สถานีรถไฟกรุงเทพ ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานีรถไฟที่ให้เราเริ่มต้นการเดินทาง แต่ยังเป็นพื้นที่กักเก็บเรื่องราวต่างๆ ของกรุงเทพฯ รถไฟ ชุมชน สังคม นับตั้งแต่สถานีนี้เริ่มบทบาทเมื่อ 100 กว่าปีก่อน มันคือสัญลักษณ์การเดินทางด้วยรถไฟมาอย่างยาวนาน จนเป็นภาพจำแล้วว่าถ้าขึ้นรถไฟ ต้องมาที่เจ้าตึกทรงยุโรปหลังคาโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม

เรื่องราวของรถไฟในประเทศไทยมีมากมายจนหาศึกษาได้ไม่รู้จบ ทั้งเรื่องทางเทคนิค สังคม ศิลปะ รวมถึงประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปจนกระทั่งการรถไฟฯ ได้เริ่มตั้งมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟขึ้นมา เพื่อรวบรวมประวัติศาสตร์และเรื่องราวต่างๆ ให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษา จึงเริ่มต้นโดยการตั้งพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่ด้านหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ

พิพิธภัณฑ์รถไฟที่นี่ไม่ได้เป็นพิพิธภัณฑ์อย่างที่ยิ่งใหญ่มีรถไฟมาจอด เริ่มต้นตั้งไข่โดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการจัดหาทุนเพื่อก่อตั้งและดำเนินกิจการพิพิธภัณฑ์รถไฟไทยในอนาคต จัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาแลกเปลี่ยน ค้นคว้า วิจัย การวิวัฒนาการและพัฒนากิจการขนส่งระบบทางราง รวมถึงสนับสนุน ส่งเสริมให้มีการนำวิทยาการขนส่งระบบทางรางเพิ่มมากขึ้น

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟซุกตัวอยู่ด้านหน้าสถานีกรุงเทพ เมื่อเราหันหน้าเข้าหาตัวสถานที่คลาสสิกนี้ ด้านซ้ายมือคือที่ตั้งของมูลนิธิฯ

ที่นี่เปิดทำการเฉพาะวันอังคารถึงวันเสาร์ ตั้งแต่ 10.00 -18.00 น.

ด้านหลังประตูกระจกคือพื้นที่จัดแสดงของเก่า เครื่องใช้เก่า ที่เคยใช้ในกิจการรถไฟมาตั้งแต่อดีต มีหลายอย่างที่เชื่อว่าหลายๆ คนเคยได้จับ ได้สัมผัส และไม่ได้เห็นมานาน

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

บางอย่างไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต

บางอย่างไม่เคยคิดว่ามันจะอยู่บนรถไฟ

และบางอย่างที่ยังเห็นใช้อยู่ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร

เมื่อเข้ามาแล้วไม่รู้จะเริ่มดูอะไรก่อน เราจะขอเป็นไกด์พาทุกคนไปดูสิ่งที่น่าสนใจกัน

เครื่องทางสะดวก

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

อุปกรณ์เหมือนตู้เพลงทำด้วยเหล็กสีเขียว 2 ชิ้นวางอยู่ห่างกันชวนให้สงสัยว่ามันคืออะไร นี่คือเครื่องขอและคืนทางสะดวก ใช้สำหรับการจัดการเดินรถไฟระหว่าง 2 สถานีด้วยระบบดั้งเดิม เครื่องทั้งสองจับคู่สื่อสารกันผ่านสายสัญญาณที่ขึงไปตามข้างทางรถไฟ เมื่อกดปุ่มที่เครื่องหนึ่ง จะไปดังอีกเครื่องหนึ่ง แม้ว่าทั้งสองสถานีจะห่างไกลกันนับสิบกิโลเมตร นายสถานีทั้งสองแห่งต้องเข้าใจโค้ดการเคาะสัญญาณในแต่ละครั้ง เพื่อเตรียมทางสะดวกให้กับขบวนรถไฟ เมื่อการขอทางเสร็จสมบูรณ์ ลูกตราทางสะดวกก็จะหล่นลงมา เป็นหลักฐานการได้รับ ‘ทางสะดวก’ ให้ขบวนรถไฟเดินทางต่อไปได้อย่างปลอดภัย ในปัจจุบันยังมีการใช้เครื่องชนิดนี้อยู่ในเส้นทางที่ขบวนรถยังไม่หนาแน่นหรือเส้นทางแยก และกำลังจะค่อยๆ หายไป เมื่อโครงข่ายรถไฟเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณให้เป็นระบบอัตโนมัติทั่วประเทศ

ตั๋วหนา

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ตั๋วรถไฟรุ่นเก่าที่อยู่ในรูปแบบของกระดาษแข็งสีสันสวยงามหลากหลายลวดลายถูกมัดไว้เป็นชุดๆ เก็บรักษาไว้ในตู้กระจก บนหน้าตั๋วแสดงต้นทาง-ปลายทาง พร้อมราคาและตัวเลือกพิเศษของตั๋วนั้น เช่น ชั้นสาม ชั้นสอง ชั้นหนึ่ง รถปรับอากาศ รถนอน ค่าธรรมเนียมรถด่วน ค่าธรรมเนียมรถเร็ว ราคาพิเศษ หรือแม้แต่ตั๋วไปกลับ ซึ่งตั๋วเหล่านี้ถูกพิมพ์ขึ้นมาเพื่อใช้งานจริง โดยในสมัยก่อนนั้นเราไม่สามารถออกตั๋วรถไฟแบบใบต่อใบได้เหมือนในยุคตั๋วคอมพิวเตอร์ การพิมพ์ตั๋วต้องสต็อกเอาไว้เป็นชุดๆ ชุดละ 100 ใบ และเมื่อสถานีใดจะใช้ก็ต้องไปเบิกมาเท่านั้น จนเวลาผ่านไปวิวัฒนาการการสำรองที่นั่งเปลี่ยนไปใช้คอมพิวเตอร์ ตั๋วเหล่านี้ก็ต้องยุติหน้าที่ลง ทั้งหมดถูกเก็บเอาไว้สำหรับจัดแสดง และมีบางส่วนนำมาขายเป็นที่ระลึกสำหรับนักสะสมอีกด้วย ในราคาใบละ 30 บาท

ตู้เก็บตั๋วและเครื่องแสตมป์ตั๋ว

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ตู้ไม้รูปร่างสูงมีบานประตูเปิดได้ที่ดูเหมือนแค่ตู้ไม้ธรรมดาๆ เมื่อเปิดบานประตูนั้นก็จะเจอกับตั๋วหนาถูกจัดไว้ในช่อง มีชื่อสถานีรถไฟกำกับเอาไว้ และตั๋วที่ถูกบรรจุไว้ในช่องนั้นถูกจัดวางไว้เอียงๆ ใบล่างสุดแลบออกมามากกว่าใบอื่นๆ ซึ่งถ้ามันถูกดึงออกมา ใบต่อไปก็จะอยู่ในอิริยาบถเดียวกัน นี่ไม่ใช่แค่ตู้ใส่ตั๋วธรรมดา แต่ยังทำหน้าที่เป็นเคาน์เตอร์ขายตั๋วอีกด้วย

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

การขายตั๋วรถไฟในยุคก่อนนั้น เจ้าตู้นี้จะอยู่หลังช่องสำหรับขายตั๋วในตำแหน่งที่เจ้าหน้าที่สามารถยืนปฏิบัติงานได้สะดวก แค่ก้มลงไปหยิบตั๋ว ลุกขึ้นมาเอาตั๋วใบเล็กสอดเข้าไปในเครื่องแสตมป์ตั๋วรูปร่างสันทัดเพื่อประทับตราวันที่ลงไป เมื่อเจ้าเครื่องนั้นดีดตัวกลับมาก็เกิดเสียง “ปั้ง” คล้ายกับอะไรสักอย่างถูกตี ด้วยความชำนิชำนาญของคนขายตั๋ว การสอดตั๋วจะรวดเร็วมากเป็นจังหวะที่ดีพร้อมเสียง “ปั้ง ปั้ง ปั้ง ปั้ง” เหล่าบรรดาผู้โดยสารเรียกว่า ‘การตีตั๋ว’ กิจกรรมนี้เกิดขึ้นหลายสิบปีจนตรายางเข้ามาแทนที่ เสียงดังจากเครื่องแสตมป์ตั๋วก็หายไป แต่คำว่า ‘ตีตั๋ว’ ก็ยังถูกใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

เครื่องครัวในรถเสบียงและโรงแรมรถไฟ

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

เครื่องใช้เซรามิกสีขาวแตกลายงาประดับตราครุฑ เคยถูกใช้ในตู้เสบียงและโรงแรมรถไฟมาก่อน มีทั้งจาน ชาม อ่างล้างมือ โถข้าว ถังแช่ไวน์ รวมถึงเครื่องใช้ทองเหลืองทั้งช้อน ส้อม มีด ช้อนชา ถูกเก็บรักษาไว้ในตู้ไม้ แต่ต้องสังเกตดีๆ เพราะว่าของแท้และดั้งเดิมต้องเป็นการพิมพ์ลายรูปตราครุฑ เนื่องจากในยุคก่อน พ.ศ. 2494 การรถไฟมีสถานะเป็นกรมรถไฟหลวงโดยมีครุฑเป็นสัญลักษณ์

โคมตะเกียง

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ตะเกียงสีดำขนาดต่างๆ กัน เคยถูกใช้งานในกิจการรถไฟมาก่อน อันเล็กเป็นโคมที่ใช้แทนธงเขียวและธงแดงในเวลากลางคืน ข้างในเป็นไส้ตะเกียงที่ต้องจุดไฟโดยใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง ข้างในมีกลไกมือหมุนที่สลับสีกระจกแก้วเขียวและแดงได้ เมื่อไฟส่องกระทบกับกระจกแก้วสีเขียวสีแดงแล้ว จะทำหน้าที่เหมือนเป็นไฟฉายให้สัญญาณมือกับขบวนรถไฟ ซึ่งในเวลาต่อมา ตะเกียงเหล่านี้ก็ถูกแทนที่ด้วยไฟฉายที่ปรับสีได้แทน

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

และนอกจากโคมตะเกียงมือแล้ว ยังมีโคมที่ใช้สำหรับติดท้ายตู้รถไฟเพื่อเป็นสัญญาณไฟท้ายในเวลากลางคืน รวมถึงตะเกียงขนาดใหญ่ที่ใช้ติดตั้งบนเสาสัญญาณหางปลา (Semaphore Signal) ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญญาณจราจรของรถไฟอีกด้วย

สมุดกำหนดเวลาเดินรถ

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

สมุดเล่มนี้คือไทม์แมชชีน มันกำหนดเวลาเดินรถไฟ ในยุคสมัยที่มีรถจักรไอน้ำกับรถจักรดีเซลรุ่นแรกๆ วิ่งกันอยู่เต็มทุกเส้นทาง หากปัจจุบันเราใช้เวลาเดินทางไปเชียงใหม่ 13 ชั่วโมง แต่สมัยก่อนนั้นใช้เวลาเดินทางเกือบวัน

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

เมื่อเปิดไปแต่ละหน้าก็จะเห็นรายชื่อสถานีครบทุกแห่งไล่ไปเรื่อยๆ พร้อมข้อมูลหลักกิโลเมตร ความยาวทางหลีกของสถานี พร้อมเวลาของขบวนรถไฟแต่ละขบวนที่ระบุเวลาถึง-ออก หรือแม้แต่ขบวนที่ไม่จอดก็ระบุเวลาเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นคัมภีร์ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งรถไฟหลายขบวนที่อยู่ในสมุดเล่มนี้ไม่ได้ให้บริการแล้วในปัจจุบัน บางขบวนก็ยังวิ่งอยู่ แต่เปลี่ยนเลขขบวนและปรับเวลาให้เร็วขึ้นตามการใช้ประเภทรถที่มีสมรรถนะสูงขึ้น รวมถึงข้อมูลการลากจูงของรถจักรไอน้ำรุ่นต่างๆ ด้วย ว่าแต่ละสาย แต่ละโซน ลากได้สูงสุดกี่หน่วยลากจูง เรียกได้ว่านี่คือคัมภีร์คนทำงานที่แท้ทรู

ป้ายเตือนความปลอดภัย

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ในสถานีรถไฟมีป้ายเตือนสารพัดรูปแบบสำหรับบอกผู้โดยสารว่าต้องปฏิบัติตัวยังไง อะไร แบบไหน ถึงจะปลอดภัยกับการเดินทางด้วยรถไฟ ซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็มีรูปแบบของงานอาร์ตแตกต่างกันไป แต่ที่ตรึงใจมากที่สุดคงไม่พ้นภาพชุดที่ดูเหมือนการ์ตูนสยองขวัญ ซึ่งดูแล้วไม่กล้าประมาทเลย

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ภาพเซ็ตนี้มีจิตรกรทั้งหมด 2 ท่าน ถ้าไม่สังเกตในรายละเอียดจะมองไม่ออกเลย เพราะลายเส้นมีความคล้ายคลึงกันมาก จิตรกรท่านแรกชื่อคุณศุภารัตน์ ภาพถูกเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2508 และท่านที่สองชื่อคุณศักดา ภาพถูกเผยแพร่ใน พ.ศ 2511 มีข้อสังเกตว่า รูปของคุณศุภารัตน์มีขอบสีดำที่ริมกระดาษ ส่วนรูปของคุณศักดาใช้ขอบสีขาว

ทั้งสองท่านถ่ายทอดผลที่เกิดจากความประมาทและอันตราย หากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยของรถไฟได้เป็นอย่างดี เช่น ไม่นั่งบนหลังคารถไฟ ไม่เดินข้ามทางรถไฟในระยะกระชั้นชิด ไม่นอนบนทางรถไฟ ไม่ทำลายสายสื่อสาร ไม่ขว้างปาขบวนรถไฟ อย่าเดินชิดขอบชานชาลา อย่าใช้บันไดเป็นที่โดยสาร ห้ามขับรถตัดหน้ารถไฟ เป็นต้น

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ภาพชุดนี้ถือได้ว่ามีความคลาสสิกในลายเส้น การนำเสนอ แต่ก็แฝงไว้ด้วยความรุนแรงแบบตรงไปตรงมา ชนิดที่เรียกว่าเด็กเห็นมีร้องไห้แน่นอน

โทรศัพท์ควบคุมการเดินรถ

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

อุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีปุ่มกดวางเรียงตัวกันอยู่เต็ม พร้อมลำโพงและไมโครโฟน สิ่งนี้คือโทรศัพท์ที่พนักงานควบคุมการเดินรถ หรือที่ภาษารถไฟเรียกว่า ‘แคเรีย’ ใช้สำหรับติดต่อสถานีต่างๆ ในเส้นทางที่ตัวเองรับผิดชอบ เพื่อทำหน้าที่จัดการจราจรของขบวนรถไฟที่วิ่งอยู่ในเส้นทางนั้น

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ปุ่มกดมีตัวย่อของสถานีในเส้นทางระบุเอาไว้ ถ้าจะติดต่อสถานีไหนก็กดไปที่สถานีนั้นและติดต่อกัน หรือถ้าจะพูดทีเดียวให้ได้ยินกันทั่วก็ทำได้เช่นเดียวกัน ขบวนไหนจะผ่านตอนไหน ขบวนไหนจะจอดตอนไหน และขบวนไหนจะไปสับหลีกกันที่ไหน เขาต้องเป็นคนจัดการและบริหารเส้นทางให้ดีที่สุด เป็นงานที่ท้าทายและใช้สมาธิบวกกับความชำนาญเป็นอย่างมาก นี่คือเครื่องมือทำงานของนักควบคุมจราจรทางรถไฟ

ทั้งหมดคือไฮไลต์บางส่วนที่เราจะได้พบในมูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งของเก่าที่จัดแสดงถือว่าค่อนข้างเยอะพอสมควร มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายชิ้น ถ้าอธิบายหมดน่าจะใช้เวลาเป็นชั่วโมงแน่ๆ

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย
มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบรถไฟเข้าเส้นเลือด และรู้สึกเสียดายที่ประเทศไทยเราไม่ได้มีพิพิธภัณฑ์รถไฟอย่างเป็นทางการและเป็นจริงเป็นจัง ขณะที่หลายๆ ประเทศสร้างพิพิธภัณฑ์รถไฟและศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับระบบรางได้อย่างน่าสนใจมาก สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อการสร้างบุคลากรด้านระบบราง สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบราง รวมถึงสร้างโอกาสทางการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาระบบรางของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ตัวอย่างชัดๆ ใกล้บ้านเราคงไม่พ้นญี่ปุ่น เขาเอาเรื่องรถไฟมาจับใส่ชีวิตประจำวันให้เห็น กรอกตากรอกหูกันตั้งแต่เด็กๆ ทั้งในบทเรียน การ์ตูน การใช้ชีวิตประจำวัน ไปจนถึงแหล่งการเรียนรู้ที่กระจายหลายแห่งทั่วประเทศ ส่งผลให้คนญี่ปุ่นรักรถไฟ และพร้อมต่อยอดให้รถไฟของแดนอาทิตย์อุทัยพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหนึ่งในรถไฟที่มีคนรักมากที่สุดในโลก

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

ถ้าหากประเทศไทยมีพิพิธภัณฑ์รถไฟแล้ว รถไฟไทยก็จะขึ้นไปอยู่จุดนั้นได้ การสร้างองค์ความรู้เรื่องระบบรางเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาระบบรถไฟของเราให้ตามทันโลก ทันสมัย และกลับมาเป็นการขนส่งหลักของประเทศ ซึ่งทำให้เราเดินทางได้อย่างสะดวกสบายและมีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

น่าเสียดายที่บรรดาคนรักรถไฟในประเทศไทยไม่สามารถศึกษาเรื่องรถไฟที่เขารักอย่างง่ายดายในประเทศตัวเอง ต้องไปต่างประเทศเท่านั้น ส่วนใครที่ไม่มีโอกาสได้ไป ก็ต้องเที่ยวมิวเซียมรถไฟแบบทิพย์ผ่านหน้าจอไปก่อน จึงเป็นส่วนหนึ่งให้เรื่องราวของรถไฟไม่ได้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

แต่ก็อาจจะไม่ต้องรอนาน (ใช่ไหม) เพราะการรถไฟเองก็มีแผนทำมิวเซียมและศูนย์การเรียนรู้ระบบรางในประเทศแล้ว โดยใช้อาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างสถานีรถไฟกรุงเทพมาจัดสรรพื้นที่บางส่วนให้เป็นพื้นที่ต่างๆ รวมถึงพิพิธภัณฑ์ หลังจากโยกย้ายขบวนรถไฟระหว่างเมืองออกไปที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งสถานีกรุงเทพเองก็เป็นตัวเล่าเรื่องที่ดี และเป็นสถานที่ที่ทุกคนย่อมนึกถึงเป็นสิ่งแรกเมื่อพูดถึงเรื่องรถไฟไทย เล่าเรื่องทั้งการเดินทาง ชุมชน ประวัติศาสตร์​ รวมถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ อันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ บวกกับสถานีรถไฟกรุงเทพเองก็จะเปลี่ยนสถานะเป็นสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยายจากบางซื่อ ยิ่งส่งเสริมให้สถานีแห่งนี้ยังมีชีวิตอยู่ไม่เงียบเหงา

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์รถไฟ มิวเซียมจิ๋วหน้าสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่รวมสิ่งสนุกของรถไฟไทย

อีกสถานที่หนึ่งที่เหมาะสมสำหรับสร้างพิพิธภัณฑ์รถไฟเป็นอย่างมากคือโรงงานมักกะสัน มีพื้นที่กว้างขวาง และเป็นโรงงานรถไฟที่เชื่อมโยงกับหัวข้อทางเทคนิค วิศวกรรม สถาปัตยกรรม พร้อมเล่าเรื่องผ่านรถไฟหลากหลายชนิดได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว ก็สุดแท้แต่ว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร หากเรายังเห็นความสำคัญของระบบรางที่จะเป็นการคมนาคมหลักของประเทศ การสร้างองค์ความรู้ การเรียนรู้ และการต่อยอด ย่อมเป็นสิ่งสำคัญ และพิพิธภัณฑ์รถไฟพร้อมศูนย์การเรียนรู้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของอนาคตรถไฟไทยได้อย่างแน่นอน

แล้วคุณล่ะ อยากเห็นพิพิธภัณฑ์รถไฟของไทยเป็นแบบไหน

เกร็ดท้ายขบวน

  1. เมื่อก่อนในสวนจตุจักรมีอาคารอิฐอยู่หลังหนึ่งชื่อว่า ‘หอเกียรติภูมิรถไฟ’ ที่นั่นคือการตั้งไข่พิพิธภัณฑ์รถไฟแห่งแรก โดยการรวบรวมตู้รถไฟที่ปลดระวาง ของใช้เก่า มาจัดแสดงเอาไว้โดย ‘ชมรมเรารักรถไฟ’ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหอเกียรติภูมิรถไฟมีอันต้องปิดตัวลง
  2. การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้รถไฟไทยมานานแล้ว โดยวางแผนให้พื้นที่ชายธงของสวนจตุจักรบริเวณห้าแยกลาดพร้าวเป็นศูนย์นั้น ประกอบด้วยอาคารศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ รถไฟจำลองที่วิ่งได้ และพื้นที่จัดแสดงกลางแจ้ง แต่โครงการนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้น
  3. อาคารสถานีรถไฟธนบุรี ถูกทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยมีหนึ่งห้องจัดแสดงเกี่ยวกับเรื่องรถไฟ ชื่อห้องว่า ‘คมนาคมบรรหาร’ ข้างในเป็นการเล่าเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างสถานีรถไฟธนบุรี รถไฟสายใต้ และศิริราชพยาบาล

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ