ใคร ๆ ก็รู้จัก คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ ในฐานะนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นย่านสำเพ็ง ผมเองก็เช่นกัน ขณะที่ใคร ๆ เรียกคุณสมชัยว่าอาเจ็กบ้าง อาเฮียบ้าง แต่ผมกลับถนัดที่จะเรียกท่านว่า ‘พี่สมชัย’ ด้วยความเคารพตั้งแต่แรกพบ

“ดี ๆ เรียกพี่ทำให้เฮียรู้สึกหนุ่มขึ้นมาหน่อย” พี่สมชัยหัวเราะเสียงก้องอย่างอารมณ์ดี แต่ยังแทนตัวเองว่าเฮีย

เมื่อตึงหนังเกี้ยอย่างผมกำลังเสาะหา Heritage House ในย่านสำเพ็ง เพื่อจะนำมาถ่ายทอดให้ชาว The Cloud ได้อ่านกันเพลิน ๆ ในคอลัมน์นี้ คนแรกที่ผมนึกถึงคือพี่สมชัย ผู้สืบทอดกิจการร้านค้าเชือก ‘ก้วงเฮงเส็ง’ อันเก่าแก่ของครอบครัว พี่สมชัยเป็นคนสำเพ็งอย่างแท้ทรู เพราะเกิดในสำเพ็ง โตที่สำเพ็ง อาศัยอยู่ในสำเพ็ง และรักสำเพ็งอย่างที่สุด

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี
สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี

ผมเคยได้ฟังพี่สมชัยพูดใน TED Talks และเวทีอื่น ๆ อีกหลายครั้ง เนื้อความที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากที่สุดคือ เมื่อพี่สมชัยกล่าวถึงการให้คุณค่ากับสรรพสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวด้วยการตั้งคำถาม ตามด้วยการศึกษาเพื่อค้นหาคำตอบจนเกิดการเรียนรู้ สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้อาจช่วยไขปริศนาและบอกเล่าเรื่องราวสำคัญ ๆ ให้กับเรามากมาย

ปรากฏการณ์ ผม x พี่สมชัย ครั้งนี้จึงเกิดขึ้น โดยผมขอให้พี่สมชัยช่วยเลือก Heritage House สักแห่งที่อาจซ่อนตัวหลบเร้นอยู่ในสำเพ็ง แต่กลับมีสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่ช่วยขานไขเรื่องราวที่น่าสนใจมุมใหม่ ๆ ได้

“ไทยย่งฮั่วเชียง ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็ง” คือคำตอบ

ซอยต่างขนาด

พี่สมชัยนัดผมที่บริเวณซอยวานิช 1 ก่อนที่เราจะเดินไปร้านไทยย่งฮั่วเชียง ซึ่งตั้งอยู่ในซอยเดียวกัน

“เมื่อก่อนซอยวานิช 1 มีสถานะเป็นถนน ถือว่าเป็นถนนสำคัญนอกกำแพงเมืองสายแรกที่ทอดตัวยาวตลอดย่านสำเพ็ง เรียกว่าเป็นทางสัญจรหลักเลยทีเดียว สำเพ็งถือว่าเป็นย่านนอกเมือง เมื่อก่อนมีกำแพงเมืองปิดล้อมบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ประตูเมืองด้านใต้อยู่ไม่ไกลจากคลองโอ่งอ่าง เดิมมีสะพานสำหรับชักขึ้น-ลง เพื่อกันคนไม่ให้เข้า-ออกเมืองในเวลาค่ำ นั่นคือบริเวณสะพานหัน” พี่สมชัยเริ่มเล่า

ในอดีตสำเพ็งเป็นพื้นที่สวนริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีลักษณะเป็นบาง คำว่าบางหมายถึงพื้นที่ที่ประกอบด้วยคลองแยกย่อยออกมาจากแม่น้ำสายใหญ่ ลัดเลาะเข้าไปในแผ่นดิน เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกและขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2325 ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะข้ามมาสร้างพระบรมมหาราชวังและพระนครขึ้นใหม่ทางคุ้งแม่น้ำเจ้าพระยาฟากตะวันออก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีชุมชนชาวจีนอาศัยอยู่มาแต่เดิม จึงโปรดเกล้าฯ พระยาราชาเศรษฐีนำคนจีนที่เคยอาศัยอยู่บริเวณนั้น ออกมาตั้งหลักแหล่งตั้งแต่บริเวณระหว่างคลองวัดสามปลื้มจนถึงคลองวัดสามเพ็ง

“แล้วทำไมถึงเรียกย่านนี้ว่าสำเพ็งน่ะเหรอ เฮียคิดว่าเป็นเพราะถนนสายหลักสายนี้ไปสิ้นสุดที่วัดสามเพ็ง ก็เลยเรียกชื่อถนนตามจุดหมายปลายทางว่าถนนสามเพ็ง แล้วก็เลยเรียกย่านนี้ทั้งย่านว่าสามเพ็งตามไปด้วย ต่อมาจึงกร่อนเสียงเหลือเพียง ‘สำเพ็ง’ วัดสามเพ็งเป็นวัดเก่าที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเชียวนะ ปัจจุบันคือวัดปทุมคงคา” พี่สมชัยอธิบาย

ถนนเป็นสิ่งใหม่ที่คนไทยไม่คุ้นเคยเพราะคนไทยมักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำ มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับสายน้ำ คนไทยมักปลูกบ้านเรือนอยู่ริมคลองหรืออาศัยอยู่บนแพ ถนัดแจวเรือมากกว่า แต่สำหรับชาวจีน โดยเฉพาะในย่านสำเพ็งนั้น เป็นคนค้าคนขาย ต้องการสร้างบ้านและตั้งร้านอยู่บนบก ลำคลองมีไว้สำหรับขนส่งสินค้ามากกว่าเป็นวิถีชีวิต จึงทำให้เกิดถนนสำเพ็งขึ้น จากบันทึกของชาวตะวันตกเมื่อ พ.ศ. 2373 – 2382 ได้กล่าวถึงถนนสำเพ็งว่า มีขนาดกว้างประมาณ 2 – 3 เมตร เพื่อให้คนเดินสวนกันไปมาเท่านั้น เป็นทางให้เกวียนละรถลากแล่นผ่านไปได้ ทอดตัวผ่านที่พักอาศัยและร้านค้าที่ปลูกเรียงชิดติดกันไปทั่วทั้งย่าน ปัจจุบันถนนสำเพ็งถูกลดฐานะมาเป็นซอยวานิช 1

“แต่ที่เฮียอยากให้ดูคือตรงนี้” พี่สมชัยชี้ไปยังแนวทางเดินที่ทอดยาวไปตามซอยวานิช 1 ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าจากที่แคบ ๆ อยู่นั้น ก็พลันกว้างขึ้นทันที แล้วก็กลายเป็นซอยขนาดกว้างทอดยาวขนานถนนทรงวาดไปจนจรดถนนทรงสวัสดิ์

“อ้าว ทำไมอยู่ดี ๆ ซอยแคบ ๆ ก็บานออกมาแบบนี้ครับพี่” ผมเริ่มสังเกตเห็นสิ่งเล็ก ๆ บางอย่าง

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี
ซอยวานิช 1 ในอดีตคือถนนสำเพ็ง เป็นซอยที่พื้นทางเดินมีความกว้างไม่เท่ากัน ส่วนที่ไม่โดนไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2449 ยังคงความแคบ ส่วนที่โดนไฟไหม้และสร้างขึ้นใหม่จะกว้างขึ้น

“ไฟไหม้” พี่สมชัยเริ่มเล่า “สำเพ็งเติบโตเร็วมาก ประชากรอยู่อาศัยหน่าแน่นขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าของประเทศและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการค้าสำเภากับจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 และหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริงในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งส่งผลให้การค้าขยายตัวมากยิ่งขึ้น บ้านในสำเพ็งแต่ละหลังมักก่อสร้างด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก คนใช้ตะเกียงให้แสงสว่าง เลยทำให้เกิดอัคคีภัยบ่อยครั้ง ครั้งสำคัญก็คือ พ.ศ. 2449 ซึ่งเกิดไฟไหม้ถึง 2 ครั้งในปีเดียวกัน กินพื้นที่กว้างมาก และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ” พี่สมชัยชี้ให้ผมดูสำเนาภาพแผนที่ซึ่งระบุวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2449 เราจะเห็นพื้นที่บริเวณกว้างที่ลงสีน้ำเงินไว้เพื่อแสดงบริเวณที่มอดไหม้ในอัคคีภัยครั้งนั้น

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี
สำเนาแผนที่ฉบับวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2449 ที่นำมาลงสีให้เห็นชัดเจน พื้นที่สีแดงคือพื้นที่ที่รอดจากเหตุการณ์ไฟไหม้ พื้นที่สีน้ำเงินคือพื้นที่ที่โดนไฟไหม้ เส้นตรงที่ลากยาวเป็นเส้นคู่คือถนนทรงวาด 
ภาพ : สมชัย กวางทองพานิชย์

สืบเนื่องจากการสนทนาของเราในวันนั้น พี่สมชัยได้แนะนำให้ผมไปอ่านหนังสือ ‘นิทานชาวไร่เล่มที่ 4’ เขียนโดย นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี ในหน้า 107 มีคำอธิบายเหตุการณ์และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไว้อย่างกระชับและเข้าใจง่ายที่สุด ผมจึงขอคัดข้อความดังกล่าวมาช่วยอธิบายไว้ดังนี้

“ไฟเกิดไหม้ที่สำเพ็ง เจ๊กวิ่งหนีไฟกันวุ่น แต่จะวิ่งไปไหน ตรอกแคบนิดเดียวยากแก่การสัญจร ยิ่งเวลาไฟไหม้ด้วยแล้ว อัดกันเป็นปลาซาร์ดีนนั่นเทียว ถานพระวัดเกาะก็ถูกบูชาพระเพลิงไปด้วย กองกาบมะพร้าวกลายเป็นปุ๋ยไป ทุกอย่างโล่งโถงไปหมด แทนที่เจ๊กจะหนีไปปลูกสร้างที่อื่น กลับคิดปลูก ณ ที่เดิม”

“พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จมาดู พระยาราชรองเมือง ปลัดทูลฉลอง กระทรวงนครบาล ตามเสด็จฯ ในหลวงทอดพระเนตรเห็นเจ้าของที่ดินปักเขตกันกลุ้มไป จึงดำรัสว่า ถ้าปล่อยให้ปลูกสร้างอย่างเดิม ตึกรามก็จะแน่นหาทางเดินไม่ได้ จึงดำริจะทำถนน ได้รับสั่งหากระดาษดินสอมาวาดภาพเส้นตรงจากท่าน้ำราชวงศ์ เลียบแม่น้ำไปจรดวัดปทุมคงคา รับสั่งให้เบิกเป็นถนน รถราจะได้มีโอกาสแล่น ไม่ต้องแออัดอย่างที่แล้วมา ถนนสายนี้จึงมีนามว่าทรงวาด เพราะในหลวงทรงวาดไว้กลางแจ้งนี่เอง” 

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี
แผนที่แสดงแนวถนนทรงวาด สังเกตจากเส้นตรงสองเส้นที่ลาดยาวจากราชวงศ์ไปวัดปทุมคงคา และซอยวานิช 1 (อดีตเรียกว่าถนนสำเพ็ง) ถนนที่เป็นเส้นโค้งขนานกับทรงวาด 
ภาพ : สมชัย กวางทองพานิชย์

ถนนที่ทำขึ้นใหม่ให้มีขนาดกว้างขึ้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงถนนทรงวาดเท่านั้น ถนนดั้งเดิมอย่างถนนสำเพ็งก็ได้รับอานิสงส์ไปด้วย ส่งผลให้พื้นที่ที่รอดจากอัคคีภัยยังคงแคบตามแบบต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนที่ไม่รอดก็ขยายออกกว้างขึ้นอย่างในสมัยรัชกาลที่ 5

“พอดูพื้นแล้ว คราวนี้เงยหน้าขึ้นดูตึกกันครับ” พี่สมชัยเปลี่ยนมุมให้ผมมอง มีสิ่งอะไรที่ควรสังเกตอีกหนอ

“ลักษณะตึกในซอยนี้เหมือนกันหมดตรงที่เป็นตึกก่ออิฐถือปูน เพราะได้มีการตราพระราชบัญญัติขึ้น โดยกำหนดให้สร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทั้งหมดแทนอาคารไม้หลังคามุงจาก ถ้าสังเกตดี ๆ เราจะเห็นพัฒนาการของสถาปัตยกรรมหลายอย่างที่น่าสนใจ” 

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี
อาคารปูนกลุ่มที่ยังปลูกติดกันเรียงเป็นพรืด

“อาคารกลุ่มแรกมีจำนวนประมาณ 40 ห้อง จะยังเป็นอาคารปูนเรียงต่อ ๆ กันไปเป็นพรืดตามเดิม กลุ่มอาคารต่อมาอีก 10 ห้อง จะสังเกตได้ว่ามีการสร้างคันกันไฟเพิ่มขึ้น” พี่สมชัยชี้ให้ผมสังเกต

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี
อาคารปูนที่มีคันกันไฟ แบ่งห้องแถวออกเป็นช่วง ๆ ช่วงละ 2 ห้อง และคันกันไฟจะเป็นแนวปูนที่สูงตั้งแต่ฐานอาคารจนเลยหลังคา

คันกันไฟคือแนวปูนหนาที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งอาคารออกเป็นช่วง ๆ ช่วงละ 2 ห้อง แนวปูนนี้จะมีความสูงตลอดอาคาร ตั้งแต่ฐานจนสูงเลยหลังคา เพื่อทำหน้าที่แยกอาคารไม่ให้เรียงติดกันเป็นพรืด หากเกิดอัคคีภัยขึ้นเมื่อใด คันกันไฟก็จะช่วยประวิงเวลาไม่ให้ไฟลามจากอาคารหนึ่งสู่อาคารหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี
อาคารปูนอีกกลุ่มที่เพิ่มคันกันไฟเหนือหน้าต่างด้วย

“กลุ่มอาคารอีกกลุ่ม นอกจากมีคันกันไฟช่วยแยกอาคารแล้ว ยังเพิ่มคันกันไฟเหนือหน้าต่างเข้าไปด้วย ลองสังเกตดี ๆ เราจะเห็นขอบปูนเหนือบานหน้าต่างอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อกันไม่ให้เปลวไฟลามจากตัวอาคารขึ้นไปติดหลังคาได้ง่าย จะเห็นว่าเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอในสำเพ็ง ส่งผลต่อการกำหนดรูปแบบสถาปัตยกรรมของย่านนี้ในเวลาต่อมา โดยมีจุดประสงค์หลักคือแก้ปัญหาอัคคีภัยนั่นเอง” ขอสารภาพว่าผมมาเดินเที่ยวซอยวานิช 1 หลายครั้งหลายหน แต่วันนี้ผมเพิ่งสังเกตเห็นสิ่งเล็ก ๆ ที่พี่สมชัยกำลังเล่าให้ฟัง

ไฟมีทั้งทำลายล้าง พร้อมกับสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วยเช่นกัน และสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วกับสำเพ็ง

ตึกฝรั่งในย่านจีน

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี

เราเดินตามซอยวานิช 1 ไปเรื่อย ๆ จนไปหยุดอยู่หน้าอาคารปูนสีเหลือง ซึ่งก่อสร้างโดยได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมตะวันตก มีลายปูนปั้นประดับสวยงาม

“เราอยู่ในสำเพ็ง ซึ่งเป็นย่านที่ประชากรส่วนมากเป็นคนจีน แต่อาคารหลังนี้และอาคารอื่น ๆ กลับเป็นตึกที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตกแทบทั้งนั้น อาคารที่เห็นในบริเวณนี้ล้วนสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2449 พร้อม ๆ กับถนนทรงวาด ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5” พี่สมชัยเล่า

สถาปัตยกรรมตะวันตกเริ่มแพร่เข้ามาสู่สยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ซึ่งก่อให้เกิดการติดต่อกับชาติตะวันตกมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันคณะมิชชันนารีที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาก็ทวีจำนวนขึ้นด้วย ในระยะแรกนั้น อิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เฉพาะกลุ่มบุคคลชั้นสูง และมีการรับเอาเฉพาะองค์ประกอบบางอย่างและวัสดุบางชนิดมาปรับใช้เท่านั้น 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 สถาปัตยกรรมตะวันตกได้รับความนิยมและแพร่หลายเป็นอย่างมาก อาคารขนาดใหญ่ ไม่ว่าพระราชวัง วัง บ้านขุนนางและเสนาบดี ตลอดจนอาคารสำคัญทางราชการ รวมทั้งอาคารที่ทำการของเอกชนหลายแห่ง ล้วนก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกมากขึ้นเรื่อย ๆ ต่อมาได้แพร่หลายไปยังบ้านเรือนราษฎร พ่อค้าวาณิชที่มีฐานะด้วยเช่นกัน

“ว่ากันว่าตอนที่สร้างอาคารปูนหลังจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนทรงวาด ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดฯ ให้ช่างไปดูแบบอาคารจากปีนัง ก็เลยมีอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกเข้ามาด้วย สำเพ็งเป็นย่านที่เจริญ เพราะเป็นย่านการค้า คนมีฐานะ ก็เลยมีการแข่งขันกันอยู่ในทีว่าบ้านใครจะสวยกว่ากัน” พี่สมชัยเล่า

หนังสือ ‘สำเพ็ง : ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวจีนในกรุงเทพฯ’ ได้บรรยายภาพสำเพ็งในเวลานั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การค้าในย่านสำเพ็งเป็นไปอย่างคึกคัก สำเพ็งเป็นแหล่งกำเนิดเจ้าสัวหน้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ กิจการค้าขายต่าง ๆ ในสำเพ็งมักรวมตัวกันอยู่เป็นย่าน ๆ ซึ่งขายสินค้าหลากหลายชนิด เช่น ย่านข้าวสารและธัญพืช พืชไร่อยู่บริเวณถนนทรงวาด ย่านอาหารแห้ง อย่างกระเพาะปลา ปลาแห้ง กุ้งแห้ง และปลาหมึกแห้ง อยู่บริเวณตรอกโรงโคมและซอยอิศรานุภาพ ย่านสินค้าประเภทเชือกอยู่บริเวณถนนวานิช 1 หรือถนนสำเพ็งเดิม ช่วงระหว่างถนนเยาวพานิชกับถนนทรงสวัสดิ์ขนานไปกับถนนทรงวาด ซึ่งนับเป็นย่านเพชรพลอยและเครื่องประดับอยู่บริเวณต้นถนนสายเดียวกันด้วย” 

ข้อความที่กล่าวว่าสำเพ็งเป็น “แหล่งกำเนิดเจ้าสัวหน้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ” ช่วยอธิบายถึงอิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกในสำเพ็งได้เป็นอย่างดี และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงถนนทรงวาดเท่านั้น แต่ซอยวานิช 1 ก็ได้รับอิทธิพลนี้มาประปรายด้วยเช่นกัน

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี

ไทยย่งฮั่วเชียง ร้านเชือกคู่สำเพ็ง

พี่สมชัยพาผมไปแนะนำตัวกับ คุณแสง ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้จัดการร้านไทยย่งฮั่วเชียง บุคคลสำคัญที่เราอยากคุยด้วยอีกท่านหนึ่งในเช้าวันนี้ คุณแสงเป็นคนคุยสนุก และกรุณามอบความเป็นกันเองให้กับผม จนการสนทนาในเช้านี้ ผมได้รับอนุญาตให้เรียกท่านว่า ‘เฮียแสง’ 

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี

“ผมว่าไทยย่งฮั่วเชียงตั้งมาเกินร้อยปีแล้วล่ะ ปัจจุบันผมอายุ 70 กว่าปี ร้านนี้มีมาตั้งแต่รุ่นปู่ เป็นร้านเชือกคู่สำเพ็ง” เฮียแสงเริ่มเล่า

บรรพบุรุษของเฮียแสงเป็นคนไหหลำ เดินทางเข้ามาสู่สยามในรุ่นปู่เพื่อมาเริ่มธุรกิจที่นี่

“คนจีนเข้ามาเพื่อค้าขาย ต้องมั่นใจว่ามีผู้ซื้อ ผมคิดว่าสำเพ็งเป็นย่านการค้า มีท่าเรือและโกดังริมแม่น้ำเจ้าพระยายาวตลอดตั้งแต่ท่าน้ำราชวงศ์มาจนถึงทรงวาด มีเรือขนส่งสินค้าหลายชนิด โดยเฉพาะผลผลิตทางเกษตรกรรม เชือกเป็นสินค้าที่ใคร ๆ ก็ต้องการ เพราะต้องนำไปใช้โยงเรือไว้ด้วยกันหรือผูกเรือไว้กับท่า ยิ่งมีเรือเข้ามาเทียบท่าเป็นจำนวนมาก ยังไงเชือกก็ขายได้อยู่แล้ว นอกจากผูกโยงเรือแล้ว เรายังใช้เชือกมัดสินค้าให้เป็นหมวดหมู่สำหรับชั่งขาย และนำส่งกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ การขนส่งสินค้าทางเรือก็มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในภูมิภาคนี้ เชือกจึงเป็นสินค้าส่งออกไปยังเมืองท่าต่างประเทศได้”

คุณปู่ของเฮียแสงเดินทางมาด้วยกันหลายคนพี่น้อง สร้างธุรกิจหลายแขนงแตกต่างกัน นอกจากการค้าเชือกแล้วยังมีธุรกิจทำแหอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมเฮียแสงเติบโตมากับธุรกิจแห

“ปู่ผมอีกคนเป็นคนค้าแห ถือว่าเป็นธุรกิจที่ใกล้เคียงกับธุรกิจค้าเชือก ผมโตในบ้านคุณปู่คนนี้ แต่ผมแค่เดินมาไม่กี่ห้องแถวก็มาถึงร้านเชือกละ ครอบครัวเรามีห้องแถวสามสี่ห้องที่ตั้งอยู่บนถนนสายนี้ คุณพ่อส่งผมไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ผมไปอยู่ที่ออเรกอน (Oregon) ไปเรียนทางด้านบริหาร ก่อนกลับมาทำงานที่ธนาคาร เริ่มที่ฝ่ายธุรกรรมต่างประเทศ ต่อมาถึงย้ายมาอยู่ฝ่ายสินเชื่อ ส่วนไทยย่งฮั่วเชียงนั้นมีคุณอาผมเป็นผู้ดูแล ต่อมาผมตัดสินใจลาออกมาช่วยคุณอาทำธุรกิจเชือก อย่างน้อยก็มีสมาชิกในครอบครัวในรุ่นผมที่เข้ามาช่วยสืบสานธุรกิจดั้งเดิมนี้เอาไว้”

เฮียแสงก็ค้าเชือก พี่สมชัยก็ค้าเชือก แล้วต่างกันอย่างไรบ้างไหมครับ ?

“ของเฮียแสงเป็นเชือกในระดับอุตสาหกรรม ใช้กับเรือใหญ่ ๆ หรือโรงงาน ของเฮียเป็นค้าปลีก ถือว่าคนละตลาด” พี่สมชัยช่วยอธิบาย

“คนในย่านนี้มีหลายเชื้อชาติ บรรพบุรุษผมเป็นไหหลำ แล้วยังมีแต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน แคะอีก เลยไปต้นถนนก็เป็นแขก ต่างคนต่างประกอบอาชีพที่ตนถนัด แล้วก็ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องแย่งอาชีพกัน” เฮียแสงช่วยเสริม ผมชักอยากรู้แล้วล่ะสิว่าแต่ละเชื้อชาติเขาประกอบอาชีพอะไรกันมาตั้งแต่อดีต

“อย่างแขก เขาเคยเป็นอาณานิคมอังกฤษ เขาทำเรื่องผ้า นำเข้าจากอินเดีย ตั้งแต่สมัยเป็นบริติชอินเดีย บางทีเขาก็นำเข้ามาจากอังกฤษ อย่างผ้าตัดสูทนี่ผมต้องไปวัดตัวตัดกับเขานะครับ เพราะเป็นผ้าวูลชั้นดีจากอังกฤษ นอกจากผ้าก็มีอัญมณี ผมสันนิษฐานว่ามาจากพม่า เพราะพม่าก็เป็นอาณานิคมของอังกฤษด้วยเหมือนกัน

“ไหหลำนี่ อย่างครอบครัวผมก็มาทางเชือกและแห นอกจากนี้ที่ผมทราบก็มีทำถังไม้หลาย ๆ ขนาด เมื่อก่อนต้องใช้ถังไม้ลำเลียงน้ำจืดขึ้นเรือก่อนออกเดินทางรอนแรมในทะเล แล้วแถวนี้ขายข้าวสารเยอะ เทกระสอบข้าวเก็บไว้ในถังจะช่วยถนอมข้าวได้นานขึ้น ไม่มีมอด ถ้าเก็บไว้ในกระสอบข้าวจะเสื่อมคุณภาพ เสียราคา เวลาคนมาซื้อปลีก ก็ตักขายจากถังไม้นี่แหละ” 

นอกจากถังไม้ พี่น้องไหหลำยังเก่งธุรกิจโรงแรมอีกด้วย เป็นยังไงมายังไงครับเนี่ย 

“คนไหหลำเป็นคนชอบเงินสด (หัวเราะ) สำเพ็งเป็นแหล่งค้าขายใหญ่มาเป็นร้อยปี มีคนต่างถิ่นเดินทางเข้ามาเสมอ คือขนของมาขายแล้วก็มาซื้อกลับไปด้วย ลงรถไฟหรือเรือมาก็ต้องมองหาที่พักระยะสั้น ๆ ตื่นเช้ามาก็ออกเร่ขายของ พอขายหมดก็ซื้อของจากที่นี่กลับไปขายที่บ้านเมืองตัวเอง พ่อกับอาผมนี่เป็นตัวอย่างเลยนะ นอนดึกแค่ไหน เช้ามาต้องเปิดร้านแล้ว เพราะมักจะมีคนต่างถิ่นเดินเร่เข้ามาถามหาซื้อสินค้าในร้านของเรา แล้วที่ว่าโรงแรมเป็นธุรกิจเงินสดก็เพราะมาถึงจ่ายค่านอนเลย จะกี่วันก็ว่ากันไป เมื่อก่อนเก็บทันทีตอนเช็กอิน เงินสดไหมล่ะ”

พี่สมชัยช่วยเล่าเรื่องคนแคะ ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเครื่องหนังมาแต่โบราณ เพราะอาศัยอยู่ในแถบกวางตุ้ง มีภูมิประเทศเป็นป่า จึงชำนาญเรื่องการล่าสัตว์และการจัดการกับสัตว์ มีทักษะในการแล่ ตัด และฟอกหนัง จนนำมาผลิตเป็นสินค้าเครื่องหนังชนิดต่าง ๆ

  “เดิมทีแถวนี้ร้านรองเท้าเครื่องหนังเป็นของคนแคะทั้งนั้น ส่วนคนแต้จิ๋วเป็นเกษตรกร ประมง คนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ใกล้ทะเลพร้อม ๆ กับอยู่ในดินแดนที่มีภัยจากธรรมชาติรุนแรง เช่น มีภาวะแล้งหรืออุทกภัยอยู่บ่อย ๆ อย่างเมืองเฉาโจว คนแต้จิ๋วจำเป็นต้องเอาตัวรอดในทุกสภาวะ เลยมีทักษะในการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และรักษาผลผลิตที่ได้มาในฤดูกาลนั้น ๆ ให้คงอยู่ พร้อมเตรียมเมล็ดพันธุ์เพื่อหว่านเพาะในฤดูกาลถัดไป”

การเปิดประเด็นเรื่องร้านเชือกกับทั้งสองท่าน พาผมไปรับทราบเรื่องราวอื่น ๆ อีกมากมายและน่าสนใจทั้งสิ้น

เรียนรู้จากเชือก

เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในร้านไทยย่งฮั่วเชียง สิ่งที่เห็นเป็นอันดับแรก คือเชือกขดใหญ่ที่วางกองสุมอยู่ในร้าน รวมทั้งเชือกหลายชนิดที่แขวนไว้กับเสากลางร้าน สิ่งเล็ก ๆ เหล่านี้บอกอะไรกับเราบ้าง

“สมัยก่อนเชือกมีความสำคัญในเชิงพาณิชย์มากอย่างที่เล่าไป และเชือกก็มีวิวัฒนาการตามการเปลี่ยนแปลงด้วย เชือกยุคแรก ๆ คือเชือกมะพร้าว ตอนเด็ก ๆ ผมทันเห็นวางจำหน่ายในร้าน เมื่อก่อนเชือกมะพร้าวคุณภาพดีจะนำเข้ามาจากอินเดียกับพม่านะครับ แล้วเราขายกันเป็นก้อน ๆ เป็นขด ๆ ม้วนใหญ่ ๆ เพราะเราไม่ได้ขายปลีก ความยาวแต่ละม้วนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่ว่าส่งไปขายที่ไหน ส่วนมากเริ่มที่ความยาวม้วนละ 200 เมตร บางประเทศก็ 220 เมตร บางที่ก็ 240 เมตร ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละพื้นที่” เฮียแสงเอ่ย

สืบสาวประวัติย่านจีนจาก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ ร้านเชือกเก่าแก่คู่สำเพ็งมากว่าร้อยปี

“แล้วก็มาสู่ยุคของเชือกมะนิลาครับ ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่ามาจากประเทศเกาะอย่างฟิลิปปินส์ แน่นอนว่าต้องอาศัยการเดินเรือเป็นหลัก เชือกมะนิลาเป็นเชือกที่ทำจากเส้นใยซึ่งมาจากพืชประเภทป่าน เรียกว่าเส้นใยอะบาก้า พื้นฐานของพืชประเภทนี้ต้องปลูกในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี อย่างบริเวณที่ดินใกล้ชายหาด ดังนั้นจึงมีปลูกมากในฟิลิปปินส์ ในขณะที่ป่านชนิดนี้ปลูกได้เพียงพื้นที่แห่งเดียวในประเทศไทย นั่นคือหัวหิน จึงต้องนำเข้ามาจำหน่าย แล้วก็จำหน่ายเป็นม้วนใหญ่ ๆ ยาวหลายร้อยเมตรเช่นเดียวกัน”

คนไทยเรียกเส้นใยอะบาก้า (Abaca) ว่าป่านมะนิลา ปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในประเทศเกาะอย่างฟิลิปปินส์ ใยอะบาก้ามีทั้งความเหนียวแลความหยุ่น ทนต่อจุลินทรีย์ในน้ำเค็มได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเชือกที่อยู่คู่อุตสาหกรรมเดินเรือมานาน

“เชือกยุคแรกจึงเป็นเชือกที่ทำจากใยธรรมชาติ (Natural Fiber) แล้วก็เป็นสินค้าหลักของไทยย่งฮั่วเชียงอยู่นานจนกระทั่งเข้าสู่ยุคใยสังเคราะห์ (Synthetic Fiber) อย่างพวกเชือกโพลีเอทิลีน (Polyethylene) หรือไนลอน (Nylon) ซึ่งกลายมาเป็นกลุ่มสินค้าหลักของร้านในปัจจุบัน”

ระหว่างที่เดินสำรวจร้านไปเรื่อย ๆ สายตาผมก็ไปปะทะกับดุ้นเชือกที่แขวนอยู่บนผนังข้างไม้ไผ่ดุ้นใหญ่

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

“เมื่อก่อนสำเพ็งเต็มไปด้วยคนหาบของ จะว่าจ้างหาบสินค้าเพื่อขนส่งจากจุดหนึ่งไปจุดหนึ่ง หรือหาบเพื่อนำของไปเร่ขายไปตามที่ต่าง ๆ ก็ตาม ทุกหาบใช้เชือกหมด เพราะต้องใช้เกี่ยวสิ่งของโยงกับคานก่อนขึ้นบ่าหาบไปไหนต่อไหน ถ้าหาบคนเดียว ก็เรียกว่า ‘โพยตา’ ถ้าหาบคู่ก็เรียก ‘เต๊กทุย’ เชือกกับพลองไม้ไผ่ที่เห็นนี้เป็นเต๊กทุยคือหาบคู่ คุยเสร็จเรียบร้อยแล้วไปดูรูปจากคลิปที่ร้านเฮียได้” 

ตกเย็นวันนั้นผมตามพี่สมชัยไปชมคลิปวีดิทัศน์เรื่อง Bangkok in the 1920’s: Tourists Film a Busy Market Scene และนี่คือภาพเต๊กทุย ที่เราพยายามบันทึกจากภาพเคลื่อนไหวเป็นเป็นภาพนิ่ง

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านได้เรียนรู้เรื่องราวจากเชือกมากมาย ผมเกิดคำถามหนึ่งขึ้นในใจว่าทุกวันนี้สำเพ็งเปลี่ยนไป แล้วธุรกิจค้าเชือกในย่านนี้ต้องปรับตัวอย่างไรบ้างหรือไม่

“ทุกวันนี้เรือที่ใช้ในการพาณิชย์เป็นเรือใหญ่ นั่นหมายถึงว่าเชือกก็ต้องพัฒนาให้แข็งแรงขึ้นด้วย อย่างเชือกร้านผมก็พัฒนาให้มีเชือกขนาด 3 เกลียว 4 เกลียว หรือ 8 เกลียว ฯลฯ ที่มีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงมากขึ้นด้วย เรามีลูกค้าที่เป็นกลุ่มเดินเรือที่ยังสั่งเชือกประเภทต่าง ๆ ที่มีขนาดและความแข็งแรงแตกต่างกัน ซึ่งเราก็จะ Made to Order ร้านเรามีพื้นที่จำกัด เราไม่สามารถสต็อกสินค้าไว้ในร้านไว้ได้มาก เชือกก็มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่เรารับออเดอร์และจัดส่งไปได้ นอกจากนี้ยังมีเชือกที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม เช่น ใช้ในโรงงานสำหรับยกของหรือมัด อันนี้ก็เป็นอีกกลุ่มลูกค้า

“ส่วนเชือกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ อาจไม่มีบทบาทในเชิงอุตสาหกรรม แต่ก็เป็นเชือกที่นิยมนำไปประกอบเครื่องเรือน อย่างเตียง โต๊ะ ตู้ โซฟา ฯลฯ หรือใช้ประดับตกแต่งภายในอาคาร บ้านเรือน โรงแรมและรีสอร์ตต่าง ๆ เพื่อสร้างบรรยากาศแบบย้อนยุค บรรยากาศใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น”

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

เฮียแสงเป็นผู้สืบต่อธุรกิจค้าเชือกที่คุณปู่สร้างไว้ และดูแลต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน แล้ววันหน้าเฮียแสงคาดหวังว่าใครจะมาทำหน้าที่นี้ต่อไป 

“ผมไม่ได้คาดหวังว่าลูกชายจะต้องมาดูแล เป็นสิทธิของเขาเลยว่าจะเลือกอย่างไร ผมอาจเป็นรุ่นสุดท้ายในครอบครัวก็ได้ พ่อเป็นคนให้ผมมีโอกาสเลือกอนาคตของตัวเอง ผมก็ให้อิสระลูกเช่นนั้นเหมือนกัน”

การเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ย่อมจะทำได้ดีที่สุด เหมือนเฮียแสงที่เลือกดูแลร้านไทยย่งฮั่วเชียงมานานกว่า 40 ปี 

ร้านเล็ก ๆ และเรื่องราวจากสรรพสิ่ง

“ตึกนี้เป็นตึกโบราณ ผมเกิดมาเห็นเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น” เฮียแสงบอก

ในพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรของร้านเชือกดั้งเดิมแห่งนี้ มีอะไรบอกเล่าให้เราได้เรียนรู้กันบ้าง ลองตามเฮียแสง พี่สมชัย และผม ไปกันดูนะครับ

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

“ดูเพดานนะครับ จะเห็นว่าเพดานมีช่องโหว่เปิดไว้สำหรับลำเลียงของขึ้นด้านบน ถ้ามองรอดระแนงไม้ขึ้นไปจะเห็นขื่อที่มีรอกเกี่ยวอยู่ เอาไว้สำหรับชักม้วนเชือกขึ้นไปเก็บไว้ด้านบน เมื่อก่อนร้านในสำเพ็งจะใช้ด้านล่างเป็นหน้าร้าน ส่วนด้านบนเก็บของ จะเห็นว่าฝ้าเพดานจะตีไม้ระแนงติด ๆ กันไว้ค่อนข้างถี่เพื่อให้แข็งแรงและรับน้ำหนักได้มาก ขื่อบางช่วงมีแผ่นไม่ประกบซ้อนสองชั้นเพื่อเสริมความแข็งแรงให้มากขึ้นไปอีก แต่ปัจจุบันผมแทบไม่ได้ใช้พื้นที่ชั้นบนแล้ว เพราะเชือกมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักก็มากขึ้น จึงวางไว้ด้านล่างแทน”

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

เฮียแสงใช้สีเป็นตัวบ่งบอกว่าอะไรเป็นของเดิม อะไรเป็นสิ่งที่เสริมเข้าไปใหม่ สีเขียวอ่อนคือสีเดิมของอาคารและเป็นวัสดุต้นฉบับ ส่วนสีเขียวเข้มใช้สำหรับไม้ที่เปลี่ยนหรือเสริมเข้าไปทีหลัง

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

“ที่ดับเพลิงนี้อยู่กับร้านมาแต่แรก มีคนค้าของเก่ามาขอซื้อจากผม เขาบอกว่าเครื่องอื่น ๆ ที่เขาเคยเจอมาไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์เท่านี้ แต่ผมไม่ขายเพราะมันช่วยเล่าเรื่องของสำเพ็งได้ คุณคงทราบว่าสำเพ็งนี่กลัวไฟไหม้ที่สุด กลัวมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เบี้ยประกันอัคคีภัยที่สำเพ็งแพงที่สุด (หัวเราะ) ผมคิดว่าปู่กับอาผมก็ห่วงเรื่องไฟเหมือนกัน เลยซื้อเอาไว้ตั้งแต่แรก ๆ” เฮียแสงชี้ให้ดูอุปกรณ์ที่ช่วยอธิบายว่าคนสำเพ็งระวังอัคคีภัยกันแค่ไหน

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน
มุมออฟฟิศ สังเกตคอกไม้ล้อม มีประตูปิดเป็นส่วนตัว
สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน
มุมออฟฟิศเห็นความเคลื่อนไหวได้ทั้งร้าน

“มุมนี้เป็นมุมออฟฟิศ ตั้งอยู่ในคอกไม้ล้อมรอบเป็นสัดส่วน และอยู่ตรงมุมหลังร้าน ซึ่งเป็นลักษณะของร้านในสำเพ็ง ผมไม่คิดว่าร้านอื่น ๆ จะรักษาคอกไม้ลักษณะนี้ไว้อีกแล้ว ส่วนโต๊ะตัวนี้ทำจากไม้เพียงชิ้นเดียว อยู่คู่ร้านมาแต่รุ่นคุณปู่ เป็นที่ทำเอกสารซื้อขาย ทำบัญชี งานเอกสารอื่น ๆ ผู้จัดการก็นั่งมองดูสินค้า และความเคลื่อนไหวทั่วไปภายในร้านจากมุมนี้” 

ในมุมออฟฟิศยังมีสรรพสิ่งสนุก ๆ ที่เห็นแล้วต้องอ้าปากค้างด้วยความตื่นเต้น

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน
ตู้เซฟและก๊อกน้ำด้านบน ประดิษฐกรรมเพื่อต่อสู้อัคคีภัย ทั้งสำเพ็งมีร้านนี้ร้านเดียว

“นี่คือตู้เซฟเหล็กโบราณ เนื้อหนา ที่ผมอยากให้สังเกตคือด้านบนมีก๊อกน้ำด้วย เป็นการต่อท่อประปามาเหนือตู้เซฟตู้นี้เลย งงไหมครับว่ามีทำไม เพื่อนผมหลายคนถามผมว่ามีทำไมวะก๊อกน้ำ มันเกี่ยวกันตรงไหน อย่างที่บอกว่าคนสำเพ็งนี่ห่วงเรื่องไฟไหม้ที่สุด เวลาไฟไหม้ก็ต้องตัดไฟ แต่เขาไม่ตัดน้ำแน่ ๆ ดังนั้นถ้าไฟลามมาถึงร้าน เราก็จับของสำคัญที่ขนไปไม่ทันโยนเข้าเซฟ ล็อกเซฟ เปิดน้ำทิ้ง แล้ววิ่งหนีออกไปได้เลย (หัวเราะ) น้ำช่วยกันไฟไม่ให้ไหม้ ลดโอกาสที่ตู้เซฟจะโดนเผาทำลาย ผมเชื่อว่าเหลือเซฟและก๊อกน้ำแบบนี้ทีมีที่ร้านนี้ร้านเดียว”

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

“ตู้ไม้บนผนังนี้ก็เป็นของเดิม สั่งมาจากเบลเยี่ยม คุณลองดูกระจก มันจะไม่ราบเสมอกัน มีความโป่งนูนเป็นบางช่วง นั่นคือไม่ใช่กระจกที่ทำจากโรงงาน แบบที่เป็น Mass Production แต่เป็นกระจกที่ทำขึ้นทีละชิ้นเพื่อตู้ไม้ตู้นี้โดยเฉพาะ หรือกระจกสีที่ประดับเหนือหน้าต่างกับประตู เป็นกระจกสีที่ไม่เรียบ จึงน่าจะสั่งทำพิเศษด้วยวิธีเดียวกัน สีที่เห็นก็เป็นสีเดิม ถ้าแตกหักเสียหาย ผมก็ไม่รู้ว่าจะไปหามาทดแทนจากไหนเหมือนกัน”

นอกจากของสนุกในมุมออฟฟิศแล้วก็ยังมีของสนุกในมุมอื่น ๆ ภายในร้านอีก

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

“ป้ายย่งฮั่วเชียงป้ายนี้เป็นป้ายแรก ๆ ของร้าน ความจริงเดิมร้านชื่อว่าย่งฮั่วเชียง ไม่มีคำว่าไทย เรามาเติมคำว่าไทยเอาตอนหลังในยุคนิยมไทย” เฮียแสงชี้ให้ผมชมป้ายไม้ดั้งเดิม

“ผมอยากให้สังเกตลักษณะตัวอักษรที่ปรากฏบนป้าย ไม่ว่าตัวอักษรจีนหรือไทยซึ่งมีเอกลักษณ์ ผมสันนิษฐานว่าให้ช่างจีนที่เขียนภาษาไทยได้เป็นคนเขียนตัวอักษรชุดนี้ สังเกตจากลักษณะของลายเส้นที่เกิดจากการตวัดลายตัวอักษร การเกร็งมือ สะท้อนให้เห็นเลยว่าเป็นการเขียนโดยใช้พู่กันจีน แล้วป้ายรุ่นนี้จะมีลักษณะคล้ายกันคือ เขียนด้วยตัวอักษรซ้อน 2 ชั้นเป็น 2 สี เช่นดำซ้อนแดงอย่างที่เห็น” พี่สมชัยชวนชมลักษณะของตัวอักษรสวย อันเป็นเอกลักษณ์ที่ปรากฏบนป้าย

นอกจากป้ายดั้งเดิมที่ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ภายในร้านแล้ว ป้ายหน้าร้านก็ปรากฏชุดตัวอักษรมี่เขียนขึ้นจกพู่กันจีนในลักษณะเดียวกัน และเป็นป้ายโบราณที่นำขึ้นติดตั้งในสมัยนิยมไทยตามนโยบายสร้างชาติช่วงรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

“ป้ายหน้าร้านไทยย่งฮั่วเชียงป้ายนี้เป็นป้ายที่มีลักษณะพิเศษ คือใช้สีน้ำเงินเป็นสีพื้น ซึ่งปกติเราจะพบแต่ป้ายสีแดงตัวทอง หรือป้ายดำตัวทอง หรือถ้าโบราณหน่อยก็ป้ายแดงตัวดำ แต่จะหาป้ายสีน้ำเงินตัวทองเช่นนี้แทบหาไม่ได้เลย” พี่สมชัยชวนผมสังเกต มีเรื่องราวหนึ่งที่น่าสนใจของป้ายสำคัญป้ายนี้เกิดขึ้นในอดีต ช่วงนั้นเกิดกรณีโจรปล้นป้ายกันสนั่นสำเพ็ง เรื่องราวเป็นมาอย่างไร ไปฟังทั้งพี่ทั้งสองเล่าให้ฟังกันดีกว่า

“พวกนี้จะเอาป้ายไวนิลประเภทป้ายโฆษณาเทศกาลกินเจ ป้ายโฆษณาน้ำมันพืชอะไรพวกนี้มาบังป้ายร้านที่หมายตาเอาไว้ก่อน เหมือนมาขอแขวนป้ายโปรโมตเทศกาลอะไรบางอย่าง ตอนแรกเราก็คิดว่าคงจะเป็นพวกรับจ้างมาติดป้ายโฆษณาที่มีทั่ว ๆ ไปเป็นปกติ” พี่สมชัยเริ่มเล่าแผนขโมยป้าย

 “แต่ความจริงแล้วเขาทำทีเป็นมาแขวนป้ายโฆษณา แต่แอบมาถอดป้ายหน้าร้านต่าง ๆ เพื่อเอาไปขาย ตอนนั้นโดนกันไปเป็นสิบ ๆ ร้านเลย ส่วนมากเป็นป้ายไม้เก่าแก่ที่อยู่ควบคู่กับกิจการมานาน บ้างก็เป็นป้ายไม้สักดี ๆ เขียนตัวอักษรสวยงาม มีลายฉลุประณีต ก็โดนถอดไปหมด รวมทั้งป้ายร้านไทยย่งฮั่วเชียง” 

โอย… แสบมาก ผมเพิ่งทราบเรื่องแก๊งโจรขโมยป้ายในสำเพ็งก็วันนี้

แล้วไปตามคืนมาได้อย่างไรครับ ผมอยากรู้ถึงขีดสุด คราวนี้เฮียแสงกรุณาเฉลยให้ฟัง

“ผ่านไปร่วมสิบปีได้มั้งครับ มีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งพาไปเที่ยวร้านขายของเก่า ปรากฏว่าผมดูโทรทัศน์อยู่ก็เห็นป้ายร้านของเราอยู่รายการนั้นด้วย วันรุ่งขึ้นผมขับรถไปตามหาเลยนะ ผมจะไปขอซื้อคืน ว่าจะให้ราคา 2,000 ผมถือว่าร้านเขาคงไม่รู้และไม่ได้ตั้งใจ ปรากฏว่าพอไปถึง ร้านปิดไปแล้ว เหมือนกับว่าในร้านนั้นมีของเก่าที่มีคดีความเยอะมากจนตำรวจต้องมาปิด แล้วตอนหลังผมก็ได้รับป้ายหน้าร้านคืนมาจากตำรวจ”

ผมทั้งอึ้ง ทั้งลุ้น แต่ก็ร่วมดีใจที่ได้ป้ายสำคัญกลับคืนมาในที่สุด

เมื่อร้านที่ตั้งอยู่ในอาคารโบราณเช่นนี้ เฮียแสงดูแลอย่างไร

“ผมก็ซ่อมร้านอยู่เรื่อย ๆ นะครับ อาคารเก่าก็มีเสื่อมสภาพชำรุดเสียหายกันบ้าง ผมก็เปลี่ยนเท่าที่จำเป็น เช่น หลังคา แต่เป็นการซ่อมแบบประคับประคอง คือให้อาคารยังคงสภาพแข็งแรงและใช้งานต่อไปได้ ผมไม่คิดที่จะเปลี่ยนสภาพจากเดิมแต่อย่างใด และอุปกรณ์อะไรที่ยังใช้ได้ ผมก็นำมาใช้” เฮียแสงเล่าพร้อมชี้ให้ผมชมเครื่องชั่งน้ำหนักโบราณที่อยู่คู่ร้านมาตั้งแต่แรก และเป็นเครื่องชั่งน้ำหนักที่สั่งทำพิเศษเพื่อให้ตัวเลขบอกน้ำหนักเป็นตัวเลขไทย

สืบสาวเรื่องราวสำเพ็งจากทายาทร้านเชือก ‘ไทยย่งฮั่วเชียง’ และ ‘ก้วงเฮงเส็ง’ จากเขตแออัดไฟไหม้ ถึงย่านธุรกิจของชาวจีน

“ผมคิดว่าการอนุรักษ์ของเก่าวิธีหนึ่งคือการนำมาใช้งานอยู่เสมอ ในเมื่อยังอยู่ในสภาพดีและใช้การได้ ทำไมจะไม่นำกลับมาใช้”

พี่สมชัยกับผมอำลาเฮียแสงในตอนบ่ายด้วยความซาบซึ้งใจ ที่เฮียแสงกรุณาสละเวลามาพูดคุยและนำชมร้านเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยข้าวของมากมายล้วนน่าสนใจ ผมเข้าใจแล้วว่าการให้คุณค่ากับสรรพสิ่งเล็ก ๆ ด้วยการศึกษาเรื่องราวต่าง ๆ นั้นทำให้ผมได้รับประโยชน์อย่างไร

“ขอบพระคุณพี่สมชัยมากครับ วันนี้ผมสนุกมาก ว่าแต่ว่าพี่มีที่ไหนในสำเพ็งที่บอกเล่าเรื่องราวสนุก ๆ แบบนี้อีกไหมครับ” ผมกล่าวขอบคุณพี่สมชัย ในใจไม่อยากให้ปรากฏการณ์ x ของเราจบลงเพียงบทความนี้บทความเดียว

“มี” พี่สมชัยเอ่ยพร้อมรอยยิ้ม

“อ้าว ไหนล่ะครับ” 

ตามผมไปคราวหน้านะครับ

ขอขอบพระคุณ

  • คุณสมชัย กวางทองพานิชย์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดก้วงเฮงเส็ง และบริษัท ก้องเกษม (1959) จำกัด
  • คุณแสง ลิ้มเจริญรัตน์ บริษัทไทยย่งฮั่วเชียง จำกัด

เอกสารและข้อมูลอ้างอิง

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน