8 กุมภาพันธ์ 2019
7 K

นอกจากบางมดแล้ว อีกหนึ่งแหล่งปลูกส้มแห่งสำคัญของไทยคือที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

อย่าเพิ่งเข้าใจผิด บทความนี้ไม่ได้จะพาคุณไปเรียนรู้การปลูกส้ม แต่เราจะพาคุณไปเยี่ยมชม ‘ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา’ โรงเรียนเล็กไม่ธรรมดาที่ตั้งอยู่กลางไร่ส้มขนาดมหึมานับพันไร่

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ความไม่ธรรมดาอย่างแรกคือ ที่นี่ก่อสร้างและดำเนินการด้วยเงินจากการระดมทุน ข้าวของต่างๆ ในโรงเรียนล้วนมาจากการบริจาค ตั้งแต่ชิ้นเล็กๆ อย่างเครื่องดนตรีสำหรับเด็กนักเรียน ไปจนถึงชิ้นใหญ่ๆ อย่างเต็นท์ผ้าใบและแทงก์น้ำ

โรงเรียนแห่งนี้ถือเป็นโรงเรียนนานาชาติ เพราะมีนักเรียนหลากเชื้อชาติจากหลายภูมิลำเนา ทั้งน้องๆ ชาวไทย น้องๆ ชาวไทใหญ่ซึ่งถือชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ และน้องๆ จากประเทศเพื่อนบ้านที่ติดตามคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมาทำงานในไร่ส้มที่ประเทศไทย

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาเพิ่งเปิดภาคการศึกษาแรกไปเมื่อปีที่แล้ว และกำลังจัดทำหลักสูตรการเรียนทางเลือกราคาเป็นมิตรที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพของเด็กอย่างองค์รวมในทุกด้าน

ช่วงพักเที่ยงวันนี้เรามีนัดกับ พี่โอ๊ต-วีระ อยู่รัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาและมูลนิธิกระจกเงา ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดในการสร้างโรงเรียนที่ความแตกต่างและระยะทางแสนไกลไม่ใช่อุปสรรคของการศึกษา และโรงเรียนก็ไม่ใช่แค่ที่ของนักเรียนและครู แต่คือพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของทุกคนในชุมชน

1

เปิดภาคเรียน

พี่โอ๊ตเล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยามาจากโปรเจกต์เล็กๆ ที่ชื่อ Free School ของสองสามีภรรยาชาวออสเตรเลีย ซึ่งเคยทำจนประสบความสำเร็จมาแล้วที่ประเทศอินเดีย

เด็กหญิงชาวอินเดียส่วนใหญ่แต่งงานเร็วและไม่ได้รับการศึกษา Free School เชื่อว่าถ้าเด็กหญิงเหล่านั้นได้เรียนหนังสือ อ่านออกเขียนได้ มีทักษะในการประกอบอาชีพ ทางเลือกในชีวิตของพวกเขาก็จะมีมากขึ้น ไม่ต้องขึ้นอยู่กับการแต่งงานเพียงอย่างเดียว

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

Free School จึงเข้าไปเป็นรอยต่อในการผลักดันให้เด็กหญิงเหล่านั้นได้รับการศึกษาจนประสบผลสำเร็จ จากนั้นจึงย้ายมาที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีลูกหลานของแรงงานผู้เข้ามาทำงานในไร่ส้มจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการศึกษา โดย Free School ทำการจ้างครูไปสอนตามจุดต่างๆ ของไร่ส้ม รวมถึงสนับสนุนการเรียนการสอนตามโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งในพื้นที่

ต่อมาสองสามีภรรยาชาวออสเตรเลียจำเป็นต้องกลับประเทศ จึงพยายามหาองค์กรที่ทำเรื่องนี้มาดำเนินการต่อ เพื่อให้โปรเจกต์ยังคงเดินหน้าต่อไปและได้มาพบกับมูลนิธิกระจกเงา แต่หลังดำเนินการโปรเจกต์นี้ไปสักพักก็พบว่า การเป็นสถานศึกษาพาร์ตไทม์แบบนี้ไม่ทำให้เกิดวงจรที่สร้างความยั่งยืนทางการศึกษาในระยะยาว มูลนิธิกระจกเงาจึงเกิดความคิดที่จะทำโรงเรียนเต็มเวลาจริงๆ ขึ้นมา

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

2

เตรียมแผนการสอน

ตอนนี้เป็นเวลาพักเที่ยง นักเรียนทั้ง 130 ชีวิตวิ่งเล่นกันฝุ่นตลบไปทั่วโรงเรียน พี่โอ๊ตชี้ให้ดูเด็กนักเรียนสองสามคนที่เดินผ่านมา พร้อมอธิบายว่า น้องๆ กลุ่มนั้นอายุ 12 – 13 ปีแล้ว แต่ยังอยู่ชั้น ป.1 เพราะเพิ่งมีโอกาสมาเข้าเรียนในโรงเรียน

เขาอยากเรียนนะ แต่เขาไม่มีโอกาส ไม่มีกำลังทรัพย์ เขาต้องย้ายตามพ่อแม่ไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำงานรับจ้าง ได้ค่าแรงวันละไม่เกิน 200 บาท จนในที่สุดเขาก็เติบโตเกินกว่าที่จะเข้าไปเรียนหนังสือในโรงเรียนปกติได้ โดยไม่ถูกสายตาตัดสินจากคนภายนอก มอบการศึกษาให้เด็กลักษณะนี้ คือหนึ่งในภารกิจของที่นี่

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

พี่โอ๊ตอธิบายว่า ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาจดทะเบียนเป็นศูนย์การเรียนที่ถูกต้องตามกฎหมายในระดับอนุบาลศึกษาตั้งแต่ปีที่แล้ว และภายในปีนี้จะพัฒนาหลักสูตรประถมศึกษา รวมถึงยื่นจดทะเบียนตามกฎหมายต่อไป

ที่นี่มีครู 8 คน เป็นครูประจำชั้น 4 คนและครูประจำวิชาอีก 4 คน ครูหลายคนเป็นชาวไทใหญ่ที่มาจากหมู่บ้านรอบๆ และไม่เคยเดินทางออกจากพื้นที่ไปที่ไหนเลย ปีที่แล้วช่วงที่เราพัฒนาหลักสูตรเด็กเล็ก เราเลยจัดทริปพาเหล่าครูไปศึกษาดูงานที่จังหวัดอื่นๆ

ไปดูโรงเรียนที่ หมอนิล-มารุต เหล็กเพชร ทำร่วมกับชาวบ้านที่เกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ไปดูหลักสูตรการศึกษาและการเป็นโรงเรียนสุขภาวะของโรงเรียนทุ่งยาวคำโปรยที่จังหวัดศรีสะเกษ เราอยากพัฒนาหลักสูตรการศึกษาไปพร้อมๆ กับการพัฒนาครู พัฒนาคน และชุมชนรอบๆ ด้วย

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

3

เล่าเรียนในไร่ส้ม

ระหว่างที่คุยกับพี่โอ๊ต มีครูอีก 2 คนของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาเดินมาสมทบ นั่นคือ ครูสายลม-พลวัฒน์ ล้วนศรี และ ครูท็อป-อัฐ คงสงค์

ครูท็อปอธิบายว่า การศึกษาคือพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ การที่เราจะพัฒนาเด็กในประเทศมันจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ครูท็อปจึงเลือกมาเป็นครูที่นี่เพื่อช่วยเป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงในการผลักดันการพัฒนาเด็ก

เราไม่สามารถปลูกต้นไม้ทีละล้านต้นได้ แต่ถ้าเราปลูกต้นไม้ 1 ต้น เมื่อมันเจริญเติบโต ออกดอกออกผล แน่นอนว่าหมู่นก สัตว์ป่าต่างๆ จะมากินดอกผลของมันและนำไปแพร่กระจายต่อ การศึกษาก็เช่นเดียวกัน

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ด้วยความที่เด็กส่วนใหญ่ที่นี่เป็นลูกหลานแรงงานในไร่ส้ม เขามีโอกาสที่จะต้องโยกย้ายไปทำงานที่พื้นที่อื่น หลักสูตรของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาจึงเน้นพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต

เมื่อเขาสามารถอ่านภาษาไทยออก เขาก็สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้ สองความรู้พื้นฐานนี้ แม้ว่าต่อไปเขาอาจจะไม่มีโอกาสได้เรียนต่อด้วยข้อจำกัดและปัจจัยต่างๆ แต่เขาก็สามารถอยู่ในสังคมได้โดยไม่โดนเอาเปรียบ อย่างการทำสัญญาจ้างกับนายจ้าง เมื่อเขาอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น เขาก็จะรู้ว่าในสัญญาจ้างระบุอะไรไว้บ้าง

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ครูสายลมช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า การเรียนทางเลือกไม่เน้นมีกรอบอะไรมากมาย เอาความอยากเรียนของเด็กเป็นตัวตั้ง หน้าที่ของครูคือออกแบบการสอนที่จะสามารถส่งเสริมทักษะและพัฒนาการของเขาไปให้ไกลที่สุด

เด็กแต่ละคนการเรียนรู้ต่างกัน บางคนแค่ฟังก็รู้ บางคนต้องอ่าน บางคนต้องลงมือทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเข้าใจเด็ก เราก็จะสามารถออกแบบการสอนที่เหมาะสมกับเขาที่สุดได้ ครูกับเด็กคือทีมเดียวกัน เราต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ รับฟังกันได้ เพื่อให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วมและมีความสุขกับการเรียน ถ้าเด็กไม่มีความสุข เขาก็จะไม่อยากเรียนรู้ และเขามีสิทธิ์จะปิดประตูกั้นการศึกษาออกไปได้เลย

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

ทั้งครูสายลมและครูท็อปต่างก็เคยเป็นครูอาสาสมัครมาก่อน เห็นความเหลื่อมล้ำและการขาดโอกาสในหลายๆ พื้นที่ การได้มาเป็นครูที่ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา แม้จะเป็นเพียงคนตัวเล็กๆ แต่ก็ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ช่วยทุเลาปัญหาใหญ่ เป็นการแก้ไขจากจุดเล็กที่แน่นอนว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมทางการศึกษาต่อไปในอนาคต

ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

Facebook : มูลนิธิกระจกเงา
เว็บไซต์ : ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล