อาคารสถานีรถไฟแต่ละแห่งมีรูปแบบอาคารที่ทั้งเหมือนกันและแตกต่างกัน ส่วนใหญ่แล้วมักสร้างในรูปแบบมาตรฐานที่กรมรถไฟ (ต่อมาคือการรถไฟ) ออกแบบเอาไว้ ชั้นเดียวบ้าง 2 ชั้นบ้าง ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีหน้าตาธรรมดา ๆ แต่ดูอบอุ่นเหมือนบ้านไม้ที่แสนสุข

แต่ถ้าลองสังเกตสถานีรถไฟบางแห่งโดยเฉพาะในสายเหนือ จะเห็นว่ามีอยู่ไม่กี่แห่งที่มีลักษณะอาคารแปลกตา ซึ่งรูปแบบของสถานีนั้นแฝงลักษณะสถาปัตยกรรมยุโรปแบบ Half-timbered ที่มีความโดดเด่นด้านรูปลักษณ์มาจากแคว้นบาวาเรียในเยอรมนี ผสมผสานกับความอ่อนช้อยและรายละเอียดแบบศิลปะล้านนา รวมกันเป็นสถานีรถไฟลูกครึ่งที่กลมกล่อมและลงตัวเชื้อเชิญให้ทอดสายตามอง
เราจะเชิญชวนทุกคนไปรู้จักกับ ‘สถานีบนทางรถไฟสายล้านนา’ ที่สวยงามจนต้องไปเยี่ยมเยียน
สถานีห้างฉัตร
อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

ห้างฉัตรเป็นสถานีรถไฟเล็ก ๆ และเป็นสถานีประจำอำเภอ น่าเสียดายที่สถานีนี้ไม่มีรถไฟสายไกลจากกรุงเทพฯ จอด เราจำเป็นต้องเดินทางมาที่นี่ด้วยรถไฟท้องถิ่นที่วิ่งจากนครสวรรค์-เชียงใหม่ และเชียงใหม่-นครสวรรค์ เท่านั้น
อาคารเล็ก ๆ สร้างมาพร้อมกับทางสายเหนือช่วงหลัง ร.6 หลังจากที่รถไฟมาถึงลำปางแล้ว ไม่ปรากฏผู้ออกแบบ ลักษณะของย่านทางรถไฟในสถานีแตกต่างกับสถานีเล็ก ๆ ทั่วไป คือโดยทั่วไปนั้นทางประธาน (Mainline) จะอยู่ชิดติดริมชานชาลาหน้าสถานี แต่สำหรับห้างฉัตรนั้น ทางประธานอยู่ตรงกลาง มีทางหลีกแยกออกด้านซ้ายและขวา โดยตัวอาคารสถานีตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันตกของทางรถไฟ ไม่ติดทางประธาน
ข้อดีของผังย่านสถานีแบบนี้คือ เวลามีรถไฟไม่จอดสถานีนั้นวิ่งผ่าน ผู้โดยสารที่รออยู่บนชานชาลาจะไม่ได้รับอันตรายจากขบวนรถไฟ แต่ถ้าขบวนไหนจอด ต้องเลี้ยวเข้ามาในทางติดด้านหน้าอาคาร ทำให้ต้องลดความเร็วก่อนเข้าสถานีมาตั้งแต่ไกล



อาคารของสถานีห้างฉัตรมีชั้นครึ่ง มองจากภายนอกเหมือนสถานีชั้นเดียว ช่องขายตั๋วมีลายฉลุเป็นรูปหม้อดอกไม้ (หม้อปูรณฆฏะ) ลายฉลุช่องลมเป็นลายดอกไม้ ตัวอาคารเป็นแบบ Half-timbered (ลายผนังที่เป็นรูปเส้นไขว้) มีความนิยมมากในเยอรมนี ซึ่งเอารูปแบบจากแคว้นบาวาเรียมาใช้ผสมผสานกับศิลปะล้านนา
ชั้นของสถานีนั้น ส่วนที่ติดกับพื้น เป็นที่ทำการนายสถานีและคันกลับประแจ ส่วนชั้นลอยเป็นห้องอเนกประสงค์
สถานีนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์สมเด็จพระเทพฯ ในหมวดหมู่อาคารสะระไนและขนมปังขิง

พิกัดสถานีห้างฉัตร (แผนที่)
สถานีนครลำปาง
อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

มาต่อกันที่สถานีข้างเคียงซึ่งห่างจากห้างฉัตรลงไปทางกรุงเทพฯ ประมาณ 10 กว่ากิโลเมตร และเป็นสถานีประจำจังหวัด นั่นคือสถานีนครลำปาง
สถานีนครลำปางเปิดใช้งานในช่วงรัชกาลที่ 6 เป็นอาคาร 2 ชั้นที่มีกลิ่นอายของล้านนาและยุโรปแบบบาวาเรียนคอทเทจ (Bavarian Cottage) ออกแบบโดย เอิรสท์ อัลท์มันน์ (Mr.Ernst Altmann) วิศวกรชาวเยอรมัน
ชั้นล่างบริเวณทางเข้าสถานีไปห้องตั๋วและออกไปชานชาลา ก่ออิฐฉาบปูนใช้ระบบคานโค้ง (Arch) 4 ช่วง ขนาบด้วยโค้งช่วงเล็กประกบทั้ง 2 ฝั่ง ชั้นบนสร้างด้วยไม้ มีกรอบเป็นโครงสร้างสี่เหลี่ยม มีไม้ยึดยันแนวทแยงเสริมเป็นช่วง ๆ อวดโครงสร้างกรอบเป็นรูปแบบ Half-timbered เหมือนกับสถานีห้างฉัตรและสถานีอื่น ๆ ที่เราจะพาไปดู


ชั้น 2 ของอาคารเป็นที่ทำการอยู่ภายใต้หลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่ว ราวระเบียบและช่องแสงเป็นช่องปรุลวดลายพรรณพฤกษาและหม้อปูรณฆฏะ (หม้อดอก) มีเพียงราวบางส่วนเท่านั้นที่มีลายกรุเป็นรูปช้าง ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่เห็น แต่ไปเจอในภาพถ่ายเก่า ว่าลายช้างอยู่บริเวณริมสุดของรั้วชั้น 2 ฝั่งด้านหน้าสถานี
บนหน้าจั่วของอาคารชั้นบนมีตัวเลข พ.ศ. 2458 และ ค.ศ. 1915 ซึ่งเป็นปีสร้างอาคารเป็นตัวนูนออกมา โดยฝั่งที่หันไปทางกรุงเทพฯ เป็นคริสต์ศักราช และฝั่งที่หันไปทางเชียงใหม่เป็นพุทธศักราช
สถานีนครลำปางเป็น 1 ใน 2 สถานีที่สร้างด้วยรูปแบบ Half-timbered ขนาดใหญ่ แต่ยังมีความเป็นล้านนาผสมอยู่ค่อนข้างมาก แตกต่างจากสถานีบ้านปินที่อยู่ในกลุ่มอาคารเดียวกันซึ่งมีความยุโรปมากกว่าหลายเท่า

พิกัดสถานีนครลำปาง (แผนที่)
สถานีแม่ทะ
อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

อาคารสถานีทรงคล้ายกับห้างฉัตรและแม่จาง ต่างกันตรงที่ขายตั๋วเป็นไม้ลายพรรณพฤกษา แตกต่างจากห้างฉัตรและแม่จางที่เป็นหม้อดอก
ส่วนประกอบสำคัญของสถานีแม่ทะคือ สะระไน ซึ่งเป็นเสาสูงเป็นแท่งอยู่ปลายจั่วทั้ง 2 ข้างของหลังคา
รูปแบบของอาคารบ้านเรือนในสมัยช่วง ร. 4 – 5 ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตก พัฒนาตามแบบสถาปัตยกรรมในเขตร้อนชื้นต่างถิ่น (Tropical Architecture) รวมถึงเรือนขนมปังขิงและเรือนสะระไนจากอังกฤษด้วย

เรือนสะระไน เป็นเรือนสากลที่มาจากภาคกลาง ได้รับอิทธิพลมาจากกระท่อมแบบอังกฤษ (English Cottage) จุดเด่นอยู่ตรงหลังคาแบบหน้าจั่ว มีแท่งไม้สี่เหลี่ยมหรือทรงกลมประดับอยู่ตรงส่วนยอดของจั่ว
จากลักษณะของสะระไนที่เป็นแท่งยาวนี้เอง มีการสันนิษฐานว่า คำว่า ‘สะระไน’ อาจมาจากคำว่า ‘สุระหนี่’ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีประเภทปี่ของชวา เป็นทรงแท่งยาว คาดว่าเสาสะระไนที่อยู่บนปลายจั่วนั้นอาจมีประโยชน์จากการใช้ห้อยธงเพื่อประดับประดาได้ด้วย
สำหรับสถานีแม่ทะ ด้านบนหลังคามีเสาสะระไนทั้ง 2 ฝั่ง มีลักษณะลาดเอียงลง ไม่มีส่วนค้ำยันทำให้ดูเป็นทรงแท่งแหลมออกมาแบบไม่สมบูรณ์ ส่วนด้านในช่องระบายอากาศเป็นรูปไม้ คล้ายดอกไม้รูปทรงมีรัศมีเหมือนดวงอาทิตย์เพียงสถานีเดียวในกลุ่ม แป้นน้ำย้อย (ชายคา) อยู่รอบบริเวณหลังคายาวไปตลอดแนว ส่วนค้ำยันบนเสามีปรากฏเพียงบางต้นเท่านั้น และไม่อ่อนช้อยเท่ากับสถานีอื่น ๆ



สถานีแม่ทะตั้งอยู่ท้ายสุดของหมู่บ้าน หากมาทางถนนถือว่าเข้ามาลึกมาก ฝั่งตรงข้ามสถานีเป็นภูเขา จึงทำให้ตัวทางรถไฟที่ผ่านหน้าสถานีเป็นทางโค้งทั้งฝั่งขาเข้าและขาออกสถานีเหมือนเกือกม้า
การเดินทางมาถึงสถานีนี้ได้นั้น ต้องนั่งรถไฟท้องถิ่นขบวน 407/408 นครสวรรค์-เชียงใหม่-นครสวรรค์ ได้เพียงตัวเลือกเดียว

พิกัดสถานีแม่ทะ (แผนที่)
สถานีแม่จาง
อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

เป็นสถานีรถไฟขนาดเล็กที่มีผังคล้ายกับห้างฉัตร ตัวอาคารตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันออกของทางรถไฟ ซึ่งเป็นตำแหน่งส่วนน้อยของทางรถไฟสายเหนือ ส่วนใหญ่ตัวอาคารสถานีจะตั้งอยู่ฝั่งทิศตะวันตก
อาคารสถานีมีชั้นครึ่งไม่แตกต่างกับทุกแห่ง หน้าห้องขายตั๋วมีไม้สลักเหนือช่องเป็นรูปหม้อดอกเหมือนสถานีห้างฉัตร แต่ต่างกันที่รายละเอียดที่ลดทอนลง บางส่วนเปลี่ยนจากรูปดอกเป็นรูปใบ ช่องระบายอากาศด้านบนเป็นรูปช่อพฤกษา
ในขณะที่สถานีอื่น ๆ ในกลุ่มอาคารสะระไนทาสีเหลืองที่กรอบไม้ แต่สำหรับแม่จาง ตัวอาคารเป็นสีขาวและกรอบไม้สีน้ำตาล ตัวท้าวแขนมีขนาดเล็กกว่าห้างฉัตร แป้นน้ำย้อยที่มีการสลักกรุอย่างสวยงามทำให้สถานีเหมือนประดับด้วยชายผ้าลูกไม้




สถานีแม่จางเป็นสถานีที่ใช้ระบบอาณัติสัญญาณแบบไฟสีเขียวเหลืองแดง เหมือนกับถนนและทางรถไฟในพื้นที่ที่มีปริมาณรถหนาแน่น ทำให้ห้องควบคุมสัญญาณหรือที่คนรถไฟเรียกว่าห้องประแจ มีส่วนประกอบของอุปกรณ์ที่เพิ่มเข้ามา คือเครื่องสัญญาณจำลอง ห้อยอยู่เหนือตัวสับสัญญาณ มีหน้าที่ตรวจสอบสถานะสัญญาณ การสับราง หรือแม้แต่ตำแหน่งของรถไฟที่ตรวจจับจากระบบไฟฟ้า

พิกัดสถานีแม่จาง (แผนที่)
สถานีปางป๋วย
อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง

ปางป๋วยเป็นสถานีที่ชื่อออกจะเรียกยากในครั้งแรก
‘ป๋วย’ เป็นภาษาพื้นถิ่นภาคเหนือ แปลว่า ต้นตะแบก ปางป๋วย จึงน่าจะหมายถึง ดงต้นตะแบก แต่ที่ดูขัดกับชื่อเลยคือ บริเวณรอบข้างสถานีปางป๋วยในปัจจุบันไม่เห็นต้นตะแบกเลยสักต้น แต่กลับเต็มไปด้วยต้นสักสูงใหญ่ จนทำให้เกิดร่มเงาและความเยือกเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน้าหนาว
อาคารสถานีในโอบล้อมของป่าและต้นสัก ซุกตัวอยู่ภายใต้ขุนเขา และเป็นสถานีแรกของจังหวัดลำปางเมื่อนั่งรถไฟมาจากกรุงเทพฯ ปางป๋วยเป็นอาคารสถานีเล็กที่สุดในบรรดาทุกสถานีที่อยู่ในรูปแบบเดียวกัน แต่มีความสมบูรณ์ของส่วนประกอบอาคารมากกว่าทุกที่ โดยเฉพาะเสาสะระไนที่สมบูรณ์และมีท้าวแขนประกอบด้านข้างอย่างชัดเจน




บริเวณช่องจำหน่ายตั๋วเห็นหม้อดอกแบบมีฐาน ท้าวแขนค้ำยันเสามีขนาดใหญ่และอ่อนช้อย และแป้นน้ำย้อยตามชายคามีลวดลายสวยงาม
การเข้ามาถึงสถานีรถไฟปางป๋วยนั้นไม่ได้ง่าย ทางถนนถือว่าเข้ามาลึกทีเดียว ทางรถไฟก็ดูจะง่ายที่สุด แต่ก็มีเพียงขบวนรถท้องถิ่นจอดวันละ 2 ขบวนเท่านั้น ภารกิจหลักใช้หลีกขบวนรถมากกว่าการให้บริการด้านโดยสารและสินค้า
ลักษณะโดดเด่นอีกอย่างของสถานีนี้ คือมีอาคารสำหรับการสับรางโดยเฉพาะที่แยกออกมาจากสถานี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วทุกสถานีจะนำอุปกรณ์สับรางไว้ในอาคารเพื่อความสะดวกในการใช้งาน ที่สำคัญ อาคารสับรางนี้ยังคงใช้อยู่ ณ ตอนนี้ด้วยเช่นกัน

พิกัดสถานีปางป๋วย (แผนที่)
สถานีบ้านปิน
อ.ลอง จ.แพร่

สถานีบ้านปิน มีสถาปัตยกรรมโดดเด่นที่สุดของเส้นทางสายเหนือในความเป็นยุโรปเกือบทั้งหมด
บ้านปินเป็นสถานีประจำ อ.ลอง จ.แพร่ เรียกได้ว่าโดดเด่นมากในระดับละสายตาไม่ได้ อาคารสถานีสไตล์เยอรมันลูกครึ่งล้านนานิด ๆ ตามรายละเอียดเหนือช่องหน้าต่างและบานประตู ถ้าเป็นคนก็คงเป็นลูกครึ่งที่ดูฝรั่งมากกว่าไทย
อาคารแบบ Half-timbered มีความโดดเด่นตามอาคารในแคว้นบาวาเรียตอนใต้ของเยอรมนี ลักษณะหน้าจั่วที่ชัดเจนจนแปลกตากว่าสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในละแวกใกล้เคียง ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โอบล้อมด้วยภูเขา หากมองไปทางกรุงเทพฯ และลำปาง จะเห็นพืดเขาขวางไว้และมีทางรถไฟขึ้นเนินทั้งคู่ จนเหมือนสถานีบ้านปินตั้งอยู่กลางแอ่งเขานั้น ความโดดเด่นของอาคารจึงทำให้คนหลายคนขนานนามว่า ‘ฝรั่งกลางป่า’


สาเหตุของสถานีที่มีสถาปัตยกรรมเยอรมนีโดดเด่นในสายเหนือ เป็นเพราะการสร้างทางรถไฟสายเหนือนั้นใช้วิศวกรชาวเยอรมันเป็นคนคุมงาน เราจึงเห็นร่องรอยของเยอรมนีในทางรถไฟสายเหนือค่อนข้างมาก ตั้งแต่รูปแบบของสะพาน ระบบสัญญาณหางปลา (Semaphore Signal) รวมถึงสถาปัตยกรรมของสถานีรถไฟ
ความโดดเด่นของอาคารสถานีบ้านปินคือลวดลายที่อยู่บนอาคาร มีทั้งความสมมาตรและการเล่นลวดลายที่แตกต่างกันไปชวนให้สังเกต รวมถึงคานไม้ที่ยื่นออกมานอกอาคารซึ่งใช้รับน้ำหนักพื้นบนชั้น 2 ลักษณะอาคารด้านล่างบริเวณโถงทางเข้าเป็นซุ้มประตูโค้งแบบ Arch เหมือนสถานีนครลำปาง ช่องระบายอากาศเหนือหน้าต่างและบานประตูกรุ เป็นลวดลายหม้อดอกและพรรณพฤกษาเหมือนกับสถานีอื่น ๆ ก่อนหน้า



ด้านตรงข้ามอาคารสถานีมีหอสัญญาณแบบเสาเดี่ยว เรียกกันลำลองว่า ‘หอพม่า’ ตามแบบหอสัญญาณในพม่า ซึ่งมีรถไฟก่อนเรานับ 20 ปี หอสัญญาณนี้ใช้สำหรับสถานีที่ต้องการมุมมองของการจัดการจราจรที่แตกต่างจากสถานีระดับเล็ก เช่น สถานีที่มีทางรถไฟมากมายจนมองออกมาจากตัวอาคารสถานีได้ไม่ชัดเจน หรือสถานีที่ต้องใช้การสังเกตจากที่สูงเพื่อการจัดการจราจรและระบบสัญญาณ แต่ต่อมามีการปรับปรุงด้านหน้าอาคารใหม่ ให้นำอุปกรณ์การสับรางทั้งหมดไปไว้ในตัวสถานี หอสัญญาณเดิมจึงไม่ได้ใช้งานจนถึงปัจจุบัน
สถานีรถไฟบ้านปินนับเป็นอัญมณีในป่า เป็นสถานีรถไฟที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และทรงคุณค่าแบบประเมินค่าไม่ได้
พิกัดสถานีบ้านปิน (แผนที่)
สถานีแก่งหลวง
อ.เด่นชัย จ.แพร่

แก่งหลวงที่คุ้นเคยคงเป็นโค้งรถไฟลัดเลาะไหล่เขาไปตามลำน้ำยม
สถานีแก่งหลวงเลยจากโค้งนั้นไม่ไกลมาก สถานีเล็ก ๆ แห่งนี้ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติ ทั้งต้นไม้ ป่า เขา และแม่น้ำยม
อาคารหลังน้อยของสถานีแก่งหลวงสร้างในแบบ Half-timbered เช่นเดียวกับสถานีอื่นก่อนหน้า แต่รายละเอียดแตกต่างกันมากอยู่ ตามเสาท้าวแขนค่อนข้างเล็กและอ่อนช้อยน้อยกว่าทุก ๆ สถานี ลายฉลุไม้เหนือบานหน้าต่างรูปพรรณพฤกษากลับสวยที่สุดด้วยรายละเอียดที่สละสลวยและอ่อนช้อย



เป็นที่น่าเสียดายว่า สถานีแก่งหลวงมีการปรับปรุงรูปแบบอาคารเพิ่มเติมส่วนรอการโดยสารที่มีหลังคาคลุมเข้าไป รวมถึงมีการซ่อมแซมบางส่วน ทำให้รายละเอียดส่วนประกอบของสถานี เช่น แป้นน้ำย้อย หรือแม้แต่เสาสะระไนก็ถูกถอดออกไป เวลานั่งรถไฟ มองผ่าน ๆ อาจดูไม่แตกต่างอะไรกับสถานีอื่นยกเว้นลายกรอบไม้ของ Half-timbered ที่ทำให้สถานีแก่งหลวงดูแตกต่างกับสถานีอื่น ๆ
โดยรวมแม้ว่าความสมบูรณ์ของอาคารจะน้อยที่สุด แต่บรรยากาศดีที่สุดไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะด้านหลังสถานีที่เดินลงไปถึงแม่น้ำยมได้เลย

พิกัดสถานีแก่งหลวง (แผนที่)
เกร็ดท้ายขบวน
- สถานีในลิสต์นี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นสถานีย่อย มีเพียงรถท้องถิ่น 407/408 นครสวรรค์-เชียงใหม่-นครสวรรค์ จอดเท่านั้น หากจะเดินทางทั้งหมดอาจต้องใช้เวลาหลายวัน ยกเว้นสถานีนครลำปางและสถานีบ้านปินที่มีรถจอดเยอะหน่อย
- การวางแผนเดินทางไปชมสถานีทั้งหมดต้องใช้รถยนต์เข้ามาช่วย ไม่ต้องกังวล เราแปะพิกัดไว้ให้แล้วสำหรับคนที่อยากไปสถานีทั้งหมดแบบเจาะลึก