เมษายน 2562

รถไฟขบวน 275 ปลายทางอรัญประเทศล้อหมุนออกจากสถานีกรุงเทพตั้งแต่ไก่โห่

เราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมต้องออกแต่เช้าขนาดนี้ นี่เป็นการเดินทางไปอรัญประเทศกับรถไฟขบวนขวัญใจนักท่องเที่ยวที่กำลังแบกกระเป๋าไปดูนครวัดที่เสียมเรียบ ไม่แน่ใจว่าเพราะมันมีแค่ 2 เที่ยวคือเช้ากับบ่ายหรือเปล่า มันเลยเป็นขวัญใจแบบจำใจ

อีกอย่างคงเพราะค่าตั๋วสนนราคาที่ 48 บาท กับการเดินทางถึง 250 กิโลเมตร ทำให้นักเดินทางเลือกที่จะผูกมิตรกับรถไฟหวานเย็นที่จอดกวาดหมดทุกสถานีตั้งแต่กรุงเทพยันอรัญประเทศ

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

ทางรถไฟสายตะวันออกมุ่งหน้าสู่อรัญประเทศสร้างเสร็จเมื่อปี 2469 สถานีรถไฟอรัญประเทศคือสถานีสุดท้ายในประเทศไทย สถานีไม้หลังเล็กกะทัดรัดยืนต้อนรับคนที่ลงมาจากรถไฟขบวน 275 แตะขอบสระเวลา 11 โมงครึ่งตามเวลาพอดีเป๊ะ หลังจากห้อตะบึงจากกรุงเทพฯ มาแล้ว 5 ชั่วโมงครึ่ง นับเป็นการเดินทางที่ทรหดทีเดียวสำหรับระยะทาง 250 กิโลเมตร

เราสังเกตว่าคนที่สถานีรถไฟส่วนใหญ่พูดภาษาเขมร

นอกจากคนไทยแล้ว คนกัมพูชาหลายชีวิตใช้รถไฟเดินทางไปสระแก้ว ปราจีนบุรี หรือแม้แต่การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ

การนั่งรถไฟครั้งนี้เราไม่ได้นั่งไปเที่ยวเฉยๆ แต่เป็นการตามไปดูการเชื่อมต่อรถไฟไทยกับกัมพูชาที่กำลังจะ ‘กลับมา’ อีกครั้ง

กลับมาอีกครั้ง

แสดงว่ามันเคยเชื่อมถึงกันด้วยหรือ

ใช่ครับ ณ เวลาปัจจุบันทางรถไฟสายตะวันออกสิ้นสุดที่สถานีอรัญประเทศ แต่เมื่อ 77 ปีที่แล้ว ทางรถไฟสายนี้ทอดยาวผ่านสถานีคลองลึก ข้ามแดนเข้าไปถึงฝั่งกัมพูชา และเคยมีรถไฟที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปถึงพระตะบองเลยทีเดียว

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

ขอเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 77 ปีก่อน มีการสร้างทางรถไฟจากอรัญประเทศ ผ่านปอยเปตไปที่มงคลบุรีเพื่อบรรจบกับทางรถไฟของกัมพูชาที่มุ่งหน้ามาจากพนมเปญ ช่วงนั้นการบุกเบิกทางรถไฟทำโดยทหารญี่ปุ่นด้วยภารกิจทางด้านสงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นอกจากนั้น การได้รับพื้นที่เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ ให้อยู่ภายใต้ความดูแลของประเทศไทยทำให้ทางรถไฟจากอรัญประเทศถึงสวายโดนแก้วอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมรถไฟ

รถไฟขบวนแรกที่วิ่งไปถึงพระตะบองยังนับว่าเป็นรถไฟของไทย มันเป็นรถรวมทั้งโดยสารและสินค้าที่วิ่งกันทรหดถึง 15 ชั่วโมง ออกกรุงเทพฯ 7 โมงครึ่งถึงพระตะบองเกือบ 4 ทุ่ม กรมรถไฟในยุคนั้นยึดถือกำหนดเวลาเดินรถไฟมาเรื่อยจนปี 2489 เมื่อญี่ปุ่นประกาศแพ้สงครามทำให้ปอยเปต เสียมราฐ พระตะบอง ศรีโสภณ กลับไปอยู่ในความปกครองของอินโดจีนฝรั่งเศสอีกครั้ง รถไฟที่วิ่งอยู่ในช่วงอรัญประเทศ-พระตะบอง เลยถูกระงับไปโดยปริยาย บวกกับรถจักรของไทยหลุดไปชนรถไฟของฝรั่งเศส ทำให้ทางการไทยตัดสินใจรื้อทางรถไฟจากอรัญประเทศ-คลองลึกออกจนหมด

แต่นั่นเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนแปลงชั่วคราวเท่านั้น ภายหลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชจึงได้มีการเจรจาขอกลับมาเดินรถไฟระหว่างประเทศกันอีกครั้ง

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

หลังจากความพยายามมาหลายปี

รถไฟขบวนแรกที่ข้ามแดนไทย-กัมพูชาเคลื่อนขบวนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2498 จากปอยเปตมาถึงอรัญประเทศ แม้ว่าจะเป็นระยะทางสั้นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่ขบวนรถไฟได้พาคนไทยและกัมพูชาเดินทางถึงกันอย่างแท้จริงหลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราช โดยฐานะเป็นราชอาณาจักรกัมพูชาอย่างสมบูรณ์

แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอีกครั้ง เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ทำให้ต้องปิดพรมแดนลงในปี 2501 รถไฟระหว่างประเทศก็ต้องหยุดชะงักตามไปด้วย ครั้งนี้โชคดีที่กินระยะเวลาไม่นานก็กลับมาเคลื่อนขบวนอีกครั้งในปี 2502 แต่ด้วยความยืดเยื้อของเหตุการณ์นั้นทำให้ทั้งสองฝ่ายตัดสินใจยุติการเดินรถไฟข้ามประเทศในปี 2504

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

เห็นไหมครับว่ารถไฟไทย-กัมพูชามีความล้มลุกคลุกคลานและความไม่แน่นอนมากๆ มันไม่ใช่แค่เรื่องของรถไฟ แต่เป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศ การเมือง ที่เป็นตัวแปรทำให้สะดุด แต่การหยุดเดินรถไฟในปี 2504 ก็ไม่ได้หยุดถาวร เพราะอีก 9 ปีต่อมา ได้มีการเจรจาเพื่อขอเดินรถไฟระหว่างประเทศกันอีกครั้ง จากทางรถไฟที่ถูกปล่อยทิ้งร้างก็ต้องบูรณะกันยกใหญ่ ครั้งนี้น่าจะมีนิมิตหมายที่ดีเพราะในช่วงปี 2516 ทางการไทยก็ได้มอบหัวรถจักรไอน้ำให้กับกัมพูชาไปเพื่อเสริมทัพขบวนรถไฟของบ้านเขา

การค้าขายและการเดินทางไปมาระหว่างอรัญประเทศกับปอยเปตก็ดำเนินต่อไปจนปี 2517 เกิดเหตุการณ์ภายในประเทศกัมพูชาที่ร้ายแรงมากจนต้องยุติการเดินรถไฟระหว่างประเทศอีกเป็นครั้งที่ 3 และครั้งนี้ก็ยาวนานมากจนถึงปัจจุบัน เท่ากับว่าไม่มีรถไฟวิ่งระหว่างอรัญประเทศไปปอยเปตตั้งแต่ปี 2517 ทางรถไฟที่เคยใช้งานก็ถูกทิ้งร้างเอาไว้ บางส่วนก็ถูกขโมยไปขาย

จากที่เคยเป็นทางรถไฟก็เริ่มมีคนบุกรุกมาปลูกบ้าน ปลูกเพิงอยู่บนที่ที่เคยเป็นทางรถไฟ จนเราแทบมองไม่ออกเลยว่านี่เคยเป็นทางรถไฟมาก่อนจริงๆ

เส้นทางรถไฟสายสำคัญที่เชื่อมโยงไทยกับกัมพูชาได้หลับใหลลงตั้งแต่เวลานั้น

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

ที่ตลาดโรงเกลือ ตลาดใหญ่ชายแดนที่มีความวุ่นวายและจอแจ คนไทยคนกัมพูชามากมายหลายหน้าแวะเวียนกันเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย มีทั้งคนมาช้อปปิ้ง คนมาขายของ คนมาทำงาน สิ่งที่ทำให้ชายแดนคลองลึกมีชีวิตชีวาก็คงเป็นตลาดนี้นี่แหละ

แต่ข้างตลาดกลับมีสิ่งหนึ่งที่เคยมีชีวิต แต่ได้หลับใหลลงอย่างไม่มีใครเหลียวแลมากว่า 40 ปี

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

นี่คือสะพานคลองลึกที่ทอดตัวข้ามคลองพรมโหดเขตแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับกัมพูชา มันเป็นสะพานเหล็กที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสีดำ แต่ภาพที่เราเห็นข้างหน้ามันคือสะพานเหล็กที่ถูกสนิมเกาะกินซะจนไม่เหลือเค้าของสะพานรถไฟ รางและไม้หมอนหายไปหมด

และน่าหดหู่ยิ่งไปกว่าคือการที่เราต้องมุดรั้วที่เต็มไปด้วยกองขยะเพื่อเข้ามาดูสะพานรถไฟที่เป็นพรมแดนของอรัญประเทศกับปอยเปต สะพานที่ครั้งนึงเคยทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศเข้าด้วยกัน เรายังคิดอยู่เลยนะว่าจะมีโอกาสได้เห็นรถไฟสายนี้กลับมาเชื่อมกันอีกครั้งไหม

จนกระทั่งปี 2557 มีข่าวดีที่สุดในรอบหลายปีจนทำให้เราตื่นเต้นมากเมื่อการรถไฟประกาศปรับปรุงเส้นทางรถไฟสายอรัญประเทศตั้งแต่สถานีคลองสิบเก้าจนถึงสะพานคลองลึก

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

ความฝันที่จะได้นั่งรถไฟจากไทยไปกัมพูชาถูกวาดขึ้นมาในหัวแล้ว คงไม่ใช่แค่เราที่ตื่นเต้น คนไทยและกัมพูชาที่อยู่ชายแดนนี้ก็น่าจะตื่นเต้นที่จะได้เห็นรถไฟตัวเป็นๆ วิ่งข้ามประเทศอีกครั้งหลังจากหายไปกว่า 40 ปี

และในปีเดียวกันนั้นมีรื้อถอนสะพานคลองลึกและวางศิลาฤกษ์เพื่อสร้างสะพานรถไฟไทย-กัมพูชาขึ้นมาใหม่ นั่นยิ่งเป็นสิ่งที่คอนเฟิร์มได้จริงๆ ว่ารถไฟไทย-กัมพูชากำลังจะคัมแบ็ก

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

พิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสะพานรถไฟไทย-กัมพูชา

หลังจากสะพานคลองลึกได้รื้อถอนและติดตั้งสะพานใหม่เรียบร้อยใน 3 ปีให้หลัง ทางรถไฟที่ถูกทิ้งร้างไว้ 40 กว่าปี จากสถานีอรัญประเทศถูกวางรางใหม่เอี่ยมมาจนถึงสะพานคลองลึก ส่วนฝั่งกัมพูชาการวางทางรถไฟค่อนข้างยาก เพราะตึกคาสิโนและโรงแรมขวางทางรถไฟเดิมเอาไว้หมด การแก้ไขปัญหาคือผ่านใต้ตึกมันไปซะ!

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

ทางรถไฟถูกฝังลงในคอนกรีต ไม่มีหมอน ไม่มีหินโรยทาง โครงสร้างทางต้องแข็งแรงและไม่สร้างความกระทบกระเทือนให้กับโครงสร้างของตึกที่ย้ายไปไหนไม่ได้แล้ว เราพูดได้เต็มปากเลยว่ามันคือความท้ายทายสุดยอดของฝั่งกัมพูชาที่ต้องสร้างทางรถไฟในพื้นที่จำกัดไปหมดทุกอย่าง

นอกจากตึกแล้วสิ่งที่สร้างปัญหาแน่นอนคือทางรถไฟที่ต้องทะลุข้ามผ่านวงเวียนหน้าคาสิโนซึ่งมีการจราจรหนาแน่นเกือบตลอดเวลา ไหนจะรถราแล้วก็คนที่เดินกันให้ขวักไขว่ เป็นความท้าทายสำคัญในการเดินรถไฟฝั่งกัมพูชาสุดๆ เรียกได้ว่าปัญหาทุกอย่างจะเจอที่นี่แบบ One-stop service งานนี้วิศวกรและรถไฟกัมพูชาคงกินพาราหมดไปหลายกระปุก

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

สถานีรถไฟปอยเปตเป็นสถานีเพียงแห่งเดียวของเมืองนี้มีสภาพเหมือนคนแก่ที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่ใยดี ต้นไม้ขนาดเล็กใหญ่ขึ้นแซมทุกที่จนเหมือนบ้านร้าง จากสถานีรถไฟกลายเป็นที่ทิ้งขยะและที่พักพิงของคนไร้บ้าน แม้ว่าตัวอาคารสถานีจะยังมีโครงสร้างที่ดีพอจะฟื้นกลับมามีชีวิตใหม่ได้ แต่สภาพแวดล้อมบริเวณย่านสถานีรถไฟเดิมต้องพลิกโฉมกันขนานใหญ่ มันกลายเป็นที่รกร้าง มีโกดัง มีตลาด มีอาคารถาวรขึ้นมาแซม จนไม่เหลือเค้าความเป็นย่านสถานีรถไฟอีกเลย

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

เมษายน 2562

ที่เราเล่าไปข้างบนนั้นคือเหตุผลที่เราต้องกลับมาที่นี่อีกครั้ง

เราเดินออกจากสถานีและมุ่งหน้าไปที่สะพานคลองลึกโดยทันที สิ่งที่เคยเห็นเมื่อหลายปีก่อนเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด บริเวณด้านข้างตลาดโรงเกลือก่อนข้ามสะพานเดิมซึ่งเคยเป็นที่หยุดรถไทย สถานที่ซึ่งกำหนดให้รถไฟจอดเป็นจุดสุดท้ายก่อนข้ามแดน ถูกเนรมิตให้กลายเป็นสถานีรถไฟน้องใหม่ลำดับที่ 445 ที่มีชื่อว่า สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ที่นี่เป็นสถานีชายแดนทำหน้าที่ด้านการตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช สัตว์ รวมถึงศุลกากร เหมือนกับสถานีรถไฟชายแดนอื่นๆ ที่ประเทศไทยมี

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

บริเวณที่หยุดรถไทยเดิม ก่อนก่อสร้างสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือฝั่งกัมพูชาที่ครั้งก่อนเรายังจินตนาการอยู่เลยว่าทางรถไฟจะตัดผ่านตึกเหล่านั้นไปยังไง วันนี้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่ามันผ่านตึกคาสิโนไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์ สถานีปอยเปต ถูกปรับปรุงใหม่ซะจนเหมือนเกิดใหม่ สถานีนี้จะทำหน้าที่เป็นสถานีชายแดนฝั่งกัมพูชาเหมือนกับสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึกของบ้านเราไม่มีผิดเพี้ยน

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

มันเป็นอีกหนึ่งความประทับใจสำหรับคนรักรถไฟอย่างเรา และอาจรวมถึงคนอื่นๆ ด้วย ที่เส้นทางรถไฟซึ่งหลับใหลไปกว่า 45 ปีจะกลับมามีลมหายใจอีกครั้งจากความพยายามของทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งเห็นการเติบโตจากวันที่ไม่มีอะไรเลย ในวันที่มีแค่วัชพืช กองขยะ ที่รกร้างซึ่งค่อยๆ พัฒนาเป็นรูปร่างจนกลายเป็นทางรถไฟและสถานีรถไฟ พร้อมที่จะรับขบวนรถไฟกลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

ในวันที่ 22 เมษายน 2562 จะมีการลงนามความตกลงการเดินรถไฟระหว่างไทยและกัมพูชา การลงนามนี้คือสัญญาการเดินรถไฟระหว่างสองประเทศเพื่อให้เกิดการขนส่งทางรถไฟให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทั้งสองฝ่าย

นอกจากลงนามในข้อตกลงแล้ว ยังมีการมอบขบวนรถไฟให้กับฝ่ายกัมพูชาเป็นของขวัญในการกลับมาเดินรถไฟด้วยกัน รถไฟขบวนนี้จึงเป็นเหมือนทูตเชื่อมใจระหว่างไทยกับกัมพูชา

สิ่งที่น่าบังเอิญไปมากกว่านั้น คือวันที่ 22 เมษายน เมื่อ 64 ปีที่แล้ว ก็เป็นวันเปิดการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างกันเป็นครั้งแรกอีกด้วย

ไม่เรียกว่าบังเอิญแล้วจะให้เรียกว่าอะไร

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

รถดีเซลรางฮิตาชิ ทูตความสัมพันธ์ระหว่างรถไฟไทยและกัมพูชา

เส้นทางรถไฟสายนี้ไม่ใช่เส้นทางใหม่ แต่เป็นการต่อยอดจากคนรุ่นก่อนที่เคยสร้างไว้และพยายามที่จะกลับมาสานต่อกันอีกครั้ง นี่คือยุคสมัยของเราและมันเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่จะทำให้ระบบรถไฟในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตต่อไป เพราะการเชื่อมต่อนี้มันไม่ใช่แค่ระดับประเทศต่อประเทศ แต่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น เพราะเป็นการต่อเส้นทางรถไฟสายหลักของอาเซียนที่ทอดยาวมาตั้งแต่สิงคโปร์ ผ่านมาเลเซีย เข้าประเทศไทย ไปกัมพูชา คงเหลือเพียงแค่ทางรถไฟไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจากกัมพูชาเข้าเวียดนามเท่านั้นที่ยังเป็นเส้นทางที่ขาดหาย ถ้าหากต่อทางรถไฟช่วงสุดท้ายนี้สำเร็จ จะทำให้เส้นทางรถไฟสายสิงคโปร์-คุนหมิง ส่วนตะวันออกเชื่อมถึงกันได้อย่างสมบูรณ์

เสียงหวูดรถไฟกำลังจะดังขึ้นอีกครั้ง

เชื่อมทางรถไฟ, ไทย, กัมพูชา

ภาพ : Ministry of Public Works and Transport, Cambodia

Writer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ