Biennale (เบียนนาเล่) เป็นภาษาอิตาลี แปลว่า ทุกๆ 2 ปี

นับตั้งแต่มี Venice Biennale ในปี 1895 คำว่า เบียนนาเล่ ก็เพิ่มความหมายว่าเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติ เพราะ Venice Biennale กลายเป็นต้นแบบของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยทั่วโลกที่รวมสุดยอดผลงานของศิลปินดังไว้ด้วยกัน

ปี 2018 นี้เป็นปีที่เทศกาลศิลปะในไทยคึกคักเป็นพิเศษ เพราะบ้านเรามีทั้ง Bangkok Art Biennale ซึ่งรวมงานศิลปะเจ๋งๆ จากศิลปินดังทั้งไทยและเทศทั่วกรุงเทพฯ และยังมี Thailand Biennale ที่พาศิลปินชาวไทยและชาวต่างชาติกว่า 50 ชีวิตไปจัดแสดงผลงานทั่วจังหวัดกระบี่ ตั้งแต่ในเมืองไล่ไปจนถึงชายหาด กลางทะเล บนเกาะ ในถ้ำ ไปจนจุดต่างๆ ในป่าเขาอุทยานแห่งชาติ ตามแนวคิด Edge of the Wonderland หรือสุดขอบฟ้าแห่งดินแดนมหัศจรรย์

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมงานศิลปะประจำประเทศถึงเลือกไปจัดที่กระบี่ เมืองริมทะเลที่แม้เป็นจังหวัดท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่เมืองใหญ่หรือศูนย์กลางเศรษฐกิจ

เหตุผลเบื้องหลังงานนี้คือ กระบี่เป็นหนึ่งใน 3 เมืองศิลปะตามยุทธศาสตร์ชาติ อีก 2 เมืองคือเชียงรายและนครราชสีมา ซึ่งจะกลายเป็นสถานที่จัดงาน Thailand Biennale ครั้งถัดๆ ไป

“เมื่อก่อนกระบี่ไม่ได้มีอะไรน่าสนใจเกี่ยวกับศิลปะเลย เราเป็นเมืองท่องเที่ยว มีวัฒนธรรม แต่ไม่รู้ว่าศิลปะร่วมสมัยคืออะไร”

ปรีญา จิวะนันทประวัติ สมาชิกสภาเทศบาลเมืองกระบี่และรองประธานหอการค้าจังหวัดกระบี่ เท้าความหลังของจังหวัด

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

“เทศบาลเริ่มมองว่าควรทำให้กระบี่เป็นเมืองศิลปะ เริ่มจากเราเห็นว่าเวลาไปเมืองอื่นๆ เขาจะมีจุดถ่ายภาพเป็นที่ระลึก มีประติมากรรม มีศิลปะที่สัมผัสได้ มีไฮไลต์ให้นักท่องเที่ยวไปตรงนั้นตรงนี้ เราคิดว่าถ้ามากระบี่แล้วไม่มีอะไรน่าสนใจเขาคงไม่อยากมาอีก เราเลยช่วยกันคิดช่วยกันทำประติมากรรมตามประวัติศาสตร์และตำนานของกระบี่ ครั้งแรกเกิดขึ้นราว 10 ปีที่แล้ว คือประติมากรรมไม้มะหาด และเสียงเพลงแห่งอันดามัน เป็นรูปนกอินทรีที่หลักกิโลเมตรที่ 0 สร้างโดยศิลปินญี่ปุ่น”

ตัวแทนเทศบาลเล่าที่มาของศิลปะร่วมสมัยในชุมชน จากนกอินทรี ตำนานอื่นๆ ของกระบี่ถูกตีความมาสร้างงานทัศนศิลป์อีกมาก เช่น ประติมากรรมปูดำ สี่แยกมนุษย์โบราณ สี่แยกเสือเขี้ยวดาบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมอันดามันเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของจังหวัดกระบี่ รวมถึงกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่นี่มีนิทรรศการผลงานของศิลปินร่วมสมัยทั้งชาวไทยและต่างประเทศหมุนเวียนจัดแสดงอย่างสม่ำเสมอ

“พอมีงานเบียนนาเล่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ได้เชิญชวนทุกหน่วยงานในกระบี่ให้เป็นเจ้าบ้านที่ดี กระบี่ได้รางวัลเรื่องความสะอาดอยู่แล้ว เราก็ดูแลทำความสะอาดเข้าไปอีก ดูแลให้คนที่มาประทับใจ ชุมชนต่างๆ ในกระบี่และคนจังหวัดอื่นๆ ก็อาสามาช่วยต้อนรับแขกที่มาเยือน งานนี้ทำให้กระบี่มีคนรู้จักเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก และสร้างรายได้ให้คนกระบี่ เป็นความภาคภูมิใจของกระบี่ด้วย

“เราไม่เหมือนอิตาลีที่มีศิลปะมาแต่ไหนแต่ไร เด็กๆ เขาได้เรียนรู้ศิลปะตั้งแต่เล็กๆ แต่ชาวกระบี่เราไม่ได้รู้ ผู้ใหญ่ก็ไม่เข้าใจ นี่เป็นโอกาสดีที่งานศิลปะระดับโลกมาอยู่ตรงนี้ สภาการศึกษาน่าจะให้เด็กมาเรียนรู้ ซึมซับศิลปะตั้งแต่เล็กๆ”

เธอลงความเห็นว่าศิลปะในกระบี่มีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต เพราะชาวกระบี่ยินดีต้อนรับโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่กระบี่ แม้ที่นี่เป็นเมืองเล็ก แต่ประชากรสามัคคีกันดี จึงทำงานได้ลื่นไหล ไม่ขัดแย้ง

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

“พวกเราอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเรื่องวัฒนธรรมจังหวัด เราเคยเป็นจิตอาสาอื่นๆ แล้วเลยอยากมาช่วยที่นี่ ทางจังหวัดเขามาขอความร่วมมือกับชาวบ้าน เขาส่งเสริมเรื่องศิลปะมานานแล้ว เพราะนายกเทศมนตรีชอบศิลปะมาก”

ปลื้มจิต คงเหมือนเพชร อาสาสมัคร Thailand Biennale กล่าวอย่างกระตือรือร้น กลุ่มอาสาสมัครเลียบท่าเรือคงคาคอยให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวอย่างใจดี

“หน้าที่ของเราคือประจำตามจุดต่างๆ เราคอยแนะนำและชี้ว่าชิ้นงานต่างๆ อยู่ตรงจุดไหน นักท่องเที่ยวก็มาเยอะขึ้นนะ คนในจังหวัดเองก็ตื่นตัว โรงเรียนพานักเรียนมาดูมาชมเยอะแยะ มากันเกือบทุกโรงเรียนทั้งในตัวจังหวัดเองและจังหวัดใกล้เคียง หน่วยงานต่างๆ และประชาชนทั่วไปก็มาชมชิ้นงาน ส่วนนักท่องเที่ยว บางคนไม่รู้มาก่อน แต่พอทราบข่าวประชาสัมพันธ์ก็มาชม”

สมทบ มนัสวโรวงศ์ และ ลัดดา ไกรวณิชย์ เสริมต่อ

“งานพวกนี้ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและตำนาน งานส่วนใหญ่สื่อถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อน อย่างเขาวงกตไม้ตรงนั้น ป้าก็เพิ่งรู้ว่ามันสื่อถึงชีวิตชาวประมง พอขึ้นจากเรือเข้าบ้านก็ต้องมีสะพานเชื่อม”

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

“งานศิลปะพวกนี้สุดยอดระดับโลกทั้งนั้น แต่พวกป้าคิดว่าธรรมชาติกระบี่สวยมาก พูดไปก็เหมือนชมบ้านตัวเองนะ แต่มันสวยกว่างานอีก เขาถึงเลือกกระบี่ไง เดินเที่ยว 10 วันก็ไม่จบ ศิลปินในกระบี่เองและทั่วประเทศถึงน่ามาที่นี่ เพราะที่นี่มีครบ มีที่เที่ยว มีวัฒนธรรม”

กลุ่มอาสาสมัครกล่าวพร้อมรอยยิ้ม คำแนะนำของพวกเธอและข้อมูลจาก Take me Tour ทำให้เราบุกน้ำลุยทะเลไปคัดเลือกงานเด็ดๆ ห้ามพลาดสำหรับ Art Lover มาไว้ที่นี่แล้ว 9 ชิ้น ดังนี้

 

1

ต้นไทรกลับหัว

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

ศิลปินชาวจีน Yang Zhenzhong จับต้นไทร 10 ต้นมาปลูกกลับหัว เอารากชี้ฟ้า เอากิ่งก้านลงดิน บนสนามหญ้าเป็นแนวยาวเลียบท่าเรือคงคา ผลงาน ‘To be or not to be’ ท้าทายและสำรวจความเป็นไปได้ของธรรมชาติ ว่าพืชจะดำรงชีวิตอยู่ได้หรือไม่ในภาวะสุดขั้ว และนำเสนอโลกคู่ขนานที่ต้นไม้ตีลังกา รากชี้ขึ้นฟ้า คือความปกติทั่วไปในโลกอีกใบ

 

2

โครงกระดูกษ์ยักษ์ปลอมในถ้ำ

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

‘Giant Ruins’ เป็นผลงานอุตสาหะของ TU Wei-cheng ศิลปินและนักวิชาการไต้หวันที่สร้างโครงกระดูกยักษ์ไปนอนในถ้ำ พร้อมอุปกรณ์การสำรวจขุดค้น ตู้เก็บโบราณวัตถุปลอมอย่างตุ๊กตาช้างหรือคิตตี้ ป้ายประกาศและคลิปวิดีโอการค้นพบโครงกระดูกยักษ์ในถ้ำเขาขนาบน้ำ ทำเหมือนนักโบราณคดีมาเองจริงๆ เหมือนมากจนคนเชื่อ พากันโยนเหรียญขอพรกับกระดูกเต็มไปหมด เป็นการสร้างงานที่ล้อกับประวัติศาสตร์มนุษย์โบราณที่กระบี่ ทำเอางงไปเลยว่าของที่จัดแสดงในถ้ำนี้มีอะไรบ้างที่เป็นความจริง

 

3

เสา 4 ต้นแห่งเกาะมุสลิม

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

Valentina KARGA ศิลปินสาวชาวกรีกเดินทางมาอยู่บนเกาะกลาง แหล่งชุมชนชาวมุสลิมในจังหวัดกระบี่เป็นเวลา 1 เดือนเต็ม เธอทำงานร่วมกันช่างท้องถิ่นและชาวบ้านบนเกาะเพื่อทำเสา 4 ต้นที่เปรียบเสมือนชุมชน 4 หมู่ในตำบลคลองประสงค์ ใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้บนเกาะ โดยเฉพาะอิฐแต่ละก้อนที่ชาวบ้านช่วยกันสลักลายอย่างน่ารัก

ผลงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ‘Coming Community’ โครงการใหญ่ที่ศิลปินสร้างตั้งแต่ปี 2016 ที่เมืองเฮลซิงกิ เธอสร้างแผนที่เรื่องเล่าและขยายแผนที่ออกไปเรื่อยๆ โดยมองว่าโลกกำลังเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลง วิกฤตการณ์ต่างๆ ที่เราพบเจอทำให้ผู้คนหวาดกลัว แต่วาเลนตินาเชื่อว่าคุณค่าและความคิดที่ต่างออกไปจะช่วยชุมชนได้ในเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

 

4

สนามฟุตบอลควาย

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

อีกผลงานที่เราอยากแนะนำบนเกาะกลางคือ Football Field for Buffalo งานศิลปะของศิลปินญี่ปุ่น Takafumi FUKASAWA เขามาใช้ชีวิตสำรวจวิถีบนเกาะแสนสงบ และได้รับแรงบันดาลใจมาจากการประกวด ‘ขันไก่แจ้’ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของบ้านคลองประสงค์ เลยอยากให้ควายทั้งหลายได้มีบทบาทแสดงความสัมพันธ์ของมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติบ้าง เลยใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งบนเกาะเป็นสนามฟุตบอล ทำบอลฟางให้ควายมุดกินหญ้าจนบอลกลิ้งไปมา เป็นงานศิลปะที่ต้องอาศัยความร่วมมือของพี่ทุยมากทีเดียว

 

5

จมูกยักษ์สีชมพูกลางน้ำ

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

‘Nobody Nose: Based on a Fake Story’ เป็นผลงานของคู่ศิลปิน Sayaka Ohata และ Joseph Mayrhofer-Ohata ที่ทำงานศิลปะทั่วโลกตั้งแต่ปี 2014 จมูกปลอมลอยเอื่อยๆ ในบึงสวนสาธารณะธารา เป็นเรื่องแต่งที่ขยายตัวสู่ความจริง และเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายในตัวมนุษย์

 

6

เรือข้ามฟากพญานาค

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

‘นาวาพญานาคาแห่งกระบี่’ เป็นผลงานศิลปะของ ยุรี เกนสาคู ศิลปินสาวที่ทำงานสีสันสดใสเป็นเอกลักษณ์ เธอเปลี่ยนความกลัวการเดินทางทางน้ำ ตำนานท้องถิ่นของกระบี่ และสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นลวดลายน่ารักที่ประดับตั้งแต่หัวเรือโทงไปจนถึงในตัวเรือ เราสามารถขึ้นเรือข้ามฟากในคลองปากน้ำกระบี่นี้เพื่อเดินทางเข้าไปสู่จินตนาการของเธอได้ตลอดงานเบียนนาเล่

 

7

บ้านปีกขาวในป่าเขียว

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

Rikuo Ueda สนใจพลังของธรรมชาติและมุมมองโลกระดับจักรวาล เขาสร้างชื่อเสียงจากการใช้ลมวาดภาพ เมื่อปี 2017 เขาวาดโปสการ์ดด้วยใบไม้และลมของจังหวัดกระบี่ และส่งโปสการ์ดนี้ไปให้ภรรยาผู้ล่วงลับไปแล้ว ครั้งนี้เขาจัดวางกรอบไม้รูปบ้านเอาไว้ในบ่อน้ำแห่งหนึ่งของน้ำตกธารโบกขรณี ปีกขาวจะรับลมจากน้ำตกและธรรมชาติจะขีดเขียนข้อความจากภรรยาของเขาตอบกลับมา เป็นการใช้กลศาสตร์ควอนตัมสร้างงานได้โรแมนติกจริงๆ

 

8

สูทพองลม

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

ตามแนวท่าเรือนพรัตน์ธาราที่นักท่องเที่ยวจะขึ้นลงเรือเพื่อไปเยี่ยมชมเกาะต่างๆ ของกระบี่ มีสูทจำนวนหนึ่งพลิ้วสะบัดอยู่บนเสาแทนธง ผลงานชุด ‘A Formation’ นี้ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องเล่าของลุงของ Rania Ho ที่ถูกหลอกให้เดินทางจากฮ่องกงไปเยอรมนีเพื่อเรียนด้านการแพทย์ แต่กลับถูกให้ไปทำงานในร้านตัดสูท เราแนะนำให้ไปดูงานนี้มากๆ เพราะนอกจากมีงานศิลป์ดี ทะเลที่หาดนพรัตน์ธารายังสวยสุดๆ

 

9

คุณยายในกล่องกระจก

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่ ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

ปิดท้ายด้วยผลงานของศิลปิน คามิน เลิศชัยประเสริฐ และสถาปนิก สุริยะ อัมพันศิริรัตน์ ที่ร่วมกันสร้าง ‘No Sunrise No Sunset’ ผลงานศิลปะริมหน้าผาอ่าวนางในกระบี่รีสอร์ท โดยสร้างกล่องกระจกเป็นถ้ำ ภายในมีประติมากรรมยายสา หญิงแก่ที่เฝ้ารอสามีของเธอที่ออกจากบ้านไปหาสัจธรรมเป็นเวลานาน เธอคือสัญลักษณ์ของความรักและการรอคอย

ศึกษาแผนการเที่ยวชมเบียนนาเล่แห่งกระบี่ด้วยตัวเองได้ที่นี่

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

จากงานแสดง 50 กว่าชิ้น กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะเจ้าของงาน (Project Owner) NIA ในฐานะผู้สนับสนุนนวัตกรรม (Innovator) และ TCEB ในฐานะผู้ออกแบบกลยุทธ์และประสบการณ์ของงาน (Experience Strategy) สร้างเครื่องมือแนะนำเส้นทางการชมงานศิลปะตามไลฟ์สไตล์เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการชมงาน โดยแบ่งเส้นทางออกเป็น 6 แบบคือ Solo, Couple, Family, Selfie, Urban & Art Lover

“เส้นทางเหล่านี้คัดกรองโดยศึกษาไลฟสไตล์ของนักเดินทาง แล้วนำมาออกแบบเป็นเส้นทางเพื่อให้นักเดินทางแต่ละกลุ่มได้ชมงานที่เหมาะกับความสนใจ และที่สำคัญ ไม่พลาดงานชิ้นสำคัญในแต่ละพื้นที่ในเวลาที่ยืดหยุ่นได้ อีกประการหนึ่งคือช่วยกระจายการเดินทางไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ของจังหวัด ได้เห็นความหลากหลายของกระบี่ที่มีมากกว่าที่ท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะต่างๆ นอกจากนี้ เรายังออกแบบการให้ข้อมูลเกี่ยวกับศิลปินและงานศิลปะแต่ละชิ้นผ่าน QR Code ที่นักเดินทางสามารถสแกนจากป้ายข้อมูลที่หน้างานศิลปะอีกด้วย”

ไทยแลนด์เบียนนาเล่, กระบี่

จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ตบท้ายว่า เบียนนาเล่ครั้งแรกนี้จะเป็นต้นแบบในการจัดงานครั้งต่อๆ ไปที่นครราชสีมาและเชียงรายต่อไปตามลำดับ

งาน Thailand Biannale จะมีถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ และเทศกาลศิลปะที่องค์กรรัฐ จังหวัด และชุมชน ได้ทำงานร่วมกันในฐานะเจ้าภาพแห่งประเทศไทยจะกลับมาอีกครั้งแน่นอน

 

ภาพ   :   ปฏิพล รัชตอาภา

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ