3 กุมภาพันธ์ 2020
20 K

THAI Textiles The Touch of Thai เป็นโครงการที่กระทรวงการต่างประเทศจับมือกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างแดนที่มีผ้าไทยเป็นแกนหลัก ปีที่ผ่านมา คณะเดินทางชาวไทยพาผ้าไหมไปสู่สายตาชาวตะวันออกกลาง 3 ประเทศ คือคูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน 

เมื่อไปเยือนดินแดนมุสลิมที่มั่งคั่งด้วยน้ำมัน การสานสัมพันธ์ผ่านผ้าย่อมได้รับการตระเตรียมให้น่าประทับใจ มีทั้งนิทรรศการผ้าไทยและชุดไทยประเพณีแบบต่างๆ ที่สวยงามเข้าใจง่าย การแสดงนาฏศิลป์ ของที่ระลึกจากพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และที่โดดเด่นที่สุดคือแฟชั่นโชว์ผ้าไทย เป็นคอลเลกชันรวมผลงานเก๋จากดีไซเนอร์ไทยแบรนด์ต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าแพรพรรณทอมือแบบไทยเข้ามาเป็นเครื่องแต่งกายสาวๆ ในยุคปัจจุบันได้อย่างไร

แฟชั่นโชว์ผ้าไทยในตะวันออกกลาง การทูตที่ถูกใจเจ้าหญิงและสาวๆ แดนทะเลทราย
แฟชั่นโชว์ผ้าไทยในตะวันออกกลาง การทูตที่ถูกใจเจ้าหญิงและสาวๆ แดนทะเลทราย
แฟชั่นโชว์ผ้าไทยในตะวันออกกลาง การทูตที่ถูกใจเจ้าหญิงและสาวๆ แดนทะเลทราย
แฟชั่นโชว์ผ้าไทยในตะวันออกกลาง การทูตที่ถูกใจเจ้าหญิงและสาวๆ แดนทะเลทราย

“โครงการของกระทรวงการต่างประเทศเรียกว่าการทูตวัฒนธรรม (Soft Diplomacy) ใช้วัฒนธรรมเพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมา สถานทูตสถานกงสุลเราทั่วโลกพยายามหาวิธีการให้ประเทศหรือประชาชนในประเทศนั้นๆ เข้าใจประเทศไทยว่ามีเอกลักษณ์ มีวัฒนธรรมที่เก่าแก่ เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ ในระดับรัฐบาลก็ดี ระดับประชาชนก็ดี”

แฟชั่นโชว์ผ้าไทยในตะวันออกกลาง การทูตที่ถูกใจเจ้าหญิงและสาวๆ แดนทะเลทราย

ชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายแนวคิดเบื้องหลังงานนี้ ตัวอย่างโครงการคือการนำคณะโขนหรือมวยไทยไปแสดงตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา ซึ่งต่อมาได้จับมือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อบูรณาการให้โครงการเติบโตมากขึ้น เมื่อร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศต่างๆ การแสดงผลงานในแต่ละท้องที่ก็ต่างกันออกไป

เส้นทางแรกเริ่มต้นที่ Sadu House พิพิธภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองในรัฐคูเวต งานนี้ได้รับการสนับสนุนสถานที่จาก Sheikha Bibi Duaij Al-Sabah เจ้าหญิงจากตระกูล Al Sabah ที่ปกครองคูเวตมายาวนาน การจัดแสดงนิทรรศการผ้าไทยในอาคารนี้ลงตัวมาก เพราะจะได้ทำความรู้จักผ้าไทยและเรียนรู้เรื่องการทอผ้ากี่ทอมือแบบตะวันออกกลาง ไปจนถึงเครื่องแต่งกายแบบท่านชีคไปพร้อมๆ กัน แถมที่นี่ยังมีเวิร์กช็อปทำเข็มกลัดดอกไม้จากผ้าไหมไทยฟรี ให้สาวๆ คูเวตและภริยาทูตประเทศต่างๆ มาฝึกทำงานคราฟต์ด้วยกัน

แฟชั่นโชว์ผ้าไทยในตะวันออกกลาง การทูตที่ถูกใจเจ้าหญิงและสาวๆ แดนทะเลทราย
แฟชั่นโชว์ผ้าไทยในตะวันออกกลาง การทูตที่ถูกใจเจ้าหญิงและสาวๆ แดนทะเลทราย

“เราคุ้นเคยกับผ้าไทยอยู่แล้วเพราะผ้าไทยดังมาก โดยเฉพาะผ้าไหมและผ้าบาติก หลายเดือนก่อนเราได้คุยกับท่านทูตไทย (นายดุสิต เมนะพันธุ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา) พอรู้ว่าประเทศไทยจะจัดงานนี้ ก็เลยทำงานร่วมกันค่ะ เราดีใจมากที่เราเป็นประเทศแรกในอ่าวเปอร์เซียที่ได้จัดงานนี้ Sadu Society ทำงานเรื่องผ้าพื้นเมืองอยู่แล้ว เราตั้งใจอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ผ้าทอแบบประเพณี เรามีกลุ่มช่างทอที่มาเรียนรู้ศิลปะผ้าร่วมสมัยที่นี่ เช่น ควิลต์ โครเชต์ เปลี่ยนไปตามฤดูกาลค่ะ ดังนั้นเราเลยตื่นเต้นมากที่ช่างสามสิบคนของเราได้เรียนเทคนิคงานคราฟต์ไทยที่นี่ อยากให้ที่นี่เป็นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมสำหรับศิลปินรุ่นใหม่” เจ้าหญิงทรงเล่าอย่างกระตือรือร้น

“เราชอบผ้าไทยมาก มีคอลเลกชันผ้าไทยที่บ้านด้วย ทุกครั้งที่ไปเมืองไทยต้องได้ผ้าติดไม้ติดมือตลอด ผ้าไหมไทยมีคุณภาพ นุ่ม และทิ้งตัวสวย แต่ว่าที่นี่ร้อนมาก เลยใส่ผ้าไหมได้แค่ช่วงหน้าหนาวนะคะ”

หลังนำเสนอผ้าไทยให้ชาวคูเวตรู้จัก จุดหมายปลายทางต่อไปคือสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงอาบูดาบี ณ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กิจกรรมผ้าไทยกลายเป็นจุดเด่นของงาน Thai Festival ประเทศนี้ การเดินแฟชั่นโชว์หน้าคฤหาสน์หลังงามแบบอาหรับนิยมได้รับเสียงตอบรับดี มีอาสาสมัครชาวไทยที่มาร่วมเดินแบบมากมาย และงานนี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมมาก แม้ฝนตกโปรยปรายแต่ก็ยังมีผู้ร่วมงานคับคั่ง

“ฉันซื้อผ้าไทยไปแล้ว และอยากนำไปปรับใช้กับเสื้อผ้าแฟชั่นแบบที่ชาวอาหรับใส่ได้ ผู้หญิงอาหรับชอบเสื้อผ้าสวยๆ สีสันสดใสนะคะ ใต้ชุดดำเราก็แต่งตัวกัน ต่อไปอยากจะสั่งผ้าไทยมาใช้ ตั้งใจว่าจะใช้กับดูไบแฟชั่นวีก

 แต่อาจต้องเพิ่มลายปักและลวดลายมากขึ้น เพราะเราชอบผ้าที่มีรายละเอียดซับซ้อน อย่างชุดสีดำที่ดูเรียบๆ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ามีลวดลาย”

Sheikha Hend Faisal Al Qassemi เจ้าหญิงผู้ทรงอิทธิพลด้านแฟชั่นตะวันออกกลางและผู้จัดดูไบแฟชั่นวีกทรงเอ่ย เจ้าหญิงทรงเคยเป็นทูตกิติมศักดิ์ประจำเมืองไทยอยู่หนึ่งปี จึงทรงโปรดปรานวัฒนธรรมไทยและผ้าไทยจนเสด็จมาเปิดงานนี้

คณะเดินทางนำผ้าไทยมาถึงประเทศสุดท้ายคือราชอาณาจักรบาห์เรน ผ้าไทยได้รับการจัดแสดงใน Thai Festival ที่ The Gulf Hotel กรุงมานามา ซึ่งนายกรัฐมนตรีของบาห์เรน Khalifa bin Salman Al Khalifa พระปิตุลาของพระราชาบาห์เรนทรงเสด็จมาเปิดงานด้วยตนเอง และยังพระราชทานโอกาสให้คณะชาวไทยเข้าเฝ้าที่วังอีกด้วย

“ไม่เคยปรากฏเลยนะว่าท่านนายกบาห์เรนไปเปิดงานลักษณะนี้ที่ไหน นี่เป็นครั้งแรก พระโอรสท่านเองก็ประหลาดใจ โรงแรมนี้พระองค์ก็ไม่ได้เสด็จนานแล้ว ทรงโปรดเมืองไทยมาก ดังนั้นงานที่นี่ถือเป็นการดำเนินการทางการทูตที่ประสบความสำเร็จมาก ทำให้สื่อและคนทั่วบาห์เรนสนใจ บาห์เรนมีคนประมาณล้านห้าแสนคนเท่านั้น แต่กำลังซื้อเขาเยอะ ปัจจุบันคนบาห์เรนก็มาเมืองไทยประมาณปีละสามหมื่นห้าพันคน เขาทำให้ธุรกิจจากไทยโตขึ้นได้ ก้าวต่อไปคือมีการค้า การลงทุน และที่สำคัญคือการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดขึ้นแน่นอน” ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวสรุป 

การเดินทางพาแฟชั่นผ้าไทยที่ไปเฉิดฉายในแดนอาหรับ เป็นส่วนหนึ่งของ Soft Diplomacy อันนุ่มนวล ที่ทำให้ชื่อและเรื่องราวของเมืองไทยติดอยู่ในความทรงจำชาวตะวันออกกลาง

 ระยะทางและวัฒนธรรมที่แตกต่างอาจทำให้เราไม่รู้จักกันเท่าไหร่นัก แต่เส้นสายไหมแกมฝ้ายได้ถักทอให้ไทยและสมาชิกอ่าวเปอร์เซียใกล้ชิดกันมากขึ้น ชาวอาระเบียได้รู้จักศิลปวัฒนธรรมไทยอ่อนหวาน และคนไทยก็ได้พบพานน้ำใจและความอ่อนโยนของชาวตะวันออกกลาง

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล