หลายครั้งคนเรามักคิดถึงความทรงจำอันงดงามเก่า ๆ ในอดีต อยากกลับไปหา อยากทำให้มันหวนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง แต่เราก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการมองภาพถ่ายเก่า หรือเข้าไปหลบในห้วงภวังค์ความคิด จนบางทีถึงหลายทีก็แอบคิดว่า… ถ้ามีไทม์แมชชีนก็คงจะดี

เช่นเดียวกับเจ้าของเพจบ้านของจิ๋ว กิ๊บ-ธัญญาทิพย์ อ่อนกล และ กอล์ฟ-อรรถพล อ่วมสอาด สองสามีภรรยาอดีตคุณครู ที่ผูกพันกับความทรงจำวัยเด็กอยู่มากมายหลายเรื่องซึ่งคงบอกเล่าเป็นถ้อยคำไม่หมด ทั้งคู่ไม่มีเครื่องย้อนเวลา มีเพียงรูปถ่ายและภาพลาง ๆ ของสิ่งที่เคยคุ้น แต่อยากให้ความทรงจำเหล่านั้นจับต้องได้ จึงบรรจงออกแบบ วางเสาเข็ม เก็บทุกรายละเอียด ใช้ความรักก่อร่างสร้างบ้าน ออกมาในรูปแบบ ‘บ้านของจิ๋ว’

คู่รักนักสร้าง ‘บ้านของจิ๋ว’ ที่เรียนทำโมเดลเอง เพื่อสร้างบ้านไทยยุคเก่าอย่างสมจริง

เมื่อความตั้งใจปรากฏชัดเจน กิ๊บและกอล์ฟจึงศึกษาผ่านวิชาการฝึกฝนด้วยตัวเอง และลงมือทำโดยเริ่มจากศูนย์ แต่ความสุขและความสนุกเป็นแรงขับเคลื่อนชั้นดี ทั้งคู่จึงคร่ำหวอดในวงการนี้มานานพอที่จะทำได้ทุกอย่าง ทั้งร้านรวง ห้องหับ ตลาดนัด ตลาดน้ำ 

ต้องการไม้ชนิดไหน พื้นแบบใด บ้านของจิ๋วก็ทำให้ภาพจำเป็นจริงได้ทั้งหมด

“เราคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ หมู่บ้านเล็ก ๆ ชีวิตวัยเด็กในสมัยนั้น เราเลยอยากทำงานชิ้นหนึ่งเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำ” กิ๊บเริ่มบทสนทนา

บ้านของจิ๋ว แต่เรื่องราวของบ้านไม่จิ๋ว

บ้านของจิ๋วทุกหลัง ปลูกขึ้นมาด้วยความรักของกิ๊บและกอล์ฟ

กิ๊บเล่าว่าเธอผูกพันกับสิ่งต่าง ๆ ในวัยเด็กมากมาย หนึ่งในความทรงจำที่มีค่าที่สุด คือชีวิตที่เติบโตมากับร้านขายของชำของคุณพ่อ เจ้าร้านขายของชำยุคเก่านั้น จึงถูกรังสรรค์ออกมาเป็นของจิ๋วชิ้นแรก

“ร้านขายของชำมีความหมายกับเรามาก เพราะเราโตมากับร้านนี้ สมัยก่อนพ่อให้ไปนั่งเฝ้าซุ้มยาดอง ไปนั่งขายโมบายที่ทำจากหลอดเป็นกองสูงท่วมหัว แลกมากับค่าขนม เราก็ดีใจ หรือบางทีเราแอบจิ๊กของแถมจากขนมลัง ได้เล่นกับเพื่อน ๆ หน้าบ้าน ข้ามไปวิกหนัง วิ่งไปตลาด คือความทรงจำของเรามันอยู่ตรงนั้นหมดเลย”

จากร้านขายของชำ ข้ามฝั่งไปต่อกันที่ความทรงจำของกิ๊บตรงวิกหนัง ที่นั่นมีของขาย มีรถขายโรตีสายไหมหยอดเหรียญจอดเรียงราย เด็ก ๆ กำเหรียญบาท เหรียญห้า เหรียญสิบไปหยอดกัน เพียงหมุน ตื๊ดดดด… ก็จะสุ่มจำนวนโรตีที่เราจะได้ ด้านซ้ายด้านขวาขนาบด้วยร้านปลาหมึกบ้าง ร้านน้ำบ้าง ถัดไปอีกหน่อยมีรถแห่หนังจอดอยู่ รอคอยเวลาวิ่งออกไปแห่ตามหมู่บ้าน 

“ในวิกหนังจะมีดนตรี มีคอนเสิร์ต เป็นแหล่งรวมความบันเทิง เมื่อก่อนมี พุ่มพวง ดวงจันทร์ มี สายัณห์ สัญญา มาเล่นดนตรีในวิกหนังนี้ด้วย ด้านหน้าก็มีของขายเต็มไปหมด มีเด็กวิ่งเล่น เราคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ แบบนั้นที่หาไม่ได้อีกแล้วในสมัยนี้” กอล์ฟเสริม

หากความทรงจำที่เป็นที่สุดของกิ๊บคือร้านขายของชำ กอล์ฟเองก็มีภาพจำวัยเด็กที่เป็นที่สุดเหมือนกัน ชนิดว่าคิดถึงเมื่อไหร่ ก็เล่าออกมาได้เป็นฉาก ๆ นั่นคือ ร้านเกมคู่ใจ

“ที่สุดสำหรับพี่ต้องร้านเกมเลย ตอนนั้นชอบโดดเรียนไปเล่นเกม เตะบอลเสร็จไปเล่นเกม ไปกัน 3 คน ผลัดกันเล่นคนละตา คนละตัว เล่นเกมมาริโอ้คนละด่าน วน ๆ กันไป หรือบางทีไม่ได้เล่น แต่ไปนั่งดูเขาเล่นก็มีความสุขแล้ว”

ความทรงจำในวัยเด็กของเขายังฉายให้เราชมต่อไปเรื่อย ๆ ราวกับพาย้อนไปในบรรยากาศเหล่านั้น

“สมัยมัธยม ตอนไปโรงเรียน มีร้านเทปอยู่ตรงคลองน้ำเน่า ที่ปากน้ำ อยู่ตรงวินรถตากบพอดี เราก็จะเล็งไว้เลยว่า ชุดนี้ วงนี้ที่เราชอบออกเทปแล้วนะ เราก็จะเก็บตังค์มาซื้อสะสมไว้ เรื่องพวกนี้มันอยู่ในความทรงจำตลอด เราก็เลยทำบ้านออกมาจากความรู้สึก จากใจล้วน ๆ” 

คู่รักนักสร้าง ‘บ้านของจิ๋ว’ ที่เรียนทำโมเดลเอง เพื่อสร้างบ้านไทยยุคเก่าอย่างสมจริง
คู่รักนักสร้าง ‘บ้านของจิ๋ว’ ที่เรียนทำโมเดลเอง เพื่อสร้างบ้านไทยยุคเก่าอย่างสมจริง

ไทม์แมชชีนสู่จุดเริ่มจิ๋ว

จากความผูกพันกับทรงจำวัยเด็กมากมายของทั้งคู่นำมาสู่การทำบ้านของจิ๋ว เราเลยขอพาย้อนไปสู่อีกหนึ่งจุดสำคัญ อย่างวันแรกที่พวกเขาหลงรักสิ่งนี้

นั่นคือวันที่ครูกิ๊บและครูกอล์ฟตัดสินใจหันหลังให้กระดานดำ เปลี่ยนจากการจับกระดาษ สอนหนังสือ มาจับกบไสไม้ แล้วเสกความทรงจำจากรูปถ่ายให้กลายเป็นเหล่าบ้านจิ๋ว

“ก่อนหน้านี้เราเป็นครูมาก่อน พี่เป็นครูประถม พี่กิ๊บเป็นครูมัธยม แต่เราไม่ชอบอะไรที่มันอยู่ในกรอบ เราเลยออกมาทำร้านอาหาร ทีนี้บังเอิญว่าพี่กับแฟนชอบถ่ายรูปฟิกเกอร์โมเดลเก่า ๆ แต่มันไม่มีฉาก เราก็เลยเกิดไอเดียว่า อยากทำฉากเล็ก ๆ เพื่อเอามาให้ตัวฟิกเกอร์โมเดลถ่ายรูปคู่ วันหนึ่งพอเราทำบ้านจิ๋วขึ้นมา แล้วมีคนมาเห็น มาชื่นชม ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากทำของจิ๋วเป็นอาชีพเสริม” กอล์ฟเผยที่มา จากความธรรมดาสู่สิ่งพิเศษ

หลังจากทั้งคู่คิดเห็นตรงกัน จึงลงใจว่าจะเสกรูปถ่ายให้กลายเป็นของจิ๋ว แม้ว่าทำเป็นอาชีพเสริมมาเรื่อย ๆ แต่รู้ตัวอีกทีบ้านจิ๋วนี้ก็กลายเป็นเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน ทำวันละนิด วันละหน่อย ทุกวันอย่างสม่ำเสมอจนเกิดเป็นความชำนาญ พาให้หลงรักเหล่าบ้านจิ๋วจนถอนตัวไม่ขึ้น 

“ตอนทำเรามีความสุขมาก เหมือนได้กลับไปในยุคนั้น เราเลยใช้เวลาช่วงปิดร้านอาหาร ช่วงลูกหลับ มาทำทุกวัน วันละ 3 – 4 ชั่วโมง บางทีทำ ๆ ไปเพลินกำลังได้ที่ กำลังสนุก ก็ลากยาวถึงเช้าเลย จนพระบิณฑบาตแล้ว” เพลินจนอะไรก็หยุดไม่อยู่จริง ๆ กอล์ฟว่า

ทั้งคู่ไม่มีพื้นฐาน ไม่มีประสบการณ์เลยในช่วงแรก แต่เผอิญว่าบ้านทุกหลังนี้ก่อสร้างจากความรัก อุปสรรคเลยเป็นเพียงแค่คำคำหนึ่งในพจนานุกรม

คู่รักนักสร้าง ‘บ้านของจิ๋ว’ ที่เรียนทำโมเดลเอง เพื่อสร้างบ้านไทยยุคเก่าอย่างสมจริง

“แรก ๆ ก็ยังจับทิศจับทางไม่ได้ ลองผิดลองถูกอยู่นาน เมื่อก่อนจำได้เลยว่าเราใช้ไม้กระบอกทำเสา คือเราไม่มีพื้นฐานเลยว่าจะต้องใช้ไม้อะไรทำอะไร เราดูบ้านจริงว่าเป็นแบบนี้ ๆ แล้วก็ลองเหลาไม้ ลองตัดสังกะสีมาแปะ ๆๆ ตอนนั้นพี่เอาสังกะสีบ้านของจริงเลยนะ เลือกแบบที่มันเป็นสนิม แล้วก็ไปเอากรรไกรตัดสังกะสีของพ่อมาตัดแล้วแปะ เหมือนทำงานประดิษฐ์เลย แล้วก็มารู้ทีหลังว่า อ้อ สีสนิมเนี่ย เขาไม่ได้ทำมาจากสนิมจริง เขาใช้สีเพนต์เอา ก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่” กอล์ฟเล่าพลางหัวเราะ

กิ๊บและกอล์ฟจึงเหมือนเริ่มต้นจากศูนย์ ลองเอาไม้จริงมาทำพื้น เอาสังกะสีแท้ ๆ มากั้นห้องให้สมจริง 

เมื่อพรสวรรค์ไม่สำคัญเท่ากับพรแสวง ทั้งสองจึงไม่เคยหยุดพยายาม ตรากตรำลองผิดลองถูก หัดจากอินเทอร์เน็ตบ้าง ยูทูบบ้าง จากแชนแนลของชาวต่างชาติ ขวนขวายจากทุกช่องทางเรียนรู้ ล้มบ้าง ลุกบ้าง จนในที่สุดบ้านหลังแรกก็เกิดขึ้นจริง

“ตอนนั้นจำได้เราทำโมเดลร้านขายของชำอันแรกเลย ไปนั่งขายที่ตลาด มีคนมาซื้อ 800 บาท เราดีใจมาก จากคูหาเดียวเล็ก ๆ เลยค่อย ๆ ขยับขยายมาใหญ่ขึ้น ไปร้านอื่นมากขึ้น”

และเมื่อมีบ้านหลังแรก หลังที่ 2 ที่ 3 จึงตามมาเรื่อย ๆ จนตอนนี้หากถามว่าทำมาแล้วทั้งหมดกี่หลัง คงเป็นคำถามที่ยากเกินกว่าจะตอบได้ 

คู่รักนักสร้าง ‘บ้านของจิ๋ว’ ที่เรียนทำโมเดลเอง เพื่อสร้างบ้านไทยยุคเก่าอย่างสมจริง

ได้เวลา ลงเสาเข็ม

ก่อนจะมีบ้าน ก็ต้องมีแบบบ้านก่อน

“แบบบ้านส่วนหนึ่งมาจากความทรงจำ อีกส่วนคือเราชอบไปตามตลาดเก่า ไปเที่ยวจังหวัดนั้น จังหวัดนี้ เราก็ดูบรรยากาศเก่า ๆ บ้านเรือน บรรยากาศของคนพื้นที่นั้น แล้วก็ถ่ายรูปเก็บไว้ ว่าร้านเป็นแบบนี้ โครงบ้านเป็นแบบนี้ ประตูเป็นแบบนี้ หน้าต่างเป็นแบบนี้นะ แล้วก็เอากลับมาปรับกับงานของเรา” กว่าจะจำได้แม่นยำเพียงนี้ ต้องผ่านบ้านมาหลายหลัง รวมเป็นหมู่บ้านนับไม่ถ้วน กอล์ฟอาศัยจากทั้งการสังเกตและรูปถ่าย แต่ส่วนใหญ่มาจากความคุ้นเคยที่คลุกคลีกับเหล่าบ้านเก่ามานาน

เมื่อแปลนบ้านทุกหลังถูกออกแบบขึ้นแล้ว จึงประจงวางเสาเข็มทีละต้น ค่อย ๆ ก่อสร้างบ้านน้อยหลังนี้ตามความตั้งใจใหญ่

“เหมือนเราปลูกบ้านหลังหนึ่ง ต้องมีเสา มีจั่ว มีคาน มีฝาบ้าน เราต้องขึ้นใหม่หมดเลย ไม่ได้มีเป็นบล็อกเหมือนเครื่องมือสมัยใหม่” กอล์ฟเล่าให้เราฟัง แม้เป็นบ้านหลังจิ๋ว ก็ใช่ว่าจะปะ ๆ ติด ๆ กลายเป็นบ้านได้โดยง่าย ขั้นตอนนั้นราวกับปลูกบ้านจริงหนึ่งหลัง 

เริ่มจากหาทำเล กิ๊บและกอล์ฟต้องหาหมุดหามุมบนที่ดินขนาด 30 x 30 ซม. ว่าบ้านของเขาควรจะลงตรงไหน ชิดขอบที่ดินติดริมรั้ว หรืออยู่ตรงกลางให้สมมาตร ต้องคำนวณพื้นที่หน้ากว้างของถนนหน้าบ้านให้พอเหมาะเสมือนของจริง

ย้อนความทรงจำเด็กยุค 90 ผ่านโมเดลร้านเกม ร้านขนมวัยเด็ก และตลาดขนาดจิ๋ว กับคู่รักนักสร้างบ้านจิ๋วส่งออกทั่วโลก

“เราต้องคำนวณขนาดที่พอดีต่อห้อง อย่างห้องเดียว 30 ซม. จะมีพื้นถนนออกมา 25 ซม. ส่วนสูงจะประมาณ 45 ซม. ยังไม่รวมหลังคา ไซส์นี้ถ้าคนที่เขาเอาไปเล่นกับฟิกเกอร์โมเดล มันจะเล่นกับตุ๊กตุ่นได้พอดี เอาตัวคนไปนั่งในร้าน ไปเข้าฉาก ทำให้เป็นเรื่องราว มีบรรยากาศได้” กอล์ฟคิดขนาดพื้นที่เผื่อไว้ให้เหล่าโมเดลตัวจิ๋วหมดแล้ว เขาจำไซส์ได้อย่างแม่นยำ เป๊ะโดยไม่ต้องกางไม้เมตร

เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง ก็ถึงเวลาของการตอกเสาเข็ม บรรจงวางไม้ที่ละชิ้น เฉกเช่นเดียวกับโครงบ้าน โดยไม่ทิ้งเค้าเดิม นั่นคือความสมจริง

“เราเอาไม้เก่า ไม้สักมาทำ สมมติอยากได้พื้นไม้ที่ไม่เรียบ เราก็จะดูไม้เลยว่าตัวนี้มันเก่า มันผุ เหมาะที่จะทำพื้นแหว่ง ๆ ตรงนี้ เอามาทำเสา ทำฝาบ้านเป็นรูบ้าง หรือถ้าเป็นห้องแถวปูน เราก็จะใช้โฟม แล้วมาใช้ปูนสำหรับทำโมเดลทาทับอีกที จะได้ดูเหมือนของจริง”

ถัดมาเข้าสู่ช่วงของการมุงหลังคา วางวงกบ ติดฝ้าเพดาน ฉาบปูน ถมพื้น ปูกระเบื้อง ติดตั้งประตูหน้าต่าง สุขภัณฑ์ ทาสี “ทุกอย่างเราทำให้เหมือนกับที่เป็นความทรงจำสมัยนั้น 85 – 90 เปอร์เซ็นต์ เราจำได้ว่าเสื่อน้ำมันตรงนี้ เพื่อนคนนี้เล่นกันลากโต๊ะไปขาด เสาต้นนี้เป็นรอย หรือแม้แต่จำได้ว่าเล่นซนจนโดนเจ้าของร้านว่า เราใส่ให้เหมือนเดิมทั้งหมด เพราะอยากเก็บของเก่าไว้ในรูปแบบโมเดลของจิ๋ว” 

ย้อนความทรงจำเด็กยุค 90 ผ่านโมเดลร้านเกม ร้านขนมวัยเด็ก และตลาดขนาดจิ๋ว กับคู่รักนักสร้างบ้านจิ๋วส่งออกทั่วโลก

กอล์ฟเล่าว่าทุกอย่างอยู่ที่เดิมเป๊ะ ๆ ไม่มีผิดเพี้ยน เขาจำได้ทุกฉากทุกตอน ทุกซอกทุกมุม ว่าตรงไหนมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นบ้าง ผนังเก่าที่หลุดลอก พื้นที่เปรอะเปื้อน โต๊ะเก้าอี้สึกกร่อน กอล์ฟไม่มองว่าเหล่านี้คือความเก่าที่ควรเก็บเข้าซอกหลืบ แต่มันคือรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ควรค่าแก่การเก็บไว้ให้คนเห็น เพื่อให้ภาพจำของเขาคงเดิมให้ได้มากที่สุด

เมื่อบ้าน ตลาด หรือทุกสรรพสิ่งสมบูรณ์แล้ว ก็ถึงเวลาลำเลียงสิ่งของเข้าบ้าน จัดเรียงสินค้าในร้าน ทั้งคู่อาศัยรูปถ่ายหรือของที่มีอยู่แล้ว มาถ่ายรูป มาย่อส่วน มาทำสเกลให้ได้สัดส่วนที่ต้องการ ขั้นตอนนี้ต้องอาศัยความละเอียดมาก เพราะของชิ้นน้อยไซส์เล็กกว่าบ้านลงไปอีกหลายเท่า 

“อย่างร้านของชำของพ่อกิ๊บมีของเก่า ๆ หลงเหลืออยู่ ผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้นเอย ขนมโดราเอมอนเอย เราก็มาย่อส่วนให้เล็กจิ๋ววางประดับบนชั้นขายของ และห้ามลืมว่าต้องวางให้ถูกตำแหน่งด้วยนะ ว่ามีของอะไร วางตรงไหน” 

กอล์ฟจดจำทุกอย่างได้แบบไม่ต้องพึ่งเมมโมรีการ์ด และทำออกมาให้เหมือนกับภาพทรงจำที่วิ่งในความคิดให้ได้มากที่สุด 

บ้านจิ๋วไม่รู้จบ

งานชิ้นไหนขึ้นแท่นของความเป็นที่สุด ยากที่สุด โหดที่สุด – เราถาม

“ไม่มีนะ…เราว่ามันสุดทุกงาน” 

“คือเราจะไม่คิดว่างานนี้มันง่าย งานนี้มันกระจอกนะ เราจะไม่คิดแบบนั้นเลย เราคิดเสมอว่างานที่ลูกค้าสั่งทำ มันต้องดี ก็เลยต้องโหดสำหรับเราทุกชิ้นอยู่แล้ว เราจะใส่ใจ ตั้งใจทำชิ้นนั้นให้ออกมาดีที่สุด” 

เมื่อไม่คิดว่าง่าย ทุกชิ้นจึงยาก ยากเพื่อผลลัพธ์ที่หวังให้เป็นที่สุดของความประทับใจ

เพราะความตั้งใจกับบ้านทุกหลังขนาดนี้ เราจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมบ้านจิ๋วของกิ๊บและกอล์ฟจึงมียอดสั่งจองไกลถึงเวียดนาม เกาหลี ออสเตรเลีย และอเมริกา ลูกค้าทั้งไกลและใกล้ต่างพากันรอคิวยาวข้ามปี 

“ของจิ๋วเหล่านี้มันมีคุณค่าสำหรับลูกค้า บางคนไปซื้อแผ่นเกมร้านนี้จนสนิทกับเจ้าของ บางคนก็เอารูปบ้านเก่ามาเลย น่ารักมาก บ้านเป็นแบบนี้นะ แม่ยืนอยู่ตรงนี้นะ บางคนสั่งทำร้านเพราะโตมากับร้านนี้ เขาก็อยากได้ความทรงจำเก่า ๆ คืนกลับมา”

เพราะบ้านของจิ๋วมีคุณค่าต่อคนรับและคนทำ กิ๊บและกอล์ฟจึงสร้างได้โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย แต่เราก็อดสงสัยไม่ได้ว่า งานที่ต้องอาศัยทั้งความใจเย็นและประณีตแบบนี้ เคยทำให้เขาเบื่อหรือท้อบ้างไหม

“มันก็มีบ้างนะ ถ้าวันนี้เราเหนื่อย ไม่อยากทำ ก็คือจะพัก แต่ว่าเราก็จะไปนั่งดูงานนะว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไร ทั้งวันนั้นเราไม่ได้ทำก็จริง แต่จะแพลนสำหรับงานต่อไปไว้เลย พอวันรุ่งขึ้นก็ไม่ต้องมาคิดแล้ว เพราะว่าคิดไว้เมื่อคืนแล้ว” แม้มือจะพัก แต่ความคิดไม่พักตาม 

เราเชื่อแล้วว่าทั้งกิ๊บและกอล์ฟก่อบ้านจิ๋วขึ้นมาจากใจรักล้วน ๆ

“มันเป็นความสุขของเราเลย เวลาทำ เหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในงานชิ้นนั้น ในบรรยากาศเก่า ๆ” กิ๊บเล่าทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงเต็มไปด้วยความสุข ก่อนจะวางสายเพื่อไปเคลียร์ห้องแถว จัดแผงผักจิ๋ว ปลาสลิดจิ๋ว เตรียมเรียกความทรงจำขึ้นมาใหม่ กับภาพของตลาดเก่าและอีกหลากร้านมากมายไม่รู้จบ

ย้อนความทรงจำเด็กยุค 90 ผ่านโมเดลร้านเกม ร้านขนมวัยเด็ก และตลาดขนาดจิ๋ว กับคู่รักนักสร้างบ้านจิ๋วส่งออกทั่วโลก

Facebook : บ้านของจิ๋ว

Writer

Avatar

ปิยฉัตร เมนาคม

หัดเขียนจากบันทึกหน้าที่ 21/365 เพิ่งค้นพบว่า สลัดผักก็อร่อย หลงใหลงานคราฟต์เป็นชีวิต ของมือสองหล่อเลี้ยงจิตใจ ขอจบวันง่าย ๆ แค่ได้มองพระอาทิตย์ตกจนท้องฟ้าเปลี่ยนสี วันนั้นก็คอมพลีทแล้ว

Photographer

Avatar

ภาณุวิช ขวัญยืน

ช่างภาพจากสุโขทัย