16 กรกฎาคม 2021
10 K

ใครล่ะจะไม่รู้จักแม่น้ำโขง เพราะวัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คนริมสองฟากฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรม ประมง ไปจนถึงท่องเที่ยว ทุกมิติของคนในภูมิภาคนี้ล้วนพึ่งพิงแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาอีกนับพัน ที่เชื่อมโยงถึงกันเป็นโครงข่ายที่หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 60 ล้านชีวิต 

ต้นกำเนิดแม่น้ำโขงเริ่มต้นจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต หิมะที่หลอมละลายค่อยๆ ไหลมารวมกัน จนกลายเป็นแม่น้ำไหลผ่านภูมิประเทศอันหลากหลายของประเทศจีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม รวมระยะทางทั้งสิ้นกว่า 5,000 กิโลเมตร 

แม่น้ำโขงจึงได้สมญานามว่า ‘เส้นเลือดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกบทบาทของแม่น้ำโขงที่ดำรงมานานกว่า 128 ปี นั่นคือการเป็นเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทยและ สปป.ลาว ซึ่งหลายครั้งถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เพราะหลายคนมองว่าเรื่องเส้นแบ่งเขตแดนตามแนวแม่น้ำโขงนั้นซับซ้อน และยังมีความคลุมเครือระหว่างประเทศสองฝั่งน้ำ

เพื่อตอบข้อสงสัยเรื่องเขตแดนทางน้ำของไทยที่เกี่ยวโยงกับแม่น้ำโขง เราชวนคุณสนทนากับ คุณทรงชัย ชัยปฏิยุทธ ผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ หนึ่งในทีมผู้ขับเคลื่อนภารกิจด้านเขตแดนไทย 

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

ผู้จะมาบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่สมัยโบราณ ที่เส้นแบ่งแต่ละเขตแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังพร่าเลือน สู่การทำสนธิสัญญาว่าด้วยเขตแดนสมัยใหม่กับฝรั่งเศส ประเทศเจ้าอาณานิคมของ สปป.ลาว เมื่อ ค.ศ. 1893 เรื่อยมาจนถึงความสำคัญของการปักหลักเขตแดนไทย-ลาว ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1996

นี่คือวิวัฒนาการที่ไม่เคยหยุดนิ่งตลอดระยะเวลา 128 ปีของเส้นเขตแดนธรรมชาติ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของภูมิภาคอย่างแม่น้ำโขง

01 เขตแดนโลกที่เพิ่งเกิดขึ้น

ในห้องทำงานของคุณทรงชัย มีแผนที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผืนใหญ่ปูจรดผนัง แผนที่ผืนนี้ไม่มีเส้นแบ่งประเทศ แต่มีรายละเอียดทางภูมิศาสตร์ละเอียดยิบ ละเอียดถึงขั้นนูนเป็น 3 มิติ ตามความสูงจริงของเทือกเขาต่างๆ ด้วย

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

“เรื่องเขตแดนไม่ใช่แนวคิดที่มีมาดั้งเดิม ในอดีตเราไม่ได้แบ่งประเทศอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม อาณาเขตรับรู้กันคร่าวๆ ว่าข้ามเทือกเขาหรือพ้นแม่น้ำสายใด แนวความคิดเรื่องเขตแดนเป็นเพียงบริเวณไกลที่สุดที่รัฐสามารถใช้อำนาจปกครองไปถึง และพร้อมที่จะใช้กำลังป้องกันเมื่อมีผู้รุกราน ไม่ว่าจะเป็นสมัยสุโขทัยหรือกรุงศรีอยุธยา ล้วนอยู่ภายใต้แนวคิดแบบดั้งเดิมนี้” คุณทรงชัยเริ่มอธิบายด้วยการย้อนสู่อดีต

“ต่อมา ช่วงศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 นับเป็นยุคสมัยใหม่ที่เกิดคำนิยามของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งระบุว่ารัฐจะต้องประกอบไปด้วยประชากร ดินแดนที่แน่ชัด รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ และความสามารถในการก่อนิติสัมพันธ์”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ความจำเป็นในการใช้ประโยชน์จากดินแดนก็เพิ่มมากขึ้น ทั่วโลกจึงมีแนวโน้มที่จะกำหนดเขตแดนระหว่างกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบัน เขตแดนนับเป็นเส้นแบ่งขอบเขตที่รัฐสามารถใช้อำนาจอธิปไตย และแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ภายในขอบเขตนั้น

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

การกำหนดเขตแดนมี 2 แบบ คือกำหนดโดยใช้วิธีทางเรขาคณิต และกำหนดโดยใช้สภาพภูมิประเทศ

การกำหนดโดยใช้วิธีทางเรขาคณิต ใช้การลากเส้นตรงจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ เขตแดนของรัฐจำนวนมากในทวีปแอฟริกาและทวีปอเมริกา ที่เส้นแบ่งเขตแดนขีดเป๊ะเป็นเส้นตรง

ในขณะที่การกำหนดเขตแดนโดยใช้สภาพภูมิประเทศ เป็นแนวปฏิบัติที่นิยมมากกว่าในปัจจุบัน ใช้อุปสรรคธรรมชาติเป็นตัวแบ่งเขตแดน ที่นิยมใช้กันมากก็คือสันปันน้ำบนเทือกเขาและแม่น้ำ 

ฉันเหลือบตามองแผนที่ 3 มิติด้านหลัง พร้อมกับที่คุณทรงชัยเฉลยว่า ใช่แล้ว มันคือรูปแบบเขตแดนส่วนใหญ่ของไทยนั่นเอง 

02 เขตแดนไทยโดยสังเขป

ถ้าตั้งใจเรียนวิชาสังคมศึกษา น่าจะพอจำกันได้ว่า เขตแดนระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความยาวมากกว่า 5,000 กิโลเมตร 

แบ่งเป็นเขตแดนไทย-กัมพูชา ประมาณ 798 กิโลเมตร เขตแดนไทย-เมียนมา ประมาณ 2,401 กิโลเมตร เขตแดนไทย-มาเลเซีย ประมาณ 647 กิโลเมตร และเขตแดนไทย-ลาว ประมาณ 1,810 กิโลเมตร 

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

เขตแดนของไทยทุกวันนี้ เป็นผลจากการทำสนธิสัญญากำหนดเขตแดนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20 ระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจเจ้าอาณานิคมของเพื่อนบ้านเราทั้งหมดในเวลานั้น

“ย้อนกลับไปในอดีต เราเผชิญหน้ากับอิทธิพลของเจ้าอาณานิคม ทางทิศใต้และตะวันตกคือประเทศอังกฤษ ในขณะที่ทางตะวันออกคือประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น เราจึงต้องทำข้อตกลงที่กำหนดโดยชาติมหาอำนาจเหล่านั้น เพื่อสร้างความชัดเจนเรื่องเขตแดน 

“เมื่อสยามมีเขตแดนของประเทศชัดเจน กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ตามข้อกำหนดสากล เราจึงหยุดการขยายอำนาจของรัฐอาณานิคมที่เข้ามาจากทุกทิศทางได้” 

และอย่างที่ทราบกันดีว่า ในช่วงเวลานั้น สยามก็ต้องเสียอาณาเขตซึ่งเคยเป็นหัวเมืองประเทศราชมายาวนานให้แก่ประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งสองไปเช่นกัน เพื่อรักษาความเป็นเอกราชและเพื่อคงอธิปไตยของรัฐที่จะทำกิจกรรมใดๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในประเทศได้อย่างเป็นอิสระ

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

“ผู้ที่มีความสำคัญในการเจรจาในเวลานั้น ท่านก็เป็นบรรพบุรุษของพวกเราในกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อเขตแดนทั้งหมดของไทยเกิดจากกฎหมายระหว่างประเทศ จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมงานด้านเขตแดนจึงตกทอดมาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ

“ประเด็นเขตแดนเป็นเรื่องทางเทคนิคมาก หลายๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบงานเขตแดนของประเทศไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการต่างประเทศ อย่างประเทศมาเลเซีย งานเขตแดนจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือประเทศสิงคโปร์ ก็มีทั้งกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุดที่ดูแลเรื่องนี้”

03 แม่น้ำโขง เขตแดนไทย-ลาว

คุณทรงชัยชี้ให้เราหยิบหนังสือปกดำเล่มหนาที่ดูเก่าแก่และบอบบางขึ้นมาพลิกดู 

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

“ในสมัยที่โลกยังอยู่ในสภาพความคลุมเครือของเขตแดน แม่น้ำโขง เส้นเลือดใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ใช่แม่น้ำระหว่างประเทศ แต่เป็นเสมือนแม่น้ำภายในภูมิภาคมากกว่า จนกระทั่งการเข้ามาของประเทศเจ้าอาณานิคม และกติกาสากลว่าด้วยการเป็นรัฐสมัยใหม่

“สนธิสัญญาที่ไทยทำไว้กับฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. 1893 กำหนดให้สยามสละข้ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนฝั่งซ้าย รวมถึงเกาะทุกเกาะในแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส อธิบายให้เห็นภาพ แม้จะยังไม่ค่อยชัดเจนว่าตกลงแม่น้ำเป็นของใคร ดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะทั้งหมดต้องเป็นของฝรั่งเศสในเวลานั้น”

ต่อมาเกิดการเจรจาขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ. 1926 ว่าด้วยการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว ในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ ซึ่งระบุว่าช่วงแม่น้ำโขงที่ไม่มีเกาะตั้งอยู่ ให้ถือร่องน้ำลึกของแม่น้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดน ส่วนช่วงแม่น้ำโขงที่มีการแยกออกเป็นหลายสาย เพราะมีเกาะให้ใช้ร่องน้ำลึกของสายแยกที่ใกล้ฝั่งไทยที่สุดเป็นเส้นแบ่งเขตแดน

“ร่องน้ำลึกคือจุดที่ลึกที่สุดในแม่น้ำ อยู่ใต้น้ำ จึงมองไม่เห็น ต้องเป็นคนเดินเรือ นักภูมิศาสตร์ หรือนักอุทกศาสตร์ ถึงจะรู้ว่าอยู่ตรงไหนของลำน้ำ อย่างไรก็ตาม ในสนธิสัญญา ค.ศ. 1926 เราได้เกาะที่อยู่ในแม่น้ำโขงมาแปดเกาะ จากเดิมที่เกาะทั้งหมดเป็นของฝรั่งเศส และบังเอิญในสนธิสัญญา ค.ศ. 1926 ระบุให้มีคณะกรรมการไปกำหนดเขตแดนลงในแผนที่แม่น้ำโขงด้วย”

แผนที่อายุร่วม 90 กว่าปีแล้ว สมัยยังไม่มีดาวเทียม ไม่มี GPS ทั้งหมดจัดทำขึ้นด้วยกระบวนการแอนะล็อก คือแผนที่ในหนังสือปกดำในมือเราเล่มนี้นี่เอง ซึ่งคุณทรงชัยบอกว่า เป็นเอกสารประวัติศาสตร์หนึ่งในหลายๆ เอกสารที่ใช้ประกอบการดำเนินการเขตแดน ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา

เจาะลึกภารกิจงานด้านเขตแดนไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง ‘แม่น้ำโขง’ พรมแดนไทย-ลาว

“กระบวนการทำแผนที่มีรายละเอียดและเทคนิคมากมาย ถ้าลงรายละเอียดคงคุยกันไม่จบวันนี้ ผมขอข้ามมาตอนที่ว่า พอคณะกรรมการกำหนดเขตแดนได้ทำงานแล้วเสร็จ เราได้เกาะในแม่น้ำโขงมาเพิ่มมาอีกสามสิบสี่เกาะ เท่ากับเราได้เกาะทั้งสิ้นสี่สิบสองเกาะ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าเรื่องเขตแดนของแม่น้ำโขงมีวิวัฒนาการมาเสมอ ไม่ได้หยุดนิ่ง”

คุณทรงชัยบอกว่า คนมักลืมนึกไปว่าเขตแดนไทย-ลาว ไม่ได้มีแค่แม่น้ำโขง แต่ยังมีเส้นเขตแดนตามร่องน้ำลึกของแม่น้ำเหือง รวมถึงเส้นเขตแดนตามสันปันน้ำของทิวเขาหลวงพระบาง และทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความท้าท้ายในการทำงานที่แตกต่างกันไปตามบริบท

04 ภารกิจงานด้านเขตแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

เราเดินทะลุไปยังห้องเก็บเอกสารสนธิสัญญาและแผนที่โบราณที่สว่างไสว ดูทันสมัยราวกับห้องแล็บวิทยาศาสตร์ แผ่นกระดาษอายุหลักร้อยปีที่วางเรียงซ้อนกันอย่างเป็นระเบียบในห้องนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อภารกิจงานด้านเขตแดนไทย

โดยหลักการแล้ว ประเทศไทยเคารพสนธิสัญญาที่ได้จัดทำขึ้นในอดีต และยึดถือเส้นเขตแดนที่เป็นไปตามที่ได้ปักปันกันไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม เขตแดนส่วนใหญ่ของไทยเป็นไปตามสันปันน้ำและร่องน้ำลึก โดยเฉพาะแม่น้ำโขง ซึ่งตลอดเวลากว่า 100 ปีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

ดังนั้น แม้จะเคยสำรวจและปักปันเขตแดนกันทั้งหมดแล้วในอดีต แต่เทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์ การสำรวจและจัดทำแผนที่ในอดีตยังไม่ก้าวหน้าพอที่จะทำให้ได้เส้นเขตแดนที่แน่ชัดเท่าที่ควร หนึ่งในภารกิจหลักของกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ จึงเป็นการดำเนินการเพื่อให้ทราบเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่แน่ชัดนั่นเอง

“เราต้องการทำให้สิ่งที่อาจจะมีความเป็นนามธรรมมากหน่อยในอดีตเป็นรูปธรรมขึ้นมา เช่น ตามสนธิสัญญาระบุเขตแดนไทยกับลาวเป็นไปตามสันปันน้ำ ถามว่าวันนี้เราไปเดินบนภูเขา เขตแดนนั้นอยู่ตรงไหน เราไม่รู้หรอกครับ จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้าช่วย ด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งด้านลาวดำเนินมาตั้งแต่ ค.ศ. 1996

วิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 128 ปี ของเขตแดนไทย-ลาว ตามแนวแม่น้ำโขง และการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านพรมแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
วิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 128 ปี ของเขตแดนไทย-ลาว ตามแนวแม่น้ำโขง และการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านพรมแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

“การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน ไม่ใช่การขีดเส้นเขตแดนหรือเจรจาเขตแดนใหม่ เพราะเราปักปันเขตแดน (Delimitation) กันไปแล้วในอดีต สิ่งที่เราทำคือสำรวจและปักหลักเขตแดน (Demarcation) โดยนำสนธิสัญญาและแผนที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมากาง เพื่อพิจารณาสิ่งที่เคยตกลงกันไว้ในอดีต หรือที่ภาษากฎหมายระหว่างประเทศเรียกว่า การตีความสนธิสัญญา (Interpretation of Treaties)”

สนธิสัญญาและแผนที่บางฉบับพร่าเลือนไปตามกาลเวลา จึงต้องมีการเก็บรักษาที่ดีทั้งที่เป็นกระดาษและในรูปแบบดิจิทัลหรือไมโครฟิล์ม (ซึ่งมีเครื่องอ่านอยู่เพียงไม่กี่เครื่องในประเทศไทย) ช่วยให้เอกสารเหล่านี้ได้บันทึกสิ่งที่ไทยกับประเทศอื่นๆ ได้ตกลงกันไว้อย่างไม่เลือนลาง

คุณทรงชัยเล่าต่อว่า “จากนั้นก็ลงพื้นที่สำรวจ กองเขตแดนฯ เป็นทีมฝ่ายกฎหมาย ส่วนทางเทคนิคที่ลงพื้นที่สำรวจ มีหน่วยงานคู่แฝดที่ทำงานร่วมกันอย่างกรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ช่วยดำเนินการเพื่อจัดทำหลักเขตแดนให้เป็นไปตามที่ตีความ ซึ่งแน่นอนว่ามีอุปสรรคมากมายระหว่างทาง 

วิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 128 ปี ของเขตแดนไทย-ลาว ตามแนวแม่น้ำโขง และการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านพรมแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

 “ทั้งความเห็นระหว่างเราและประเทศเพื่อนบ้านไม่ตรงกันบ้าง บางครั้งตีความกฎหมายระหว่างประเทศไม่เหมือนกัน นำไปสู่อีกหน้าที่หนึ่งของกรมสนธิสัญญาและกฎหมายที่จะต้องพูดคุย ทำข้อตกลงกับฝั่งลาวเพื่อให้ทุกอย่างที่ออกมาเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนของเราเป็นที่ตั้งด้วย แน่นอนว่าข้อนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว”

05 สนธิสัญญาใหม่ ?

การพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันตามที่คุณทรงชัยอธิบาย ไม่ใช่นึกอยากยกหูโทรศัพท์หาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่เป็นการพูดคุยบนโต๊ะประชุมระดับประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นภายใต้ชื่อคณะ​กรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission : JBC) ไทย-ลาว โดยจัดมาแล้ว 11 ครั้ง

วิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 128 ปี ของเขตแดนไทย-ลาว ตามแนวแม่น้ำโขง และการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านพรมแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ความคืบหน้าในปัจจุบัน การปักหลักเขตแดนไทย-ลาว เฉพาะส่วนผืนดิน คืบหน้าไปแล้วกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ “คนมักถามว่า ทำไมตัวเลขไม่เพิ่มขึ้นเลย ที่มันค้างอยู่นานเพราะยังมีประเด็นปัญหา การตีความสนธิสัญญาหรือความคิดเห็นบางอย่างระหว่างสองประเทศที่ไม่ตรงกัน ในตัวเลขที่นิ่งอยู่นาน จริงๆ แล้วมีการดำเนินการอยู่ตลอด ที่ย่อยลงไปในรายละเอียด”

คุณทรงชัยบอกว่า ในอนาคต เมื่อการเจรจากับลาวสุดสิ้นลง ภารกิจปักหลักเขตแดนสำเร็จครบทุกจุด ก็จะต้องรับรองผลการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตลอดแนวพันกว่ากิโลเมตรนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดสนธิสัญญาฉบับใหม่ขึ้น แทนที่หรือเสริมสนธิสัญญาฉบับเก่าที่เราทำไว้ตั้งแต่สมัยสยาม-ฝรั่งเศส สนธิสัญญาที่ว่านี้จะระบุรายละเอียดว่าเขตแดนไทย-ลาว อยู่ตรงไหน อันนี้ก็แล้วแต่ความประสงค์ของทั้งสองประเทศในเวลานั้น

วิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 128 ปี ของเขตแดนไทย-ลาว ตามแนวแม่น้ำโขง และการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านพรมแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

“จะมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยระบุรายละเอียดพื้นที่ส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตแดนตามร่องน้ำลึกหรือเขตแดนตามสันปันน้ำ อาจเป็น GPS หรืออะไรที่ทันสมัยกว่านั้น ซึ่งอาจจะต้องมีการขยับในส่วนที่ไม่ชัดเจนบ้าง และแน่นอนว่ามันต้องผ่านกระบวนการภายในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

“สิ่งที่เป็นความต่อเนื่องเสมอมา คือความตกลงเรื่องเขตแดนจะต้องขอความเห็นชอบจากประชาชน ซึ่งก็คือรัฐสภาก่อนเสมอ ปัจจุบันอยู่ในมาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงซึ่งเขตแแดน เพราะประชาชนไทยคือเจ้าของบ้านหลังนี้”

06 ความอยู่ดีมีสุขของคนสองฝั่งโขง

หากมองไปยังเป้าหมายในมิติอื่น นอกเหนือจากเคลียร์ให้ชัดว่าประเทศไหนเป็นเจ้าของพื้นที่ งานปักหลักเขตแดน เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนอย่างไร คุณทรงชัยอธิบายว่า การพัฒนาพื้นที่ชายแดนทั้งหมดเกี่ยวข้องกับเรื่องเขตแดนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราอยากให้ประชาชนตามแนวชายแดนสงบสุข เพราะอะไรที่ไม่ชัดเจน จะสร้างปัญหาตลอดเวลา ตั้งแต่ปัญหาเล็กๆ อย่างสัตว์เลี้ยงไปกินหญ้าในฝั่งที่ไม่ควรจะกิน จนถึงปัญหาใหญ่ อย่างเกาะกลางแม่น้ำโขงนี้เป็นของใคร มีคนไปโยนยาเสพติดไว้ ถามว่าอย่างนี้ ตำรวจพื้นที่ไหนมีอำนาจจับกุม 

“หรือเมื่อต้องตัดถนน สร้างสาธารณูปโภคเพื่อส่งเสริมการค้าและเศรษฐกิจชายแดน ใครต้องออกเงินค่าก่อสร้างถึงตรงไหนบ้าง หรือถ้าต้องการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ในบริเวณที่หลักเขตแดนยังไม่ชัดเจน จะต้องแบ่งอำนาจกันอย่างไร

 “หรือในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราต้องตั้งด่านป้องกันโรคที่ใด ถึงบริเวณใดที่รัฐไทยต้องให้ความคุ้มครองประชาชนในพื้นที่ จากบริเวณใดที่เดินทางจากประเทศเพื่อนบ้านต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านการสาธารณสุขของไทย ในยามปกติไทยก็ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมอยู่แล้ว”

“ในส่วนของแม่น้ำโขง เป้าหมายอันหนึ่งของการทำงานของเราคือ ให้ประชาชนไทยตามฝั่งแม่น้ำโขงได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างมีความสุข ได้ใช้น้ำและทรัพยากรจากน้ำในการดำรงชีวิต ใช้แม่น้ำโขงในการสัญจรไปมาได้ โดยไม่ถูกรบกวนจากความไม่ชัดเจนต่างๆ ประชาชนในประเทศที่สัญจรข้ามไปมากันได้แบบที่เรียกว่า ‘ไร้พรมแดน’ มักเป็นประเทศที่มีความชัดเจนเขตแดนแล้ว เขตแดนที่เป็นสิ่งสมมุติทางกฎหมายไม่ขัดขวางการดำรงชีวิต”

คุณทรงชัยทิ้งท้ายบทสนทนาด้วยการเล่า Success Story ในการปักหลักเขตแดนที่ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งเชื่อมต่อกับพรมแดนลาว “ทุกวันนี้ถ้าไปเที่ยวภูชี้ฟ้า นอกจากความสวยงามของทรัพยากรแล้ว ที่นี่มีหลักเขตแดนตั้งอยู่หนึ่งหลัก ซึ่งต่อมากลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเช็กอิน

“ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เราทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ค่อนข้างมาก และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่า การมีเขตแดนชัดเจนไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ มิหนำซ้ำยังดึงดูดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เข้ามาอีกด้วย บางคนเดินเล่นถ่ายรูป เอามือไปแตะหลักเขตแดนบ้าง วางขาซ้ายอยู่ลาว ขาขวาอยู่ไทยบ้าง กลายเป็นแลนด์มาร์กของพื้นที่ไปเลย”

วิวัฒนาการตลอดระยะเวลา 128 ปี ของเขตแดนไทย-ลาว ตามแนวแม่น้ำโขง และการขับเคลื่อนภารกิจงานด้านพรมแดนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

ภาพ : กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และ Pixarbay

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล