2 กุมภาพันธ์ 2022
3 K

วงการแฟชั่นทำงานกันตามฤดูกาล เมื่อฤดูเปลี่ยน ช่วงเวลาของการอัปเดตเทรนด์ก็วนกลับมาอีกครั้ง

แม้ตอนนี้คนในวงการแฟชั่นจะพูดล่วงหน้าไปถึงเทรนด์ Autume/Winter 2022 ที่ดูไกลตัวเมืองร้อนอย่างประเทศไทย แต่สิ่งที่น่ายินดีก็คือ ‘ผ้าไทย’ งานฝีมือที่คนไทยคุ้นเคยกันดี กำลังหาบทบาทโลดแล่นอยู่ในรันเวย์เมืองหนาวกับเขาด้วย เพราะตอนนี้เรากำลังจะมีเทรนด์บุ๊กผ้าไทยประจำฤดูหนาวเล่มแรกออกมาให้ได้ใช้กัน

‘THAI TEXTILES TREND BOOK AUTUMN/WINTER 2022-2023’ คือหนังสือเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มที่ 2 ต่อเนื่องมาจาก THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 เทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มแรกที่เริ่มแจกจ่ายให้ผู้คนในแวดวงแฟชั่นได้ใช้เมื่อ 2 ปีก่อน

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว
ภาพ : นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

เช่นเคย เทรนด์บุ๊กเล่มนี้ยังเป็นแนวคิดและผลงานการบรรณาธิการของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี ฟอร์ด-กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue ประเทศไทย โจ-ธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย ร่วมเป็นหนึ่งในกรรมการที่ปรึกษา เพิ่มเติมคือได้ อู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ WISHARAWISH ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการผ้าไทยมากว่า 20 ปี มาร่วมระดมไอเดียสร้างสรรค์เทรนด์บุ๊กเล่มนี้ด้วย

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว

คราวนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้แวะไปเคาะประตูออฟฟิศ Vogue เพื่อพูดคุยกับ 3 หัวเรือใหญ่ ผู้เป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์บุ๊กผ้าไทยกันอีกครั้ง ว่าพวกเขาจะหยิบเรื่องราวของฤดูหนาวที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคย มาผสานกับวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยอย่างไรให้สนุกและลงตัว

คราม-ราชาแห่งสีย้อม

“เทรนด์บุ๊กเล่มนี้แตกต่างจากปีที่แล้วชัดเจน ด้วยฤดูกาล เนื้อหา และคอนเทนต์ด้านใน ปีที่แล้วเราทำงานโดยอิงจากการแบ่งกลุ่มตามอายุคน 6 กลุ่ม แต่ปีนี้เราเอาเทรนด์โลกมาจับ ซึ่งแนวคิดทั้งหมด ทูลกระหม่อมพระราชทานมาให้ตั้งแต่ต้นเลย ทรงพระราชทานมู้ดบอร์ดด้วยพระองค์เอง แปะเอง เลือกสีเอง ทั้งหมดอิงจากประสบการณ์ส่วนพระองค์ที่ได้ไปทรงงานที่ต่างประเทศ จากหนังสือและแมกกาซีนในห้องสมุดส่วนพระองค์ แล้วท่านก็รับสั่งให้ทีมไปตีโจทย์มา ทำยังไงก็ได้ให้ความเป็นไทยยังคงอยู่” โจเกริ่น

เพื่อให้สอดคล้องไปกับเทรนด์โลกจริง ๆ หนังสือเล่มนี้จึงหยิบเรื่อง ‘Circular Economy’ หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นมาเป็นตัวชูโรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าวงการอุตสาหกรรมแฟชั่น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน การแก้ปัญหาที่ว่าอย่างยั่งยืนจึงต้องแก้กันไปถึงต้นตอการผลิตเสื้อผ้า 

ดังเช่นพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่ทรงพระราชทานไว้ในพิธีเปิดงาน ‘THAI TEXTILES TREND BOOK Autumn/Winter 2022-2023 แนวโน้มเฉดสีมุมมองของธรรมชาติ การผสมผสานสีสันแห่งเนื้อแท้วัสดุสำหรับผ้าไทยในเหมันตฤดู’ ว่า

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว

“เล่มก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จมากในแง่ของผลตอบรับ อุตสาหกรรมสิ่งทอเกิดความกระปรี้กระเปร่าในการผลิต เกิดกระแสและพลังงานที่ดีในการออกแบบ ถือเป็นการเริ่มต้นพัฒนา ทั้งเรื่องสีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ รู้สึกปลาบปลื้มที่เรามีหนังสือด้านแฟชั่นอย่างจริงจังเสียที ในการนำไปใช้ทำการเรียนการสอน หรือใช้ประกอบอาชีพ 

“อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เล่มนี้สอนเรื่องการลดใช้ทรัพยากร หรือใช้แล้วต้องปลูกทดแทน ใช้วัสดุที่คุ้นเคยอย่างคุ้มค่าที่สุด เพื่อลดการเกิดของเสีย ซึ่งภูมิปัญญาไทยเรื่องการย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติจากวัสดุที่มาจากธรรมชาติช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ต้องทำอย่างจริงจัง หวังว่าจะเป็นหนังสือที่อ่านแล้วเพลิดเพลินและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และดีไซน์ ก่อนจะมีเทรนด์บุ๊กเล่มต่อ ๆ ไป”

“เทรนด์บุ๊กเล่มนี้เราเลยเริ่มต้นทุกอย่างกับ Circular Color หรือสีธรรมชาติ จริง ๆ เล่มที่แล้วเราพูดถึงการย้อมสีธรรมชาติมาแล้วนิดหน่อย แต่ในปีนี้เนื้อหาเกี่ยวกับสีธรรมชาติเข้มข้นขึ้นมาก” ฟอร์ดขยายความ

“ตัวตั้งต้นของเทรนด์บุ๊กในปีนี้จึงเป็น ‘King of Dye’ หรือครามนั้นเอง” โจเฉลย

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว
เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว

หลายคนอาจคุ้นเคยกับ ‘คราม’ พืชตระกูลถั่วที่ให้สีเฉดฟ้า-น้ำเงิน หรือตามชื่อสีสากลที่เราเรียกว่า Indigo กันอยู่บ้าง แต่อาจไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วครามเป็นหนึ่งในสีธรรมชาติที่อยู่กับสังคมผู้ย้อมเส้นไหมมาช้านาน มีคุณสมบัติในการระบายอากาศดีเยี่ยม และในปัจจุบันยังถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยด้วย

“ถ้าถามว่าทำไมเราต้องให้ครามสำคัญกับครามนัก อย่างแรกคือตอนนี้ครามเป็นสีที่อยู่ในเทรนด์โลก และครามในประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพสูง เรามีพื้นที่ปลูกและเลี้ยงครามเยอะ บางจังหวัดส่งออกครามไปขายต่างประเทศได้เลย เพราะตอนนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับไม้ย้อมสีธรรมชาตินี้มาก” โจว่าต่อ

“จริง ๆ ในไทยเองมีครามตั้งแต่เหนือจรดใต้ ในหนังสือจะบอกเลยว่า ภาคเหนือมีฮ่อมเป็นไม้ย้อมลักษณะคล้ายคราม แต่ว่าตอนนี้ฮ่อมหาไม่ค่อยได้แล้ว เขาจึงนิยมซื้อครามมาจากอีสาน หรือในอีสานเองตอนนี้ก็เป็นฮับใหญ่ของครามเลย โดยเฉพาะในจังหวัดสกลนคร 

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว

“ภาคใต้ส่วนใหญ่เขาจะเอาครามไปแนมกับน้ำพริก แต่ในอดีตชาวมุสลิมจะใช้สีจากครามทาทับจิตรกรรมฝาผนังเพื่อกันสนิมจากทะเล ส่วนภาคกลาง ครามอยู่ในเสื้อผ้าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพมาจากลาว เช่น ไทยวน ไทยทรงดำ ที่ย้อมฝ้ายเพื่อทอผ้าซิ่นตีนจก หรือบางทีเขาก็จะเอาครามไปย้อมกับมะเกลือเพื่อให้ผ้าสีเข้มและชัดมากยิ่งขึ้น” อู๋อธิบายให้เราเห็นภาพอีกนิด

Colors of The Nature

ความพิเศษของครามไม่ได้มีแค่การเป็นสีย้อมสารพัดประโยชน์สมฉายาราชาแห่งสีย้อมเท่านั้น แต่ครามยังเป็นพืชที่สร้างสีสันได้หลากหลายนับร้อยเฉด

ครามหม้อเดียวกัน ในพื้นที่ที่ความร้อนและความชื้นต่างกัน ทำให้เกิดสีฟ้าคนละเฉดได้

นี่ยังไม่รวมไปถึงสูตรผสมลับเฉพาะของแต่ละหมู่บ้านและทักษะฝีมือของผู้ย้อม ที่เสกให้ครามกลายเป็นตั้งแต่สีฟ้าติดขาวไปจนถึงสีน้ำเงินเข้มน้ำทะเลลึก

หรือจะให้สนุกกว่านั้น ครามยังนำไปผสมกับสีธรรมชาติอื่น ๆ จนเกิดเป็นสีใหม่ได้อีกสารพัด

“ในเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ เราใช้ครามเป็นตัวตั้งต้นไปย้อมกับสีธรรมชาติอื่น ๆ เช่น ครั่ง ประโหด แก่นขนุน หรือไม้ย้อมสีในท้องถิ่นต่าง ๆ สรุปออกมาจะได้เป็น 6 กลุ่มสี แต่ในคราวนี้แต่ละกลุ่มสี ทูลกระหม่อมจะทรงเพิ่มสีเชื่อมต่อลงไปด้วย จากเฉดหนึ่งไปสู่อีกเฉดจึงมีสีอื่น ๆ แทรกอยู่ เพื่อให้นักออกแบบเอาไปใช้งานได้หลากหลายขึ้น” โจเล่า

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว
เทรนด์บุ๊กผ้าไทย AUTUMN/WINTER คู่มือสร้างสรรค์ผ้าไทยในแฟชั่นเมืองหนาว

โดยสีทั้ง 6 กลุ่ม แบ่งออกได้เป็น

  • Ripe and Maturity กลุ่มสีแดงอมม่วง จากการผสมครามและครั่งเข้าด้วยกัน เป็นสีที่สื่อถึงความมีเสน่ห์และปรารถนา ดั่งเช่นคนที่สั่งสมประสบการณ์จนเริ่มสุกงอม
  • Profoundness Mind กลุ่มสีครามอมเขียว ให้ความรู้สึกสุขุมนุ่มลึก เป็นกลุ่มสีที่อิงมาจากสีธรรมชาติ เช่น ท้องฟ้าและน้ำทะเล รวมไปถึงสีฟ้าที่อิงมาจากทักษะในการสร้างสรรค์ของมนุษย์
  • Heaven on Earth กลุ่มสีน้ำตาลอมส้ม ให้ความรู้สึกถึงความหวัง ความเชื่อ และศรัทธา สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองของอารยธรรมไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
  • Nature of Wisdom กลุ่มสีเหลือง เปรียบเสมือนงานเทศกาลและประเพณีต่าง ๆ ของไทย ให้ความรู้สึกสนุกสนาน มีความสุข เบิกบาน และกระตือรือร้น
  • A Humble Journey กลุ่มสีเอิร์ธโทน ที่อิงมาจากสีต่าง ๆ ของธรรมชาติ ให้ความรู้สึกอบอุ่น ผ่อนคลาย นอบน้อม
  • An Alternative Persuasion กลุ่มสีสเปรกตรัม ได้มาจากการแยกสัดส่วนของแสงออกเป็นสีสันต่าง ๆ เปรียบเสมือนความอิสระ การค้นพบตัวเองของคนรุ่นใหม่ และความล้ำสมัย

คงไม่ได้มีเพียงคนนอกวงการแฟชั่นอย่างเราที่ตื่นตาตื่นใจกับความมหัศจรรย์ของการผสมสีธรรมชาติแบบนี้ เพราะโจบอกว่านักศึกษาแฟชั่นและนักออกแบบรุ่นใหม่อีกหลายคนก็ยังไม่ค่อยรู้จักสีธรรมชาติเหล่านี้มากนัก เทรนด์บุ๊กเล่มนี้จึงถือเป็นตัวช่วยเปิดโลกทัศน์ให้คนรุ่นใหม่ได้ไอเดียออกแบบงานที่สนุกขึ้น และรู้สึกใกล้ชิดกับความเป็นไทยมากขึ้นด้วย

Local Friendly

“ตอนนี้เราเหมือนนักกีฬา ถ้าเราอยากไปโอลิมปิก ไปยังระบบสากล เราก็ต้องมีความพร้อม ความเฟิร์ม พอประตูเปิดอีกครั้งเราก็ต้องฟาดเลย” อู๋เปรย

เพราะแม้เทรนด์บุ๊กเล่มก่อนจะช่วยขยับตลาดผ้าไทยไปได้อีกขั้น แต่เทรนด์บุ๊กผ้าไทยคราวนี้ ยังบวกไปกับความหวังที่จะเตรียมความพร้อมผู้ผลิตผ้าไทยให้กลับเข้าสู่ระบบแฟชั่นโลกอีกครั้ง หลังจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผ้าไทยไม่สามารถบุกตลาดโลกได้ดังเคย

“แนวทางที่ทูลกระหม่อมท่านพระราชทานมาสำหรับโครงการนี้คือการสร้างระบบธุรกิจ คราวนี้ International ต้องมาเจอกับ Local ให้ได้ พระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ให้ผ้าไทยไปต่อได้ในระบบการขายโลก ส่งออกได้ด้วยคุณภาพที่ดีขึ้น ลงลึกไปถึงเส้นใยและการทอที่ยั่งยืน เพื่อไปให้ถึงตรงนั้นเราเลยต้องลงไปรีเสิร์ชกันถึงเรื่องดิน เรื่องน้ำในชุมชน สุขภาพและอนามัยของคนทอผ้าเคมี ว่าสิ่งเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพของคนทอจริง ๆ และเขาจะมีทางเลือกใหม่ ๆ อะไรได้บ้าง

เบื้องหลังเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มสอง ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของงานหัตถกรรมไทยบนเวทีแฟชั่นโลก

“ยิ่งในแง่เศรษฐกิจเชิงมหภาค เราอาจจะตีความว่าไหมอิตาลีดี ไหมจีนดี แต่เขาขายในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งเวลาดีไซเนอร์จะหางานที่เป็นงานคราฟต์จริง ๆ เขาจะนึกถึงไทย เพราะเรายังมีรากเหง้าของคราฟต์อยู่ในยุคปัจจุบัน สมมติไปเที่ยวในชุมชนทอผ้า เดินไปสุ่ม ๆ เราก็ยังจะเจอคนนั่งทอผ้าด้วยมืออยู่ที่ใต้ถุนบ้าน ดังนั้นเราคือ World Market จริง ๆ ” โจสมทบ 

และเพื่อให้คนทั่วไปใช้เทรนด์บุ๊กได้จริงแม้ไม่ได้มีความรู้ด้านแฟชั่นมาก่อน หนังสือเล่มนี้จึงถูกออกแบบมาให้เป็นมิตร จะอ่านก็เข้าใจง่าย หรือจะดูภาพอย่างเดียวก็นำไปปรับใช้ได้ทันที 

“สมมติเขาไปเห็นภาพทับทิมสีแดงมีวาวกระจายออกมา เขาก็หยิบภาพนี้ไปดัดแปลงเป็นแสงในผ้าบาติกได้ มันเป็นการเรียนรู้จากภาพ แล้วเราก็พยายามปรับภาพให้มีความเป็นสากลและตามเทรนด์มากขึ้น เพราะคราวที่แล้วเราใส่ความเป็นไทยไปร้อยเต็มเลย ซึ่งชาวบ้านเขาไม่ตื่นเต้นกับสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว” โจกล่าว

เบื้องหลังเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มสอง ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของงานหัตถกรรมไทยบนเวทีแฟชั่นโลก

นอกจากชุดภาพถ่ายที่หลากหลาย หนังสือเล่มนี้ยังให้ความสำคัญกับวิธีการทอผ้าที่แตกต่างกัน เพื่อให้ช่างทอได้เห็นทางเลือกการทอผ้าแบบใหม่ ๆ นอกเหนือจากการใช้ไหมเส้นหนาตามฉบับชุดผ้าไหมไทยที่เราคุ้นเคย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้ชาวบ้านรักษาเทคนิคการทอผ้าแบบเดิมที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นเอาไว้

“พระองค์ท่านตรัสเลยว่าอย่าไปตีกรอบว่าหนาวแล้วต้องเป็นสีดำ สีเทา หรือหนาวแล้วต้องเป็นผ้าเนื้อหนา เพราะปัจจุบัน เทคโนโลยีของเส้นใยทำให้ผ้าบางแต่อุ่นได้ แล้วความหนาวจริง ๆ ก็มีหลายแบบ มันอาจจะเป็นความหนาวแบบลมทะเลที่แค่อยากหยิบผ้าคลุมไหล่มาห่มก็ได้

“เราจึงต้องปรับความคิดกับชาวบ้านเลยว่า จริง ๆ ไหมสาวแลงหรือไหมน้อยที่ชาวบ้านมักเอามาเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่ง มันทำให้ผ้าออกมาหนาและแข็ง เขาสามารถปรับมาใช้เส้นยืนหนา แต่เปลี่ยนไปพุ่งด้วยไหมเส้นเล็กก็ได้ ผ้าก็จะออกมานิ่มขึ้น ทำให้เห็นเสน่ห์ของผ้าไทยมากขึ้นด้วย”

หนังสือเรียนแฟชั่นฉบับภาษาไทย

ในขณะที่ผู้ผลิตผ้าไทยสามารถใช้เทรนด์บุ๊กนี้เพื่อต่อยอดงานหัตถกรรมของชุมชน นักศึกษาแฟชั่นก็ใช้เทรนด์บุ๊กเล่มนี้ได้อย่างคุ้มค่าไม่แพ้กัน เพราะหากพูดกันตามจริง หนังสือแฟชั่นฝีมือคนไทยเพื่อคนไทย หรือแม้กระทั่งหนังสือจากต่างชาติที่แปลไทยในปัจจุบันก็ยังมีน้อยจนนับนิ้วได้

เบื้องหลังเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มสอง ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของงานหัตถกรรมไทยบนเวทีแฟชั่นโลก

“ตอนทำเราเองก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งนี้จะเวิร์กหรือไม่ แต่สิ่งที่เราดีใจที่สุดก็คือ เราเห็นอาจารย์ถือหนังสือเล่มที่แล้วมาขอบคุณเรา คือเราต้องไม่ลืมว่าเด็กที่เรียนแฟชั่นในไทยไม่ได้มีแค่ที่ จุฬาฯ หรือ ม.กรุงเทพนะ ยังมีสาขาวิชานี้ในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งเขาไม่สามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้อย่างคนเมือง มากสุดเขาก็ดูได้แค่ใน Pinterest

“ฉะนั้น หนังสือเล่มนี้มันสร้างโอกาสให้กับเด็ก ๆ มาก หยิบไปเป็นหลักสูตรให้เด็ก ๆ ได้เห็นเทรนด์แฟชั่นโลก เมื่อเขาทำทีสิสงานของเขาก็จะทันสมัยขึ้น ไม่ได้มีแต่สไตล์เดิม ๆ เหมือนแต่ก่อน” โจเล่า

“เราไม่ได้บอกว่าเขาจะต้องสนใจหนังสือทั้งเล่ม เขาสนใจอันไหน ชอบอันไหนก็ไปทำรีเสิร์ชต่อกับสิ่งนั้นได้ หรืออย่างน้อยเมื่อเขาเห็นตัวอย่างการทอผ้าในเล่ม เขาก็อาจจะเข้าใจว่าผ้าทอไทยมันดัดแปลงได้ ไม่จำเป็นต้องทอลายเต็มผืนเหมือนอย่างที่เคยเห็น เวลาสั่งผ้าจะไปขอให้ชาวบ้านพลิกแพลงทอผ้าลายใหญ่ขึ้นก็ได้ เขานำสิ่งนี้ไปต่อยอดได้เองตามประสบการณ์ของเขา” ฟอร์ดสมทบ

เบื้องหลังเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มสอง ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของงานหัตถกรรมไทยบนเวทีแฟชั่นโลก

ไม่เพียงแค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ในกลุ่มดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เทรนด์บุ๊กเล่มนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมพวกเขาเข้าหาผู้ผลิต ทำให้ผ้าไทยได้ไปโลดแล่นอยู่ในงานดีไซน์ฝีมือคนไทยมากขึ้น 

เช่นเดียวกับในงานเปิดตัวเทรนด์บุ๊กครั้งที่ผ่านมา คราวนี้เราจึงยังมีโอกาสได้เห็นตัวอย่างเสื้อผ้าแฟชั่นจากผ้าไทยฝีมือดีไซเนอร์ไทยชื่อดัง ที่สะท้อนความเป็นไปได้ในการหยิบจับผ้าไทยมาใช้ให้เป็นสากลอีกครั้ง

เบื้องหลังเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มสอง ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของงานหัตถกรรมไทยบนเวทีแฟชั่นโลก
เบื้องหลังเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มสอง ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของงานหัตถกรรมไทยบนเวทีแฟชั่นโลก

“โครงการนี้ผลักดันให้นักออกแบบไทยมาลองใช้ผ้าไทย เพื่อเขาจะได้มีโอกาสหยิบจับผ้าไทยบ้าง ในนิทรรศการเปิดงานเลยจะมีงานของทั้ง Kloset, Asava, Theatre, Archive, Issue และ WISHARAWISH ซึ่งจริง ๆ แบรนด์เหล่านี้คุ้นเคยกับการใช้ผ้าไทยอยู่แล้ว แต่เวลาเราเอาผ้าไทยไปโยนในออฟฟิศเขา มันไม่ได้มีแค่ดีไซเนอร์คนเดียวที่จะได้เห็น แต่ยังมีอีกหลาย ๆ ทีมในนั้นที่จะได้เรียนรู้ไปด้วยกัน” อู๋กล่าว 

นี่เองคือเมล็ดพันธุ์ที่ค่อย ๆ หยั่งราก เพื่อสร้างระบบตลาดผ้าไทยที่ยั่งยืน ในแบบที่ทุกคนสามารถมีที่ทางของตัวเองได้ในอนาคต

ผ้าไทยในตลาดร่วมสมัย

“สิ่งที่เราคาดหวังจากเทรนด์บุ๊กเล่มนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปแบบก้าวกระโดด แต่ค่อย ๆ ขยับ เพราะมันเป็นความจำเป็นให้ผ้าไทยอยู่รอด” ฟอร์ดออกความเห็น

เทรนด์บุ๊กเล่มนี้ทำหน้าที่เพิ่มน้ำหนักให้วงการหัตถกรรมสิ่งทอเติบโตขึ้นในวงการร่วมสมัย

“ถ้าถามว่าตอนนี้ตลาดผ้าไทยเติบโตขึ้นไหม เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่แล้ว วันนี้ตลาดผ้าไทยโตขึ้นมาก เราวัดผลจากการขายของผู้ประกอบการในโอท็อป หรือการขายของเขาเองในระบบออนไลน์ คนไทยเองก็หันมาซื้อผ้าไทยเพราะความสวยงามเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีกลุ่มผู้ใหญ่มาซื้ออย่างเดียวแล้ว

“อนาคตจะมีหนังสือเทรนด์บุ๊กอีก 2 เล่ม โดยมีนางเอกที่เราจะหยิบมาเป็นตัวเด่นแตกต่างกันไป หลังจากนั้นคือการรอดูผลการเติบโตของสิ่งที่เราหว่านเมล็ดไว้” โจตอบ เมื่อเราถามถึงแนวทางของโครงการนี้ในอนาคต

เบื้องหลังเทรนด์บุ๊กผ้าไทยเล่มสอง ที่ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ของงานหัตถกรรมไทยบนเวทีแฟชั่นโลก

  “มันคือแนวคิดที่คนในวงการผ้าไทยจะนำไปใช้ต่อได้ ซึ่งพูดเลยว่าเมล็ดพันธุ์ที่เราปลูกลงไป มันวัดกันไม่ได้หรอกว่าจะเห็นผลกันวันนี้พรุ่งนี้ บางอย่างเขาดูกันปีต่อปีได้ แต่เทรนด์บุ๊กเล่มนี้อาจจะไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในอีกหลายสิบปีข้างหน้าก็ได้ เพราะดีไซเนอร์คนหนึ่งเขา Invest กันเป็น 10 ปี 15 ปีเลย” 

ดีไซเนอร์อย่างอู๋กล่าวปิดท้าย ด้วยความคาดหวังว่าหนังสือจากกลุ่มนักออกแบบและผู้เชี่ยวชาญที่หลงใหลผ้าไทย จะช่วยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภูมิปัญญาสิ่งทอไทยกับโลกแฟชั่นแห่งอนาคต ให้เศรษฐกิจงานหัตถกรรมของไทยได้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน 

ภาพ : THAI TEXTILES TREND BOOK AUTUMN/WINTER 2022-2023

Writer

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล