วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา งานไทยแลนด์เบียนนาเล่ได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ โดยครั้งนี้เป็นการจัดครั้งที่ 2 ต่อจาก ไทยแลนด์เบียนนาเล่ที่กระบี่ และเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในการจัดแสดงงานศิลปะระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 

น่าเสียดายที่ช่วงเวลาการจัดงานถูกกระทบจากวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ที่สนใจจำนวนมากเดินทางไปร่วมชมไม่ได้ และถ้าหากคุณเป็นหนึ่งในนั้น ไม่ต้องห่วง! ทีมงานของเราเดินทางไปเก็บตกบรรยากาศและไฮไลต์ของงานมาให้เสพกันอย่างจุใจ โดยเราได้รับเกียรติจาก คุณวิภาช ภูริชานนท์ หรือ คุณแชมป์ ผู้เป็นภัณฑารักษ์ร่วมของโครงการไทยแลนด์เบียนนาเล่ มานำชมพร้อมทั้งแชร์ประสบการณ์เบื้องหน้าเบื้องหลังการจัดครั้งนี้อย่างเต็มอิ่มอีกด้วย

“เบียนนาเล่ นิทรรศการศิลปะนานาชาติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี ที่เป็นคำภาษาอิตาเลียนเพราะเป็นการให้เกียรติความเป็นมาของงานลักษณะนี้ เริ่มต้นครั้งที่เมืองเวนิช ประเทศอิตาลี ในปี 1895 จากนั้นมาจึงมีเทศกาลศิลปะที่นำเสนอภูมิทัศน์ของวงการในระดับนานาชาติจัดขึ้นโดยประเทศต่าง ๆ มากมาย ที่เราอาจจะเคยได้ยินอีกงานคือ Bangkok Art Biennale หรือ BAB ซึ่งจัดโดยเอกชน สำหรับไทยแลนด์เบียนนาเล่ ผู้จัดคือหน่วยราชการ เป็นกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) และจังหวัดนครราชสีมา เราโชคดีมาก ๆ ที่ได้คุณ Yuko Hasegawa มาเป็น Artistic Director และผู้นำทีมภัณฑารักษ์ มีคุณ Seiha Kurosawa, คุณธวัชชัย สมคง และตัวผมเองเป็นภัณฑารักษ์ร่วม” 

ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย

คุณยูโกะได้เลือกธีมที่ครอบเนื้อหาของงานนี้ทั้งหมดไว้ด้วยกัน ภายใต้แนวคิด ‘Butterflies Frolicking on the mud’ ซึ่งคุณยูโกะเขียนอธิบายไว้ว่า 

“เมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ผีเสื้อปีกสีขาวและเขียวแกมเหลืองขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้มนุษย์จำกัดการเคลื่อนไหว ธรรมชาติจึงฟื้นตัว ผลคือผีเสื้อจึงขยับปีกบินอย่างร่าเริงบนโคลน เป็นที่รู้กันดีว่าผีเสื้อบินร่อนลงโคลน ก็เพื่อชำระล้างและคืนความชุ่มชื้นให้ตัวเอง เช่นเดียวกันกับเราที่พยายามคิดหาทางออกกับสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และหาคำตอบว่าเราทำอะไรได้บ้างในอนาคตที่ไม่มีความแน่นอน ดังนั้น ผีเสื้อเริงร่าบนโคลนตม – วลีนี้ จึงสะท้อนสภาวะที่ถึงแม้จะลำบากแต่เปี่ยมไปด้วยกำลังใจ” 

ผีเสื้อในที่นี้อาจเปรียบได้กับเหล่าศิลปินระดับนานาชาติที่เข้ามาทำงานและสร้างสุนทรียศาสตร์ในบริเวณนี้ (mud สามารถโยงไปถึงดินโป่ง ซึ่งเป็นดินที่เปี่ยมไปด้วยสารอาหารตามธรรมชาติด้วย) เสียดายที่เมื่อถูกแปลเป็นไทย เราได้เห็นเพียงคำว่า “เซิ้ง สิน ถิ่นย่าโม” ทำให้เนื้อหาส่วนนี้ตกหล่นไป

นอกจากนั้นในธีมยังมีคำเปรยต่อว่า Engendering Sensible Capital ด้วยซึ่งตรงนี้ คุณโยโกะอ้างอิงทฤษฎีของนักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นชื่อ Dr.Hirofumi Uzawa พูดถึง Social Common Capital ถ้าแปลเป็นภาษาไทยคือ ทุนร่วมทางสังคม ทุนในที่นี้ไม่ใช่เรื่องเงินทุนเสียทีเดียว แต่เป็นทุน 3 รูปแบบ ได้แก่ ทุนเชิงสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ทุนเชิงโครงสร้างพื้นทางสังคม และทุนเชิงสถาบัน ตอนที่คุณยูโกะมานครราชสีมา เธอสังเกตว่าโคราชเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย อีกทั้งมีจำนวนประชากรรวมมากเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ จึงสนใจโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำงานกับทุนทั้งสามชนิดที่มีอยู่ 

“การจัดนำนิทรรศการศิลปะขนาดใหญ่ในที่ที่ไม่มีหอศิลป์ เราก็ต้องหาพื้นที่ มี 4 ที่หลัก ๆ ในเชิงคอนเซปต์ หนึ่ง พิมาย เรียกได้ว่าเป็นทุนทางประวัติศาสตร์ สอง ทุนทางการศึกษา หรือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน สาม ทุนทางธรรมชาติ คือสวนสัตว์ และ สี่ บริเวณคูเมือง ซึ่งแทนทุนทางเมือง” คุณแชมป์เกริ่น 

ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย

ศิลปะที่เราจะได้เห็นในงานนี้จะมี 2 แบบ คือ 

1. งานที่ยืมมาจัดแสดง 

2. งาน New Commission หรืองานที่ว่าจ้างให้สร้างขึ้นมาใหม่สำหรับเทศกาลนี้โดยเฉพาะ 

ชิ้นแรกที่เราไปชมเป็นงานที่สร้างขึ้นมาใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณของโบราณสถาน ‘กุฏิฤาษี’ ห่างไปจากปราสาทหินพิมายไม่มาก ซากปรักหักพักนี้เคยเป็นอโรคยาศาลาในศตวรรษที่ 12 ถือเป็นลักษณะโครงสร้างที่สำคัญในวัฒนธรรมเขมรในช่วงที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ขึ้นครองราช สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนการปกครองของพระองค์ คือการเผยแผ่ศาสนาและการสร้างระบบสาธารนูปโภค 

“อโรคยาศาลาตรงนี้น่าจะเป็นระบบโรงพยาบาลเก่าที่สุดในเอเชียอาคเนย์ที่เราทราบ เป็นหมุดหมายแสดงว่าพิมายมีความสำคัญมาก ไม่ใช่แค่ในประเทศของเรา แต่ในระดับภูมิภาคด้วย” การสร้างงานศิลปะตรงนี้จึงยึดโยงกับเรื่องระบบสาธาณูปโภค โดยงานชิ้นนี้ชื่อว่า หินบำบัด (The Heal Stone) ของ Haroon Mirza เป็นงานชิ้นเดียวที่อยู่ในบริเวณโบราณสถาน ฮารูนเป็น Sound Artist ชาวอังกฤษ สิ่งที่เขาสนใจคือแรงสั่นสะเทือน (Vibration) งานส่วนใหญ่ของเขาจะอ้างอิงกับวัฒนธรรมหินตั้งโบราณในอังกฤษ อย่าง Stonehenge พอมาที่นี่ เขาจึงสนใจตัวอโรคยศาลาอย่างมาก 

“ผมเอาคำแปลของจารึกให้เขาเลยอ่านว่าอโรคยศาลาทำงานอย่างไร ศิลปินบอกว่าน่าเสียดายที่คนลืมมันไป เขาเลยสร้างโปรเจกต์นี้ขึ้นมาโดยเอาหินมาตั้ง เป็นลักษณะการก่อสร้างที่เหมือนกันในทุกพื้นที่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ล้อมหินไว้ด้วยแผงโซลาร์เซลล์ แล้วส่งตัวไฟฟ้ามาที่ ทุ่นลอย 3 ตัวในสระโบราณเยื้อง ๆ กัน ทุ่นนี้จะปล่อยแรงสั่นสะเทือนเกิดเป็นคลื่นบนผิวน้ำ เป็นความถี่ที่อ้างจากงานวิจัยว่าช่วยรักษาอัลไซเมอร์หรืออาการสูญเสียความทรงจำ” คุณแชมป์เล่า 

“ความยากของบริเวณนี้คือมี พรบ. คุ้มครองโบราณสถานอยู่ ทุกอย่างจะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายนี้ เราต้องขออนุญาต ส่ง Proposal ให้พิจารณา และมีการเข้ามาตรวจสอบว่าทุกอย่างทำได้ไหม มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ อาทิ ห้ามขุด ห้ามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ฯลฯ อย่างตอนแรก ศิลปินอยากทำหินหลาย ๆ ชิ้น แต่สุดท้ายขุดพื้นที่ไม่ได้ จึงเหลือแค่ชิ้นเดียวที่วางได้ และต้องไม่หนักเกินไปจนมีผลกับดินตรงนี้ เลยต้องกำหนดขนาดของหินตามนั้น หรือตัวทุ่นลอยก็ยึดเข้ากับอะไรไม่ได้เลย ทีมผลิตงานที่เมืองไทยจึงต้องหารือกับศิลปิน จนสุดท้ายใช้สลิงร้อยทุ่นเข้าด้วยกันไว้ใต้น้ำโดยไม่ต้องเจาะ”

ภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าทันสมัยตั้งอยู่ด้านหน้าโบราณสถานสร้างภาพที่ดูย้อนแย้ง แต่ขณะเดียวกันก็ลงตัวด้วยเนื้อหา เพราะถือว่าเป็นงานที่ว่าด้วยการรักษา (เช่นเดียวกันกับศาลาอโรคยาเอง) ย้ำเตือนเราถึงทุนทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ โยงเข้ามาสู่ความร่วมสมัยด้วยชิ้นงาน และชวนคิดถึงการต่อยอดทุนในอนาคต

ต่อมาเราเดินทางไปกันที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย ซึ่งถือเป็นอีกจุดใหญ่ของงานเบียนนาเล่ครั้งนี้ 

“อาคารนี้มีอายุกว่า 30 ปีและถือเป็นหนึ่งในมิวเซียมที่สำคัญของประเทศไทย เป็นที่รวบรวมงานศิลปวัตถ เล่าเรื่องความเก่าแก่ของพื้นที่นี้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ไล่มาตั้งแต่ภาพเขียนสีที่เขาจันทร์งาม แหล่งโบราณคดีบ้านธารปราสาท ต่อมายุคทวารวดี ซึ่งส่วนเฟื่องฟูก็คือการเกิดขึ้นของปราสาทหินพิมายและเมืองพิมาย ฯลฯ เราต้องการสร้างบทสนทนาระหว่างงานศิลปกรรม โดยอาจเป็นศิลปะที่อยู่คนละยุคคนละสมัยก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เราจะนำงานศิลปะร่วมสมัยเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ให้น่าสนใจ และเข้ากับธีมของเบียนนาเล่ได้อย่างไร”

ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย
ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย

งานชิ้นแรกที่เราได้เห็นเมื่อเดินเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ คืองานของ YANTOR เป็นศิลปินคู่นักออกแบบแฟชั่นชาวญี่ปุ่น 

“เขาบอกว่าชื่อ YANTOR มาจากภาษาสันสกฤต ยันตระ หรือยันต์ที่เราใช้สักยันต์นั่นเอง สิ่งที่เขาสนใจคือการต่อสู้กับ Fast Fashion ซึ่งสร้างสภาวะแปลกแยกระหว่างเรากับเสื้อผ้าที่ใส่ ปัจจุบันเราไม่รู้เลยว่าเสื้อผ้ามาจากไหน ใครเป็นคนทำ ศิลปินจึงมุ่งทำงานกับชุมชน เพื่อชะลอความเร็วของอุตสาหกรรมแฟชั่น 

“ในงานเบียนนาเล่นี้ เขาได้รับการว่าจ้างให้ทำงานกับโคราชซึ่งเป็นเมืองแห่งผ้าไหม มีแหล่งผลิตผ้าในท้องถิ่น ทั้งฟาร์มจิม ทอมป์สัน อำเภอปักธงชัย ไปจนถึง คึมมะอุ-สวนหม่อน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ศิลปินสนใจทำงานด้วย แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด ทำให้พวกเขาเดินทางมาค้นคว้าไม่ได้ เขาเลยขอให้ทางทีมรวบรวมวัตถุดิบให้เขาทำความรู้จักหมู่บ้านนี้ผ่านผ้า เลือกเอาผ้าเก่า ๆ ที่ถูกเก็บไว้ใต้ถุนบ้านและผ้าที่ไม่ขายแล้ว ทางเราก็ส่งไปเป็นลัง ๆ เลย” 

เมื่อผ้าเดินทางไปถึงญี่ปุ่น ทีมศิลปินจึงค่อย ๆ ศึกษาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเนื้อผ้า แล้วตัดเย็บเข้าด้วยกันเป็นชุด เพื่อส่งกลับมาจัดแสดงในชื่อ Village Traces หรือ ‘สืบสานทางหมู่บ้าน’ ชุดเหล่านี้หากมองเผิน ๆ สิ่งที่เห็นคือลักษณะผ้าไหมโบราณที่เคยคุ้นตา แต่หากเข้าไปดูใกล้ ๆ จะเห็นรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ประณีต เช่น การซ้อนผ้าเป็นชั้น การจับคู่สีและชิ้นส่วนสไตล์โมเดิร์นที่คาดไม่ถึง นอกจากนี้ เยื้อง ๆ กันยังมีการจัดแสดงชุดภาพถ่ายของคนในหมู่บ้าน เป็นนายแบบนางแบบใส่ชุดเหล่านี้กันอย่างภูมิใจ 

สำหรับคุณแชมป์ งานชุดนี้ถือเป็นตัวอย่างของการทำงานระยะไกลที่ประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับงานในห้องติดกัน ‘ราตรีสงัดอันขมขื่นสุดชิงชัง’ (The Bitterly Silent Nights I Hate) งานวิดีโอจัดวางเฉพาะพื้นที่ 7 จอของ Yang Fudong โดยปกติศิลปินคนนี้จะไม่มีสคริปต์ใด ๆ ในการถ่ายทำ แต่ครั้งนี้เนื่องจากเดินทางมาถ่ายที่นี่ไม่ได้ เขาจึงต้องนัดแนะทีมถ่ายทำที่เมืองไทยในพิมาย ทำงานกับบทพูดและทิศทางคร่าว ๆ จากนั้นจึงส่งฟุตเทจกลับไปตัดต่อประกอบร่างที่เซี่ยงไฮ้ ออกมาเป็นวิดีโอที่เหมือนภาพตัดแปะ เสมือนอดีตและปัจจุบันที่ถูกปะติดปะต่อด้วยกัน ไร้เส้นเรื่องและเส้นเวลา ฉายซ้อนทับกันเป็นชั้น ๆ 

ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย

เมื่อเข้าไปโถงจัดแสดงด้านใน คำแรกที่ผุดมาในหัวคือ ‘มีชีวิต’ เพราะพิพิธภัณฑสถานในรูปแบบตั้งเดิมถูกแทรกแซงและเติมแต่งด้วยศิลปะร่วมสมัยอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ แต่ละงานสร้างปฏิสัมพันธ์กับเราในหลากหลายผัสสะ 

เริ่มจากงาน ‘ธรรมชาติหายใจ : อโรคยศาลา’ (Nature’s Breath : Arokayasala) ศิลปะจัดวางของศิลปินคอนเซ็ปต์ชวลรุ่นบุกเบิก อาจารย์มณเฑียร บุญมา เป็นกล่องเหล็กที่ตั้งซ้อนกันขึ้นไปเหมือนสถูป ตรงกลางแขวนปอดเหล็กเคลือบสมุนไพรเอาไว้ อีกทั้งในแต่ละกล่องก็บรรจุสมุนไพรโบราณในท้องถิ่น อาทิ ฟ้าทะลายโจร พริกไทย ขมิ้นชันผง ฯลฯ ส่งกลิ่นหอมโฉยมาแตะจมูกเมื่อเข้าไปใกล้ งานมาสเตอร์พีซศิลปะชิ้นนี้ตั้งไว้ข้างเคียงมาสเตอร์พีซโบราณวัตถุอีกชิ้น นั่นคือรูปปั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่อเล่าความเกี่ยวโยงของท่านกับอโรคยาศาลาอย่างเหมาะเจาะ 

นอกจากลิ่นแล้ว ในนี้ยังมีเสียงกระดิ่งหลายสิบชิ้นของ คุณฤดี ตันเจริญ ที่ลอยมาตามลม โดยกระดิ่งสำริดเหล่านี้มาจากความพยายามฟื้นฟูการหล่อแบบกรรมวิธีโบราณ (ศิลปินทำงานร่วมกับ นายทองคำ ประทุมมาศ ครูช่างศิลปหัตกรรมแห่งศูนย์ทองเหลืองบ้านปะอาว จังหวัดอุบลราชธานี) และการแขวนแบบกระจายตัวตรงทางเดิน จงใจตั้งคำถามว่า เราจะมองวัตถุเหล่านี้ว่าเกะกะ หรือเป็นความงามที่ทำให้เส้นทางของเราสนุกขึ้น 

ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย
ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย

อีก 3 ชิ้นที่เราคิดว่าทำงานกับความเป็นพื้นที่พิพิธภัณฑ์ได้อยู่หมัด ได้แก่ งานชุด ‘คนอื่น-ห้องสมุดหนังสือร้อยเล่มที่ประพันธ์ใต้นามปากกา’ (Someone Else – A library of 100 books written anonymously or under pseudonyms) โดย Shilpa Gupta เป็นชุดปกหนังสือเหล็ก ตั้งตรงข้ามกับ ศิลาจารึกบ่ออีกา ทุกปกที่ถูกเลือกมาล้วนเป็นหนังสือที่ผู้เขียนใช้นามแฝงด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น ต้องการทดลองเขียนแนวใหม่ ไปจนถึงหลบหนีการจำกุมโดยรัฐ ซึ่งในชุดนี้มีปกจากนักเขียนอีสานที่ถูกเพิ่มเข้ามาในงานนี้โดยเฉพาะด้วยหลายปก อาทิ ฟ้าบ่กั้น ของ ลาว คำหอม เป็นต้น 

การเลือกใช้วัสดุเป็นแผ่นโลหะนั้น นอกจากจะล้อไปกับป้ายคำอธิบายในพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังสื่อถึงการพยายามคงไว้ซึ่งความปลอม และตั้งคำถามกับความจริงในประวัติศาสตร์ที่เลือกจัดแสดงอย่างมีนัยยะ อีกชิ้นคืองานภาพถ่าย ‘บ้าน’ ของ Gohar Dashti โกฮาร์เป็นศิลปินชาวอิหร่านที่ไปถ่ายภาพบ้านที่ถูกทิ้งของผู้อพยพในอิหร่าน แต่ละบ้านมีต้นไม้ ดอกไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมไปทั่ว สื่อถึงธรรมชาติที่ยึดคืนพื้นที่จากมนุษย์ การวางภาพเหล่านี้ไว้กับฐานศิวลึงค์และซากอื่น ๆ จากโบราณสถาน ทำให้เรานึกพิมายในปัจจุบันที่โดนธรรมชาติยึดคืนไปแล้วเช่นกัน และที่พลาดไม่ได้เลยคือ ภาพวาดแอบสแตรกต์ขนาดมหึมาเต็มผนังโดย Federico Herrero สร้างสรรพสีสันให้กับมิวเซียมที่เคยเคร่งขรึมให้สดใส ตื่นตาตื่นใจ

ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย
ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย

“ด้านนอกนี้ยังมีอีกชิ้นที่เล่นกับพื้นที่อย่างชัดเจน นั่นคืองานของ Tsuyoshi Tane สถาปนิกชาวญี่ปุ่น เขาจงใจรื้อฟื้นความทรงจำที่ซ่อนอยู่ในโบราณวัตถุ ในบริเวณ Open Storage โดยการออกแบบประสบการณ์ในบริเวณนั้น ตั้งแต่แสงไฟที่เคลื่อนตัว ส่องสว่างและหรี่ดับลงโดยอัตโนมัติ สร้างเงาที่ขยับบนวัตถุที่อยู่กับที่ บวกกับสีของไฟส้มนวลคล้ายแสงอาทิตย์ขึ้นและตก สื่อถึงกาลเวลาที่ไหลผ่าน อีกทั้งเปิดเสียงพระสวดชุมนุมเทวดาด้วย ดูช่วงค่ำ ๆ ได้บรรยากาศมาก”

ขนาดไปดูตอนกลางวันแสก ๆ เราก็ขนลุกขนพองแล้ว เราไม่กล้าจะคิดเลยว่าถ้ากลับไปดูงานชิ้นนี้ตอนมืดสนิทจะทรงพลังขนาดไหน

ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช เบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะนานาชาติในจังหวัดใหญ่สุดของไทย

อีกสถานที่สำคัญในการจัดงานเบียนนาเล่ครั้งนี้ก็คือ คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน 

“เมื่อก่อนตรงนี้เคยชื่อว่า เทคโนโคราช เป็นสถาบันเก่าและมีความสำคัญขนาดที่ในช่วงสงครามเย็นเคยมีบทบาทในการฝึกกำลังพลแถวนี้” คุณแชมป์เล่า “ในเบียนนาเล่นี้ เราพูดถึงทุนของพื้นถิ่น ทุนสำคัญหนึ่งที่เรามีก็คือสถาบันการศึกษา เราเลือกทำงานกับมหาวิทยาลัยนี้ เพราะที่นี่มีการหลักสูตรการสอน Visual Arts (ทัศนศิลป์) และ Fine Arts (วิจิตรศิลป์) ชัดเจน ดังนั้นเราทำงานกับบุคลากรของที่นี่เยอะมาก อย่างผลงาน The Healing Stone ที่กุฏิฤาษี ก็ได้รับความช่วยเหลือในการติดตั้งโดยอาจารย์คณะวิศวกรรม หรือตัวภาพเขียนฝาฝนังในพิพิธภัณฑ์ของเฟเดริโก้ ก็ได้อาจารย์และนักศึกษาจากคณะนี้ไปช่วยลงมือ” 

แม้แต่ทางกายภาพเอง งานเบียนนาเล่ก็ได้ใช้พื้นที่ของตึกคณะศิลปกรรม แปลงร่างให้เป็นหอศิลป์ร่วมสมัยที่โชว์งานในมาตรฐานสากลได้ 

“เรายืมงานมาจัดแสดงหลายชิ้นให้คนไทยดู ศิลปะเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล เราจึงจำเป็นต้องปรับพื้นที่ อาทิ ควบคุมอุณหภูมิความชื้น ควบคุมแมลง ติดสติกเกอร์เพื่อกันแสงยูวีที่จะทำลายงาน ติดแอร์เพิ่ม ทำผนังเพิ่ม ฯลฯ จนทางเจ้าของผลงานมั่นใจว่าเราจัดแสดงงานเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย และโครงสร้างเหล่านี้ก็จะคงอยู่ต่อ เป็นประโยชน์กับมหาวิทยาลัยไปหลังงานจบ” 

ว่าแล้วคุณแชมป์ก็พาเราค่อย ๆ เดินชมงาน ซึ่งในโซนนี้มีงานหลากหลายลักษณะ หลายสิบชิ้น กระจายตัวอยู่บนตึก 4 ชั้น ไฮไลต์ของส่วนนี้ล้วนพูดมาจากศิลปินที่การทำงานกับทุนที่มาจากวัตถุดิบใกล้ตัวที่มี อาทิ Maxwell Alexandre ใช้กระดาษคราฟต์สีน้ำตาลและพลาสติกมาใช้วาดรูปผู้คนที่เขาเจอในแวดล้อมสลัมที่บราซิล Elias Sime นำเอาขยะอิเล็กทรอนิกส์และสายไฟเหลือใช้ที่ถูกทิ้งในเอธิโอเปียมาทักทอเป็นชิ้นงาน ไปจนถึงงานใหญ่ที่สุดในตึก ‘วิมานลอยสำหรับเรเน่’ (A castle in the sky for René) ของศิลปินเบลเยี่ยม Jan Fabre ผู้ระดมคนมาใช้ปากกาลูกลื่นยี่ห้อ BIC ที่ราคาถูกและหาได้ทั่วไป ร่วมกันขีดเขียนบนผ้าขนาด 689 x 1,684 ซม. เป็นรูปปราสาทในอากาศของ René Magritte สุดอลังการ 

“งานชิ้นนี้ถือเป็นงานที่มีอายุมากที่สุดที่เรายืมมาจัดแสดง เป็นชิ้นแรก ๆ ในประวัติศาสตร์คอนเซ็ปต์ชวลอาร์ต ที่ศิลปินเปิดให้ผู้อื่นมาช่วยกันสร้างงานในเสกลนี้ สื่อถึงการร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่ประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่” คุณแชมป์กล่าว

ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา
ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา

แม้ว่างานจะเยอะจนตาลายนิดหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าข้อดีที่เห็นได้ชัดในส่วนนี้คือ การได้เห็นว่าศิลปินเจ๋ง ๆ ในต่างประเทศเขาสนใจอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะชั้นสองของอาคาร ที่เปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องจัดแสดงผลงานศิลปิน ห้องละคน ๆ เราได้พบงานของศิลปินชาวสวิตฯ Uriel Orlow ที่เล่าเรื่องสมุนไพรรักษาโรค ‘เรียนรู้จากโกฏจุฬาลัมพา’ (Learning from Artemisia) Atacama Desert Foundation นำเสนองานกึ่งสารคดี ‘อดีตปัจจุบันในทะเลทรายอนาคต ดิ อาตากามา ไลน์’ (The Past Present in the Future, the Atacama Lines) มีภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ชิลี ชวนให้คิดถึงภาพคล้ายกันที่โคราชด้วย

นอกจากนี้ยังมี ‘ปัญญาสำหรับความรัก 3.0’ (Wisdom for Love 3.0) สร้างสรรค์โดยกลุ่มศิลปินหญิง Keiken เป็นเกมออนไลน์ที่ดำเนินเรื่องผ่านการตัดสินใจของผู้เล่น และให้ผู้เล่นได้สะสมเหรียญโทเคน NFT มีเป้าหมายในการมุ่งสำรวจสำนึกร่วมและศรัทธาอันแรงกล้าในสังคมร่วมสมัย ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงและอนาคตอันเท่าเทียม

และงานของ Koichi Sato และ Hideki Umezawa ‘เสียงสะท้อนจากหมู่เมฆ’ (Echoes from the Clouds) สะกัดน้ำปรุงออกมาจากแนวคิดว่าด้วยธรรมชาติและการขยายตัวของเมืองในจังหวัดคันโตของญี่ปุ่น เป็นต้น

อนึ่ง ระหว่างทางที่เราเดินขึ้นเดินลงในตึกนี้ เราจะเห็นการจัดแสดงงานของนักศึกษาหลายชิ้น 

“นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่คุณยูโกะสนใจการใช้พื้นที่นี้ นอกจากนักศึกษาจะได้เข้าถึงงานระดับโลกแล้ว เธอก็หวังว่าผู้ชมข้างนอกมหาวิทยาลัยก็จะได้เห็นงานของนักศึกษาที่นี่ด้วยว่าเขาทำอะไรกัน” บอกเลยว่า บางงานของเด็ก ๆ ดูดีไม่แพ้ศิลปินระดับโลกเลยล่ะ

ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา
ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา

จุดถัดไปคือสวนสัตว์โคราช 

“เรามองว่าสวนสัตว์เป็นสถานที่สำคัญในการเรียนรู้ระหว่างคนกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว การทำงานกับที่นี่เหมือนมาดูว่าเราเติมอะไรได้บ้าง ที่นี่ถือเป็นที่แรก ๆ ที่เราเลือกและคิดถึงศิลปะถาวร ตรงนี้เราเลือก ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกไทยคนแรกผู้คว้ารางวัลระดับโลกมาแล้วหลายเวที เขาสร้างงานที่ชื่อว่า ‘หอข้าว’ เป็นโครงสร้างหอคอยไม้สูงกว่า 9 เมตรที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากรูปแบบของยุ้งฉาง

“อาจารย์เลือกใช้ไม้เป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ตรงข้ามกับยุ้งฉางปัจจุบันที่เปลี่ยนไปใช้วัสดุโมเดิร์นอื่น ๆ โดยหวังว่าที่นี่จะเป็นอนุสาวรีย์ให้สถาปัตยกรรมท้องถิ่นของคนอีสานที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการเกษตร อีกทั้งจุดนัดพบของคนและสัตว์ด้วย” 

อย่างไรก็ดี คุณแชมป์เล่าว่า การทำงานกับสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ (Post Human) ไม่ง่ายอย่างที่คิด อย่างหอข้าวนี้ศิลปินหวังว่าจะมีนกมาทำรังด้านในโครงสร้าง แต่ไม่เกิดขึ้นเนื่องจากบริเวณโดยรอบมีต้นไม้ตามธรรมชาติมากพอแล้ว 

“ศิลปินไทยโดยรวมอาจจะยังไม่คุ้นชินกับคอนเซปต์ของการทำงาน Post Human มันเลยเป็นความท้าทายที่เราต้องเรียนรู้ แต่ชิ้นที่ได้เรื่องก็มีนะ อย่างงานของ Olafur Eliasson ให้คนเลียนเสียงนกประจำถิ่นแล้วเปิดไปในระบบเสียงตามสายของชาวบ้าน หมู่ 6 อำเภอพิมาย ทุกเช้าเย็น มีนกในธรรมชาติบนวนเข้ามาร้องประสานเสียงกับงานของศิลปินด้วย หรืองานอีกชิ้นในสวนสัตว์นี้ ชื่อ ห้องรอ (กระเรียนไทย) ของศิลปินชาวแอฟริกาใต้ Bianca Bondi ก็ถือว่าประสบความสำเร็จเหมือนกัน”

งานชิ้นนี้อยู่ตรงอาคารอเนกประสงค์ที่ถูกปล่อยร้าง เบียนก้าเทเกลือสีขาวไว้ทั่วพื้นที่ ตรงกลางเธอสร้างฉากของห้องนอนอันโดดเดี่ยว ตกแต่งด้วยวัสดุประเภททองแดงที่เกิดร่องรอยของสนิมเขียวโดยธรรมชาติเมื่อทำปฏิกิริยากับโซเดียมในเกลือ เตียงในงานนี้เป็นตัวแทนของทั้งการร่วมเพศ การเกิด และการตาย เป็นเสมือนประตูเปลี่ยนผ่านของชีวิต นี่เป็นเหตุที่เธอโยงมันเข้ากับกระเรียนไทยในวงเล็บของชื่องาน เพราะเธอทราบว่านักอนุรักษ์ชาวไทยปกป้องนกสายพันธ์ุนี้จากการสูญพันธ์ุได้สำเร็จ 

“ถ้าเข้ามาดูใกล้ ๆ บนกองเกลือเหล่านี้เราจะเห็นรอบเท้าของสัตว์น้อยใหญ่ต่าง ๆ” คุณแชมป์ชี้ให้เราดู “พวกสัตว์เหล่านั้นเข้ามากินเกลือ เพราะเกลือนี้เป็นเกลือบริสุทธ์ที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ ศิลปินสั่งเราเลยว่า ให้พยายามคงรอยเท้าเหล่านี้เอาไว้ให้ได้มากที่สุด” 

ความเป็นกวีในงานชิ้นนี้ตราตรึงใจเราอย่างมาก ต้องขอบคุณทั้งศิลปินและเหล่าสัตว์ที่มาช่วยกันสร้างสรรค์มันขึ้นมา

ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา
ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา

พูดถึงกระเรียนไทยก็ต้องพูดถึงงานอีกชิ้นด้วย งานนี้ตั้งอยู่ในศูนย์วิจัยนกกระเรียนพันธุ์ไทย ชื่องานว่า เรดเดอร์ (Redder) เป็นผลงานจัดวางเสียงโดยศิลปินชาวบริติช-สิงค์โปร์ ชื่อ Zai Tang ประพันธ์ขึ้นจากเสียงนกกระเรียนที่บันทึกจากศูนย์อนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ และอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ ออกมาเป็น Sound Art กว่า 20 นาทีให้เราได้นั่งฟังกัน ปัจจุบันนกกระเรียนพันธุ์ไทยยังขึ้นบัญชีเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงจะสูญพันธุ์ในรายการสีแดงของ IUCN ชื่อ Redder จึงอ้างอิงถึงภาวะอันตรายนี้ และคอสีแดงของนกกระเรียนที่แดงขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างฤดูผสมพันธุ์

นอกจากกระเรียนพันธุ์ไทยแล้ว สัตว์อีกชนิดที่เราจะได้เจอในงานศิลปะจุดนี้คือเจ้ากบ ในงาน ‘เอ็กซ์.เลอวิส (ห้องทดลองอวกาศ)’ (X.laevis, Spacelab) ของศิลปินชาวไอริช John Gerrard แสดงให้เห็นภาพกบที่ถูกแขวนท่ามกลางสภาวะไร้น้ำหนักในกล่องกระจกสุญญากาศ กบในห้องทดลองตัวนี้เป็นภาพเสมือนจริงซึ่งสร้างขึ้นและขยับไปเรื่อย ๆ ด้วยชุดคำสั่งอัลกอริทึมและการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ชวนให้คิดถึงวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกับสัตว์อย่างกบมายาวนาน 

ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา

งานสุดท้ายในสวนสัตว์ เราเดินมาชมลายเส้นสดใสของศิลปินชาวไทย Pomme Chan 

“ตอนนั้นมีโจทย์เลยว่าต้องการศิลปินหญิงที่เป็นนักวาดภาพประกอบ มีการนำเสนอหลายคนแต่สุดท้ายเป็นคุณ Pomme Chan หรือ คุณธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง เริ่มจากเธอเป็นคนที่วาดรูปสัตว์ รูปพืช รูปธรรมชาติเยอะมาก แล้วองค์ประกอบต่าง ๆ ก็ถูกนำมารวมกันแบบแฟนตาซี คือมีการย่อขยายขนาด รวมสายพันธุ์จากต่างพื้นที่เข้าด้วยกัน เลยนำไปสู่การสร้างงานชิ้นนี้” 

‘Art of Wonder’ เป็นงานพิมพ์ลงกระเบื้องขนาดใหญ่ ได้แรงบันดาลใจมากจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ที่สูงมากในจังหวัดโคราช ที่ขุดพบฟอสซิลสัตว์ก่อนประวัติศาสตร์มากมาย อาทิ ช้างสีงา แมมมอธ ไดโนเสาร์ ศิลปินจึงวาดสัตว์เหล่านี้เข้าไปในภาพ ผสมกับสัตว์พันธ์ุอื่น ๆ ในสวนสัตว์ แน่นอนว่าภาพผีเสื้อซึ่งเป็นธีมงานตั้งแต่ต้นก็ต้องมา ที่พิเศษคือเธอยังใส่ร่องรอยของมนุษย์ในรูปไหอิฐพิมายดำ และผู้ชมยังดูการเคลื่อนไหวในงานนี้ด้วยแอปพลิเคชัน Augmented Reality ในมือถือได้ด้วย 

คุณแชมป์เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่นี้ยังไม่ได้ถูกใช้งานอะไรมาก แต่เมื่อติดตั้งงานเสร็จ ทางสวนสัตว์ได้เข้ามามีการบูรณะพื้นที่โดยรอบตัวงาน เอารูปปั้นไดโนเสาร์มาวางเพิ่ม อำนวยความสะดวกให้ผู้ชมงาน เรียกได้ว่าเป็นอีกตัวอย่างของแรงบันดาลใจ ที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงงานศิลปะเข้าสู่ตัวพื้นที่

ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบ ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช งานเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา

ก่อนจากกัน เราขอให้คุณแชมป์ช่วยถอดบทเรียน สิ่งที่คิดว่าเป็นประโยชน์จากการจัดงานในลักษณะนี้ให้เราฟังสักสองสามข้อ 

“อันดับแรกเราได้ดูงานระดับนานาชาติ เป็นเหตุผลที่เรามีโควต้าจำนวนศิลปินไทยที่บาลานซ์กับศิลปินต่างประเทศ เพื่อให้เราได้ว่างานคนอื่นเขาไปถึงไหนกันแล้ว มันเป็นโอกาสให้เราได้เห็นของที่ร่วมสมัยที่สุดในเวลานี้ 

“ข้อดีที่สองคือเราจะเห็นได้ชัดเลยว่า นิเวศวิทยาของศิลปะนั้นไม่ได้มีแค่ศิลปิน มันจำเป็นจะต้องมีฝ่ายอื่น ๆ ทั้งภัณฑารักษ์ นักงานศึกษา ทีมงานผู้สร้างงาน ผู้ติดตั้ง รวมไปถึงผู้ประสานงานทางศิลปะ หรือแม้กระทั้งตัวทุนเองก็ดี ซึ่งถ้าเราจะไปแข่งขันกับโลกศิลปะระดับสากลได้ต้องเป็นทีมเวิร์ก มันเห็นได้ชัดในการจัดงานสเกลนี้ 

“ข้อสามคือการขยับไปในแต่ละจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศ ถือเป็นการเปิดโอกาสทางสุนทรียศาสตร์ที่ดีมาก ให้คนเข้าถึงงานศิลปะร่วมสมัยได้ในวงกว้าง ไม่จำเป็นที่งานดี ๆ จะต้องอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ เท่านั้น” 

“เราสนุกมากกับการทำงานกับคนที่อาจจะไม่ได้คุ้นหรือมีประสบการณ์กับศิลปะร่วมสมัยมาก่อน งานที่สร้างใหม่เกิดครึ่งคือเราต้องทำงานกับคนท้องถิ่น อย่างชิ้นที่ต้องไปหาคนที่เลียนแบบเสียงนก หรือชิ้นที่ทำงานกับชุมชนทอผ้า ฯลฯ แท้จริงแล้วในเชิงของการสร้างงานร่วม (Collaboration) เราเห็นความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับความรู้พื้นถิ่น ซึ่งมากกว่าแค่การอนุรักษ์ สำหรับศิลปิน โจทย์คือต้องตีความองค์ความรู้เหล่านี้ให้มันร่วมสมัยให้ได้” 

เนื่องจากในอีก 2 ปีจะมีการจัดงานอีกที่เชียงราย คุณแชมป์เลยขอทิ้งท้ายไว้ว่า สิ่งที่ควรจะต่อยอดในครั้งต่อไป ต้องเป็นเรื่องของงานการศึกษา 

“การศึกษาและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับงานศิลปะที่อยู่ในนิทรรศการถือว่าสำคัญมาก ๆ ถ้าเราออกแบบการเข้าถึงของผู้ชม โดยไม่ได้เจาะลึกว่าศิลปินเขาคิดอย่างไร ทำงานนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร ฯลฯ เราก็จะไม่ได้ประสิทธิผลจากงานเหล่านี้เท่าที่ควร ดังนั้น องค์กรที่จัดในอนาคตควรต้องพยายามพาคนมาดู สร้างบทสนทนา และกระจายองค์ความรู้ไปในวงกว้างให้ได้มากที่สุด”

หมายเหตุ : นอกจากสถานที่ที่เรากล่าวไป ยังมีงานศิลปะที่น่าสนใจกระจายตัวอยู่ในจุดอื่น ๆ อีก อาทิ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน วัดพายัพ บริเวณหอนาฬิกา และในพื้นที่อำเภอปากช่อง ได้แก่ หอศิลป์พิมานทิพย์ เป็นต้น ผู้สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ thailandbiennale.org/

ภัณฑารักษ์พาชมงานศิลปะนานาศิลปินทั่วโลก และเบื้องหลังการออกแบบ ไทยแลนด์เบียนนาเล่โคราช งานเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติในนครราชสีมา

Writer & Photographer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร