจสำคัญเพื่อสร้างคนไทยให้ไปไกลกว่าดวงจันทร์

องค์ความรู้ด้านอวกาศเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการพัฒนาคนเพื่อตอบรับกับเทรนด์เหล่านี้ ซึ่ง ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ชี้ว่าคนไทยจำนวนมากยังมองเรื่องอวกาศว่าไกลตัว เข้าใจและเข้าถึงได้ยาก ทั้งที่ต้นทุนการใช้งานและการมีประสบการณ์กับเทคโนโลยีอวกาศกำลังลดลงเรื่อย ๆ จึงนำไปสู่การจัดงาน AI Space Challenge เป็นความร่วมมือของประเทศไทย สิงคโปร์ และกลุ่มทุนจากยุโรป เพื่อกระจายโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ริเริ่มแนวทางเศรษฐกิจอวกาศ ให้เป็นมากกว่าการส่งจรวดออกไปสำรวจจักรวาล แต่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการดึงข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้งาน และพัฒนาเป็นปัญญาประดิษฐ์ได้ด้วยตัวเอง

“จะให้เราทำจรวดแข่งกับ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) หรือสร้างดาวเทียมแข่งกับคนอื่นน่าจะเป็นเรื่องยาก คำถามคือเราทำอะไรแข่งได้ เราก็ทำสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างอาหาร โค้ดดิ้ง หรือการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้บนพื้นโลก นี่จะเป็นตัวพลิกภาพของเศรษฐกิจได้เลย” ดร.โพธิวัฒน์ ชวนตั้งคำถามพร้อมทบทวนคำตอบ

การเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่การเรียนด้านการบินและอวกาศในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ความเข้มข้นของหลักสูตรยังมีน้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทส ทางเลือกที่ดีคือการใช้ความสนใจของตัวเองเป็นแรงขับเคลื่อน ซึ่งศึกษาข้อมูลด้านอวกาศทางอินเทอร์เน็ตได้เพียงคลิกด้วยปลายนิ้ว นักเรียนไทยเรียนรู้โปรแกรมจำลองการทำงานของดาวเทียมได้เองจากโลกออนไลน์ ซึ่งมีคอร์สเรียนฟรีรวมทั้งคอร์สระดับสูงจากทั่วโลกที่เข้าถึงได้

การศึกษานั้นไร้ขอบเขต เช่นเดียวกับจักรวาลที่ขยายตัวอย่างไม่รู้จบ

ปิดท้ายด้วยมุมมองของ คุณณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการบริหารของ Spaceth.co สื่อออนไลน์ด้านอวกาศ ที่มาสะท้อนเสียงของคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจในเศรษฐกิจอวกาศ โดยเน้นเรื่องชุดความคิดอวกาศยุคเดิม (Old Space) กับอวกาศยุคใหม่ (New Space) แตกต่างกันอย่างชัดเจนที่กระบวนการ ซึ่งต้องกล้าตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่ก้าวใหม่ ๆ ของมนุษยชาติ ความเข้าใจในวิธีคิดเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการทำตาม ๆ กัน Spaceth.co จึงทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ด้านอวกาศ เพื่อให้คนไทยได้เข้าใจวิธีคิด กระบวนการ เพื่อนำไปสู่การทดลองและทำซ้ำ ซึ่งเป็นจุดที่การศึกษาไทยยังต้องพัฒนาไปให้ถึง กระบวนการเรียนรู้จึงเป็นเรื่องใหญ่กว่าตัวจรวด ดาวเทียม หรืออุปกรณ์

“เรื่องอวกาศ ถ้าอยากทำ ต้องทำเลยครับ” ณัฐนนท์ย้ำ

เศรษฐกิจอวกาศ : โอกาสของธุรกิจไทยที่ต้องเข้าใจกระบวนการ มากกว่าการสร้างจรวด

ในวันที่จัดงานสัมมนานั้น ภาครัฐกำลังเร่งออกร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศแห่งชาติ ซึ่งเป็นกฎหมายรองรับกิจการและกิจกรรมอวกาศทั้งหมด เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดหลายประการให้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เร็วขึ้น ครอบคลุมทั้งบริการแบบเบ็ดเสร็จ ทุนสนับสนุน การส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศ รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาอวกาศ ภายใต้ 7 หมวด และข้อกฎหมาย 99 มาตรา แต่ยังต้องผ่านอีกหลายกระบวนการกว่าจะประกาศบังคับใช้ ในขณะที่วัตถุอวกาศชิ้นแล้วชิ้นเล่าถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นเรื่อย ๆ จากประเทศขนาดใหญ่ที่กำลังเร่งปักป้ายจองพื้นที่ และตอกเสาเข็มโครงสร้างพื้นฐานอยู่บนทางช้างเผือก

เศรษฐกิจอวกาศมีโอกาสไม่รู้จบรอประเทศไทยอยู่บนนั้น ขึ้นกับวิสัยทัศน์และการลงมือทำ ที่จะทำให้เราก้าวข้ามจากการเป็นประชาคมโลกไปสู่ประชาคมอวกาศได้ทัน โดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และเรื่องนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับโชคลางจากพลังของดวงดาวแต่อย่างใด

ผู้ที่สนใจฟังงานสัมมนา Thailand SPACE Economic Forum 2021 ย้อนหลัง เข้าไปชมได้ที่ Facebook : Future STEAM ได้แล้ว

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass