ท่ามกลางบ้านเมืองที่ห่างหายจากการเลือกตั้งมานาน ในที่สุดฤดูกาลที่ประชาชนจะได้มีสิทธิ์มีเสียงก็กลับมาอีกครั้ง ‘ป้ายหาเสียง’ คือหนึ่งในเครื่องมือที่ผู้สมัครทั้งหน้าเก่าและใหม่ใช้แนะนำตัวสู่ประชาชน หรือเรียกอีกอย่างว่าป้ายนั้นคือ ‘Future Board’

หากค้นหาความหมายของคำตามปกติ Future Board คือแผ่นพลาสติกลูกฟูก อุปกรณ์ที่นักเรียน-นักศึกษารุ่นก่อน ๆ คุ้นเคยดี เราใช้มันในการนำเสนองาน นำเสนอตัว หรือแม้แต่ปะติดข้อมูลที่ต้องการประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน ซึ่ง Future Board คือวัสดุหลักที่ใช้ทำป้ายหาเสียง

แต่ถ้าแยกคำนี้ออกเป็น 2 ส่วน ความหมายโดยนัยของมันเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้งแบบบังเอิญ Future คือ อนาคต Board ก็หมายความถึงคณะกรรมการหรือผู้บริหาร หรืออาจตีความได้ว่า แผ่นพลาสติกนี้ชี้ชะตาได้ว่าใครจะกลายมาเป็นผู้บริหาร (ประเทศ) คนต่อไปในอนาคต 

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ หรือ ADD CANDID ผู้ประสบปัญหาว่าการนั่งอยู่บนรถกลางท้องถนนเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เขาอ่าน วิเคราะห์ ตีความ ทุกถ้อยคำที่เหล่าผู้สมัครต้องการสื่อสารผ่านป้ายแห่งอนาคตไม่ได้ทั้งหมด เขาจึงตัดสินใจหยิบกล้อง แล้วออกเดินเท้าไปถ่ายภาพป้ายหาเสียงหลายย่านทั่วกรุง เริ่มตั้งแต่ใกล้บ้านย่านหัวหมาก บางกะปิ แล้วข้ามมาแถบเมืองเก่าอย่างทรงวาด ก่อนขยับไปยังจุดศูนย์กลางอย่างสยาม สีลม 

ป้ายที่สะดุดตาเขาเริิ่มต้นจากป้ายที่ชำรุด (แม้ว่านี่จะเพิ่งเริ่มฤดูกาลหาเสียง ตอนที่ถ่ายยังไม่ทันได้มีเบอร์พรรคด้วยซ้ำ) บ้างเกิดจากการอยู่ผิดที่ิผิดทาง และบางส่วนก็เป็นป้ายที่เสียหายจากการถูกประทุษร้าย

เขาสังเกตเห็นถึงขนาดของป้ายที่เล็กลง แต่ก็ไม่ได้เล็กพอที่จะไม่บดบังทัศนวิสัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งขนาดที่เล็กลงนี้ยังมีผลให้อ่านข้อความบนป้ายได้ยากขึ้น เจ้าของภาพถ่ายชุดนี้ยังเกิดไอเดียต่อยอดไปอีกว่า หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลประชาสัมพันธ์ ป้ายแห่งอนาคตเหล่านี้จะไปไหนต่อ หรือว่าป้ายทุกแผ่นที่เคยมีผลชี้ชะตาประเทศ จะจบลงที่คำว่า ‘ขยะ’ 

และสุดท้าย เขายังฝากถึงผู้อ่านบทความนี้และผู้ที่พบเห็น Future Board ในลักษณะเดียวกันกับชุดภาพถ่ายนี้ว่า 

“วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 อย่าลืมไปเลือกตั้งกันนะครับ”

Write on The Cloud

Photo Essay

ถ้าคุณมีเซ็ตภาพถ่ายที่อยากมาอวดในคอลัมน์นี้ ช่วยส่งเซ็ตภาพพร้อมคำบรรยาย(แบบไม่ยาวมาก) รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Photo Essay

ถ้าเซ็ตรูปของคุณได้รับการตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

สุดาวรรณ วนสุนทรเมธี

สุดาวรรณ วนสุนทรเมธี

นักพิสูจน์อักษรวัยเตาะแตะที่มักจะหลงรักพระรองในซีรีส์เกาหลี และอยู่ระหว่างรักษาระยะห่างจากชานมไข่มุก

Photographer

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์

Leica Ambassador (Thailand) งานประจำเลี้ยงแมว 12 ตัว