เมื่อพูดถึงโบสถ์คริสต์ ภาพจำแรกๆ คืออาคารก่ออิฐขนาดใหญ่โต มียอดแหลมสูงเสียดฟ้าประดับด้วยไม้กางเขน มีหน้าต่างเจาะช่องปลายแหลม กรุด้วยกระจกสีเป็นรูปคริสตประวัติหรือรูปบรรดานักบุญต่างๆ ถ้าใครไปเที่ยวยุโรปก็คงจะคุ้นเคยดีกับอาคารลักษณะนี้
ทีนี้ลองย้อนกลับมาดูในเมืองไทยของเราว่าโบสถ์คริสต์ส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้นมา มีรูปทรงแบบนี้หรือเปล่า?
มันก็เป็นและไม่เป็นนะครับ โบสถ์คริสต์รุ่นโบราณช่วงสมัยอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงราวรัชกาลที่ 6 ส่วนมากสร้างด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตกแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะสมัยโรแมนติกในศตวรรษที่ 19 ยุโรปเกิดกระแสความนิยมนำรูปแบบศิลปะโบราณมาสร้างขึ้นใหม่ บรรดาศิลปะโกธิก เรเนสซองส์ และโรมาเนสก์ จากยุคโบราณจึงออกมาปรากฏอีกครั้ง โบสถ์คริสต์ในไทยช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 ลงมาก็สร้างตามสถาปัตยกรรมแบบนี้เช่นกัน เช่น วัดพระคริสตหฤทัย วัดกาลหว่าร์ และวัดบางนกแขวก เป็นทรงฝรั่งแท้ๆ เพราะช่วงนั้นเป็นเวลาที่คนไทยกำลังเร่งปฏิรูปบ้านเมืองให้ทัดเทียมฝรั่ง มีการจ้างสถาปนิก วิศวกร ศิลปินฝรั่งเข้ามาทำงานแบบใหม่ พระราชวังต่างๆ ก็สร้างด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตก แม้แต่วัดพุทธเองก็ตาม บางแห่งก็เป็นฝรั่งกับเขาด้วย


แล้ววัดคริสต์ทรงฝรั่งในไทยมันมีข้อดีข้อเสียยังไง บางคนอาจสงสัย
ข้อดีคือวัดเหล่านี้แสดงระบบสัญลักษณ์และความหมายต่างๆ ทางคริสต์ศาสนาได้ครบถ้วน เช่น ใช้กระจกสีเล่าเรื่องทางศาสนา รูปปั้นต่างๆ ที่สวยสดงดงามจากต่างประเทศ ส่วนประกอบของโบสถ์ก็แสดงแผนผังแบบไม้กางเขน ซึ่งบอกเล่าการเดินทางของจิตวิญญาณเชิงสัญลักษณ์ได้สมบูรณ์ตามขนบสถาปัตยกรรมโบราณ
แต่ข้อเสียก็มี ข้อแรกเป็นข้อเสียเชิงฟังก์ชันการใช้งาน เมืองไทยร้อนครับ ร้อนมากๆ ด้วย ยิ่งถ้ากรุกระจกสีเข้าไปก็ยิ่งอบ ไม่มีการระบายอากาศ ช่างฝรั่งยุคแรกๆ ไม่เข้าใจสภาพอากาศเมืองไทย ทำกระจกขนาดใหญ่กรุหน้าต่างจนเต็ม แต่ไม่มีช่องเปิด จนภายในโถงอาคารอบอ้าว แต่คนโบราณท่านคงศรัทธามาก จึงนั่งอบได้นานเป็นชั่วโมงๆ โดยไม่มีแอร์หรือพัดลม อีกประการหนึ่ง อาคารทรงยุโรปนั้นไม่เหมาะกับอากาศชื้น ฝนตกชุก หลังคาที่ไม่เอียงลาดมากเท่าอาคารไทย (นึกถึงหลังคาเรือนไทย) ก็ระบายน้ำได้ช้า หลังคาอาจจะรั่วได้ง่าย อีกประการหนึ่งคืออาคารก่ออิฐขนาดใหญ่ๆ ไม่ค่อยเหมาะกับดินเลนหรือดินที่อ่อนตัวในกรุงเทพฯ บ้านเรา ช่างอิฐของไทยเองก็ไม่คุ้นกับสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่มีการเรียงอิฐแบบแปลกๆ จึงพบว่าโบสถ์ริมแม่น้ำหลายแห่งเริ่มจะทรุดได้ง่ายหรือทรุดมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว
ข้อเสียอีกประการ คือข้อเสียเชิงอุดมการณ์ ในยุคสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฐไทยไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเป็น ‘คนไทย’ แต่มีระบบความคิดการ ‘พึ่งพระบรมโพธิสมภาร’ ชนชาติใดหรือศาสนิกใดก็ตามที่มาอาศัยในแผ่นดินสยาม พระเจ้าแผ่นดินจะรับไว้เป็นพสกนิกร คุ้มครองป้องกันให้ความปลอดภัย เพราะสมัยนั้นบารมีของกษัตริย์ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร และยิ่งมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติศาสนาเท่าใด ก็ยิ่งแปลว่าพระบารมีแผ่ไพศาลมากเท่านั้น คนโบราณจึงมีความคิดเรื่องการจำแนกแจกแจงว่าในกรุงเทพฯ มีคนอยู่กี่ชาติกี่ภาษานั่นเอง เป็นการบ่งบอกถึงบารมีของผู้นำรัฐด้วย
แต่ในสมัยต้นยุคประชาธิปไตย หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โลกเกิดกลับขั้วกัน การเกิดของรัฐชาติสมัยใหม่ (Modern State) รวบรวมผู้คนมากมายหลากหลายชาติพันธุ์ แต่ไม่ได้รวมศูนย์ที่กษัตริย์ ผู้คนที่มีความคิด ความเชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษาที่แตกต่าง ยากจะปกครองได้โดยไม่เกิดความขัดแย้ง ดังนั้นจึงต้องมี ‘อุดมคติ’ ร่วมกันประการหนึ่งขึ้นมา คือการสร้างความเป็นไทยหรือที่เรารู้จักกันในนามรัฐนิยม ซึ่งระบบการสร้างความเป็นไทยเพื่อปูแนวทางสู่รัฐชาติสมัยใหม่นี้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 แล้ว แต่มาเฟื่องฟูเอาในช่วงจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่เราทราบกันดีนั่นเอง
ในยุคนี้เองที่การแสดงออกเชิงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ถูกควบคุมมาก เช่น การปิดโรงเรียนสอนภาษาจีน การบังคับใช้ชื่อแบบไทย การเปลี่ยนรูปแบบการใช้ภาษาไทย และการผลิตความเป็นไทยรูปแบบต่างๆ ขึ้นมามากมาย บางอย่างก็เป็นความเป็นไทยที่ไม่เคยมีมาก่อน สถาปัตยกรรมเองก็ถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปด้วย กลายเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์บ้าง อาคารทรงอาร์ต เดโค (Art Deco) ที่หนาหนักทึบแบบรัฐบาลทหารฟาสซิสม์บ้าง โดยมีวัสดุสมัยใหม่เช่น ซีเมนต์ คอนกรีต เหล็กเส้น เป็นวัสดุหลัก เพื่อนำพาสยามไปสู่โลกสมัยใหม่และสร้างความเป็นไทยแบบใหม่ขึ้นมา (ถ้าสนใจสถาปัตยกรรมช่วงเวลานี้ ลองหางานของอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการอ่านได้ครับ)
ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ในช่วงรัชกาลที่ 8 ก็มีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ เพราะถูกมองว่าเป็นศาสนาของฝรั่งเศส ชาติศัตรูที่สยามกำลังทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนเมืองขึ้นคืนมา ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกแต่โบราณนั้นยึดโยงอยู่กับราชสำนักอย่างเหนียวแน่นและได้รับพระบรมราชูปถัมภ์เรื่อยมา แต่ในห้วงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 ไม่ได้ประทับอยู่ในสยาม ทำให้คริสต์ศาสนาขาดที่พึ่งพิงและคริสตชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกถูกเบียดเบียนทางศาสนาอย่างรุนแรง โบสถ์บางแห่งถูกปิด รูปปั้นศักดิ์สิทธิ์ถูกทำลาย และหลายคนถูกฆาตกรรม ดังที่เรารู้จักชื่อ ‘มรณสักขีทั้งแปดในประเทศไทย’ ก็เป็นเหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นในห้วงเวลานี้เอง
คริสต์ศาสนาได้รับผลกระทบมากในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพากับสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ก่อนห้วงเวลานั้น โบสถ์ต่างๆ ที่สร้างกันในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ที่เป็นแบบฝรั่งแท้ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ ยังไม่ปรักหักพัง ระหว่างสงครามก็ไม่ได้ก่อสร้างอะไรใหม่ เพราะขาดแคลนวัสดุก่อสร้างและผู้คนก็แทบไม่มีอะไรจะกิน จนหลังสงครามจึงเกิดเทรนด์ใหม่ขึ้นมา ส่วนหนึ่งผมคิดว่าบรรยากาศทางการเมืองของการสร้างความเป็นไทยสมัยใหม่นั่นแหละ ที่นำพาให้กระแสมันไหลไปแบบนั้น
หลังสงคราม โลกก็เปลี่ยนความคิด
ช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบใน พ.ศ. 2488 จนกระทั่งราวๆ พ.ศ. 2510 โบสถ์คาทอลิกเกิดกระแสสร้างความเป็นไทยขึ้นใหม่ตามแนวคิดรัฐนิยมของจอมพลป. พิบูลสงคราม ที่ยังคงตกค้างรากความคิดสืบมา อาคารหลายหลังที่สร้างขึ้นในระยะนี้สะท้อนภาพของสถาปัตยกรรมไทยลดรูป ซึ่งใช้คอนกรีตหรือซีเมนต์อันเป็นวัสดุสมัยใหม่เป็นหลัก คล้ายคลึงกับกลุ่มสถาปัตยกรรมสกุลความคิดของพระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) โดยมากเป็นอาคารปูนซีเมนต์ทรงไทย ลดทอนรายละเอียดจนเหลือแต่เส้นกรอบนอกทางเรขาคณิต เรียบง่าย แต่ดูเข้มแข็ง ใหญ่โตสง่างาม ยังเห็นความสืบเนื่องได้ตามกลุ่มอาคารราชการ และศาลากลางจังหวัดต่างๆ
ปรากฏว่ามีโบสถ์คาทอลิกจำนวนหนึ่งที่สร้างขึ้นตามสถาปัตยกรรมเช่นนี้ คือเป็นอาคารทรงไทยขนาดใหญ่ มีหน้าจั่วป้านกว้าง เครื่องบนและตัวลำยองเป็นเพียงชิ้นหล่อปูนซีเมนต์ ทำเป็นรูปช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ที่ลดทอนรายละเอียดลง ที่น่าสนใจคือบริเวณช่อฟ้ามักถูกแทนด้วยไม้กางเขน
โบสถ์แรกในภาคกลางที่สร้างขึ้นใหม่หลังสงคราม คือวัดนักบุญยาโกเบ แม่กลอง ออกแบบเป็นศิลปะไทย งดงามทันสมัย โดยคุณพ่ออันเดร เชกเกเรลลี บาทหลวงชาวอิตาเลียนผู้เป็นเจ้าอาวาส

โบสถ์ทรงไทยคอนกรีตประยุกต์หลังถัดมา คือวัดพระมหาไถ่ (พ.ศ. 2496) เป็นโบสถ์ที่สร้างโดยคณะพระมหาไถ่ที่มีศูนย์กลางในสหรัฐอเมริกา ตัวโบสถ์ออกแบบโดย ยี. อัชชิเนลี สถาปนิกชาวอิตาเลียน โดยได้รับคำแนะนำให้สร้างโบสถ์เป็นทรงไทยจากพระคาร์ดินัลฟูลตัน ชีน นักเทศน์ชาวอเมริกันผู้เลื่องชื่อและบังเอิญเดินทางมาเยี่ยมเยียนประเทศไทยในขณะนั้นพอดี (ปัจจุบันท่านได้รับสถาปนาเป็น ‘บุญราศี’ แล้ว) เห็นได้ชัดว่าตัวโบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยเครื่องคอนกรีตประยุกต์สมัยใหม่ซึ่งกำลังเฟื่องฟูในเวลาร่วมสมัยกันอย่างชัดเจน พยายามผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาใช้กับโบสถ์คริสต์จนเป็นเอกลักษณ์ของยุคสมัยนี้



โบสถ์อื่นๆ ที่สร้างขึ้นในรูปแบบไทยคอนกรีตประยุกต์ในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ได้แก่ วัดนักบุญยอแซฟ ตรอกจันทร์ (ก่อสร้างในช่วง พ.ศ. 2498 – 2506) วัดนักบุญฟิลิปและยากอบ หัวไผ่ ชลบุรี (พ.ศ. 2503) วัดอารักขเทวดา โคกวัด ปราจีนบุรี (พ.ศ. 2509) (ปัจจุบันปฏิสังขรณ์เป็นรูปทรงโมเดิร์นแล้ว) โบสถ์ทรงไทยเหล่านี้สร้างขึ้นด้วยรูปแบบสมัยใหม่และวัสดุยุคใหม่อย่างคอนกรีตหรือเหล็กเส้น แตกต่างไปจากโบสถ์ทรงฝรั่งในช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 โดยเน้นการผสมผสานทางวัฒนธรรม หรือขับเน้นความเป็นไทย ซึ่งเป็นผลพวงมาจากแนวคิดของยุครัฐชาติสมัยใหม่ และการสังคายนาของพระศาสนจักรคาทอลิกในศตวรรษที่ 20 โดยตรง



ทำไมโบสถ์ต้องเป็นทรงไทย อะไรคือความหมายโดยนัย
สาเหตุที่พระศาสนจักรคาทอลิกในไทยกลับมาเลือกสร้างโบสถ์ทรงไทย ซึ่งเคยปรากฏอยู่จำนวนหนึ่งตั้งแต่สมัยอยุธยาและช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ห่างหายไปนานเกือบร้อยปีจากอิทธิพลยุคการพยายามฟื้นฟู (Revival) ศิลปะสถาปัตยกรรมยุโรปโบราณของยุคโรแมนติกช่วงศตวรรษที่ 19 กลับมาเป็นทรงไทย (ประยุกต์) นั้น น่าจะมีความเป็นไปได้หลายประการ ได้แก่
1. บาทหลวงคณะพระมหาไถ่จากสหรัฐอเมริกาและบาทหลวงชาวอิตาเลียนบางท่านมีความคิดก้าวหน้าในการปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมท้องถิ่น (Inculturation) มาก่อนการสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (Vatican Council II) (พ.ศ. 2505 – 2508) ซึ่งผลของการสังคายนาสากลครั้งนี้ เป็นการปลดล็อกแนวคิดอนุรักษ์นิยมครั้งสำคัญ และเชิญชวนให้ชาวคาทอลิกทั่วโลกนมัสการพระเจ้าด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง โดยไม่ต้องใช้วัฒนธรรมตะวันตกอีกต่อไป เลิกใช้ภาษาละตินในมิสซา ใช้เพลงท้องถิ่นแทนที่จะเป็นเพลงละตินมากยิ่งขึ้น และใช้ศิลปะ-สถาปัตยกรรมของแต่ละประเทศในการประยุกต์เข้ากับคริสตศิลป์ ก่อให้เกิดโบสถ์รูปทรงท้องถิ่น-สมัยใหม่จำนวนมาก
2. บาดแผลจากช่วงสงครามอินโดจีน ศาสนาคริสต์ถูกมองว่าเป็นศาสนาของฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมในอินโดจีนซึ่งเป็นศัตรูกับสยาม ชาวคริสต์จึงถูกมองว่าเป็นสายลับให้กับชาวตะวันตก จนเกิดการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ทั่วไปในภาคอีสานและภาคตะวันออก ทำให้การแสดงออกทางศิลปกรรมจำต้องสร้างสรรค์ให้กลมกลืนไปกับศิลปะไทย เพื่อมิให้ถูกมองว่าเป็นคนนอกอีกต่อไป
3. รัฐนิยมสร้างความเป็นไทยของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม อาจยังมีผลกระทบทางความรู้สึกของคริสตศาสนิกชนว่า จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงออกทางวัฒนธรรมให้ผสมผสานกลมกลืนกับวัฒนธรรมไทยให้มากขึ้น ซึ่งในระยะเวลาที่เกิดโบสถ์ทรงไทยคอนกรีตประยุกต์เช่นนี้ ก็ตรงกับสมัยทางการเมืองครั้งที่ 2 ของจอมพลป. พิบูลสงครามพอดี
4. กระแสชาตินิยมสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเรียกร้องเอกราชจากเจ้าอาณานิคมรุนแรงขึ้น จนโบสถ์คาทอลิกยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (Post war church) ในไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2491 ลงมาสร้างเป็นทรงไทยคอนกรีตประยุกต์จำนวนมาก เพื่อลดแรงเสียดทานจากความรู้สึกต่อต้านชาติอาณานิคมจากตะวันตก ซึ่งเป็นกระแสหลักที่โหมกระพือไปทั่วเอเชียในขณะนั้น และกลมกลืนกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น
หลัง พ.ศ. 2490 – 2500 อาคารราชการและอาคารสาธารณะต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลากลาง ศาลหลักเมือง มักออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ทั้งสิ้น ซึ่งสวนทางกับกระแสของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในโลกสากล แต่ดูเหมือนว่าราว พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา สถาปัตยกรรมโบสถ์คริสต์ที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมไทยคอนกรีตประยุกต์แบบสกุลช่างพระพรหมพิจิตร ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง (ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นการบังเอิญหรือไม่ แต่อยู่ในห้วงเวลาของการสิ้นสุดสมัยของรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามครั้งที่ 2 พอดี)
ซึ่งหลังจากนั้น สถาปัตยกรรมสมัยใหม่แบบ Mid-Century Modern ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็นเข้ามาแทนที่โบสถ์ทรงไทยประยุกต์ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งที่มั่นของขบวนการคอมมิวนิสต์ในไทย ศาสนากับคอมมิวนิสต์นั้นเป็นขั้วตรงข้ามกันอยู่แล้ว ซึ่งหมายรวมทั้งศาสนาพุทธและคริสต์ การแสดงออกของการต่อสู้กันเชิงอุดมการณ์ด้วยสถาปัตยกรรมแบบใหม่ในยุคสงครามเย็นก็มีความซับซ้อนน่าตื่นตาตื่นใจอยู่มาก ถ้าหากมีโอกาสก็น่าจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้อีก
ถ้าสนใจชมโบสถ์คริสต์ทรงไทย ตามไปดูได้ดังนี้
วัดพระมหาไถ่ ซอยร่วมฤดี แขวงเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ (รถไฟฟ้า BTS เพลินจิต)
วัดนักบุญยอแซฟ ซอยจันทร์ 43 แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม กรุงเทพฯ (อยู่ในซอยเดียวกับวัดไผ่เงิน)
วัดนักบุญยาโกเบ ริมน้ำแม่กลอง ตำบลแม่กลอง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
วัดนักบุญฟิลิปและยากอบหัวไผ่ ตำบลโคกขี้หนอน อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี